วิธีเอาชนะความกลัว 2

ความวิตกกังวล และความกลัวที่เป็นปกติ

มนุษย์เราก็เหมือนสัตว์อื่นคือจะตอบสนองต่อสถานการณ์บางอย่าง ด้วยความกลัว หรือความวิตกกังวล ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวมาโดย ธรรมชาติ และมีความสำคัญต่อความอยู่รอด คนที่ไม่มีความกลัวเลยมักจะเอาตัวเขาไปเผชิญกับอันตราย โดยไม่จำเป็น ความอยู่รอดย่อมขึ้นอยู่กับความสมดุลย์ระหว่างความกล้า และความระแวดระวัง

โดยทั่วไปความกลัว และความวิตกกังวลเกิดขึ้นจากปัจจัย๓อย่างร่วมกันคือ สิ่งที่เป็นมาตั้งแต่เกิด สิ่งที่ต้องอาศัยการพัฒนาของสมอง และสิ่งที่ได้รับจากการเรียนรู้ การตอบสนองของเด็กแรกเกิดซึ่งจะค่อยๆ เปลี่ยนไป เมื่อโตขึ้น และเมื่อได้มีการเรียนรู้ทั้งโดยการประสบด้วยตนเอง และจากการดูคนอื่นเป็นตัวอย่าง การมีแนวโน้มที่จะตกใจกลัวได้ง่ายเรียกว่าความขลาด(timidity) ส่วนหนึ่งเกิดจากพันธุกรรม ดังจะเห็นได้ในสัตว์บางชนิด ซึ่งขี้ขลาดขี้ตื่นซึ่งอาจทำให้มีโอกาสอยู่รอดมากขึ้น กระต่ายจะขี้ขลาดกว่าเสือ แต่กระต่ายบางตัวก็ขี้ตื่นมากกว่ากระต่ายตัวอื่นๆ ในคนก็เช่นเดียวกัน เด็กคู่แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันมักแสดงความกลัวเท่าๆ กันเช่นการกลัวคนแปลกหน้าในช่วงขวบปีแรก เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่คู่แฝดก็มักจะมีอาการประสาทที่คล้ายๆ กัน

ความกลัวที่"กำหนด"โดยธรรมชาติ แม้ว่าทั้งคน และสัตว์จะกลัวบางสิ่งบางอย่างในบางครั้ง แต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างเช่นกัน ที่เรากลัวมากเป็นพิเศษทั้งๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน สิ่งเหล่านี้อาจมีความสำคัญในวิวัฒนาการของมนุษย์ก็ได้ คน หรือสัตว์อาจเกิดกลัวอะไรหลังจากเคยมีประสบการณ์ไม่ดีกับ สิ่งนั้นได้แต่ของบางอย่าง ก็ทำให้เกิดความประสาทกลัวได้ง่ายกว่าของอื่นๆ ดัง ตัวอย่างเด็กหญิงอายุ๗ปีผู้หนึ่งได้ยินเสียงสวบสาบบนพื้นหญ้า และคิดว่าเป็นงู เธอรีบวิ่งหนีลงเขาโดยไม่บอกใครว่าเห็นอะไร หนึ่งชั่วโมงต่อมาเธอถูกประตูรถของพ่อหนีบมือจนต้องปิดพลาสเตอร์ เธอบอกพ่อแม่เรื่องเจองูในเวลาต่อมา และเริ่มกลัวงูมากขึ้นเรื่อยๆ และพ่อแม่ก็พยายามช่วยเธอโดยการพยายามไม่พูดถึงงู เปลี่ยนช่องทีวี และเก็บหนังสือพิมพ์ที่มีเรื่องเกี่ยวกับงู ผลก็คือความประสาทกลัวงูของเธอเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนอายุ๒๐ปีก็ยังไม่หาย จะเห็นว่าในกรณีของเด็กคนนี้ประตูรถทำให้เจ็บมากกว่างูเป็นไหนๆ แต่เธอไม่ยักกลัวประตูรถกลับมากลัวงูแทน อาจเป็น เพราะสมองของมนุษย์ถูกกำหนดให้กลัวของอะไรที่เลื้อยได้มากกว่าจะให้กลัวของที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างประตูรถ ถ้าได้รับความเจ็บปวดจากรถยนต์ ก้อนอิฐ เศษแก้ว สัตว์จักรยาน เราจะมีแนวโน้มที่จะกลัวสัตว์มากกว่าอย่างอื่น สรุปว่าตัวกระตุ้นบางชนิดจะทำให้เกิดความกลัวได้มากเป็นพิเศษ

อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นชายชาวอิสราเอลขับรถบรรทุกหลงเข้าไปในเขตเลบานอน เขาถูกจับไป สอบสวน และทรมาน เขาถูกจับมัดไว้กับเก้าอี้ ตีหัว และถูกจับถอนฟัน ตลอด๓วันที่ถูกทรมานเขาไม่ยอมกินอาหารเลย เพราะกลัวโดนวางยาพิษยอมดื่มเฉพาะน้ำ หลังจากได้รับการปล่อยตัวเขากินอาหารแข็งไม่ได้เลย เพราะจะอาเจียนทุกครั้งกินได้แต่อาหารเหลว ฟันปลอมก็ทำให้อาเจียนแม้จะใส่ให้ขณะดมยาสลบก็ตาม เขาผอมลงมาก เพราะกินอาหารแข็งไม่ได้เป็นเวลาถึงหนึ่งปี จุดที่น่าสนใจคือเขาไม่เกิด อาการกลัวการขับรถ หรือนั่งเก้าอี้อาจเป็น เพราะไม่ใช่สิ่งที่ต้องกลัวตามธรรมชาติ ส่วนความเจ็บปวด ที่เหงือก และการที่ไม่ได้กินอาหารแข็งเลยในช่วง๒-๓วันทำให้กลไกในการสำรอก(อาการคลื่นไส้เมื่อลองเอานิ้วแตะโคนลิ้น หรือในคอหอย)ไวมากขึ้น ทำให้เกิดอาการจะอาเจียนเมื่อกินอาหารแข็ง

สิ่งที่เด็กๆ มักจะกลัว:ของแปลกๆ คนแปลกหน้า และการเคลื่อนไหว เด็กแรกเกิดจะตกใจเมื่อมีเสียงดังๆ หรือเมื่อมีสิ่งกระตุ้นอะไรก็ตามที่ไม่คุ้นเคย เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และรุนแรง เด็กอายุ๖-๑๒เดือนส่วนมากจะเริ่มจำแม่ และคนในครอบครัวได้ และจะเริ่มกลัวคนแปลกหน้า

ความกลัวคนแปลกหน้า เป็นตัวอย่างของการกลัวสิ่งที่ไม่คุ้นเคยซึ่งพบได้ในสัตว์หลายชนิดเช่นกัน นักจิตวิทยาชาวแคนาดาชื่อเฮ็ปป์พบว่าลิงชิมแปนซีกลัวหน้ากากปูนพลาสเตอร์ที่หล่อจากหน้าของลิงตัวหนึ่งที่ตายไปแล้ว เด็กเล็กๆ ก็มักจะกลัวหน้ากากแปลกๆ หรือของซึ่งแปลกไปจากสิ่งที่เคยคุ้นเคย เด็กหญิงคนหนึ่งเอาวิกผมจากโรงเรียนมาเล่นอวดพ่อแม่ที่บ้าน เล่นเสร็จก็เก็บไว้ในตู้เก็บของเล่น เมื่อน้องสาวอายุ๓ขวบจะมาเอาของเล่นบังเอิญไปจับโดนวิกผมเข้า ด้วยความตกใจคิดว่าเป็นตัวอะไร เด็กน้อยร้องเสียงหลง และกลัววิกผมไปอีกหลายปีแทนที่จะกลัวอยู่ไม่นานเหมือนเด็กอื่นๆ แม้ว่าสิ่งแปลกประหลาดจะทำให้กลัวได้แต่บางครั้งก็น่าสนใจ และทำให้กลายเป็นความกลัวๆ กล้าๆ ไปได้ ดังตัวอย่างพฤติกรรมของนกกาตัวหนึ่งซึ่งคอนราด ลอเรนซ์ได้บรรยายไว้ เวลาอีกาพบของแปลกๆ ที่ไม่เคยรู้จักเช่นขวดเก่าๆ กล้องถ่ายรูปสัตว์สตัฟ หรืออะไรก็ตามมันจะหนีก่อน หาที่เกาะเหมาะๆ แล้วจ้องมองดูก่อน..ด้วยท่าทางระวังระไวสุดขีด แล้วค่อยบินลงมาดูห่างๆ แล้วค่อยๆ กระโดดเข้ามาใกล้ๆ พร้อมทั้งขยับปีกเตรียมพร้อมที่จะบินได้ทุกเวลาลองจิกดูซักทีแล้วรีบบิน กลับมาตั้งหลักที่เก่า ถ้าทุกอย่างยังเฉยๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมันจะย้อยกลับลงมาลองดูใหม่ด้วยท่าทาง มั่นอกมั่นใจขึ้นกว่าเดิม ถ้าสิ่งนั้นเป็นสัตว์ที่จิกแล้วหนีมันจะเลิกกลัว และไล่ตามทันที แต่ถ้าจิกแล้วสู้มัน อาจจะเล่นด้วย หรือถ้าไม่สนุกเท่าไรมันก็จะเลิกสนใจ แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่มีชีวิตมันก็ยังไม่ยอมเลิกราง่ายๆ มันจะใช้เท้าข้างหนึ่งจับไว้แล้วจิก และพยายามฉีกให้เป็นชิ้นๆ เอาปากสอดเข้าไปตามช่องต่างๆ แล้ว พยายามอ้าปากง้างออกแรงๆ ในที่สุดถ้าของไม่ใหญ่เกินไปมันจะเอาไปทิ้งตามซอกตามมุมแล้วหาของที่ไม่สดุดตามาปิด

เด็กเล็กๆ จะกลัวสิ่งที่ไม่คุ้นเคยโดยเฉพาะของที่เคลื่อนไหวได้ในลักษณะเลื้อยไปมาดังตัวอย่างลูกชายอายุ๒ขวบครึ่งของผู้เขียน ตอนนั้นเด็กยังไม่เคยเห็นงู และไม่รู้จักคำว่างูด้วย ผู้เขียนอุ้มลูกลงไปเดินชายหาดช่วงน้ำลง น้ำลงมากจนเห็นสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลเข้มยาวเกือบฟุตอยู่มากมายดู เหมือนปลาไหล หรืองูที่ตายแล้วเป็นพันๆ ตัว นอกจากนั้นยังมีสาหร่ายสีเขียวรูปร่างแบบเดียวกันไหวตามลื่นอยู่ในน้ำตื้นๆ ใกล้ๆ กันนั้น เด็กร้องลั่นเมื่อเห็นสาหร่ายบนทราย และเกาะผู้เขียนแน่นไม่ยอมให้ผู้เขียนลงนั่งบนพื้นทราย เมื่อผู้เขียนหยิบสาหร่ายให้ดูเด็กร้องกรี๊ด และไม่ยอมจับด้วย และยิ่งกลัวมากขึ้นเมื่อเห็นสาหร่ายในน้ำเคลื่อนไหวตามคลื่น หรือ เมื่อผู้เขียนพยายามอุ้มเด็กไปเหนือน้ำเพื่อให้ดูสาหร่ายชัดๆ ผู้เขียนค่อยๆ ทำให้เด็กคุ้นเคยกับสาหร่ายโดยเล่นสาหร่ายให้ดู และชวนให้เด็กลองดูบ้าง กว่าจะยอมนั่งบนทรายได้ต้องใช้เวลาถึงครึ่งชั่วโมงแต่ไม่ยอมเข้าใกล้น้ำ และยอมหยิบสาหร่ายอย่างแหยงๆ แล้วรีบสะบัดทิ้ง วันต่อมาเด็กหยิบสาหร่ายได้เต็มมือขึ้นแต่ก็ยังกลัวๆ อยู่ สัปดาห์ต่อมาเด็กหยิบสาหร่ายไปโยนทิ้งได้แต่ไม่ชอบให้มันติดอยู่กับมือ การที่ต้องเผชิญกับมันอยู่เรื่อยๆ ทำให้เด็กค่อยๆ กลัว น้อยลงเรื่อยๆ และนี่คือหลักในการรักษาความกลัวทั้งหลาย

เป็นที่รู้กันว่าทั้งคน และลิงกลัวสิ่งที่เคลื่อนไหวไปมาแบบกระตุกๆ หรือเลื้อยได้ซึ่งจะเห็นชัดใน เด็กอายุ๒ถึง๔ปี และอาจจะเป็นพื้นฐานของความกลัวงูต่อไป การกลัวแมงมุมก็เป็นทำนองเดียวกันเด็กอายุ๒ถึง๔ปีมักกลัวสัตว์โดยเฉพาะเมื่อสัตว์กำลังเลื่อนไหวเข้าหาเด็กอย่างรวดเร็วในลักษณะ กระตุกๆ หรือกำลังอยู่เหนือตัวเด็ก เด็กเล็กๆ อาจจับสัตว์ได้โดยไม่กลัวเลยแต่ถ้าเห็นสัตว์นั้นวิ่งเข้ามาหาเด็กจะกลัว ถ้าสัตว์วิ่งไปทางอื่นเด็กก็จะหายกลัวทันทีเช่นกัน ดังนั้นความกลัวน่าจะเกิดจากลักษณะการเคลื่อนไหวมากกว่าจากตัวสัตว์เอง

การกลัวอะไรตามอย่างผู้อื่น

เด็กบางคนกลัวอะไรตามอย่างพ่อแม่ถ้าพ่อแม่เป็นโรคประสาทกลัวเด็กก็มักจะกลัวสิ่งเดียว กันเมื่อตกใจเด็กจะดูผู้ใหญ่ที่อยู่ด้วยขณะนั้นถ้าผู้ใหญ่ก็กลัวเด็กจะกลัวตาม ดังตัวอย่างคุณแม่รายหนึ่ง กำลังป้อนข้าวให้ลูกอายุ๑๘เดือน อยู่ๆ ก็มีค้างคาวบินเข้ามาแม่ตกใจคว้าข้อเท้าลูกอุ้มกลับหัวกลับหางวิ่ง ไปร้องไปถ้วยชามแตกหมด หลังจากนั้นเด็กคนนี้เลยกลัวของทุกอย่างที่บินได้รวมทั้งผีเสื้อด้วยจนโตก็ยังไม่หาย แม้ว่าการเห็นคนอื่นกลัวจะทำให้เป็นโรคประสาทกลัวได้แต่ก็ไม่แน่เสมอไป คนที่เป็นโรคประสาทกลัวมีเพียง๑ใน๖เท่านั้นที่มีญาติสนิทเป็นโรคประสาทกลัวชนิดเดียวกัน

ความกลัวของเด็กๆ เปลี่ยนแปลงได้เมื่อโตขึ้น

เด็กๆ อาจเกิดกลัวอะไรขึ้นมาได้โดยไม่ทราบสาเหตุ และอยู่ๆ ก็อาจหายไปเองเช่นกัน เมื่อเด็กไม่สบาย และอ้อนอาการกลัวที่เคยหายไปแล้วอาจกลับมาอีก และเมื่อหายป่วยความกลัวก็อาจหายไปเอง เด็กแต่ละวัยจะกลัวอะไรไม่เหมือนกัน เด็กอายุ๒ถึง๔ขวบมักกลัวสัตว์ เด็ก๔ถึง๖ขวบมักกลัวความมืด หรือสิ่งสมมุติเช่นผี หลัง๖ขวบเด็กมักไม่ค่อยเกิดความประสาทกลัวสัตว์อะไรใหม่ ช่วงอายุ๙ถึง๑๑ปี
ความกลัวสัตว์จะหายไปอย่างรวดเร็วทั้งในเด็กชาย และเด็กหญิง สิ่งอื่นๆ ที่เด็กๆ มักจะกลัวกันได้แก่ ลม พายุ ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ รถยนต์ รถไฟ การที่เด็กเริ่มกลัว และหายกลัวอะไรในช่วงอายุที่ค่อนข้างจำเพาะอาจเป็นไปได้หลายสาเหตุ และการที่ต้องมีวัตถุเข้ามาเกี่ยวข้องกับความกลัวในเด็ก ทุกวัยนั้น

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากพัฒนาการของสมองอาจเป็นปัจจัยหนึ่ง จากการศึกษาในลิงแสมพบว่าลูกลิงจะกลัวลิงอื่นขู่มากที่สุดในช่วงอายุ๒ถึง๔เดือน ความกลัวบางอย่างเริ่มเกิดในบางช่วงอายุอาจเป็น เพราะเด็กอายุขนาดนั้นจะพบสิ่งนั้นเป็นครั้งแรกเช่นในเด็กกลัวโรงเรียน เมื่อเด็กอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อนเด็กจะเกิดความกังวลแต่จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเด็กเริ่มเข้าโรงเรียน หรือย้ายโรงเรียนใหม่ๆ อาการกลัวโรงเรียนบ้างเป็นสิ่งปกติแต่มักไม่ถึงกับไม่ยอมไปโรงเรียนเลย

เด็กส่วนใหญ่จะเคยมีความกลัวอะไรบางอย่างโดยเฉพาะในเด็กหญิงแต่ไม่ค่อยถึงขนาดกลัวมากจนเกิดปัญหา และเมื่อเข้าวัยรุ่นความกลัวจะค่อยๆ หายไป

ความกลัวของเด็กทั้ง๕ คนในครอบครัวเดียวกัน นักจิตวิทยาชาวอังกฤษชื่อซีดับบลิววาเลนไทน์สังเกตุความกลัวของลูกของตัวเองทั้ง๕คนเป็นเวลากว่า๑๐ปีพบว่าเด็กจะตกใจกับเสียงดัง โดยเฉพาะเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในช่วงอายุตั้งแต่ ๒ สัปดาห์จนถึง๒-๓เดือน จะเริ่มกลัวของประหลาดหลัง๑ขวบไปแล้ว และในช่วงอายุระหว่าง๑-๓ปีเด็กจะเริ่มกลัวทะเล ความกลัวพวกนี้ไม่น่าจะเกิดจากการมีประสบการณ์ไม่ดีมาก่อน หรือมีใครมาหลอกให้กลัว เพราะเขาอยู่กับลูกเกือบทุกคนขณะที่ลูกแต่ละคนเห็นทะเลเป็นครั้งแรก ลูกๆ จะได้รับการสนับสนุนให้ชอบ และลงทะเล ก่อนหน้านั้นเด็กจะเคยลงน้ำก็แต่เวลาอาบน้ำเท่านั้นซึ่งทุกคนก็ชอบ หลัง๑ขวบเด็กหลายคนจะกลัวสัตว์ทั้งๆ ที่เคยไม่กลัว และไม่เคยมีประสบการณ์ไม่ดีมาก่อน มี๒คนที่กลัวความมืดซึ่งเป็นตอนอายุ๕ขวบ

เด็กแต่ละคนแสดงความกลัวไม่เท่ากัน บางคนแทบจะไม่เคยกลัวอะไรเลยตั้งแต่เกิดแต่บางคนก็ขี้กลัว การมีคนที่เด็กมั่นใจอยู่เป็นเพื่อนด้วยจะทำให้ความกลัวลดลงไปมาก และเด็กไม่ได้กลัวทุกครั้งที่พบสิ่งที่ตนกลัว เด็กจะกลัวมาก หรือกลัวน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะของสิ่งที่กลัว ความขลาดของเด็กเอง การมีเพื่อนอยู่ด้วย และสภาวะของเด็กในขณะนั้น

ความกลัวที่พบบ่อยทั้งในเด็ก และในผู้ใหญ่

การถูกจ้องมอง และความตื่นเวทีการถูกจ้องมองสามารถกระตุ้นให้กลัวได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ เด็กทารกจะสนใจตา๒ตาที่เคลื่อนไหวไปด้วยกัน เวลากินนมเด็กก็จะจ้องที่ตาของแม่ เด็กอายุ๒เดือนจะยิ้มเมื่อมีคนเอาหน้ากากที่วาดตา๒ตามาโบกอยู่ตรงหน้า เด็กเล็กๆ จะวาดรูปโดยเน้นลูกตา ดวงตาที่จ้องมองสามารถเร้าให้เกิดอารมณ์ที่รุนแรงได้ คนที่ไวต่อสายตาผู้อื่นจนเพียงแค่ถูกมองก็ทำให้เกิดอาการประสาทกลัว และตื่นเวทีได้แล้ว การตื่นเวทีพบได้บ่อยในนักแสดงนักพูด และบางครั้งแม้แต่นักการเมืองที่มีประสบการณ์

ความสูง

ความกลัวความสูงจะเริ่มเห็นในเด็กเล็กๆ ตั้งแต่เริ่มคลานได้ และแม้จะโตเป็นผู้ใหญ่เราก็ยังไม่ชอบความสูงอยู่ดี พวกเราส่วนใหญ่จะเคยมีความรู้สึก อยากกระโจนออกไปเวลาอยู่บนหน้าผาแต่จะหยุดไว้ได้ เพราะสัญชาติญาณในการปกป้องตัวเอง ความกลัวความสูงมักทำให้คนที่อยู่ตึกสูงๆ รู้สึกไม่ค่อยสบาย โดยเฉพาะถ้าผนังด้านนอกสุดเป็นกระจกตลอดตั้งแต่พื้นถึงเพดาน ส่วนหนึ่งเป็น เพราะความรู้สึกไม่เป็นส่วนตัว ส่วนหนึ่งเป็น เพราะเวลามองลงมาทำให้รู้สึกวิงเวียน และอีกส่วนหนึ่งเป็น เพราะห้องสว่างเกินไป การติดผ้าม่านจะช่วยให้ดีขึ้น เพราะช่วยลดความสว่าง และรู้สึกว่าห้องเล็กลง เวลามีงานเลี้ยงตอนกลางวันในห้องลักษณะดังกล่าวแขกจำนวนมากจะไม่ค่อยชอบด้านสว่างของห้องไปจับกลุ่มคุยกันทางด้านในซึ่งสว่างน้อยกว่า

สุภาพสตรีท่านหนึ่งอยู่อพาร์ตเมนท์ชั้นที่๒๒ในกรุงลอนดอนกล่าวถึงความรู้สึกไม่สบายจากความรู้สึกกว้าง และสว่างเกินไป

ตอนที่สามีฉันมาเห็นทีแรกๆ ท่าทางเขาชอบมาก เขาว่าตอนกลางคืนคงราวกับเมืองเนรมิต เวลามีเพื่อนฝูงมาหาราวๆ ครึ่งชั่วโมงแรกเพื่อนๆ มักมายืนดูวิวที่หน้าต่างกัน มีบางคนเหมือนกันที่รู้สึกวิงเวียน มีอยู่คนหนึ่งรูปร่างล่ำๆ เตี้ยๆ คล้ายนักมวยปล้ำ เขาไม่ยอมไปที่หน้าต่างเลยอยู่แต่ข้างๆ เตาตลอด แรกๆ ฉันเองก็รู้สึกแบบเดียวกันนี้แต่เดี๋ยวนี้ฉันจะเป็นเฉพาะเวลาเช็ดหน้าต่างเท่านั้น ที่จริงหน้าต่างที่นี่ก็เช็ดไม่ยากแต่ฉันต้องให้สามีเป็นคนทำ เพราะฉันจะรู้สึกจะอาเจียนทุกทีเวลาเช็ดหน้าต่างห้องนอนเด็กเป็นห้องเล็กๆ ดังนั้นตอนมาอยู่ใหม่ๆ เราจึงต้องจัดเตียงเด็กไว้ชิดหน้าต่างซึ่งลูกสาวคนโตไม่ยอมนอนเตียงบนจะนอนเตียงล่างซึ่งเล็กกว่า ฉันเองก็ไม่รู้หรอกว่าทำไมจนวันหนึ่งฉันลองขึ้นมาดูถึงได้เข้าใจ มันน่ากลัวจริงๆ เหมือนนอนอยู่บนขอบหน้าผามีแค่แผ่นกระจกคั่นอยู่เท่านั้นถัดออกไปก็โล่งตลอดเลย ผู้อาศัยบนตึกสูงอีกรายบอกว่า"มันมีอะไรบางอย่างที่ทำให้มันรู้สึกไม่เหมือนบ้าน เวลาปิดม่านอยู่จะรู้สึกสบายแต่ก็เหมือนตัดขาดจากโลกภายนอกไปเลย"

ความกลัวที่พบบ่อยในผู้ใหญ่

สถานการณ์หลายอย่างทำให้เกิดความกังวลได้ การสอบมักทำให้เกิดความเครียดได้ซึ่งอาจเครียดมากจนทำสอบได้ไม่ดีแม้ว่าจะมีความสามารถก็ตาม ในสถานการณ์ที่น่ากลัวเช่นการอยู่ในสงคราม หรือการกระโดดร่มย่อมมีความกลัว และความกังวลเกิดขึ้น การไปหาหมอ หรือหมอฟันก็ อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลได้เช่นกัน หลายๆ คนไม่ยอมไปหาหมอฟันตามนัด เพราะกลัวการทำฟัน โดยทั่วไปความกังวลจะลดลงอย่างรวดเร็วหลังการทำฟันแต่ในกรณีหลังการผ่าตัดความกังวลจะลดลงช้า กว่าความกังวลจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใกล้เวลาผ่าตัดเข้ามา และถึงจุดสูงสุดขณะอยู่ในห้องผ่าตัดบางคนแค่เห็นโรงพยาบาล หรือรถพยาบาล ก็กลัวแล้ว และอาจถึงกับไม่ยอมดูรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการแพทย์เลย

ความกังวลขณะขับรถ

การขับรถยนต์เป็นความเครียดอย่างหนึ่ง จากการศึกษาในพนักงานขนส่งมวลชนในลอนดอนพบว่า คนขับรถมีความดันโลหิต ระดับ โคเลสเตอรอล และสถิติการเป็นโรคหัวใจสูงกว่าพนักงานเก็บค่าโดยสาร อุบัติเหตุมักเกิดในช่วงที่คนขับ กำลังมีปัญหา เช่นเรื่องงาน เรื่องชีวิตสมรส ปัญหาการเงิน และขณะที่มีปัญหาคนขับอาจดื่มสุราด้วยซึ่งยิ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้นไปอีก ผู้หญิง และคนแก่ ขับรถเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงน้อยกว่าผู้ชายหนุ่มๆ แม้ว่าจะไม่ฉับไวเท่า อาจเป็น เพราะกล้าเสี่ยงน้อยกว่า ความเครียด ขณะขับรถ จะสูงขึ้นในช่วงกลางคืน และช่วงเช้ามืด และถ้ายิ่งต้องขับรถเป็นเวลา นานๆ ติดต่อกันโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ด้วยจะยิ่งเครียดมาก มีคำแนะนำว่าไม่ควรขับรถนานเกิน๙ชั่วโมง -รวมเวลาพักแล้ว-โดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน ๔๕ปี และควรหยุดพักทุกๆ ๓ชั่วโมง

ความกังวลต่อการพลัดพราก (separation anxiety)

ความกังวลต่อการพลัดพรากเป็นการตอบสนองต่อการที่อาจจะต้องสูญเสียของรัก ความเศร้าโศก (grief) เป็นการตอบสนองต่อการพลัดพราก ที่เกิดจาก การสูญเสียของรักไปจริงๆ ลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิด จะแสดงความกังวลต่อการพลัดพราก เมื่อถูกแยกจากแม่ในสัตว์เลี้ยงลูก ด้วยนม ความผูกพันอันแรก มักเป็นความผูกพันระหว่างแม่กับลูกมันจะพยายามอยู่ใกล้ๆ กัน และถ้าถูกจับแยกมันจะพยายาม กลับเข้ามาอยู่ด้วยกันอีก ตัวที่แข็งแรงกว่าเช่นตัวแม่จะสู้ และคอยขับไล่ผู้ที่จะมาแยก ตัวที่อ่อนแอกว่าเช่นตัวลูกจะคอยหนี และคอยติดตามตัวที่แข็งแรงกว่า เมื่อคู่ที่มีความผูกพันกันต้องถูกแยก และกลับมาอยู่ด้วยกันไม่ได้มันจะแสดงอาการเป็นทุกข์ซึ่งก็คือความกังวลต่อการพลัดพราก ลูกสัตว์ที่เริ่มมีความผูกพันกับแม่แล้วขณะแม่อยู่ และขณะที่แม่ไม่อยู่จะแสดงพฤติกรรมต่างกันอยู่ถ้าแม่อยู่ด้วยมันจะวิ่งเล่นสนุกสนาน แต่ถ้าแม่ไม่อยู่มันจะดูเครียด และไม่เล่น ความผูกพันในคนมักเกิดร่วมกับความรัก และการพึ่งพิงกัน

ลูกของสัตว์จำพวกลิง และคนมักขดตัวร้องไห้เมื่อต้องแยกจากแม่ และยิ่งมีคนแปลกหน้าอยู่ด้วยมันจะยิ่งมีความกังวลมากขึ้น เด็กที่ต้องอยู่โรงยาบาลถ้าเอาของเล่นมาด้วยจะรู้สึกดีขึ้น และเมื่อได้กลับบ้านการพูดถึงโรงพยาบาลจะทำให้เด็กเกิดความกังวลกลับขึ้นมาอีก เมื่อโตขึ้นเด็กจะค่อยๆ แยกจากพ่อแม่ได้โดยไม่เดือดร้อนมากนัก การไปเที่ยวค้างคืนกับเพื่อน ครั้งแรกๆ อาจเกิดอาการคิดถึงบ้านบ้างแต่ต่อมาก็จะค่อยๆ ชินขึ้น การต้องจากบ้านไปเป็นบางครั้งจะช่วยให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองเมื่อโตขึ้น คนที่ไม่เคยจากบ้านเลยเมื่อโตขึ้นอาจมีปัญหาเช่นผู้ป่วย

หญิงรายหนึ่งอายุ๒๐ปีเคยแยกจากแม่เกิน๑วันเพียงครั้งเดียวคือเมื่อแม่ไปต่างประเทศเป็นเวลา ๒สัปดาห์ผู้ป่วยพยายามโทรศัพท์หาแม่หลายครั้ง เธอติดแม่มากตั้งแต่เด็ก และไม่ยอมห่างแม่เลย เมื่อจำเป็นต้องแยกจากแม่เธอจะต้องโทรศัพท์มาหาแม่เป็นประจำ แม้แต่ขณะพบแพทย์เธอก็ยังต้อง คอยดูว่าแม่จะอยู่ที่ไหน ผู้ป่วยเคยไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนครั้งหนึ่งเมื่ออายุ๑๒ปี เธอโทรศัพท์หาแม่วันละหลายๆ ครั้ง และอยู่ได้เพียง๒-๓วัน ก็ต้องขอกลับบ้านก่อนผู้ป่วยไม่ชอบอยู่บ้านคนเดียว และไม่ชอบขึ้นลิฟท์เมื่อแต่งงานเธอก็ยังคงอยู่กับแม่พร้อมกับสามี และลูกๆ ยังดีที่ผู้ป่วยที่เป็นมากแบบนี้พบได้ไม่บ่อยนัก


หนังสือแปลจาก Living with fear ของ Isaac M. Marks โดย นพ. สเปญ อุ่นอนงค์