ความโกรธ Anger

ความโกรธ Anger

ความโกรธ มาจากรากศัพท์ว่า โกธะ แปลว่า ความขุ่น เคืองมันจะเริ่มต้นมาจากอรติ – ความไม่พอใจ ถ้าระงับไว้ได้ก็จบแค่นั้น ถ้าระงับไม่ได้ก็จะไปถึงปฏิฆะ – ความหงุดหงิดรำคาญ ถ้าระงับไว้ได้แค่ปฏิฆะก็หายไป ถ้าระงับไม่ได้ก็จะกลายเป็นโกรธะ – ความขุ่น เหมือนน้ำที่เราต้มบนเตาไฟ ก็เริ่มขุ่น เริ่มหมุนเริ่มจะร้อน ถ้าระงับไว้ได้ก็ดีไป ระงับไม่ได้จะตามมาเป็นโทสะ – ความพลุ่ง พล่าน ระงับไม่อยู่ก็พลุ่งพล่านออกมาทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ร้อนใจ ร้อนรน ถูกเผาให้ร้อนด้วยโทสะ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในอาทิตตปริยายสูตร ทีว่าร้อนอยู่ด้วยไฟคือราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ในที่นี่ก็ร้อนอยู่ด้วยโทสะ แล้วพลุ่งพล่านออกมา ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง

ความโกรธเป็นอารมณ์ธรรมชาติของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ความโกรธคือ อารมณ์ที่รุนแรงหรือความรู้สึกที่ไม่พอใจ มันมักจะแฝงความเป็นปรปักษ์และ ความตึงเครียดที่เกิดจากสัมผัสของการบาดเจ็บหรือถูกกระทำการสบประมาท

เกรน เทเล่อร์ และ รอด วิลสัน ตั้งข้อสังเกตุในหนังสือของเขาว่าความโกรธมี ความสัมพันธ์กับเป้าหมาย ค่านิยมหรือความคาดหวัง ซึ่งฝังอยู่ในความคิดของเรา (Taylor and Wilson, Exploring Your Anger: Friend or Foe? 1997) เดวิด เอ ซีแมนด์ มองว่า ความโกรธคือความเกลียดที่ฝังลึกในใจคน (Seamands, Healing for Damaged Emotions 1981)

อีเลียต แสดงทัศนะว่านักจิตวิทยามองอารมณ์ว่าเป็นกระบวนการที่ไม่มีระเบียบแบบแผนซึ่งเข้าไปกวนให้กฏของพฤติกรรมเสียระเบียบ (Matthew A. Elliott, Faithful Feelings: Rethinking Emotion in the New Testament 2006) ความโกรธก็เป็น อารมณ์ขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งถูกมองว่า เป็นสิ่งที่ไม่ดี นักปราญอย่างเพลโต้และอริสโตตัลมีความเห็นขัดแย้งกัน ในเรื่องอารมณ์ เพลโต้มองว่า อารมณ์เป็นความคิดที่ไม่มีตรรก ในขณะที่อริสโตตัลกลับเชื่อว่า อารมณ์นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิด และความเชื่อ แต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีของเดสคาร์ท เขาเชื่อว่า อารมณ์ไม่ได้เกิดจากสมองด้านความคิด แต่มันเป็นเพียงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น (Matthew A. Elliott, 2006) คอทเทสคี่ สรุปไว้ว่านักจิตวิทยาส่วนใหญ่เห็นพร้องกันว่า อารมณ์ของมนุษย์ประกอบด้วย องค์ประกอบสามอย่างคือ ประสบการณ์ที่รู้สึกตัวซึ่งหมายความว่า อารมณ์สามารถสัมผัสและบรรยายได้ อย่างที่สอง คือเป็นพฤติกรรมที่มีอารมณ์ นั่นก็คือเป็นอาการที่ถูกสำแดงออกมาอย่างไม่สามารถควบคุม เช่นการหัวเราะ ร้องไห้หรือการยิ้ม และอย่างที่สามคือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการตอบสนองทางจิตวิทยา เช่น การตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นที่กระทำ ต่อประสาทสมองซึ่งมีผลต่อร่างกาย

นักจิตวิทยามองว่า อารมณ์เป็นได้ทั้งสิ่งที่ผ่านความคิดและที่ไม่ผ่านความคิด อีสาด สนับสนุนแนวความคิดสายกลางคือ เขาคิดว่า อย่างไรก็ตามอารมณ์ก็ยังมีพื้นฐานที่เกิดจากผลทางจิตวิทยา มันน่าจะเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างรวม ของระบบความคิด แต่อยู่ในต่างระบบกันกับ ส่วนของสมองที่ประมวลด้านความคิดซึ่งมีการทำงานที่มีหน้าที่ต่างกันและ สามารถทำงานเป็นอิสระต่อกัน เดวิด ดับเบอร์ยู ออกส์เบอร์เกอร์ ค้นพบว่า ความโกรธที่มี การแสดงออกอย่างหนักแน่นนั้น สามารถรักษา ระงับและเยียวยาได้ (David W. Augsburger, Anger and Assertiveness in Pastoral Care 1979)
ดังนั้นในขั้นนี้เราน่าจะสรุปได้ว่า ความโกรธเป็นสภาวะที่เกิดอารมณ์แบบไม่สมปรารถนา ซึ่งเกิดจากความรู้สึกที่ถูก กระทำอย่าง ไม่ยุติธรรม ถูกหยามหรือได้รับการข่มขู่ เป็นต้น มันเป็นความรู้สึกที่สามารถรุกลามได้ง่ายและจะขยายเกินขีดที่จะควบคุมได้โดยง่าย เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า นักจิตวิทยามองว่า ความโกรธจะต้องมีส่วนสัมพันธ์กับ สมองด้านความคิดของมนุษย์ แต่อยู่ในส่วนที่ทำหน้าที่แตกต่างจากสมองความคิดตามปกติ ซึ่งเราเคยรู้จักกันมาในอดีต

ต้นเหตุของความโกรธ

โกลแมน (Emotional Intelligence ) ให้ข้อเสนอแนวคิดว่าสมองของมนุษย์นั้น ประกอบขึ้นด้วยสองส่วนใหญ่คือ ส่วนของสมองด้านความคิดและสมองด้านอารมณ์ ในการ ตัดสินใจปกตินั้นทั้งสองส่วนจะทำงานด้วยกันในลักษณะที่สมดุลย์ แต่ละคนเกิดมาจะมี ประสพการณ์การเติบโตที่แตกต่างกันและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละบุคคล ปัจจัยทั้งหมดนี้ มีผลต่อระบบความคิดและความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งรวมถึงค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรม ความชอบ เป้าหมาย ความคาดหวัง รสนิยมและอื่นๆ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม แต่ละบุคคลจึงมีการตอบสนองที่ต่างกันต่อเหตุการณ์เดียวกันที่มากระตุ้น เลอด็อกส์เป็นคนแรกที่ค้นพบบทบาทหลักของ อมิกดาลา (หมายถึง ในสมอง ส่วนอารมณ์ ) (Daniel Goleman, 1995) การค้นพบของเขาทำให้สามารถอธิบายได้ว่า อมิกดาลา สามารถควบคุมตัวของเราได้แม้ในขณะที่สมองของเรารวมทั้งส่วนที่เป็น นีโอคอเท็ก (หมายถึง สมองส่วนความคิด) ยังกำลังประมวลข้อมูลยังไม่แล้วเสร็จ (นี่เป็นการยืนยัน ความถูกต้องของแนวความคิดของ อีสาด เกี่ยวกับข้อสังเกตุว่าความโกรธเกิดในส่วนหนึ่ง ของสมองซึ่งทำงานเป็นอิสระจาก สมองส่วนความคิด)

งานวิจัยของ เลอ ด็อกส์ ยังเปิดเผยอีกว่า สมอง ส่วนที่เป็น อมิกดาลา นั้นตั้งอยู่ใน ตำแหน่งที่เป็นจุดสำคัญของสมอง ที่เอื้ออำนวยต่อการยึดกุมการ ควบคุมของทั้งสมองได้อย่าง สะดวกภายใต้ภาวะที่คับขันทาง อารมณ์ จากการศึกษาของ เลอร์ด็อกส์ ความโกรธมีจุดเริ่มต้นจาก สัญญาณของความไม่พอใจที่ถูกส่ง มาจากส่วนรับรู้ของบุคคลนั้นตรงมายังส่วนของสมองที่เรียกว่า ธารามัส หลังจากนั้น สัญญาณดังกล่าวก็จะถูกส่งต่อไปยังสมองส่วนของ นีโอคอร์เท็ก (คือสมองด้านความคิด) และหลังจากนั้น ก็จะถูกส่งต่อไปยัง อมิกดาลา (ก็คือสมองด้านอารมณ์) อย่างไรก็ตามใน สมองจะมีเยื่้อประสาทของสมอง ที่ต่อเชื่อมโดยตรงระหว่าง ธารามัสไปยัง อมิกดาลา ซึ่งจะ เป็นช่องทางที่อนุญาติให้สัญญาณสามารถถูกส่งผ่านจาก ธารามัสข้ามตรงไปยัง อมิกดาลา จึงทำให้ อมิกดาลา สามารถเริ่มทำการตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้รับก่อนที่ นิโอคอร์เท็กจะรับรู้ ข้อมูล หากอยู่ในสถานะการณ์ปกติแล้ว ส่วนของ นิโอคอร์เท็ก และ อมิกดาลา จะประมวลข้อมูล ในลักษณะที่ทำงานประสานสอดคล้องกัน และเป็นการทำงาน ที่จะบรรลุการตัดสินใจ ที่สมดุลย์ซึ่งเป็นการประสาน ระหว่างสมองความคิดและสมองอารมณ์ แต่อย่างไรก็ตาม เลอด็อก ยังค้นพบว่า ระบบของสมองด้านอารมณ์นั้น สามารถทำงานได้อย่างเอกเทศ เป็นอิสระจาก สมองด้านความคิด นอกจากนี้ อมิกดาลายังมีหน่วยความจำของตนเอง ที่เป็นอิสระจาก หน่วยความจำของ นิโอคอร์เท็ค และสัญญาณที่ส่งตัดตรงมาจาก ธารามัส นั้น สามารถทำให้ อมิกดาลา ตอบสนองได้โดยไม่ต้องอาศัยการร่วมมือกับ นิโอคอร์เท็คแต่อย่างใด ดังนั้น เปรียบเสมือนว่า อมิกดาลาสามารถจะยึดกุม และควบคุมทั้งสมองได้อย่างเด็ดขาด และเมื่อ อารมณ์ความโกรธได้ครอบงำบุคคลหนึ่งๆใดแล้ว เขาก็อาจจะขาดสติสัมปชัญญะและอาจ กระทำการต่างๆก่อนที่สมองความคิดจะสามารถระงำหรือควบคุมให้เป็นไปตามเหตุผลได้ สิ่งที่คนๆนั้นได้แสดงออกในสภาวะขณะนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่รุนแรงน่าสะพรึงกลัว หรือไม่ รุนแรง และไม่เป็นอันตรายต่อตัวเขา และบุคคลอื่นนั้น ก็ขึ้นอยู่ที่ว่า เขาได้เก็บสะสมสิ่งใดใน คลังสมองด้านอารมณ์ของเขา

ผลของความโกรธสามารถแบ่งได้เป็นสองด้านคือ ความโกรธที่ดีซึ่งจะส่งผลให้เกิด การกลับใจและมีการปรับปรุงศีลธรรมให้ดีขึ้น ในกรณีนี้เราต้องทำความเข้าใจว่าพระพิโรธ เป็นพระลักษณะหนึ่งของพระเจ้า ซึ่งพระองค์มีพระลักษณะที่ประกอบด้วยอารมณ์หลักๆได้แก่ ความรัก ความสุข ความหวัง ความหวงแหน พระพิโรธ ความเกลียดชัง และความโศกเศร้า (Glenn Taylor and Rod Wilson, Exploring Your Anger: Friend or Foe? 1997). อีกด้านหนึ่งคือ ความโกรธที่ไม่ดี ชอล์เซอร์กล่าวว่า ความโกรธที่ไม่ดีมีแบ่งออกเป็นสองอย่างคือ ความ โกรธแบบฉุนเฉียว (เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ) ซึ่งสามารถนำไปสู่ความผิดบาปได้ และความ โกรธที่เกิดจากแผนการที่ชั่วร้าย ซึ่งความโกรธประเภทหลังสามารถนำมนุษย์ไปสู่ความ หายนะเช่นสงครามและการก่อการร้ายที่เต็มไปอย่างดาษดื่นทั่วโลก

คำแนะนำการแก้ไขปัญหาเพื่อจัดการกับความโกรธ

แนวทางที่จะนำไปสู่การจัดการเกี่ยวกับความโกรธขึ้นอยู่กับข้อมูลเบื้องหลังของ บุคคลที่อยู่ในภาวะความโกรธ ควรจะพิจารณา จัดการและฝึกฝนตนเองในยามปกติสุขตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ เพื่อว่า หากในอนาคตเมื่อตนเองตกอยู่ในสภาวะที่มีความโกรธแล้ว สิ่งที่ฝึกฝนมาก็จะสามารถช่วย เราให้มีวิธีที่จัดการกับตนเองได้อย่างถูกหลักและไม่ก่อความเสียหายหรือหายนะต่อตนเอง
และคนอื่น ขั้นตอนต่างๆมีดังนี้

ขั้นที่หนึ่ง การตระหนักตนเอง พื้นฐานของการที่มีสุขภาพทางอารมณ์ที่ดีนั้นมีจุดเริ่ม จากการตระหนักในสภาพของตนเอง คือมีความเข้าใจและรู้จักตนเองอย่างชัดเจน ยอมฟังสิ่งที่ผู้อื่นพูดเกี่ยวกับตัวเรา ยอมเปิดใจรับฟังข้อมูลที่คนอื่นเห็นชีวิตของเรา ตระหนักในอารมณ์ ความเครียดและความรู้สึกของเรา
ขั้นที่สอง ตระหนักในอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น เรียนรู้ที่จะรับรู้ความคิดและความ รู้สึกของผู้อื่นอย่างตั้งใจ โดยไม่หมกมุ่นจดจ่ออยู่ที่ตัวเอง ในขณะเดียวกันเรียนรู้ในการรับฟัง เป็นการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น ซึ่งช่วยให้เรามีทักษะทางสังคมดีขึ้น เรายังควรจะ เรียนรู้ในการแสดงออก ซึ่งความรู้สึกต่อบุคคลอื่น ประกอบกับเรียนรู้ในการรับรู้การแสดงออกซึ่งความรู้สึกของบุคคลอื่น โดยปกติการสอบถามความรู้สึกของคนอื่นเป็นสิ่งที่มี
ประโยชน์
ขั้นที่สาม เรียนรู้ที่จะจัดการความโกรธและอารมณ์ของตนเอง การที่เราตระหนักในอารมณ์ตนเอง มีส่วนสัมพันธ์กันสมองด้านความคิด ของเรา เราจึงควรจะใช้สมองด้านความ คิดในการคิดถึง จุดอ่อนในตัวเรา เราควรจะหาเพื่อนหรือพี่เลี้ยงที่จะคอยช่วยเป็นกระจกให้
เราเห็นตนเองชัดขึ้น นอกจากนี้เรายังควรที่จะพยายามระบุรากแห่งความรู้สึกขมขื่นและจุด ระเบิดทางอามณ์ของเราให้ได้ อาการระเบิดทางอารมณ์หรือน๊อตหลุดนั้นควบคุมได้ยาก และผลพวงของมันอาจมุ่งไปสู่เหตุการณ์ที่ร้ายแรงได้ ดังนั้นการฝึกฝนจำลองเหตุการณ์ที่ไม่ คาดหมายตามสภาพอารมณ์ของเราจึงมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อการนำไปสู่สภาพที่
เราจะป้องกันไม่ให้ตกอยู่ในภาวะที่เกิดการระเบืิดในอารมณ์โดยก่ออันตรายขึ้นได้ แต่ในทาง ตรงกันข้าม สามารถควบคุมให้ การตอบสนอง ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดในด้านสร้างสรรค์ หรือที่ไม่มีพิษภัยในยามภาวะคับขันที่เราไม่รู้ตัว เซเนคา เปรียบเทียบว่าความโกรธเหมือน กับ "สภาวะที่เราบ้าคลั่งในช่วงเวลาสั้นๆ– มันเป็นช่วงเวลาที่เราไม่สามารถควบคุมตัวได้
(Robert A. F. Thurman, The Anger: The Seven Deadly Sin (New York: Oxford University Press, 2005) ดัง
นั้นเราจึงควรวิเคราะห์ว่าเรามีข้อผิดพลาดอะไร ที่เราเคยกระทำในอดีตในขณะที่โกรธและ ขาดการควบคุมตนเอง รวมทั้งดูว่า มันอาจจะก่อให้เกินผลพวง ทางลบอะไรที่จะตามมาจาก เหตุการณ์นั้นๆหากเกิดขึ้นอีกในอนาคต หลังจากวิเคราะห์ และทำความเข้าใจ ในผลเสียหาย ที่จะตามมาได้เข้าใจถ่องแท้แล้ว ให้พิจารณาถึงเป้าหมายของเรา ค่านิยม และความคาดหวัง ที่อยากจะให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะดัดแปลงและปรับปรุงสิ่งต่างๆในตัวเราเพื่อให้จุดระเบิดนั้นไม่ สามารถเป็นปัจจัยให้เราเกิด การระเบิดทางอารมณ์ได้อีกต่อไป กล่าวคือเพื่อให้มันด้านและ ไม่สามารถกระตุ้นเราในทางลบได้อีกต่อไปหรือ อีกนัยหนึ่งเป็นการถอดชนวนออกนั่นเอง
หากเป็นไปได้ เราควรจะเจาะลึกเพื่อหาข้อมูลและทบทวนทำความเข้าใจข้อเท็จจริงของ สถานะการณ์อย่างถ่องแท้ การเข้าใจผิดมักจะก่อให้เกิดปัญหาระหว่างบุคคลได้
ขั้นที่สี่ ให้คิดถึงประสพการณ์ชีวิตในแง่บวก เช่นเดียวกับที่ โกลแมนพูดไว้ในหนังสือ ของเขาว่า ส่วนของสมองที่เรียกว่าอามิกดาลา (amygdala) ซึ่งเป็นสมองด้านอารมณ์ เป็น ส่วนที่ประมวลข้อมูลแยกต่างหากจากสมองด้านความคิดความคิด (neocortex) นั้น มีหน่วย ความจำของตนเอง ดังนั้นในห่วงเวลาที่เกิดภาวะการระเบิดทางอารมณ์ อมิกดาลาจะนำสิ่ง ที่เคยเรียนรู้ ซึ่งบันทึกอยู่ในหน่วยความจำเพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการตอบสนองตาม สัญชาตญาณ หากเรามีการสะสม ประสพการณ์ในทางสร้างสรรค์ หรือในแง่บวก อาการน็อต หลุดที่ระเบิดออกไปก็จะไม่เป็นพิษภัยต่อบุคคลอื่น
ขั้นที่ห้า คนที่มีสุขภาพจิตที่ดีและเข้มแข็งนั้น ควรจะเป็นผู้ที่สมองด้านความคิดและ ด้านอารมณ์ทำงานร่วมกัน อย่างสมดุลย์ วิธีหนึ่งที่จะสามารถฝึกสมองของเราให้สามารถคิดอย่างนี้ได้ก็ด้วยการฝึกคิดในแง่บวก อย่าปล่อยให้เกิดโอกาส ที่สมองด้าน อารมณ์ครอบงำ หรือยึดกุมสมองด้านความคิด บุคคลที่รู้จักการถ่อมสุภาพในจิตใจ จะไม่คิดต่อผู้อื่นในแง่ลบ เขาจะไม่ยึดตนเองเหนือผู้อื่น ด้วยทัศนะและค่านิยมบวกที่อยู่ในใจ เช่นนี้ โอกาสที่สมองด้านอารมณ์จะยึดควบคุมสมองด้านความคิด ก็จะเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด
ขั้นที่หก นักจิตวิทยาที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนมักจะคิดตรงกันว่าสมองด้านอารมณ์ใน ส่วนที่ลึกที่สุดของมนุษย์นั้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็จะเป็นเหมือนวงจรที่ถูกสร้างไว้อย่างถาวรโดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีก ่โกลแมนได้ทำการศึกษาและค้นพบว่า อุปนิสัยของคนที่ได้รับการบ่บเพาะตั้งแต่อยู่ในวัยเด็กนั้นจะกลาย เป็นวงจรพื้นฐานของโครงสร้างเยื่อสมอง โดยจะยิ่งเปลี่ยนยากขึ้น เมื่อคนๆนั้นเติบโตมีอายุมากขึ้นตามลำดับ (Daniel Goleman, Emotional Intelligence: New York: Bantam books, 1995)

ความโกรธมีประโยชน์

"ความรู้สึกโกรธเป็นสิ่งดี เพราะความรู้สึกนี้บอกให้เรารู้ว่า มีบางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้องเกิดขึ้นกับเรา ความโกรธเป็น สัญญาณเตือน ที่ควบคุมคุณภาพของตัวเราเอง" อินกริด เจ คอลลินส์ ที่ปรึกษาด้านจิตวิญญาณบำบัดของ Health Plus บอก หากมีใครบางคน ปฏิบัติกับเราไม่ดี ความโกรธจะเป็นสิ่งเหมาะสม ถ้าคุณแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ตรงกันข้ามหากคุณกับแฟน เก็บความโกรธ เอาไว้ในใจ ไม่แม้แต่ทะเลาะเบาะแว้งกันเวลามีปัญหา การเก็บแต่ความรู้สึกเช่นนี้ รังแต่จะทำลายชีวิตมากกว่าการมีปากเสียง ความโกรธสร้าง ปัญหาก็ต่อเมื่อคุณเก็บกดมันเอาไว้ หรือหัวเสียด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง แค่ถูกคนเดินชนไหล่ก็โมโห จนบางครั้งถึงขั้นบานปลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต

อย่าเก็บกด

"หลายคนไม่สามารถระเบิดอารมณ์โกรธหรือแสดงความโกรธในทางที่เป็นประโยชน์" อินกริดกล่าว ขณะที่การเก็บความเกรี้ยวกราด เป็นเรื่องปกติของการจัดการความโกรธ "การทำเช่นนี้ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ ถ้าเราปฏิเสธอารมณ์ของตนเอง ก็อาจมีผลให้การแสดงออกของอารมณ์ เป็นไปในทางทำลาย"

เดบอราห์ มาร์แชล-วอร์เรน ที่ปรึกษาด้านสะกดจิตบำบัดของ Health Plus กล่าว อาการปวดหลัง อาหารไม่ย่อย หรือความดันโลหิตสูงล้วนเป็นผลมาจากความโกรธที่ถูกอัดแน่นเอาไว้ภายใน

รู้จักความโกรธ

คุณทำอย่างไรเวลาโกรธ เกรี้ยวกราด ร้องไห้ฟูมฟาย หรือนิ่งเงียบ ถ้าอยากทราบคำตอบ ให้เริ่มด้วยการจดบันทึกประจำวัน ทุกครั้งที่คุณโกรธ ไม่ว่าเพราะคุณถูกคนด่าหยาบคาย หรือต้องยืนเข้าคิวนาน เขียนสิ่งที่เกิดขึ้นและวิธีตอบสนองต่อความโกรธ "คนเรารู้จักสร้างชุดการตอบสนองต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ" เดฟ คุก โค้ช ชีวิตกล่าว "หากคุณรู้จักแยกแยะสาเหตุของความโกรธ และความรู้สึกที่เกิดขึ้นก่อนหน้าความรู้สึกโกรธ ก็จะช่วยให้คุณมีทางเลือกที่หลากหลายในการแสดงออก เวลาที่มีคนทำให้คุณโมโห"

แผนจัดการความโกรธ

คุณรู้จักความโกรธของตนเองมากขึ้นแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาที่คุณจะปฏิบัติตามเคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญของ Health Plus เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต

จัดการความโกรธด้วยการสร้างจินตนาการ

"นึกย้อนกลับไปถึงครั้งสุดท้ายที่คุณโกรธ นึกไปถึงช่วงก่อนที่คุณจะเริ่มรู้สึกโกรธ นึกถึงความคิด ของคุณในเวลานั้น คุณรู้สึกอย่างไร และเกิดอะไรขึ้น" ตอนนี้ให้นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง และมุ่งสมาธิไปที่ช่วงเวลานั้น ทันทีที่รู้สึกโกรธ ให้หยุด จากนั้นให้สั่งสมอง หยุดความโกรธ นึกภาพป้ายหยุดตัวโตๆ พร้อมเสียงใครบางคน ตะโกนให้หยุด หรือจะนึกถึงความรู้สึกเวลา ที่มีมือมาแตะบ่าบอกให้ใจเย็นๆ อะไรก็ได้ที่ทำให้คลายความโกรธลงได้

นึกภาพเหตุการณ์ในทำนองนี้อีกสัก 2- 3 ครั้ง จนกระทั่งคุณสร้างความเชื่อมโยงที่เข้มแข็ง ระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่คุณจะรู้สึก โกรธและสมองหยุดความโกรธ และครั้งต่อไปหากรู้สึกโกรธ คุณก็จะรู้จักวิธีทำลายและจัดการกับความโกรธนั้น

ละลายความโกรธ

อย่าปล่อยให้ความโกรธสะสมทับทวีคูณ จนทำให้ตัวคุณเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่เดินได้ "การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยขจัดความโกรธ"

คิก บ็อกซ์ ช่วยปลดปล่อยความเครียดและความโกรธที่สะสมอยู่ภายใน หรือคุณอาจชอบอะไรที่ระงับความฉุนเฉียวได้ เช่น โยคะ หรือไทชิ

เบ็ธ แมคโค ที่ปรึกษาด้านโฮโมอีโอพาธี ของ Health Plus บอกว่า เลือกอะไรก็ได้ที่ส่งผลดีกับคุณมากที่สุด หากอยากระบาย ความโกรธ ให้เปิดเพลงดังๆ แดนซ์ให้กระจาย แต่ถ้าต้องการควบคุมอารมณ์ตนเอง ทำจิตใจสงบนิ่ง คุณต้องเลือกนั่งสมาธิ
ทำใจให้สุขุมเยือกเย็น

"เวลาโมโห คุณจะลุกขึ้นสู้หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เวลาโกรธ สารอะดรีนาลินจะไหลอาบร่างกาย เพื่อเตรียมพร้อมที่จะสู้หรือหนีจากสถานการณ์นั้น การหายใจลึกๆช่วยได้ " มาริลีน เดโวนิช โค้ชชีวิตและที่ปรึกษาด้าน Neuro Linguistic Programming (NLP) บอก "หายใจเข้าลึกๆ ผ่านจมูก และหายใจออกทางปาก โดยหายใจออกให้ยาวหายใจเข้า 2 เท่า ทำซ้ำ 5 ครั้ง"
เปิดอกพูดคุย

"พูดคุยกับคนที่เป็นกลางและเห็นอกเห็นใจ เช่น เพื่อนผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษา หรือแพทย์" เบธกล่าว "ถ้าคุณโกรธใครสักคน จงบอกเขาให้รู้ตัวด้วยคำพูดประมาณว่า 'ฉันรู้สึกโกรธที่ คุณทำแบบนั้น' ใช้คำว่า 'ฉันรู้สึก' ดีกว่าใช้คำว่า 'คุณทำให้ฉันรู้สึก' ซึ่งนั่นจะทำให้ช่องว่างระหว่างคุณสองคน ห่างออกจากกันเรื่อยๆ การเข้าใจต้นตอที่แท้จริงของความโกรธเป็นสิ่งสำคัญ คุณใช่ไหมที่ขึ้นเสียงกับแฟน เพียงเพราะเขาทิ้งผ้าเช็ดตัวเปียกๆ บนพื้น หรือคุณพกความหงุดหงิดจากที่ทำงานมาระบายใส่คนที่บ้าน ลองพูดคุยกับใครสักคน เพื่อจะได้ช่วยกันหาสาเหตุที่แท้จริงของอารมณ์ฉุนเฉียวที่เกิดกับคุณ"
ใช้ความโกรธเปลี่ยนแปลงชีวิต

เปลี่ยนความโกรธของ คุณเป็นพลังในทางบวก "อารมณ์ที่รุนแรง ช่วยผลักดันให้คุณก้าวเดินไปข้างหน้า เพื่อจะได้รู้จักตนเอง" อินกริดบอก วาดแผนภูมิวงกลมลงบนกระดาษ พร้อมกับแบ่งวงกลมออกเป็น 7 ส่วน ให้เขียนหัวข้อลงบนแต่ละส่วน ประกอบด้วย สุขภาพ หน้าที่การงาน การเงิน เพื่อนฝูงและครอบครัว ความรัก ความสนุกสนานและนันทนาการ สิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าส่วนตัว

อารมณ์หุนหันของผู้ชายมาจากไหน?

ดร.เลียวนาร์ด เบอร์โควิซ ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านจิตวิทยา ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล สหรัฐอเมริกา เคยกล่าวว่า "ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะโกรธง่าย และมีทีท่าที่จะแสดงออกถึงความก้าว ร้าวได้มากกว่าผู้หญิง" เขาให้เหตุผลว่า เพราะอิทธิพลมาจากเจ้าฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนที่มีผลต่อการพัฒนาสมองของทารกเพศ ชายขณะที่ยังอยู่ในท้องแม่ ทำให้คนเพศชายเติบโตมาพร้อมกับอารมณ์ที่รุนแรงกว่าผู้หญิง และเหตุของความขี้ โมโหก้าวร้าวอีกประการหนึ่งมีที่มาจากการเลี้ยงดูกับสภาพแวดล้อมตอนที่คนๆ นั้นเติบโตขึ้นมา คนบางคนถูกเลี้ยงดู ถูกสอนให้เห็นว่าการแสดงความโกรธ หรือก้าวร้าวเป็นเรื่องไม่ดี เรียกว่าถึงแม้จะโกรธก็ห้ามแสดงความโกรธออกมาเลยนั่นล่ะ ผลก็คือมันทำให้คนๆ นั้นเกิดอาการเก็บกด และจัดการกับอารมณ์โกรธของ ตัวเองไม่ได้เมื่อโตขึ้น สมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Psychological Association - APA) ยังได้ทำการวิจัยพบอีกว่า พื้นฐานครอบครัวก็มีบทบาทสำคัญ คนที่โกรธง่าย ขี้โมโห หรือก้าวร้าว มักจะมาจากครอบครัวที่แตกแยก หรือในบ้านมีแต่ความวุ่นวายไม่มีระเบียบ และคนในครอบครัวไม่ค่อยมีการสื่อสารเรื่องอารมณ์กันอย่างเหมาะสม

โกรธ...เป็นเรื่องธรรมชาติ

จริงๆ แล้วคนเราทุกคนย่อมต้องมีอารมณ์โกรธ เช่นเดียวกับที่มีความสนุก ความเศร้า ความสมหวัง หรือผิดหวัง ด้วยกันทั้งนั้นครับ คุณหมอเบอร์โควิซเองก็เห็นว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ชายมักจะโกรธก็คือ การที่ความนิยมในตัวเองถูกคุกคาม เมื่อคนเราถูกทำให้โกรธ หรือรำคาญ เราจะระบายความโกรธของเราด้วยความก้าว ร้าวไปโดยสัญชาตญาณ ซึ่งถือว่าเป็นกลไกป้องกัน และปรับตัวต่อการคุกคาม และข่มขู่อย่างหนึ่ง อันเป็นเรื่องธรรมชาติเพื่อการอยู่รอดของชีวิต ที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือหากเกิดความโกรธแล้วไม่ได้ระบายออกมา ไอ้เจ้าความโกรธนั้นมันจะย้อนกลับเข้าไปทำลายร่างกายของเจ้าตัวคนโกรธได้ ไม่ว่าจะเป็นความดันเลือดสูง จิตเก็บกด ซึมเศร้า ต่างๆ และร่างกายอาจจะระบายความโกรธออก มาทางอื่นจนกลายเป็นการเจ็บป่วยต่างๆ ทั้งจิต และกายได้อีก นักจิตวิทยาฝรั่งเขาเรียกอาการนี้ว่าเป็นพฤติกรรมแบบ passive-aggressive ครับ ลองคิดภาพของลูกน้องหน้าจืดๆ บางคนที่ไม่เคยตอบโต้สักคำเวลาโดนเจ้านายด่าว่า ไม่ใช่ว่าเขาไม่โกรธแต่ เขาอาจเก็บกดเอาไว้ในใจ หลายๆ ครั้งเข้าถึงวันหนึ่งไอ้ที่เก็บไว้ก็ระเบิด เขาก็กลับย้อนไปทำร้ายเจ้านายคนนั้นแบบไม่ให้ใครรู้ถึงขั้นเลือดตกยางออกเลย ก็ได้ หรือคนบางคนไม่เคยเรียนรู้วิธีการระบายความโกรธที่ ถูกต้อง ไม่พอใจนั่นนี่เอาแต่บ่นๆๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นตาแก่ขี้บ่นหาแฟนไม่ได้ เพราะทั้งชีวิตมัวแต่นั่งติ และวิจารณ์ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านหน้า แถมยังเยาะเย้ยถากถางคนอื่นอยู่เป็นประจำนั่นเอง

ระบายความโกรธอย่างถูกวิธี

เมื่อโกรธนั้น ห้ามไม่ได้ ก็ต้องรู้จักวิธีระบายมันออกมาให้ถูกครับ จำไว้ว่าคุณมีสิทธิ์เพียงแค่ทำอย่างไรจึงจะเคลียร์ในสิ่งที่คุณต้องการ และทำอย่างไรคนอื่นจะไม่ต้องเจ็บปวดเพราะคำพูด หรือกิริยาอาการของคุณ ซึ่งตรงนี้มันคือความเคารพในตัวของคุณเอง และผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน และไอ้การแสดงความโมโห โกรธาออกไปมากๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้มันดีขึ้นได้หรอก ซึ่งเรื่องนี้เราก็รู้กันดีอยู่แล้วใช่มั้ยล่ะครับ นอกจากนี้ก็มีผลยืนยันมาจากงานวิจัยนับไม่ถ้วนแล้วว่าคนโดยเฉพาะชาย และหญิงวัยกลางคนที่มักจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธอะไร ง่ายๆ ขี้หงุดหงิดโมโหอยู่เสมอๆ น่ะจะมีโอกาสของการเกิดโรคหัวใจ หลอดเลือดตีบ ไปจนถึงการหัวใจวายเฉียบพลันได้มากกว่าคนที่รู้จักปลดปล่อยอารมณ์ให้ดีอยู่ เป็นประจำ ถึง 2-3 เท่า

วิธีพิชิตความโกรธโดยวิธีแห่งมหายาน

บทความ จากหนังสือเรื่อง Anger แต่งโดย Thich Nhat Henh ซึ่งท่านเป็นพระภิกษุชาวเวียดนามของพุทธศาสนาสายมหายาน ซึ่งพำนักในสหรัฐอมริกา ท่านเขียนหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เป็น bestseller หลายเล่ม รวมถึงหนังสือเรื่อง Anger นี้ด้วย

งานเขียนของท่านได้สรุปถึง การทำวิปัสสนากรรมฐานที่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน หลักสำคัญของท่านมีอยู่สองประการคือ การรู้เนื้อรู้ตัวอยู่เสมอในทุกๆ อิริยาบถ และการจับความรู้สึกที่ลมหายใจเข้า – ออก ตั้งแต่ปลายจมูกผ่านลำคอ ช่องอก ช่องท้อง ช่องลมทั่วสรรพางค์กาย จนกระทั่งกลับออกมาที่ปลายจมูก เป็นต้น สำหรับในหนังสือเรื่อง Anger ท่านกล่าวถึงเรื่องของความโกรธ โทษของความโกรธ และวิธีระงับความโกรธ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่มีพื้นฐานจิตเป็น "โทสะจริต" อย่างมาก

เนื้อหาสาระที่สำคัญโดยย่อ ดังนี้.-

1. ลักษณะของความโกรธ

  • เมื่อมีอารมณ์โกรธ ทุกคนย่อมคิดว่าตนเองนั้นถูกต้องเสมอ ทุกๆ คนต่างหยิบยกเหตุผลต่างๆ นานา มาสนับสนุนในสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูก ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยอมแพ้แม้แต่ก้าวเดียว ซึ่งเป็นการเดินทางเข้าสู่ความเป็น "คนโง่" หรือที่พระพะยอมท่านว่า โกรธคือโง่ นั่นเอง
  • เมื่อมีความโกรธ จะทำให้ขาดสติและถูกหลอกได้ง่าย เพราะคนที่โกรธจะไม่ฟังใคร ยกเว้นคนที่คิดเหมือนกับตัวเอง ยิ่งมีกำลังเสริมยิ่งฮึกโหม คิดว่าตนเองนั้นถูกต้อง จึงถูกจูงจมูก และใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างง่ายดาย
  • เมื่อมีความโกรธ จะมองโลกในแง่ร้าย ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ และคิดว่าปัญหาไม่สามารถแก้ไขหรือประนีประนอมได้ และมีแนวโน้มที่จะรุนแรง
  • เมื่อมีความโกรธ จะมีความคิดในแง่ลบผุดขึ้นมามากมาย ขุดทั้งเรื่องในปัจจุบันและเรื่องที่สะสมมาในอดีตมาป้ายสี ก่อให้เกิดอารมณ์ที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มองความจริงไม่ตรงตามความเป็นจริง คำพูดจะบิดเบือน วาจาจะก้าวร้าวรุนแรง มองไม่เห็นหัวคนอื่น เพราะคิดว่าตัวเองเท่านั้นที่ถูกต้อง

2. โทษของความโกรธ

บุญบารมี โชคลาภ วาสนา ความรู้สึกที่ดีต่อกัน และภาพพจน์ดีๆ ที่เคยสั่งสมมาทั้งหมดจะสูญสลายไปในพริบตา บางครั้ง เสมือน ทำให้แก้วเจียรนัยราคาแพง แตกร้าว ที่ยากจะเชื่อมประสานให้ดีดังเดิม โดยไม่มีรอยแตก จึงต้องระวังให้มาก เพราะในขณะที่โกรธ ตัวเราจะขาดสติ คำพูดจะมีเสียงดัง จะเสียดแทงจิตใจ แววตาจะดุร้าย กิริยาจะรุนแรง สูญเสียบุคลิกภาพ และทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งจะเป็นการสร้างศัตรู โดยที่เราไม่รู้ตัว และหากถึงขั้นรุนแรงเป็นขั้นโมโห ก็จะมีการทำร้ายร่างกาย จะยิ่งเป็นการสร้างกรรมเวรขึ้นอีกเป็นทวีคูณ และที่สำคัญเมื่อมีอารมณ์โกรธ

ร่างกายจะปล่อยสารทำลายเนื้อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกันทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมได้ง่าย นอกจากนั้น การโมโหจนเป็นนิสัย จะเป็นการเติมเชื้อโทสะที่มีอยู่ในจิตใจให้มีกำลังรุนแรง ทำให้มองความโกรธว่าเป็นเรื่องธรรมดา กิริยาจะก้าวร้าวจนเป็นนิสัย มักชอบใช้ความรุนแรงเข้ายุติปัญหา ลูกหลานและคนรอบข้างก็จะติดนิสัยไปด้วย สังคมจะมีแต่ความแตกแยกหาความสุขไม่ได้
วิธีพิชิตความโกรธโดยวิธีแห่งมหายาน

3. วิธีรับมือกับความโกรธ

  • นิ่งสงบ หยุดพูด หยุดหาเหตุผลมาปกป้องตัวเอง และตั้งใจฟังอีกฝ่ายว่า อีกฝ่ายมีประเด็นอะไร สาเหตุที่อีกฝ่ายโกรธคืออะไร และตั้งใจมองอีกฝ่าย ด้วยความเมตตา มีความเห็นอกเห็นใจต่อความระทมทุกข์ของอีกฝ่ายอย่างแท้จริง (Compassionate listening) ขณะที่ฟังห้ามพูดโดยเด็ดขาด ยิ้มได้อย่างเดียว
  • รู้จักข่มใจ เช่น หายใจลึกๆ หรือใช้ลิ้นดันเพดานในปากไว้เพื่อข่มความโกรธ เป็นต้น
  • เมื่อฟังอีกฝ่ายพูดจบแล้ว ถ้าจำเป็นต้องพูดให้พูดเท่าที่จำเป็นด้วยวาจาที่สุภาพ ไพเราะ นุ่มนวลและพูดเปี่ยมด้วยความรัก (Loving speech) ผู้พูดควรได้ยินเสียงทุกเสียง ที่ตัวเองพูดโดยการพูดทีละคำฟังที่ละเสียง และพูดด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่พูดเสียงดังแต่ถ้ายังไม่ถึงโอกาสที่ควรพูด เช่น อีกฝ่ายหรือแม้แต่ตัวเราเองขณะกำลังมีอารมณ์ขุ่นมัว ไม่สามารถพูดกันดีๆ ได้ก็ให้เงียบเสียดีกว่า ไม่จำเป็นต้องรีบพูดโดยทันที เพราะพูดไปตอนนี้อีกฝ่ายก็คงไม่รับฟัง
  • อย่าหลงเชื่อคำพูดของอีกฝ่ายที่พูดออกมาตอนที่โกรธ เพราะเมื่อจิตโกรธข้อมูลทั้งหลายจะบิดเบือนไปได้ทั้งสิ้น ให้ฟังหูไว้หู ฟังอย่างเดียวไม่ต้องโต้ เถียงหาข้อเท็จจริง
  • เมื่อรับฟังแล้ว พูดเท่าที่จำเป็นแล้ว ให้หลบเลี่ยงออกจากสถานที่และบุคคลนั้นๆ
  • มองปัญหาที่เกิดขึ้นในภาพรวม และแก้ไขปัญหาเป็นจุดๆ ไป ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ คันที่ไหนให้เกาที่นั่น
  • ฝึกนิสัยที่จะไม่โกรธ ใครมาพูดจายั่วยุให้โกรธ เราจะไม่สนใจและเลิกใส่ใจกับคนที่ชอบนินทา หรือชอบหาเรื่องทำให้เราโกรธ
  • มองความรู้สึกของตัวเองอยู่ตลอดเวลา พร้อมๆ กับการหายใจลึกๆ เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์จะได้ระงับความโกรธได้อย่างทันท่วงที เมื่อโกรธ รู้ว่ากำลังโกรธ โกรธเพราะอะไร ความโกรธหายไปเมื่อไร และสิ่งใดทำให้เราหายโกรธได้ เป็นต้น
  • สร้างปัจจัยความสุขในจิตใจมากๆ ทำจิตใจให้สบายๆ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ จิตใจจะได้ไม่เครียด เป็นต้น ความสุขเหล่านี้จะไปทดแทนโทสะที่มีอยู่ในจิตใจได้
  • อย่ายึดมั่นถือมั่นในความคิดทั้งหลายทั้งปวง เพราะสิ่งที่เราเห็นในขณะนี้ เป็นความจริงเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยใหม่ เข้ามา สิ่งที่เราคิดว่าใช่ มันก็เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้น อย่าเชื่อนักในสิ่งที่เห็น และอย่าเชื่อนักในสิ่งที่ได้ยิน
  • ความโกรธไม่สามารถเอาชนะความโกรธได้ แต่ความรัก ความเมตตา ความเข้าใจ และการให้อภัยจึงจะสลายความโกรธลงได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อ เมตตาแล้วต้องไม่เดือนร้อนต่อตัวเองและผู้อื่นด้วย จึงจะเรียกได้ว่ามีความเมตตาอย่างแท้จริง
วิธีพิชิตความโกรธโดยวิธีแห่งมหายาน