กฏแห่งกระจก

สรุปเนื้อหา กฏแห่งกระจก โยชิโนริ โนงุจิ

เรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่มีการเปลี่ยนชื่อ และอาชีพตามความเหมาะสม
เอโกะ อาคิยามะ เป็นแม่บ้านอายุนาง 41 ปี มีความกังวลใจที่ ยูตะ ลูกชายของเธอถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง เพื่อนไม่ได้ใช้กำลังกับเขาเพียงแต่มักจะแสดงท่าทีรังเกียจ และมองว่าเขาเป็นตัวปัญหา ยูตะ ทุกข์ใจมากที่ไม่มีใครชวนไปเล่นด้วยซึ่งผู้เป็นแม่ก็รู้ดี เพราะสังเกตเห็นว่าลูกชายหงิดหงิดใส่เธอบ่อยขึ้น แต่ยูตะไม่เคยบอกแม่เลยว่า เขาเหงาและทุกข์ใจ สำหรับเอโกะ เรื่องที่ทุกข์ใจมากที่สุด คือการที่ลูกชายคนเดียวของเธอ ไม่ยอมเปิดใจปรับทุกข์กับเธอเลยแม้แต่ครั้งเดียว
เอโกะ ตัดสินใจโทรหารุ่นพี่ของสามี ชื่อ คุณยางุจิ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และให้คำปรึกษาแก่บริษัทและบุคคลทั่วไป เธอเล่าเรื่องทุกข์ใจให้เขาฟัง คุณยางุจิ ให้ความเห็นว่า “ตอนนี้ เอโกะกำลังเกลียดใครบางคนใกล้ตัว การที่ลูกชายถูกเพื่อนแกล้งจน ต้องกังวลใจนั้น เป็นเพราะคุณไม่เคยนึกขอบคุณคนที่ควรขอบคุณเลย แถมยังรู้สึกเกลียดชัง คนเหล่านั้นตลอดมา” ฟังดูเหมือนความเชื่อทางศาสนา แต่ความจริงเป็นกฎในสาขาวิชา จิตวิทยา ที่ได้รับการค้นพบมานานแล้ว กฏที่ว่าก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ ผลลัพธ์ เมื่อมีผลลัพธ์ก็ต้อ'มีต้นเหตุ และต้นเหตุก็มีที่มาจากจิตใจของเราเอง
และสิ่งที่ เอโกะกังวลอยู่ในขณะนี้ ก็สะท้อนให้เห้นต้นเหตุที่น่าจะเป็น ก็คือ “คุณเอโกะ กำลังเกลียดคนที่ควรให้ความสำคัญ” เมื่อถูกถามว่าคุณให้ความสำคัญกับสามีมากน้อยแค่ไหน เคารพเขาไหม เอโกะถึงกับสะดุ้ง เมื่อได้ยินคำว่า “เคารพ” เพราะเธอรู้สึกดูแคลนสามีตลอดเวลา เอโกะมองว่า คนที่มองโลกในแง่ดีอย่างสามี เป็นคนไม่มีความคิด บางครั้งยังมองว่าไม่มีการศึกษาอีกด้วย เอโกะเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่สามีจบแค่มัธยมปลาย สามีพูดจากระด้าง ชอบอ่านนิตยสารรายสัปดาห์ ในขณะที่เธอชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ เธอคิดเสมอว่า “ขออย่าให้ลูกชายเป็นเหมือนพ่อเลย” เอโกะมักไม่พอใจ พฤติกรรมและคำพูดของสามีอยู่บ่อย ๆ บางครั้งก็ถึงกับทะเลาะกัน สำหรับเรื่องของยูตะเธอเคยบ่นให้สามีฟัง แต่ไม่เคยรับฟังความคิดเห็นของเขาเลย
เมื่อเธอเล่าให้คุณยางุจิฟัง กลับได้รับคำตอบว่า ยังมีสาเหตุอย่างอื่นซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เธอไม่ยอมรับในตัวสามี คุณยางุจิ ถามเธอว่า คุณสำนึกบุญคุณของพ่อบ้างหรือเปล่า และลึกๆ แล้วคุณรู้สึกว่าท่านทำสิ่งที่คุณให้อภัยไม่ได้บ้างหรือไม่ เอโกะสำนึกบุญคุณของพ่อในฐานะที่ท่านเป็นพ่อ แต่เธอไม่ได้รักพ่อ เธอรู้สึกว่าพ่อเป็นคนอื่นมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลายแล้ว
คุยางุจิ แนะนำให้เธอลองให้อภัยพ่อของเธอ โดย ให้เธอเขียนระบายความรู้สึกต่อพ่อ ที่คิดว่าให้อภัยไม่ได้ลงในกระดาษ ใช้คำพูดที่ระบายความโกรธ ความเจ็บแค้น ความทุกข์ ทุกอย่างลงในกระดาษให้หมดไม่ต้องยั้ง จนรู้สึกว่าตัวเองพอใจ ถึงแม้เอโกะจะไม่เข้าใจเหตุผลแต่เธอก็ลองทำตามที่เขาแนะนำ
สมัยที่เอโอะยังเด็ก พ่อเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น เวลาอาหารเย็นกลายเป็นเวลาของการเทศนาอย่างไม่รู้จักจบสิ้น และเมื่อลูก ๆทำอะไรไม่ได้ดั่งใจก็จะตะโกนด่าว่าเสีย ๆ หาย ๆ พ่อเป็นคนคุมงานก่อสร้าง เมื่อเลิกงานกลับมาบ้านพ่อจะนั่งกินข้าวทั้งๆ ที่ยังสวมเสื้อผ้าเปื้อนเหงื่อ เลอะดินทรายเต็มไปหมด เธอเขียนระบาย ออกมาไม่หยุดยั้งรู้สึกตัวอีกทีก็มีคำว่า “คนไม่ได้ความ” “คนแบบนี้ไม่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็นพ่อหรอก” ในขณะที่เขียนน้ำตาก็ไหลออกมาไม่ขาดสาย
เมื่อเขียนเสร็จเธอได้โทรหาคุณยางุจิ เมื่อถูกถามว่าคุณพร้อมที่จะให้อภัยคุณพ่อหรือยัง เธอรู้สึกว่ายังไม่พร้อมแต่ก็ขอลองดู คุณยางุจิบอกว่า การให้อภัยคุณพ่อเป็นการทำเพื่อตัวของเอโกะเอง และให้หยิบกระดาษมาเขียนหัวข้อว่า “สิ่งที่ควรขอบคุณพ่อ” คำตอบข้อแรกก็คือ พ่อหาเลี้ยงครอบครัว เพราะพ่อ ครอบครัวจึงมีกินมีใช้ อีกข้อก็คือพ่อชอบพาเธอไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะบ่อย ๆ คงมีแค่นั้นกระมัง เมื่อให้เขียนสิ่งที่ต้องขอโทษพ่อเธอ กลับนึกไม่ออก ถ้าจะมีก็คงเป็นเรื่องที่เธอคิดต่อต้านพ่ออยู่ตลอดเวลา แต่เธอก็ไม่อยากจะขอโทษ
คุณยางุจิ แนะนำให้เอโกะโทรศัพท์ไปหาพ่อแล้วพูดขอบคุณและขอโทษท่าน “ถ้าคุณไม่อยากพูดเพราะไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น ให้พูดตามที่เตรียมเอาไว้ก็ได้ แค่อ่านข้อความในกระดาษสองแผ่นที่เขียนสิ่งที่ควรขอบคุณและสิ่งที่อยากขอโทษ”
เอโกะใช้ความกล้าที่สุดในชีวิต และถ้าไม่มีแรงจูงใจเรื่องของลูกชายเธอคงไม่คิดจะพูดกับพ่อไปตลอดชีวิต เธอโทรศัพท์ไปหาพ่อและกล่าวขอบคุณ และขอโทษ เมื่อพูดจบเธอได้ยินเสียงร้องไห้ของพ่อทางโทรศัพท์ เธอทำอะไรไม่ถูก ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยได้ยินพ่อร้องให้สักครั้ง พ่อคงให้ความรักกับเธอ มากกว่านี้ แต่เธอก็ปฏิเสธพ่อมาตลอด “การที่ลูกไม่รับความรักของตนเองเป็นเรื่องทุกข์ทรมานอย่างนี้นี่เอง” เธอเกลียดพ่อมาตลอด 20 ปี และไม่เคยให้อภัยพ่อเลย เธอคิดว่าผู้ได้รับผลกระทบคือเธอคนเดียวเท่านั้น เธอมองเพียงด้านเดียวไม่เคยมองในมุมที่กลับกันเลย ความรักของพ่อ ความอ่อนแอของพ่อ ความไม่รู้ของพ่อ เธอทำให้พ่อทุกข์ทรมานมานานแค่ไหนแล้ว
มีกฎที่เรียกว่า กฎของสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เมื่อเราเข้าใจสิ่งหนึ่ง เราก็จะเข้าใจสิ่งหนึ่งตามมา ที่จริงแล้ทุกปัญหาในชีวิตเกิดขึ้น เพื่อให้เราได้รู้ซึ้งถึงความสำคัญขอ'บางสิ่ง
ความทุกข์ของพ่อที่ลูกสาวไม่เปิดใจให้ ความทุกข์ที่ไม่สามารถช่วยลูกได้ในฐานะพ่อแม่ เป็นความทุกข์เดียวกับที่เอโกะเป็นอยู่ในตอนนี้
คุณยางุจิ แนะนำให้เอโกะเขียนสิ่งที่ควรขอบคุณ และสิ่งที่อยากขอโทษพ่อเพิ่มลงในกระดาษแผ่นเดิมให้มากที่สุด พอเสร็จแล้วให้นำกระดาษอีกแผ่นหนึ่ง มาเขียนในหัวข้อ ควนปฏิบัติตัวอย่างไรกับพ่อ และในคืนนี้เมื่อยูตะหลับสนิทแล้วให้เธอมองหน้าเขาแล้วกระซิบในใจว่า “ขอบใจจ๊ะ” หนึ่งร้อยครั้ง
เมื่อเริ่มเขียนเธอนึกถึงสิ่งที่ต้องขอบคุณและขอโทษพ่อมากมาย และเมื่อเขียนถึงหัวข้อ ควรปฏิบัติตัวกับพ่ออย่างไร เธอเขียนได้แทบไม่ต้องคิด และนั่นก็คือ ความคิดที่ควรปฏิบัติกับสามี สามีที่ทำงานเพื่อครอบครัว เป็นคู่ชีวิตมาตลอดแต่เธอลืมที่จะขอบคุณเขา และเมื่อยูตะหลับสนิทเธอ ก็ทำตามคำแนะนำของคุณยางุจิ โดยกระซิบในใจว่า ขอบใจจ๊ะ คำคำนี้ทำให้เธอรู้สึกขอบคุณลูกจากใจจริง เธอโทษลูกมาตลอดว่า เป็นต้นเหตุทำให้ เธอทุกข์ใจ แต่เพราะลูกทำให้เธอได้รู้ซึ้งถึงสิ่งที่สำคัญในวันนี้
เอโกะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้ให้สามีฟัง และไม่ลืมที่จะกล่าวขอบคุณและขอโทษสามีที่เธอไม่เคยมองเห็นความดีของเขาเลย

บทส่งท้าย

ชีวิตคือกระจกส่องสะท้อนจิตใจ

คุณยางุจิแนะนำกฎง่าย ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาของคุณเอโกะ กฎข้อนั้นก็คือ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตคือ กระจกส่องสะท้อนจิตใจของเราเอง” และนี่คือ กฎแห่งกระจก ถ้าจิตใจของเรามีแต่ความทุกข์เงาในกระจกก็จะสะท้อนออกมาเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ดี

ความสบายใจจากการให้อภัย

เมื่อใดที่เกลียดคนอื่นและไม่ให้อภัย เราก็จะรู้สึกไม่สบายใจ ร่างกายจะทำงานไม่ได้ดังใจคิด ทั้งยังกระวนกระวาย ถ้ามีอาการเช่นนี้เราก็จะเป็นทุกข์ ในทางตรงกันข้ามถ้าเราเลือกที่จะให้อภัย เราก็จะรู้สึกผ่อนคลายเบาสบายทั้งร่างกายและจิตใจ

8 ขั้นตอนสู่การให้อภัย

ขั้นตอนที่ 1 เขียนรายชื่อคนที่ให้อภัยไม่ได้ลงในกระดาษ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับพ่อ แม่ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ลองถามตัวเองว่าเกลียด พ่อแม่ หรือไม่ สำนึกในบุญคุณ พ่อแม่ หรือเปล่า ถ้าไม่แน่ใจเขียนชื่อพ่อแม่ลงไปด้วย
ขั้นตอนที่ 2 ระบายความรู้สึกของตนเอง เขียนระบายความรู้สึกที่มีต่อคน ๆ นั้น ควรเขียนความรู้สึกในใจแทนที่การเขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขียนระบายความรู้สึกอย่างตรงไป ตรงมา ถ้าอยากร้องไห้ก็ร้องออกมา เมื่อเขียนจนหมดแล้วให้ฉีกกระดาษเหล่านั้นเป็นชิ้น ๆ แล้วทิ้งลงถังขยะไป
ขั้นตอนที่ 3 จินตนาการสาเหตุของการกระทำ
1) เขียนการกระทำของคน ๆ นั้นลงในกระดาษ
2) ลองจินตนาการถึงสาเหตุที่ทำให้เขาต้องทำเช่นนั้น โดยแยกออกเป็นสองสาเหตุใหญ่คือ อยากมีความสุข และอยากเลี่ยงความทุกข์
3) อย่าตัดสินการกระทำนั้นว่า “ไม่ถูกต้อง” แต่ขอให้เข้าใจว่าสิ่งนั้นคือการกระทำที่เกิดจากความด้อยประสบการณ์ ความไม่รู้ หรือความอ่อนแอ
4) ให้พิจารณาการกระทำของคนๆ นั้นโดยไม่สนใจว่าจะถูกหรือผิด แล้วพูดออกมาว่า “คุณก็คงอยากมีความสุข คุณก็คงอยากหนีให้พ้นจากความทุกข์เหมือนกันกับฉัน”
ขั้นตอนที่ 4 เขียนสิ่งที่ควรขอบคุณ เขียนสิ่งที่ควรขอบคุณคนคนนั้นออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
ขั้นตอนที่ 5 ขอพลังจากคำพูด
1) ปฏิญาณว่า “ฉันจะให้อภัยคุณเพื่อความเป็นอิสระ ความบายใจ และความสุขใจของตัวฉันเอง”
2) กล่าวคำขอบคุณซ้ำ ๆ ว่า “คุณ.......ขอบคุณนะครับ/ค่ะ” โดยให้พูดออกเสียงเบา ๆ ควรใช้เวลาในขั้นตอนนี้อย่างน้อย 10 นาที (จะพูดได้ประมาณ 400-500 ครั้ง) ในขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นต้องรู้สึกของคุณคนคนนั้นจากใจจริง แม้ในจิตใจจะยังรู้สึกไม่ให้อภัย แต่ก็ขอให้เริ่มจากคำพูดก่อน
ขั้นตอนที่ 6 เขียนสิ่งที่อยากขอโทษ เขียนสิ่งที่อยากขอโทษคนคนนั้นให้มากที่สุด
ขั้นตอนที่ 7 เขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้ เขียนว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการรู้จักคน ๆ นี้
ขั้นตอนที่ 8 ประกาศว่า “ฉันให้อภัยคุณแล้ว”.
หากทำครบ 8 ขั้นตอนนี้แล้วยังรู้สึกให้อภัยไม่ได้อยู่ก็ไม่เป็นไร ให้ปฏิบัติตามข้อ 2 ในขั้นตอนที่ 5 ให้เป็นกิจวัตร แล้วสักวันหนึ่งการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นแน่นอน

นำพาความสุขสู่ชีวิตคุณ

เมื่อทำตามขั้นตอนทั้งหมดนี้แล้ว หากรู้สึกอยากขอบคุณ หรือขอโทษคน ๆ นั้นขึ้นมาจริง ๆ ก็ขอให้ลงมือทำก่อนที่ความรู้สึกนั้นจะหายไป
และหากมีชื่อ พ่อแม่ ปรากฏอยู่ในขั้นตอนที่ 1 ก็ขอให้ลองปฏิบัติตามทุกขั้นตอนให้ได้ มีหลายคนที่เปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีได้อย่างน่าประหลาดใจ เพราะความสัมพันธ์ที่มีต่อพ่อแม่ส่งผลไปยังความสัมพันธ์ที่มีต่อคนอื่น ๆ ด้วย

โยชิโนริ โนงุจิ.....เขียน
ทิพวรรณ ยามาโมโตะ....แปล


สรุปโดย ทิพาลักษณ์ สิทธิสาร ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช