วิธีเอาชนะความกลัว 4

โรคซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวล

ส่วนที่เหลือของหนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึง ความวิตกกังวลที่รุนแรงในรูปแบบต่างๆ และการรักษาสมัยใหม่ผู้อ่านบางท่านอาจเคยมีอาการ ที่จะกล่าวต่อไปแต่ถ้าอาการดังกล่าวไม่ได้รบกวนชีวิต ประจำวันก็ไม่จำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษา แต่การรู้ว่า คนอื่นก็เป็นกัน และ มีวิธีรักษาก็มีประโยชน์เช่น กันตัวอย่างหลายๆ รายได้มาจากผู้ป่วยจริงๆ ที่มารักษาแล้วได้ผลดี เราจะพูดถึงปัญหาแต่ละอย่างแล้ว ตามด้วยวิธีรักษาสั้นๆ ในบทสุดท้ายเราจะสรุปเป็นหลักการทั่วไปในการรักษา ในปัจจุบันซึ่งผู้อ่านสามารถดัดแปลงนำไปใช้ได้

ดังที่เราได้ทราบกันแล้วว่าเราจะถือว่าความกังวล และความกลัวเป็นภาวะผิดปกติก็ต่อเมื่อมันรุนแรงเกินกว่าที่ควรจะเป็นในสังคมนั้นๆ และรบกวนชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของคนๆ นั้น เมื่ออาการ เป็นมากผู้ป่วยมักมาขอรับการรักษาซึ่งอาการดังกล่าว มักรุนแรง ถี่ และเป็นนานเกินกว่าที่ผู้นั้น หรือเพื่อนๆ เคยเป็นกัน ความกังวล และความกลัวอาจเกิดได้ในปัญหาทางจิตเวชหลายชนิด ปัญหาทางจิตเวชดังกล่าวหลายๆ ชนิดจะมีลักษณะจำเพาะซึ่งเราจะเรียกว่ากลุ่มอาการ กลุ่มอาการก็คือลักษณะของอาการ หรือปัญหาหลายๆ อย่างที่มักเกิดขึ้นด้วยกันในช่วงเวลาหนึ่ง แม้ว่าจะเคยมีคนกล่าวถากถางว่า คนฉลาดควรให้คำวินิจฉัยโรคส่วนการเรียกชื่อ กลุ่มอาการที่เรายังให้คำอธิบายไม่ได้เป็นเพียงการตั้งชื่อ โรคประสาทอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่กลุ่มอาการแต่ละอย่างก็มีความหมายเกี่ยวกับสาเหตุ และวิธีการรักษาเหมือนกันดังนั้นการมีชื่อเรียกกลุ่มอาการต่างๆ จึงมีประโยชน์

กลุ่มอาการต่างๆ จะเกิดขึ้นบ่อยไม่เท่ากัน อาจเกิดกับเพศชาย หรือเพศหญิงในอัตราต่างกัน และเกิดในช่วงอายุต่างๆ ไม่เท่ากัน ในห้องตรวจจิตเวชพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงจะเป็นหญิงมากกว่า ส่วนภาวะวิตกกังวลย้ำคิดย้ำทำ และโรคประสาทกลัวการเข้าสังคมจะพบในทั้งสองเพศเท่าๆ กัน โรคซึมเศร้าอาจเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุด และโรควิตกกังวลเป็นอันดับสอง ส่วนโรคประสาทกลัวที่รุนแรง และโรคย้ำคิดย้ำทำจะพบน้อยกว่า ภาวะวิตกกังวลจะพบได้ประมาณ๓%ของคนในยุโรป และอเมริกา ส่วนที่เวอร์มอนท์พบโรคประสาทกลัวที่รุนแรงเพียง๐.๒%ของประชากร แต่ก็พบโรคประสาทกลัวที่เป็นน้อยๆ ได้ถึง๘%จากการสัมภาษณ์เชื่อว่า ภาวะซึมเศร้าจะเกิดบ่อยขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนภาวะวิตกกังวลโรคประสาทกลัว และย้ำคิดย้ำทำมักเริ่มเป็นในวัยหนุ่มสาวมากกว่า

สาเหตุของความตึงเครียด

เรารู้ว่าภาวะซึมเศร้ามีสาเหตุหลายๆ อย่างร่วมกัน กรรมพันธุ์เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะซึมเศร้าที่รุนแรง โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าชนิด ที่เป็นสลับ กับภาวะสนุกสนานรื่นเริงผิดปกติ การสูญเสียคนที่รัก สูญเสียสถานภาพ หรือภาพพจน์ที่ใฝ่ฝันไว้ก็ ทำให้เกิดความรู้สึก เศร้าได้ ซึ่งมักหายได้เอง แต่ก็มีบางรายที่ไม่หายเอง และเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าได้ คนที่ขาดความอบอุ่น หรือพลัดพรากจาก พ่อแม่ตั้งแต่ยัง เล็กๆ จะเกิดภาวะซึมเศร้า ได้ง่าย เป็นพิเศษเมื่อมีการสูญเสียดังกล่าว ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คนเกิดภาวะ ซึมเศร้า ได้ง่ายได้แก่การมีปัญหาชีวิตที่รุนแรง การอยู่อย่างโดดเดี่ยว ความยากจน และการต้องยงดูเด็กเล็กๆ หลายๆ คนโดยไม่มีใครช่วย หนังสือเล่มนี้ จะเน้นที่ความวิตกกังวล ที่ไม่ได้เกิดร่วมกับ ภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงเช่น โรควิตกกังวล โรคประสาทกลัว และย้ำคิดย้ำทำ ปัญหาทางเพศ และทางสังคม ในภาวะดังกล่าว ปัจจัยทางกรรมพันธ์จะมีส่วนน้อยกว่า ในภาวะซึมเศร้าแต่จาก การศึกษาในคู่แฝดพบว่า กรรมพันธุ์ก็มีบทบาทเกี่ยวข้องอยู่บ้างแต่ไม่มาก ความประสาทกลัวหลายๆ อย่าง มักเกิดในบางช่วงอายุบ่อยเป็นพิเศษ และสิ่งที่มักจะกลัวกัน ก็จะมีอยู่ไม่กี่อย่างซึ่ง อาจเป็น เพราะปัจจัยทางชีววิทยา ของการเรียนรู้ของเรา ดังที่เราทราบกันแล้วว่า ความประสาทกลัวหลายๆ ชนิด ที่จริงก็เป็น ความกลัวต่อสิ่งที่ธรรมชาติกำหนด ให้มนุษย์เรากลัวกันแต่ต่างกันที่ความรุนแรงเท่านั้น ทำไมความกลัวเล็กๆ น้อยๆ ตามธรรมชาติจึงได้กลายเป็น ความประสาทกลัวนั้นเรายังไม่มีคำตอบ บางครั้งภาวะซึมเศร้า อาจกระตุ้นให้เกิด ความประสาทกลัว หรือการย้ำคิดได้ การเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับสิ่งนั้นอาจเป็นสาเหตุในบางราย เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบประคบประหงมมากเกินไป อาจมีโอกาสเกิด อาการประสาทกลัวได้ง่ายขึ้น หรืออาจทำให้ความกลัวตามวัยไม่หายไปตามปกติเมื่อโตขึ้น พ่อแม่ หรือญาติๆ ที่มีความประสาทกลัว หรือย้ำคิดย้ำ ทำอาจทำให้คนอื่นๆ ในครอบครัว เป็นไปด้วยโดยการเอาอย่างกันได้ แต่ก็น้อยกว่าที่คนทั่วไปคิดกัน ในบางสังคมจะมีการถ่ายทอดความกลัว หรือข้อห้ามทางสังคมบางอย่าง เช่นความกังวลเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ ในหลายๆ ศาสนา และในคนบางกลุ่มจาก การวิจัยมีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งคือ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหา สาเหตุที่มาของความประสาทกลัว หรือย้ำคิดย้ำทำ ไม่จำเป็นจะต้องค้นหาสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกก็รักษาให้หายได้ ความวิตกกังวลจะหายได้ เมื่อผู้ป่วยคุ้นเคยกับสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาโดยไม่จำเป็นจะต้องมาแก้ไขบุคคลิกภาพกันใหม่ ต่อไปจะเป็นการกล่าวถึง ลักษณะของภาวะที่ทำให้เกิดความกังวลจนเป็นปัญหาในผู้ใหญ่

โรคซึมเศร้า

ความวิตกกังวลพบบ่อยในโรคซึมเศร้าโดยจะเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่นๆ ของโรคซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าอาจเป็นเพียงอารมณ์ไม่ดีชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ซึ่งพวกเราแทบทุกคนก็เคยเป็นกัน หรืออาจเป็นการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรงถึงขนาดจะฆ่าตัวตาย กรรมพันธุ์มีส่วนในการเกิดโรคซึมเศร้าที่รุนแรง มีโรคซึมเศร้าชนิดหนึ่งซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าสลับกับอาการอารมณ์ดีผิดปกติ แต่ โรคซึมเศร้าชนิดที่มีแต่ภาวะซึมเศร้าอย่างเดียวจะพบได้บ่อยกว่า ซึ่งอาการอาจมีความรุนแรง และระยะเวลาต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย น่าดีใจที่โรคซึมเศร้ามักหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่ก็อาจกลับเป็นใหม่ได้อีก แต่จะมีช่วงที่เป็นปกติอยู่นานก่อนที่จะกลับเป็นอีก ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของโรคซึมเศร้าคือแม้ว่าจะพบบ่อยแต่ก็เป็นโรคทางจิตเวชที่รักษาได้ผลดีที่สุดอย่างหนึ่ง เราจะกล่าวถึงการรักษาโรคซึมเศร้าในบทที่๑๑ ผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้ามักมีอาการเศร้าสร้อย ร้องไห้บ่อยๆ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร รู้สึกว่าตนทำอะไรผิดไว้ ตำหนิตัวเองโดยไม่จำเป็น อยากฆ่าตัวตาย และไม่รู้สึกสนใจ หรือสนุกสนานกับสิ่งที่เคยชอบ ผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้ามักคิดว่าตนเป็นมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคอื่นๆ อาจมีอาการกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง บีบมือบีบไม้เนื้อตัวสั่น เพราะความหวั่นหวาด

ภาวะวิตกกังวล

ภาวะวิตกกังวล หรือโรคประสาทกังวลเป็นโรคทางจิตเวชที่ทำให้เกิดอาการวิตกกังวลที่พบ บ่อยเป็นอันดับสอง กลุ่มอาการนี้จะมีอาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลโดยที่ผู้ป่วยเองอาจไม่ทราบว่ากังวลเรื่องอะไรอยู่ ความวิตกกังวลอาจเป็นอยู่นานเรื้อรังแต่ส่วนใหญ่มักเป็นๆ พักๆ ครั้งละ ๒-๓นาที หรือเป็นชั่วโมง หรือเป็นวันๆ อาการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมาขอรับการรักษาอาจเป็นอาการตื่น ตระหนกซ้ำๆ บ่อยๆ หายใจไม่ออก หรือหายใจติดขัด ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ตื่นกลัววิงเวียน หน้ามืดเป็นลม เหนื่อยง่าย รู้สึกหงุดหงิดง่าย หรือคิดว่าตนเป็นโรคหัวใจ ผู้ป่วยอาจไปหาแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ตามอาการที่ผู้ป่วยคิดว่าเป็นที่พบบ่อยที่สุดคือการมีอาการวิตกกังวลเกิดขึ้นมาโดยไม่คาดคิด และไม่รู้สาเหตุ ผู้ป่วยจะมีอาการขึ้นมาทันที รู้สึกวิตกกังวล อ่อนเพลีย รู้สึกหัวใจเต้นแรง วิงเวียนศีรษะ ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีอะไรมาจุกอยู่ที่คอ และขาแข้งอ่อนไปหมด จะรู้สึกเหมือนกันเดินอยู่บนพื้นที่ไม่นิ่ง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนกับหายใจไม่พอ และพยายามหายใจมากเกินไปจนเกิดอาการมือเท้าชาเป็นเหน็บ ผู้ป่วยจะกลัวว่าตนจะเป็นลม หรือจะตาย หรือกลัวว่าตนจะตะโกนออกมา หรือควบคุมตนเองไม่ได้ และเป็นบ้าไปเลย อาการตื่น ตระหนกอาจรุนแรงจนผู้ป่วยต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่เป็นนาทีจนอาการค่อยดีขึ้น อาการตื่นตระหนกอาจเป็นอยู่นานเพียง๒-๓นาที หรือหลายๆ ชั่วโมงก็ได้ อาการอาจติดต่อกันโดยเป็นมากเป็นพักๆ หรืออาจจะหายเป็นปกติจนกว่าจะเป็นครั้งต่อไปซึ่งอาจจะเกิดซ้ำในวันเดียวกัน หรืออาจเว้นระยะเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน อาการอาจจะเป็นทุกๆ ๒-๓วัน หรือเป็นต่อเนื่องกันทุกๆ ๒-๓นาทีจนต้องนอนอยู่กับเตียง เมื่อมีอาการไปสักพักหนึ่งอาการจะขึ้นๆ ลงๆ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นเป็น บางช่วงสลับกับอาการแย่ลงเป็นบางช่วง ความรุนแรงของความวิตกกังวลอาจมากจนทำอะไรไม่ถูก หรืออาจเป็นเพียงความรู้สึก เครียดๆ เล็กน้อยเท่านั้น บางรายไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าตนกำลังมีความวิตกกังวลแต่จะมาด้วยอาการทางกายต่างๆ ที่เกิดจากความวิตกกังวลเช่นเหงื่อออกมาก ใจสั่น หรือหายใจไม่ทั่วท้อง อาจมีความกังวลต่อเนื่องเป็นช่วงเวลานานโดยไม่มีอาการตื่นตระหนกมาคั่นเลยก็ได้ ในภาวะวิตกกังวลอาจมีอาการซึมเศร้าเล็กน้อยปนด้วยได้ อาจมีอาการอยากร้องไห้ หรือแม้แต่ความคิดอยากฆ่าตัวตายแต่จะไม่ถึงกับต้องการฆ่าตัวตายจริงๆ จังๆ อย่างในโรคซึมเศร้า อาการหายใจไม่สะดวกพบได้บ่อย ผู้ป่วยอาจบ่นหายใจไม่อิ่ม หรือหายใจติดขัด และอาจหายใจ ติดขัดให้เห็นจริงๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการตรงกันข้ามคือหายใจมากเกินไป หรืออาจเกิดมีอาการหายใจไม่ ออกกลืนน้ำลายไม่ลงโดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่คนเยอะๆ จนต้องพยายามเปิดหน้าต่างสักบานเมื่ออยู่ในที่ๆ มีคนมากๆ อาจมีอาการไม่สบายในหน้าอกเช่นเจ็บบริเวณหัวใจ รู้สึกหัวใจเต้นแรง รู้สึกบีบๆ บริเวณลิ้นปี่ รู้สึกเสียดๆ ในหน้าอก เวลามีอาการวิตกกังวลมากๆ อาจมีความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะจน ต้องรีบหาห้องน้ำ ความตึงเครียดมากๆ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการกลัว ว่าจะอาเจียนเมื่ออยู่ในที่สาธารณะตามมา และคอยหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าวได้ ผู้ป่วยอาจเบื่ออาหาร ไม่กินอะไร ผอมลง และบางครั้งอาจมีอาการถ่ายเหลวได้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกวิงเวียนจะเป็นลมโดยเฉพาะเวลายืน หรือเดินจนต้องคอยเกาะเก้าอี้ไปเรื่อยเวลาเดิน หรือต้องพยายามเดินชิดผนัง หรือกำแพง ผู้ป่วยรายหนึ่งบอกว่า"ผมรู้สึกว่าพื้นมันโคลงเคลง อย่างกับเดินอยู่บนเรืออย่างนั้น" ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งรู้สึกเหมือนกับว่า"ขาของฉันเหมือนกับทำด้วยวุ้น และกำลังเดินอยู่บนกองสำลี"อาการหายใจไม่ออก ใจสั่น แน่นหน้าอก อาจเกิดพร้อมกับอาการเหล่านี้ทำให้กลัวว่าจะเป็นลม กลัวจะล้ม เป็นโรคหัวใจ หรือตายไปเลย อาการเหล่านี้อาจเป็นมากในบางสถานการณ์ทำให้ผู้ป่วย คอยหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านั้น คนที่มีความกังวลแบบนี้มักหลีกเลี่ยงห้อง หรือร้านที่ร้อน หรือมีคนแน่นๆ และจะเลี่ยงโรงหนังโรงละคร ร้านทำผม หรือโบสถ์ และถ้าไปจริงๆ ก็จะพยายามนั่งใกล้ทางออกเพื่อว่าเวลามีอาการขึ้นมาจะได้รีบออกได้โดยไม่น่าเกลียด ผู้ป่วยจะทนถนนที่มีผู้คนพลุกพล่าน รถเมล์ หรือรถไฟแน่นๆ ไม่ได้ และมักเกิดอาการตื่นตระหนกซ้ำแล้วซ้ำอีกจนต้องจำกัดกิจวัตรประจำวันต่างๆ ลงจนแทบจะต้องอยู่กับบ้านไปไหนไม่ได้ ที่น่าแปลกก็คือผู้ป่วยมักสามารถไปไหนมาไหนโดยรถยนต์นั่งได้แต่จะ หลีกเลี่ยงพาหนะอื่นๆ ทุกชนิด และแม้แต่เดินบนถนนคนเดียวก็ไม่ได้ ความกลัวมักจะลดลงถ้ามีคนอยู่ด้วย และคอยให้กำลังใจดังนั้นผู้ป่วยจะทำอะไรได้ต่อเมื่อมีคนช่วยทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ควรทำคนเดียวได้ บางรายต้องให้มีคนอยู่ด้วยตลอดเวลาแม้แต่ที่บ้านจนสามี หรือภรรยาต้องออกจากงานมาอยู่เป็นเพื่อนหลายๆ รายเชื่อว่าตนมีโรคหัวใจ หรือมะเร็งอยู่ และจะคอยถามหมอซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้หมอบอกให้แน่ว่าไม่ใช่ โดยทั่วไปคำตอบจากแพทย์จะช่วยลดความกังวลได้ไม่นาน และผลการตรวจพิเศษต่างๆ ก็ไม่ช่วยให้หายกังวลไปได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะวิตกกังวลมักหงุดหงิด โกรธง่าย ดุลูกๆ หรือคู่สมรส เหนื่อยเพลียง่ายทำงานไม่ไหว อาการอื่นๆ ได้แก่ความรู้สึกแปลกๆ หรือเหมือนอยู่ในฝัน เหมือนแยกออก จาก หรืออยู่ห่างจากสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว ความรู้สึกแบบนี้อาจเกิดเมื่อมีอาการตื่นตระหนกมากๆ หรือเกิดเมื่อไม่มีความกังวลเลยก็ได้ ต่อไปจะเป็นตัวอย่างผู้ป่วย๒รายที่ต่างกันเพื่อแสดงให้เห็นว่าภาวะวิตก กังวลเกิดได้แม้ในคนที่ปกติเป็นคนสุขุมเยือกเย็น และเข้าสังคมได้ดี ในขณะที่บางรายอาการดังกล่าว เหมือนกับเป็นการที่คนที่ขี้กังวลอยู่แล้วมีอาการกำเริบหนักขึ้น

นักคณิตศาสตร์ขี้กังวล

เราจะมาดูตัวอย่างผู้ป่วยวิตกกังวลแบบที่พบบ่อยคือเคยเป็นปกติดีมาก่อนแล้วมามีอาการวิตก กังวลเกิดขึ้นภายหลัง นักคณิตศาสตร์อายุ๓๕ปีผู้หนึ่ง มาหาแพทย์ด้วย อาการใจสั่น และเป็นลมเป็นพักๆ มา๑๕ปี เคยมี ช่วงที่ไม่มีอาการต่างๆ เลยอยู่๕ปีแต่ในช่วง๑ปีหลังนี้อาการกลับมากขึ้นอีก จนต้องหยุดงานมา๒-๓วัน เพราะอาการรุนแรงมาก อาการจะเกิดขึ้นทันทีโดยไม่มีอาการเตือน และไม่เลือกเวลา บางครั้งเขา จะรู้สึกจะเป็นลม หรือจะล้ม ตัวสั่นใจสั่น เวลายืนก็ต้องคอยเกาะผนัง หรือเก้าอี้ใกล้ๆ ถ้าเกิดอาการ
ขณะขับรถเขาต้องเข้าจอดข้างทางจนกว่าอาการจะหาย ถ้ามีอาการขณะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาเขาต้องเลิกทันที บางครั้งมีอาการขณะที่เขากำลังสอนอยู่ทำให้ความคิดจะสะดุดไม่มีสมาธิสอนต่อไม่ได้ เขาเริ่มไม่กล้าขับรถ หรือเดินคนเดียว เพราะกลัวว่าจะทำให้เกิดอาการขึ้นมารวมทั้งไม่กล้าการไปไหน มาไหนด้วยรถประจำทางด้วย แม้ว่าเขาจะรู้สึกดีขึ้นเวลามีใครอยู่ด้วยแต่อาการก็ไม่หายไปหมด ช่วงที่ ไม่มีอาการเขาก็ไม่เป็นปกติทั้งหมดแต่จะมีอาการสั่นๆ เล็กน้อย อาการจะเกิดไม่เลือกเวลาไม่ว่ากลางวัน หรือกลางคืน เขารู้สึกหมดเรี่ยวแรงแต่ไม่รู้สึกเศร้า และไม่รู้สึกว่ากลัว วิตกกังวล หรือตื่นตระหนก ขณะเกิดอาการเลย นักคณิตศาสตร์ผู้นี้มีชีวิตวัยเด็กที่ดีไม่เคยมีอาการประสาทมาก่อน เข้าสังคมได้ดีในช่วงที่ไม่มีอาการ มีความสุขกับชีวิตสมรส และทุ่มเทให้กับงาน ไม่มีญาติพี่น้องที่มีปัญหาทางจิตเวช ขณะพบแพทย์เขาให้ประวัติอาการได้ชัดเจนแต่ดูท่าทางเหมือนไม่ค่อยมั่นใจตนเองเมื่อเทียบกับระดับความสามารถของเขา ศีรษะ และมือของเขาจะสั่นเล็กน้อยตลอดเวลา มือเย็น ฝ่ามือเปียกชื้น เพราะเหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็ว เมื่อแพทย์จะวัดความดันโลหิตเขาเกิดอาการวิตกกังวลอย่างมากขึ้นมาทันที กระวนกระวาย เหงื่อแตก ไม่ยอมนอนลง เขายืนหลังค่อมๆ แล้วรีบนั่งลงร้องเบาๆ ว่า"ช่วย ด้วย ช่วยด้วย" เขาพยายามแกะที่รัดแขนสำหรับวัดความดันโลหิตออกบอกว่าเจ็บ ๓-๔นาทีต่อมาเขา สงบลงแต่ยังไม่ยอมลุกจากเก้าอี้ เขาเลิกขับรถคนเดียวละไม่ยอมขึ้นรถประจำทางถึงกว่า๑๘เดือนจึงต้องออกจากงาน หลังการรักษาเขาไปไหนมาไหนได้ และกลับไปทำงานได้ส่วนอาการวิตกกังวลเป็นพักๆ โดยไม่สัมพันธุ์กับเหตุการณ์อะไรยังคงอยู่แต่เขาสามารถ จัดการกับมันได้ดีขึ้น

ผู้บริหารที่ตื่นเต้นง่าย

ภาวะวิตกกังวลอาจเกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นการที่ความวิตกกังวลที่คนๆ นั้นเป็นอยู่แล้วเป็นมาก ขึ้นก็ได้ ดังประวัติผู้ป่วยรายต่อไปนี้
ข้าราชการอายุ๕๒ปี ผู้หนึ่งเป็นคนขี้กังวล ตอนเด็กๆ ก็ขี้ขลาดไม่ชอบเล่นอะไรที่โลดโผนรุนแรง เขาเคยหนีโรงเรียน๒ครั้งซึ่งทางโรงเรียนเอาเรื่อง และขู่เขา เขาทำสอบได้ไม่ดีซึ่งส่วนหนึ่งเป็น เพราะความตื่นเต้นง่าย เวลาสอบปากเปล่าเขาจะพูดไม่ออกติดตะกุกตะกัก แม่ของเขาเป็นคนเคร่งเครียด พี่น้อง๒คนเคยเข้ารับการรักษา เพราะมีอาการวิตกกังวลมากในช่วงที่มีปัญหาในชีวิตสมรส ตอนหนุ่มๆ เขาเป็นคนขี้อายแต่ก็พยายามเอาชนะ โดยการเป็นนักพูด เขาแต่งงานตอนอายุ๒๘ปี และทำงานเป็นผู้ช่วยฝ่ายบริหาร เวลามีการเปลี่ยนแปลงของงานประจำวันเขา จะเครียดมากทุกครั้ง และจะกังวลไปล่วงหน้าหลายๆ วันถ้าจะมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นในงานตลอด๒๕ ปีที่ผ่านมาเขาไปหาหมอบ่อยมาก และรู้สึกว่ายาคลายกังวลช่วยให้เขาสบายขึ้น อาการที่เป็นอยู่ตอนนี้ เป็นมา๓เดือนโดยเริ่มเป็นหลังจากได้รับมอบหมายงานให้รับผิดชอบเพิ่มขึ้น และใกล้จะมีการตรวจสอบแล้ว ขณะพบแพทย์เขาแจ้งอาการว่ารู้สึก"กังวลไปหมด" "ตึงๆ ที่ต้นคอ" "ใจสั่น" "ปากแห้ง" "เหงื่อแตก" เขาได้รับการรักษาด้วยยาคลายกังวลขนาดน้อยๆ และด้วยการพูดคุยถึงการประเมินความสามารถ และข้อด้อยของตนเองอย่างสมเหตุผล

วัฒนธรรมกับความวิตกกังวล

คนในบางสังคมจะมีภาวะวิตกกังวลเกิดขึ้นบ่อยเป็นพิเศษ ในมาเลเซีย และประเทศไทย จิตแพทย์จะพบว่าผู้ที่มีปัญหานี้มักเป็นคนจีนมากกว่าคนกลุ่มอื่น ซึ่งอาจเป็น เพราะสถานภาพของคนจีนในสังคมนั้นๆ ไม่ค่อยมั่นคง(จุดนี้อาจเป็นจริงในมาเลเซียแต่คงไม่จริงนักในประเทศไทยปัจจุบัน-ผู้แปล) วัฒนธรรมมีผลต่อวิธีการแสดงความวิตกกังวล คนจีนในเอเซียอาคเนย์มีความเชื่อว่าอวัยวะเพศชายมีความสำคัญต่อชีวิตมากโดยเฉพาะน้ำอสุจิ มีคำกล่าวกันว่า"ข้าว๑๐๐เมล็ดกลั่นเป็นเลือด๑หยดเลือด๑๐๐หยดกลั่นเป็นน้ำอสุจิ๑หยด" เชื่อกันว่าการมีกิจกรรมทางเพศบ่อยเกินไปทำให้เสียสุขภาพ ผู้ชายชาวจีนที่มีความกังวลมักบ่นว่าไม่มีน้ำอสุจิ ส่วนผู้ป่วยชาวมาเลย์ไม่ค่อยมีความกังวลแบบนี้ (ในอังกฤษ และอเมริกาเองก็เพิ่งจะเลิกเชื่อว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองทำให้เสียสติได้ไม่นาน และ เด็กวัยรุ่นมากมายมีความกังวลเกี่ยวกับผลของการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองของตน) ความกังวลเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศทำนองเดียวกันนี้อาจช่วยให้เราเข้าใจอาการประหลาดที่เรียกว่าโคโร (Koro-โรคจู๋) โคโรเป็นคำในภาษามาเลย์หมายถึงความวิตกกังวลฉับพลันแบบพิเศษชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในคนจีนที่อพยบมาอยู่ในเอเซียอาคเนย์ คนจีนมีคำเรียกภาวะดัวกล่าวซึ่งแปลว่า"องคชาติหด" บางครั้งเป็นกันแค่๑-๒คนแต่ก็มีการระบาดเป็นพักๆ ผู้ป่วยจะตกใจมาก เพราะกลัวว่าองคชาติของตนจะหดหายเข้าไปในท้อง และจะต้องตายจนต้องคอยจับเอาไว้ หรือให้ญาติๆ หรือเพื่อนฝูงช่วยจับไว้ บางครั้งมีการเอาตะเกียบ หรือเชือกมาผูกติดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้มันหดเข้าไป ในขณะ เดียวกันผู้ป่วยจะมีอาการหวาดกลัว ใจสั่น จะเป็นลม หายใจไม่ออก ตาพร่า ปวดเมื่อย มือเท้าเป็นเหน็บ และอาจมีการอาเจียนด้วย ที่แปลกก็คือบางครั้งผู้หญิงก็มีอาการโคโรได้โดยจะบอกว่าหัวนม และแม้กระทั่งอวัยวะเพศหดเข้าไป นอกจากคนในยุคปัจจุบันจะมีความกังวลแล้ว ความกังวลเกี่ยวกับการเป็นแม่มดก็ยังพบได้บ่อย ในยุคกลาง และมีหนังสือที่มีชื่อเสียมากเล่มหนึ่งชื่อThe Hammer of Witchesบรรยายวิธีการสังเกตุลักษณะของคนที่เป็นแม่มด มีการบรรยายอย่างชัดเจนถึงวิธีการที่แม่มดดึงอวัยวะเพศชายออก การกลัว ถูกสาบมักพบในสังคมเกษตรกรรม รายที่รุนแรงมากๆ จะถึงตายได้เรียกว่าการตายจากวูดู(voo doo death) คนที่เชื่อว่าตนถูกหมอผีสาบให้ตายจะไม่กินอาหาร อ่อนเพลีย ลงนอน และตายใน๒-๓วัน สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรยังหาคำอธิบายไม่ได้ ความวิตกกังวลไม่ได้เกิดกับชาวตะวันตกเท่านั้น เร็วๆ นี้มีการศึกษาในชาวพื้นเมืองของออสเตรเลียซึ่งอยู่กันแบบดั้งเดิมพบว่าก็มีอาการทางกายแบบที่พบได้บ่อยในภาวะวิตกกังวลเช่นกันเช่น อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ปวดหลัง และหายใจไม่สะดวก ผู้เขียนเคยพบปัญหาเกี่ยวกับความประสาทกลัวที่โล่งแจ้ง ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางเพศ และความย้ำคิดย้ำทำในคนอินเดีย อิสราเอล ยุโรป อเมริกาเหนือ และอาฟริกาใต้ อาการจะเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นคนชาติใดศาสนาใด ความแตกต่างที่สำคัญคือภาษาที่ใช้บรรยายความวิตกกังวลเท่านั้น

การระบาดของความกังวลอย่างเฉียบพลัน

บางครั้งเกิดการระบาดของอาการวิตกกังวลแบบเฉียบพลับในบางชุมชน การระบาดนี้มักเป็นอยู่ในช่วงสั้นๆ และผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติอะไรตกค้าง มักมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการระบาดดังกล่าว และรูปแบบของความวิตกกังวลก็จะขึ้นกับแต่ละวัฒนธรรมด้วย เคยมีการระบาดของโคโร(โรคจู๋)ในสิงคโปร์อยู่ครั้งหนึ่ง โดยในเดือนกรกฎาคม๒๕๑๐มีโรคระบาดในหมูครั้งใหญ่ต่อมาในเดือนตุลาคมมีผู้ป่วยเป็นโคโร๒-๓คน และเกิดข่าวลือออกไปว่าเกิดจาก การกินหมูที่ติดเชื้อจากโรคระบาดคราวนั้น ๒-๓วันต่อมาตามโรงพยาบาลต่างๆ มีผู้ป่วยมาด้วยอาการโคโรถึงแห่งละร่วม๑๐๐คนต่อวัน และที่ไปหาหมอส่วนตัวอีกจำนวนมาก ผู้ป่วยกลัวว่าอวัยวะเพศจะหด หายเข้าไปในร่างกายจนต้องเอาไม้มาดามไว้ วันที่๗ซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดรุนแรงที่สุดคณะแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญออกแถลงทางวิทยุ และโทรทัศน์ว่าโคโรมีสาเหตุเกิดจาก จิตใจ และองคชาติหดหายเข้าไปในท้องไม่ได้ วันถัดมามีคนป่วยที่มาด้วยอาการโคโรน้อยมาก และการระบาดหายไปอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วย ส่วนใหญ่เป็นคนจีนที่มาจากทางใต้ของประเทศจีน และเป็นเพศชาย เกือบทุกรายหายเป็นปกติ ในยุโรป และอเมริกาก็มีการระบาดของอาการวิตกกังวลเฉียบพลันร่วมกับการหายใจมากผิดปกติ และเป็นลมในผู้หญิงอายุน้อยๆ เป็นบางครั้ง โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในสถาบันเดียวกันเช่นนักเรียนหญิง หรือพยาบาล ที่เคยมีการระบาดแบบนี้ในอังกฤษ๒ใน๓ของนักเรียนหญิง๕๐๐คนมีอาการวิตกกังวล และ ๑ใน๓ต้องนอนโรงพยาบาล และมีหลายรายที่เป็นซ้ำอีก สาเหตุของการระบาดครั้งนั้นชัดเจนมาก ช่วงต้นปีมีคำประกาศเตือนจากทางการว่ามีโปลิโอ ระบาดในเมืองนั้นก่อนเกิดการระบาดของอาการวิตกกังวลนี้มีพิธีเฉลิมฉลองโดยมีเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์อังกฤษมาเป็นประธาน และมีการ เกณฑ์นักเรียนหญิงมาต้อนรับพิธีล่าช้าไปถึง๓ชั่วโมง เพราะ ประธานในพิธียังมาไม่ถึงนักเรียนต้องเข้าแถวรออยู่นอกอาคาร มีนักเรียนเป็นลมถึง๒๐คน เช้าวันรุ่งขึ้นมีการคุยกันเรื่องการเป็นลมมากมาย ขณะเข้าแถวมีนักเรียนเป็นลม๑คน หลังจากนั้นไม่นานก็มีนัก เรียนบอกว่าจะเป็นลมอีก๓คน นักเรียนอีกคนหนึ่งบอกว่าจะเป็นลมเหมือนกันเมื่อครูบอกให้ไปเอาน้ำมาให้คนเป็นลม ๒ชั่วโมงต่อมามีนักเรียนจะเป็นลมอีกจำนวนมากจนต้องพาออกมาบนนั่งเก้าอี้ตรงทางเดินใหญ่ ครูคนหนึ่งเกรงว่าถ้านักเรียนเกิดเป็นลมซ้ำอีกอาจตกเก้าอี้ลงมาได้จึงบอกให้นักเรียนลงนอนกับพื้นทางเดิน ดังนั้นนักเรียนที่มีอาการจึงนอนเรียงรายกันเต็มทางเดินในช่วงพักครึ่งเช้า และกลายเป็นการระบาดไปแล้ว อาการสำคัญมักจะเป็นความรู้สึกตื่นเต้นหวาดกลัวทำให้มีการหายใจมากเกินไป และ เกิดอาการจะเป็นลม วิงเวียน เป็นเหน็บที่แขนขา และในที่สุดจะเกิด อาการกล้ามเนื้อที่มือ และเท้าเกร็ง เด็กหลายคนดูเหมือนป่วยรุนแรงจนน่าตกใจ การระบาดเริ่มในเด็กอายุ๑๔ป ีก่อนแล้วกระจายต่อไปยังกลุ่มเด็กเล็ก ในวันแรกมีเด็กป่วยถึง หนึ่งในสี่ ทุกครั้งที่เข้าเรียน จะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงพักจะมีเด็กป่วยเป็นสองเท่าของเวลาอื่น จนวันที่๑๒จึงรู้สาเหตุว่าเกิดการระบาดขึ้น เพราะอะไร และมีการจัดการที่จริงจังเพื่อป้องกันการแผ่ขยายของปัญหาออกไปอีก และ อาการต่างๆ ก็ค่อยๆ สงบลงใน๒-๓วันหลังจากนั้น

สรุป

เมื่อความกังวล และความกลัวมีความรุนแรงผิดปกติ และทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยมักหาทางรักษา ความวิตกกังวลอาจเกิดร่วมกับ ปัญหาทางจิตเวชได้หลายชนิด และกลายเป็นอาการหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น ด้วยกันซึ่งเราเรียกว่าโรค หรือกลุ่มอาการ โรคซึมเศร้าอาจเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุด โรควิตกกังวล พบมากเป็นอันดับสองส่วนโรคประสาทกลัวที่รุนแรง และโรคย้ำคิดพบได้น้อยกว่า ความประสาทตึงเครียดมีสาเหตุหลายๆ อย่างมากบ้างน้อยบ้างร่วมกันได้แก่กรรมพันธุ์ การสูญเสียคนที่รัก สูญเสียสถานภาพ หรือภาพพจน์ที่ใฝ่ฝันไว้ และปัญหาชีวิตที่รุนแรง ลักษณะของอาการขึ้น กับอายุด้วย และปัจจัยทางชีววิทยา จะจำกัดขอบเขตขอ งสิ่งที่จะกลัวลงการเคยมีประสบการณ์เลวร้าย กับสิ่งนั้นมาก่อน การได้รับการเลี้ยงดู แบบประคบประหงมเกินไป และข้อห้ามทางสังคมต่างๆ ล้วนมีอิทธิพลต่อการเกิดความวิตกกังวลได้ทั้งสิ้น ภาวะซึมเศร้าเป็นได้ตั้งแต่อาการเศร้า เล็กน้อยไปจนถึงโรคซึมเศร้าที่รุนแรง และพยายามฆ่าตัวตาย และมีภาวะซึมเศร้า แบบหนึ่งซึ่งเป็นสลับกับ ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติได้ โรคซึมเศร้ามักดีขึ้นได้เอง และมักรักษาได้ผลดี ภาวะวิตกกังวลอาจมีความรุนแรงขึ้นๆ ลงๆ ได้เช่นเดียวกัน และอาจเป็นได้ตั้งแต่รู้สึก ตึงเครียดเพียงเล็กน้อยไปจนถึงเป็นมากๆ จนทำอะไรไม่ได้เลย ผู้ป่วยมักเข้าใจว่าอาการเหล่านี้ เกิดจากโรคทางกาย จากการบรรยายอาการที่ผู้ป่วย มักจะเป็นกันผู้อ่านอาจใช้เทียบกับปัญหาที่เกิดกับตนเอง ได้ความวิตกกังวลไม่ได้จำกัด อยู่แต่ในสังคมสมัยใหม่เท่านั้น แต่ยังพบบ่อยในสังคมเกษตรด้วย จะมีการระบาดของ อาการวิตกกังวล ฉับพลัน เกิดขึ้นเป็นบางครั้งในชุมชนต่างๆ เช่นการกลัวว่าองคชาติ จะหดหาย(โคโร)ในชาวจีนที่อยู่ในเอเซียอาคเนย์ หรือการหายใจ มากกว่าปกติ และเป็นลมในผู้หญิง อายุน้อยๆ ในประเทศทางตะวันตก การจัดการอย่างสุขุม และแยบยลสามารถ แก้ไขกระแสความตื่นตระหนกที่เกิดจากวัฒนธรรมเหล่านี้ได้ ความวิตกกังวลที่กล่าวมาข้างต้น เกิดขึ้โดยไม่มีตัวกระตุ้นอะไร ที่ชัดเจน


หนังสือแปลจาก Living with fear ของ Isaac M. Marks โดย นพ. สเปญ อุ่นอนงค์