มนุษยสัมพันธ์กับการพัฒนาบุคลิกภาพ

ทฤษฎีการสร้างมนุษยสัมพันธ์

ทฤษฎีการสร้างมนุษยสัมพันธ์มีองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบคือ เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ( 2520 : 227 )

1. ให้มนุษย์มีความสุข ( Happy )
2. ให้การยอมรับแก่เพื่อมนุษย์ ( Acceptable )
3. ให้เพื่อนมนุษย์ได้รับประโยชน์ร่วมกัน ( Productivity )

จากแนวความคิดดังกล่าวข้างต้น พอสรุปได้ว่า ทุกชีวิตที่เกิดขึ้นมา และกำลังดำเนินอยู่ แม้ว่าทุกคน จะมีความแตกต่างกัน แต่ทุกคน เป็น มนุษย์ เหมือนกัน ต่างก็ต้องการให้ตัวเอง มีความสุขปราศจากโรคภัยเบียดเบียน มีร่างกายที่สะอาด และงามตามที่ธรรมชาติ กำหนด มนุษย์ทุกคนมีความต้องการสิ่งต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกสบายให้แก่บุคคล ดังเช่น แนวความคิดของมาสว์โล เมื่อความต้องการลำดับต้นๆ ได้รับการตอบสนองแล้ว มนุษย์ก็จะต้องการสิ่งอื่นๆ อีก จนไปถึงขั้นสุดท้ายก็ เพื่อจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว ในความเป็นมนุษย์นี่เราต้องการ และปรารถนาอะไร ในการอยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ บุคคลยังต้องการการยอมรับ และต้องการให้ เพื่อนมนุษย์ได้รับ ประโยชน์ร่วมกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดังนั้นมนุษย์ปฏิเสธการอยู่รวมกัน เป็นกลุ่มไม่ได้และเพื่อ ให้เป็นที่รัก ของคนอื่นเราทุกคนก็ต้องพัฒนาตน

แนวทางหนึ่งที่สามารถพัฒนาตนได้คือ การสร้างความมีมนุษยสัมพันธ์เพื่อการพัฒนาบุคลิกภาพ ซึ่งมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้ คือ

  1. การจะสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นให้ดีได้สิ่งสำคัญคือ เราต้องสำรวจตัวเราเองก่อน ว่าเรามีจุดดีจุดด้อยอย่างไร แล้วจึงพัฒนาตน
  2. ศึกษาจากตำรา เอกสาร สื่อต่างๆ ที่ทำให้เราเห็นตัวแบบในการแสดงบุคลิกภาพแล้ว ฝึกหัดการเป็นคนช่างสังเกต จะทำให้เราเกิดการเรียนรู้และแสดงพฤติกรรมได้ถูกต้องตาม กาลเทศะ
  3. พยายามปรับปรุงบุคลิกภาพของตนอยู่เสมอ ตั้งแต่เส้นผม จนถึงปลายเท้าเราต้องดี รักษาความสะอาดของร่างกาย เสื้อผ้าอาภรณ์ให้ดี รู้จักแต่งตัวตามยุคตามสมัย ไม่เชยจนเกินไปและไม่ล้ำยุคล้ำแฟชั่นจนดูไม่ดีนัก
  4. ฝึกพูดจาให้เป็น พูดอย่างสร้างสรรค์ สื่อความชัดเจนตรงไปตรงมา จริงใจ ในคำพูด ควรอ่อนน้อม ไม่แข็งจนเกินไป ไม่ใช้อำนาจในคำพูดแม้ว่าเราจะมีอำนาจก็ตาม
  5. หัดเป็นผู้กระทำสิ่งใดๆ ให้ผู้อื่นบ้าง เช่น รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ให้การยอมรับนับถือ ให้เกียรติ รู้จักเคารพผู้อาวุโสกว่า รู้จักการ อ่อนน้อม ถ่อมตน เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่เอาเปรียบคนอื่นเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การมีบุคลิกภาพแบบประชาธิปไตย บ้างครั้ง เป็นผู้นำได้ บางครั้งก็เป็นผู้ตามได้ ทำตัวให้คงที่คงวา มีความมั่นคงทางอารมณ์เป็นต้น
  6. ให้ตระหนักเสมอว่าเราอยู่ตัวคนเดียวในโลกไม่ได้ เราต้องสัมพันธ์กับคนอื่นเมื่อจะต้องอยู่ ร่วมกับคนอื่นไม่ว่า จะเป็นคนในครอบครัว หรือคนในสังคมอื่นๆเช่นที่สถาบันการศึกษา ที่ทำงาน เราจะต้องปฏิบัติกับผู้อื่นอย่างดี ให้เกียรติกันและกัน สิ่งที่เราปฏิบัติให้กับ ผู้อื่นเราก็จะได้สิ่งนั้นคืนเช่นกัน แต่ถ้าเผอิญเราไม่ได้สิ่งดีๆตอบก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเลิกยึดถืดแนวปฏิบัติให้ยอมรับว่า มนุษย์มีความแตกต่างกัน ถูกอบรมเลี้ยงดูมาไม่เหมือนกัน เราทำอะไรกับใคร ไม่จำเป็นต้องหวังสิ่งที่จะกลับมา เช่นเราทำดี ก็ให้รู้ว่า เราต้องการที่จะทำดี แต่ไม่ได้หมายความว่าดีนั้นต้องสนองเรา จงทำตัวเหมือนงูที่ลอกคราบแล้วทิ้งคราบมันฉันใด ความดีก็เช่นกัน ทำแล้วเรารู้สึกภูมิใจ สุขใจนั่นคือสิ่งที่เราได้แล้ว ส่วนใครจะเห็นหรือไม่เห็นไม่ใช่สาระ
  7. การสร้างความสัมพันธ์โดยใช้หลักศาสนาก็ทำให้บุคคลอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขได้ เช่น หลักธรรมในเรื่องสังคหวัตถุ 4 ก็จะอธิบายเรื่อง การแบ่งปัน การให้ความช่วยเหลือคนอื่น การพูดจริง การพูดไพเราะน่าฟัง การปฏิบัติตนให้มีค่า มีประโยชน์ต่อคนอื่น และมีความเสมอต้นเสมอปลายในการปฏิบัติตน นอกจากนี้ก็มีเรื่องทิศ 6 ที่อธิบายเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ว่าแต่ละคนควรจะ ปฏิบัติตนอย่างไรหรือแม้กระทั่งหลักธรรมในเรื่องสัปปุริสธรรม 7 ประการอันได้แก่คุณธรรมหรือแนวทางการปฏิบัติของคนดีที่พึงปฏิบัติ
  8. การศึกษาแนวความคิดทางจิตวิทยากลุ่มต่างๆ ทฤษฎีต่างๆ ก็จะเป็นแนวทางให้ตัวเรา บุคคลพัฒนา และปรับปรุงบุคลิกภาพ ของตนเองได้ เช่น ในทางจิตวิทยาอธิบายเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องรู้จักยอมรับนับถือ มีความจริงใจ รู้จักเปิดเผยตนเอง รู้จักการสร้างสัมพันธภาพในขณะนั้น และรู้จักที่จะเผชิญหน้ากับคนอื่น ทำตัวให้เข้ากับใครง่ายๆ เป็นต้น
  9. การให้ความร่วมมือกับคนอื่น ๆ ในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ไม่ใช่สร้างวันสองวันแต่เป็น การสร้างความสัมพันธ์ที่ยาวนาน และแบบของพฤติกรรมเราเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม ของสังคม เราเป็นคนมือไม่นิ่งช่วยเหลือคนอื่นอย่างเต็มใจ สิ่งเหล่านี้จะเป็น เสน่ห์ให้ใครๆ ก็รัก ใครๆ ก็ปรารถนาที่จะช่วยหรือเกื้อกูล เพราะรู้จักให้ความช่วยเหลือผู้อื่นเสมอๆ
  10. ฝึกเป็นคนตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบต่องานที่ทำ เรียกว่า รักษาคำพูดรักษาเวลา มีความกระตือรือร้นในงานที่ทำ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำงานสนุกอารมณ์ดี

ถ้าบุคคลมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ก็จะเกิดการพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองได้พัฒนาขึ้นและในเรื่องนี้จะช่วยให้บุคคลสามารถ ทำงานและอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุข การเริ่มทำงานทุกงานทั้งภาครัฐและเอกชน ความรู้เรื่องมนุษยสัมพันธ์สามารถจะช่วยให้ บุคคลสามารถทำงานได้อย่าง มั่นใจจาก พระบรมราโชวาทในเรื่องงาน

"การทำงานยากลำบากกว่าการเรียนยิ่งนัก การเรียนนั้นเรียนตามหลักสูตรหรือเรียนวิชาต่างๆ ตามที่ทางมหาวิทยาลัยจัดหลักสูตรให้ แต่สำหรับการทำงานไม่มีหลักสูตรวางไว้ ผู้ทำงานต้องศึกษาระบบงานเอง และจะต้องใช้ ความคิดริเริ่ม และความคิดพิจารณา ด้วยตนเองในอันที่จะกระทำสิ่งใด อย่างไรเมื่อใด หากไม่รู้จักพิจารณาให้ถูกช่อง ถูกโอกาส ถึงมีวิชาความรู้อยู่กับตัวมากเพียงใด ก็ไม่เป็นผลแก่งานและแก่ตัวผู้ทำงานนัก ดังนั้นผู้ที่เริ่มจะทำงานใหม่ ควรศึกษางาน ที่จะต้องทำให้ถ่องแท้ มีมนุษยสัมพันธ์กับ บุคคลในองค์กรให้ได้ทั้งที่ต่ำกว่าเรา เสมอเราหรือเหนือกว่าเราให้ได้"

พระบรมราโชวาท โดยสรุปนี้ให้กับบัณฑิตใหม่ ที่กำลังจะก้าวไปสู่ตลาดแรงงาน ก้าวไปสู่อาชีพ เพื่อสร้างตัว สร้างฐานะ การศึกษาที่หลายท่านร่ำเรียนมา จะมาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ และรายได้ที่ได้มาโดยหยาดเหงื่อของเรา มันจะสร้างความภูมิใจ ให้กับตัวเรา แต่มีหลายคนที่เมื่อเข้าสู่ระบบงานแล้วไม่สามารถทำงานตามที่ตนมีความรู้ ความสามารถให้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้

เทคนิควิธีการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการสร้างมิตร

เทคนิควิธีการสร้างมนุษยสัมพันธ์ สามารถทำได้ง่ายๆ มีดังนี้

  1. ยิ้มแย้ม หมายถึง เราจงยิ้มแย้มเข้าไว้ ยิ้มอย่างจริงใจ ยิ้มทุกที่ ยิ้มให้กับทุกคน
  2. แจ่มใส หมายถึง การที่เรามีอารมณ์ที่แจ่มใส สดใส ใครอยู่ใกล้ก็รู้สึกอบอุ่นมีความสุข
  3. ตั้งใจสนทนา หมายถึง เราจงตั้งใจสนทนา เป็นผู้ฟังมากๆ ยิ่งฟังมากก็จะรู้มาก
  4. เจรจาไพเราะ หมายถึง เราจงเจรจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะเสนาะโสต คำพูดที่รื่นหูจะมีแต่คนนิยมชมชอบ ไม่มีใครชอบคนพูดตะคอก พูดเสียดสี
  5. สงเคราะห์เกื้อกูล หมายถึง เราจงให้การสงเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้ที่เราเกี่ยวข้อง เช่นให้ความช่วยเหลือจัดหาสิ่งของมาฝากบ้างตามสมควร

ศิลปะการเข้าถึงบุคคลเพื่อสร้างความคิดร่วม

เนื่องจากมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่อยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ มนุษย์จึงต้องสัมพันธ์ กันทั้งด้านชีวิตส่วนตัว ทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน

การสร้างมนุษยสัมพันธ์เพื่อความคิดร่วมกันในการดำเนินภารกิจในชีวิตประจำวัน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น โดยใช้ศิลปะใน การเข้าถึงบุคคลดังนี้

  1. เคารพในความเป็นมนุษย์ของทุกคน โดยไม่มีชั้นวรรณะ ปฏิบัติต่อกันในลักษณะของคนกับคน บุคคลอื่นคือมนุษย์ร่วมโลกและสังคมเดียวกันกับเรา มีเกียรติ มีค่า และมีสิทธิเท่าเทียมกับเรา เราจึงควรให้เกียรติ เกรงใจและไม่ล้ำสิทธิของผู้อื่น
  2. การมองโลกในแง่ดีและมองแต่ส่วนดีของผู้อื่นจะทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อสิ่งต่างๆและบุคคลที่อยู่แวดล้อมตัวเรา ไว้วางใจและเชื่อมั่นในบุคคลอื่น ซึ่งจะง่ายแก่การขอความร่วมมือ
  3. ถามความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น แม้ว่าความคิดเห็นนั้นอาจจะขัดหรือตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของเรา โดยเปิดโอกาสให้มีการอภิปราย ซักถามและเสนอแนะ ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจว่ามีบทบาทสำคัญ มีส่วนร่วมในผลสำเร็จขององค์การด้วย
  4. ชี้แจงนโยบาย แผนงานและปัญหาต่าง ๆ ให้เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจนและทันต่อเหตุการณ์ หากสิ่งใดไม่สามารถปฏิบัติได้ก็ให้อธิบายให้ฟังด้วยเหตุผลจนเข้าใจ ตลอดจนสนับสนุนให้บุคคลอื่น มีบทบาทร่วมในการกำหนดนโยบายวางแผน และตัดสินในเกี่ยวกับการแก้ปัญหา เป้าหมายและการดำเนินการขององค์การ
  5. การรักษาและสนใจเรื่องเกี่ยวกับ ผลประโยชน์ของผู้ร่วมงาน และส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง เช่น การขอปรับวุฒิ เลื่อนขั้น เงินพิเศษ เป็นต้น
  6. ใจกว้าง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอาใจใส่ต่อความทุกข์ส่วนตัวและในด้านการทำงานของบุคคลอื่น ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย เมื่อมีทุกข์ก็ช่วยเหลือให้กำลังใจ และคำปรึกษาแนะนำแนวทางและวิธีแก้ไข ปัญหาที่กำลังประสบเท่าที่จะทำได้อย่างเห็นใจ จริงใจและเสมอต้นเสมอปลาย
  7. ให้ความยุติธรรมและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาคในทุกๆ ด้านไม่ลำเอียงหรือแสดงว่ารักใคร เกลียดใครเป็นพิเศษตำหนิหรือลงโทษผู้กระทำผิด และสนับสนุนยกย่อง ชมเชย และให้เกียรติผู้ที่ทำความดี ตลอดจนแสดงความยินดีเมื่อผู้อื่นประสบความสำเร็จไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม
  8. เอาใจใส่และสนองความต้องการของบุคคลอื่น ทั้งในด้านวัตถุและจิตใจเท่าที่จะทำได้ โดยพยามยามผสมผสานความต้องการของสมาชิกแต่ละคน ให้สอดคล้องกับความต้องการและเป้าหมายขององค์การ เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในองค์การ ความจงรักภักดีต่อองค์การ และความสามัคคีก็จะเกิดขึ้น
  9. แสดงจุดร่วม สงวนจุดต่าง พยายามพูดกันในสิ่งที่สามารถตกลงกันได้ ส่วนสิ่งที่ขัดแย้งกันไม่ควรจะกล่าวถึง หากมีการแก้ไขปรับปรุงก็ควรแก้ไขปรับปรุงที่ตัวเราเองก่อน ที่จะขอให้ผู้อื่นแก้ไขเปลี่ยนแปลง
  10. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อบุคคลอื่น และเข้ากับบุคคลอื่นได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้รับความสนับสนุนร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ของชีวิต ตลอดจนการสร้างบรรยากาศในการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่น ให้เป็นไปในทางที่เกิดความสัมพันธ์ที่ดีตลอดเวลา รู้จักทักทาย ยิ้มแย้มแจ่มใส สนุกสนานร่างเริง สดชื่น กระฉับกระเฉง พูดกับบุคคลอื่นด้วยถ้อยคำที่เป็นมิตร นุ่มนวล สุภาพ อ่อนโยน และถ้อยคำ ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกัน เช่น "พวกเรา" และให้เกียรติกัน ควรงดเว้นการเป็นนักวิชาการบ้างในบางขณะ หาเรื่องสนุกสนาน มาพูดคุย หลีกเลี่ยงการโต้เถียง และอาจเห็นคล้อยตามในเรื่องที่ไม่สลักสำคัญ อย่านินทาว่าร้าย วิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่นโดยไม่จำเป็น ในกรณีที่ต้องออกคำสั่งให้ผู้อื่น ปฏิบัติตามก็ควรจะเป็นคำสั่ง ที่อ่อนโยนละมุนละม่อม และถามความรู้สึกก่อนที่จะออกคำสั่งก็จะได้รับการปฏิบัติตามอย่างเต็มใจ

 

การพัฒนาตนเพื่อเสริมสร้างสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน

การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในการทำงานร่วมกันนั้น บุคคลควร ตระหนักใน ความรับผิดชอบร่วมกันว่า ทุกคนจะเริ่มที่ตัวของตัวเอง การปรับเปลี่ยนตนเอง เพื่อให้อยู่ร่วมกับผู้อื่น อย่างเป็นสุขนั้น จะอยู่ในวิสัย ที่จะจัดการได้ดีกว่า การมุ่งปรับเปลี่ยนผู้อื่น หรือสิ่งแวดล้อม เมื่อบุคคลมี พฤติกรรมที่ดีกับผู้อื่น ในที่สุดก็จะได้ปฏิกิริยา ตอบสนองที่ดี จากผู้อื่นกลับคืนมา ดังมีคำกล่าวในสุภาษิตไทยตอนหนึ่ง ในประชุมโคลงโลกนิติ ที่ว่า

 

ให้ท่านจักให้ ตอบสนอง
นบท่านท่านจักปอง นอบไหว้
รักท่านท่านควรครองความรัก เรานา

สามสิ่งนี้เว้นไว้ แด่ผู้ทรชน

 

คำกลอนดังกล่าวมีความหมายว่า การที่บุคคลให้สิ่งใดแก่ผู้อื่นก็มีแนวโน้ม จะได้รับสิ่งนั้น สะท้อนกลับคืนมา เช่นเดียวกัน ซึ่งบางทีการสะท้อนกลับคืนมานั้นอาจมิใช่ เพราะผู้อื่นนำมาให้เสมอไป ในหลายเรื่อง ได้รับจาก ความรู้สึกของตัวเราเอง เช่น เมื่อให้ความรักให้น้ำใจแก่คนอื่นผลจาก การให้ทำให้ตนเองรู้สึก ปลาบปลื้ม เป็นสุขภาคภูมิใจในตนเอง ความรู้สึกดีๆ ดังกล่าวนี้เป็นผลสะท้อนจาก การให้ที่เกิดขึ้น ในใจของเราเองโดยที่คนอื่น ไม่ต้องนำความรู้สึกนี้มาให้ และนับว่ามีสูงส่ง เนื่องจากเรื่องของความรู้สึกดีๆ นั้น ซื้อหาไม่ได้ด้วยเงิน การพัฒนาตน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี กับเพื่อนร่วมงาน อาจทำได้หลายลักษณะ หลายแนวทาง ในที่นี้จะกล่าว โดยสังเขป ในแนวปฏิบัติ บางประการที่เหมาะสมกับผู้ทำงาน ได้แก่ การสร้างอัตตมโนทัศน์ที่ตรงตามความเป็นจริง การมองตนเอง และผู้อื่นในทางที่ดี การปฏิบัติต่อผู้อื่นในทางที่ดี การพัฒนาการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น

 

การพัฒนาการวางตนตามสถานะ และบทบาทในองค์การดังนี้

1. การสร้างอัตตมโนทัศน์ ที่ตรงตามความเป็นจริง

คำว่า อัตตมโนทัศน์ ซึ่งบางคนเรียกว่า ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับตนเอง นี้ โรเจอร์ ซึ่งเป็นผู้นำของ นักจิตวิทยา กลุ่มมนุษยนิยม กล่าวว่า เป็นความคิดความรู้สึกที่ เป็นข้อสรุปต่อตนเองของบุคคล ความคิดความรู้สึกดังกล่าว เป็นผลิตผลจาก ประสบการณ์ ในชีวิต ที่ได้มี การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง อัตตมโนทัศน์เป็นภาพทั้งหมด ของบุคคล ในความคิดคำนึง ซึ่งมิได้เจาะจง ที่จุดใด จุดหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ไม่เจาะจงว่าเป็นคนสูงมาก อ้วนมาก โกรธง่าย หงุดหงิด หรือเป็นคนอารมณ์ขัน ฯลฯ หากแต่ เป็นความคิดความรู้สึกเกี่ยวกับตนเอง ในภาพรวมทั้งหมด เช่น ความรู้สึก เกี่ยวกับ สภาพอารมณ์ และร่างกายทั้งหมด กิจกรรมทุกอย่างที่ปฏิบัติ ทุกสิ่งที่ปฏิบัติ และล้มเหลว รวมทั้ง ความรู้สึก ของบุคคลที่ว่า บุคคลอื่นมองเขาอย่างไร ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ เกิดจากการที่บุคคลติดต่อ สัมพันธ์กับผู้อื่น เช่นได้จาก การสังเกต กิริยาอาการ ของผู้อื่นที่ แสดงต่อตน จากการได้รับ การยอมรับ หรือไม่ได้รับการยอมรับ จากตำแหน่ง หน้าที่ในสังคม ฯลฯ ซึ่งอัตตมโนทัศน์ เหล่านี้จะมีทั้งบวก และลบ

แต่อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ บุคคลแต่ละคนมิได้มีอัตตมโนทัศน์ที่ถูกต้องเที่ยงแท้เสมอไป บางครั้งมี การเข้าใจตนเองผิดจาก ประสบการณ์บางประการ โดย อาจจะมองบวกมากไปเกี่ยวกับตนเอง เช่น มีเสน่ห์แรง ทำงานเก่ง สติปัญญาเป็นเลิศ หรืออาจจะมองลบเป็นส่วนใหญ่ เช่นอาจคิดว่าตนเองพูดไม่เป็นอ่อนแองุ่มง่าม บุคลิกภาพไม่ดี ฯลฯ คนบางคนมองแต่แง่ดี ในตัวเอง ไม่ยอมรับข้อเสีย บางคนมองแต่ข้อเสียไม่ยอมรับข้อดี แท้ที่จริงแล้วบุคคลมักจะมีทั้งข้อดี และข้อจำกัดในตัวเอง ซึ่งบุคคลควร ที่จะพยายามสร้างอัตตมโนทัศน์ให้ตรง ตามความเป็นจริง โดยหมั่นสำรวจตรวจสอบ ตนเองอยู่เสมอ โดยอาจจะพูด หรือเขียนประโยคต่างๆ ที่เป็นการบรรยายตนเอง แล้วพูดคุยกับผู้ใกล้ชิดว่า บุคคลเหล่านั้น เห็นด้วยกับสิ่งที่พูด หรือเขียนอย่างไร หรืออีกวิธีหนึ่งที่อาจจะช่วยให้ การสำรวจตรวจสอบตนเองเป็นไปได้ด้วยดี คือ การใช้แบบสำรวจตนเอง ซึ่งบุคคลจะต้อง ควบคุมตนให้ตอบอย่างซื่อตรง และจริงใจต่อตนเองเพื่อให้ค้นพบตัวเองที่แท้จริง ปัจจุบันมีผู้สร้างแบบสำรวจตนเอง เกี่ยวกับ มนุษยสัมพันธ์ ไว้มาก ตัวอย่างแบบสำรวจตนเองชุดหนึ่งที่น่าสนใจ เช่น แบบสำรวจชื่อ "มองตนเพื่อสร้างสัมพันธ์" ของวัชรี ธุวรรม อันเป็นแบบสำรวจที่สร้าง และปรับปรุงขึ้น เพื่อใช้สำหรับให้บุคคลสำรวจ ตรวจสอบตนเอง ในลักษณะของตน บางด้านที่เกี่ยวกับ พัฒนาการทางสังคม เพื่อให้รู้จักตนเองเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับลักษณะทางสังคมของตน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนด้านสัมพันธภาพกับผู้อื่น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนางานในหน้าที่ได้ด้วย

2. การมองตนเอง และผู้อื่นในทางที่ดี

ลองใช้แบบสำรวจ เพื่อประเมินตนเองจากความคิดคำนึงของตนว่า ตนเองเป็นคนอย่างไร ในลักษณะต่างๆ ตามหัวข้อที่กำหนดให้ทั้ง 30 ข้อ เมื่อ เสร็จการประเมินตนเองแล้ว บุคคลอาจนำไปสนทนาแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น กับผู้ใกล้ชิดว่า มีใครเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร แล้วใช้เวลาส่วนหนึ่งอยู่ตามลำพังเพื่อเปรียบ เทียบความคิดเห็นของตน และผู้อื่นต่อตนเอง ลักษณะใด บ้างที่เห็นตรงกัน และลักษณะใดบ้างที่เห็นไม่ตรงกัน จากการหาเหตุผล อาจนำไปสู่การมีอัตมโนทัศน์ ที่ตรง ตาม ความเป็นจริง และทำให้ค้นพบ ลักษณะบางอย่างที่ดี อยากรักษาไว้ และลักษณะบางอย่างในตัวเอง ที่อยากปรับปรุงอันจะนำไปสู่สัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น จากตัวอย่าง การสำรวจตนเองที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ความสามารถในการมองตนเอง ด้วยสายตาที่แท้จริง นำไปสู่ ความสัมพันธ์อันดี กับผู้อื่น และทำให้มีสุขภาพจิตดี เพราะช่วยให้สามารถทำตัวได้ตามสบาย ยอมรับในข้อจำกัดที่ตนมีอยู่ และมั่นใจ ในข้อดีของตน ไม่มีความจำเป็น ต้องปิดบังซ่อนเร้นตนเองด้วยกลไกการป้องกันตัว หาก แต่เป็นผู้สามารถ เป็นตัวของตัวเอง เมื่ออยู่ในที่แวดล้อมด้วยผู้คนหลากหลาย

แบบทดสอบการมองตนเพื่อสร้างสัมพันธ์

สิ่งที่ฉันคิดเกี่ยวกับตัวเอง จริง จริงเป็นส่วนมาก ไม่จริงเป็นส่วนมาก ไม่จริงเลย
1. สนุกร่าเริง

2. ขี้บ่น 3. พูดมาก 4. มีน้ำใจ 5. ชอบพูดเรื่องคนอื่น 6.เป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ 7. ซื่อสัตว์ต่อเพื่อน 8. สามารถไว้ใจได้ 9. มักมีปัญหาอยู่เสมอ 10. ชอบออกคำสั่งคนที่อยู่รอบข้าง 11. ตรงต่อเวลา 12. ขี้อิจฉา 13. หงุดหงิดอยู่เสมอ 14. ชอบเอาใจผู้อื่น 15. เป็นผู้ฝังที่ดี 16. กว้างขวางในหมู่ผู้หญิง 17.กว้างขวางในหมู่ผู้ชาย 18. โกรธง่าย 19. มักกล่าวคำขอโทษอยู่เสมอ 20. เห็นแก่ตัว 21. ชอบอยู่ตามลำพัง 22. มีท่าทางเป็นมิตรต่อผู้อื่น 23. คิดถึงคนอื่นก่อนคิดถึงตนตัว 24. เป็นคนสนุกใครๆ ก็อยากอยู่ด้วย 25. มักมองผู้อื่นต่ำกว่าตน 26. ไม่ชอบให้ใครวิจารณ์ 27. มักป้ายความผิดให้ผู้อื่น 28. โกรธเมื่อผู้อื่นไม่เห็นด้วย 29. ต้องการเป็นหนึ่งอยู่เสมอ 30. มีสุขภาพจิตดี

 

3. การปฏิบัติต่อผู้อื่นในทางที่ดี

จอห์ บี.วัตสัน ผู้นำสำคัญของนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม ซึ่งเป็นกลุ่มจิตวิทยาที่เชื่อในเรื่อง การใช้สิ่งเร้าหรือสิ่งแวดล้อมมา เป็นเงื่อนไข ในการปรับเปลี่ยน และ พัฒนาพฤติกรรมของบุคคล ได้กล่าวให้เห็น อิทธิพลของสิ่งเร้าหรือสิ่งแวดล้อม ต่อพฤติกรรมหรือ การกระทำของคนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "พฤติกรรมนิยม" ซึ่งเขา เขียนไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 ความว่า "จงนำเด็กทารกมา ให้ข้าพเจ้าเลี้ยงดูสัก 1 โหล ซึ่งเป็นเด็กที่สมบูรณ์ ลักษณะปกติ ข้าพเจ้ารับรองว่าจะสามารถสร้างให้เขาเหล่านั้น เป็นอะไร ก็ได้ตาม ต้องการ อาจจะเป็นนายแพทย์ นักกฎหมาย ศิลปิน ผู้นำทางการค้า หรือแม้กระทั่งขอทาน และหัวขโมย… ทั้งนี้โดยไม่สนใจว่า บรรพบุรุษของเด็กเหล่านี้ นั้นมีความสามารถ อาชีพ หรือเชื้อชาติใดมาก่อน" จากคำพูดของวัตสันดังกล่าว แสดงให้เห็น ความเชื่อของ นักจิตวิทยาในด้านพฤติกรรมหรือการกระทำของบุคคลว่า บุคคลจะมีพฤติกรรม โน้มเอียงไปตามสิ่งเร้า หรือสภาพแวดล้อม ถ้าได้รับ แรงกระตุ้น หรือสิ่งแวดล้อมในแง่ดีพฤติกรรมก็ออกมาดี และถ้าแรกระตุ้น เป็นไปในแง่ลบ ก็อาจได้ผลพฤติกรรม ในแง่ลบอ อกมา คำอธิบายนี้ นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในแง่ ของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง เพื่อนร่วมงานได้ แนวปฏิบัติที่สำคัญ เกี่ยวกับ การปฏิบัติต่อผู้อื่น เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกันมีดังนี้

  1. ให้ความสนใจเพื่อร่วมงาน คือบุคคลส่วนใหญ่ชอบให้ผู้อื่นสนใจ ดังนั้น จึงควรให้ความสนใจเพื่อนร่วมงานโดยการทักทายปราศรัย ถามในสิ่งดีๆ ของเพื่อนร่วมงาน เช่น ผลงานที่ได้รับความสำเร็จ ครอบครัวที่อบอุ่น ลูกๆ ที่เจริญก้าวหน้า ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เพื่อนร่วมงาน รู้สึกพอใจ และเป็นสุข
  2. ยิ้มแย้ม คือการยิ้มของบุคคลที่ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง มักแสดงให้เห็นถึงความนิยมชมชื่น ชอบพอ รักใคร่ จึงเห็นได้ว่า การยิ้มเป็นหัวใจ สำคัญของการสร้างสัมพันธภาพ โดยไม่จำกัดสถานะ เชื้อชาติ เพศ หรือวัย แต่ขณะเดียวกัน ก็ควรใช้การยิ้มให้เหมาะสม กับกาละเทศะ ด้วย ถ้ายิ้มผิดเวลาผิดที่ก็อาจทำลายความสัมพันธ์กันได้ เช่น เพื่อน กำลังมีความทุกข์แต่เรายิ้ม เพื่อนกำลังถูกสั่งพักงาน เราก็ยิ้มกับคำสั่งนั้น เช่นนี้เรียกว่ายิ้มผิดเวลา
  3. แสดงการจำได้ วิธีการแสดงการจำได้ เช่น จำชื่อ จำเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่ดีๆ ที่เคยเกี่ยวข้องกัน จำความสำเร็จที่เพื่อนได้รับ จำวันเกิด วันสมรสของเพื่อนได้ ฯลฯ ซึ่งเมื่อมีโอกาสก็ทักทาย หรือคุยเรื่องเก่าที่เก็บไว้ในความทรงจำ หรืออวยพอในโอกาสวันสำคัญ ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันได้มากขึ้น
  4. เป็นคู่สนทนาที่ดี การแสดงตนเป็นคู่สนทนาที่ดีของเพื่อนร่วมงานนั้น อาจโดยทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี ปล่อยให้อีกฝ่าย ได้พูดคุยตาม ความต้องการของเขา ทั้งนี้โดยต้อง ฟังอย่างตั้งใจฟัง เพื่อให้จับใจความได้ และตอบสนองตอบคำพูดของคู่สนทนา ไม่ขัดจังหวะ ไม่ขัดคอ ซึ่งหน้าจะช่วยให้ผู้พูดมีความสุข แต่ควรระวัง งดการพูดเสริม เมื่อมีการนินทาบุคคลที่สาม เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
  5. รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น คือไม่ผูกขาดอยู่กับความคิดของตนเองข้างเดียว ผู้ที่ผูกขาดความคิดเห็น ของตนมักเป็นคนที่ชอบ เอาชนะเมื่อแสดงความคิดเห็น ถือเอา ความเห็นของตนว่า สำคัญกว่าความเห็นของผู้อื่น มักโต้แย้งความเห็นของผู้อื่น ฯลฯ การแสดงต่อผู้อื่น โดยวิธีนี้มักทำให้ขาดเพื่อน ไม่มีใครอยากคบหาสมาคม หัวหน้า งานก็มักไม่อยาก มอบหมายงาน ให้ทำงานสำคัญ เพราะมีลักษณะ "เข้าที่ไหนวงแตกที่นั่น" จึงควรทำในสิ่งตรงข้าม คือ พยายามรับฟัง และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
  6. แสดงการยอมรับนับถือผู้อื่นตามสถานภาพ ทั้งนี้เนื่องจากเพื่อนร่วมงานของเรานั้น บางคนมีอาวุโสด้านอายุ อาจสูงส่งด้วยชาติตระกูล อาจมีความรู้สูง อาจมีทักษะ ประสบการณ์เหนือผู้อื่น หรืออาจมีตำแหน่งงานเหนือใครอยู่บ้าง ผู้มีจิตใจสูง มีวุฒิภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ ควรให้เกียรติ และเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนร่วมงานตาม สถานภาพนั้นๆ หรืออย่างน้อยก็ยอมรับ ในศักดิ์ศรีของความเป็น เพื่อนมนุษย์ และเพื่อนร่วมงาน
  7. แสดงความมีน้ำใจ ซึ่งการมีน้ำใจต่อผู้อื่น อาจแสดงออกได้หลายแนวทาง เช่นการเป็นผู้ให้ ให้ความรัก ให้ความห่วงใย แบ่งปัน ช่วยเหลือ ให้อภัย ให้กำลังใจ คุณลักษณะต่างๆ เหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยซึ่งควรรักษาไว้ และแสดงต่อเพื่อนร่วมงานด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้สัมพันธภาพเป็นไปด้วยดี
  8. แสดงความชื่นชมยินดี เนื่องจากเพื่อนร่วมงานแต่ละคนในหน่วยงาน มักมีวันพิเศษหรือเหตุการณ์สำคัญของชีวิตด้วยกันทั้งนั้น เช่น อาจจะเป็นวันรับรางวัลพิเศษ การได้เหรียญเชิดชูเกียรติ ฯลฯ ความพิเศษดังกล่าว เหล่านี้บุคคลควรหาโอกาส แสดงความชื่นชม ยินดีต่อเพื่อนร่วมงานด้วยความจริงใจ ซึ่งจัดว่าเป็นการแสดงน้ำใจให้ ความสนใจ และยอมรับเพื่อนร่วมงานในความสำเร็จนั้นๆ ด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้อื่นในทางที่ดี สิ่งเหล่านี้จัดเป็น การสร้างสิ่งแวดล้อม หรือบรรยากาศทางจิตวิทยาที่ดี ในที่ทำงาน ซึ่งจะเป็น แรงกระตุ้นการสนองตอบที่ดี จากอีกฝ่ายหนึ่ง ช่วยให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกันมากขึ้นในหน่วยงาน หลักปฏิบัติดังกล่าวนี้ เมื่อพิจารณาใหใดีจะเห็นได้ว่า ตรงกับหลัก สังคหวัตถุในคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักธรรม 4 ประการที่ใช้ปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง เพื่อนร่วมงานได้ อันได้แก่ ทาน ปิยะวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา

คำว่า "ทาน" หมายถึงการให้น้ำใจ ให้เกียรติ ให้คำแนะนำช่วยเหลือ ให้ความเป็นมิตร
คำว่า "ปิยะวาจา" หมายถึงการใช้วาจาดีรู้จักการพูด ยกย่องชมเชยผู้อื่น ไม่พูดจาเหน็บแนม ส่อเสียดใส่ร้ายผู้อื่น ไม่พูดในสิ่งที่ผู้อื่นไม่อยากฟัง
คำว่า "อัตถจริยา" หมายถึงการปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง และแก่
ผู้อื่นในแนวทางที่ดีงาม
และคำว่า "สมานัตตตา" หมายถึงการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นอย่างเสมอต้นเสมอปลายในแนวทางที่เหมาะสม

ซึ่งจะเห็นได้ว่า แนวทางปฏิบัติต่อผู้อื่น ในทางที่ดีนั้นมีลักษณะเป็นสากล และไม่ล้าสมัย ไม่ว่าชาติใดภาษาใด หรือยุคสมัยใด ก็ยังยึดถือหลักที่คล้ายคลึงกัน ดังเช่นแนวคิดของนักจิตวิทยาที่สอดคล้องกับหลักคำ สอนของพุทธศาสนา ซึ่งมีมาช้านานแล้ว

4. การพัฒนาการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น

จากที่กล่าวมาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้อื่นในทางที่ดี จะเห็นว่ามีหลายประการ ที่ต้องอาศัย ทักษะด้านการติดต่อสื่อสาร เช่น การให้ความสนใจเพื่อนร่วมงาน การ แสดงการจำได้ การเป็นคู่สนทนาที่ดี การแสดงการยอมรับผู้อื่น และการแสดงความชื่นชมยินดี ฯลฯ ถ้าบุคคลมีทักษะที่ดีด้านการสื่อสารกับผู้อื่น จะช่วยเสริมสร้างมนุษย สัมพันธ์ระหว่างกัน ได้เป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ วอลซ์ และเบจามิน ลิบบี้ กล่าวว่าหัวใจของ มนุษยสัมพันธ์ คือทักษะด้านการสื่อสารกับผู้อื่น โดยทำให้ผู้อื่น เกิดความรู้สึกที่ดี เกี่ยวกับ ตัวของ เขาเอง เขาได้ยกตัวอย่างเรื่องที่เล่าต่อกันมาแต่ครั้งโบราณเกี่ยวกับสตรีผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่รัก ของผู้คนในละแวก บ้านใกล้ เรือนเคียง คุณสมบัติที่น่าทึ่งประจำ ตัวของเธอก็คือ ความสามรถดึงดูดใจใครๆ ให้ชอบ ไว้ใจ และอยากอยู่ใกล้ชิด วันหนึ่งหญิงสาวผู้นี้เสียชีวิต ทุกคนในหมู่บ้านต่างเสียใจ และเสียดาย และพยายามสรรหา คำพูดเกี่ยวกับ คุณสมบัติประจำตัวของเธอ ซึ่งทำให้ใครๆ รักเพื่อเขียนคำไว้อาลัย เมื่อต่างก็ได้บรรยายคุณสมบัติ มากมายของหญิงสาวผู้นี้ตามที่แต่ละคนได้พบเห็น ทุกคนได้พบปัญหา อย่างหนึ่งก็คือไม่สามารถสรรหาคำที่จะมาแทนคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวของหญิงสาวผู้นี้ได้ตรงตามลักษณะจริงๆ

จนกระทั่ง เพื่อนของเธอคนหนึ่ง กล่าวคำพูดซึ่งดูเหมือน จะตรงกับความรู้สึกของทุกคน ในที่นั้นขึ้นมา เมื่อได้ฟังประโยค ดังกล่าวทุกคน ก็กล่าวเป็น เสียงเดียวกันว่า “ใช่แล้ว! ข้อความนี้แหละตรงกับความรู้สึกของฉันมาก” ประโยคที่ตรงกับความคิดของทุกคนในที่นั้น เกี่ยวกับสุภาพสตรีดังกล่าวคือ “ เมื่อฉันอยู่ใกล้ชิดเธอ เธอมักทำให้ฉันมีความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตัวฉันเอง” ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการติดต่อ สื่อสาร กับผู้อื่นของหญิงสาวผู้นี้ที่แสดงการยอมรับ ชื่นชม ให้ความสำคัญกับผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นรู้สึกอบอุ่น สบายใจ ไว้วางใจ และ เป็นสุข วิธีการที่บุคคลติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น มักเป็นเครื่องตัดสิน ความสามารถในการสร้างสื่อสัมพันธ์ของบุคคลว่า จะนำไปสู่ความใกล้ชิดกับผู้อื่นมากขึ้น หรือคงเดิม หรือทำให้ยิ่งห่างเหิน กับเขาออกไป และเมื่อบุคคลประพฤติปฏิบัติอย่างไร ในการติดต่อสื่อสารกับคนๆ หนึ่ง ก็มักทำอย่างนั้นเรื่อย ไปกับคนอื่น จนในที่สุดกลายเป็นความ เคยชิน กลายเป็นลักษณะนิสัยประจำตัว ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทักษะด้านการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นนั้น บุคคลควรฝึกฝนตนเองให้ทำให้ได้ และเมื่อทำได้แล้วกับคนๆ หนึ่งก็มักมีแนวโน้มในการนำไปใช้กับบุคคลอื่นๆ ต่อไป การฝึกฝนตนเองดังกล่าว อาจเริ่มได้โดยศึกษาหลักปฏิบัติ เพื่อพัฒนาการติดต่อสื่อสาร กับผู้อื่น แล้วหมั่นฝึกตนเองให้ทำตาม หลักดังกล่าวทีละเล็กทีละน้อย จนกลายเป็นความเคยชิน

หลักปฏิบัติเพื่อพัฒนาการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นในที่ทำงาน

ซึ่งช่วยให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี อาจกล่าวได้โดยสังเขปได้ดังต่อไปนี้

  1. สนใจ เอาใจใส่ ให้ความสำคัญกับผู้ที่ติดต่อสื่อสาร ด้วยทั้งนี้เนื่องจากการให้ความสนใจ เอาใจใส่ ให้ความสำคัญ กับคู่สนทนา หรือผู้ที่ติดต่อสื่อสารจะทำให้จับใจ ความการพูดการคุยได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ถ้าเป็นการทำงานร่วมกัน ในองค์การธุรกิจ ก็จะทำให้เข้าใจเรื่องงานได้ถูกต้อง ทำงานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ทุกคนมีความเข้า ใจในงานตรงกัน การแสดงความสนใจเอาใจใส่ และให้ความสำคัญกับผู้ที่ติดต่อสื่อสารด้วยนั้น อาจกระทำได้ทั้งโดยสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง และ คำพูด ซึ่งแสดงการยอม รับ กระตือรือร้นต่อการสนทนา มองสบตาโดยเปิดเผยจริงใจ เต็มใจต่อการพูดคุย ให้เวลาเพียงพอ ต่อการพูดคุยหรือติดต่อสื่อสารกัน พยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่อีก ฝ่ายหนึ่งต้องการให้รับทราบ
  2. หลีกเลี่ยงการพูดพาดพิงถึง “คน” เมื่อสนทนาเรื่องภายนอกตัว คือในกรณีที่เป็นการสนทนาแบบกันเองทั่วไป หรือแม้แต่เรื่องงาน บางเรื่อง ถ้าคูสนทนาต่างพยายามหลีก เลี่ยงการพูดพาดพิงถึง คน จะช่วยให้แต่ละฝ่ายสนใจสิ่งภายนอกตัว ลดการเพ่งเล็งที่คน ซึ่งอาจจะหมายถึงคู่สนทนาหรือบุคคลที่สามอื่นๆ เป็นการป้องกันการวิพากษ์ วิจารณ์ ซึ่งบางทีเป็น น้ำผึ้งหยดเดียว อันอาจนำไปสู่ การขัดแย้งกันต่อไปก็ได้ตัวอย่างที่ 1การพูดพาดพิงถึงคน “คุณสมศรีทำงานผิดพลาด เขาจะต้องแก้ไขใหม่ ”การพูดที่หลีกเลี่ยง การพาดพิงถึงคน “ งานส่วนนั้นผิดพลาดไปบ้าง คงจะต้องแก้ไขใหม่” ตัวอย่างที่ 2 การพูดพาดพิงถึงคน “ สมชายผมว่า ความคิดของคุณ ยังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้”การพูดที่หลีกเลี่ยงการพาดพิงถึงคน “ความคิดเช่นนั้นอาจจะยังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้มากนัก”
  3. ตั้งคำถามไม่เจาะจง การตั้งคำถามเพื่อให้คู่สนทนาตอบโดยประเด็นคำถามพุ่งไปสู่คู่สนทนารู้สึกว่าเขากำลังถูกวิพาษก์วิจารณ์จากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่คำถามก็มีข้อดีตรง ที่ว่าทำให้คู่สนทนาฟังด้วยเหตุผลมากขึ้น ดังนั้น การถามยังมีความจำเป็น ต้องใช้อยู่ใน การติดต่อสื่อสาร ระหว่างกัน เมื่อต้องทำงานร่วมกันหรือเกี่ยวข้องกันอยู่ แต่ทั้งนี้ ควรระวังอย่าให้คำถามเป็นชะนวนไปสู่อุปสรรคของ มนุษยสัมพันธ์ ในหน่วยงาน โดยพยายามตั้งคำถามที่ไม่เจาะจงไปสู่คู่สนทนา หรือคนใดคนหนึ่งในกลุ่มสนทนาหรือ กลุ่มอภิปราย ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ตัวอย่างคำถามเจาะจง “คุณภา..คุณจะจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้”คำถามไม่เจาะจง “เรื่องนี้จะจัดการอย่างไรดี”
  4. ใช้คำถามเชิงอธิบายแทนการสั่งสอนหรือแนะนำ มนุษย์โดยทั่วไปมักไม่ชอบให้ใครมาอบรมสั่งสอนเรื่อง การวางตัวหรือ การประพฤติปฏิบัติ ยกเว้น เรื่องทักษะหรือ ความรู้ทางเทคนิคในงานบางเรื่อง ที่ทำไม่เป็น และจำเป็นต้องเรียนรู้ หรือมีใคร มาสอน ดั้งนั้นเมื่อจำเป็นต้องให้พนักงานหรือเพื่อนร่วมงาน ได้แนวทางปฏิบัติบางประการ เพื่อกระตุ้นให้อีกฝ่ายหนึ่ง ได้คิดทบทวน หาเหตุผลในบางเรื่องซึ่งอาจจุช่วยให้เจ้าตัว คิดหาทางออกของปัญหา หรือหาวิธีทำงานได้หลายแนวทางขึ้น โดยที่ลดความรู้สึก ขัดแย้ง คับข้องใจจากการถูกอบรมสั่งสอน ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ตัวอย่างการอบรมสั่งสอน “คุณไม่ควรทำอย่างนั้น”คำถามเชิงอธิบาย “การทำอย่างนั้นอาจไม่สมควรใช่หรือไม่”
  5. ใช้ประโยคที่เริ่มต้นด้วยสรรพนามบุรุษที่สองเมื่อพูดถึงสิ่งดี เนื่องจาก การใช้ประโยคที่เริ่มต้น ด้วยสรรพนามบุรุษที่สองเช่นท่าน หรือ คุณ หรือ พี่ หรือ เธอ… ช่วย ให้คุณสนทนาเห็นว่าเราสนใจเขายอมรับเขา นอกจากนั้นยังช่วยแทนความรู้สึกในใจ ของผู้พูดแฝงออกมาด้วย เช่น ถ้าผู้พูดพูดว่า “ คุณเป็นคนเฉียบแหลมจริงๆ “ อาจ หมายความว่า “ฉันชื่นชมคุณเหลือเกิน เพราะคุณเป็นคนมี ความคิดสร้างสรรค์ และมีความสามารถมาก ” การใช้สรรพนามบุรุษที่สอง ช่วยเผยความรู้สึกในใจที่ดีๆ ของผู้พูดออกมาได้โดยไม่ต้องบรรยายความรู้สึกออกมาตรง
  6. ใช้คำว่า “เรา” เมื่อต้องการให้เกิดความรู้สึกเป็นกลุ่มเป็นพวก การใช้คำว่า เรา ในการพูดคุย บางทีหมายถึง คุณ หรือ ท่าน ก็ได้ เช่น เมื่อพูดว่า เราควรพยายามทำ งานชิ้นนี้ให้เสร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจหมายความว่า คุณเร่งมือทำงานชิ้นนี้ขึ้นอีกหน่อย นอกจากนั้น การใช้ เรา ในการสนทนา ยังทำให้เกิดความรู้สึกเป็นพวกพ้องเดียวกัน ลดความรู้สึกแบ่งแยก และใช้พูดชักจูงใจได้ดี เช่น เมื่อพูดว่า เรามีความรู้สึกทำนองเดียวกันเกี่ยวกับ .. มักทำให้ผู้ฟังคล้อยตามผู้พูดโดยง่าย หรือ เมื่อใช้ เรา ใน การตำหนิ ผู้ถูกตำหนิก็จะไม่เสียหน้ามากนัก ดังนั้นแทนที่จะพูดว่า คุณ ก็ใช้คำว่า เรา ทำให้มีความรู้สึกเป็นหมู่เป็นพวก ร่วมแรงร่วมใจ ถึงแม้จะพูดในสิ่งที่เป็นทางลบก็ ยังไม่ดูเป็นการติเตียน ดูว่าเป็นความผิดของเราร่วมกัน
  7. ใช้ประโยคที่เริ่มต้นด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง เมื่อต้องการแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่พูด การใช้ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง หมายถึงว่าผู้พูด ตระหนักดีถึงความรับผิดชอบส่วนตัว ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ใช้ในการแสดงออก ซึ่งประสบการณ์หรือแนวคิดส่วนตัว ผู้พูดมิได้พยายามปิดบังหรือหลบเลี่ยงความ รับผิดชอบในสิ่งที่ตนพูด และมีความเต็มใจ ในการแสดงความรู้สึกส่วนตัวกับผู้อื่น แต่บางทีการใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งบ่อยเกินไปในการสนทนา ก็อาจแสดงให้เห็นว่า
    ผู้พูดมีลักษณะยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลาง และชอบที่จะแสดงตัวว่าความคิดเห็นของตนนั้นเหนือกว่าผู้อื่น จึงควรระวัง การใช้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อย เกินไป และไม่ควรใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง เพื่อการยกตนข่มท่าน คือ เพื่อแสดงความเด่น ความเก่ง หรือความมีอำนาจเหนือผู้อื่น ซึ่งเป็นผลเสียต่อ มนุษยสัมพันธ์
  8. ใช้สรรพนามบุรุษที่สอง-บุรุษที่หนึ่ง หรือ คุณ-ฉัน เมื่อต้องการแสดงความใกล้ชิด จริงใจ การใช้ คุณ-ฉัน หรือสรรพนามบุรุษที่สอง – หนึ่ง บุคคลสองคน ทำให้ เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และรู้จักกันมากขึ้น และเป็นการสื่อสารที่แท้จริง ระหว่างความหมายไปในทางลบ แต่ก็ยังแฝงความรู้สึกเป็นมิตร และซื่อสัตย์ต่อกัน เช่น ตัวอย่างประโยคที่ว่า ฉันคิดว่าสิ่งที่คุณทำทั้งหมดนั้นมันผิด แม้จะเป็นทางลบ แต่ก็ยังแสดงความรู้สึก และเจตคติของผู้พูดที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่งว่าจริงใจต่อกัน
  9. ใช้คำว่า อย่างไร เมื่อต้องการข้อเท็จจริง การใช้ อย่างไร ในคำถาม แสดงว่าผู้ถามต้องการคำตอบจริงๆ และถามด้วยความสนใจจริงๆ เช่น เมื่อถามว่า คุณทำงานนี้ ได้อย่างไร หรือ เมื่อถามว่า คุณรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แสดงว่าผู้ถามต้องการทราบความจริง มิใช่ ต้องการข้อวิจารณ์จากผู้ถูกถาม หรือการปิดบังความเป็นจริงจากผู้ ถูกถาม การใช้ อย่างไร ในการสนทนา เป็นการเปิดทาง ไปสู่การ สื่อสารระหว่างกันอย่างแท้จริง แต่ก็มีข้อระวังที่จะไม่คุกคามหรือล่วงละเมิดเรื่องส่วนตัวของผู้ถูกถามจน เสียสัมพันธภาพ ต่อกัน เนื่องจากบุคคลทุกคนต่างไม่ชอบให้ใครล่วงล้ำขอบเขตส่วนตัวของกัน และกัน
  10. ใช้คำว่า ทำไม ให้เหมาะสมตามจุดประสงค์ การใช้ ทำไม ในประโยคคำถาม แสดงว่าผู้ถามต้องการคำอธิบายจากอีกฝ่ายหนึ่ง และบ่อยเหมือนกันที่คำนี้ทำให้แปล ความหมายไปในทำนองวิพากษ์วิจารณ์อีกฝ่ายหนึ่งได้ เช่น เมื่อถามว่า คุณเอาพริกไทย ใส่เข้าไป ในแฮมเบอร์เกอร์ทำไม อาจตีความหมายได้ว่า คุณรู้ไหมพริกไทยน่ะจะทำให้คุณจาม ไม่รู้จักหยุด แย่จริง นอกจากนั้นในอีกแง่หนึ่ง คำว่า ทำไม ก็ช่วยแสดงความจริงใจของผู้พูด ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นได้ เช่น เมื่อพูดว่า ทำไมคุณมักคิดถึง แต่คนอื่นอยู่ตลอด เวลา หรืออาจแสดงความรู้สึกไม่จริงใจของผู้พูดออกมาได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่พูดด้วย เช่น ถ้าพูดว่าทำไมนะ คุณมักจะ เป็นฝ่ายเดียวกับผู้ตอบถูกเสมอ อาจตีความ หมายได้ว่า ฉันปวดหัว และเหนื่อยหน่าย ในการที่คุณเป็นฝ่ายที่มาพร้อมกับ การแก้ปัญหา ได้ทุกที รู้สึกอิจฉาจริงๆ ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการใช้ภาษาหรือคำ พูดสื่อสารกันนั้น ผู้ใช้ต้องระวังการใช้ และรอบคอบ ในการสื่อสารความหมาย เพราะถ้าไม่ระวัง บางทีอาจสร้างความเข้าใจผิด และได้ความหมายเป็นตรงข้ามกับที่ต้องการ ซึ่งมัก มีตัวอย่าง ความเข้าใจผิด และความขัดแย้งในหน่วยงานให้เห็นอยู่เรื่อย
  11. ใช้วิธีสะท้อนความรู้สึกสะท้อนเนื้อหาคำพูดของคู่สนทนาเพื่อแสดงความเข้าใจ วิธีสะท้อนความรู้สึก หรือสะท้อนเนื้อหาคำพูด ของคู่สนทนานั้น เป็นวิธีการของ นักจิตวิทยากลุ่มมนุษย์นิยมที่ใช้แสดงความเข้าใจ อีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่ต้องพูดคำว่า ฉันเข้าใจคุณ ทั้งนี้เพราะคำว่า ฉันเข้าใจคุณ ที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปนั้น บางทีก็เป็น เพียงคำพูดทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแท้จริง การสะท้อน ความรู้สึกหรือสะท้อนเนื้อหาคำพูดของคู่สนทนาเพื่อแสดงความเข้าใจผู้อื่นนั้น เป็นการเข้าถึงความรู้สึก หรือเนื้อหา ในสิ่งที่เขา กำลังสื่อสาร ให้เรารับทราบ ซึ่งเมื่อเรารับทราบ และเข้าใจสารนั้นแล้ว ก็สื่อความเข้าใจดังกล่าว ไปสู่เจ้าตัวโดยใช้วิธีสะท้อนความรู้สึก หรือสะท้อน เนื้อหาคำพูด
  12. ใช้คำพูดเปิดเผยตนเองเพื่อแสดงความจริงใจ และพร้อมเป็นมิตร คือผู้ที่ขาดทักษะในการพูดคุยกับผู้อื่นบางครั้งก็เป็นอุปสรรคต่อการสร้าง มนุษยสัมพันธ์ ทำให้คบ คนยาก ไม่มีเพื่อน หรืออาจสร้าง ความเข้าใจผิดแก่ผู้อื่นว่า เป็นคนไม่อยากคบหาสมาคมกับใคร ผู้ที่ขาดทักษะดังกล่าว จึงควรฝึกฝนตนเอง ในการแสดงออกซึ่งความรู้สึก และความในใจที่เป็นในระดับพื้นฐานทั่วไป ซึ่งมักเรียกกันว่า การเปิดเผยตนเอง เพื่อเปิดใจอันเป็น การเปิดทางให้ผู้อื่น เข้ามาใกล้ชิด กับตัวเรา และเพื่อช่วยให้ผู้อื่นรู้จักเรา เพิ่มขึ้น ดังมีคำกล่าวที่ว่า ถ้าเปิดตาโดยไม่เปิดใจให้แก่กันแล้ว เราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร คำพูดดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็น ความสำคัญของ การเปิดเผยตนเอง เพื่อให้อยู่ ร่วมกัน และทำงานร่วมกันได้โดยราบรื่น ซึ่งบุคคลอาจฝึกฝนให้เคยชินต่อการแสดงออก และใช้คำพูดเปิดเผลตนเองได้บ้างโดยอาจพยายามฝึกพูดเพื่อเปิดเผยตนเองจาก ประโยคหรือข้อความไม่สมบูรณ์

การพัฒนาการวางตนตามสถานะ และบทบาทในองค์การ

 

ในที่ทำงานหนึ่งๆ จะมีผู้ทำงานในตำแหน่ง และระดับต่างๆ กันไป ซึ่งแบ่งได้กว้างๆ เป็น 3 ระดับ คือผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชา บุคคลในแต่ละระดับดังกล่าว จะมีสถานะ และบทบาทต่างๆ กันไป ผู้ที่วางตนในการทำงานร่วมกับบุคคลระดับต่างๆ ได้โดยเหมาะสม มักช่วยให้การทำงานเป็นไปโดยราบรื่น และอยู่กันได้ด้วยความสุข แนวทางในการวางตนตามสถานะ และบทบาทในองค์การ มีโดยสังเขปดังต่อไปนี้

 

การวางตนในการทำงานร่วมกับผู้บังคับบัญชาโดยผู้บังคับบัญชา

ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด ต้องถือว่าเป็น ผู้นำในการปฏิบัติงาน และเป็นผู้ต้องรับผิดชอบงานในที่ทำงาน เหนือกว่าผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนั้น ผู้ใต้บังคับบัญชา จึงต้องให้ความสำคัญกับผู้บังคับบัญชา ให้ความเคารพนับถือ ให้ความร่วมมือ และเชื่อฟังในสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผล และบทบาทหน้าที่โดยปฏิบัติดังนี้ - ยกย่องผู้บังคับบัญชาตามควรแก่ฐานะ

  1. รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บังคับบัญชา ความสงบ หลีกเลี่ยงการแสดงอารมณ์ หรือโต้เถียง
  2. ปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจ และเต็มความสามารถ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาเชื่อถือ
  3. ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และคำสั่งขององค์กร เพื่อเป็นการให้เกียนติ และยอมรับผู้บังคับบัญชา
  4. เสนอข้อคิดเห็นโดยสุภาพอ่อนน้อม เมื่อผู้บังคับบัญชาถามความเห็น
  5. หลีกเลี่ยงการรบกวนผู้บังคับบัญชาด้วยเรื่องเล็กน้อยหยุมหยิม
  6. หลีกเลี่ยงการบ่นเรื่องงานที่ยากลำบากให้ผู้บังคับบัญชาฟัง เพราะอาจสร้างความเข้าใจผิดต่อว่าต้องการความดีความชอบ หรือแสดงถึงการขาดความอดทน
  7. หลีกเลี่ยงการนินทาผู้บังคับบัญชาลับหลัง ถ้ามีปัญหาเรื่องงานเกิดขึ้น ควรหาโอกาสพูดกับผู้บังคับบัญชาโดยตรง ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน
  8. หลีกเลี่ยงการตอบรับหรือปฏิเสธตลอดเวลา การที่จะตอบรับหรือปฏิเสธความเห็นของผู้บังคับบัญชา ควรให้เป็นไปด้วยเหตุด้วยผล ถ้าเห็นว่าถูกก็ตอบรับ ถ้าเห็น ว่าผิดก็ปฏิเสธ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อมูลที่ปรากฏ ไม่มีการประจบประแจง
  9. หลีกเลี่ยงการทำตัวแข่งกับผู้บังคับบัญชา การเอาชนะหรือทำตัวเด่นกว่าผู้บังคับบัญชานั้น โดยวัฒนธรรมไทย แล้วอาจดูเป็น การขาดมารยาทที่เหมาะสม

 

ด้วยหลักการวางตนในการทำงานร่วมกับผู้บังคับบัญชาทั้ง 10 ประการ ดังกล่าว ถ้าบุคคลใดปฏิบัติได้โดยครบถ้วนสมบูรณ์ ก็มีแนวโน้มว่า จะมีสัมพันธภาพอันดี กับผู้บังคับบัญชาได้ไม่มากก็น้อย การวางตนในการทำงานร่วม กับผู้อยู่ในระดับเดียวกัน ผู้ที่ปฏิบัติงานในระดับเดียวกัน มักมีอิทธิพลต่อกัน และกันในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีบทบาทสูงต่อ มนุษยสัมพันธ์ ในองค์การ เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดกันมากที่สุด และงานหลายงานก็ยังต้อง อาศัยความร่วมมือ และน้ำใจช่วยเหลือกัน ดังนั้น การวางตนในการทำงาน ร่วมกับ ผู้อยู่ในระดับเดียวกันนั้น จึงต้องวางตนโดยเป็นผู้ให้ให้มากที่สุด และปฏิบัติดีต่อกันให้ มากที่สุด ซึ่งได้กล่าวไว้ บ้างแล้ว ในหัวข้ออื่นๆ สำหรับในที่นี้กล่าวโดยสังเขปได้ดังนี้

  1. มองเพื่อร่วมงานในแง่ดี ให้ความจริงใจ ให้ความช่วยเหลือ
  2. หลีกเลี่ยงการผลักภาระรับผิดชอบของตนไปให้เพื่อนร่วมงาน
  3. เมื่อมีปัญหาต้องพูดคุยกัน ควรพยายามเข้าหาเพื่อนร่วมงานก่อนเพื่อให้เกียรติ ให้ความสำคัญ
  4. หาโอกาสพบปะสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานตามสมควร อย่าปลีกตัวตลอดเวลา
  5. ให้การยกย่องชมเชยตามโอกาสอันควร แต่อย่าให้มากไปจนดูไม่จริงใจ
  6. หลีกเลี่ยงการแสดงอารมณ์เมื่อมีการขัดแย้งเกิดขึ้น และพยายามใช้เหตุใช้ผลในการแก้ปัญหา
  7. หลีกเลี่ยงการทำตนเหนือเพื่อนร่วมงาน หรือใช้วาจาข่มขู่ ก้าวร้าว ดูหมิ่นเหยียดหยาม
  8. หลีกเลี่ยงการขอร้องให้ช่วยเหลือในบางเรื่องที่เล็กน้อย และเราทำได้เอง
  9. หลีกเลี่ยงการนินทาว่าร้าย หรือวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อร่วมงานลับหลัง
  10. ให้อภัย ให้โอกาส เมื่อเพื่อนร่วมงานปฏิบัติผิดพลาด

หลักปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานทั้ง 10 ประการ ที่กล่าวมานี้ เมื่อทุกคนในที่ทำงานต่างร่วมใจปฏิบัติด้วยกัน ไม่เกี่ยงงอนกันว่าให้เขาทำก่อน และเราจะทำตาม ก็น่าจะ เชื่อได้ว่า ช่วยสร้างสัมพันธภาพอันดีให้เกิดแก่หน่วยงานได้

การวางตนในการทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา

โดยการคำนึงอยู่เสมอว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาคือ ฝ่ายปฏิบัติงาน ในหน่วยงาน เปรียบเสมือนมือ และเท้าของผู้บริหาร ถ้าผู้ปฏิบัติขาดความสุขในการทำงาน ก็มักส่งผลเสียต่องาน และมีผลกระทบ ทางลบมาถึงผู้บังคับบัญชาได้ในที่สุด นอกจากนั้น ผลงานของลูกน้องทุกคนทั้งหมดเมื่อรวม กันแล้วก็คือผลงาน ของผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาจึงควร ต้องให้ความสำคัญ กับผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้ผลงานดี และมีบรรยากาศ ของความสัมพันธ์ อันดีต่อกันด้วย เรื่องบทบาทของผู้บังคับบัญชานี้ ได้กล่าวไว้บ้างแล้วในบทบาทที่ว่า ด้วยผู้บริหารงาน ดังนั้นในที่นี้จึงกล่าวเพิ่มเติมบางส่วนโดยสังเขป ดังนี้

  1. เปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเจริญก้าวหน้าในอาชีพ โดยอาจส่งไปอบรม สัมมนา ค้นคว้าวิจัย
  2. สนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคนได้ทำงานที่เหมาะสมแก่ตนทั้งด้านความสามารถ และบุคลิกภาพ เพื่อให้ทำงานได้ด้วยดี และมีความสุขในงาน
  3. สื่อสารกับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างชัดเจน เมื่อต้องการให้ทำงานใด หรือปฏิบัติอย่างไร และหลีกเลี่ยงการสื่อสาร ทางเดียวให้มากที่สุด
  4. รักษาผลประโยชน์ของผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก และเป็นสุข ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจ ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเสียสละ และทำประโยชน์ให้ หน่วยงานเพิ่มขึ้น
  5. ยกย่องผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปรากฏแก่ผู้อื่นเมื่อเขาทำดี แต่เมื่อมีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นควรเชิญเข้าพบ พูดคุยกันเป็น การส่วนตัว ในบรรยากาศของความจริงใจ
  6. เปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมในงานให้มาก โดยการประชุมปรึกษา เสนอความคิดเห็น และ กระจายงาน ให้ผู้ใต้บังคับบัญชา แบ่งกันรับผิดชอบ
  7. ให้ความยุติธรรมแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความเป็นธรรม หลีกเลี่ยงการสั่งการลงโทษ คาดโทษ โดยใช้อารมณ์แทนเหตุผล
  8. หลีกเลี่ยงการยกตนเองว่าสูงกว่าผู้ใต้บังคับบัญชา เนื่องจากอาจสร้างความรู้สึกต่อต้าน ไม่ยอมรับซึ่งอาจทำให้มีการกลั่นแกล้งกัน ด้วยวิธีการต่างๆ ต่อไปได้
  9. หลีกเลี่ยงการจับผิดผู้ใต้บังคับบัญชา แต่แสดงให้เห็นว่า เขาจะได้รับ การสนับสนุนช่วยเหลือ จากผู้บังคับบัญชา ให้ทำงานได้โดยเต็มที่ เพื่อให้เกิดผลดีต่อหน่วยงาน
  10. หลีกเลี่ยงการแสดงความอยากได้ หรือการเบียดเบียนผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีรายได้น้อยกว่าอยู่แล้ว หากแต่ควรทำตัวเป็นผู้ให้ในโอกาสเล็กๆ น้อยๆ ตามสมควร และโดยเสมอภาค

หลัก 10 ประการของการวางตัวต่อผู้ใต้บังคับบัญชาดังกล่าว ถ้าผู้บังคับบัญชาปฏิบัติตามนี้ จะช่วยสร้างความรักความศรัทธา เกิดการยอมรับ จากผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้มีการ่วมมือกัน ดีขึ้นในการทำงานร่วมกัน

บทสรุป

จิตวิทยาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นการนำความรู้เกี่ยวกับ ธรรมชาติพฤติกรรมของบุคคล มาประยุกต์ใช้ใน การเสริมสร้าง มนุษยสัมพันธ์ ในหน่วย งาน เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้โดยเป็นสุข และได้ผลงานดีนั้น ควรทำความเข้าใจตั้งแต่เรื่ององค์ประกอบของ มนุษยสัมพันธ์ ซึ่งจะต้องมีทั้งการรู้จักตัวเอง การเข้าใจผู้อื่น และการเข้าใจสิ่งแวดล้อม แล้วปรับปรุงพัฒนาตนเองให้เข้ากับผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนที่จะปรับปรุง พัฒนาตนเอง บุคคล ต้องมีความเข้าใจว่า ลักษณะของกลุ่มทำงานที่ดีนั้น ควรเป็นกลุ่มทำงานร่วมกันแบบประชาธิปไตย มีความไว้วางใจ เชื่อในความสามารถ ของกัน และกัน มีการทำงานร่วมกัน อย่างเป็นระบบ มีการร่วมมือที่ดี และ ผู้มารวม กลุ่มทำงาน มีลักษระบุคลิกภาพซึ่งเอื้อต่อการสร้างสัมพันธ์ การเข้าใจเรื่อง ลักษณะของกลุ่มทำงาน ที่ดีดังกล่าว จะเป็นแนวทาง ในการพัฒนาปรับปรุงตนเองของ บุคคลเพื่อ ความสัมพันธ์ ระหว่าง เพื่อนร่วมงาน ซึ่งหลักการ พัฒนาตน เพื่อเสริมสร้าง ความสัมพันธ์ กับเพื่อร่วมงานนั้น บุคคลควรสร้างอัตตมโนทัศน์ที่ตรงตามความเป็น จริง มีความคิด ความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตน ซึ่งจะส่งผลให้มองผู้อื่นในทางที่ดีด้วย เมื่อมองดีในผู้อื่นได้ก็จะส่งผล ให้อยากปฏิบัติต่อผู้อื่น ในทางที่ดีซึ่งท้ายสุดก็จะได้ พฤติกรรมที่สะท้อนกลับมา