เส้นทางสู่ความเป็นอัจฉริยะ 5 ประเภท

เส้นทางสู่ความเป็นอัจฉริยะ 5 ประเภท

ไม่ว่าจะเป็นในยุคสมัยไหน หรือสังคมใด คำว่า "อัจฉริยะ" สามารถดึงดูดความสนใจจากเหล่าบรรดานักอ่านได้ดี ทำให้มีหนังสือมากมาย นำเสนอเกี่ยวกับความเป็นอัจฉริยะ แต่สิ่งที่ทำให้ "The Five Faces of Genious " เขียนโดย ANNETTE MOSER-WELLMAN เหนือกว่าเล่มอื่น ๆ ก็คือ การนำเสนอความเป็นอัจฉริยะด้วยมุมมองที่แตกต่าง และแนะนำแนวทางให้คนในยุคสหัสวรรษ ที่ชีวิตเต็มไปด้วยการแข่งขันไขว่คว้าหาสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ให้หยุดนิ่งแล้วหันกลับเข้าไปค้นหา และดึงเอาความเป็น อัจฉริยะภายใน ตัวเองออกมาใช้ ด้วยการเดินทางกลับเข้าสู่จิตใจตัวเองตามเส้นทางสู่ความเป็นอัจฉริยะ 5 ประเภท ดังนี้

1. ใช้พลังของจินตนาการ ลักษณะของผู้ที่วิธีคิดแบบนี้ ผู้ที่มีความคิดต่าง ๆ เกิดขึ้นมาเป็นภาพ ที่เพรียบพร้อมไปด้วย แสง สี เสียง และความรู้สึก และ คิดทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้วในจินตนาการ แล้วพยายามหาวิธีการพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นเป็นจริง เช่น โมสาส สามารถแต่งเพลงเสร็จตั้งแต่อยู่ในหัว และยังรู้ด้วยว่าช่วงไหนจะใช้เครื่องดนตรีประเภทใดบรรเลง เป็นต้น ความเป็นอัจฉริยะประเภทนี้ ปัญญาจะเกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในสภาพสบาย ๆ ดังนั้น ถ้าเราต้องการดึงพลังแห่งจินตนาการของตัวเองมาใช้ ควรอยู่ในอิริยาบถสบาย ๆ อาจจะเป็นการนั่ง หรือ นอนแต่ต้องรู้สึกตัวตลอดเวลา และควรมีสมุดเล็ก ๆ ติดตัวเพื่อจดภาพความคิดที่ผุดขึ้นมา เพราะภาพที่ผุดขึ้นมาและจางหายไปอย่างรวดเร็ว เช่นกัน สำหรับบางคนที่คิดว่าตัวเองไม่มีจินตนาการ และอยากจะมีความคิดดังกล่าวสามารถทำได้โดย

วิธีการสร้างจินตนาการ

  • หัดเขียนบันทึกเหตุการณ์โดยเน้นบรรยายความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้น และควรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่นานนัก เช่น การบรรยายความรู้สึกเมื่อไปเที่ยวทะเล ควรนึกให้ได้ว่า เมื่อสัมผัสโดนลมแล้วรู้สึกอย่างไร เหนียวตัว , เป็นลมร้อน หรือเย็นสบาย เป็นต้น
  • หัดคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจ เช่น การจินตนาการอย่างรอบด้านถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากจินตนาการ
  • ถ้าเราต้องเขียนโครงการ รายงาน บทความต่างๆ ให้หัดเขียน outline ในใจก่อนแล้วค่อยลงมือเขียนจริง

2. ช่างสังเกต ลักษณะของผู้ที่วิธีคิดแบบนี้ นิ่ง ๆ นั่งเฉย ๆ ไม่ชอบพูด แต่จะมีความละเอียดอ่อนในการมองเห็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะ เวลามองสิ่งต่าง ๆ จะสังเกตรายละเอียดทั้งรอบ ๆ สิ่งนั้น และภายในตัวสิ่งนั้น และยังเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอีก จึงทำให้เกิดภาพการหยั่งรู้ จะมีรับข้อมูลที่แปลกใหม่มากกว่าคนอื่น ๆ จึงมักเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียว เช่น เดินป่าคนเดียวเป็นเวลานาน ๆ และเป็นผู้ที่อยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา ซึ่งจะสะท้อนความอยากรู้ออกมาในลักษณะของคำถามหลักว่า " ทำไม " ความเป็นอัจฉริยะประเภทนี้ จะพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น ต้องเป็นนักเดินทาง หรือการไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ใช้ชีวิตไม่ซ้ำซาก สำหรับบางคนที่ต้องทำงานซ้ำซากก็มีวิธีแก้ โดยแบ่งเวลาว่างในแต่ละวัน ไปศึกษาอะไรแปลกใหม่ให้ชีวิต เช่น ใช้การอ่าน หรือการดู เป็นต้น

วิธีการสร้างนิสัยเป็นคนช่างสังเกต

  • ให้เจาะจงเลือกกิจกรรมหนึ่งแล้วลงมือทำอย่างช้า และคอยสังเกตรายละเอียดของการทำงานชิ้นนั้น
  • หัดตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ว่า "ทำไม" เพราะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราเกิดการเก็บข้อมูลและเมื่อทำเช่นไปเรื่อย ๆ จะทำให้เราเกิดการเปรียบเทียบ
  • หัดอยู่คนเดียวทบทวนความคิด พฤติกรรมของตนเองในแต่ละวัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตแบบซ้ำ ๆ ซาก ๆ เช่น ตื่นกี่โมง ขึ้นรถกี่โมง เพราะเป็นการทำลายความคิดสร้างสรรค์

3. นักเล่นแร่แปรธาตุ ลักษณะของผู้ที่วิธีคิดแบบนี้ คนที่สามารถดึงสิ่งต่าง ๆ เข้ามาเชื่อมโยงกับเป้าหมายสำคัญที่ต้องการ โดยพลังความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้โดยการจับข้อมูลต่างสาขา มาสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันจนกระทั่งเกิดความคิดใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้เข้าใกล้เป้าหมายที่สำคัญและแน่นอนที่มีอยู่ เช่น ธุรกิจไบโอเทคที่ในขณะนี้ต้องนำการทดลองมาผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ในด้าน packaging ของผลิตภัณฑ์ ให้ดูสวยงาม เป็นต้น ความเป็นอัจฉริยะประเภทนี้ เกิดจากความคิดที่ว่า " ทำเพราะอยากทำ " เช่น ลงแรงเพื่อต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ใช่ทำเพื่อเงิน หรืองานหรือเป็นหน้าที่ เป็นต้น ดังนั้น มีความสามารถในการอ่าน หรือดูอะไรโดยไม่มีวัตถุประสงค์หลัก แต่เขามีเป้าหมายหลักในใจอยู่แล้ว แต่ทำเพราะอยากจะทำ วิธีการสร้างความเป็นอัจฉริยะประเภทนี้

  • พยายามอย่ายึดติดกับแนวคิดในสายงานหรือความคิดของตนให้มากเกินไป
  • รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้งานของตนออกมาดี
  • ควรหมั่นหาความรู้ที่นอกเหนือจากสายงานประจำให้มากขึ้น อาจทำได้โดย การอ่าน หรือการพูดคุยกับคนต่างอาชีพ


4. คิดนอกกรอบ ลักษณะของผู้ที่วิธีคิดแบบนี้ เมื่อตัดสินใจลงทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ ถึงแม้ว่าทำผิดแล้วผิดอีกก็ยังจะทำ แต่มีคำถามอยู่ในใจว่า จะขอลองทำอีกครั้ง แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ผิดพลาด และมีการวิเคราะห์ว่า ความผิดพลาดเกิดจากอะไร มีสาเหตุอะไร เพื่อหลีกเลี่ยง และป้องกันไม่ให้เกิดการผิดซ้ำสอง เช่น นักวิทยาศาสตร์ที่มุ่งมั่นทำการทดลอง ดังนั้น จึงเป็นผู้ที่มีความอดทนสูง สามารถรับความผิดพลาดในชีวิต และยอมรับการดูถูกดูแคลนได้ เพราะเขารู้จักตัวเอง รู้ว่าคิดตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ ความเป็นอัจฉริยะ ประเภทนี้ จะเกิดขึ้นได้ดี เมื่อเราต้องทำอะไรในเวลาอันจำกัด แต่ต้องมี Positive Thinking ว่าเราสามารถทำได้ พลิกสถานการณ์ได้ จะลำบากยังไง ใครจะหัวเราะเราก็ต้องเชื่อว่า เราจะทำให้ได้

วิธีการสร้างความเป็นอัจฉริยะประเภทนี้

  • คิดกลับหัวหลับหาง
  • หัดวิเคราะห์ความล้มเหลวว่า ทำไมจึงล้มเหลว และจะแก้ไขอย่างไร
  • มีความอดทนเป็นเลิศ ทนต่อคำดูถูกดูแคลนจากคนอื่น และทนต่อความตรากตรำ จนกว่าจะหาวิธีการพิสูจน์ความเชื่อ ของตนเองออกมาได้

5. นักปราชญ์ ลักษณะของผู้ที่วิธีคิดแบบนี้ เป็นผู้ที่สามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย สามารถอธิบายหรือเขียนอย่างสั้น ๆ กระชับ ได้ใจความใช้คำที่คม สั้นแต่เข้าใจได้ง่าย เช่น สูตรทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ เป็นต้น และรักการเรียนรู้โดยเฉพาะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ฉะนั้นส่วนใหญ่คนประเภทนี้จะเป็นนักอ่าน เพราะการอ่านเปรียบเสมือนพื้นฐาน ของปัญญาอันหลักแหลมของปราชญ์ ทำให้สามารถคิดได้หลายมิติ และไม่ค่อยคิดในทาง Negative เพราะมีความรู้มากก็หาวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้

วิธีการสร้างความเป็นอัจฉริยะประเภทนี้

  • ให้เน้นความเรียบง่าย
  • มีความกล้านำเสนอความคิดตัวเอง กับบุคคลสำคัญ ๆ หรือคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ และไม่กลัวถ้าจะเกิดการปะทะกัน ระหว่างความคิด ถึงแม้ว่า บางคนจะมีความเป็นอัจฉริยะครบตามที่กล่าวมาทั้งหมด แต่นั่นไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ความสำเร็จ เพราะ ที่กล่าวมาเป็นการสร้างปัญญาให้กับตัวเราเอง ทำให้เราสามารถสร้างความฝันให้ตัวเอง แต่ความฝันนั้นจะเป็นจริงได้ เราต้องมีความสามารถในการแลกเปลี่ยนความคิดที่เราสร้างขึ้นมาจาก 5 วิธีกับบุคคลอื่น ๆ เพื่อสานความฝันของเราให้กลายเป็นความจริง

สู่กลไกสมองของอัจฉริยะบุรุษ

ในอดีต เราเชื่อว่าความฉลาดเฉลียวแบบอัจฉริยะ หรือคนที่เป็น Genious นั้น เป็นเรื่องที่ถูกกำหนดโดย gene หรือพันธุกรรม หรือไม่ ก็โครงสร้างที่ไม่ เหมือน มนุษย์ธรรมดา แต่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสมองและความเป็นอัจฉริยะ จำนวนมาก ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ ผู้รู้ และนักจิตวิทยาชั้นนำของโลกสรุปว่า สติปัญญาระดับอัจฉริยะถูกกำหนดด้วย meme มากกว่า gene หรือพันธุกรรม meme ที่ว่านี้ก็คือ ระบบและนิสัยการคิดที่เราใช้เป็นประจำนั่นเอง งานวิจัยเกี่ยวกับ meme ของบรรดาอัจฉริยะ ของโลกนับร้อยคน ไม่ว่าจะเป็นโสเครติส เซอร์ไอแซค นิวตัน โทมัส เจฟเฟอร์สัน โทมัส เอดิสัน ไล่มาจนถึงไอน์สไตน์ แสดงให้เห็นว่า คนเหล่านี้มีระบบการทำงานของสมอง และมีวิธีคิดร่วมที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งระบบวิธีคิดเหล่านี้ คนธรรมดา ๆ สามัญสามารถลอกเลียนแบบได้

ระบบวิธีคิดร่วมของบรรดา Genious

1. การคิดเป็นภาพ คนเราเวลาคิด จะมีพฤติกรรมอย่างน้อย 2 แบบ คือคิดแบบเป็นเสียงดังอยู่ภายใน และการคิดแบบเห็นภาพ คนธรรมดา ๆ จะมีพฤติกรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คนที่มี IQ สูงทั้งหลายมักจะเป็นคนประเภทคิดแล้วสามารถเห็นภาพตามไปด้วยพร้อมกัน ทำให้สามารถสร้างภาพต่าง ๆ ขึ้นในใจได้ ตามที่ตนต้องการ มีรายละเอียด สีสัน มิติชัดเจนแทบจะเหมือนของจริง การคิดเป็นภาพ เป็นการทำงานของสมองซีกขวา ท่านที่คุ้นเคยกับเรื่อง การทำงานของสมอง คงจะพอทราบมาบ้างแล้วว่า มนุษย์แต่ละคน เน้นหนักการใช้สมองแต่ละส่วนไม่เหมือนกัน บางคนเน้นใช้สมองซีกซ้าย บางคนเน้นสมองซีกขวา สมองซีกซ้าย ทำหน้าที่คิดตามข้อมูล หลักตรรกะเหตุผลที่เราได้เรียนรู้มาส่วนสมองซีกขวาทำหน้าที่สร้างภาพ รับรู้อารมณ์ และความรู้สึกจากประสาทสัมผัสทั้งห้า เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับจินตนาการ การหยั่งรู้เองตามธรรมชาติ (intuition) คนที่เป็น genious ทั้งหลายคือ นอกจากจะมีสมองข้างซ้าย ใช้การได้ดีอยู่แล้ว ก็มักมีสมองข้างขวาที่ได้รับการพัฒนาสูงมากกว่าคนธรรมดา ๆ ด้วย กลับมาที่เรื่องการคิดเป็นภาพ ประโยชน์อนันต์ของ การสามารถคิดเป็นภาพก็คือ ความสามารถที่จะรับรู้ข้อมูลที่ sub-conscious mind ส่งมาให้เราได้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า sub-conscious mind หรือจิตใต้สำนึกของเราคือ genious ตัวจริงภายในตัวมนุษย์ทุกคน sub-conscious mind ของเรา ที่จริงก็คือ คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงยอดเยี่ยม ซึ่งเก็บข้อมูลทุกเรื่องที่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเราเอาไว้ทั้งหมดไม่ว่าจะผ่านมานานเท่าไรแล้วก็ตาม sub-conscious mind ยังรู้ข้อมูลทุกอย่างกับตัวเราไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ระบบการทำงานภายในร่างกายและระบบวิธีคิดของเรา แต่โดยปรกติเราจะไม่รู้วิธีสื่อสารเพื่อดึงข้อมูลจากจิตใต้สำนึกมาใช้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า จิตใต้สำนึกของเรามักจะสื่อสารกับเรา ตลอดทั้งวัน แต่สื่อสารเป็นภาพ (image) จะเป็นภาพที่ปรากฏในความฝัน หรือภาพที่แว่บเข้ามาในใจชั่วครู่เดียว แต่จะมีเฉพาะคนที่คุ้นเคยกับคิดเป็นภาพ และการเห็นภาพแสงสีเสียงในใจชัดเจนเท่านั้น ที่จะสามารถจับภาพข้อมูลที่จิตใต้สำนึกส่งมาให้เราอยู่ตลอดเวลาได้ จะเห็นได้ว่านักวิทยาศาสตร์ และนักประดิษฐ์คิดค้น มักจะเล่าว่าตนเองจะเห็นภาพสิ่งที่ตนเองต้องการคิด หรือจะประดิษฐ์ล่วงหน้าแล้วในใจด้วยตาใน แล้วค่อยย้อนไป ทดสอบว่า การค้นคว้าหรือสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นจะใช้การได้หรือไม่

2. การคิดแบบ synesthetic

นอกจากการสร้างภาพแล้ว คน genious ทั้งหลายในโลก มักจะมีคุณสมบัติที่เรียกว่า synesthetic หรือการที่เวลาคิดเห็นภาพอะไรในใจใด แม้จะเป็น เรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต จะสามารถ activate ให้ประสาทส่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ พร้อมกันทั้งหมด ตัวอย่างเช่น หากคน ๆ นั้นนึกถึง ภาพชายทะเลอยู่ในใจ จมูกก็จะได้กลิ่นคาวเกลือพร้อมกลิ่นดอกไม้หลายชนิดที่ปลูกอยู่ริมทะเลพร้อมกัน ผิวก็จะรู้สึกทันทีว่า ลมทะเลตอนนั้นพัดอย่างนุ่มนวล หรือพัดกระหน่ำ ส่วนหูจะได้ยินเสียงคลื่นลมความรู้สึกภายในใจก็จะบอกเราว่าด้วยว่า เป็นบรรยากาศ ที่นุ่มนวล หรืออากาศขณะนั้นหนัก ๆ เพราะมีความชื้นมากเกินไป นอกจากนี้ ตาในก็จะเห็นรายละเอียดที่อยู่ในภาพทะเลนั้น มีสีสรรอย่าง ชัดเจนพร้อมกันไป การมีประสาทสัมผัสที่เฉียบคมเช่นนี้ ผนวกกับการสร้างภาพ ทำให้นักประดิษฐ์ นักคิด นักเขียน และนักวิทยาศาสตร์ สามารถสร้างสรรค์งานขึ้นมาจากจินตนาการได้อย่างแม่นยำ ชัดเจน สามารถทำการทดลองต่าง ๆ ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแก้ไขสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ในใจแก้ไขสมการยาก ๆ ในใจได้หมด การมีประสาทสัมผัสที่เฉียบคม ยังทำให้คนเรามีวิจารณญาณที่ดี ไม่ต้องลองผิดลองถูกมากนักในชีวิต เพราะทำให้เรารู้ในทันทีว่า เราชอบหรือไม่ชอบอะไร โดยความรู้สึกเป็นตัวบอก

สมมุติมีคน 2 คน ต้องการจะเลือกแบบบ้านที่จะสร้าง คนที่มีประสาทสัมผัสเฉียบคมมองแบบบ้าน 10 แบบ จะตัดสินใจได้ว่า บ้านหลังอาจจะเลือกได้เลย และขอไปดูบ้านตัวอย่างแค่หลังเดียวก็พอ แต่อีกคนอาจจะต้องขอลองไปดูบ้านตัวอย่างให้ครบทั้ง 10 หลัง เพราะไม่สามารถสร้างจินตนาการ จากรูปบ้าน ที่เห็นได้ ว่าของจริง น่าจะเป็นอย่างไร เราจะชอบหรือไม่ การฝึกสร้างภาพ ท่านที่ต้องการฝึกฝนความสามารถในการสร้าง image ต่าง ๆ ในใจ สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการหัดเขียนบรรยายภาพที่เราเคยเห็นพร้อม ความรู้สึก และอารมณ์ในขณะนั้นบ่อย ๆ แต่ trick ก็คือ จะต้องอธิบายให้ละเอียด เหมือนเรากลับไปอยู่ในสถานการณ์ตรงนั้นจริง ๆ นอกจากนี้ การอธิบายต้องครอบคลุมถึง ข้อมูลที่ได้จากประสาทสัมผัสทั้งห้าด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้านึกถึงภาพวันรับปริญญา ก็ต้องเห็นตนเองว่า อยู่ในชุดอะไร ทรงผมแบบไหน รู้สึกถึงอุณหภูมิของอากาศในวันนั้น รู้สึกว่าแสงแดดในวันนั้น ตอนออกไปถ่ายรูปกับเพื่อน ๆ ร้อนแรงเพียงใด นอกจากนี้ก็ต้องเห็นแววตา และสีหน้าของญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง แต่บางคนอาจพยายามนึกต่อไปด้วยว่า แต่ละคนแต่งตัวอย่างไร และในวันนั้นเราเองมีความรู้สึกภายในใจอย่างไร ปลาบปลื้มปีติ หรือเป็นกังวลเพราะตื่นเต้นว่า จะทำอะไรพลาดตอนรับ พระราชทานปริญญา ต้องอธิบายให้ละเอียดราวกับเขียนนิยาย ประโยชน์ของการเขียน คือทุกครั้งที่เราบันทึกสิ่งที่เราเห็นและรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า เราจะต้องปลุกประสาทสัมผัสทั้งห้าให้ขึ้นมาทำงาน ทำบ่อย ๆ ประสาทสัมผัสทั้งห้าของเราก็จะละเอียดมากขึ้น ไวมากขึ้นทุกที

3. การบันทึกความคิดที่แว่บเข้ามาในสมอง

บรรดา genious ทั้งหลาย จะมีเรื่องเล่าคล้อย ๆ กันว่า จะได้ยินเสียง หรือมีความคิดดี ๆ แว่บเข้ามาในใจ ในขณะที่กำลังทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับ ความคิดที่แว่บเข้ามา และพวกเขาก็จะรีบบันทึกเรื่องราวหรือความคิดเหล่านั้นลงเป็นตัวอักษรทันทีเพราะความคิดที่ sub-conscious สื่อสารมาให้เหล่านี้ ก็เหมือนความฝัน ซึ่งถ้าไม่รีบตื่นมาจดเอาไว้ ไม่ช้าก็จะเลือนหายไป และไม่สามารถเรียกคืนมาได้ เพราะความคิด ความฝันเหล่านี้ ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในสมอง ส่วนที่เราใช้งานอยู่ทุกวัน นอกจากการบันทึกความคิดที่ผ่านเข้ามาโดยบังเอิญแล้ว บรรดาอัจฉริยะทั้งหลายยังชอบบันทึก feed back หรือความรู้สึก ของตน ที่มีต่อสิ่งที่เพิ่งได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น เช่น เวลาอ่านหนังสือแล้ว มีข้อสงสัยความคิดขัดแย้ง ข้อวิพากษ์วิจารณ์ ก็จะรีบเขียนบันทึกไว้เดี๋ยวนั้น
ตอนนั้น อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า บันทึกสิ่งที่เป็น first impression หรือความรู้สึกแรกของเราเกี่ยวกับเรื่องนั้น โดยไม่ผ่านกระบวนการคิด อย่างเป็นระบบ ประโยชน์ของการทำเช่นนี้ คือ เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก subconscious mind ของเรา ซึ่งมักจะเป็นความรู้หรือ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ยิ่ง

4. คำถาม หรือการมี Inquisitive mind Genious

ส่วนใหญ่ จะเป็นมนุษย์เจ้าปัญญา ขี้สงสัย ไม่ค่อยยอมรับความเชื่อ ความคิดของคนอื่นได้ง่าย ๆ และเมื่อสงสัยอะไรแล้ว ก็มีความปรารถนา แรงกล้า ที่จะค้นคว้า หาคำตอบ หรือแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ไอน์สไตน์นั้น เคยให้สัมภาษณ์ว่า ชีวิตของเขาใน 1 ชั่วโมงจะใช้เวลาตั้งคำถามที่ดี 55 นาที อีก 5 นาที เอาไว้ใช้หาคำตอบ ซึ่งตรงกับหลักของวิชาปรัชญาที่เชื่อว่า คำถามที่ดี มีค่ามากกว่าการแสวงหาคำตอบ หลักง่าย ๆ ในการตั้งคำถามที่ดีก็คือ การคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ผ่านคำถาม What? Why? How? และพิจารณาอยู่เสมอว่า "ความจริง" มักจะมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่เราเห็นหรือได้ยินเสมอ นึกถึงเราเป็นมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ที่ยืนอยู่ห่างจากภูเขาใหญ่สูงตระหง่านเพียง 1 เมตร ในสถานการณ์เช่นนั้น เราไม่มีทางเห็นหน้าตาของภูเขาได้ทั้งหมด โดยเฉพาะไม่เห็นด้านข้าง และด้านหลังของภูเขา สิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็น ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ต่างกับภูเขาลูกนี้ ดังนั้น คนเราจึงควรมี inquisitive mind และปฏิบัติตามแนวทางของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ เพราะคนพูดน่าเชื่อถือ อย่าเชื่อเพราะเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ยอมรับตามกันมา แต่ให้หัดคิดพิจารณา ใคร่ครวญสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองด้วย

5. การทำงานที่ท้าทายอยู่เสมอเพื่อให้จิตเข้าสู่ Flow State

คนที่เป็นอัจฉริยะมักจะมีประสบการณ์กลับเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า "the flow state" ในระหว่างการทำงาน Mihalyi Csikszentmihalyi นักจิตวิทยา ผู้เขียนหนังสือชื่อดังเรื่อง Flow: The Psychology of Optimal Experience อธิบายว่า the flow state ก็คือ สภาวะที่จิตใจของเราไปจดจ่อกับ เรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ จนกระทั่งไม่มีความคิดอื่น ๆ หรือเสียงรบกวนภายในอื่น ๆ ผ่านเข้ามาในใจ หรือที่ในภาษาพุทธเรียกว่า อยู่ในสมาธินั่นเอง Csikszentmihalyi ทำการสัมภาษณ์คนจำนวนมากจากหลากหลายอาชีพทั่วโลกและพบว่า จิตของคนเราจะทำงานได้มีพลังมากที่สุด เมื่อถูกบังคับให้ทำงาน ที่มีความท้าทายกำลังพอเหมาะ ไม่ยากเกินไป และไม่ง่ายเกินไป โดยงานที่ยากเกินไป จะทำให้เกิดความกังวล ตั้งใจมากไป หรือมีความกลัวว่า จะทำไม่ได้ ทำไม่ทัน ส่วนงานที่ง่ายเกินไป จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ทำงานผิดพลาดได้ง่าย จากการศึกษาชีวิตคนที่เป็น อัจฉริยะ พวกเขามักจะทำงานประดิษฐ์ คิดค้นใหม่ ๆ ซึ่งยังไม่เคยมีใครคิดมาก่อน ทำมาก่อน หรือทำเรื่องที่ท้าทายตนเองอยู่ตลอดเวลา ทำให้ใจไปจดจ่อกับ การคิดเรื่องนั้น ๆ ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ เป็นสาเหตุให้การคิด การกระทำของคนเหล่านี้มีพลัง และคิดได้ต่อเนื่อง ยาวนาน ความต่อเนื่องของ พลังความคิด ทำให้คน ๆ เดียวอย่างโทมัส เอดิสัน สามารถสร้างและจดทะเบียนสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาได้กว่า 1 พันชนิด และบันทึกความรู้ และข้อคิดต่าง ๆ ลงในรูปหนังสือและโน้ตต่าง ๆ ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังรวมแล้วกว่า 3 ล้านแผ่น Gerontologist หรือผู้เชี่ยวชาญด้านคนชรา ในสหรัฐฯ ท่านหนึ่ง คือ David Snowdon ได้ไปทำการศึกษาชีวิตของแม่ชีสำนัก Notre Dame ในรัฐมินิโซต้าของสหรัฐฯ ซึ่งทั้งกลุ่มจะมีอายุยืน ระหว่าง 90 - 100 กว่าปี และยังมีความจำตลอดจนสุขภาพดี ไม่มีอาการหลงลืมเหมือนคนชราโดยทั่วไป Snowdon พบว่า แม่ชีสำนักนี้ จะมีความเชื่อว่า
คนเราจะต้องไม่อยู่นิ่งเฉย จะต้องมีกิจกรรมทางความคิด ต้องเรียนรู้ เล่นเกมส์ มีการโต้วาที พูดคุย สัมมนาอยู่ตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้สมอง และเวลาผ่านไปอย่างว่างเปล่า นอกจากนี้ แม่ชีทุกคนในสำนักนี้ก็จะเขียนบันทึก diary แบบละเอียดเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก และการแสวงหา จิตวิญญาณของตนเองทุกวัน ทำให้เขาได้ข้อสรุปว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยใด สมองของเราจะทำงานได้อย่างดี หากเราฝึกฝน ให้สมองมีสิ่งท้าทายอยู่เรื่อย ๆ ข้อสรุปข้างต้นตรงกันกับวิธีคิดของ Csikszentmihalyi ที่ว่าคนที่ต้องการฝึกฝน ให้จิตและสมองของตน มีพลังก้าวเข้าสู่ the flow state จะต้องใช้ชีวิตแบบ ที่มีความสลับซับซ้อน ต้องคิด เขียน แก้ปัญหาบ่อย ๆ แทนที่จะใช้ชีวิตง่าย ๆ เรียบ ๆ จนเกินไปจนสมองไม่ได้รับการกระตุ้นหรือท้าทายสติปัญญา และในขณะเดียวกันเรา ก็ต้องไม่บีบบังคับตนเอง ให้ทำในสิ่งที่เกินความสามารถ ของตนจนเกินไป จนกระทั่งทำให้เกิดความกังวล ความเครียด ซึ่งจะมา ทำลายสมาธิ และพลังความคิดของเรา ในที่สุด

6. ความสามารถในการอ่านหนังสือได้เร็ว

คนที่เป็นอัจฉริยะมักจะเป็นคนที่อ่านและรับรู้ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว และหลายคนจะมีสิ่งที่เรียกว่า photographic memory คือ เวลาอ่านอะไร สมองก็จะบันทึกข้อมูลเป็นภาพเอาไว้ทั้งหน้า เวลาเรียกข้อมูลมาใช้ก็กลับมาในรูปของรูปภาพ ทำให้คนพวกนี้ จำรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ ได้ทั้งหมด และเรียกใช้ได้ทันทีตามความต้องการ คนที่อ่านหนังสือได้เร็ว มักจะมีหลักการอ่านที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเราสามารถเลียนแบบได้ดังนี้

6.1 เริ่มต้นการอ่านด้วยการหา key concept ก่อน เมื่อทราบ key concept แล้ว ก็เริ่มตัดสินใจว่าทำไมเราต้องการอ่านหนังสือเล่มนี้ เราต้องการรู้อะไรบ้าง ต้องการอ่านส่วนไหนบ้าง แล้วจึงเริ่มอ่านอย่างเจาะประเด็น เวลาของเรามีค่า และมีจำกัด เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาอ่าน ทุกอย่างทุกเรื่องที่อยู่ในหนังสือเล่มนั้น ๆ
6.2 อ่านแบบ photo reading หรือการทำให้ตาของเราเป็นเหมือน scanner ซึ่งจับภาพตัวหนังสือที่ละหลาย ๆ บรรทัดพร้อมกัน จะทำให้เราอ่านหนังสือ ได้เร็วกว่า การให้ตาไล่มองไปทีละตัว และถ้าต้องการอ่านแบบ photo reading เราจะต้องหลีกเลี่ยงนิสัย การอ่านออกเสียงในใจไปทีละคำ (sub-vocalization) เพราะสมองของเราเข้าใจคำเป็นภาพและอ่านเป็นภาพได้รวดเร็วกว่า การอ่านออกเสียงตามตัวอักษรหลายร้อยเท่าตัว การอ่านออกเสียงทีละคำ จะทำให้การอ่านแบบ photo reading ของเราช้าลงกว่า ที่ควรจะเป็นมาก

7. K-check

คนที่เป็นอัจฉริยะทั้งหลาย หลังจากที่ได้ใช้ตรรกะเหตุผล และทฤษฎีต่าง ๆ ในการขบคิดปัญหาแล้ว ท้ายสุดจะถามความรู้สึกลึก ๆ ของตนเอง ว่าสิ่งที่ได้คิด และรับรู้มาโดยกระบวนการของสมองข้างซ้าย เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า (kinesthetic check) การถามความรู้สึกลึก ๆ ของเราเป็นการสื่อสารตรงไป ยังสมองข้างขวา ซึ่งคือ genious ตัวจริงภายในตัวของเรา สมองข้างขวามัก จะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ในรูปของความรู้สึก ถ้าความรู้สึกลึก ๆ บอกว่า "ใช่" แนวโน้มก็คือเราเดินทางอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว ถ้าความรู้สึกบอกว่า "ยังไม่ใช่" ก็อาจจะต้องปรับวิธีคิดของเราต่อไป ข้อควรระวังคือ คนที่ยังไม่เห็น ความคิด และไม่เคยดูความรู้สึกของตนเอง จะยังสับสนระหว่าง ความคิดและความรู้สึก และไม่สามารถใช้ k-check ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรเริ่มต้น ฝึกฝนแยกแยะความคิดออกจากความรู้สึกให้ได้ก่อน


ที่มา www.drboonchai.com