ทฤษฎี 6 องศา

ทฤษฎี 6 องศา หรือ Six Degrees of Separation

หากใครเคยเจอเหตุการณ์ที่ว่า "โลกมันกลม" ซักไปคุยมากลับกลายเป็นญาติกันหมด บางทีสิ่งนี้อาจไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เหตุการณ์ที่เราเรียกว่า 'โลกมันกลม' นี่ล่ะครับ ที่มีบางคนสนใจกันจริง ๆ จัง ๆ แถมตั้งชื่อว่า ปรากฏการณ์โลกใบเล็ก (Small World Phenomenon) หรือ ปริศนาโลกใบเล็ก (Small World Problem)

ในปี ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) มีนักเขียนชาวฮังกาเรียนคนหนึ่งชื่อ Frigyes Karinthy ได้จินตนาการไว้ในเรื่องสั้นของเขาว่า...ถ้าสุ่มใครก็ได้ในโลกนี้ขึ้นมา 2 คน จะพบว่าคน 2 คนนี้จะอยู่ห่างกันไม่เกิน 5 ช่วงของการเช็คแฮนด์

ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างนาย A อยู่ในฮังการี กับ นาย ก. อยู่เมืองไทยนั้น จะเป็นไปได้ว่า นาย A รู้จักกับนาย B ชาวอังกฤษซึ่งเคยเดินทางมาฮ่องกง และรู้จักกับนาย C ชาวฮ่องกง ส่วนนาย C นั้นเคยมาเที่ยวเมืองไทย และเคยมาพบกับนาย ข . เพื่อนของนาย ก. อีกที อะไรทำนองนี้ อย่างนี้เรียกว่า ระหว่างนาย A และ นาย ก. มีคนเป็นสะพานคั่นอยู่แค่ 3 ทอด เท่านั้น คือ นาย B, นาย C และนาย ข.

เวลาผ่านไปอีกราว 30 ปี คือ ในราวทศวรรษที่ 1960 ถึงได้มีนักวิชาการเริ่มศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง คือ นักรัฐศาสตร์ของ MIT ชื่อ Ithiel de Sola Pool และนักคณิตศาสตร์ของ IBM ชื่อ Manfred Kochen ซึ่งได้ลองคำนวณปัญหาในทำนองเดียวกันนี้ และพบว่า ระหว่างคน 2 คน ใด ๆ ในโลก จะมีคนอื่นที่รู้จัก 2 คนนี้เชื่อมโยงกันเป็นทอด ๆ โดยเฉลี่ยแค่ 3 คนเท่านั้น! แต่ระยะห่างแค่ 3 นี่มันช่างน้อยจนน่าสงสัยเสียจริง! เรื่องนี้ทำให้ สแตนลีย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) นักจิตวิทยาสังคมของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สงสัยเป็นอย่างยิ่ง Stanley Milgram ด้วยความที่เป็นนักทดลอง มิลแกรมจึงได้คิดวิธีการทดสอบขึ้นเอง โดยเขาได้สุ่มชื่อของคนในรัฐแคนซัสและเนบราสกา ราว 300 คน และขอให้คนกลุ่มนี้ส่งต่อเอกสารไปยัง 'เป้าหมาย' ซึ่งเป็นคนที่อาศัยในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ โดยในการส่งนั้น 'ผู้เริ่มส่ง' จะส่งเอกสารนี้ไปยัง 'คนกลาง' ที่เขารู้จักซึ่งเขาคิดว่าน่าจะส่งเอกสารต่อไป ยังเป้าหมาย (ที่เขาไม่รู้จัก) ได้ใกล้เคียงกว่า มิลแกรมรายงานว่า จำนวนคนกลางในการส่งเอกสารต่อเป็นทอด ๆ จนภารกิจเสร็จสิ้นนั้นมีค่าเฉลี่ยประมาณ 6 เท่านั้น

นี่คือ ที่มาของคำว่า Six Degrees of Separation ซึ่งเสนอแนวคิดว่า คน 2 คน ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ท่านประธานาธิบดีจนถึงเด็กตัวเล็ก ๆ จะมีคนที่รู้จักกันเชื่อมเป็นทอด ๆ ไม่เกิน 6 ช่วง!

ภาพยนตร์เรื่อง Six Degrees of Separation ทฤษฎี 'อยู่ห่างแค่ไหน ก็ไม่ไกลเกิน 6 ช่วง' นี้ ถูกขยายผลโดยการนำไปทำเป็นละครบรอดเวย์ และภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน แถมยังถูกดัดแปลงไปเป็นเกมที่เรียกว่า Six Degrees of Kevin Bacon ที่คุณพาธา อินทรธรรม เจ้าของคอลัมน์ Bite Me! ในนิตยสาร IMAGE ได้กรุณาขยายความให้ฟังว่า

"อย่างที่เขาบอกว่า เควิน เบคอน เป็นศูนย์กลางฮอลลีวู้ด ใช่มั้ยล่ะ เพราะสมมุติว่าจะโยงดาราคนหนึ่งเข้ากับอีกคนหนึ่ง ก็จะต้องผ่านพ่อเควินเสมอ เช่น จะโยง จูเลีย โรเบิร์ตส เข้ากับทอม ครูซ ก็ต้องบอกว่า จูเลียเคยเล่นหนังกับเควินเรื่อง Flatliners แล้วเควินเคยเล่นหนังกับ เควิน (คอสต์เนอร์) เรื่อง JFK เรื่อง JFK ผู้กำกับคือ โอลิเวอร์สโตน ส่วนโอลิเวอร์เคยกำกับทอม ครูซ ใน Born on the Fourth of July เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า ... โยงได้แค่ 4 ทอดเท่านั้น"

ที่น่าสนใจคือ มีคนนำข้อมูลจริง ๆ เกี่ยวกับดาราราว 100,000 คน ที่เกี่ยวข้องกับเควิน เบคอน ทั้งที่มีชีวิตอยู่และชีวิตหาไม่ไปแล้ว พบว่าระยะห่างจากดาราทั้ง 100,000 คน กับพ่อเบคอนนี่ มีค่าเฉลี่ยออกมาแค่ 2.918 เท่านั้น! (น่าสงสัยอีกแล้ว)

เรื่องนี้ถูกทิ้งไว้เป็นปริศนาลึกลับในวงวิชาการมานาน จนถึงยุคเทคโนโลยีสารสนเทศครองโลก นักวิจัยของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียนำโดย ดันแคน วัตต์ส (Duncan Watts) ก็หยิบปริศนาโลกใบเล็กขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง คราวนี้จะทดสอบกันทั่วโลกบนอินเทอร์เน็ต โดยใช้อีเมล์

วิธีการโดยย่อคือ ขอให้ผู้ร่วมการทดลองกว่า 50,000 คน จาก 171 ประเทศทั่วโลก ส่งอีเมล์ไปยังเป้าหมายหนึ่งคน จากตัวเลือกทั้งหมด 18 คน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลก โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะทำการตรวจติดตามการเดินทางของอีเมล์ที่ส่งออกไปทุกฉบับว่า ไปถึงไหนและผ่านไปกี่มือแล้ว

นักวิชาการที่สนใจขุดเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่บอกว่า ปรากฏการณ์นี้สำคัญ เพราะจะช่วยให้เราเข้าใจเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ตั้งแต่....

การทำงานของสมองซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายของเซลล์ประสาทจำนวนมาก การสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตซึ่งมีคนใช้งานมหาศาล
ระบบเศรษฐกิจอันซับซ้อนที่มีผู้คนและองค์กรต่าง ๆ เกี่ยวข้องมากมาย การแพร่ของข่าวลือ และ การแพร่ระบาดของโรคต่างๆ อีกด้วย!

แต่ใช่ว่านักวิชาการจะเห็นด้วยกับแนวคิด Six Degrees of Separation ไปซะทั้งหมด อย่างเช่น จูดี ไคล์นเฟลด์ (Judith Kleinfeld) นักจิตวิทยาแห่ง มหาวิทยาลัยอลาสก้าในแฟร์แบงค์ส (University of Alaska in Fairbanks) ได้ลองไปสืบค้นงานวิจัยของมิลแกรม และพบหลักฐานบางอย่างที่ทำให้ข้องใจ เช่น จากจดหมายราว 300 ฉบับที่ส่งออกไปนั้น มีแค่ 29% ที่ไปถึงมือผู้รับเป้าหมาย และค่าเฉลี่ยที่อ้างว่าเท่ากับ 6 นี้ ก็คิดมาจากจดหมายที่ส่งแล้วถึงที่หมายเท่านั้น ไม่ได้คิดจากจดหมายเริ่มต้นทั้งหมด เป็นต้น

ไคล์นเฟลด์ยังฟาดหางมาที่การทดลองชุดใหม่บนอินเทอร์เน็ตด้วยว่า การใช้อีเมล์นี่พลาดประเด็นสำคัญไป เพราะถ้ามองทั้งโลกจริง ๆ แล้ว แม้จะมีคนใช้คอมพิวเตอร์มาก แต่กลุ่มคนเหล่านี้มีรายได้และการศึกษาในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะคนที่มีรายได้น้อย หรือคนที่ด้อยโอกาสก็จะไม่มีทางได้รับการติดต่อโดยอีเมล์

เธอยังหยิกแถม (แกมหยอก) ด้วยว่า "ดิฉันคิดว่า พวกนักวิทยาศาสตร์นี่อยู่ในโลกแคบของตนเองจริง ๆ"

บัญชา ธนบุญสมบัต นิตยสาร สารคดี และรวมเล่มในหนังสือ Know How & Know Why : กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง

เส้นสายกับทฤษฎีโลกใบเล็ก

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์

เมื่อคนไทยพูดถึงคำว่า "เส้นสาย" พวกเรามักจะนึกไปถึง "แง่ลบ" ของคำๆ นี้กันเป็นส่วนใหญ่ เช่น ลูกชายของคนข้างบ้าน สอบเข้าโรงเรียนดีๆ ได้เพราะมี "เส้นสาย" หรือ "เส้นใหญ่" ลูกสาวของเพื่อนได้งานในบริษัทใหญ่บริษัทนั้นเป็นเพราะคุณพ่อของเธอมี "เส้นสาย" ใหญ่โตหรืออะไรทำนองนั้น แต่ความจริงแล้วผมคิดว่า "Connection" ระหว่างบุคคลไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร ยกเว้นว่าเราจะนำไปเพื่อใช้ในการ "เอาเปรียบ" ผู้อื่น โดยเฉพาะในความหมายของคำว่า "เส้นสาย" ด้วยมุมมองแบบวิทยาศาสตร์ใหม่นั้น ทุกๆ คน "มีเส้นสาย" กันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่ายากดีมีจนข้นแค้นประการใด ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ มนุษย์ทุกคน "มีเส้นสาย" ถึงกันและกันได้หมด แต่ "เส้นสาย" ในที่นี้ ผมอยากจะหมายถึงอีกความหมายหนึ่งของ Connection ที่หมายถึง "ความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกันและกัน"

ในการประชุมจิตวิวัฒน์ทุกเดือนที่เริ่มกันมาตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๔๖ เป็นต้นมานั้น พวกเราจึงมีโอกาสได้พูดคุยกันถึงประเด็น "มิติแห่งความเชื่อมโยง" ระหว่างกันค่อนข้างมากในทุกๆ ด้าน ในการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อปีก่อน คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้พูดถึงเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจว่า มีงานวิจัยที่บอกว่า "พวกเราทุกคนในโลกใบนี้สามารถติดต่อถึงใครก็ได้ด้วยการติดต่อผ่านคนไม่เกิน ๖ ครั้งโดยเฉลี่ย" เช่น ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดต้องการ จะติดต่อกับ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ท่านก็จะสามารถติดต่อได้ด้วยการกดโทรศัพท์, ใช้จดหมายหรือ พูดคุยโดยตรงผ่านคนไม่เกิน ๖ คนโดยเฉลี่ยเท่านั้น ท่านก็จะสามารถติดต่อกับประธานาธิบดีสหรัฐได้ (แต่เขาจะคุยกับท่านด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ) หรือแม้แต่ท่านผู้อ่านท่านใด ต้องการจะติดต่อ กับใครคนหนึ่งที่เป็นคนพื้นเมืองในทวีปแอฟริกา ก็จะสามารถติดต่อกับคนผู้นั้นได้โดยผ่านคนไม่เกิน ๖ คนเช่นกัน

ประเด็นที่คุณหมอโกมาตรพูดถึงนี้มีนัยสำคัญ ที่ผมอยากจะนำมาเขียนถึงในบทความชิ้นนี้ ก็คือ "โลกใบนี้เต็มไปด้วยเส้นสาย" หรือในอีกนัยหนึ่ง "โลกใบนี้เล็กเกินกว่าที่เราคาดคิด" มีผู้วิจัยและตั้งเป็น "ทฤษฎีโลกใบเล็ก - Small Worlds" ซึ่งเป็นหนึ่งในทฤษฎีเครือข่ายที่เริ่มจากช่วงปี ๑๙๒๙ Frigyes Karinthy นักเขียนเรื่องสั้นชาวฮังการีที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งได้เขียนเรื่อง Lancszemek หรือในภาษาอังกฤษแปลว่า "Chains" Karinthy บอกว่า เขากล้าพนันกับใครก็ตามในโลกใบนี้ว่า เขาสามารถหาคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในโลกใบนี้ซึ่งมีประชากร ๕๐๐ ล้านคนในตอนนั้นได้ โดยผ่านการติดต่อ ระหว่าง คนไม่เกิน ๕ คน ในตอนนั้นไม่มีใครสนใจความคิดของ Karinthy เพราะคิดว่าก็เป็นเพียงแค่การเขียนเรื่องสั้น หรือไม่ก็คิดไปว่า เขาก็เพียงแค่เพ้อฝันไป ตามจินตนาการของนักเขียนเท่านั้นเอง

อีกสามสิบกว่าปีต่อมา ในช่วงปี ๑๙๖๗ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกาชื่อ สแตนเลย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) ได้ศึกษาเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ ด้วยการทดลองส่งจดหมาย ๑๖๐ ฉบับแบบสุ่มที่อยู่ไปยังคนอเมริกันในรัฐเนบราสก้าและแคนซัส และขอให้คนเหล่านั้น ช่วยจัดส่งจดหมายไปยังเพื่อนของเขาคนหนึ่งซึ่งเป็นโบรกเกอร์อยู่ในบอสตันโดยที่ไม่บอกที่อยู่ โดยขอให้ส่งเป็นทอดๆ ไปยังเฉพาะคนที่รู้จักเท่านั้น ผลปรากฏว่าจดหมายส่วนใหญ่สามารถเดินทางไปถึงเพื่อนของเขาที่อยู่ในบอสตันได้ แถมยังพบปรากฏการณ์ประหลาดก็คือ จดหมายที่ส่งไปถึงนั้น ถึงเร็วกว่าที่คาดไว้มาก โดยที่โดยเฉลี่ยแล้วจดหมายนั้นส่งไปโดยผ่านคนเพียงไม่เกิน ๕.๕-๖ คนเท่านั้น

ต่อมามีผู้เรียกความสัมพันธ์แบบนี้ว่า Six degree of separation" จากปรากฏการณ์นี้ ในปี ๑๙๙๘ นี้เองนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันสองคนคือ ดันแคน วัตต์ และ สตีฟ สโตรกาทซ์ สามารถนำการเชื่อมโยงตรงนี้มาเขียนเป็นกราฟทางคณิตศาสตร์และสามารถ อธิบายเป็นภาษา หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ได้ โดยบังเอิญ และเรียกว่าเป็น "ทฤษฎีโลกใบเล็ก" (Small Worlds) ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตบทความ หรือแม้แต่สิ่งที่ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี และท่าน อ.หมอประสาน ต่างใจ ได้เขียนหรือพูดเสมอมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ เรื่องที่ท่านทั้งสองพูดถึงเขียนถึงเสมอมาก็คือ "มิติของความเชื่อมโยง" ซึ่งถ้ามองไม่เห็น "มิติ" นี้ เราก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาและสับสนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกอย่างเป็นเสมือนยิ่งกว่า "ร่างแห" ที่โยงใยเกี่ยวพันกัน แบบแยกไม่ออก แก้จุดหนึ่งก็ไปปูดที่จุดหนึ่ง อีนุงตุงนังไปหมดแบบนั้นเป็นต้น โลกใบนี้เป็นโลกของความสัมพันธ์ที่ยุบยับเต็มไปหมด
ด้วยเหตุผลที่ว่า กรอบคิดแบบกลศาสตร์ที่มีความเป็นกลไกอย่างนิวตันนั้นได้ฝังลึกอยู่ในสังคมมนุษย์โดยเฉพาะสังคมตะวันตก มายาวนานกว่าสามถึงสี่ร้อยปี จึงทำให้พวกเราที่อยู่ในสังคมมองมิติของความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันดังกล่าวนี้ไม่ค่อยออกหรือไม่เข้าใจ ด้วยทฤษฎีโลกใบเล็กนี้ ได้พิสูจน์ให้เราเห็นได้ว่า เรื่องราวทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับมนุษย์คนใดคนหนึ่งในโลกใบนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ "ไกลตัว" อีกต่อไป เราทุกคนในโลกใบนี้อยู่ "ใกล้กัน" มากกว่าที่เราคิด ความยากลำบากและความทุกข์ยากของคนใดคนหนึ่งในโลกใบนี้ส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ อย่างรวดเร็วและใกล้ชิดมากกว่าที่เราจะนึกถึง เพราะทฤษฎีนี้พิสูจน์ในทางคณิตศาสตร์ให้เห็นได้ว่า เราทุกๆ คนในโลกใบนี้ห่างกันไม่เกิน ๖ ครั้งเท่านั้นของการติดต่อกับคนที่เรารู้จัก
หากพวกเราคิดว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในโลกใบนี้อยู่ห่างไกลจากประเทศไทยและอยู่ห่างไกลจากตัวเราแล้ว พวกเราอาจจะกำลังคิดผิดก็ได้ เช่น หลายคนอาจจะคิดว่าปัญหาสหรัฐฯ รุกรานอิรักไม่เกี่ยวกับเรา

ปัญหาปาเลสไตน์กับอิสราเอลไม่เกี่ยวกับเรา ปัญหาคนอดอาหารตายในเอธิโอเปียไม่เกี่ยวข้องกับเรา หรือแม้แต่ปัญหาที่ภาคใต้ก็ไม่เกี่ยวกับ เราที่อยู่ที่กรุงเทพฯ หรือภาคอื่นๆ ด้วยแนวคิดของวิทยาศาสตร์ใหม่โดยเฉพาะควอนตัมฟิสิกส์นั้นบอกชัดเจนเหลือเกินว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวพันเกี่ยวข้องกัน อย่างแยกไม่ออกและด้วยทฤษฎีโลกใบเล็กซึ่งถือว่าเป็นทฤษฎีหนึ่งที่มีฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์ใหม่ ก็ยิ่งจะย้ำเตือนให้เห็นถึง "ความใกล้ตัว" ของปัญหาต่างๆ เหล่านั้นที่พวกเราจะมองแบบ "แยกส่วน" ธุระไม่ใช่ไม่ได้ หรือแม้แต่กับผู้ที่ "ธุระใช่" ก็น่าที่จะต้องใช้แนวทางการแก้ปัญหาด้วย การมองเห็น "เส้นสาย" ต่างๆ เหล่านี้ด้วย

บางทีสิ่งที่เราเห็นว่า "จริง" อาจจะ "ไม่จริง" ก็ได้ เช่น การที่เรามองเห็นดาวดวงหนึ่งอยู่บนท้องฟ้า ไม่ได้หมายความว่า ดาวดวงนั้นยังมีอยู่จริง ดาวดวงนั้นอาจจะสูญสลายไปนานแล้วก็ได้ เพราะแสงจากดาวดวงนั้นกว่าจะเดินทางมาถึงตาของเรา ก็อาจจะใช้เวลาหลายพันปี หรือในทางตรงกันข้าม

บางทีสิ่งที่เรามอง "ไม่เห็นว่าจริง" อาจจะ "มีอยู่จริง" ก็ได้ เช่นโยงใยของความสัมพันธ์ที่ซ่อนเร้นหรือ "เส้นสาย" ดังที่กล่าวถึงในข้างต้นนี้
ด้วยตัวอย่างของเรื่องนี้ พวกเราจะเห็นได้ว่าความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในวิทยาศาสตร์ใหม่จึงมีความสำคัญมากต่อแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ เพราะเราไม่เข้าใจไปเชื่อสิ่งที่ไม่มีหรือไม่เชื่อสิ่งที่มีอยู่จริง ก็ล้วนแล้วแต่จะทำให้เราแก้ไขปัญหาผิดพลาดไปอย่างน่าเสียดาย

ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

พูดถึงกันบ่อยครั้งกับทฤษฏี" 6 องศา" หรือ 6 degrees of separation ที่เชื่อว่าทุกคนมีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวพันกับคนอื่นๆ ในโลก โดยผ่านทางคนรู้จักไม่เกิน 6 คน
ล่าสุดกับ www.i-greenspace.com ของไฮเนเก้น ที่เปิดสังคมออนไลน์สำหรับคอดนตรี ในโลกฟิจิตอล (PHYGITAL) โดยชูจุดเด่นของ ทฤษฏี 6 องศา นี้กับเค้าด้วย

6 degrees of separation ถูกแปลเป็นความหมายภาษาไทยหลากรูปแบบ ทั้งทฤษฎีโลกใบเล็ก (Small World Phenomenon) ทฤษฎีหกช่วงคน รวมถึงทฤษฏี 6 องศา ที่ช่วยยืนยันว่า โลกนี้มันช่างกลมเสียเหลือเกิน

ทฤษฎีหกช่วงคน หรือ Six Degrees of Separation มีจุดกำเนิดจากนักเขียนชาวฮังการี่ นาม Frigyes Karinthy ซึ่งได้จินตนาการล้ำลึกไปว่า หากสุ่มคนบนโลกใบนี้อย่างมั่วๆ ขึ้นมา สองคน จะพบว่าคนทั้งสองสามารถจะรู้จักกันได้ผ่านการเช็คแฮนด์ไม่เกินห้าช่วงคน

38 ปีต่อมา นักสังคมจิตวิทยาคนหนึ่งได้นำแนวคิดนี้มาศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้แนวคิดนี้ไม่ได้เป็นเพียงจิตนาการเพ้อเจ้อลอยลมของนักเขียนอีกต่อไป

สแตนลีย์ มิลแกรม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ทำการทดลอง โดยการสุ่มคนจากรัฐแคนซัสและเนบราสก้า ราว 300 คน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ส่งเอกสารไป ถึงเป้าหมาย ที่เป็นคนเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ โดยชาวเมืองแคนซัสและเนสบราสก้า ผู้ได้รับโจทย์ดังกล่าวจะใช้วิธีส่งต่อเอกสารไปยัง ผู้ที่ตนคาดว่าจะรู้จักกับเป้าหมายต่อกันไปเป็นทอดๆ โดยมีขั้นตอนดังนี้

ผู้ที่ได้รับเอกสาร (จดหมาย) จะต้องเขียนชื่อของตัวเองลงไปที่มุมด้านล่างของจดหมาย (เพื่อจะได้ทราบว่าจดหมายผ่านมือใครบ้าง)

ผู้ที่ได้รั บเอกสาร (จดหมาย) จะต้องนำโปสการ์ดที่บรรจุอยู่ในซอง ส่งกลับถึง มิลแกรม เพื่อที่เขาจะได้ทราบว่าตอนนี้เอกสารฉบับนั้นอยู่ในเส้นทาง และกระบวนการขั้นไหนแล้ว

หากผู้ที่ได้รับเอกสาร (จดหมาย) รู้จักกับ 'เป้าหมาย' ที่กำหนดไว้ ให้ทำการส่งเอกสารนั้นถึงมือ 'เป้าหมาย' ทันที

หากผู้ที่ได้รับเอกสาร (จดหมาย) ไม่รู้จักกับเป้าหมายเป็นการส่วนตัว ให้ส่งต่อเอกสารนั้นถึงคนที่ตนรู้จักที่คาดว่าจะรู้จักกับ 'เป้าหมาย' มากที่สุด

หลังจากทำการทดลองหลายครั้ง โดยเปลี่ยนเมืองต้นทางและปลายทางไปหลายๆ ที่ มิลแกรม ได้สรุปผลและรายงานว่า จำนวนคนกลางในการส่งเอกสารต่อเป็นทอด ๆ จนภารกิจเสร็จสิ้นนั้นมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5.5 หรือ ประมาณ 6 ซึ่งทำให้เกิดเป็นทฤษฎีหกช่วงคน หรือ Six Degrees of Separation นั่นเอง


แม้ทฤษฎี Six Degrees of Separation จะยังไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากลแต่ก็มีผู้สนใจและเชื่อถือแนวคิดนี้เป็นจำนวนมาก ไม่นานนักแนวคิดนี้ ก็ถูกนำมาสร้างเป็นละครบรอดเวย์ และภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน ส่งผลให้ทฤษฎี Six Degrees of Separation เป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้แล้ว Six Degrees of Separation นี้ยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นเกมที่เรียกว่า Six Degrees of Kevin Bacon ด้วยแนวคิดที่ว่า ทุกคนต่างเชื่อว่า เควิน เบคอน เป็นศูนย์กลางของฮอลลีวู้ด ดังนั้น ถ้าจะโยงใครซักสองคนในวงการให้เกี่ยวข้องกัน ก็มักจะต้องมีเควิน เบคอนเป็นตัวกลางเสมอ ไม่เชื่อก็ลองดู

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปทฤษฎี Six Degrees of Separation ถูกนำมาทดลองเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งโดยใช้อีเมลเป็นตัวกลางในการทดสอบโดยดันแคน วัตต์ส (Duncan Watts) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ตลอดจนมีการศึกษา Degrees of Separation ระหว่าง website ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคต จะมีคนพิสูจน์ทฤษฏีนี้เพิ่มมากขึ้นแน่นอน

แล้วคุณล่ะ อยากรู้มั้ยว่าคนที่คุณแอบมีใจให้น่ะ ที่จริงแล้วอยู่ใกล้กันมากแค่ไหน