กลไกการป้องกันตัวเอง

กลไกการป้องกันตัวเอง ( Defense Mechanism)

กลไกการป้องกันตัวเอง ( Defense Mechanism) ไม่ใช่ความผิดปกติ เพราะ เป็นการปรับตัวของ Ego ( 1 ในโครงสร้างทางจิตใจ มีหน้าที่จัดการ ประนีประนอมแรงผลักดัน ความต้องการต่างๆ กับ ระเบียบ ความถูก-ผิด ข้อจำกัดจากสภาพข้อเท็จจริงภายนอก) เพื่อให้จิตใจกลับสู่ภาวะสมดุล

แต่ ถ้าใช้กลไกทางจิตแบบเดิมๆอยู่เสมอ วนเวียนจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ไม่มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ หรือไม่เหมาะสมตามวัย ก็มักจะก่อให้เกิดปัญหา หรือจิตพยาธิสภาพตามมาได้ค่ะ

ถึงเวลามารู้จักกลไกการป้องกันตัวเองกันแล้วนะคะ ว่ามีกี่แบบ อะไรบ้าง…พิมพ์นิยมของกลไกการป้องกันตัวเองมีดังนี้ค่ะ

1. กลไกการป้องกันตัวเองที่มีวุฒิภาวะ ( Mature Defenses ) เป็นระดับสูงที่สุด ถือว่าถ้าใช้กลไกกลุ่มนี้แล้วจะนำไปสู่การปรับตัว และมีสุขภาพจิตดี ซึ่งตามความเป็นจริงกลไกเหล่านี้ ก็มีส่วนเปลี่ยนแปลง หรือบิดเบือน ความรู้สึกอยู่บ้างเหมือนกัน แต่เมื่อใช้แล้วผลที่ได้มัก ก่อให้เกิดศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจแห่งตน ก็เลยหยวนๆว่า เป็นกลไกการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดในทั้งหมด มีอยู่ 9 อย่าง แต่จะยกมาเป็นน้ำจิ้มแค่ 3 คือ

ก. การทดเทิด ( Sublimation ) หมายถึง เปลี่ยนความรู้สึกหรือแรงผลักดันให้เป็นรูปแบบที่สังคมยอมรับ เช่น นายดำชอบความรุนแรง ก้าวร้าวเลยไปเรียนชกมวย หรือกระเทยมักมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งที่โดดเด่น เพราะรู้สึกว่าไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากสังคม

ข. การกดระงับ ( Suppression ) หมายถึง จัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยการใช้วิธีเก็บปัญหาเอาไว้ก่อน ฝากไว้ในระดับจิตสำนึก เช่น กังวลใจหลังสอบ เพราะรู้สึกว่าทำไม่ได้ แต่บอกกับตัวเองว่าถึงกังวลไปก็ทำอะไรไม่ได้ รอผลสอบออกมาแล้วค่อยมาว่ากันอีกที

ค. อารมณ์ขัน ( Humor ) หมายถึง การใช้อารมณ์ขันเพื่อแสดงความรู้สึกหรือความคิดออกมา โดยที่ตนก็ไม่รู้สึกอึดอัด และเป็นผลดีต่อผู้อื่น บางครั้งความตลกขบขันก็ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์และทนต่อสภาพที่น่าหวาดกลัวได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างก็เช่นพี่ฑูร อัยการชาวเกาะผู้น่ารัก หรือพี่ตึ๋งจอมป่วนของเราไงคะ

ที่เหลือก็มี การคาดการณ์ ( Anticipation ) , การเห็นประโยชน์ผู้อื่น ( Altruism ) , การยืนหยัดด้วยตัวเอง ( Self - Assertion ) , การบำเพ็ญตบะ ( Ascetism ) , การเป็นสมาชิก ( Affilliation ) , และ การสังเกตตัวเอง ( Self - Observation )

2. กลไกการป้องกันตัวเองแบบโรคประสาท ( Neurotic Defenses ) เป็นกลไกทางจิตที่ปรับตัวไม่ดีเท่ากลุ่มแรกและมักทำให้เกิดความไม่สบายใจบางอย่าง โดยเฉพาะอาการของโรคประสาท มีอยู่ 14 ชนิด ยกมาเสริฟแค่ 3 พอค่ะ

ก. การเก็บกด ( Repression ) หมายถึง เก็บกดความคิด ความรู้สึก หรือความต้องการที่ตนเองยอมรับไม่ได้ไว้ในระดับจิตไร้สำนึก ผลของการเก็บกดคือ “ลืม” เช่น ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเคยถูกข่มขืนตอนอยู่ชั้นประถมฯ จนกระทั่งได้อ่านไดอารี่ของแม่

ข. การเคลื่อนย้าย ( Displacement ) หมายถึง การเปลี่ยนเป้าหมายที่ีตนเองเกิดความรู้สึกไปยังที่อื่น ซึ่งมีผลเสียน้อยกว่า เช่น ถูกหัวหน้าตำหนิรู้สึกโกรธแต่ทำอะไรไม่ได้ กลับมาฉุนเฉียวกับคนที่บ้าน

ค. การใช้เชาวน์ปัญญา ( Intellectualization ) หมายถึง หันเหความสนใจไปสู่การใช้ความคิด ปรัชญาต่างๆ เพื่อเลี่ยงการเผชิญกับสิ่งที่ไม่สบายใจ เช่น ศูนย์หน้าทีมฟุตบอลที่แพ้ หลีกเลี่ยงความรู้สึกว่าตนเองแย่ โดยการหันมาสนใจรายละเอียดเรื่องการวางแผนและขั้นตอนที่บกพร่อง กลไกอันนี้ความจริงเป็นสิ่งดี แต่มีทางแพร่งที่อาจทำให้เป๋ค่อนข้างเยอะเลยถูกจัดให้เป็นกลุ่มรองลงมา ไม่ใช่ดี 1 ประเภท 1 55555555555

ที่เหลือก็เช่น การกระทำที่ตรงกันข้าม ( Reaction - Formation ) , การปลดเปลื้อง ( Undoing ) , การกำหนดรู้ภายนอก ( Externalization ) , การยับยั้งจุดหมาย ( Aim Inhibition ) , การแตกแยก ( Dissociation ) , การแยกอารมณ์ ( Isolation of Affect ) , การควบคุม ( Controlling ) , การให้ความสำคัญทางเพศ ( Sexualization ) การแปรเปลี่ยน ( Conversion ) , การเลียนแบบ ( Identification ) และ การทำให้เป็นสัญลักษณ์ ( Symbolization )

3. กลไกป้องกันตนเองแบบไม่บรรลุวุฒิภาวะ ( Immature Defenses ) เป็นกลไกที่นำไปสู่ความไม่สบายใจอย่างรุนแรงและมักก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้อื่นด้วยสิคะ มีประมาณ 19 ชนิด ยกมา 3 เหมือนกัน อิอิอิ

ก. การปฏิเสธ ( Denial ) หมายถึง หลีกเลี่ยงการรับรู้ความเป็นจริงที่ทนรับไม่ได้โดยปฏิเสธการรับรู้ เช่น แพทย์แจ้งว่าเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยไม่เชื่อและไม่สนใจในสิ่งที่แพทย์แนะนำ

ข. การโทษผู้อื่น ( Projection ) หมายถึง การโยนความรู้สึกหรือความต้องการที่ตนเองรับไม่ได้ให้เป็นของผู้อื่น เช่น ไม่ชอบหัวหน้างาน แต่เกิดความรู้สึกว่าหัวหน้างานกลั่นแกล้ง ไ่ม่ไว้ใจตนเอง หรือนักเลงสนุ้กเกอร์เล่นแพ้บอกว่าเป็นเพราะสักหลาดชื้นและฝืดเกินไปทำให้ลูกไม่วิ่ง

ค. การหาเหตุผลเข้าข้างตน ( Rationalization ) หมายถึง การหาสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลมาอธิบายความคิด หรือการกระทำของตนเองที่จิตใจยอมรับไม่ได้ บางครั้งก็เพื่อรักษาชื่อเสียงของตนเอาไว้ไม่ให้เสียหน้าหรืออับอาย เช่น ผู้หญิงที่ไม่ยอมแต่งงาน บอกกับเพื่อนว่า อยู่คนเดียวสบายใจกว่า ชีวิตแต่งงานไม่เห็นมีความสุขอะไรเลย ^ ^ … กลไกการป้องกันตัวข้อนี้มีชื่อเล่นว่า”แถ” ค่ะ เพราะบางทีฟังแล้วข้างๆคูๆชอบกล

อย่างอื่นก็เช่น การทำให้คุณค่าลดลง ( Devaluation ) , ความยิ่งใหญ่ ( Omnipotence ) , เพ้อฝัน ( Fantasy ) , การแบ่งแยก ( Spiltting ) , การพุ่งเข้าหาตัวเอง ( Introjection ) , การถดถอย ( Regression ) , การบ่นว่าไม่มีใครยอมช่วยเหลือ ( Help - Prejecting Complaining หุหุหุ ) ฯลฯ

4. กลไกการป้องกันตัวเองแบบโรคจิต ( Psychotic Defenses ) หึหึหึ เป็นกลไกแบบต่ำสุด เมื่อใช้แล้วมักทำให้เกิดการปฏิเสธ และบิดเบือนความจริง มี 3 แบบ คือ การโทษผู้อื่นแบบหลงผิด ( Delusional Projection ), การปฏิเสธแบบโรคจิต ( Psychotic Denial ) และการบิดเบือนแบบโรคจิต ( Psychotic Distortion ) แต่ยกมาอธิบายเพียง 1 คือ….

การโทษผู้อื่นแบบหลงผิด ( Delusional Projection ) หมายถึง การใช้กลไกแบบโทษผู้อื่น อย่างรุนแรงจนเกิดการสูญเสียการทดสอบความจริง และมีอาการหลงผิดร่วมด้วย เช่น ผู้ป่วยคิดว่าตัวเองเป็นบุคคลสำคัญยิ่งใหญ่จนมีคนลอบสังหาร และติดตามตัวเขาได้เนื่องจากมีผู้กระจายข่าวอยู่ในปาก …

ตัวอย่างการใช้กลไกการป้องกันตัวเองจนเป็นนิสัยและอาจเกิดปัญหา

1. Repression เก็บกด…ใช้บ่อยๆจะกลายเป็นคนขี้ลืม และไม่รู้จักการแก้ไขปัญหา

2. Fantasy เพ้อฝัน…ใช้บ่อยๆจะทำให้เป็นคนเฉื่อยชา ไม่ขวนขวาย

3. Rationalization …การอ้างเหตุผล (แถ) ถ้าใช้บ่อยๆจนชินมีโอกาสพัฒนาเป็น Projection (โทษผู้อื่น) ได้ง่ายดายมากค่ะ

4. Displacement …การเปลี่ยนเป้าหมายไปสู่สิ่งที่มีผลเสียน้อยกว่า กลไกชนิดนี้มักพบบ่อยในผู้ป่วย Phobic Neurosis( โรคประสาทกลัวที่รุนแรงเกินกว่าเหตุและไม่สมเหตุผล)

5. Projection… โทษผู้อื่น ใช้บ่อยๆจะก้าวร้าว ไม่รู้จักแก้ไขปัญหา ขาดความรับผิดชอบ สุกเอาเผากิน

จะเห็นว่ากลไกการป้องกันตัวเองมีทั้งด้านบวกและด้านลบ และบางครั้งก็ใช้ร่วมกันได้มากกว่า 1 แบบ / 1 สถานการณ์

ด้านบวก คือ…ทำให้จิตใจหายวิตกกังวล

ด้านลบ คือ…ส่วนใหญ่ ไม่ได้ช่วย แก้ไขปัญหา…แถมถ้าใช้บ่อยๆจนเป็นนิสัย จะกลายเป็นปัญหาอย่างมากตามมาได้

ดังนั้น รู้ทันมันนะคะ ถ้าสำรวจพบว่าใช้กลไกการป้องกันตัวเองที่ไม่ค่อยเหมาะสมบ่อยๆก็พยายามลด ละ เลิก เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาวค่ะ

กลไกการป้องกันตนเองทางจิตของมนุษย์ Defence mechanism

Defence mechanism คือกลไกการป้องกันตนเองทางจิตของมนุษย์ เป็นการหา ทางออกให้ กับจิตใจ เมื่อมนุษย์เผชิญสถานการณ์ที่เลวร้าย หรือเป็นข้อแก้ตัว ให้ตนเองเพื่อแก้ไข ความสับสนในจิตใจ หรือการต่อต้านความเจ็บปวดของจิต มีหลายลักษณะ ดังนี้

  • Repression คือ การเก็บกด (ระดับจิตไร้สำนึก) เป็นการลืมเรื่องที่กระทบ กระเทือนจิตใจที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวล ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเคยปัสสาวะราดในห้องเรียนตอนอยู่ชั้นประถมจนกระทั่งได้ รับการบอกเล่าจากแม่ ข้อดีของการเก็บกด คือ ทำให้ลืมความวิตกกังวลได้ แต่ข้อเสีย ทำให้ไม่รู้จักแก้ปัญหาและ ego จะอ่อนแอลงไม่อาจทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น
  • Suppression คือ การเก็บกด (ระดับจิตสำนึก) หรือการลืมบางสิ่งบางอย่างโดยเจตนา ตัวอย่างเช่น กังวลใจหลังสอบแล้วพยายามลืมไปก่อน
  • Rationalization คือ การหาเหตุผลเข้าข้างตนเองเมื่อทำพฤติกรรมหรือมีความคิดอย่างใด อย่างหนึ่งที่ไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอ้วนมาก แต่กินอาหารในงานเลี้ยง คืนสู่เหย้าเข้าไปมาก แล้วบอกว่า ของดีๆแบบนี้หากินที่อื่นไม่ได้ หรือนักเรียนหญิง ที่ไปขายตัวช่วยแฟนจ่ายพนันบอล อาจบอกตนเองว่า “ก็แค่นอนกับถุงยาง”
  • Sublimation คือ การทดแทนเปลี่ยนแรงผลักดันภายในจิตใจไปสู่การกระทำที่สังคมยอมรับ ตัวอย่างเช่น คนที่ก้าวร้าวจะเลือกอาชีพเป็นนักมวย หรือศัลยแพทย์
  • Projection คือ การโยนความรู้สึก ความคิด ความปรารถนาของตนที่ไม่เป็นที่ยอมรับให้กับผู้อื่นหรือสิ่งอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยไม่ชอบเพื่อนร่วมงานเกิดความรู้สึกว่าเพื่อน ไม่ชอบ ไม่ไว้ใจตนเอง
  • Displacement คือ การแทนที่โดยเมื่อมีความรู้สึก นึกคิดที่ไม่เหมาะสม ego จะเปลี่ยนให้ไปยังสิ่งอื่นๆแทน ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงที่เกลียดพ่อที่ดื่มสุราจะกลายเป็นความรู้สึกเกลียดผู้ชายทุกคนที่ ดื่มสุรา
  • Identification คือ การเลียนแบบหรือการเอาอย่างซึ่งเกิดเองโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดมีความศรัทธาในคนใดคนหนึ่ง
  • Regression คือ การถดถอยไปสู่ระดับของบุคลิกภาพซึ่งมีพฤติกรรมแบบเด็กๆ เกิดเมื่อมีความขัดแย้งในจิตใจ เช่น เถียงสู้เพื่อนๆไม่ได้ เลยร้องไห้เหมือนเด็กๆ
  • Introjection คือ การนำเข้ามาสู่ตนเอง เป็นการลงโทษตัวเอง
  • Isolation คือ การแยกอารมณ์ออกจากความคิดและความปรารถนา
  • Reaction formation คือ การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริงโดยเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีความเป็น homosexual ในจิตไร้สำนึกจะแสดงอาการรังเกียจเกย์อย่างมาก
  • Substitution เกิดเมื่อต้องการสิ่งใดอย่างมากแต่ไม่สามารถมีได้ จึงใช้สิ่งอื่นมาทดแทนที่คล้ายคลึงกันในระดับจิตไร้สำนึก
  • Restitution เป็นการทดแทนโดยใช้สิ่งที่คล้ายกันมาแทน เช่น สุนัขตายไป จึงซื้อตัวใหม่
  • Resistance เป็นการที่จิตไร้สำนึกหลีกลี่ยงหรือต่อต้านกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยที่บุคคลนั้นไม่รับรู้โดยจิตสำนึก
  • Fantasy เป็นการสร้างเรื่องราวที่ไม่เป็นจริงขึ้นมาในใจเพื่อให้สมปรารถนา เป็นการหลบหนีจากโลกความเป็นจริงที่ไม่น่าอยู่
  • Symbolization ใช้สิ่งหนึ่งเป็นตัวแทนอีกสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามหรือไม่เป็นที่ยอมรับ ของสังคม สิ่งที่ทดแทนนี้เป็นสัญลักษณ์ที่รู้กันทั่วไป เช่น ศาลพระภูมิแทนพ่อ
  • Conversion คือการเปลี่ยนความขัดแย้งในจิตใจเกิดเป็นอาการทางกายเช่น ปวดหลัง ปวดท้อง เพื่อดึงความสนใจของจิตสำนึกไปสู่อาการทาง ร่างกายแทน
  • Compensation คือการทดแทนความไม่สมบูรณ์ในตนเองโดยการชดเชยด้วยสิ่งอื่นๆ
  • Denial คือการปฏิเสธความเป็นจริงที่ไม่สามารถยอมรับได้โดยง่าย
  • Undoing เป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับแรงขับที่ไม่ดีเพื่อลบล้างสิ่งเหล่านั้น เช่น ที่พบในอาการย้ำคิดย้ำทำ

Sigmund Freud (1856-1939) บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย ผู้ที่สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) ได้กล่าวว่า มนุษย์มิได้เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล ดังเช่นที่พวกเขาเชื่อหรืออยากเป็น หากแต่ความคิดของมนุษย์ถูกกำหนดโดยพลังแห่งจิตไร้สำนึกที่ซ่อนเร้น และหลุดรอดจากความเข้าใจของมนุษย์ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย". ฟรอยด์พบว่าการกระทำ, ความคิด, ความเชื่อ, หรือเรื่องเกี่ยวกับตัวตนนั้น ถูกกำหนดแสดงออกโดยจิตไร้สำนึก(unconscious), แรงขับ (drive) และความปรารถนา (desire) มนุษย์ขจัดประสบการณ์และความทรงจำอันเจ็บปวดโดยการเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก อันจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเขา และก่อให้เกิดกลไก ที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันตัวเองที่เรียกว่า "Ego Defense Mechanism" ขึ้นมา ซึ่งฟรอยด์ได้แบ่งประเภทกลไกในการป้องกันตัวดังนี้

  1. การไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่ง (Ambivalence) เป็นสภาวะที่ Ego ไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่งให้เด็ดขาดลงไป แต่อยู่ในสภาวะสองจิตสองใจ เอียงไปข้างนั้นทีข้างนี้ที มีลักษณะโลเล หลายใจนั่นเอง
  2. ปฏิกิริยาการหลบหนี (Avoidance) เป็นปฏิกิริยาการหลบหนีจากวัตถุ ผู้คน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเจ็บปวด เนื่องจากต้องข่มความรู้สึก ที่พลังทางเพศและความก้าวร้าวอันแฝงอยู่ในจิตไร้สำนึกถูกระตุ้นให้สำแดงความปรารถนาออกมา เช่น พระเอกในนิยายเรื่อง ทไวไลฟ์ ทั้งๆที่รักนางเอกมาก แต่ก็พยายามหนีและอยู่ห่างจากนางเอก เพราะกลัวความเป็นแวมไพร์ของตนจะทำร้ายนางเอก
  3. การหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง (Fixation) เป็นสภาวะที่หยุดอยู่กับที่ไม่ยอมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเพราะประสบการณ์อันเจ็บปวด (Trauma) เช่น เด็กที่เคยสูญเสียพ่อแม่ก็จะไม่สร้างความรักกับใครอีกเลย หากจะเกาะยึดอยู่กับความรู้สึกสูญเสียที่เกิดขึ้น
  4. การเลียนแบบ (Identification) คือ การปรับตัวโดยการเลียนแบบพฤติกรรม ทัศนคติ ค่านิยม ของบุคคล หรือสิ่งของที่ตนชื่นชอบ โดยการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความรู้สึกทางจิตใจ เช่น การแสดงพฤติกรรมให้เหมือนกับบุคคลต้นแบบ ซึ่งอาจเป็นดารา นักแสดง หรือตัวละครต่างๆ โดยการแต่งตัว แสดงลักษณะท่าทางเหมือนผู้ที่เลียนแบบ นอกจากนั้นก็มีความรู้สึกร่วมกับผู้ที่เราเลียนแบบด้วย
  5. การกล่าวโทษผู้อื่นหรือการโยนความผิดให้แก่ผู้อื่น (Project) คือ การลดความวิตกกังวล โดยการย้ายหรือโยนความผิด ความไม่ดีงามของตนเอง หรือความรับผิดชอบจากผลของการกระทำของตนเอง หรือผลจากความคิดที่ไม่เหมาะสมของตนไปให้บุคคลอื่น เช่น ถ้าตนเองรู้สึกไม่ชอบใครที่ตนควรจะชอบ ก็อาจจะบอกว่าคนนั้นไม่ชอบตน “เป็นการไม่ยอมรับความผิดของตนนั่นเอง” ลักษณะนี้ ตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง”
  6. การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) คือ การแสดงออกในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ตนรู้สึก เพราะคิดว่าสังคมอาจยอมรับไม่ได้ โดยการทุ่มเทในการแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับความรู้สึกของตนเอง ที่ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคม อาจจะไม่ยอมรับ เช่น แม่ที่ไม่รักลูกคนใดคนหนึ่งอาจจะมีพฤติกรรมตรงข้าม โดยการแสดงความรักมากมายอย่างผิดปกติ
  7. การเก็บกด (Repression) เป็นการเก็บความรู้สึกผิด ความคับข้องใจเอาไว้ในจิตใต้สำนึกจนกระทั่งลืม ซึ่งการเก็บกดนี้หากต้องเก็บความรู้สึกเอาไว้มากอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้
  8. การขจัดความรู้สึก (Suppression) มีลักษณะคล้ายกับ Repression แต่เป็นกระบวนการขจัดความรู้สึกดังกล่าวออกไปจากความคิด และเป็นกระบวนการที่เกิดอย่างที่ผู้กระทำมีความรู้ตัวและตั้งใจ ในขณะที่ Repression นั้นไม่รู้ตัว
  9. การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) คือการหาเหตุผล หาคำอธิบาย มาอ้างอิง มาประกอบการกระทำของตนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น เป็นการปรับตัวโดยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง โดยให้คำอธิบายที่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนอื่น การใช้วิธีการป้องกันตนเองแบบนี้คล้ายๆกับการ “แก้ตัว” นั่นคือบุคคลจะพยายามหาเหตุผล อ้างข้อมูลต่างๆ เพื่อสนับสนุน
    9.1 แบบองุ่นเปรี้ยว (Sour Grape) เช่น นักเรียนอยากเรียนแพทยศาสตร์ แต่สอบเข้าไม่ได้ สอบได้วิศวกรรมศาสตร์ อาจจะบอกว่าเข้าแพทย์ไม่ได้ก็ดีแล้ว เพราะอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่สียสละ เสี่ยงภัย เหน็ดเหนื่อย ไม่มีเวลาของตนเอง เป็นวิศวกรดีกว่า เพราะเป็นอาชีพอิสระ มีรายได้มาก
    9.2 มะนาวหวาน (Sweet Lemon) เช่น นักเรียนไม่อยากเรียนกฏหมาย พ่อแม่อยากให้เรียน ก็เลยลองสอบเข้าคณะนิติศาสตร์แล้วสอบเข้าได้ พ่อแม่ดีใจ สนับสนุนจึงต้องเรียนวิชากฎหมาย เลยคิดว่าเรียนกฏหมายก็ดี มีความรู้ เป็นอาชีพมีเกียรติ มีประโยชน์ต่อสังคม มีรายได้สูง และวันหนึ่งอาจจะได้เป็นรัฐมนตรีก็ได้ ใครจะรู้
  10. การชดเชยหรือการทดแทน (Substitution/Compensation) การชดเชยหรือการทดแทนด้วยการหาทางออกในอันที่จะแสดง ความต้องกา รของตน เช่น การต้องการระบายความก้าวร้าวก็หันไปเล่นกีฬาทดแทน หรือวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะ เป็นการชดเชยในสิ่งที่สังคมยอมรับได้
  11. การถดถอย (Regression) คือการหนีกลับไปอยู่กับสภาพอดีตที่ตนเคยมีความสุข เป็นการแสดงพฤติกรรมถดถอยไปเป็นการหนีกลับไปอยู่ในสภาพอดีตที่เคยทำให้ตนมีความสุข เช่น ผู้ใหญ่เมื่อเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดก็แสดงอาการกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง หรือเด็ก 2-3 ขวบ ที่ช่วยตนเองได้ มีน้องใหม่ เห็นแม่ให้ความเอาใจใส่น้อง จึงมีความรู้สึกว่าแม่ไม่รักและไม่สนใจตนเท่ากับที่เคยได้รับ จะมีพฤติกรรมถดถอยไปอยู่ในวัยทารก ที่ช่วยตนเองไม่ได้ ต้องให้แม่ทำให้ทุกอย่าง
  12. การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy / Day Dreaming) คือ การคิดฝัน หรือสร้างวิมานขึ้นเอง สร้างจินตนาการหรือมโนภาพ เกี่ยวกับสิ่งที่ตนมีความต้องการแต่เป็นไปไม่ได้ ไม่สามารถเป็นจริงได้ ฉะนั้นจึงคิดฝันหรือสร้างวิมานในอากาศขึ้น เพื่อสนองความต้องการ ชั่วขณะหนึ่ง เช่น คนไม่สวยก็นึกฝันว่าตนเองสวย เก่งเหมือนนางเอก มีพระเอกและผู้ชายมารัก มาให้เลือกมากมาย เป็นต้น
  13. การแยกตัว (Isolation) คือ การแยกตัวให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง เป็นอารมณ์ที่อยาก อยู่เงียบๆคนเดียว ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใครและไม่อยากให้ใครมายุ่งด้วย
  14. การแทนที่ (Displacement) คือ การระบายอารมณ์โกรธ หรือคับข้องใจต่อคนหรือสิ่งของที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ เช่น พนักงานที่ถูกเจ้านายดุ ด่าหรือทำให้คับข้องใจ เมื่อกลับมาบ้านอาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อภรรยาและลูก หรือนักศึกษาที่โกรธครูแต่ทำอะไรไม่ได้ อาจจะเตะโต๊ะ หรือเก้าอี้ เพื่อเป็นการระบายอารมณ์ เป็นต้น ตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “ตีวัวกระทบคราด”
  15. การไม่ยอมรับความจริง (Denial of Reality) เป็นวิธีการที่บุคคลไม่ยอมรับรู้ ไม่ยอมเข้าใจ ไม่ยอมเผชิญหน้ากับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น กับตนเอง เพราะเจ็บปวดกับความจริงที่เกิดขึ้นหรือเป็นอยู่ รับไม่ได้กับความจริงที่ทำให้ตนต้องสูญเสียหรือไม่ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา การปฏิเสธความเป็นจริงมากๆ ก็ทำให้เป็นโรคประสาทได้
  16. การแสดงความก้าวร้าว (Aggression) เป็นการกระทำของบุคคลเมื่อถูกขัดขวางความคิด ความต้องการของตน ความต้องการเอาชน จึงแสดงอำนาจโดยการต่อสู้ ทางกาย วาจาด้วยความก้าวร้าวเพื่อทำลายผู้อื่นหรือทำร้ายผู้อื่นให้เจ็บปวด และยอมแพ้บุคคลนั้นในที่สุด

กลไกในการป้องกันตัว (Defense Mechanism) จึงเป็นวิธีการปรับตัวในระดับจิตไร้สำนึก กลไกในการป้องกันตัวมักจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปนำไปใช้ ในชีวิตประจำวันของบุคคลปกติทุกวัย ตั้งแต่อนุบาลจนถึงวัยชรา เป็นวิธีการที่บุคคลใช้ในการปรับตัว เมื่อประสบปัญหาความคับข้องใจ การใช้กลไกป้องกันตัว จะช่วยยืดเวลาในการแก้ปัญหา เพราะจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด ความไม่สบายใจ ทำให้คิดหาเหตุผลหรือแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด