พฤติกรรมสังคม Social Behavior

การจัดระเบียบทางสังคม

อริสโตเติลกล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์จะอยู่คนเดียวไม่ได้ มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกัน และกัน มนุษย์ต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม สังคม ในที่นี้ สังคมหมายถึง กลุ่มคนมากกว่าสองคนขึ้นไป มาอยู่รวมกันเป็นระยะเวลายาวนานในขอบเขต หรือพื้นที่ที่กำหนด สมาชิกประกอบด้วยคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งมีการติดต่อซึ่งกัน และกัน โดยมีวัฒนธรรม หรือระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิตเป็นของตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือ สามารถเลี้ยงตัวเองได้

การที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกันมนุษย์ก็ต้องพูดคุยกันมีปฏิสัมพันธ์กัน มีความชอบพอกันมนุษย์จึงจะอยู่ร่วมกันได้ แต่การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข มนุษย์จึงออก กฎเกณฑ์เพื่อให้ทุกคนในสังคมปฏิบัติอย่างปกติสุข กฎเกณฑ์ที่กล่าวได้แก่ การจัดระเบียบทางสังคม

การจัดระเบียบทางสังคม ( social organization ) หมายถึง กฎเกณฑ์ หรือระเบียบแบบแผนทั้งหลายอันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และกลุ่ม เช่น การจัดระเบียบสังคมในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามี ภรรยา และบุตร การจัดระเบียบสังคม และกลุ่ม กรรมการ การจัดระเบียบสังคมหมู่บ้าน ตลอดจนการจัดระเบียบ ของสังคมไทย หรือสังคมอเมริกันเป็นต้น ทุกสังคมจำเป็นต้องมีการจัดระเบียบมากน้อยแตกต่างกันสามารถกล่าวได้ว่าการจัดระเบียบสังคมเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานต่อการดำรงอยู่ของสังคมทุกสังคม พวงเพชร สุรัตนกวีกุล ( 2541 : 60 )

องค์ประกอบของการจัดระเบียบสังคม

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่ามีเรื่องบรรทัดฐานกับสถานภาพ บรรทัดฐาน ( norms ) ซึ่งหมายถึง แนวทางในการปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสม เป็นมาตรฐานกำหนดว่าการกระทำใดถูกต้อง การกระทำใดผิด การกระทำใดยอมรับได้ หรือไม่ได้ การกระทำควร หรือไม่ควรกระทำบรรทัดฐาน จะดำรงอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของบุคคลตลอดเวลา ดังจะเห็นได้จากการที่เรารู้สึกไม่สบายใจวิตกกังวล หรือกลัวการถูกลงโทษ เมื่อทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรบรรทัดฐาน ได้แก่ วิถีประชา (folkways ) จารีต ( mores ) และกฎหมาย ( laws ) เรื่องวิถีประชา ได้แก่ แนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวันได้แก่ การเดิน การกิน การพูด การแต่งกาย มารยาท เป็นต้น เรื่องจารีต ซึ่งเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญในความรู้สึก ของคนทั่วไป จารีตเป็นกฎของสังคมที่กำหนดว่า การกระทำใดถูกต้อง การกระทำใดผิด การกระทำใดเป็นกรรมดี หรือกรรมชั่ว เป็นกฎเกณฑ์ และข้อห้ามที่มีความสำคัญต่อสวัสดิภาพของสังคม ถ้าบุคคลฝ่าฝืนจารีตจะมีผลกระทบต่ดสังคมโดยส่วนรวม ส่วนเรื่องกฎหมาย เป็นแนวประพฤติปฏิบัติ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าบุคคลมีหน้าที่อะไร ได้รับสิทธิในการเป็นพลเมืองมากน้อยเพียงใด กฎหมายจึงเป็นเรื่องของการควบคุมความประพฤติเอให้เกิดกระบวนการยุติธรรม กฎหมายอาจมาจากวิถีประชา จารีต หรือมาจากอำนาจรัฐ กฎหมายที่ดีต้องสอดคล้องกับวิถีประชา และจารีตที่สังคมนั้นๆ ยึดถือ ต้องทันเหตุการณ์ ทันสมัย อาจกล่าวได้ว่า บรรทัดฐานเป็นตัวควบคุมสังคม ส่วนสถานภาพ ( status) หมายถึงบานะ หรือตำแหน่งที่ได้รับจากการเป็นสมาชิกของสังคม เราทุกคนมีตำแหน่ง มีหน้าที่บางครั้งเราอาจมีหน้าที่หลายอย่าง เพราะเรามีตำแหน่งหลายอย่างเช่นกันเช่นมีฐานะเป็นนักศึกษา ก็ต้องทำหน้าที่ตั้งใจศึกษาค้นคว้าหาความรู้ มีตำแหน่งเป็นลูกก็ต้องเชื่อฟังบิดามารดา มีตำแหน่งเป็นน้องก็ต้องเชื่อฟังพี่ๆ ไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนๆ เราก็ต้องทำตัวเป็นที่รักของเพื่อนๆ ในหนึ่งวันๆ เราหลายคนอาจเล่นบทบาทหลายตำแหน่ง เราจงเล่นบทบาทที่เป็นในสถานการณ์นั้นให้ดีที่สุด และอยู่กับปัจจุบันรู้คิด รู้ทำ รู้พูด ก็จะเป็นที่รักของคนอื่น

บทบาทของบุคคลพิจารณาได้ 3 ลักษณะคือ

1. บทบาทในอุดมคติ ได้แก่ บทบาทที่กำหนดไว้ตามความคาดหวังของบุคคลทั่วไปในสังคมเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เป็นแบบฉบับที่สมบูรณ์ ซึ่งผู้ที่มีสถานภาพนั้นควรจะเป็นผู้กระทำแต่อาจไม่มีใครทำตามนั้น หรือมีเช่น กลุ่มคนที่มุ่งหวังจะทำงานจนได้รับรางวัลเม็กไซไซ

2. บทบาทที่บุคคลเข้าใจ หรือรับรู้ คือบทบาทที่บุลคลคิดว่าตัวเองควรเป็นอย่างไร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจตคติ ค่านิยม ความสนใจ ความถนัด บุคลิกภาพ การเรียนรู้ และประสบการณ์ของแต่ละบุคคลเป็นต้น

3. บทบาทที่แสดงออกจริง เป็นเรื่องที่บุคคลสามารถปฏิบัติได้จริง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุกาณ์เฉพาะหน้าของแต่ละบุคคลด้วย

สังคมอุดมคติในทรรศนะจิตวิทยา

ชัยพร วิชชาวุธ ( 2525: 458-465 ) อธิบายเรื่องสังคมอุดมคติพอสรุปได้ว่า มนุษย์ได้ใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีแต่ความสุข และความสมหวังตลอดประวัติอันยาวนานของมนุษย์ได้จิตนาการสังคมในฝันนี้ในรูปของสวรรค์ที่ชีวิตมีแต่ความสุขไม่รู้จบ ศาสนาต่างๆ จึงได้ใช้ความปรารถนาอันสูงสุดของมนุษย์นี้ให้เป็นประโยชน์ โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ศรัทธาได้ประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นมรรคสู่สวรรค์ที่มนุษย์ใฝ่ฝัน

นักปราชญ์ที่เสนอสังคมอุดมคติได้แก่ พลาโต ( Plato,428-348 B.C.) เขียนไว้ในหนังสือสาธารณรัฐ ( Republic ) ว่า สังคมอุดมคติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีนักปราชญ์ที่ได้รับการศึกษามาอย่างดีเข้ามาปกครอง เพราะนักปราชญ์เหล่านั้นสามารถกำหนดได้ว่าสิ่งใดที่ดี สิ่งใดที่ถูกต้อง และจะทำสิ่งใดที่ดีที่ถูกได้อย่างไร

ทฤษฎีของสังคมอุดมคติที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของมนุษย์ มี 2 ทฤษฎีคือ ทฤษฎีมนุษยนิยม และทฤษฎีการเสริมแรง ทฤษฎีมนุษยนิยมในทรรศนะของ นักจิตวิทยาเช่น มาสโลว์ เชื่อว่ามนุษย์มีความต้องการหลายอย่าง ความต้องการเหล่านี้สามารถเรียงลำดับความต้องการได้เป็นที่ละขั้นคือ ความต้องการเริ่มจากขั้นต่ำไปหาขั้นสูงเริ่มจากความต้องการทางสรีระ ความต้องการสวัสดิภาพ หรือความปลอดภัย ไปสู้ความต้องการความรัก และความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง ไปจนถึงความต้องการเข้าใจตนเองที่แท้จริงเพื่อพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ การพัฒนาศักยภาพถือเป้นการพัมนาความเป็นมนุษย์ ส่วนทฤษฎีการเสริมแรงเป้นทฤษฎีที่มุ่งหวังกระตุ้นให้คนทำงาน และไปสู้ก้าวแห่งความสำเร็จ และเป็นสุขที่ทำงาน มุ่งให้มนุษย์ทำงานตามที่ตนรัก ตามที่ตนถนัดอย่างเต็มความสามารถ และจุดหมายปลายทางคือรางวัล

สังคมอุดมคติในทรรศนะของนักมนุษยนิยม

ส่วนสังคมอุดมคติในทรรศนะของนักมนุษยนิยม เป็นสังคมที่มนุษย์ไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องปากท้อง ในเรื่องความปลอดภัย ในเรื่องความรัก ในเรื่องศักดิ์ศรี อีกต่อไปเป็นสังคมที่มุ่งให้มนุษย์ทุกคนทำงานตามที่ตนถนัดอย่างเต็มความสามารถ ได้แก่ สังคมยูโทเปีย และสังคมคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ

สังคมยูโทเปียของ เซอร์โธมัส มอร์ ( 1477-1535) นักศาสนา นักกฎหมาย และนักปกครองชาวอังกฤษ ซึ่งถูกประหารชีวิต เนื่องจากคัดค้านการหย่าร้าง เพื่อสมรสใหม่ของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ของอังกฤษ ได้เสนอทัศนะในหนังสือยูโทเปีย( Utopia )ในปีค.ศ. 1516 ว่าสังคมอุดมคติจะเกิดขึ้นเมื่อ ในสังคมไม่มีทรัพย์สินส่วนบุคคล มีแต่ทรัพย์สินส่วนรวม ( Commonwealth ) สมาชิกทุกคนทำงานพื่อสังคม และรับการเลี้ยงดู บริการจากสังคม สังคมมีระเบียบแบบแผนกำหนดโดยกฎหมายที่เป็นธรรม ทุกคนรู้ และปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างกระตือรือร้น ทุกคนมีความสุข หนังสือยูโทเปียของมอร์เป็นที่อ่านกันแพร่หลาย และได้มีผู้แปลเป็นภาษาไทย ( สมบัติ จันทรวงศ์,2517 ) เมื่อพูดถึงสังคมอุดมคติคนมักนึกถึงยูโทเปีย จนยูโทเปียกลายเป็นคำที่มีความหมายว่า “สังคมอุดมคติ” ทั้งๆ ที่ตามรากศัพท์ยูโทเปียแปลว่า “ไม่มีที่ใด” ( Nowhere ) มอร์มีความเชื่อพื้นฐานว่า มนุษย์เห็นแก่ตัวหากให้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ความเห็นแก่ตัวนี้ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมายสุดที่จะประมาณ หากจะขจัดปัญหาเหล่านี้ก็ต้องจัดการให้ทรัพย์สินต่างๆ เป็นของส่วนรวม มนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องปากท้อง ไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องสวัสดิภาพ ไม่มีการเอาเปรียบ หรือการกดขี่ ตราบเท่าที่สังคมยังคงอยู่ และกฎหมายที่เป็นธรรมยังคงอยู่ ในลักษณะเช่นนี้ยูโทเปียของมอร์จึงเป็นสังคมมนุษยนิยม

สังคมอุดมคติเป็นสังคมในความใฝ่ฝันของมนุษย์ เป็นสังคมที่มนุษย์อยากไปอยู่แต่นับแต่ปีค.ศ. 1516 จนถึงปัจจุบันไม่มีสังคมยูโทเปียเกิดขึ้นในโลกใบนี้

สังคมคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ มาร์กซได้เสนอสังคมอุดมคติของเขาในปีค.ศ. 1848 เมื่อยูโทเปียของมอร์มีอายุ 332 ปี สังคมอุดมคติของมาร์กซเป็นที่รู้จักกัน ในชื่อสังคมคอมมิวนิสต์มีลักษณะเหมือนยูโทเปียของมอร์เป็นสังคมไม่มีชนชั้น ไม่มีทรัพย์สินส่วนบุคคลเพราะคนทุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน สมาชิกในสังคมร่วมกันทำงานผลผลิตที่เกิดขึ้นเป็นของทุกคน ผลผลิตนี้ส่วนหนึ่งใช้เป็นปัจจัยในการสร้างผลผลิตต่อไป และอีกส่วนหนึ่งนำมาแบ่งปันให้กับสมาชิกเพื่ออุปโภค และบริโภคเป็นการตอบสนองขั้นพื้นฐานของสมาชิก ตราบใดที่ยังมีสังคมมนุษย์ก็ไม่ต้องวิตกกังวล เรื่องปากเรื่องท้องไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องสวัสดิภาพ และเมื่อในสังคมไม่มีชนชั้น ทุกคนเป็นเจ้าของทุกสิ่งร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ความรู้สึกห่างเหิน ความเป็นเจ้าของก็ไม่เกิด มนุษย์จึงไม่จำเป็นต้องดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการความรัก และศักดิ์ศรี ในสังคมคอมมิวนิสต์ที่พัฒนาระดับสูง จะมีผลผลิตอุดมสมบูรณ์เหมือนแผ่นดินยุคพระศรีอารย์ สมาชิกแต่ละคนอุทิศตนแก่สังคมตามความสามารถ และในขณะเดียวกันก็รับจากสังคมตามความต้องการ สังคมอุดมคติของมาร์กซจึงเป็นสังคมมนุษยนิยมเช่นกัน อย่างไรก็ดีแม้ปัจจุบันจะมีหลายประเทศที่อ้างว่าเป็นสังคมคอมมิวนิสต์แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีประเทสใดที่พัฒนาสังคมให้มีสภาพตามที่มาร์กซได้ฝันไว้

ความหมายของพฤติกรรมทางสังคม

พฤติกรรมทางสังคม หมายถึง พฤติกรรมของบุคคลที่แสดงต่อกันในสังคม โดยพฤติกรรมของบุคคลหนึ่งสามารถส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก รวมถึงพฤติกรรมของอีกบุคคลหนึ่งได้ เมื่อบุคคลนั้น ๆ เกิดการปฏิสัมพันธ์กันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

เราแยกพฤติกรรมของคนออกไปได้สองอย่างคือ พฤติกรรมอันเป็นส่วนของตนเองและพฤติกรรมอันเกี่ยวกับสังคม
พฤติกรรมอันเป็นส่วนของตนเองนั้น ถูกอิทธิพลของบุคคลอื่นที่เราพบและคบหาอยู่ทุกๆ วัน ครอบงำอยู่เป็นอันมาก และในลักษณะเดียวกัน ตัวเราเองก็มีอิทธิพลครอบงำพฤติกรรมของผู้อื่นด้วย เช่น พฤติกรรมของนิสิตคนหนึ่งย่อมได้รับอิทธิพลจากพฤติกรรมของอาจารย์ และเพื่อนนิสิตด้วยกันในเวลาเดียวกัน พฤติกรรมของนิสิตคนใดคนหนึ่งก็มีอิทธิพลครอบงำนิสิตคนอื่นที่คบหาสมาคมกับเขา นั่นคือต่างคนต่างก็มีอิทธิพลซึ่งกันและกันแล้ว แต่ว่าพฤติกรรมของฝ่ายใดจะมีอำนาจมากกว่ากัน
พฤติกรรมทางสังคม (Social Behavior) เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามสภาพการณ์ของสังคม (เมื่อมีบุคคลอื่นๆ มาอยู่รวมกัน ต่างก็เกี่ยวข้องกันและ มีปฏิกิริยาโต้ตอบ ทางสังคมแก่กัน)
พฤติกรรมทางสังคมนี้ อาจแยกย่อยๆ ออกไปได้หลายอย่าง เช่น เกี่ยวกับการเมื่อเราพูดกับเพื่อน พูดกับลูก พูดกับภรรยา พูดกับผู้บังคับบัญชา พูดกับคนใช้ พูดกับผู้ใหญ่ อาจารย์ เราย่อมใช้คำพูดไม่เหมือนกัน
การวางตัวต่อบุคคลที่กล่าวมาข้างต้นก็ไม่เหมือนกัน ถ้าใครไปพูดกับผู้บังคับบัญชาเหมือนพูดกับเพื่อนแล้ว คนนั้นเห็นทีจะเจริญยาก
อีกประการหนึ่ง สังคมเองก็ย่อมมีพฤติกรรมโดยเฉพาะของสังคม คือ หมายความว่า ในหมู่คนพวกหนึ่งๆ ย่อมมีพฤติกรรมอันเป็นส่วนรวมของคนหมู่นั้น หรือพวกนั้น เช่น ในทหาร ตำรวจ ในหมู่พระสงฆ์ ในหมู่นักกฎหมาย หรือหมู่คนจีน หมู่คนอังกฤษ ฯลฯ ก็จะมีพฤติกรรมโดยเฉพาะของหมู่นั้น ตัวอย่างเช่น การแสดงความเคารพ หรือการทักทาย เป็นต้น

พฤติกรรมทางสังคม เป็นการแสดงปฏิกิริยาต่อกันระหว่างสิ่งแวดล้อมทางสังคม (ซึ่งประกอบด้วยความเกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือกลุ่มคนต่อกลุ่มคน) ที่มีต่อขนบธรรมเนียมประเพณี อุดมการณ์ สถาบัน ภาษา ศิลปะ วรรณคดี วิทยาการ และเทคโนโลยีต่างๆ บรรดาสิ่งเหล่านี้ย่อมมีอิทธิพลต่อการกระทำ หรือปฏิกิริยาของบุคคลนั้นๆ นั่นคือ บุคคลจะทำอะไรตามใจชอบไม่ได้ จะต้องปรับปรุงบุคลิกภาพของตน หรือทำอะไรให้คล้อยไปตามแนวทางที่สังคมนั้นๆ ยอมรับนับถือ

การกระทำทางสังคม (Social action) หมายถึง การกระทำทั้งหลายทั้งปวงของมนุษย์ ที่มีความหมายเป็นที่เข้าใจของบุคคลอื่น โดยใช้สัญลักษณ์ที่สื่อสารกันได้

ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดการกระทำทางสังคม มี 4 อย่าง คือ

1. ตัวผู้กระทำ (actor)
2. เป้าหมาย (Goal or end)
3. เงื่อนไข (Condition)
4. วิธีการ (Means)

ตัวผู้กระทำ ขึ้นอยู่กับจิตใจและร่างกายควบคู่กัน
เป้าหมาย คือสิ่งที่ต้องการจะให้เป็นหรือให้เกิดขึ้น
เงื่อนไข หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่เป็นเครื่องขัดขวางหรือสนับสนุนให้บุคคลไปสู่เป้าหมาย มีหลายอย่าง เช่น สภาพทางเศรษฐกิจ สภาพทางสังคม สภาพทางร่างกาย ซึ่งในสังคมของมนุษย์จะมีเงื่อนไขต่างๆ กำหนดการกระทำของมนุษย์อย่างมาก
วิธีการ คือ แนวทางในการปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น
การกระทำระหว่างกันทางสังคม (Social interaction) หมายถึง การกระทำหรือการถ่ายทอดความคิด ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มีการเร้าและการตอบสนองซึ่งกันและกัน หรือหมายถึง สัมพันธภาพที่ก่อตัวขึ้นระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ในส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์หรือประสบการณ์ร่วมกันบางประการ

กระบวนการทางสังคม (Social Process)

ความหมาย
ในเรื่องความหมายนี้ มีผู้ให้ไว้หลายท่าน ซึ่งส่วนละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันบ้าง แต่หลักใหญ่ๆ แล้วเหมือนกัน เช่น
ดร.ประสาท หลักศิลา ว่า “กระบวนการทางสังคมเป็นกระบวนการเกี่ยวกับถ่ายทอดแนวความคิด การสอน การเรียนรู้ การเลียนแบบ การมีอำนาจเหนือ การคุ้มครอง การเชื่อฟัง การต่อสู้ การแข่งขัน การปรับตัว และร่วมมือ”
ดร.นิพนธ์ ตันธเสรี ว่า “กระบวนการทางสังคมเป็นรูปแบบของปฏิกิริยาโต้ตอบทางสังคมของกลุ่มหรือบุคคล ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในรูปของการขัดแย้งการแข่งขัน การร่วมมือตกลงเห็นพ้องหรือการกลืนกลาย”
กระบวนการทางสังคม หมายถึง รูปแบบของการปฏิสัมพันธ์กันของบุคคลหรือ กลุ่มคน เพื่อถ่ายทอดแนวคิด การเรียนรู้ หรือแนวทางของการปฏิบัติต่อกันและกัน

ลักษณะของกระบวนการทางสังคม

กระบวนการทางสังคมเป็นกระบวนการที่มีลักษณะดังนี้
1. การติดต่อทางสังคม (Social contact) คือ มีบุคคลตั้งแต่ 2 ขึ้นไป มีการโต้ตอบและมีสายสัมพันธ์กัน
2. มีการถ่ายทอดแนวคิดระหว่างบุคคลโดยใช้สัญลักษณ์ จะเป็นภาษาหรือท่าทาง
3. มีการเร้า (Stimulation) และตอบสนอง (Response) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม

ประเภทของกระบวนการทางสังคม

กระบวนการทางสังคมดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้น เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนสลับ ซับซ้อนและแปรเปลี่ยนเคลื่อนไหวได้ แม้ว่าทางสังคมวิทยาจะพยายามแยกออกเป็นแบบต่างๆ นั้น ก็เพื่อประโยชน์ในการศึกษาเท่านั้น แต่ในสภาพการที่แท้จริงแล้ว กระบวนการดังกล่าวมักจะปรากฏอยู่หลายแบบ ในโอกาสหนึ่งๆ จะเป็นแบบรู้ตัว (Conscious) หรือไม่รู้ตัว (Unconscious) ซึ่งสามารถจะพบได้ในทุกกลุ่มบุคคลหรือสังคม ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้คือ
1. กระบวนการทางสังคม ซึ่งสร้างให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขภายในกรอบสถาบันที่มีอยู่ หรือกระบวนการทางสังคม ซึ่งก่อให้เกิดการประสานกัน
2. กระบวนการทางสังคมที่ก่อให้เกิดการขัดแย้งกัน
กระบวนการทางสังคมซึ่งก่อให้เกิดการประสานกัน อาจจะแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
1. การร่วมมือกัน (Co-orperation) นับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของกระบวนการทางสังคมที่ก่อให้เกิดการประสานกัน การร่วมมือกันเป็นลักษณะของการกระทำโต้ตอบกันของมนุษย์ เพื่อร่วมกันทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน การร่วมมือกันจึงเป็นเรื่องของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และเป็นความพยายามที่จะร่วมมือกันที่มีลักษณะติดต่อแบบยาวนาน การร่วมมือกันอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
1.1 การร่วมมือกันแบบปฐมภูมิ เป็นการร่วมมือกันที่บุคคลทั้งหลายกระทำร่วมกันในทุกๆ ด้าน โดยใช้วิธีการ และมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน
1.2 การร่วมมือกันแบบทุติยภูมิ เป็นการร่วมมือกันที่บุคคลกระทำเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในลักษณะต่างๆ กัน และมีวัตถุประสงค์บางประการร่วมกัน การที่จะให้ได้มาซึ่งความพอใจของแต่ละฝ่ายนั้น ก็จะต้องอาศัยการปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ที่อยู่เหล่านั้น ซึ่งจะส่งผลต่อกันและกันด้วย
1.3 การร่วมมือกันแบบตติยภูมิ เป็นการร่วมมือกันที่บุคคลแต่ละฝ่ายมีจุดประสงค์ต่างกัน แต่วิธีการของการปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกัน เช่น การที่ข้าราชการรับสินบนจากพ่อค้า เพื่อให้พ่อค้าได้สิทธิพิเศษบางประการ เป็นต้น
2. การปรับตัว หรือการสมานลักษณ์ (Accommodation) เป็นกระบวนที่บุคคลหรือกลุ่มที่มีความแตกต่างกันในด้านความคิด ความเชื่อ ประเพณี หรือผลประโยชน์ ปรับพฤติกรรมให้เข้ากันได้ หรืออยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขในสังคม โดยที่แต่ละฝ่ายจะยังคงรักษาเอกลักษณ์และผลประโยชน์ของตนไว้ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย หรือเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม
3. การกลืนกลาย หรือการผสมกลมกลืน (assimilation) เป็นกระบวนการที่บุคคลหรือกลุ่มที่มีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ ทางวัฒนธรรม ผสมกลมกลืนกันจนเป็นกลุ่มเดียวกัน หรือมีวัฒนธรรมที่ใช้อันเดียวกัน ซึ่งมีผลทำให้ความแตกต่างหมดสิ้นไปจากสังคมนั้น กระบวนการนี้ จะดำเนินสืบเนื่องมาจากการปรับตัว และจะดำเนินไปอย่างช้าๆ และค่อยเป็นค่อยไป
4. การเห็นพ้องกัน (consensus) เป็นกระบวนการที่บุคคลหรือกลุ่มมีความเห็นพ้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ในสิ่งที่เคยมีความคิดเห็น หรือปฏิบัติที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อขจัดความขัดแย้งและต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อกันได้อย่างถาวร
กระบวนการทางสังคมที่ก่อให้เกิดการขัดแย้งกัน แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. การแข่งขัน (competition) เป็นแบบของความสัมพันธ์ของมนุษย์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือตั้งแต่ 2 กลุ่มขึ้นไป พยายามที่จะบรรลุถึงเป้าหมายอันเดียวกันในการปฏิบัติของแต่ละฝ่ายนั้น จะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ หรือระเบียบแบบแผน ที่ยอมรับของสังคม โดยทั่วไปผู้แข่งขันจะสนใจในการบรรลุเป้าหมายมากกว่าการที่จะทำร้ายคู่แข่ง เช่น การแข่งขันกีฬา การสอบแข่งขันต่างๆ เป็นต้น
2. การขัดแย้ง (conflict) เป็นแบบของความสัมพันธ์ของมนุษย์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือตั้งแต่ 2 กลุ่มขึ้นไป สนใจในการขัดแย้งหรือเป็นศัตรูกันมากกว่าการดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย การปฏิบัติของแต่ละฝ่ายจึงจะกระทำในทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งความพอใจของตนเอง
ดังกล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่ากระบวนการทางสังคมนั้นเกิดจากการมีปฏิกิริยาโต้ตอบ (Social interaction) ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เมื่อบุคคลต้องสัมพันธ์กันเช่นนี้ ก็จะมีกระบวนการต่างๆ ทางสังคมซึ่งอาจเป็นแบบขัดแย้ง แข่งขัน ร่วมมือ การตกลงความเห็นและการกลมกลืน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดเพียงอย่างเดียวแต่อาจรวมหลายๆ แบบหรือเปลี่ยนจากกระบวนการแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่งได้ ทั้งนี้ก็เพื่อจุดหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งโทษและประโยชน์แล้วแต่กรณี

พฤติกรรมทางสังคม แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. พฤติกรรมทางสังคมที่สร้างสรรค์ ได้แก่ การเป็นผู้มีมารยาท การเป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบ การเป็นได้ทั้งผู้นำ และผู้ตาม การรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อ บุคคลอื่น การเคารพกฎหมาย การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีในสังคม

2. พฤติกรรมทางสังคมที่ไม่สร้างสรรค์ ได้แก่ พฤติกรรมก้าวร้าว การเป็นนักเลงอัธพาล การติดยาเสพติด เป็นเอสด์ การมัวสุมการพนัน หนีเรียน ขาดความรับผิดชอบไม่มีวินัยไม่รู้จักหน้าที่ และกติกาของสังคม ซึ่งบุคคลเหล่านี้มักชอบสร้างปัญหาให้ผู้อื่นเดือดร้อน

พฤติกรรมทางสังคมที่เป็นปัญหา

1. พฤติกรรมร่วม ( Collective Behavior ) หมายถึง พฤติกรรมที่ก่อขึ้นด้วยความร่วมมือกันของคนสองคน หรือมากกว่านั้น โดยมีความมุ่งหมายเพื่อผลทางสังคมบางอย่างตัวอย่างของพฤติกรรมร่วมคือ พฤติกรรมของม๊อบ ทั้งนี้การเดินขบวนด้วยความสงบก็เป็นพฤติกรรมร่วม การร่วมแก๊งโทรมหญิงก็เป็นพฤติกรรมร่วม อาจจะเป็นที่สงสัยว่าแล้วเราจะเริ่มต้นอธิบายพฤติกรรมได้อย่างไร คำตอบคือเราจะพูดถึงพฤติกรรมร่วม หรือcollective behavior โดยการพูดถึงฝูงชน ( crowds ) ความเป็นนิรนาม ( anonymity ) และพฤติกรรมติดต่อ ( contagion )

ฝูงชน ( crowds ) หมายถึง การรวมตัวชั่วคราวของคนเพื่อกิจกรรมร่วมบางอย่าง เช่น ฟังดนตรี ฟังคำปราศรัย หรือช่วยคนอยู่ใต้ตึกถล่ม การรวมตัวของคนอาจมีความรู้สึกร่วมเช่นเวลาดูกีฬาเมื่อฝ่ายของตนชนะก็มีความดีใจร่วมกัน การรวมตัวกันเป็นฝูงชนนั้นอาจจะอยู่เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็สลายตัว หรืออยู่จนสมปรารถนา

ความเป็นนิรนาม ( anonymity or deindviduation ) อิทธิพลอย่างหนึ่งของการเข้ากลุ่มก็คือการทำให้เกิดความเป็นนิรนาม ซึ่งก็คือการไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ทำให้เกิดความรู้สึกว่าถ้าทำอะไรแล้วจะต้องไม่รูสึกรับผิดชอบส่วนตัว ทำให้คนกล้าทำอะไรต่อมิอะไรที่ไม่กล้าทำเวลาอยู่โดดๆ หรืออยู่คนเดียว ด้วยเหตุนี้การอยู่ในฝูงชนจึงทำให้บางครั้งกล้าทำในสิ่งที่สร้างความเสียหายมากกว่าปกติเพราะความรู้สึกที่ไม่กลัว หรือกลัวน้อยลงเมื่อคิดว่าไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นใคร

พฤติกรรมติดต่อ ( contagion ) พฤติกรรมในฝูงชนยังเกี่ยวข้องกับตัวแปรหนึ่งคือ การแพร่กระจายของอิทธิพลในลักษณะที่เหมือนโรคติดต่อ การแสดงความรุนแรง การทำลายข้าวของโดยที่ผู้อยู่ในกระบวนการเป็นตัวอย่าง อาการติดต่อทางอารมณ์ และพฤติกรรมจะเกิดขึ้นเมื่อ มีความเครียด และตัวอย่างที่เห็นเข้ากับสถานการณ์ที่เป็นอยุ่ ดังนั้นฝูงชนสามารถสื่ออารมณ์กันจนช่วยกันทำลายของร่วมกันได้

การรวมตัวกัน ( gatherings ) หมายถึง การมาอยู่ร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลา และสถานที่เดียวกัน การมารวมกันบางประเภทอาจ เพื่อฟักผ่อนหย่อนใจเช่น ไปดูหนัง ฟังคอนเสริร์ตในสวนสาธารณะ ไปดูตำรวจจับผู้ร้าย หรือดูไฟไหม้เป็นต้น การเดินขบวนก็เป็นการรวมตัวกัน การทำพิธีทางการเมือง และพิธีทางศาสนาก็เป็นการรวมตัวกัน การรวมตัวกันมี 3 ขั้นตอนคือ

1. การมาอยู่ด้วยกัน( assembling ) หมายถึง การที่คนกลุ่มหนึ่งมาอยู่ร่วมสถานที่ในเวลาเดียวกัน เช่น การไปรวมตัวกันของพวกคนที่มาดูดาวตก หรือการมารวมตัวกันของคนที่มาดูฟุตบอล หรืออาจมีการรวมตัวกันเพราะผลประโยชน์ร่วมกันเช่น จัดคนมาขอให้รัฐบาลขึ้นราคาอ้อย เป็นต้น หรือบางทีอาจมีอุดมการณ์ร่วมกันเช่น ต่อต้านการทำแท้งเพื่อชีวิตเด็กในครรภ์ เป็นต้น

2. การมีกิจกรรม( activities ) การรวมตัวกันมักจะมีเป้าหมายของกิจกรรมที่แน่นอนหมายถึงการมีพฤติกรรมร่วมขั้นพื้นฐานกิจกรรมที่ทำก็มีเช่น ดูหนัง เข้าแถวดื่มน้ำ หรือการเข้ากลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรให้

3. การสลายตัว ( dispersal ) การสลายตัวมีหลายรูปแบบเช่น สลายตัวตามปกติคือไม่มีอะไร พอเสร็จธุระก็สลายตัวไปการสลายตัวอีกรูปแบบหนึ่งคือการถูกบังคับ จะโดยการออกคำสั่ง หรือการถูกทำร้ายก็ตามการสลายตัวแบบนี้คือการเกิดเหตุฉุกเฉิน( emergency ) และการสลายตัวสุดท้ายได้แก่การสลายตัวโดยการต่อรอง

สาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมร่วม

มีตัวแปรสามตัวที่เกี่ยวข้องกับการเกิดพฤติกรรมร่วมคือ ความตึงเครียด ( strain ) การตั้งความหวังเกินความจริง ( relative deprivation ) และความทุกข์ร้อน ( grievances )

ความตึงเครียด ( strain ) พฤติกรรมร่วมไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดจากความเครียดเสมอไป พฤติกรรมร่วมชนิดที่เกิดจากความเครียด มักจะเกิดจาก ความเคลื่อนไหวทางสังคม ( social movement ) ซึ่งทำให้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อคลายความทุกข์ร้อนที่ทำให้เครียด เวลาเกิดปัญหาทางสังคมเช่นเกิดไข้หวัดนกผู้เลี้ยงไก่จะมีความเครียดเพราะไก่ถูกทำลายก็เลยอาจรวมตัวกันเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ

การตั้งความหวังเกินความจริง ( relative deprivation ) เป็นตัวแปรอีกตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดการชุมนุมเรียกร้อง การตั้งความคาดหมายที่เกินจริง หมายถึง การที่คิดว่าตนเองควรได้มากว่านี้เพราะเห็นคนอื่นเขาได้กัน หรือมีความคาดหวังสูงกว่าที่เป็นจริงจึงเกิดภาวะขาดแคลนที่คิดขึ้นเอง ตัวเองมีอยู่แล้วแต่พอเทียบกับคนอื่นที่มีมากกว่าก็เลยรู้สึกว่าตนเองขาดแคลน จิตวิทยาดังกล่าวสามารถทำให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องได้

ความทุกข์ร้อน ( grievances ) ความทุกข์ร้อนเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดการชุมนุมกันได้ ถ้ามีผู้นำบุคคลทั่วไปที่ทุกข์ร้อนจะไม่มีการเรียกร้องแต่ถ้ามีคนที่มีปัญหาร่วมมาก และเกิดมีผู้นำขึ้นมาก็ทำให้รวมกลุ่มเรียกร้องได้ การที่ข้าวราคาตก กุ้งราคาตก ทำให้ชาวนา และผู้เลี้ยงกุ้งรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ

การจลาจล ( social riots ) ถ้าประชาชนมีความอัดอั้นตันใจมากๆ ประกอบกับมีข่าวลือที่สร้างความขัดแย้งก็อาจทำให้เกิดจารจาจลขึ้นได้ การจลาจลนั้นไม่ได้เกิดจากการนัดหมายแต่เป็นปรากฏการณ์ที่มีข่าวลือเป็นเหตุปะทุให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวเกิดการแบ่งพวกตีกัน เกิดการปล้นร้านค้าชิงทรัพย์ เป็นจำนวนมากห้ามไม่อยู่