การชนะใจตนเอง

ความหมายและความสำคัญการชนะใจตนเอง

การชนะใจตนเอง หมายถึง การเอาชนะจิตใจฝ่ายต่ำ หรือ กิเลสตัณหา ในตัวของเราเองและ การเอาชนะ จิตใจที่ชั่ว หรือ ผิดศีลธรรม ด้วย คุณงามความดี จรรยาบรรณ หรือ จริยธรรม ที่มีคำสอนอยู่ในศาสนาทั้งหลาย คนที่สามารถเอาชนะใจตนเองได้ ต้องฝึกหัดแก้ไขนิสัย ที่ไม่ดีของตน ให้เกิดนิสัยดีขึ้นมาทดแทน นั่นคือคนที่ ชนะใจตนเอง ต้องสามารถ รักษาศีล หรือ มีธรรมะอยู่ในใจ เป็นปกติ

ความสำคัญของ การชนะใจตนเอง

1. ทำให้วิถีชีวิต ของตนเอง เปลี่ยนแปลง
2. ทำให้ตนสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
3. ทำให้สามารถดำรงคุณงามความดีของตนไว้ แม้ว่า สังคม หรือ เพื่อนร่วมงานของเราเป็น คนทุจริต หรือมีพฤติกรรมชั่วร้าย เราก็ไม่ตกเป็นผู้คล้อยตามกระแสสังคมไปได้
4. ทำให้เราสามารถ สร้างฐานะหลักฐานให้เป็น ที่พึ่งของตนเอง และ ครอบครัวตน ถึง สังคมส่วนรวม อันหมายถึง ประเทศชาติ ของเราด้วย คนเราที่ทำชั่ว หรือทำผิดด้วย ประการใด ๆ ก็ดี เป็นเพราะเขาไม่อาจเอาชนะใจตนเอง ได้

คุณค่าของการชนะใจตนเอง

คนเราจะชนะใจตนเองในด้านใดก็ตาม จะได้ผลดีในด้านนั้น คนที่เอา ชนะใจตนเอง ในด้าน ความเกียจคร้าน จนกลายเป็น คนที่ขยันหมั่นเพียร ย่อมทำให้เขามี ผลงานที่เกิดจาก แรงกาย แรงสติปัญญาทำให้เขาได้รับ ความก้าวหน้า หรือสร้างฐานะการงาน ให้เจริญรุ่งเรือง และมีฐานะมั่นคงได้ คนที่เอา ชนะใจตนเอง ในการ ถือศีลห้าให้บริสุทธิ์ จนไม่มีที่ตำหนิแล้ว ทางศาสนาพุทธระบุว่า คน ๆ นั้นย่อมเป็นพระอริยะบุคคลขั้นโสดาบัน คนที่เอาชนะใจตนเองด้วย การมีจิตเมตตา แผ่เมตตา ไปให้ทั้งมิตรและศัตรู โดยไม่ประมาท ผลก็คือเขาจะเป็นคนมีเสน่ห์ มีผู้ที่รัก และต้องการ คบหาสมาคมด้วย คนที่ชนะใจตนเอง โดยหมั่นกระทำแต่ คุณงามความดี มีความเสียสละให้แก่ประเทศ ชาติบ้านเมือง เขาย่อมได้รับเกียรติยกย่องจากคนในสังคม จัดว่าเป็นคนที่มี คุณค่าต่อประเทศชาติ คนที่มีแรงใจสูงเสียสละ เพื่อการกอบกู้เอกราชของประเทศชาติ อาทิ สมเด็จ พระนเรศวรหรือ สมเด็จ พระเจ้าตากสิน ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากประชาชนว่า เป็นพระมหาราช ผู้ที่จะสามารถเอาชนะใจตนเอง ในทุก ๆ ด้าน ทางคริสต์ศาสนาเรียกว่า เป็นนักบุญ เป็นผู้ที่สืบสานต่อพระศาสนาให้ยืนยาวไปถึงคนรุ่น ต่อ ๆ ไป คุณงามความดี นั้นเป็นที่ ตราตรึงใจต่อ ศาสนิกชนในศาสนานั้น ๆ คนเราที่เกิดมาในโลกนี้ ก็เพื่อบำเพ็ญคุณงามความดี และเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม ชีวิตของคนเราเป็น ชีวิตแห่งการต่อสู้ เราจะต้องต่อสู้ไปจนตลอดชีวิต สิ่งที่สำคัญที่ควรจะ ต่อสู้เพื่อเอาชนะให้ได้ก็คือ ความทุกข์ ไม่มีใครเลยในโลกนี้ ที่เกิดมาแล้วมี ความสุขไปจนตลอดชีวิต วิถีชีวิตของคนเราจะต้องผจญกับ ปัญหาอุปสรรคมากมายหลายชนิด และเมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว คนเรามีความทุกข์ทั้ง ทางกายและทางใจ ทางกายนั้นก็ย่อมมีการเจ็บป่วย หรือ อุบัติเหตุบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา ทางใจก็คือ ความทุกข์ ที่เกิดจากความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในการพลัดพรากจาก คนที่เรารัก หรือ สิ่งที่เรารัก หรือไม่ก็เกิดจาก สิ่งที่เรารัก หรือ คนที่เรารักต้องพลัดพรากจากเราไป คนที่อยู่ในสังคมเมือง มักจะเต็มไปด้วย ความรีบร้อน และความเครียด ถ้าไม่รู้จักแก้ไข หรือ บรรเทาความทุกข์ร้อน เช่น ความวิตกกังวล ความมีโทสะ ความโลภ ความวุ่นวายใจ ฯลฯ ชีวิตของคนเหล่านั้นย่อมหาเวลาที่สุขสงบได้ยาก จริง ๆ คนที่จะแก้ไขปัญหาชีวิตนั้น ลำพังเราไม่อาจแก้ไขสิ่งแวดล้อมได้ แต่มีอีกทางหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องแก้ไขสิ่งแวดล้อมได้ แต่เป็นการแก้ไขตนเอง ให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง มี จิตตานุภาพ ที่เอาชนะอุปสรรคทุกชนิด ที่ผ่านเข้ามาใน วิถีชีวิตของเรา เราเรียกคนที่ชนะอุปสรรค หรือทุกข์ใจว่า ผู้ที่ชนะใจตนเอง ดังที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าการเอาชนะใจตนเองเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็ก และมีความสำคัญไม่ว่าเราจะอยู่ในสังคมใด ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมือง หรือสังคมชนบท เพราะความทุกข์ ย่อมติดตามคนเราไปเสมอ เพราะมันติดไปกับใจของคนเรา การหนีทุกข์ด้วยวิธีใด ๆ ก็ไม่มีคุณค่าเท่ากับ สามารถเอาชนะใจตนเอง การเอาชนะใจตนเองจึงมีความสำคัญ ที่เราควรสร้างขึ้นมา ให้จงได้ การที่เราจะชนะใจตนเองนั้น ขอให้เราจัดการกับตัวเรา กับสังคมที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดก็คือ สถาบันครอบครัว ให้มีความปกติสุข ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกัน ให้มีการเอื้อเฟื้อและรู้จักหน้าที่ที่มีและกระทำไปตามหน้าที่ให้ดีที่สุด เช่น หน้าที่ของพ่อแม่ มีอย่างใดก็ให้ทำ หน้าที่นั้นอย่างดีที่สุด หรือถ้าเราเป็น บุตรหลาน เราก็ทำหน้าที่ของบุตรหลานให้ดีที่สุดเช่นกัน ซึ่งเป็นการแก้ไขตนเองอย่างง่าย ๆ ถ้าเราทำได้ ดังนี้ก็เรียกได้ว่า เป็นการเอา ชนะใจตนเอง ในระดับหนึ่งแล้ว ต่อไปเมื่อเราไปสู่ สังคมแวดล้อม ที่กว้างขึ้น เช่น ในสถานศึกษา หรือที่ทำงาน ก็ให้เราปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่าให้บกพร่อง ให้เต็มใจปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด กล่าวคือ เมื่อเราเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาก็พยายามศึกษาเล่าเรียนให้ดีที่สุด ถ้าจะร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการศึกษาแล้ว ก็อย่าให้ การเรียนเสีย เราต้องเรียนให้ดี และเล่นให้ดี ส่วนเมื่อเราต้อง เข้าไปทำงานในหน่วยงานใดก็ให้เราทำหน้าที่ที่เราพึงทำให้ดี ให้เรียบร้อย รอบคอบ ส่วนผลจะมีประการใด ไม่ต้องคำนึงถึง คิดเสียว่า เรากำลังกระทำความดี ถ้าทำได้เพียงนี้ก็อาจเรียกได้ว่าเรา เอาชนะใจตนเอง ในเบื้องต้นได้แล้วอานิสงส์แห่งการเอาชนะใจตนเอง ก็คือเราย่อมเป็นคนที่มีคุณค่าในสังคม พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นผู้ที่เอา ชนะจิตใจตนเอง ได้อย่างเด็ดขาด ในคืนวันแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ได้ทรงต่อสู้กับพญามาร มีฤทธิ์และบริวาร มากมาย แต่ก็ทรงเอาชัยชนะได้โดยลำพัง พระองค์เดียว ทรงชนะกิเลสตัณหาจนหลุดพ้นจากความเป็นปุถุชน กลายเป็น พระอรหันต์ พระองค์แรก และ ทรงสั่งสอนศิลปะ ในการต่อสู้ กับกิเลสตัณหาให้แก่พระสาวก จนเกิดเป็น พระอริยสงฆ์สืบต่อ พระพุทธศาสนา มาจนถึงปัจจุบัน ในการต่อสู้กับ กิเลสตัณหา หรือ การต่อสู้เพื่อเอาชนะใจตนเองนั้น พระบรมศาสดาทรงวางแนวไว้คือ มรรคมีองค์ 8 ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ ความคิดชอบ ความเพียรชอบ อาชีพชอบ การทำชอบการพูดชอบ สติชอบ และสมาธิชอบ เมื่อจะกล่าวโดยย่อ ๆ ก็คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

แนวทางในการชนะใจตนเอง

1 การฝืนใจ

ในการเอาชนะใจตนเอง จะไม่มีวิธีใดดีไปกว่าการฝืนใจ การหมั่นฝึกหัดในการฝืนใจตนเองนั้น ยังมีแยก ออกไปอีก คือ การฝืนใจแบบครั้งเดียว เลิกนิสัยไม่ดีไปเลย หรือการฝืนใจโดยวิธีแก้ทีละน้อยจนแก้ได้หมดเลย สำหรับคนที่มีกำลังใจเข้มแข็ง อาจฝืนใจแก้ได้สำเร็จเด็ดขาดไปในครั้งเดียวแล้วเลิกไม่ประพฤติสิ่งที่ไม่ดี จนไม่กลับมาทำอีก ในภายหลัง แต่สำหรับคน ที่ยังมีใจอ่อนแอและไม่ค่อยต่อสู้กับการดำเนินชีวิต ควรที่จะต้องแก้ไขแบบค่อยเป็นค่อยไป อาทิ การงดสูบบุหรี่ หรืองดเสพสุรา หรือยาเสพติดใด ๆ ก็ตาม เราต้องฝืนใจเป็นอย่างมาก มีทั้งผู้ที่ทำสำเร็จ และทำไม่สำเร็จ สิ่งเหล่านี้ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นโทษยิ่งกว่าให้คุณ แต่ก็หาคนฝืนใจเลิกได้น้อยมาก บางคนอาจใช้เวลาถึงครึ่งชีวิตกว่าจะเลิกสิ่งเสพติด และบางคนก็อาจพ่ายแพ้ มาตลอดจนกระทั่งตายไป เพราะพิษร้ายของบุหรี่ สุรา อบายมุขอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น คบเพื่อนชั่ว การเล่นการพนัน การเที่ยวกลางคืน การดูการละเล่น และความเกียจคร้าน เหล่านี้เป็นนิสัยที่ทำให้คุณธรรม ในการดำรงชีวิต เสื่อมเสียไป การจะเอาชนะใจตนเองจนเลิกสิ่งเหล่านี้โดยเด็ดขาดย่อมเป็นการฝืนใจอย่างแรงมาก แต่ถ้าเราไม่ฝืนใจแก้
เสียแต่เนิ่น ๆ ยังประพฤติอยู่กับทางแห่งความชั่วนี้แล้ว ชีวิตของเรานับวันแต่จะตกต่ำ และต้องเป็นทาสมันไปตลอดชีวิต
ความเกียจคร้านเป็น อบายมุขอย่างหนึ่งที่เราควรจะแก้ไข และการแก้นั้นก็ต้องใช้ความฝืนใจอย่างมาก
ในระยะแรก ๆ แต่ถ้าแก้ไขได้แล้ว จะทำให้เราเป็นคนที่มีความก้าวหน้าในอาชีพการงานเป็นอย่างยิ่งลำพัง
การแก้ไข โดย การฝืนใจแล้วต้องใช้กุศโลบายอื่น ๆ อีก เช่น เห็นโทษของมัน โทษของความเกียจคร้าน เท่าที่แลเห็นง่าย ๆ มีดังนี้

1. ทำให้เวลาล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์
2. ทำให้การงานคั่งค้าง
3. เป็นคนรกโลก
4. เป็นคนที่ไม่มีใครเชื่อถือ
5 ได้รับความเดือดร้อน
6. ไม่ได้รับความเจริญก้าวหน้า
7. โทษอื่น ๆ อีก เช่น ทำให้สุขภาพเสีย ทำให้อ่อนแอ ทำให้ทรัพย์หมดไป ฯลฯ

มีพุทธสุภาษิตบทหนึ่ง สำหรับการเตือนให้รำลึกอยู่เสมอ คือ หมั่นคิดเนือง ๆ ว่า "วันคืน ล่วงไป ๆ เราทำอะไรอยู่" และอีกบทหนึ่งว่า "ใครจะประมาทก็ช่างเขา เราอย่าประมาท ใครจะหลับใหลก็ช่างเขา เราอย่าหลับใหล เราตื่นตัวอยู่เสมอ ผู้ที่ฉลาดในเรื่องนี้ ย่อมวิ่งขึ้นหน้าผู้อื่น เสมือนม้าฝีเท้าดีย่อมทิ้งม้าฝีเท้าเลวไว้เบื้องหลัง"

วิธีแก้อุปนิสัยเกียจคร้าน อ่อนแอ ท้อถอย ผัดวันประกันพรุ่ง มีดังนี้

1. อย่าคบกับคนที่มีอุปนิสัยไม่ดีดังกล่าว เลือกคบกับคนที่มีความมานะ พยายาม บากบั่นในการทำงาน ดูการทำงาน และการดำเนินชีวิตของเขา เลือกเอาแต่นิสัยดีที่มีอยู่ในตัวเขา นำมาประพฤติปฏิบัติ
2. เลือกอ่านหนังสือชีวประวัติบุคคลสำคัญ จะเห็นว่าไม่มีคนสำคัญคนใดในประวัติศาสตร์ที่มีนิสัยเกียจคร้าน อ่อนแอ ท้อถอย หรือผัดวันประกันพรุ่ง
3. เลือกอ่านหนังสือประเภทปลุกใจ ให้เกิดความมานะพยายามและคิดสร้างอนาคต เราควรมีหนังสือ ประเภทนี้อยู่บนโต๊ะทำงาน เมื่อใดที่เกิดความเกียจคร้าน ท้อถอย อ่อนแอ ก็ให้หยิบมาอ่านทันที
4. เห็นโทษของความเกียจคร้าน เห็นโทษของความอ่อนแอ ท้อถอย และการผัดวันประกันพรุ่ง
5. ครั้งแรกก็ยังมีอุปนิสัยเหล่านี้อยู่ จงพยายามฝืนใจแก้นิสัยเหล่านี้ โดยลองเขียนถึง การงานที่จะทำในวันต่อไป ไว้ในเศษกระดาษแผ่นหนึ่งก่อนนอน แล้วเมื่อตื่นขึ้นก็ฝืนใจ ทำตามที่เขียนไว้
6. จัดตารางเวลาประจำวันในการทำหน้าที่และลองแก้ไขดูให้เหมาะสม ว่าในแต่ละชั่วโมงเราจะทำอะไรเป็นกิจวัตรบ้าง แต่อย่าหักโหมในระยะแรก ต้องให้มีเวลาพักผ่อนหย่อนใจบ้าง
7. พยายามจดจำคติ สุภาษิต ไว้เตือนตนเอง เช่น

พินิจนาฬิกา
บอกเวลาแสนซื่อตรง
เครื่องจักรพึงพิศวง
ทำหน้าที่ดีเหลือหลาย
เครื่องจักรในมนุษย์
ประเสริฐสุดทั้งใจกาย
เหตุใดไม่อับอาย
มัวเกียจคร้านงานไม่ทำ
ฐะปะนีย์ นาครทรรพ
8. ถ้าสุดวิสัยที่แก้แล้วให้หาสาเหตุว่ามีอะไรที่เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่อยากทำงาน ถ้าเกิดจากโรคบางอย่างก็ควรให้ แพทย์ตรวจ รักษาเสีย โรคบางอย่างทำให้ไม่อยากทำงาน เช่น โรคไขข้อรูมาติสม์ โรคประสาท บางประเภท ฯลฯ
9. ลองศึกษาคำสอนของศาสนาที่นับถืออยู่แล้วเลือกปฏิบัติดู พุทธศาสนาสอนให้แก้ไขตนเองหลาย ประการ เมื่อรสพระธรรมเข้าถึง จิตนิสัยที่ไม่ดีทั้งหลายก็จะค่อย ๆ ลดลง มิใช่แต่จะกำจัดนิสัยเกียจคร้านได้เพียงอย่างเดียว เท่าที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด สรุปได้ว่า การเอาชนะใจตนเองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝืนใจตนเองให้พ้นจากความเกียจคร้าน อ่อนแอ ท้อถอย ผัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งเป็นแนวทางอันดับแรกที่สำคัญสำหรับ การเอาชนะใจตนเองได

2 การหักใจ

การหักใจก็ดี การแข็งใจก็ดี การตัดใจก็ดี ล้วนแต่เป็นวิธีการเอาชนะใจตนเอง คนที่มีความเข้มแข็งแรงกล้าเท่านั้น จึงจะทำได้สำเร็จ สำหรับคนอ่อนแอ โลเล เหลวไหล หรือ เหลาะแหละ ไม่รู้จักอดทน อดกลั้น ในสิ่งที่มากระทบ เข้ากับตนแล้วเอา แต่เสียใจ โศกเศร้า หรือซึมเศร้า ฯลฯ ย่อมเป็นคนที่พ่ายแพ้ต่อวิถีการดำเนินชีวิต และไม่อาจเอาชนะจิตใจตนเองได้
คนหนุ่มคนสาวหลายคน ที่มีความรักและทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่คนที่ตนรัก บางคนต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อคนรักของตนไป รักกับคนอื่น หรือคนรักพลัดพรากจากไป ก็ปล่อยชีวิตไปในทางเสเพล หรือกลายเป็นคนสิ้นคิด บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย เพราะผิดหวังในความรักก็มี แต่คนที่ฉลาดต้องรู้จักหักใจ หรือ ตัดใจ การฝืนใจ ต่างกับ การหักใจ อย่างไรก็อาจอธิบายได้ว่า การฝืนใจนั้นไม่ต้องใช้ความมานะพยายามมาก เท่ากับการหักใจ แต่ทั้งสองประการนี้ต่างก็เป็นวิธีที่ดีในการเอาชนะใจตนเอง การหักใจนั้นทำ ได้ยากกว่า และเมื่อทำได้สำเร็จแล้ว เราก็ไม่ต้องฝืนใจอีกเลย คนที่หักใจต่อ ความทุกข์ร้อน ในการดำเนินชีวิตในเรื่องใด เรื่องหนึ่งได้ ก็นับได้ว่าเขารู้จักหักใจ ไม่รู้จักตัดใจ ไม่รู้จักแข็งใจ ย่อมเป็นคนที่อ่อนแอ ไม่มีความอดทน มีแต่ความขลาดกลัว มีแต่ความท้อถอย และมีแต่ความประมาท ฯลฯ คนประเภทหลังนี้ย่อมเป็นทาสของ
ความคิดที่วนเวียน คิดแล้วคิดเล่าอยู่แต่เรื่องที่ตนเองเสียใจ และหลายคนร้องไห้คร่ำครวญ มีทุกขเวทนา คับแค้นใจ คนเหล่านี้นับว่า เป็นคนที่น่าสงสารอย่างยิ่ง ไม่มีใครช่วยเขาได้ ตราบใดที่เขาไม่รู้จักช่วยตนเอง ไม่รู้จักหักใจใน เรื่องทุกข์ร้อนทางใจ สุขภาพทางจิตย่อมเสื่อมโทรม หลายคนต้องไปรักษากับจิตแพทย์หรือ นักจิตวิทยา เพราะเขามองไม่เห็นทาง แก้ปัญหาของเขาได้เอง ต้องคอยพึ่งคนอื่นให้คำแนะนำ และต้องพึ่งยาเป็นประจำ บางคนเสียทรัพย์ เสียบุตรภรรยา เผชิญกับความทุกข์ วุ่นวายใจ นอนไม่หลับ เป็นโรคจิต หรือโรค ประสาท หวาดระแวง เหล่านี้ถ้าเกิดกับคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง เขาจะรู้จักหักใจ และคิดในทางที่เป็นคุณ เมื่อเสียทรัพย์ก็คิดว่าไม่เป็นไรหาเอาใหม่ก็ได้ เสียบุตรภรรยา ก็หักใจว่าถ้าเราไม่ตายก่อน บุตรภรรยาอาจ ต้องตายก่อนเรา นี่เป็นธรรมดาของโลก ไม่มีใครที่จะอยู่ค้ำฟ้า บางคนเป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง โรคเอดส์ ฯลฯ ซึ่งเป็นโรคที่รักษายากและบางโรคก็ไม่มีการรักษาให้หายได้เลย ถ้าเขารู้จักหักใจเสียบ้าง เขาย่อมปรับใจตนเองได้ และไม่จมอยู่แต่ความทุกข์ทรมาน ันทำให้คนรอบข้างต้องพลอยวิตกกังวลไปด้วย เวลาย่อมเป็นสิ่งที่เยียวยา ความทุกข์ทางใจให้เหือดหายได้ คนที่อกหักต่อความรัก เวลาจะช่วยให้เขาลืมความทุกข์ได้ และถ้าเขารู้จักหักใจเสียบ้าง ไม่หมกหมุ่นครุ่นคิดวนไปเวียนมา เขาก็อาจหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าเขาอยากจะหายจาก โรคทางใจ หรือโรคใจ ไม่มีวิธีใดที่จะดีที่สุดเท่ากับการรู้จักหักใจ การหักใจนั้น ก็คือ การรู้จักเลิกคิดในเรื่องที่ผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อ งความรักใคร่ ความเสียดาย อาลัยอาวรณ์ คนฉลาดคิด ย่อมรู้จักเลือกคิดในสิ่งที่ดี เป็นมงคลต่อชีวิต ไม่คิดคร่ำครวญวนเวียน แต่เรื่องอดีตที่เศร้าอยู่นั้น คนที่ควบคุมความคิดของตนเองได้โดยเด็ดขาด คือ คนที่เอาชนะใจของตนเอง ได้อย่างเด็ดขาดนั่นเอง แต่ความคิดของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย สำหรับคนที่ยังเขลา หรือไม่รู้จักใช้ความคิดของตนเองอย่างถูกต้อง

3 การหักห้ามใจ

การหักใจกับการหักห้ามใจตนเองนั้นไม่เหมือนกัน การหักใจ คือ หักความคิดไม่ให้วนเวียน แต่จะเศร้าโศก เอาแต่เสียดาย อาลัยอาวรณ์ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ของ ๆ ตน หรือเป็นของ ๆ ตนมันไม่เที่ยง คนที่หักใจได้ ก็จะเลิกทุกข์หรือเศร้า แต่การหักห้ามใจนั้นเป็นได้ 2 อย่าง กล่าวคือ เป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดเรื่อง เสียหายขึ้น กับเป็นการแก้ไขเมื่อเหตุการณ์ร้ายนั้นผ่านไปแล้ว อาทิ ผู้ใหญ่ที่ห่วงใยในบุตรหลานที่อยู่ใน วันรุ่นวัยเรียนมักจะสอนบุตรหลาน "เจ้าอย่าพึ่งริรักในวัยเรียน จงรู้จักหักห้ามใจอย่างชิงสุกก่อนห่าม เพราะ ถ้าเจ้าไม่รู้จัก หักห้ามใจแล้ว เจ้าจะต้องเสียใจภายหลัง"

ส่วนการหักห้ามใจที่เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว อาจได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่ท่านสอนว่า "คนรักของเจ้าก็ได้จากไป แล้ว เจ้าจงหักห้ามใจอย่ามัวทุกข์โศกอยู่เลย เรื่องมันเกิดไปแล้วก็ให้แล้วกันไป ไม่มีประโยชน์อะไร จะ ไปมัวเศร้าโศกเสียดายอยู่ทำไม"
การหักห้ามใจภายหลังที่เกิดเรื่องร้ายผ่านไปแล้วนั้น แม้จะดูคล้ายกันกับการหักใจก็จริง แต่การหักใจ จะมีผลได้เร็วกว่า เลิกทุกข์เลิกอาลัยอาวรณ์เด็ดขาดมากกว่าการหักห้ามใจ การหักห้ามใจเป็นการทำใจให้ปรับสภาพการณ์ ที่มันเปลี่ยนไป เมื่อเหตุการณ์ผิดหวังไปจากที่คิด ก็ควรหักห้ามใจค่อย ๆ หักห้ามมิใช้ให้ หักใจอย่างเด็ดขาดในทันที

วิธีการที่จะยึดศีลธรรม ในศาสนาอาจจะใช้การหักห้ามใจก็ได้ เช่น ศีลข้อที่ 1 อย่าฆ่าสัตว์ เราก็ควร หักห้ามใจ ไม่ให้เกิดโทสะ หรือเกิดโลภะในอันที่จะทำให้เกิดการฆ่าสัตว์ขึ้น ศีลข้อที่ 2 อย่าลักทรัพย์หรือ ฉ้อโกงคนอื่น ก็ให้รู้จักหักห้ามใจไม่ทำเพราะไม่รู้ว่ามีโทษ ศีลข้อที่ 3 อย่าประพฤติผิดในกาม ก็หักห้าม ใจอย่าล่วงผิดลูกผิดเมียผู้อื่น ศีลข้อที่ 4 อย่ากล่าวเท็จหรือพูดปด อันทำให้ผู้อื่นเสียหาย ก็รู้จักหักห้ามใจ ไม่ทำเพราะมีโทษทั้งทางธรรมและทางโลก กล่าวคือ เป็นการผิดกฎหมายอีกด้วย ศีลข้อที่ 5 อย่าเสพ สุรายาเมา หรือยาเสพติด ก็หักห้ามใจไม่ลองเสพ

คนบางคนที่ประสบกับปัญหาชีวิตอย่างกะทันหันและอย่างรุนแรง เช่น ถูกฟ้องล้มละลาย เป็นหนี้สิน คนอื่นจำนวนมาก ๆ เกิดโรคร้ายแรงทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ถูกป้องร้ายหมายชีวิต ต้องโทษในคดี อาญา ต้องถูกจำคุกหรือประหารชีวิต ฯลฯ เหล่านี้ถ้าไม่รู้จักหักห้ามใจก็จะเป็นถูกอย่างมาก ถ้าฝึกการ รู้จักหักห้ามใจบ่อย ๆ เราอาจนำมาใช้ในคราวที่เกิดความเดือดร้อนอย่างสาหัส ก็จะไม่เป็นทุกข์มาก แต่ ลำพังการหักห้ามใจอาจจะยังไม่เกิดผลดีจึงต้องรู้จักใช้การปลงใจ

4 การปลงใจ

การปลงใจ คือ การรู้เท่าทันในวิถีชีวิตว่ามีการขึ้น ๆ ลง ๆ มีทั้งทางที่ได้กับทางที่เสีย ได้แก่ โลกธรรม 8 คือ

ทางได้ ทางเสีย
ได้ลาภ เสียลาภ
ได้ยศ เสื่อมยศ
ได้สุข เสียสุข
สรรเสริญ นินทา

ท่านเปรียบวิถีชีวิตของคนเราเหมือนกับการอยู่ในห้องแห่งหนึ่งที่มีพื้นที่เป็นกระเบื้อง 8 แผ่น กล่าวคือ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ และเสียลาภ เสื่อมยศ ทุกข์ นินทา เราต้องรู้จักปลงใจอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้เราไม่ อาจหลีกเลี่ยงได้ ชีวิตของคนเราต้องพบกับ สิ่งเหล่านี้ทุกวันคืน ถ้าเราดีใจหรือรู้สึกพองตัวคราวที่ได้รับสิ่งใด มา เราก็จะต้องพบความเสียใจเมื่อต้องเสียสิ่งเหล่านี้ไป ดังนั้นเราต้องรู้จักทำใจหรือปลงใจทุกครั้งไม่ว่า จะได้หรือเสีย ถ้าได้มาก็ปลงว่ามันไม่เที่ยง วันหนึ่งมันก็อาจต้องเสียไป ในเรื่องลาภนั้นส่วนใหญ่หมายถึง ทรัพย์ ได้ลาภก็คือได้ทรัพย์ หรือเกิดความร่ำรวย มีบ้าน มีรถยนต์ มีฐานะการเงินดี เราจะรู้สึกดีใจหรือ ปลื้มใจ แต่เมื่อถึงคราวต้องเสียบ้าน เช่น ไฟไหม้บ้าน เป็นต้น ก็จะรู้สึกเสียใจ ทำนองเดียวกับได้ยศฐา บรรดาศักดิ์ หรือถึงคราวต้องเสื่อมยศก็ดีใจบ้างเสียใจบ้าง เช่นนี้นับเป็นผู้ที่หลงโลกเป็นอย่างยิ่ง เรื่องสุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา ก็เช่นกัน มันคือเรื่องของความเป็นไปตามกระแสทางโลก กระแสทางสังคม ถ้าเรา ไม่รู้จักปลงใจ เราจะต้องรับพิษร้าย และอาจถึงกับต้อง คิดฆ่าตัวตายไปเลยก็เป็นได้ ในทางพุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับการปลงใจไว้มากทีเดียว ถึงกับมีข้อความอันรุนแรง เพื่อให้ ศาสนิกชนพิจารณาถึง ความไม่เที่ยง อาทิ มีคำสอนว่า "ดูก่อนภิกษุ ไม่มีอะไรในโลกนี้ พึงยึดถือได้เลย มีแต่ความทุกข์เท่านั้น ที่เกิดขึ้น มีแต่ความทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ มีแต่ความทุกข์เท่านั้นที่ดับไป" มีคำสอน ให้หมั่นระลึกหรือ สวดอยู่เสมอ ๆ เพื่อให้รู้จักการปลงใจ ได้แก่

- เราเกิดมาแล้ว เรามีความชรา เป็นธรรมดา เราล่วงความชราไปไม่ได้
- เราเกิดมาแล้ว เรามีความป่วยไข้เป็นธรรมดา เราล่วงความป่วยไข้ไปไม่ได้
- เราเกิดมาแล้วเรามีความตายเป็นธรรมดา เราล่วงความตายไปไม่ได้
- เรานี้แหละจะเป็นต่าง ๆ จะเป็นผู้ละเว้นไปจากของรัก ของที่เอิบอาบใจทั้งปวง
- เป็นแน่ หรือของรัก ของเอิบอาบใจทั้งปวง จะมาวิโยคพลัดพรากจากเราไปก่อนเป็นแน่
- เรามีกรรมเป็นเจ้าของ เรามีกรรมเป็นทายาท เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นพวกพ้อง เรามีกรรม เป็นที่ระลึก กรรมอันใดเรากระทำไว้เป็นบุญก็ดี เป็นบาปก็ดี เราจักเป็นทายาทรับผลแห่งกรรมเหล่านั้น

การหมั่นพิจารณาเพื่อการปลงใจนี้ท่านว่า เป็นมงคลอย่างยิ่ง ดังพุทธภาษิตเกี่ยวกับโลกธรรมข้างต้นนั้น
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ไม่หวั่นไหว 1 ไม่โศกเศร้า 1 ปราศจากธุลี 1 เกษม 1 ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด"
พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า "อย่าให้ถูกลูกศร 2 ดอก เทียบความทุกข์ที่เกิดขึ้น เหมือนเราถูกยิงด้วยศร อยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีความอดทน และมีสติพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่ยอมให้เหตุการณ์ มากัดกินเรา หรือมาเบียดเบียนจิตใจ ของเราแต่ฝ่ายเดียว ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่มาเป็นนายเหนือเรามากเกินไป แต่ถ้าเราประสบเหตุการณ์เช่นนั้นแล้ว เรายอมด้วย ประการทั้งปวง คือมัดมือมัดเท้าให้เลย นี่ก็เหมือนอย่างถูกลูกศรดอกที่สอง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นลูกศรดอกที่ไม่จำเป็น เพราะเราไปเก็บความทุกข์มา ใส่ตัวเราเอง"
ทั้งหมดนี้คือ เคล็ดลับในการปลงใจนั่นเอง

5 การตั้งใจ

คำว่า "การตั้งใจ" หมายถึงความมุ่งมั่นในอันที่จะกระทำการอันใดก็ทำให้จนสำเร็จตามเป้าหมาย หรือ จุดหมายที่ตนตั้งไว้ โดยรวมคำว่า มโนมยิทธิ (Will Power) ความเพียรพยายาม (Preserverance) การทำการเสมอต้นเสมอปลาย (Steadiness) และคำไม่หวาดหวั่นต่อความยากลำบาก (Energy) คำว่า มโนมยิทธิ หมายถึง ความตั้งใจ หรืออำนาจในใจที่ทำให้อะไร ๆ สัมฤทธิ์ผลอันเกิดจาก กำลังใจของคนหนึ่ง อำนาจนี้มีอยู่ในใจของคนแล้วทุกคน เพียงแต่บางคนไม่รู้จักใช้ และบางคนไม่รู้จัก
วิธีใช้หรือใช้บ้างเพียงเล็กน้อย แท้จริงแล้วอำนาจนี้เป็นสิ่งที่นำความสำเร็จมาให้เรา การที่มนุษย์เรามี ฐานะความเป็นอยู่ หรือตำแหน่งทางสังคมแตกต่างกัน นอกจากเป็นด้วยความรู้ ความสามารถแล้ว เป็นผลจากมโนมยิทธิ เป็นสำคัญ แต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ จึงคิดไปว่าการที่เขาได้ดีกว่าเรา หรือไป สู่ฐานะตำแหน่งอันสูงได้ เป็นไปตาม อำนาจโชคเคราะห์หรือ ดวงชะตาอันที่จริงโชคเคราะห์นั้นมีส่วน อยู่บ้าง คือ เป็นผลกรรมดีในอดีตส่งมาให้ถึงปัจจุบัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ มโนมยิทธิ นี่เอง ที่ทำ ให้คนซึ่งอยู่ในฐานะต่ำต้อยนำตนไปสู่ตำแหน่งฐานะอันสูงได้
แท้จริงแล้ว การทำงานทุกชนิดจะต้องอาศัยความสม่ำเสมอ จะเห็นว่าสถานที่ ราชการหรือห้างร้าน บริษัทก็ตาม จะมีกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอน เพื่อให้งานเดินไปด้วยความสม่ำเสมอ จะมีวันหยุดก็คือ วันเสาร์หรือวันอาทิตย์ที่แน่นอน ยกเว้นวันหยุดในวันสำคัญ ซึ่งเดือนหนึ่ง ๆ ก็มีไม่มากนัก ไม่มีสถานที่ ทำงานแห่งใดที่เปิดทำงานวันสองวันแล้วหยุดไปสิบวัน หากเป็นเช่นนั้น กิจการนั้นคงล้มเหลว หาความ สำเร็จไปไม่ได้

สำหรับคำว่า "ความไม่หวาดหวั่นต่อความยากลำบาก"หมายถึงพลังภายในที่อยู่ในจิตใจของคนที่ ไม่กลัว ความยากลำบาก และไม่ย่อท้อ ต่ออุปสรรคใดๆทั้งสิ้น ไม่มีใครในโลกนี้ ตั้งแต่เกิดจนตายจะไม่ ประสบกับความยากลำบาก หรือ อุปสรรคใดๆ เลย หากแต่คนในโลกนี้ แบ่งออกเป็นสองจำพวกคือพวก หนึ่งนั้นมีน้ำอดน้ำทน สามารถเอาชนะอุปสรรค และ ความยากลำบาก คนที่มีความตั้งใจแน่วแน่ต่อความ
สำเร็จในการทำงาน เขาย่อมไม่ให้อุปสรรคหรือปัญหามาบั่นทอนกำลังใจได้เลย เขาจะมีความมานะ บากบั่น มุ่งทำงานเรื่อยไป มีปัญหาครั้งใดก็แก้จนตกและทำต่อไปจนงานนั้นเสร็จ

กล่าวโดยสรุปแล้วคำว่า การตั้งใจ นั้น หมายถึง การรู้จักควบคุมใจตนเองบังคับใจตนเองให้เป็นไป ตามทางที่เรา ตั้งจุดหมายปลาย ทางเอาไว้ หรือในทางที่ชอบที่ควร คนเราส่วนมากมักชอบความสบาย เกลียดความทุกข์ยากลำบาก ฉะนั้น การยอมตามใจตนเอง ก็คือ การชอบทำตัวตามสบาย หนีทุกข์ และ มุ่งเข้าสู่ความสุข ความสนุกสนาน หรือ ขาดความอดทน ต่อทุกขเวทนา อันที่จริง ธรรมชาติของคน และ สัตว์โดยมากมักเป็นเช่นนี้ แต่การที่เราจะชนะใจตนเองหรือ ควบคุมตนเอง ก็มิได้หมายความว่าเราจะ ต้องทนทุกข์ทรมาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เราควรดำเนินแต่ทางสายกลาง ไม่ใช่ต้องทรมาน กายของตนเอง หรือหา ความสบายทางโลกียสุขจนลืมตัว สำหรับคนที่มีความตั้งใจ อันแรงกล้าแล้ว เขาจะไม่ยอมแพ้อุปสรรคใด ๆ เพียงเพราะทำอะไรเพียง 2 - 3 อย่างไม่สำเร็จก็เลิก ไม่ทำอีกต่อไป และนี่ก็คือวิธีการเอาชนะใจตนเอง อีกทางหนึ่งคือ ให้มีการ ตั้งใจอัน มั่นคงนั่นเอง

6 การตกลงใจ

การตกลงใจ หรือ การตัดสินใจ ที่ถูกต้องเป็น การตรงข้ามก ับความโลเล หรือความ กลัวผิดบางคนกว่า จะตัดสินใจอะไร สักทีก็ผัดผ่อนเวลา หรือปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องตัดสินใจ หรือปล่อยงานล่าช้า จนเกิด ความเสียหายขึ้นได้ บางคนก็ชอบยกการตัดสินใจ หรือการตกลงใจให้กับคนอื่นอันแสดงถีงการขาดความ เขื่อมั่นในตนเอง ที่จะประสบความสำเร็จ ในหน้าที่การงานโดยเฉพาะงานใหญ่ๆ หรืองานในตำแหน่งสูงๆ เขาต้องมีความกล้าหาญที่จำตกลงใจ หรือตัดสินใจไปในทางใด ทางหนึ่ง ที่เขาเห็นสมควรคนที่ไม่กล้า ตกลงใจก็ดี ไม่กล้าตัดสินใจก็ดี ไม่กล้าวินิจฉัยสั่งการอะไรลงไปก็ดี ย่อมไม่อาจเป็นคนที่อยู่ในตำแหน่ง บริหารระดับสูงไปได้ เพราะความลังเลใจของเขา จะทำให้ผู้ใหญ่หรือผู้บังคับบัญชาเห็นว่า เขาเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบ หรือขาดความกล้าหาญในการตกลงใจ เมื่อผู้ใหญ่เห็นความอ่อนแอเช่นนี้ย่อมไม่ กล้ามอบหมาย ให้เขาเข้ารับตำแหน่งในการบริหารหรือเป็นหัวหน้าคนได้

การตกลงใจนั้น ในบางครั้งอาจตัดสินใจผิดพลาดไป แต่เราต้องกล้ารับผิดชอบ คนที่กล้ารับผิดชอบ โดยไม่ปัดความผิด ไปให้แก่ ผู้ใต้บังคับบัญชา ย่อมเป็นที่รักนับถือของผู้น้อย บุคคลสำคัญของไทยเรา ที่กล้าตกลงใจหรือกล้าตัดสินใจเด็ดขาดที่อาจยกตัวอย่าง ให้เห็นได้คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทุกครั้ง ที่ท่านตัดสินใจท่านจะประกาศอยู่เสมอว่า " ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว " จริงอยู่ว่า บางครั้งที่ ท่านตัดสินใจผิดพลาดลงไป แต่ท่านก็ยอมรับผิด ไม่ปัดความรับผิดชอบให้แก่ผู้ใต้บังคับ บัญชาเลย
มีคำกล่าวว่า คนที่ทำงานไม่มีใครเลยที่จะไม่เคยทำผิดหรือทำพลาดลงไปบ้าง แต่เราต้องถือว่า "

ความผิดเป็นครู หรือเป็นบทเรียนที่สอนไม่ให้เราผิดซ้ำอีก " พระเจ้านโปเลียนทรงตัดว่า คนที่ไม่เคย ทำผิดเลย คือ คนที่ไม่เคยทำอะไรเลย การตกลงใจผิดยังดีกว่าการโลเลไม่ยอมตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงไป ทำไมจึงกล่าวว่า การตกลงใจ หรือ การตัดสินใจ เป็น การเอาชนะใจตนเอง เช่น หนุ่มหรือสาวที่มีคนรัก ให้เลือก 2 คน และไม่อาจตัดสินใจได้ว่า จะเลือกเอาคนหนึ่งคนใด จะพบว่า มีความวิตกกังวลหรือ เดือดร้อนใจอยู่ตลอดเวลา จนกว่าเมื่อใดที่ตกลงเลือกเอาคนใด เป็นที่แน่นอนลงไป ก็จะทำให้เกิดความโล่งใจได้ แต่ถ้าเป็นคนที่ลังเลใจ ไม่ยอมตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไป ก็จะต้องวนเวียนคิดเป็นทุกข์เพราะ ไม่อาจเอาชนะจิตใจ ที่ไม่มั่นคงของตนเอง การตกลงใจในบางเรื่องต้องใช้ความกล้าหาญ และความ เด็ดเดี่ยว กล่าวว่าผู้ที่กล้าหาญ จำเป็นจะต้องรู้จักรับผิดชอบกล้าตัดสินใจหรือตกลงใจตามความคิดของ ตนเอง และเมื่อตนเองคิดว่าตนทำถูก โดยตัดสินใจลงไปแล้ว ก็ไม่ขลาดที่จะเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะ ตามมากระบวนการของการตัดสินใจหรือการตกลงใจในงานที่ยาก ๆ หรือในเหตุการณ์ที่ยากๆ นั้น เกิดจาก"การรู้จักไตร่ตรอง" บวกกับ "ความเป็นคนละเอียดละออ" นิสัย 2 อย่างนี้ทำให้เกิด " ความมีเหตุผลที่ถูกต้อง " และนำไปสู่ " การตัดสินใจที่ถูกต้อง "
การรู้จักไตร่ตรอง หมายถึงการรู้จักคิดทบทวนประเมินผล รู้จักคิดให้ลึกซึ้ง เพื่อหาว่าอะไรคือความจริง อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง อะไรคือข้อที่ควรตัดสินใจ ความไตร่ตรองนี้มีประโยชน์หลายประการ กล่าวคือ ทำให้ เราฉลาดรู้เท่าทันคนอื่น แล้วยังทำให้ เรามีความคิดเป็นของตัวเอง ทำให้ตรวจสอบการทำงานได้อย่างดี ทำให้เราสามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้ด้วย กำลังความคิด และไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของใครง่าย ๆ
" ความเป็นคนละเอียดละออ " หมายถึง ความไม่ประมาท และหมายถึงการรู้จักไตร่ตรอง ซึ่งจะทำให้ เราต้องมีสติ และเป็น คนที่สุขุมรอบคอบ จำเป็นต้องมีข้อมูลประกอบการคิด พิจารณาอย่างรอบรู้ และ ถี่ถ้วน ความละเอียดลออจึงเป็นลักษณะที่สำคัญ และจำเป็นของบุคคลทั้งหลาย และยิ่งคนที่เป็น หัวหน้างานสูงขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น ความละเอียดละออ ก็ยิ่งมีความจำเป็น มากขึ้นเป็นลำดับ ไม่เช่นนั้นก็อาจ จะเกิดการผิดพลาดเสียหายได้มาก เพราะต้อง รับผิดชอบงานใหญ่และ หลายประเภท ลูกน้องบางคนอาจสะเพร่า หรืออาจทำงานลวก ๆ เพื่อให้งานสักแต่ว่าผ่านไปได้ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าจำเป็นต้องรู้จัก ตรวจสอบกลั่นกรองข้อมูลให้ดีที่สุด จึงจะเป็นคนที่คุมคนอื่น ๆ ได้

"ความมีเหตุผลที่ถูกต้อง" หมายถึง การหาข้อมูลมาประกอบการพิจารณาในเรื่องที่จะต้องดำเนินงาน เมื่อเราได้ข้อเท็จจริง มาดีแล้ว ไตร่ตรองดีแล้ว ก็จะได้เหตุผลที่ถูกต้องออกมาเป็นผลลัพธ์ ซึ่งจะใช้ในการอ้างอิงโต้เถียงกับผู้อื่น หรือใช้ใน การงาน ประจำวันได้ ปัจจุบันคนเราได้รับการสั่งสอนมาแต่เด็กให้รู้จักหา เหตุผลที่ถูกต้อง นักวิทยาศาสตร์ หรือนักปราชญ์ สมัยนี้ ล้วนเป็น หนี้บุญคุณ ของเหตุผลต่างๆ ที่ นักวิทยาศาสตร์หรือนักปราชญ์รุ่นก่อนได้วางไว้ และคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ในประเทศ ที่เจริญแล้ว ก็มัก จะไม่ยอมเชื่อถืออะไรง่าย ๆ ยกเว้นแต่จะมีเหตุผลพิสูจน์ ให้เห็นจริงออกมาจึงยอมเชื่อ ยุคปัจจุบันจึงเป็นยุคแห่ง การใช้เหตุผล ซึ่งต่างกับยุคก่อน ๆ ในสมัยกลางซึ่งเป็นยุคแห่ง ความเชื่อถือศรัทธา ที่ผู้ใดมีเหตุผล นอกรีตนอกรอยจาก ศาสนจักร ก็อาจได้รับ อันตรายได้ คุณสมบัติแต่ละอย่าง ที่เป็นองค์ประกอบของการตกลงใจ หรือ การตัดสินใจ ให้ถูกต้องจึงเป็นการเอา ชนะใจตนเองอีกอย่างหนึ่ง

7 การจูงใจ

การจูงใจตนเอง เป็นเคล็ดลับอีกประการใน การเอาชนะใจตนเอง คนเราจะต้องพบกับการจูงใจอยู่ใน ชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เช่น การซื้อสินค้า คนขายจะพยายามจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้าให้ได้ราคาดี ส่วนคน ซื้อก็พยายามจูงใจให้คนขาย ขายสินค้าในราคาที่ถูก การโฆษณาสินค้าหรือบริการผ่านสื่อมวลชน มี วิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นการจูงใจจากภายนอก คือคนอื่นเข้ามาจูงใจเรา แต่ยังมีการ จูงใจอีกอย่าง คือ การจูงใจตนเอง (Auto-Suggestion) หรือบางคนก็เรียกว่าการแนะนำตนเอง ไม่มี วิธีการใดเปลี่ยนแปลง อุปนิสัยของคนเรา ที่จะทำได้ง่ายที่สุด หรือดีที่สุดเท่ากับการจูงใจ
เคล็ดลับในการจูงใจตนเอง หรือในการ แนะนำตนเองนั้น อยู่ที่ว่าเราต้องกระทำด้วยความจริงใจ หมั่น ทำซ้ำ ๆ กันและทำโดยสม่ำเสมอ เวลาที่เหมาะที่สุด คือ เวลากลางคืนก่อนนอน ประโยคที่เราหมั่นเตือน ตนเองได้แก่

"เราต้องการทำใจให้สงบไม่ว่าในเวลามีเหตุการณ์ใด ๆ เราจะมีความไว้ใจตนเองเสมอ"
"เราต้องข่มความกลัว ความตื่นเต้น และความรู้สึกที่เป็นภัยแก่ตัวเราเอง"
"เราต้องทำดวงจิตของเราให้ผ่องใสไม่ขุ่นมัว และจะเป็นนายตัวเราเอง ไม่ว่าต่อหน้าใคร"
"เราต้องการปลูกนิสัยของเรา ให้ขึ้นสู่ชั้นสูงสุด เท่าเทียมคนอื่น ๆ ที่มีนิสัยดีที่สุด"
"เราต้องการทำสิ่งที่ถึงเวลาจะต้องทำ ถึงแม้มีสิ่งใด ๆ มาขัดขวางก็จะต้องทำให้จงได้"
"เราต้องการบังคับตัวและบังคับใจของเรา ไม่ใยอมให้เป็นไปในทางที่จะนำตัวเราออกไปนอกทางที่เรา มุ่งหมาย และนอกหลักธรรมในใจของเรา"
"เราต้องการพินิจพิเคราะห์ โดยถี่ถ้วนก่อนที่จะปลงใจยอมตามความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น แก่ตัวเรา หรือที่มีใครบอกเรา หรือที่เราได้อ่านจากหนังสือ"
"เราต้องการมีความมานะมีจิตตานุภาพที่จะสามารถบังคับบุคคล หรือเหตุการณ์ทั้งหลายได้"
"เราต้องการมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง และสามารถต้านทานโรคภัยไข้เจ็บใด ๆ ทั้งสิ้น"
"เราต้องขจัดความเกียจคร้าน การผลัดวันประกันพรุ่ง และต้องการเป็นคนที่มีความขยันมานะพยายาม กระตือรือร้นตลอดเวลา"
"เราต้องการขจัดนิสัยทำงานสะเพร่า โดยทำงานอย่างสุขุมรอบคอบและระมัดระวัง"
"เราต้องการกำจัดนิสัยที่อ่อนแอเหลาะแหละ โดยการลงมือทำงานทันที หรือทำในขณะนี้"
"เราต้องการกำจัดความท้อถอย โดยสร้างนิสัยมานะบากบั่น และไม่ยอมแพ้อุปสรรคใด ๆ"
"เราต้องการขจัดความกลัว ความวิตกกังวล ความเครียด และนิสัยเจ้าทุกข์ ให้พ้นไปจากจิตใจ และมีชีวิตอยู่ด้วย ความสุข โดยอยู่แต่ ในห้อง ที่มีแต่วันนี้ ไม่กังวลถึงอดีต หรืออนาคตใด ๆ ทั้งสิ้น"

วิธีจูงใจดังกล่าวนี้จะทำให้ได้ผลดีที่สุดควรทำในเวลาก่อนเข้านอนตอนกลางคีน เพื่อที่จิตใต้สำนึก จะรับเอาไป ทำงานต่อควรทำบ่อยๆ โดยการพร่ำคิดอยู่ในใจ มีขั้นตอนดังนี้

  1. เมื่อจะนอนสวดมนต์สักเล็กน้อยก่อนที่เราจะเริ่มจูงใจตนเอง เพื่อให้จิตสงบผ่องใส
  2. ตอนล้มตัวลงนอนให้เราหลับตา และพูดกับตนเองว่า เราจะทำให้กล้ามเนื้อบนใบหน้า กล้ามเนื้อ
    ที่ลูกตา ตลอดจนร่างกาย ทั้งร่างผ่อนคลาย พักผ่อน และปล่อยวางทุกสิ่ง จนรู้สึกว่าปราศจากความเครียด ใด ๆ แล้วจึงเริ่มจูงใจตนเอง
  3. จงพูดกับตนเอง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างตน พูดซ้ำซาก เสมือนหนึ่งว่าเรากำลังอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธ์ ที่เรานับถือ พูดถึงความต้องการต่าง ๆ ในทางที่จะให้มีหรือให้เป็นจนง่วงหลับไป
  4. ในตอนเช้าเมื่อตื่นขึ้นให้จูงใจตัวเองซ้ำอีกสักครั้ง ก่อนจะลุกจากที่นอน
  5. ในเวลาว่างเช่นเวลานั่งรถไปทำงานหรือกลับจากที่ทำงาน ไม่ควรทำให้ตนเองเกิดความเครียด ทำใจ สบาย ๆ และนำประโยคที่เราเคยจูงใจในตอนกลางคืนมาเตือนตนบ่อย ๆ
  6. ในเวลาประสบกับปัญหาอุปสรรคในการทำงาน หรือในการดำรงชีวิต ก็ให้เตือนตนเองบ่อย ๆ ว่าเรา ต้องการทำใจให้สงบ เรามีความเชื่อมั่นในตัวเอง เราสามารถแก้ไขและผ่านอุปสรรคไปได้ เราจะไม่วิตกกังวล ไม่เครียด ไม่ย่อท้อ อย่างนี้เป็นต้น
  7. ข้อสำคัญที่สุด ในเวลาจูงใจตนเองทุกครั้ง เราต้องทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายทุกส่วนให้ผ่อนคลาย อย่าเกร็ง หรืออย่าทำหน้าบึ้ง และการพร่ำพูดในใจ ดังกล่าว ต้องทำด้วยใจจริง และเชื่อมั่นว่ามันจะทำให้เราเอาชนะใจตนเองได้ และไม่ให้การคิดนั้น เป็นการหลอกตัวเอง

8 การมั่นใจ

การเชื่อมั่น หรือความเชื่อมั่นในตนเองนั้น เป็นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของบรรดาบุคลสำคัญ ทั้งหลาย คนที่จะก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่งใหญ่โตทั้งหลาย ไม่มีใครเลยที่ปราศจากความเชื่อมั่นในตนเอง เพราะหากไม่เชื่อมั่นในตนเอง ก็ย่อมไม่อาจก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูงได้ มีครูท่านหนึ่งได้สอนศิษย์ว่า "จงหมั่นคิดอยู่เสมอว่า คำว่าทำไม่ได้ไม่มี" คำสอนนี้ลูกศิษย์บางคนที่
ไม่เชื่อถือก็ยิ้มเยาะว่าครูสอนค้านกับความจริง แต่ลูกศิษย์ที่เชื่อครูก็เอาคำสอนนี้ไปใช้ปรากฏว่าลูกศิษย์ที่ เชื่อครู สามารถก้าวเข้าไปสู่ ตำแหน่งสำคัญ ๆ ได้ ส่วนลูกศิษย์ที่ ไม่เชื่อครู ต่างก็ไปได้ไม่ไกล แท้จริงคำสอนว่า "ทำไม่ได้ไม่มี" นั้น สอนให้คนเรา เชื่อมั่นในตนเอง คนที่คิดอยู่ในใจ โดยเชื่อว่าตนเองทำได้ เขา ย่อมทำกิจนั้น ได้สัมฤทธิผล ส่วนคนที่ขลาด และปราศจากความเชื่อมั่นในตนเอง และคอยคิดอยู่เสมอว่า " แย่ " ไม่ไหวเหนื่อยยาก ลำบาก ไม่เอา ฯลฯ " คนประเภทนี้ ย่อมทำอะไรไม่สำเร็จ หรือหากจะสำเร็จ ก็ได้ ผลงานที่คุณภาพใช้ไม่ได้ เราจะพบว่า การมีความรู้มากเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่พอเพียงที่จะใช้ในการ สร้างเนื้อสร้างตัว คนที่มี ความเชื่อมั่นในตนเองเพียงอย่างเดียวเสียอีก ยังดีกว่าคนที่มีความมากเพียงอย่างเดียว โดยปราศจากความ เชื่อมั่นในตนเอง หลายคนที่เรียนไม่เก่ง แต่เมื่อเวลาไปเรียนกลับก้าวหน้า และได้ดีกว่าคนที่เรียนเก่ง เหตุที่เป็นเช่นนั้น เมื่อวิเคราะห์แล้วจะพบว่า คนที่เรียนไม่เก่งดังกล่าวเป็นคนที่เชื่อมั่นในตนเอง

วิธีฝึกฝนให้ตนเองมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีดังนี้

  1. ต้องรู้ว่าตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตนเอง และหมั่นช่วยตนเองให้มากที่สุด คนที่ชอบร้องขอให้คนอื่นช่วย โดยไม่ยอม ช่วยตนเอง ย่อมทำลายอนาคตหรือความก้าวหน้าของตนในที่สุด
  2. ต้องรู้จักนับถือตนเอง เชื่อในความสามารถของตน และไม่ดูถูกเหยียดหยามตนเอง
  3. ต้องฝึกให้มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง ไม่ตกเป็นทาสความคิดของผู้อื่น
  4. อย่าคิดว่าทำไม่ได้ จงคิดเสมอว่าเราทำได้ คิดบ่อย ๆ ในทางบวก อย่าคิดในทางลบ คือเลิกคิดว่า "แย่ไม่ไหว ไม่เอา ไม่สู้ ฯลฯ"
  5. ต้องพยายามฝึกฝนตนเองให้มีนิสัยที่ดี เช่น เป็นคนที่ไม่รู้จักหมดหวัง ไม่หวาดหวั่นต่อ ความยาก ลำบาก มีหัวใจเข้มแข็ง มีความกล้าหาญอดทน มีเหตุผล และกล้าตัดสินใจ ฯลฯ
  6. นิสัยเชื่อมั่นในตนเองนี้ อาจฝึกได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เด็กคนใดที่ผู้ปกครองพยายามปล่อยให้ช่วยตัวเอง แต่เด็ก โตขึ้นมักจะมีความเชื่อมั่นในตนเอง แต่ถ้าเด็กคนใดที่ผู้ปกครองมักจะประคับประคอง ช่วยเหลือตลอดเวลา โตขึ้นก็มักจะอ่อนแอ และมักคอยหวังพึ่งความช่วยเหลือจากคนอื่นร่ำไป
  7. จงจำภาษิตนี้ไว้
    "ต่อสู้ กล้าหาญ เข้มแข็ง อดทน"
    "ตนของตน ย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน"
    "เกิดเป็นคน คนเหมือนกัน จะกลัวอะไรกัน"

    "ถ้าความคิดของท่านนั้นไม่สู้ ท่านเป็นผู้พ่ายแพ้แน่นอนหนา
    ถ้าท่านคิดทางขลาดหวาดอุรา ท่านก็จะไม่กล้าอย่างแน่นอน
    ถ้าท่านอยากเอาชนะในชีวิต แต่ความคิดอ่อนแอมันหลอกหลอน
    ท่านย่อมจะไม่ชนะอย่างแน่นอน ถึงอุทธรณ์กี่ครั้งก็ยังแพ้
    ความสำเร็จทั้งหลายในโลกนี้ เริ่มต้นที่ความมั่นใจในตนแน่
    อยู่ที่ภาวะจิตไม่คิดแพ้ อยู่ที่ไล่ความอ่อนแอจากจิตไป
    ถ้าท่านคิดว่าอยู่ต่ำหรือย่ำแย่ เป็นของแน่ท่านจะต่ำเกินคำไข
    ท่านต้องคิดอยู่สูงเพื่อจูงใจ ให้ก้าวไกลทุกทางรับรางวัล
    อันสงครามชีวิตหากคิดสู้ ความชนะมิได้อยู่ที่แข็งขัน
    จะเร็วช้าแข็งแรงแกร่งฉกรรจ์ หากผู้นั้นมั่นใจชัยย่อมมี"
  8. หลวงวิจิตวาทการได้กล่าวไว้ใน หนังสือเรื่อง มหาบุรุษว่า "ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะขัดขวางความเจริญของมนุษย์เท่ากับความที่ไม่ไว้ใจตนเอง การทำอะไรทุก ๆ อย่างถ้าเรา จะปรึกษาคนที่เรารู้จักและต้องเชื่อฟังความเห็นของคนทั้งหลายอยู่แล้วเราก็ไม่สามารถทำการนั้น ๆ ได้เลย เพราะไม่มีกิจการอันใด ในโลกนี้ที่จะได้รับความเห็นชอบของคนทุกคนไป"

9 การข่มใจ

หมายถึงการใช้สติคอยเหนี่ยวรั้ง ไม่ให้เราทำอะไรไปในสิ่งที่ไม่สมควร เช่น เกิดความโกรธ เกิดความกลัว เกิดความเกลียด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นประจำ สุดแต่ว่าเรากระทบกับอารมณ์ใด และจิตเคยแสดงออกหรือ พยายามอดกลั้น อยู่ภายใน และ รู้จักขจัดอารมณ์เสีย ออกให้ได้ ก็จะเกิดผลดีแก่ตัวเราเอง และแก่คนที่อยู่ รอบ ๆ ข้างเรา

วิธีข่มความโกรธ

วิธีข่มใจนั้น ขั้นแรกเราต้องทำใจให้สงบ หลับตา และสูดลมหายใจแรง ๆ สักสามสี่ครั้ง และนึก ตักเตือนตนเอง หลังจากที่จิตสงบ แล้วว่า "ต่อไปนี้เราจะไม่โกรธใคร ไม่ด่าใคร ใครเขาจะทำอะไรให้เป็นที่ไม่พอใจ เป็นที่ขัดใจ เราก็จะไม่โกรธ เพราะความโกรธ ที่เกิดขึ้นในใจนั้น คือ ยาพิษ ความโกรธที่เกิดขึ้นแต่ ละครั้ง แม้ว่าในบางขณะมันจะหายไป ก็ไม่ใช่มันจะหายไปจาก จิตใจ มันคงฝังอยู่ในจิตใจ เพราะฉะนั้น ถ้าเราปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็เท่ากับ ปล่อยให้ความทุกข์เกิดขึ้นบ่อย ๆ ปล่อยให้ยาพิษเข้าไป สะสมอยู่ในใจมากขึ้น ๆ ตามลำดับ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ เราจะไม่โกรธ ใครเขาจะด่าใครเขาจะว่า เราก็จะพยายามทำดี พูดดี ไม่แสดงกิริยา ไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นในจิต แม้ใครจะทำให้เราต้องผิดหวัง ทำให้เรา ไม่พอใจ หรือทำอะไรให้เราต้องเดือดร้อนก็ตาม เราก็จะพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยวิธี ใจเย็นด้วยใจที่สงบ เมื่อควรจะ ชี้แจงหรือตักเตือนอย่างไร หรือควรจะนิ่งเฉยเราก็จะทำตามเหตุผล แต่ว่าเรา จะไม่โกรธ เราจะไม่เกลียด เราจะไม่วู่วาม เราจะไม่ให้ความทุกข์ เกิดขึ้นในจิตใจเป็นอันขาด"
ในเมื่อเราพยายามตักเตือนตัวเองว่า ต่อแต่นี้ไป เราจะไม่โกรธ จะให้อภัย จะไม่ถือ จะปล่อยวาง นาน ๆ เข้า นิสัยของเรา ก็จะเปลี่ยนแปลง ไปอย่าง เห็นได้ชัด คือ เมื่อมีเหตุการณ์ที่จะทำให้เราโกรธ เกิดขึ้น ถ้าเป็น สมัยก่อนเราก็คงจะเอะอะตึงตัง ขึ้นแล้ว แต่เมื่อเราหัดทำอย่างนี้บ่อย ๆ นานเข้า เราก็จะมีสติเรา จะนึกได้ เสมอว่าเราจะไม่โกรธ เพราะความโกรธนี้ไม่ดี เราตั้งใจแล้วว่า เราจะไม่ โกรธ เราสอนตัวเองแล้วว่าเราจะไม่โกรธ เพราะ ฉะนั้นเราต้องไม่โกรธ เราต้องไม่โกรธ เราจะต้อง ให้อภัย เราจะต้องปล่อยวาง เราจะคิดแต่ แง่ดี ของเขา บางทีเขาอาจมีความจำเป็นอย่างนี้ที่ทำให้ แสดงกิริยาอย่างนั้นออกมา เราจะนึกได้อย่างนี้ เสมอ นี่คือวิธีข่มใจ ไม่ให้เกิดความโกรธ

10 วิธีข่มความกลัวและขจัดความเกลียด

วิธีข่มความกลัว

ความกลัว เป็นสัญชาติญาณส่วนลึกของมนุษย์และสัตว์ทั่วไป ความกลัวสามารถทำลายบุคลิกภาพ และทำลาย สุขภาพร่างกาย ได้อย่างมากมาย ยิ่งกว่าอารมณ์ชนิดใด ความกลัวจะทำให้ท่านหมดความ เชื่อมั่นในตนเอง แท้จริงความกลัว คือภาพหลอนชนิดหนึ่งในจิตใจคนเรา คนที่ขี้ขลาดและขี้กลัวมักจะ เป็นคนที่ไม่มีเหตุผล และเป็นคนที่ไม่รู้จักความจริง คนที่เข้าถึงความจริงแห่งชีวิตแห่งจิตใจจะเป็นคนที่ ไม่รู้จักกลัว พุทธศาสนากล่าวว่า พระอรหันต์ซึ่งเข้าถึงอริยสัจ 4 เป็นผู้ที่ไม่มีความกลัวเหลืออยู่เลย แต่คน ธรรมดา ปุถุชนที่ยังมีกิเลสอยู่ย่อมจะต้องมีความกลัวบางสิ่งบางอย่างเป็นธรรมดา
วิธีข่มหรือขจัดความกลัวออกไปจากจิตใจเรา มีดังนี้

  1. ต้องเป็นคนรักความจริงและแสวงหาความจริง ความจริงจะทำให้คนเราลดความกลัวลง ใน สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นถูกโจมตีทางเครื่องบินอย่างหนัก แต่เขามีสำนักข่าวที่แถลงทาง วิทยุให้ประชาชนทราบความจริง เช่น บอกว่าในอีกไม่กี่นาทีจะมีเครื่องบินของศัตรูมากี่เครื่อง จะบินผ่าน มาทางไหน ให้ประชาชนเตรียมตัวหลบลูกระเบิด การแถลงความจริงเช่นนี้ทำให้คนญี่ปุ่นคลายความ กังวลลงไปได้เป็นอันมาก
  2. ต้องฝึกความเชื่อมั่นในตนเอง และฝึกให้ตนเองเป็นคนที่กล้าเผชิญกับเหตุการณ์ไม่ให้หนีต่อ เหตุการณ์ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม จะเห็นว่าการฝึกทหารนั้นเขาจะฝีกให้มีความเคยชินต่อสถานการณ์ รบ ในเวลาซ้อมรบนั้น เขาจะจำลองสนามรบ ให้ดูคล้ายของจริง มากที่สุด และให้ทหารที่ทำการซ้อมรบ ต้องเผชิญความยากลำบาก นานาประการเป็นการฝึกให้ทหารมีความกล้าหาญ และเชื่อมั่นในตนเอง ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเผชิญกับสงครามจริง ๆ เข้าทหารที่ได้รับการฝีกมาบ่อย ๆ และเคยชินต่อสภาพการฝึกจะ
    เข้าสู่สมรภูมิด้วยความไม่กลัว
  3. ให้สำรวจว่าเรากลัวอะไรกันแน่ ในเวลาที่เรากลัวอะไรในอนาคตที่ยังไม่เกิดท่านแนะนำให้หาที่สงบ แล้วพิจารณาว่าเรากลัวอะไรกันแน่ และให้ถามตนเองว่า ถ้าสิ่งที่เรากลัวนั้นเกิดขึ้น จะมีผลร้ายแรงที่เกิดขึ้น อย่างไร แล้วให้เตรียมใจ ยอมเผชิญกับ ผลเสียหายที่ร้ายแรงที่สุดนั้น อาทีบางคนทำการค้าและประสบภาวะ วิกฤตขนาดที่ธุรกิจของตนเองอาจเสียหาย ก็เกิดความกลัวนานาประการปราชญ์ทางจิตวิทยาสอนว่าให้หา กระดาษมาแผ่นหนึ่งเขียนลงไปว่า เรากลัวว่าอะไรจะเกิดขึ้นแล้วเตรียมตัวรับผลเสียหายที่เกิดขึ้น ก็คือ การ ล้มละลายอย่างมากก็แค่หมดตัว ทำใจให้เตรียมรับเหตุการณ์นั้นแล้วหาทางคิดแก้ไข บางคนจะพบว่าพอ เวลาผ่านไปจริง ๆ ความกลัวก็จะหมดไปเอง
  4. ในกรณีที่ทำอะไร ๆ ก็ไม่หายกลัว ท่านแนะให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ ถ้ารักษาด้วยการแนะ
    ความจริงอย่างไรก็ไม่หาย จิตแพทย์จะให้ยามาระงับประสาท แล้วความกลัวของท่านจะหายไปเอง จงอย่า
    ปล่อยให้ความกลัวทำลายอนาคตของท่าน หรืออย่าทำการโง่ ๆ โดยการหนีชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย อันจะ
    เป็นบาปเป็นกรรมทั้งแก่ตนเองและผู้ที่อยู่ข้างหลัง คือครอบครัวและญาติมิตรของท่าน
วิธีขจัดความเกลียด

วิธีแก้อารมณ์ที่เกลียดนั้น คือต้องหมั่นสร้างอารมณ์แห่งความรัก ความเมตตาให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ และต้อง หัดให้อภัยคนอื่น ที่ทำไม่ถูกอารมณ์ของตน คนที่ให้อภัยคนอื่นได้ความผูกโกรธก็จะน้อยลง เมื่อเราไม่ผูก โกรธความเกลียดเขาจะค่อย ๆ จางลงไป อีกประการหนึ่ง คือ จงพยายามมองคนในแง่ดีอย่าพยายามมอง แง่ร้ายของเขา จงพยายามทำดีต่อคนที่เราไม่ชอบ และควรหัดเป็นคนมีเหตุผล เราต้องพยายามหาเหตุผล ให้ได้ว่า คนๆนั้นเราไม่ชอบเขาเพราะเหตุใด ถ้าไม่ชอบเพราะนิสัยไม่เหมือนกันก็ต้องหัดเปลี่ยนความคิด พยายามทำใจวางเฉยก่อน และในขั้นต่อไปพยายามทำดีต่อเขา ภายหลังพยายามทำใจให้ชอบแล้ว พยายามเป็นมิตรหรือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้ความเกลียด หมดไป ในกรณีที่เราเห็นว่าไม่อาจ ทำใจดังกล่าวได้ คือไม่อาจที่จะคบหาเขาได้ก็อย่ารังเกียจเขา พยายามวางใจให้เป็นอุเบกขา คือวางเฉยแล้ว ไม่ต้องติดต่อกันอีก ก็จะเป็นการดีที่สุด

11 การฝึกใจ

อันที่จริงทั้งหมดที่ได้อรรถาธิบายมาแล้วในทุกข้อสรุปได้ว่า คือการฝึกใจนั่นเอง การฝึกใจหรือการ ฝึกจิตนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากใน การดำเนินชีวิต ใครที่ไม่รู้จักการฝึกจิต เขาจะเป็นคนที่เอาชนะตนเองไม่ได้เลย

หลักการฝึกจิตที่ท่านควรทำทุก ๆ วัน มีดังนี้

1. การสวดมนต์ หรือนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์
2. การทำใจให้นิ่ง หรือเป็นสมาธิ
3. การแผ่เมตตา แก่สรรพสัตว์ถ้วนหน้า แม้แต่แก่ศัตรูของท่าน
4. จงสร้างจิตของท่านให้มีอำนาจในทางที่ดี หรือทางที่เป็นกุศล

การสวดมนต์

การสวดมนต์ เป็นการฝึกจิตที่ดี ที่สุดประการหนึ่ง คนที่สวดมนต์นั้นต้องสวดด้วยความศรัทธาใน ศาสนาที่เขานับถือ และควรทำเป็นกิจวัตรประจำวัน จนเคยชินหรือเป็นกิจปกติ หลักเกณฑ์ในการ สวดมนต์มีดังนี้

1.จงสวดมนต์เมื่อท่านอยู่ลำพังคนเดียว
2.จงสวดมนต์ในที่ ๆ เงียบสงบ
3.จงพยายามขจัดอารมณ์ชั่วไปจากจิต
4.จงผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ
5. จงเพ่งสมาธิหรือมีสติในการสวดมนต์ทุกครั้ง

คนที่มีความสุขได้ จะต้องพยายามขจัดอารมณ์ชั่วร้ายใด ๆ ออกไปจากจิตด้วยการสวดมนต์ จงอย่าเก็บอารมณ์ชั่วร้าย ให้ฝังเข้าจิตใจ ส่วนลึกจนหลับไป เพราะขณะที่ท่านหลับด้วย อารมณ์เลวใด ๆ ท่านจะมีสุขภาพที่เสื่อมโทรมและมีความทุกข์เพิ่มขึ้นทุกที แต่จงปล่อย ให้เกิดกุศลจิต แทนอารมณ์ชั่วก่อน ที่จะหลับ แล้วการหลับของท่าน จะทำให้ท่านได้พักผ่อนจริง ๆ และ มีพลังที่จะทำงานหรือ เผชิญกับปัญหา อุปสรรคในวันต่อมา

การทำจิตให้เป็นสมาธิ

หลังจากสวดมนต์จบแล้วควรใช้เวลาสัก 5-10 นาที เพื่อทำสมาธิหรือทำให้จิตนิ่งวิธีทำสมาธินั้น ได้แก่ การนึกถึงอารมณ์ที่ดี อันใดอันหนึ่ง แล้วคิดแต่อารมณ์นั้น เช่นการนึกถึงพระพุทธเจ้าโดยนึกภาวนาอยู่ในใจว่า พุทโธ หรือจะนึกถึงลมหายใจ เข้าออก โดยบริกรรมว่า "โธ" ในขณะที่ลมหายใจออก เป็นต้น ถ้าเกิดจิต ฟุ้งซ่านใด ๆ ให้ดึงกลับมาที่คำภาวนา จงทำ บ่อย ๆ จะเกิดความเคยชินไปเอง ข้อสำคัญที่สุดต้องทำใจให้นิ่งให้สะอาด และสงบ ถ้าทำได้แล้วค่อยเพิ่มเวลานั่งสมาธิอีกเป็นครึ่งชั่วโมงได้
การแผ่เมตตา หลังจากสวดมนต์ ทำสมาธิแล้ว เราควรฝึกจิตให้มีความรักและความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์โดยการ แผ่เมตตา ดังนี้


สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมด ทั้งสิ้น เราอุทิศบุญกุศลของเราให้หมดด้วยกัน
อะเวรา จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อะโรคา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความเจ็บไข้ ลำบากกาย ลำบากใจเลย
อัพยาปัชฌา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้พยาบาท เบียดเบียนซึ่งกัน และกันเลย
อะนีฆา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้พ้นทุกข์ภัย ทั้งสิ้นเทอญ

12 การสร้างอำนาจจิตในทางกุศล

จงพยายามคิดว่า จิตของท่านเป็นเหมือนโรงกุดังเก็บความคิด ส่วนท่านเป็นพนักงาน รักษาสินค้า ท่านมีความรับผิดชอบ ที่จะจัดระเบียบในโรงกุดังให้ดี บรรจุเข้าไว้แต่สินค้าดี ๆ คือความคิดกุศล เพื่อให้บริษัท โรงงาน คือร่างกายของท่าน มีฐานะดีเป็นปึกแผ่นตลอดไป จงทบทวนอารมณ์แห่งจิตของท่านก่อนที่ จะให้อารมณ์ร้ายใด ๆ เล็ดลอดเข้าไปประทับอยู่ในจิตสำนึกของท่าน

1. ถ้าหากมันเป็นความดี ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเป็นกุศลแล้ว จงพยายามคิดแล้วคิดอีก คิดและ ฝังใจเพ่งเล็งให้บ่อย ๆ ให้มาก ๆ
2. จงพยายามให้มันซึมซาบเข้าไปยังจิตใต้สำนึก เพื่อท่านจะได้เก็บมันไว้ใช้ประโยชน์ในกาลข้างหน้าได้
3. ถ้าหากมันเป็นความคิดไม่ดี เป็นความคิดเลว ความคิดทำลาย เป็นความคิดอกุศล จงบอกตัวเองให้รู้ว่า มันเป็นผลมาจาก ความทุกข์ร้อน และความกลัว
4. จงพยายามค้นลงไปถึงรากของความกลัวนั้น แยกแยะมันออกแล้วก็หัวเราะเยาะมัน ในฐานที่มันล่อ ให้ท่านเป็น ทุกข์ร้อนขึ้น จงขจัดอารมณ์ร้ายเหล่านั้น ออกไปก่อนที่มันจะซึมซาบถึงจิตใต้สำนึก
5. จงพยายามใคร่ครวญมันให้ถ่องแท้จนกระทั่งมันกลายเป็นความคิดที่ดีเป็นความ คิดที่เป็นกุศล
6. เมื่อใดท่านพยายามแปลงความคิดอกุศลจนกลายเป็นความคิดกุศลได้แล้ว จงพยายามทำตาม ข้อแนะนำใน ข้อ 1 และ 2

การเอาชนะใจตนเองที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้น อาจยังไม่เพียงพอ เราพึงฝีกตนในทางที่จะให้ จิตมีอำนาจ มากขึ้น และมีลักษณะที่เข้มแข็งขึ้น จนกลายเป็นลักษณะประจำใจ จึงอาจต่อต้านความอ่อนแอ ความขลาด กลัว ความย่อท้อ ฯลฯ แต่สิ่งที่แสดงถึง ลักษณะของคนที่มีความเข้มแข็งทางจิต ก็คือ คนที่ไม่หวั่นไหวต่อ เหตุการณ์หรือเคราะห์ร้ายใด ๆ ทั้งสิ้น

บุญและบาปเป็นพลังงาน

ร่างกายของสัตว์ เป็นสสารควบคู่กับจิตใจ ซึ่งเป็นพลังงานทั้งร่างกายและจิต ถูกพลังงานแห่งกิเลสปรุงแต่งให้จิตมืดบอด หรือ ราคะ โทสะ และโมหะ ส่งผลให้เกิดมโนกรรม วจีกรรม และ กายกรรม และกระทำความชั่วต่างๆ ได้ตามอำนาจของกรรมนั้นๆ
บุคคลที่มีจิตมีสัมมาสมาธิ สัมมาทิฏฐิ มีจิตเมตตาปราณี ทางการแพทย์พบว่า ต่อมใต้สมอง จะผลิตสารบุญเรียกว่า เอนดอร์ฟีน (Endorphine) ออกมามากส่งผล ให้ร่างกายเบาสบาย ที่เรียกว่า เกิดปิติ กินได้นอนหลับไม่ฝันร้าย หรือไม่ฝันเลย ผิวพรรณผ่องใสใบหน้าสดชื่น โคเรสเตอรอลละลายสลายตัว เม็ดเลือดขาวแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรคสูง ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้ดี เจ็บป่วยทางกายน้อยลง บาดแผลหายเร็วกว่าผู้มีจิตใจเป็นบาปถึงเท่าตัวหากเป็น โรคมะเร็ง เซลล์มะเร็งจะหยุดหรือลุกลามช้าลง

ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่จิตมีมิจฉาสมาธิ มิจฉาทิฏฐิ จิตที่คิดเกลียด โกรธ อิจฉาริษยา อาฆาต พยาบาท เคียดแค้น เครียด วิตกกังวล ต่อมหมวกไตจะสร้างสารบาปออกมามาก สารนี้จะซึมเข้าสู่กระแสโลหิตแล้วไปออกฤทธิ์ที่อวัยวะเป้าหมาย ดังนี้

1. สารแอดรินาลิน (Adrenalin) ทำให้หัวใจเต้นเร็งแรง เส้นโลหิตแดงหดเกร็ง เป็นเหตุให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ถ้าเส้นเลือดแดง ที่ไปหล่อเลี้ยง กล้ามเนื้อผนังหัวใจ หดจนตีบตัน หัวใจจะวายถึงตายได้ โคเรสเตอรอลจะถูกสร้างขึ้นทั้งๆ ที่มิได้รับประทานไขมันสัตว์ กะทิ ไข่แดง หอยนางลม หรือเครื่องในสัตว์มากกว่าปกติ

2. สารสเตียร์รอยด์ (Sterroid) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการหลั่งน้ำย่อยอาหาร อาจมีผลทำให้หลั่งมากหรือน้อยก็ได้ ถ้าหลั่งมาก น้ำกรด ในน้ำย่อยย่อมกัดผนังด้านในของกระเพาะอาหารทำให้ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ถ้ากัดกร่อน เส้นเลือดใหญ่ทะลุ จะอาเจียนเป็นเลือด หากช่วยไม่ทันจะเสียเลือดจนตาย ถ้าหลั่งน้อย ท้องจะอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ไม่อยากรับประทานอาหาร

3. สารแลคติค แอซิด หรือ เกลือแลคติค (Lactic Acid) ที่เกิดขึ้นแล้วมีผลต่อร่างกาย คือ

  • ทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำลายความแข็งแรงของเม็ดเลือดขาว เหมือนฤทธิ์ของ HIV เชื้อโรค AIDS ร่างกายจึงอ่อนแอ เจ็บป่วยบ่อย หายนาน
  • เกล็ดเลือดในกระแสโลหิตจับตัวกันเป็นลิ่มเล็กๆ ไปอุดตันตามหลอดเลือดฝอยต่างๆ ถ้าเกิดขึ้นกับอวัยวะสำคัญ เช่น มันสมองจะทำให้เกิดอัมพาตขึ้นได้

พลังงานแห่งวิบากกรรม เหล่านี้ เมื่อถูกก่อขึ้นแล้วมิอาจสูญหายไปในทางใดได้ พลังงานดังกล่าวจะตามสนองเรื่อยไป ตามโอกาสตราบจน ผู้นั้นสิ้นกิเลส สิ้นกรรม ไม่ก่อพลังงานของกรรมใหม่อีกต่อไป ที่เรียกว่า กรรมเป็นผู้ติดตาม
เมื่อท่านทราบผลกรรมที่เป็นปัจจุบันกรรมเช่นนี้แล้ว ขอได้หยุดสร้างกรรมต่อกัน ทั้ง มโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม ลังงานของวิบากกรรม จะเกิดขึ้นน้อย หรือไม่เกิดขึ้น การทำงานทุกระบบของร่างกาย จะเป็นปกติ ท่านจะมีสุขภาพสมบูรณ์ทั้ง ร่างกายและจิตใจ


หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 ธันวาคม 2536 และ 30 มกราคม 2537 ลงบทความเรื่องสัจธรรม โดย พญ.บุษกร