งานดิน

ก่อนการก่อสร้างบ้านจะต้องมีการปรับที่ดินให้มีความเหมาะสม โดยการถมและขุด หรือบางทีอาจจะใช้ทั้ง การถมและการขุดไปด้วยกัน เช่น การขุดเพื่อทำสระน้ำ, สระว่ายน้ำ, แล้วนำที่ดินที่เหลือ จากการขุดไปถม ในส่วนที่จะทำ การก่อสร้างบ้าน ให้สูงขึ้นเป็นเนิน เป็นต้น

การถมดิน

การถมดินในหน้าฝนนั้นเป็นงานอย่างหนึ่งที่ฝนพอจะมีประโยชน์ในงานการก่อสร้าง หรือจะให้ดียิ่งไปกว่านั้น ก็ควรจะเป็นช่วงก่อน หน้าฝนซักหน่อย ฝนที่ตกลงมาจะช่วยทำให้ดินที่ถมลงไปนั้นอัดแน่นขึ้น ในส่วนของการถมดินเองแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

1. การถมแบบอัด คือการถมดินไปทีละชั้น มีความหนาชั้นละประมาณ ๒๐ - ๕๐ ซม. ขึ้นอยู่กับลักษณะดิน และการกำหนด ของผู้ออกแบบ แล้วก็บดอัดให้แน่นทีละชั้น หมดไปชั้นหนึ่งค่อยถมดินต่อ แล้วก็บดอัดอีก ทำแบบนี้จนกว่า จะได้ระดับตามที่เรา ต้องการ การถมแบบนี้จะได้ดินที่อัดแน่นดี มีการทรุดตัวน้อย

2. การถมแบบไม่อัด คือถมให้เต็มไปหมดทั้งพื้นที่ในคราวเดียว แล้วก็ค่อยบดอัดเฉพาะด้านหน้าผิวดิน การถมลักษณะนี้ ใช้ในการ ถมดิน ที่ไม่ต้องการ ความสูงมากนัก เพราะถ้าเป็นการถมค่อนข้างลึกเกินกว่า ๑.๐๐ เมตร การถมแบบไม่อัดนี้ มักจะมีปัญหา การทรุดตัว เป็นหลุมเป็นบ่อ ให้เห็นทีหลังได้ แต่ในการก่อสร้างบ้านนั้น โดยทั่วไปเกือบจะทั้งหมด ของโครงสร้างบ้าน จะถ่ายน้ำหนัก บน ฐานราก มีเสาเข็มเป็นส่วนรับน้ำหนัก และถ่ายน้ำหนักลงชั้นดิน ซึ่งสามารถ ตอกเข็มลึกลงไปจาก ชั้นผิวดินเดิมได้ จึงไม่เกี่ยวข้องกับ ระยะเวลา ที่เราถมดินใหม่ หรือต้องรอให้ดินทรุดตัว อัดแน่นเสียก่อน เว้นแต่เป็น โครงสร้างแบบบ้านแผ่ หรือในส่วนของอาคารที่ถูก ออกแบบ ให้วาง และถ่ายน้ำหนัก โดยตรงลงบนพื้น (Slab on Ground) เช่นโรงรถหรือถนน, ทางเท้า ซึ่งจำเป็นต้องมีการบดอัดดินที่ถม ให้แน่น จนแน่ใจว่า ไม่มีการทรุดตัวเสียก่อน จึงจะลงมือก่อสร้าง และถ้ารักจะปลูกต้นไม้ใหญ่ๆ ที่มีรากชอนไชลงไปลึก ๆ ก็ต้องพยายาม ถมดินมากกว่าถมทรายขี้เป็ด อาจถมยากหน่อย ทรุดตัวมากหน่อย ถ้ามีเวลารอก็จะคุ้ม แต่ถ้าไม่ต้องการปลูกต้นไม้ใหญ่ ๆ อาจจะเลือกถมดิน ในส่วนผิวหน้าก็พอ ในส่วนของดินที่ต้องการ ปลูกต้นไม้ นั้นถ้าเป็นไปได้ควร เลือกใช้ดินที่มีสีออกคล้ำ ๆ ที่เรียกว่า หน้าดิน เพราะเป็นดินที่มีฮิวมัส และบรรดาแร่ธาตุต่าง ๆ เหมาะสำหรับ การปลูกพืชต่าง ๆ คิดจะถมดินแล้ว มีปัจจัยอะไรที่ต้องคำนึงกัน บ้างในการถมดินนั้น สถานที่ที่ต่างกัน ลักษณะของการถมดินที่ต่างกัน ราคาค่าถมดินนั้นก็ย่อมจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับ ปัจจัยหลายอย่าง เพราะฉะนั้น ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจถมดิน นอกจากท่านจำเป็นต้องคำนึงถึง งบประมาณของท่าน แล้วควรพิจารณา ปัจจัยอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กันด้วยดังนี้

1. ชนิดของดิน

1.1 หน้าดิน ชั้น A-horizon : zone of leaching โดยทั่วไปแล้วหน้าดินตั้งแต่ระดับความลึก 0-0.50 ม. บางที่ก็ถึง1.00 ม. มักจะมีราคาแพงที่สุด เนื่องจากเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์จะมีสีดำคล้ำๆ เหมาะสำหรับการปลูกต้นไม้
1.2 ชั้น B-horizon : zone of accumulation ชั้นดินลึกกว่าชั้น A ลงไป ดินออกสีน้ำตาลๆ มีทรายปน ราคาจะถูกลง เพราะแร่ธาตุในดินจะน้อย ถมที่ดีแต่ไม่เหมาะจะปลูกต้นไม้
1.3 ชั้น C-horizon : partially decomposed parent material ชั้นลึกลงไปมากๆ จนดินออกเป็นสีขาวๆ จะปลูกอะไรไม่ขึ้นเลย แต่นำมาใช้ถมได้ดีเพราะราคาถูกที่สุด
เพราะฉะนั้นในการเลือกดินที่จะถม จึงต้องพิจารณาด้วยว่า ท่านมีความประสงค์ที่จะนำดินไปใช้ประโยชน์อย่างไร และงบประมาณที่มีมากหรือน้อยเท่าใด

2. ลักษณะการถมดิน ถ้าใช้รถตัก-ตักดินแล้วเอามากอง ๆ ไว้ ดินจะดูเต็มเร็วแต่ดินจะไม่แน่น และจะทรุดตัวในภายหลังอย่างมากด้วย (ยิ่งถ้าเป็นงานเหมาถมดิน ควรที่จะต้องระวังเรื่องนี้ให้มาก ต้องมีคนคอยดูที่หน้างาน) ถ้าถมดินในลักษณะ ถมแล้วใช้รถบรรทุกถอยทับ ดินจะแน่นขึ้น จะได้ดินปริมาณมากและทรุดตัวในภายหลังน้อย อาจจะต้องทำการตกลงว่า จะถมอย่างเดียว หรือบดอัดด้วย ครับ

3. การขนส่งและราคาค่าขนส่ง มักจะเกี่ยวเนื่องกับระยะทาง ระหว่างบ่อดินที่เราซื้อดินมากับสถานที่ที่จะถมดิน ยิ่งไกลก็ยิ่งแพง ยิ่งในเขตตัวเมืองที่รถบรรทุกเข้าถึงได้ลำบาก อาจต้องจ่ายค่าอำนวยความสะดวกในการผ่านทางบ้าง ก็ทำให้ราคาค่าถมดิน แพงขึ้นได้อีก

การขุด

ถ้ามีการขุดระดับต่ำกว่า 2.50 เมตร เพื่อทำห้องใต้ดิน, ทำสระว่ายน้ำ หรือถังเก็บน้ำใต้ดิน จะใช้วิธีตอกเข็มไม้ยาวตลอดแนวการขุดเป็นพืดเพื่อกันดินถล่ม หรือขุดดินปรับเป็นแนวเอียง ถ้าดินมีความเหนียวพอ ก็ไม่ต้องใช้เข็มไม้ตอก ถ้ามีการขุดระดับลึก 5.00 เมตร จะแพงเกินไป เพราะจะต้องใช้แผ่นเหล็ก (Sheet Pile) ตอกเป็นแนวกันดินถล่ม และใช้เครื่องตอกที่เป็นเครื่องกลซึ่งมีราคาแพงมาก

ขั้นตอน การถม และ บดอัดดิน รวมทั้ง เครื่องจักร เครื่องมือมาตรฐานที่ใช้กันโดยทั่วไป

  1. ไถ หรือ ตัดต้นไม้ หรือ นำวัชพืชต่างๆ ที่ไม่ต้องการออกไปจากพื้นที่ที่ ต้องการถมดิน เพราะถ้าทิ้งไว้ที่เดิม จะเกิด การผุพังเน่าเปื่อย ทำให้เกิด การทรุดตัว ของดินที่ถม หรือ ทำให้อาคารที่สร้างไว้ด้านบนเกิด การทรุดตัว และแตกร้าวได้

  2. ขุดดินจากพื้นที่นั้น หรือ นำดินจากที่อื่นมาถม จะต้องตรวจสอบอย่าให้มีวัสดุอื่นปลอมปนมาด้วย

  3. การขุดดินนิยมใช้รถ Backhoe ส่วนการบรรทุกดินมาถมนิยมใช้รถบรรทุก 6 - 10 ล้อขน

  4. เมื่อรถบรรทุกเทดินมารวมกองไว้บริเวณที่ทิ้งดินแล้ว ใช้รถ tractor ไถล้มกอง และ เกลี่ยให้ได้ระดับเป็นชั้นๆ แต่ละชั้น ควรหนาอยู่ ระหว่าง 15 - 20 ซม. ซึ่งแต่ละชั้นเรียกว่า Lift thickness โดยให้ช่างสำรวจ ทำการปักหมุดวางแนวและ กำหนดระดับ ความลึกของดิน ที่จะต้อง ถมและบดอัด แต่ละชั้น

  5. รดน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อเพิ่ม ความชื้น สำหรับ การบดอัดดิน ให้แน่นต่อไป ปริมาณน้ำที่พอเหมาะ จะได้จาก การทำการทดลองในห้องปฏิบัติการทางด้านปฐพีกลศาสตร์ หรือ Soil Mechanics

  6. ทำการบดอัดแต่ละชั้นโดยใช้ Sheepfoot Roller หรือ Tamping Roller เพื่อให้เกิด Shear key ระหว่าง ดินแต่ละชั้น จะมีผลทำให้สามารถ รับแรงดัน ทางด้านข้าง กรณีเป็น คันดิน ที่ใช้สำหรับป้องกันน้ำท่วม หรือ รับแรงผลักตามยาว ได้มากขึ้นกรณีเป็นถนน จำนวนเที่ยวของ การบดอัดว่า รถควรจะวิ่งกี่เที่ยว จึงจะได้ ความแน่นตามต้องการนั้น จะได้ จากการทดลองทำ Test section ก่อนเริ่มลงมือทำงานว่า จะต้องวิ่งกี่เที่ยว จะต้องเพิ่มน้ำตอน เช้า - สาย - บ่าย - เย็น เท่าใดจึงจะ บดอัดดิน เพื่อให้ได้ ความแน่นตามต้องการ

  7. ปาดผิวหน้าให้เรียบโดยใช้ Motor Grader และดำเนินการตรวจสอบหาความหนาแน่นในสนาม หรือ Field Density เพื่อนำไปคำนวณหาค่า % compaction ตามที่ระบุไว้ใน Specification ต่อไป ซึ่งการตรวจสอบหาค่า ความหนาแน่นใน สนาม หรือ Field Density นี้จะต้องทำทุกชั้นของการบดอัด

  8. เมื่อได้ความหนาและ ความแน่นของการบัดอัด แต่ละชั้นแล้ว ให้ดำเนินการ บดอัดดิน ชั้นต่อไปตามขั้นตอนและวิธีการ เดียวกันจนเสร็จงาน

  9. อย่าลืมสถานะของดินที่เกี่ยวข้องกับการขุด การขน และ การบดอัด คือ Bank Volumn , Loose Volumn & Compacted Volumn ดินทั้ง 3 สถานะจะให้ปริมาตรของดินเพื่อนำไปคิดราคางานแตกต่างกัน