ประโยชน์ทางยาของพริก

พริกเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทย คนไทยรับประทานพริก เฉลี่ยแล้วคนละประมาณ 1 กิโลกรัม/ปี นอกจากประโยชน์ในด้านปรุงแต่งรสชาติของอาหารแล้วพริกยังมี
ประโยชน์ทางยา เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วมีการวิจัยเกี่ยวกับพริกถึงประมาณ 300 เรื่องต่อปี มีการวิจัยทางคลินิกที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วประมาณ 60 เรื่อง

พริกจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับมะเขือต่าง ๆ และมะเขือเทศ คือ อยู่ในตระกูล Solanaceae พริกที่พบมากในประเทศไทยได้แก่ พริกชี้ฟ้า (Capsicum annuum Linn.) พริกขี้หนู (Capsicum frutecens Linn.) และ พริกขี้หนูสวน (Capsicum minimum Roxb.) ซึ่งแต่ละชนิดก็แบ่งย่อยเป็นหลายพันธุ์

สารสำคัญที่ทำให้พริกมีรสเผ็ดร้อนคือ capsaicin พบได้ในพริกแทบทุกชนิด รวมทั้งในพริกไทยและขิง ในปริมาณที่แตกต่างกันตามชนิดของพริก ซึ่ง capsaicin นี้จะอยู่ที่รกพริก (บริเวณที่เมล็ดพริกเกาะอยู่) และที่ septum ส่วนผนังด้านนอก และเมล็ดไม่มีสารนี้อยู่4 capsaicin เป็นสารที่มีโครงสร้างเป็น vanillyl amide (รูปที่ 1)

capsaicin ออกฤทธิ์โดยทำให้เกิดการปลดปล่อยของสาร P (substance p) ซึ่งเป็น neurotransmitter ที่ส่งผ่านความรู้สึกปวดจาก เซลล์ประสาทไปยังสมอง หลังได้รับ capsaicin ซ้ำ ๆ จะทำให้สาร P หมดไป ทำให้อาการปวดลดลง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ David Julius และคณะได้ค้นพบว่า capsaicin และความร้อนจะกระตุ้นเส้นประสาทรับ ความรู้สึกผ่านช่องทางอิออนเดียวกัน ซึ่งเขาได้ตั้งชื่อ ช่องอิออนนี้ตามโครงสร้างของ capsaicin ว่า vanilloid receptor type 1 (VR1) เมื่อถูกกระตุ้นโดยการจับ capsaicin ช่องนี้จะเปิดและยอมให้แคลเซี่ยมและ
โซเดียมอิออน ผ่านเข้าไปข้างในทำให้ลดความมีขั้วของเส้นใยประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด และทำให้เกิดสัญญาณผ่าน dorsal root ganglion เข้าไปยังสมองทำให้อธิบายได้ว่า ทำไมเมื่อรับประทานพริกจะทำให้เกิดความรู้สึกร้อน (รูปที่ 2)

capsaicin

รูปที่ 2

พริกมีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งเมื่อรับประทานและเมื่อใช้เป็นยาทาภายนอก

ประโยชน์ของพริกเมื่อรับประทาน

พริกใช้รับประทานเป็นยาขับเสมหะ ยาฝาดสมาน ช่วยการย่อย เพิ่มความอบอุ่นในร่างกาย และรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
เมื่อรับประทานพริก ในช่วงแรกควรรับประทานแต่น้อยและค่อย ๆ เพิ่มขนาดจะทำให้ทางเดินอาหารค่อย ๆ ปรับตัวรับความเผ็ดร้อน และความระคายเคืองของพริก โดยการเพิ่มการหลั่งสารเมือกและ สร้างเนื้อเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารและลำไส้เพิ่มขึ้น
พริกจะลดการเกิดก๊าซที่เกิดจากการย่อยอาหาร และการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อท้องที่เกิดจากท้องอืดท้องเฟ้อ
พริกยังใช้ป้องกันหวัด อาจเป็นเพราะว่า พริกอุดมไปด้วย betacarotene bioflavonoid และวิตามินซี และยังถูกดูดซึมได้ดี การกินพริกก่อนอาหาร หรือพร้อมอาหารจะแก้อาการเบื่ออาหารได้

เมื่อรับประทานพริกในรูปน้ำชา หรือรับประทานในรูปอาหารในตอนแรกจะทำให้เกิดความเผ็ดร้อน บริเวณริมฝีปากและในช่องปาก แต่ต่อมาจะทำให้รู้สึกว่าร่างกายอบอุ่นสบาย ซึ่งความเผ็ดร้อนนี้ทำให้ลดลงได้มากด้วยอาหารที่มีมะเขือเทศและอาหารที่มี casein เช่น นม บางคนที่มีความไวต่อพริกมาก เมื่อรับประทานพริกจำนวนมากโดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้น ไม่เพียงจะทำให้ริมฝีปากและช่องปากเผ็ดร้อนยังทำให้
ระคายเคืองต่อทางเดินอาหารส่วนอื่นด้วย ผลการวิจัยเป็นจำนวนไม่น้อยพบว่าเมื่อรับประทานอย่างถูกวิธี พริกจะไม่ทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ แต่จะช่วยให้เกิดการสมานแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้อีกด้วย

โดยปกติแล้วขนาดรับประทานของพริกในผู้ใหญ่ ในรูปที่เป็นชาชงหรือรูปผงคือ 0.5-3 กรัม ในสหรัฐอเมริกามีพริกจำหน่ายในรูปบรรจุแคปซูล ทั้งที่มีพริกอย่างเดียว หรือพริกรวมกับสมุนไพรอื่น ๆ เช่น ขิง กระเทียม และ Bilberry จำหน่าย ในประเทศไทยมีทิงเจอร์พริก และยาอมแก้เจ็บคอที่มีส่วน
ผสมของพริก

การใช้พริกเป็นยาทาภายนอกเพื่อลดความปวด

จากการที่ capsaicin สามารถลดความรู้สึกปวดได้จึงมีผู้นำมาใช้เป็นยาภายนอก โดยปกติแล้วจะในรูปครีมโดยมี capsaicin 0.025%-0.075% ใช้บรรเทาอาการปวด เนื่องจากโรคข้ออักเสบ (osteoarthritis และ rheumatoid arthritis) โดยใช้ทา 3-4 ครั้งต่อวัน ใช้อย่างน้อยเป็นเวลา 2-4 อาทิตย์ capsaicin จะเสริมฤทธิ์ของยาแก้ปวดอื่น ๆ เช่น methyl salicylate มีผู้พยายามลดการปวดแสบปวดร้อน ของพริกโดยใช้ผสมยาชาทาภายนอก เช่น lidocaine หรือ benzocaine6 คณะกรรมการอาหารและยา ของสหรัฐอเมริกาได้ยอมรับให้ capsaicin เป็นยาที่ใช้ได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ (over - the - counter medication) ซึ่งยาดังกล่าวยังใช้สำหรับอาการปวดเรื้อรัง เช่น อาการปวดประสาทภายหลังการเกิดงูสวัด อาการปวดภายหลังการตัดเต้านม เนื่องจากเนื้องอก การปวดประสาทจากเบาหวานผลการทดลองทางคลินิกพบว่า 50% ของผู้ใช้ capsaicin เป็นประจำ นาน 4 - 5 เดือน ในรูปครีม
ที่ใช้ทาภายนอกจะไม่รู้สึกปวดอีกต่อไป 80% ของผู้ใช้รายงานว่าสามารถบรรเทาอาการปวดลงได้อย่างมี นัยสำคัญ นอกจากนี้ครีม capsaicin ยังปลอดภัยและมีผลดีต่อการรักษาโรคเรื้อนกวาง

ข้อควรระวังในการใช้ คือ ต้องระวังไม่ให้ผลิตภัณฑ์จากพริกถูกตาหรือแผลเปิด ดังนั้นหลังจากใช้ทา แล้วต้องล้างมือให้สะอาดทันที ถ้าทาแล้วอาการระคายเคืองและแดงยังมีอยู่เป็นเวลานานอาจเกิดเนื่องมากเกินไป ต้องลดจำนวนครั้งที่ทาลงหรือปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรมได้พัฒนาเจลพริกเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทาภายนอก มีตัวยาสำคัญคือ capsaicin 0.025 % ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างวิจัยผลการรักษาทางคลินิกเพิ่มเติมและขณะเดียวกันก็มีจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจที่ร้านค้าขององค์การเภสัชกรรม

หนังสืออ้างอิง

1. กองเศรษฐกิจการแพทย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. เอกสารเศรษฐกิจการเกษตรครั้งที่ 88
ตุลาคม 2518: 5.
2. S. R. Schechter. Let's live. 1995; december: 54-57.
3. เฉลิมเกียรติ โภคาวัฒนา. เกษตรกรก้าวหน้า. 2540; เมษายน - มิถุนายน: 1 - 40.
4. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. คู่มือพริก. 2525: 9.
5. D. E. Clapham. Nature. 1997; 389: 783-784.
6. US patent no. 4, 997, 853.

ดร. ชฎา พิศาลงศ์ วิจัยอุตสาหกรรมเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ