แผนที่ความสุข

แผนที่ความสุข" ของหมอประเวศ

ที่สุดแล้วคนทุกคนน่าจะเชี่ยวชาญ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเชี่ยวชาญในอาชีพ อย่างที่เป็นกันอยู่แล้ว กับอีกเรื่องหนึ่งคือ เชี่ยวชาญในการสร้างความสุขให้ตนเอง และช่วยให้เพื่อนมนุษย์สร้างความสุขได้

สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์มานั่งคุยกันทุกวันจันทร์ต้นเดือนที่ห้องประชุม มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติครบ 2 ปีแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2548 ศ.น.พ. ประเวศ วะสี เป็นผู้อาสานำเรื่องราวของ "ความสุข" มาบอกเล่าให้ฟังกัน

"ผมไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากนักยุทธศาสตร์" หมอประเวศมักพูดเช่นนี้เสมอ ในวงประชุมต่างๆ และในยามทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอแนะแนวทาง สำหรับเรื่องต่างๆ ของบ้านเมืองในฐานะ "ขาประจำ" คนหนึ่ง

ในระยะหลังนี้ ยุทธศาสตร์หนึ่งที่หมอประเวศพูดถึงเสมอๆ คือ "ยุทธศาสตร์ความสุข" จนกลายเป็นคำขายดี เช่น "ประเทศไทยอยู่เย็นเป็นสุข" หรือ "ดรรชนีชี้วัดความสุข" นั้นมาจากฐานคิด (เชิงยุทธศาสตร์) 3 ประการในเรื่องของความสุข คือ
1. ทุกคนสนใจเรื่องของความสุข และอยากมีความสุข เพราะโลกปัจจุบันทำให้คนเครียดและเป็นทุกข์มาก
2. เมื่อคนมีความสุขจะเกิดการ transformation หรือการเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างถึงรากถึงโคน
3. เมื่อคนมีความสุขจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น

เรื่องของความสุขจึงเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่ความสุขของคนแต่ละคน เชื่อมสู่ความสุขของคนใกล้ๆ ตัว และขยายวงความสุขออกไปเรื่อยๆ จนอาจไปไกลถึงสิ่งที่หมอประเวศบอกว่า "น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงองค์กร สถาบัน สังคม และเปลี่ยนแปลงโลกได้"

หมอประเวศคลี่แผนที่ความสุขที่วาดขึ้นเองให้วงจิตวิวัฒน์ดูพร้อมกัน และอธิบายความหมายของส่วนประกอบต่างๆ ในแผนที่

แผนที่ความสุข


แผนที่ความสุขแผ่นนี้ ว่าด้วยเรื่องราวทั้งหมดอันเป็นเหตุแห่งความสุขและทุกข์ของผู้คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องใหญ่ๆ 4 เรื่องคือ เรื่องของกาย จิต ปัญญา สังคม กับอีกเรื่องหนึ่งที่เชื่อมโยงอยู่ในเรื่องใหญ่ทั้ง 4 เรื่อง คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม

เรื่องใหญ่ทั้ง 4 เรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับเรื่องย่อยๆ อีก 18 เรื่อง ไล่ไปตามลำดับตัวเลข ประกอบด้วยเรื่องกาย 4 เรื่อง คือ ร่างกาย ดีเอ็นเอ สมอง สารเคมีในสอง เรื่องจิต 4 เรื่อง ความกรุณา ศรัทธา การให้อภัย และสติ-สมาธิ เรื่องสังคม 6 เรื่อง คือ ความสัมพันธ์ที่ดี ชุมชน ความยุติธรรม-สิทธิมนุษยชน ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างองค์กร และสันติภาพ เรื่องปัญญา 3 เรื่อง คือ การเข้าถึงสิ่งสูงสุด ความเป็นอนิจจัง-อิทัปปัจจยตา และการเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียว และอีก 1 เรื่องที่เชื่อมระหว่างปัญญาและสังคม คือ สุทรียสนทนาและทฤษฎีตัว U การเข้าใจเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้ครบ จะทำให้เราไม่มุ่งยึดถือ หรือทำงานโดยเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างสุดโต่ง เมื่อเราเห็นครบ เห็นรอบ ก็จะสามารถเห็นหนทางที่จะทำให้ผู้คนเป็นสุขและพ้นทุกข์ร่วมกันได้ เรื่องทั้งหมดมีดังนี้

1.ร่างกาย การออกกำลังกายทำให้เรามีความสุขและแข็งแรง เมื่อออกกำลังจนถึงจุดหนึ่ง เอนโดฟิน หรือสารความสุขจะหลั่งออกมา การบริหารกายบางอย่าง เช่น โยคะและไท้เก๊ก ก็เชื่อมโยงกับการบริหารจิตด้วย

2. ดีเอ็นเอ เกี่ยวพันกับระบบร่างกายอย่างใกล้ชิด มนุษย์มีดีเอ็นเอยาว 3 พันล้านตัวอักษร ต่างจากลิงชิมแปนซีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่คนกับลิงก็ต่างกันมาก โรคบางโรคเกิดจากที่ดีเอ็นเอผิดปกติเพียงตัวเดียว เช่น ธาลัสซีเมีย ก็ทำให้ร่างกายรวนไปทุกระบบ

3. สมอง ที่น่าสนใจคือการทำงานของสมองส่วนที่เรียกว่า อมิกดาลา กับอีกส่วนที่อยู่ใกล้ๆ กัน เรียกว่า สมองชั้นนอกซีกซ้าย ด้านหน้า ขณะที่อมิกดาลาทำงานอย่างกระฉับกระเฉง เจ้าของร่างกายจะรับรู้เรื่องราวต่างๆ ผิดไปจากความเป็นจริง แต่จะหมกมุ่น และรับเฉพาะเรื่องร้ายๆ มาใส่ตัว กลายเป็นความทุกข์ ความขัดแย้งกับคนอื่น แต่ถ้าเจ้าของร่างกายรู้สึกสงบและมีความสุข จะพบว่า สมองชั้นนอกซีกซ้ายด้านหน้าตื่นตัวสดชื่นขึ้นมา และอมิกดาลาจะเฉื่อยชาไปโดยอัตโนมัติ

4. สารเคมีในสมอง มีหลายกลุ่ม เช่น สารเคมีตระกูลเอนโดฟิน เมื่อหลั่งออกมามากๆ จะทำให้คนมีความสุขทั้งเนื้อทั้งตัว หรือสารเคมี ตระกูลซีโรโทนิน ที่เมื่อหลั่งออกมาจะทำให้เกิดความทุกข์ ซึมเศร้า ไม่กล้าทำแม้แต่เรื่องง่ายๆ ที่เคยทำได้ และอยากฆ่าตัวตาย อัจฉริยะหลายคนก็ฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองตัวนี้ เช่น ลอร์ดไบรอน, เฮมิงเวย์ หรืออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ การรักษาทำได้โดยกินยาปรับสมดุลสารเคมี ในสมองที่ชื่อ โปรแซค วันละ 1 เม็ด ราคาเม็ดละบาทกว่า แต่คนมักไม่รู้เรื่องนี้ จึงแก้ปัญหาไม่ได้หรือแก้ผิดจุด

5. ความกรุณา ท่านทะไลลามะเน้นเรื่องนี้มาก ความกรุณาทำให้จิตใจของเราดี อยากช่วยเหลือคนอื่น และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ คนรอบข้าง

6. ความสัมพันธ์ที่ดี เป็นเรื่องต่อเนื่องจากความกรุณา เวลาใจเรามีความกรุณา เราจะหายเกลียด หายกลัวโดยอัตโนมัติ ท่านทะไลลามะแนะนำวิธีง่ายๆ เพื่อบ่มเพาะความกรุณาคือ ให้หมั่นดูใจตัวเองว่า คิดแบบไหนแล้วสุข และคิดแบบไหนแล้วทุกข์ เราจะพบว่าเมื่อเรากรุณา ใจจะเป็นสุข เมื่อเราเกลียด เรากลัว ใจจะเป็นทุกข์ การมองดูใจตัวเองเช่นนี้บ่อยๆ จะทำให้ความกรุณางอกงามขึ้นได้

7. ศรัทธา เป็นเรื่องสำคัญมาก ดังที่เป็นหนึ่งใน "อินทรีย์ 5" หรือ "พละ 5" คือธรรมที่เป็นกำลังและเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ต่างๆ อันได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา หรือการที่ผู้หญิงมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีชีวิตอยู่ต่อได้อย่าง ไม่ทุกข์สาหัสนัก หลังจากสามีถูกฆ่าตาย ก็เพราะความเชื่อว่าเป็นความประสงค์ของพระเจ้า

8. การเข้าถึงสิ่งสูงสุด ศาสนาที่มีพระเจ้า โดยเฉพาะอิสลาม เชื่อเรื่องการเข้าถึงพระเจ้ามาก จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับ สังคมฝรั่งที่เชื่อในเรื่อง กามสุข การเข้าถึงสิ่งสูงสุดนี้บางครั้งก็เรียกว่าปัญญา เพราะเป็นความศรัทธาในสิ่งถูกต้อง

9. การให้อภัย สังคมไทยยังไม่คุ้นเคยกับการขอโทษและให้อภัย ที่ประเทศแอฟริกาใต้ คนขาวกดขี่คนดำมานานกว่า 100 ปี จนคนขาวเองก็ไม่กล้าลงจากอำนาจเพราะกลัวถูกคนดำฆ่า จึงเกิดกระบวนการทำงานเรื่อง "สัจจะและการสมานฉันท์" เพื่อเตรียมประชาชนให้พร้อมก่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในการประชุมครั้งหนึ่ง ตำรวจคนขาวเล่าว่าตนเองฆ่าคนดำอย่างไร แทนที่คนดำในห้องจะลุกขึ้นมาทำร้ายตำรวจ กลับร้องไห้และให้อภัย เพราะต่างเผชิญทุกข์มามากแล้ว และรู้ว่าไม่มีทางออกอื่นนอกจากการให้อภัยกัน ในประเทศไทย พระไพศาล วิสาโล แห่งวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ เป็นผู้ที่กำลังทำงานสันติวิธีเรื่องกระบวนการขอโทษและให้อภัยอยู่

10. สติ สมาธิ การเจริญสติควรเป็นวิถีชีวิตของคนทุกคน คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่าตนเองทุกข์เพราะความคิด แต่ถ้าเจริญสติและอยู่กับ ปัจจุบันจะหายทุกข์เพราะหยุดคิดได้ จะสงบจากความคิด และร่ำรวยความสุขมาก

11. ชุมชน ความเป็นชุมชนทำให้คนอยู่ร่วมกันได้โดยลดความเห็นแก่ตัว มีความเมตตา จริงใจ เปิดเผย และเรียนรู้ร่วมกันได้ แสดงว่าต้องมีธรรมะชุดหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งทำให้คนในชุมชนมีความสุข ชุมชนคือคำตอบของการต้านทานโลกทุนนิยม เพราะทุนนิยมเน้น การทำกำไรจากการกระตุ้นให้คนแต่ละคนตอบสนองความต้องการสูงสุดของตัวเอง แต่หัวใจของชุมชนอยู่ที่การอยู่ร่วมกัน อย่างแบ่งปันเกื้อกูล

12. ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน ประเทศไทยกำลังขาดความเป็นธรรมในสังคมขนาดหนัก เนื่องจากสังคมขาดศีลธรรมพื้นฐาน คือการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย คนยากจน เด็ก ผู้หญิง ระบบการศึกษาปัจจุบันกดขี่คนส่วนใหญ่ และยกย่องคนเก่งเพียงไม่กี่คน รศ.ดร.ประภาภัทร นิยม แห่งสถาบันอาศรมศิลป์ กำลังทำ human mapping โดยไปดูทุกคนในหมู่บ้านหนึ่งๆ ว่าใครทำอะไรเก่งบ้าง เพราะทุกคนจะมีเรื่องที่ตนเก่งเสมอ จากนั้นนำมาทำเป็นฐานข้อมูลให้เชื่อมโยงกันได้ ทุกคนจะเกิดความมั่นใจในตัวเอง มีคนอื่นรู้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำมีค่า และทั้งสังคมจะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างมหาศาล ซึ่งจะเป็นการปลดปล่อยผู้คนจากความทุกข์ไปสู่อิสรภาพ เกียรติ ศักดิ์ศรี ศักยภาพ และความสุข

13. ระบบเศรษฐกิจ คำถามหลักของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในปัจจุบันคือ "ทำอย่างไรจะรวย" เป็นคำถามที่ทำให้เกิด การทำลายล้าง สูงมาก เพราะไปสร้างศูนย์คิดใหม่ให้สมอง ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป คำถามหลักของสังคมแต่เดิมคือ "ความจริง ความดี คืออะไร" ทำให้สังคมอยู่ได้ด้วยความเมตตา ขยัน ร่วมคิด ร่วมทำ เมื่อถามว่าทำอย่างไรจะรวย ก็ทำให้จนมากขึ้น แต่ถ้าถามว่าทำอย่างไรจะดี จึงจะหายจน ระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมกับศาสนธรรมได้สนิทคือ เศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสไว้

14.โครงสร้างองค์กร โครงสร้างองค์กรทุกแห่งคือโครงสร้างเชิงอำนาจ ผู้บริหารองค์กรมักใช้เวลาไปกับการบริหารอำนาจ บริหารกฎระเบียบ โดยไม่ได้บริหารเนื้องาน ไม่ได้เอาใจใส่คนทำงานแต่ละคนซึ่งมีความฝันและแรงบันดาลใจของตนเอง ถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าขององค์กร องค์กรต่างๆ ควรปรับตัวไปสู่ความเป็นองค์กรเคออร์ดิก ตามแนวทางของดี ฮค ผู้ก่อนตั้งวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ในประเทศไทยมีผู้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังคือ ศ. น.พ.วิจารณ์ พานิช แห่งสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อ สังคม (สคส.)

15. สันติภาพ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในปัจจุบันเป็นเศรษฐกิจแบบสงคราม เพราะประเทศผู้ผลิตสินค้าต้องล่าเมืองขึ้น เพื่อหาวัตถุดิบ และตลาด แต่ในปัจจุบันสงครามเลยไปถึงขั้นที่ทำผู้คนกลายเป็นเหยื่อ โดยกระตุ้นให้อยากบริโภคด้วยสื่อทุกรูปแบบ การโฆษณา และอัตราดอกเบี้ย สันติภาพจึงเกิดขึ้นไม่ได้ในระบบทุนนิยม

16. ความเป็นอนิจจัง อิทัปปัจจยตา ต้องเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ เป็นอนิจจัง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติ

17. การเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียว เนื่องจากทุกสิ่งเชื่อมโยงกันทั้งหมด ไม่แยกส่วน เป็นหนึ่งเดียว ศาสนาที่มีพระเจ้าเรียกสิ่งนี้ว่า "เข้าถึงพระเจ้า" ศาสนาที่ไม่มีพระเจ้าเรียกว่า "เข้าถึงธรรม" เมื่อเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียว จิตใจจะเป็นอิสระและมีความสุข

18. สุนทรียสนทนาและทฤษฎีตัวU หัวใจของทั้งสองเรื่องอยู่ที่การห้อยแขวนการพูด การตัดสินใจ และการกระทำเอาไว้ก่อน เวลาเรารับรู้เรื่องอะไรมา ควรพิจารณาให้นานๆ เงียบๆ แล้วจะเกิดสติ เปรียบเสมือนเป็นการดึงเรื่องราวลงลึกมาทางขาซ้ายตัวยู จนแตะจุดใต้สุดของตัวยู คือเห็นความเชื่อมโยง สัมผัสกับความเป็นทั้งหมด เชื่อมอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน เป็นสภาวะที่จิตลงมาแตะกับปัญญา จากนั้นจึงไต่ขึ้นไปตามขาขวาของตัวยู ไปสู่คำพูดและการกระทำที่ผ่าน กระบวนการทางปัญญาแล้ว

เรื่องราวของความสุขทั้งหมดนี้เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปมา เรื่องหนึ่งสามารถเป็นเหตุให้เรื่องหนึ่ง และอาจเป็นผลของอีกเรื่องหนึ่ง ได้พร้อมกัน ทั้งหมดเป็นเรื่องที่อยู่รอบๆ ตัว และบางเรื่องก็เป็นความชำนาญพิเศษของบางคนอยู่แล้ว การที่ "นักยุทธศาสตร์" นำมาจำแนกแยกแยะและจัดวางเป็นระบบระเบียบให้เห็นและเข้าใจได้ชัดเจนมากขึ้นนี้ ก็เพื่อทำทางเดินชัดเจน เห็นทางที่ควรไป และไม่เสียเวลาหลงไปกับทางที่ไม่นำไปสู่เป้าหมาย

รูปธรรมหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์ความสุข คือการเกิดกลุ่มทำงานเรื่อง Contemplative Education หรือที่ ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ แปลไว้ว่า "จิตปัญญาศึกษา" (อ่านว่า จิตตะปัญญาศึกษา) ขึ้นในประเทศไทยแล้ว โดยมีหน่วยงาน 3 แห่ง กำลังจัดทำ หลักสูตรปริญญาโท จิตปัญญาศึกษา คือโรงเรียนสัตยาไส จ. ลพบุรี ของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันขวัญเมือง จ.เชียงราย ของวิศิษฐ์ และณัฐฬส วังวิญญู โดยหลักสูตรดังกล่าวจะมีหลายสาขา เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม จิตวิทยา ฯลฯ แต่มีแก่นแกนอยู่ที่เรื่องจิตปัญญาศึกษา ซึ่งผู้เรียนจะได้เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมพัฒนาจิตใจต่างๆ ในสามเรื่องหลักๆ คือ 1.งานศิลปะ งานชุมชน 2.ผ่านการภาวนา และ 3.ปฏิบัติกรรมฐาน

นอกจากหน่วยงานทั้งสามแล้ว ยังมีแนวร่วมสำคัญอีก 2 แห่งที่ทำงานเชื่อมโยงอยู่ในขบวนการจิตปัญญาศึกษาด้วยกัน คือ เสมสิกขาลัย ของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และสถาบันที่ทำงานด้านการสร้างผู้นำแนวใหม่ซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นในมหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.อนุชาติ พวงสำลี และชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

นอกจากกลุ่มทำงานในสถาบันการศึกษาแล้ว การทำ human mapping อย่างที่อาศรมศิลป์กำลังทำอยู่ ยังทำให้เราอาจพบ "นักจิตวิวัฒน์ชุมชน" อยู่ในทั้ง 70,000 หมู่บ้าน 7,000 ตำบลทั่วประเทศ ซึ่งคนเหล่านี้คือคนที่จิตใจดี และเป็นผู้ช่วยเหลือคนในชุมชนแก้ปัญหาด้านจิตใจเสมอ เช่น พระ หมอดู หรือคนที่เคยผ่านความทุกข์ยากจนเข้มแข็งได้ด้วยตัวเอง เมื่อคนเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายจิตวิวัฒน์ชุมชนได้ ก็จะถ่ายเทภูมิปัญญาให้กันและกันได้ไม่จบสิ้น โดยหน่วยงานที่สนใจและสนับสนุนการทำ human mapping มากก็คือ สคส.

และเรื่องสุดท้ายที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นเป็นหน่ออ่อนๆ แต่ยังต้องอาศัยการทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนาน คือการสื่อสารเรื่องราวของความสุข และเรื่องจิตวิวัฒน์ผ่านสื่อต่างๆ ทุกช่องทาง ให้ผู้คนได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ การเปลี่ยนแปลง โลก ไปสู่ทางที่ถูกที่ควร

"ที่สุดแล้วคนทุกคนน่าจะเชี่ยวชาญ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเชี่ยวชาญในอาชีพอย่างที่เป็นกันอยู่แล้ว กับอีกเรื่องหนึ่งคือ เชี่ยวชาญในการสร้างความสุขให้ตนเอง และช่วยให้เพื่อนมนุษย์สร้างความสุขได้" หมอประเวศจบคำอธิบายถึงองค์ประกอบต่างๆ ในแผนที่ความสุขด้วยประโยคนี้

ก็ในเมื่อเราคือส่วนหนึ่งของโลกที่กำลังหมุน เมื่อเรามีความสุข เพื่อนๆ เรามีความสุข โลกของเราก็ย่อมเป็นสุขไปด้วย