วิธีเอาชนะความกลัว 1

Living with fear ของ Isaac M. Marks โดย นพ. สเปญ อุ่นอนงค์

ความกลัวที่ปกติ และที่ผิดปกติ

ความวิตกกังวลเกิดได้กับทุกคน

ความวิตกกังวลเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ คนเราทุกคนต้องเคยมีความวิตกกังวล คนที่ไม่เคยกังวลอะไรเลย เป็นคนไม่ปกติ แม้แต่มนุษย์ถ้ำยังต้องกังวลว่า มื้อหน้าจะมีอะไรเป็นอาหาร จักรพรรดิ์โรมันยังต้องคิดหนักเมื่อจะทำการใหญ่โต เราเองก็เช่นกัน เรามีเรื่องมากมายที่จะต้องเป็นห่วงเป็นกังวล อาจจะเป็นเรื่องงาน ปัญหาชีวิตคู่ หรือเรื่องลูก เรามีความวิตกกังวลเกิดขึ้นได้เสมอ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความกังวล อาจเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ความวิตกกังวลเป็นสิ่งปกติ และเกิดขึ้นกับแทบทุกคน แม้ว่าสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความกังวล สำหรับแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่กิจกรรมหลายๆ อย่าง ก็มักทำให้คนเกือบทุกคน เกิดความวิตกกังวล ความกังวลอาจเกิดจากกิจวัตรประจำวันบางอย่างเช่นขณะขับรถบน ทางหลวง ที่มีการจราจรหนาแน่น เราจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา พนักงานที่มีงานไม่มั่นคงต้องคอยกังวลกลัวจะตกงาน ผู้บริหารระดับสูงเองก็ต้องกังวลเกี่ยวกับการตัดสินใจ พนักงานรับโทรศัพท์ก็ต้องคอยเบื่อหน่ายกับโทรศัพท์จากพวกลามก แม่บ้านต้องกังวลกับข้าวของที่คอยจะขึ้นราคา สามีทะเลาะกับ ภรรยา พ่อแม่ทะเลาะกับลูก จะเห็นว่าเราแทบจะไม่สามารถอยู่โดยไม่มีความวิตกกังวล

ความวิตกกังวลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตดังนั้นเราจึงต้องรู้จักวิธีที่จะอยู่กับมัน ในที่นี้จะกล่าวถึง ความวิตกกังวลทั้งแบบปกติ และไม่ปกติ การเข้าใจธรรมชาติของความวิตกกังวลจะช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกของเราได้ดีขึ้น และรู้ว่าควรปรึกษาจิตแพทย์เมื่อไร ผู้เขียนจะแทรกคำบรรยายของผู้ป่วยจริงๆ ในช่วงที่เหมาะสม ช่วงหลังของหนังสือ จะเป็นวิธีการรักษาภาวะวิตกกังวล ทั้งโดยจิตแพทย์ และโดยการรักษาด้วยตนเอง

ความวิตกกังวลคืออะไร

ความวิตกกังวลเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในสภาวะอับจน เราจะรู้สึกกลัวแม้ว่าเราอาจจะไม่รู้ว่ากลัวอะไร ความกังวล และความกลัวเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันในภาษาอังกฤษมีศัพท์ที่แสดงอารมณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับ ความกลัว และความกังวล มากมายเช่น apprehension (หวาดหวั่น), uneasiness (ไม่สบายใจ), nervousness (ตื่นกลัว), worry (กลุ้มใจ), disquiet (ไม่สงบ), solicitude (ความห่วงใย), concern (เป็นธุระ), misgiving (ความสงสัย), qualm (ความประหวั่นพรั่นพรึง), edginess (ความหงุดหงิด), jitteriness (อกสั่นขวัญหนี), sensitivity (ความรู้สึกไว), dis-ease(ไม่เป็นสุข); being pent up (อัดอั้น), troubled (เป็นทุกข์), wary (ระวังระไว), unnerved (ประสาทเสีย), unsettled (ยุ่งเหยิง), upset (ไม่พอใจ), aghast(ตกตะลึง), distraught (คลุ้มคลั่ง), หรือ threatened(น่ากลัว); defensiveness(แก้ตัว), disturbance(ความไม่สงบ), distress(เป็นทุกข์), perturbation(กระวนกระวาย), consternation(ความอกสั่นขวัญหนี), trepidation(ความประหม่า), scare (ตื่นตกใจ), fright (ตกใจกลัว), dread (น่ากลัว), terror(น่าสยดสยอง), horror(น่าขยะแขยง), alarm (ตื่นตกใจ), panic (ตื่นตระหนก), anguish (ความปวดร้าว), agitation (กระวนกระวาย) การที่มีศัพท์เกี่ยวกับ

ความกังวล และความกลัวมากๆ แสดงว่า ความกลัว และความวิตกกังวลเป็นสิ่งสำคัญ โดยทั่วไปความกลัว และความวิตกกังวล มีส่วนคล้ายกันมาก เมื่อสิ่งกระตุ้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเราจะเรียกอารมณ์ที่เกิดขึ้นว่า ความกลัว เราเรียกอารมณ์ของคน ที่กำลังเจอสิงโตกระโจนเข้าใส่ว่า กลัว ส่วนในคนที่กำลังจะสอบเราเรียกว่า กังวล คำว่า"fear"ซึ่งแปลว่า กลัว เป็นคำที่มาจาก ภาษาอังกฤษโบราณว่า"faer"ซึ่งแปลว่าอันตรายหรือความหายนะที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ส่วนคำว่า "anxious" ซึ่งแปลว่าวิตกกังวล มาจากภาษาละตินว่า "anxius" ซึ่งแปลว่าความทุกข์ใจจากสิ่งที่ไม่แน่นอน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ ภาษากรีกซึ่งแปลว่ากดหรือรัดให้แน่น

คนส่วนใหญ่มักมีความกลัวอะไรบางอย่างเล็กๆ น้อยๆ เด็กๆ มักกลัวพ่อแม่ทิ้ง กลัวคนแปลกหน้า กลัวสัตว ์ กลัวเสียงประหลาด หรือสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ผู้ใหญ่อาจกลัวความสูง กลัวลิฟท์ กลัวความมืด กลัวเครื่องบิน แมลงมุม หนู การสอบ หรือกลัวสิ่งเหนือธรรมชาติเช่น กลัวผี ไม่กล้าเดินลอดใต้บันใด เป็นต้น ความกลัวเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ไม่ทำให้ถึงกับต้องคอยหลีกเลี่ยง สิ่งดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา และสามารถแก้ได้ด้วยการคิดหาเหตุผล และไม่ต้องรับการรักษา

ความกลัวเป็นการตอบสนองตามปกติต่อการคุกคามทั้งที่เกิดขึ้นจริงๆ และที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อพฤติกรรมของเรา และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายซึ่งเราเองสามารถรับรู้ได้ และคนอื่นก็อาจสังเกตุเห็นเช่นกัน ขณะเกิดความกลัวเรา จะรู้สึกหัวใจเต้นแรง ชีพจรเต้นเร็วขึ้นเหงื่อออกที่หน้าผาก แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่าง อาจต้องใช้เครื่องมือวัด เช่น การเปลี่ยนแปลงของความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง พฤติกรรมขณะที่เกิดความกลัวที่เห็นชัดๆ มี 2 แบบ แบบแรกคือ ทำอะไรไม่ถูก ยืนตัวแข็ง พูดไม่ออก ในสัตว์บางชนิดเวลาตกใจ จะแกล้งทำเป็นตาย ซึ่งอาจเป็นรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมตอบสนอง ต่อความกลัวในลักษณะนี้ พฤติกรรมอีกแบบคืออาการตื่นตกใจ กรีดร้อง วิ่งหนี พฤติกรรมทั้ง 2 แบบ อาจเกิดร่วมกัน ขณะเกิดความกลัว และสัตว์ (หรือคน) อาจเปลี่ยนพฤติกรรมกลับไปกลับมาได้อย่างรวดเร็ว เช่นสัตว์ที่กำลังตกใจ อาจยืนตัวแข็งสักพักแล้วรีบจึงวิ่งหนี

ความกลัว และความกังวลที่รุนแรงทำให้เกิดความรู้สึกหวาดหวั่น หน้าซีด เหงื่อออก ขนลุก ม่านตาขยาย หัวใจเต้นแรง และเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น กล้ามเนื้อตึงตัว และมีเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น ตัวสั่น สะดุ้งง่าย ปากคอแห้ง หายใจเร็ว และรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ รู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ฉุนเฉียว อยากร้องไห้ อยากวิ่งเตลิด อยากซ่อนหน้า มือเท้าชาอ่อนปวกเปียก รู้สึกแปลกๆ เหมือนอยู่ในฝันหรือเหมือนมองมาจากที่ไกลออกไป ถ้าความกลัวหรือความกังวล เกิดอยู่นานๆ เราจะรู้สึกเหนื่อย เชื่องช้าลง ซึมเศร้า กระสับกระส่าย กินอะไรไม่ลง นอนไม่หลับ ฝันร้าย และจะคอยหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่คล้ายๆ กันนั้น

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะเกิดความวิตกกังวล

เราสามารถรับรู้อารมณ์ของเราได้จากความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นขณะเกิดอารมณ์นั้น ในภาษาอังกฤษมีสำนวนที่ใช้บรรยายความรู้สึกโดยพาดพิงถึงส่วนของร่างกายอยู่มากมาย เพื่อนของผู้เขียนผู้หนึ่งคือนพ.จูเลียน เล็ฟท์(Dr.Julian Leff) เคยเขียนแสดงการใช้คำบรรยายความรู้สึกด้วยสำนวนดังกล่าวไว้ดังนี้

หัวใจของฉันเต้นตูมตามปากคอสั่นขณะที่ฉันกำลังข้ามถนนไปแม้ว่าฉันจะเกลียดเขาเข้าไส้ท้องไส้ของฉันปั่นป่วนเมื่อฉันเข้ามาถึงบ้านเขา ฉันเคาะประตู หัวใจของฉันแทบจะตกไปอยู่ที่ตาตุ่มเมื่อได้ยินเสียงฝีเท้าของเขาใกล้เข้ามา สันหลังของฉันเย็นวาบ เมื่อเขาหมุนลูกบิดประตู เขาเปิดประตูออกมาฉันขนลุกซู่เมื่อเห็นเขา "บอกตรงๆ เลยว่าฉันสะอิดสะเอียนคุณจะแย่แล้ว" ฉันพูดโพลงออกไป เขากลับหัวเราะเย้ยๆ ทำให้ฉันรู้สึกว่าในคอมันตีบตันขึ้นมา "คุณนี่เป็นก้างขวางคอจริงๆ นะ" เขาตะคอก ฉันกลืนน้ำลายเอื๊อก "ฉันมานี่ก็ เพราะผู้หญิงที่คุณหักอกน่ะแหละ" ฉันย้อนไป ในใจที่ครุ่นคิดถึงอามันด้าทำให้ฉันรู้สึก เหมือนมีก้อนมาจุกที่คอ เขาหันหลังขวับ ฉันสะดุ้งสติสตังแทบไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ในหัวหมุนติ้วขณะที่ฉันเอื้อมมือมาจับ...

เวลาตกใจสารเคมีในร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นมีการหลั่งอะดรีนาลีนจากต่อมหมวกไต และมีการหลั่งนอร์อะดรีนาลีนจาก ปลายเส้นประสาททั่วร่างกายเป็นต้น นอกเหนือจากขณะที่มีความกลัวหรือความกังวลแล้ว การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีเหล่านี้ ยังเกิดขึ้นขณะเกิดอารมณ์อื่นๆ ด้วย

ชาร์ลส์ ดาวินผู้คิดทฤษฎีวิวัฒนาการเคยบรรยายให้เห็นภาพพจน์ของความกลัวไว้ดังนี้

คนที่กำลังตกใจจะยืนนิ่งราวกับรูปปั้น ไม่กระดุกกระดิก ไม่หายใจ หัวใจเต้นถี่ และแรง ผิวหนังจะซีดเผือด เหงื่อจะเริ่มซึม ผิวหนังจะเย็นเฉียบ ขน และผมลุกซู่ เนื้อตัวสั่น หายใจหอบถี่ ปากแห้ง จุดสังเกตุที่ดีที่สุดอันหนึ่งคือการสั่นของกล้ามเนื้อทั้งตัวซึ่งมักจะเห็นได้ที่ริมฝีปากก่อน เมื่อความกลัวทวีความรุนแรงมากขึ้น...หัวใจจะเต้นอย่างรุนแรงหรืออาจหยุดเอาเสียเฉยๆ ทำให้เกิดอาการเป็นลม ผิวหนังซีดเหมือนคนตาย หายใจไม่ออก จมูกบาน รู้สึกฝืดคอ ตาถลน ม่านตาขยาย เนื้อตัวเกร็ง และเมื่อความกลัวถึงขีดสุดจะมีการกรีดร้องอย่างสุดเสียง เม็ดเหงื่อผุดขึ้นบนผิวหนัง กล้ามเนื้อทั่วร่างกาย คลายตัวทำให้รู้สึกหมดเรี่ยวแรง สมองคิดอะไรไม่ออก ลำไส้ปั่นป่วน กล้ามเนื้อหูรูดไม่ทำงาน ทำให้กลั้นอุจาระ และปัสสาวะไว้ไม่ได้

เราจะสังเกตุเห็นความกังวลของคนอื่นได้ไหม?

เราจะสังเกตุอาการของคนที่กำลังตื่นตกใจได้ง่ายกว่าคนที่กำลังดีใจหรือแปลกใจ คนต่างวัฒนธรรมกันอาจจะสังเกตุกันยากขึ้นโดยเฉพาะความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าเป็นอารมณ์ที่ค่อนข้างรุนแรงชัดเจนแล้ว จะสังเกตุกันได้ง่ายขึ้น ถ้าเรามานั่งดูภาพถ่ายของคนในอารมณ์ต่างๆ กันเราจะไม่เห็นพ้องตรงกันไปหมดทุกภาพ อารมณ์ของเด็กอ่อนๆ ยิ่งดูยากขึ้นไปอีก เพราะสามารถแสดงอารมณ์ได้ไม่กี่แบบ เราสามารถบอกความแตกต่างระหว่างคนที่กำลังสบายใจ และคนที่กำลังตื่นตกใจได้ไม่ยาก แต่สำหรับคนที่กำลังกลัวๆ กำลังแปลกใจ อิจฉา ขยะแขยง โกรธ เราอาจสังเกตุแยกจากกันได้ยากขึ้น คนในภาพถ่ายที่กำลังร้องไห้ด้วยความตื้นตันดีใจก็อาจแยกจากคนที่กำลังร้องไห้เสียใจ ได้ยาก

ความตึงเครียดอาจให้ความสุขได้เช่นกัน

โดยทั่วไปเรามักรู้สึกว่าความวิตกกังวลเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายแต่เราก็ไม่ได้พยายามหลีกเลี่ยงมันทุกครั้ง ในทางตรงกันข้าม คนบางคนกลับแสวงหา และพอใจกับการเอาชนะสิ่งที่เป็นอันตราย นักแข่งรถ นักสู้วัวกระทิง นักไต่เขา สนุกกับการเอาตัวเข้าไปเสี่ยง อันตราย คนดูทั้งหลายก็สนุก และตื่นเต้นไปด้วย หนังสือหรือภาพยนต์ประเภทสยองขวัญ มักจะทำเงินได้มหาศาล การแข่งรถแบบชนแหลกก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความสุขจากการเกิดความกลัว และความกังวล การเล่นจ๊ะเอ๋ซึ่งเด็กเล็กๆ ชอบนั้นก็เป็น ความสุขจากความกังวลอีกอย่างหนึ่ง เด็กเล็กๆ จะสนุกเมื่อเห็น พ่อแม่แอบหายไป ประเดี๋ยวหนึ่งแล้ว ก็โผล่กลับมาใหม่ ช่วงที่พ่อแม่แอบอยู่นั้นเด็กจะดูเครียดๆ แล้วจะส่งเสียงดีใจเมื่อพ่อแม่โผล่หน้ามาจ๊ะเอ๋ แต่ถ้าพ่อแม่แอบนานเกินไปเด็กจะกลัว และอาจจะถึงกับร้องไห้เลยก็ได้

เมื่อไรที่ความวิตกกังวลมีประโยชน์ และเมื่อไรที่ไม่มีประโยชน์?

ความกลัวอย่างรุนแรงทำให้เราทำอะไรไม่ถูก และบั่นทอนสมรรถภาพในการทำงานของเรา ในทางกลับกันความกังวลน้อยๆ อาจมีประโยชน์โดยทำให้เรารู้สึกตื่นตัว และทำอะไรได้ฉับไวขึ้น นักแสดง และนักการเมืองมักบอกว่า การมีความกังวลน้อยๆ ก่อนการแสดง หรือก่อนการปราศัยจะช่วยให้เขาไม่ลืมบท นักเรียนที่จะสอบก็มีความกลัว คนที่จะกระโดดร่มดิ่งพสุธาก็มีความกลัว แม้แต่นักบินประจัญบานยังยอมรับว่า ความกลัวช่วยให้เขาทำการรบได้ดีขึ้น ความกังวลพอดีๆ จะช่วยให้เราทำอะไรได้ดีขึ้น น้อยไปก็จะทำให้เราเผลอเรอ มากไปเราก็จะทำอะไรไม่ถูก มีการศึกษาพบว่านักกระโดดร่มที่มีประสบการณ์จะมีความกลัวเพียงเล็กน้อย ในขณะที่นักกระโดดร่มหัดใหม่จะกลัวมากโดยเฉพาะก่อนกระโดด การมีประสบการณ์มาก่อนช่วยให้เราเกิดการเตรียมพร้อมที่เหมาะสม จากการศึกษาในทหารอเมริกันพบว่าทหารใหม่มักไม่ค่อยกลัว และมักไม่ค่อยใส่ใจกับมาตรการความปลอดภัย แต่จะหูตาไวขึ้นเริ่มแสดงความกลัว และประมาทน้อยลงเมื่อผ่านการรบจริงๆ มาบ้าง

ความกลัวน้อยๆ อาจช่วยให้คนเราจัดการกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหาได้ดีขึ้น ในผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดใหญ่พบว่า คนที่ไม่กลัวเลยในช่วงก่อนผ่าตัดนั้นหลังผ่าตัดจะมีปัญหาจากความเจ็บปวด และความไม่สบายต่างๆ นานารวมทั้งความหงุดหงิดไม่พอใจมากกว่าคนที่แสดงความกลัวอยู่บ้างในช่วงก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยกลุ่มหลังนี้สามารถปรับตัวได้ดีกว่า และแสดงความกลัวหลังผ่าตัดน้อยกว่า ส่วนผู้ป่วยที่มีความกังวลก่อนผ่าตัดมากจะแสดงความกลัวมากหลังผ่าตัด และบ่นปวดบ่นไม่สบายมาก ดังนั้นความกลัว และความกังวลในปริมาณน้อยๆ อาจมีประโยชน์แต่ในปริมาณที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปจะไม่มีประโยชน์ และยังอาจเกิด ผลเสียด้วย นักกระโดดร่มหัดใหม่จะกระโดดได้ไม่ดีถ้ากลัวมากๆ และแม้แต่นักกระโดดร่มที่ชำนาญแล้วก็ยังหวั่นๆ ว่าเขาอาจจะเกิดกลัวขึ้นมาแล้ว จะกระโดดไม่ได้ ขณะเกิดแผ่นดินไหวหรือไฟไหม้ผู้คนที่กำลังแตกตื่นตกใจอาจวิ่งหนีเอาตัวรอดแบบไม่รู้ทิศทาง และอาจลืมสิ่งที่เป็นภาระสำคัญไปเลยเช่น แม่อาจลืมอุ้มลูกออกมาด้วย ทหารที่กำลังโดนยิงถล่มอาจมีอาการอาเจียน อุจจาระราด ทำอะไรไม่ถูก ลืมหลบเข้าที่กำบัง หรือลืมพาผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบเข้าที่กำบัง นักแสดงหรือนักพูดอาจตื่นเต้นจนลืมบท และพูดอะไรไม่ออก ความกังวลขนาดน้อยๆ จะกำจัดได้ยาก ผู้ป่วยโรควิตกกังวลอาจมีอาการตื่นตระหนกขึ้นมาทันทีโดยไม่รู้ตัวบ่อยๆ แล้วอยู่ๆ อาการก็หายไปเองโดยไม่ต้องทำอะไร อาการตื่นตระหนกดังกล่าวมักเกิดโดยไม่มีเหตุกระตุ้นชัดเจน บางครั้งผู้ป่วยอาจพยายามปะติดปะต่อเหตุการณ์แล้วเหมาเอาว่าอาการนั้นๆ เกิดจากสิ่งที่ตนเพิ่งกระทำไปก่อนเกิดอาการ และพยายามหลีกเลี่ยง การกระทำนั้นอีก เช่น มีผู้ป่วยรายหนึ่งเข้าใจว่ายาตัวใหม่ที่ได้รับทำให้เกิดอาการนี้ และไม่ยอมรับประทานยานั้น อีกทั้งๆ ที่อาการที่เกิดขึ้นก็เป็นอาการเดียวกันกับที่เขาเป็นก่อนได้รับยานั้น

ความตื่นเต้นที่เกิดหลังจากเหตุการณ์ฉุกเฉินผ่านพ้นไปแล้ว

ในสถานการคับขันเราจะทำอะไรไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องคิดแต่เมื่อเหตุร้ายผ่านพ้นไปเราอาจเกิดความตื่นเต้นทีหลังได้ คนขับรถรายหนึ่งเล่าให้ฟังหลังจากรอดจากการเกิดอุบัติเหตุว่า ผมขับรถขึ้นเนินมา และเห็นเด็กผู้ชายอายุราวๆ ๖ขวบคนหนึ่งยืนอยู่ข้างถนนห่างออกไปราวๆ ๒-๓ เมตรท่าทางเหมือนเขาเห็นผม และกำลังรอให้รถของผมผ่านไป แต่อยู่ๆ เขาก็ข้ามถนนพรวดออกมา ผมเหยียบเบรคเต็มแรงรถหยุดห่างจากเขาไม่ถึงนิ้ว ความรู้สึกของผมตอนนั้นเหมือนกับดูหนังอยู่แต่พอผมขับรถต่อไปหัวใจของผมเริ่มสั่น เหงื่อเริ่มแตก ตัวสั่น มือไม้สั่นไปหมด ความสุขุมเยือกเย็นเมื่อครู่นี้หายไปหมด เป็นอย่างนี้อยู่ราวๆ ๑๕นาทีจึงค่อยๆ ดีขึ้น

ความตื่นเต้นอาจเกิดหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วเป็นชั่วโมงก็ได้ซึ่งจะพบได้บ่อยในสงครามนักบินเครื่องบินทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้หนึ่งออกปฏิบัติการเป็นครั้งที่ ๖ ขณะเริ่มทิ้งระเบิดนักบินผู้ช่วยก็ถูกยิงเข้าที่หน้า ตายทันที นักบินยังไม่รู้ และพยายามเปลี่ยนหน้ากากออกซิเจน ภาระกิจคราวนี้ยากมาก และต้องบินวนอยู่เหนือเป้าหมายถึง ๓ รอบแต่เขาก็ทำได้สำเร็จอย่างเยือกเย็น และได้รับคำชมเชยเมื่อกลับถึงฐาน แต่เมื่อเขากลับไปเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเขาก็เริ่มมีอาการสั่น เขาไปหาหมอ และร้องไห้ฟูมฟายด้วยความตื่นตระหนก คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลายๆ อย่างในขณะเกิดเหตุมักควบคุมตัวเองได้ดีในขณะนั้นแต่อาจมีความรู้สึกตามมาในภายหลัง นักบินสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกรายหนึ่งอายุ๑๙ ปี เครื่องบินของเขาเสียหายหนัก เขาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้แพทย์ฟัง..

..ลูกเรือประจำป้อมปืนขึ้นมาบอกผมว่า "เทอร์รี่ตายแล้ว" ผมถามกลับไปว่า "แน่ใจเหรอ? บางทีผมอาจจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง" ผมตามลงไป และดูด้านหลังศรีษะของเขา - หลุดหายไปทั้งแถบเลยครับ เลือดกรระจายไปทั่ว ผมแกะเสื้อของเขาออก - ไม่มีเสียงหัวใจเต้น [กลัวไหมตอนนั้น?] โอ้ย! ผมไม่เคยกลัวอะไรหรอกครับถ้ากลัวผมเผ่นออกมาแล้ว ผมเปิดเปลือกตาเขาดู - ว่างเปล่า! ถ้าเขายังไม่ตายเขาก็ต้องหายใจ ผมมองดูไดอะแฟรมของเครื่องออกซิเจน - ไม่ขยับ! เขาตายแล้วจริงๆ "แกตายแล้วนะ" ผมพูดออกไปแล้วผมก็มาด้านหน้าผมจะกลัวได้อย่างไรกันในเมื่อผมยังต้องนำเครื่องกลับ? ผมไม่รู้สึกกลัวเลยจนกระทั่งถึงพื้นดิน ถึงตอนนี้ผมเริ่มสั่นไปทั้งตัว หลังจากปฏิบัติการคราวนั้นเขากลายเป็นคนขวัญอ่อน และขึ้นบินอีกไม่ได้ถึงหนึ่งปีเต็มๆ

"แล้วอย่างผมนี่ปกติหรือเปล่า? ต้องรักษาไหม?"

นี่คงเป็นคำถามที่อยู่ในใจของหลายๆ คน จริงๆ แล้วความกังวลที่เป็นปกติ และผิดปกติมีส่วนคาบเกี่ยวกัน ถ้าใครอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายแล้วไม่มีความกลัวนับว่าผิดปกติ อีราสมุสเคยกล่าวถึงจุดนี้ ในศตวรรษที่ ๑๕ เขาอพยบหนีโรคกาฬโรคซึ่งกำลังระบาดมีคนตายเป็นเบือ และเขียนจดหมายถึงเพื่อนที่อพยบหนีไปเหมือนกัน "พูดจริงๆ นะฉันว่าในสถานการณ์แบบนี้คนที่ไม่กลัวไม่ใช่คนใจกล้าหรอกแต่เป็นคนโง่มากกว่า" เราจะรู้สึกกลัวหน่อยๆ เวลายืนอยู่บนหน้าผาหรือพบคนแปลกหน้ามากๆ ในต่างประเทศที่เรายังไม่เคยไป ความกังวลแบบนี้พบบ่อยเป็นสิ่งปกติ และช่วยให้เราระวังตัว ในทางกลับกันมีไม่กี่คนไม่ไปทำงาน เพราะกลัวรถเมล์ทำให้เดือดร้อน และผิดปกติ การกลัวสิ่งที่ไม่น่ากลัวจนต้องคอยหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นเป็นอาการที่เรียกว่าโรคประสาทกลัว บางครั้งบางคราวเราอาจเกิดความรู้สึกเครียด และหวาดกลัวจนเราเองก็ชักไม่ค่อยแน่ใจว่า "เอ..เรานี่ถึงขั้นบ้าไปแล้วหรือเปล่าเนี่ย?" ความวิตกกังวลไม่ทำให้เราเป็นบ้า และเรามักจัดการกับความกังวลของเราเองได้โดยอาจปรึกษาญาติๆ หรือเพื่อนๆ แต่บางครั้งแม้หมอตรวจอย่างละเอียดแล้วบอกว่าเราไม่เป็นมะเร็งหรือโรคพิษสุนัขบ้าแน่ๆ แต่เราก็ยังอดกังวลไม่ได้ ถ้าความกังวลของเรารุนแรงจนแก้ด้วยวิธีทั่วๆ ไปไม่ได้เราควรปรึกษาจิตแพทย์

ความวิตกกังวลที่รุนแรงมากจนต้องการการรักษา และเราถือว่าผิดปกตินั้นเป็นอารมณ์ชนิดเดียวกับความกังวลตามปกติแต่จะมีความรุนแรง มากกว่ากันเท่านั้น ผู้ป่วยที่กำลังเกิดอาการกลัวมักถามว่า "ผมยังเป็นปกติอยู่ไหมหมอ?" คำตอบคือเขายังเป็นปกติแต่ความกลัวของเขาผิดปกติ ความวิตกกังวลบางครั้งอาจเป็นมากจนผิดปกติในแง่ของความรุนแรงแต่คนๆ นั้นยังเป็นปกติในด้านอื่นทุกๆ ด้าน บางรายเกิดอาการที่เรียกว่าอะโกราโฟเบีย (agoraphobia,กลัวสถานที่บางอย่างเช่น ที่แคบๆ ที่โล่งๆ ที่ๆ มีคนแน่นๆ ) ก็ไม่ได้หมายความว่าเขากำลังจะเป็นบ้าแต่ยังเป็นคนปกติที่เกิดความกลัวเหมือนคนทั่วไปแต่รุนแรงผิดปกติจนรบกวนชีวิตประจำวัน คำถามอื่นๆ ได้แก่ "จะหายไหม เป็นกรรมพันธุ์ไหม จะทำยังไงถ้าผมเป็นมากจนดูแลครอบครัวไม่ได้ ความย้ำคิดจะทำให้ผมจะเผลอทำร้ายลูกเมียไหม?" ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องไม่ว่าจะโดยแพทย์หรือโดยการรักษาด้วยตนเองก็ตามอาการโรคประสาทกลัวส่วนใหญ่จะหายได้ สองบทสุดท้ายจะกล่าวถึงสิ่งที่ท่านจะต้องปฏิบัติ บางครั้งญาติๆ บางคนอาจติดอาการกลัวตามไปด้วยซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นถ้าได้รับการรักษาที่ดี ถ้าญาติบางคนมีอาการกลัวแบบเดียวกับผู้ป่วยเราก็สามารถให้การรักษาแบบเดียวกันในกรณีที่ความกลัวทำให้เราให้ความรักกับลูกๆ ไม่ได้เด็ก อาจมีปัญหาแต่เด็กก็อาจได้รับการดูแลเอาใจใส่จากสามีหรือภรรยาหรือจากญาติๆ ได้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตามถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเราจะสามารถเอาชนะความกลัว และกลับไปทำหน้าที่พ่อแม่ที่น่ารักได้แน่ และในผู้ป่วยที่มีความย้ำคิดที่จะทำร้ายใครก็มักไม่เผลอทำลงไปจริงๆ (ดูบทที่๙) นิสัยบางอย่างอาจเป็นสิ่งที่ดีถ้าตัวเราเองไม่รู้สึกรำคาญ และอาจจะภาคภูมิใจด้วย ถ้าเราเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนมีระเบียบเราอาจทำตามระเบียบกฏเกณฑ์ต่างๆ ได้ง่ายซึ่งก็เป็นผลดีต่อการทำงาน แต่ถ้าวันทั้งวันเราต้องคอยคิดแล้วคิดอีกตัดสินใจอะไรไม่ได้ คอยเอาชนะความย้ำคิดที่ผุดเข้ามา คอยตรวจตราประตูหน้าต่าง ทำให้คนรอบข้างพลอยหัวปั่นไปกับความพิลึกพิลั่นของเรา แบบนี้ความภูมิใจคงสลายไป เพราะความย้ำคิดย้ำทำซึ่งน่ารำคาญเสียเวลา และทรมาน ความกลัว และความตึงเครียดเล็กๆ น้อยๆ ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาแต่บางครั้งคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้น การเข้าใจปัญหาของตัวเอง และรู้ว่าคนอื่นก็เป็นเหมือนกันจะทำให้เราสบายใจขึ้น เรามักจะสามารถเอาชนะความกังวลในชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเองโดยอาจใช้วิธีต่างๆ ที่กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้หรือด้วยความช่วยเหลือจาก เพื่อนๆ หรือญาติๆ แต่ถ้าความกลัวเป็นมากจนรบกวนชีวิตประจำวันเช่นมีความมกลัวในเรื่องเพศมากจนไม่กล้าแต่งงานหรือกังวลเกี่ยวกับความสกปรกมากจน ต้องคอยล้างมือทั้งวันจนมือเปื่อย ในกรณีนี้ควรได้รับการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งอาจจะเป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ภาวะวิตกกังวลส่วนใหญ่สามารถรับการรักษาได้โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล

หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงวิธีต่างๆ ที่ผู้ป่วยสามารถใช้ในการช่วยเหลือตนเองในการแก้ปัญหาคนส่วนใหญ่สามารถจัดการกับความตึงเครียดได้เอง ช่วงท้ายๆ ของหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงหลักในการแก้ปัญหาด้วยตนเองซึ่งมีประโยชน์มาก เพราะสามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มเกิดปัญหา และแม้กระทั่ง ปัญหาที่เกิดมานานก็ยังแก้ไขได้ อย่างรวดเร็วโดยปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานเพียงไม่กี่อย่าง แต่ถ้าปัญหาแผ่กว้างมากผู้ป่วยอาจแก้ปัญหาเองไม่ไหวในหนังสือเล่มนี้ก็ได้บรรยายถึงวิธีรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญต่อไปด้วย

ความกลัวชนิดต่างๆ

คำนิยาม

เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนเราจะให้คำนิยามกับคำว่าความวิตกกังวล และคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้ ความวิตกกังวล (anxiety) เป็นความรู้สึกว่ากำลังจะมีอันตรายบางอย่างเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีสิ่งกระตุ้นที่ชัดเจน

ความกลัว (fear) เป็นความรู้สึกแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นเมื่อมีอันตรายหรือภัยคุกคามเกิดขึ้นจริง

ความขลาด (timidity) คือการมีแนวโน้มที่จะเกิดความกลัวได้ง่าย

ความตื่นตระหนก (panic) การมีความรู้สึกหวาดกลัวอย่างรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน

ความประสาทกลัว (phobic anxiety) เป็นความกลัวหรือความวิตกกังวลที่จะเกิดขึ้นเฉพาะ เมื่ออยู่ในสถานการณ์หรือ พบกับวัตถุบางอย่างเท่านั้น

แม้ว่าความแตกต่างระหว่างความวิตกกังวล, ความกลัว, และความประสาทกลัว ที่ว่ามาจะเหมือนกับกำหนดเอาเองอยู่บ้าง แต่คำทั้งสามนี้ควรจะแยกจากกัน เพราะมักจะหมายถึงอะไรที่ต่างกัน ความประสาทกลัวเป็นความกลัวชนิดพิเศษซึ่งมากเกินกว่าที่ควร และไม่หายกลัวแม้จะรู้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะไม่สามารถควบคุมได้ และ ทำให้ต้องคอยหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้กลัว ผู้ป่วยโรคประสาทกลัวมักจะรู้ว่าความกลัวของตนนั้นไร้สาระ และไม่มีใครเขากลัวอะไรแบบนี้กัน ความประสาทกลัวเป็นความกลัวที่ไม่สมเหตุผลแต่บางครั้งผู้ป่วยอาจพยายามอ้างเหตุผลมาอธิบาย

ความประสาทกลัวเป็นความกลัวที่เกินกว่าเหตุ

ในกรณีความประสาทกลัวประเภทกลัวขนนก กลัวผีเสื้อ เราจะเห็นได้ชัดว่าเป็นความกลัวที่เกินกว่าเหตุ ในกรณีความประสาทกลัวที่ซับซ้อนขึ้นเช่นกลัวการออกนอกบ้านหรือกลัวมะเร็งก็เช่นกัน เราก็ยังเห็นได้ว่าเกินกว่าเหตุ มีตัวอย่างของความเกินกว่าเหตุเป็นผู้ป่วยหญิงที่กลัวผีเสื้อ เธอจะต้องคอยปิดหน้าต่างให้ดีๆ ในช่วงฤดูร้อน และเธอต้องรีบลงจากรถไฟหรือรถเมล์บ่อยๆ เพราะเจอผีเสื้ออยู่บนรถ เธอประสบอุบัติเหตุหลายครั้ง เพราะความประสาทกลัว มีอยู่ครั้งหนึ่งเธอขี่จักรยานพาเพื่อนที่ซ้อนท้ายมาด้วยล้มไปด้วยกัน เพราะเห็นผีเสื้อ เธอหงายหลังตกน้ำสองครั้ง เพราะผีเสื้อบินตัดหน้า อีกครั้งหนึ่งเธอกำลังยืนบนเก้าอี้เพื่อทำความสะอาดตู้เสื้อผ้าแล้วบังเอิญหยิบซากผีเสื้อกลางคืนตัวโตเข้าเธอตกใจตกเก้าอี้จนข้อเท้าแพลง เธอจะไม่ยอมเข้าไปในห้องที่มีผีเสื้ออยู่เด็ดขาด และจะต้องตรวจตราก่อนเข้าห้องทุกครั้ง ที่น่าสนใจก็คือเธอไม่กลัวตัวอะไรที่น่าขยะแขยงอื่นๆ เช่นแมงมุม จิ้งหรีด ตัวด้วง หรือตัวบุ้ง "ให้ฉันอยู่กับแมงมุมแม่หม้ายดำทั้งกล่องยังดีกว่าให้เจอผีเสื้อแค่ตัวเดียว" เธอว่า ในรายที่เป็นมากๆ ความประสาทกลัวทำให้ผู้ป่วยมีสภาพเหมือนคนพิการ

"การจะให้ออกนอกบ้านสำหรับฉันแล้วเป็นความกลัวอย่างหนึ่ง" สุภาพสตรีท่านหนึ่งกล่าว ถ้าออกไปนอกบ้านละก็ฉันจะหายใจไม่ออก ขาสั่นไปหมด ฉันเลยต้องอยู่กับบ้าน-อยู่กับบ้านมาตั้ง ๔ ปีแล้วนะไม่เคยไปไหนเลย แรกๆ ก็เป็นไม่ค่อยมาก เวลาคนแน่นๆ ฉันจะหายใจไม่ออกหรือรู้สึกลนลาน และถ้าฉันไปจ่ายกับข้าวแล้วคนแน่นฉันต้องออก อยู่บนรถเมล์ก็เหมือนกันในใจฉันอยากจะให้มันไปให้ถึงที่ไวๆ แรกๆ ทุกอย่างมันก็เป็นน้อยๆ ก่อนน่ะคุณ แต่มันเป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ ฉันต้องร้องไห้อยู่บ่อยๆ เพราะฉันยังอยากออกไปข้างนอกอยู่ เวลาสามีพาลูกๆ ออกไปข้างนอกฉันก็ไปด้วยไม่ได้แต่ฉันก็พยายามซ่อนน้ำตาไว้รอจนเขาไปกันหมดแล้วค่อยร้องออกมา ฉันเหงามากจนบางครั้งต้องคลานไปนอน คือกินยานอนหลับแล้วก็คลานขึ้นเตียงไปนอน ผู้ป่วยจะเกิดความกลัวอย่างมากเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กลัว ผู้ป่วยจะคิดถึงความกลัวอยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นความทรมานอีกอย่างหนึ่งคือกังวลว่าจะเจอสิ่งที่กลัวอีก ความกังวลว่าจะกลัวก็จะกลายเป็นสิ่งที่คอยหลอกหลอนผู้ป่วยอีกอย่างหนึ่ง

ผู้ที่เป็นโรคประสาทกลัวจะคอยหลีกเลี่ยงสิ่งที่ตนกลัว

ผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความประสาทกลัว และจำกัดกิจวัตรประจำวันลงเพื่อลดความกังวล ผู้ป่วยจะคอยระแวดระวัง และจะรับรู้ได้ไวมากถ้ามีสิ่งที่ตนกลัวหรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องอยู่แถวนั้น ผู้ป่วยกลัวแมงมุมรายหนึ่งจะมองสำรวจทุกห้องที่เธอเข้าไปให้แน่ใจว่าไม่มีแมงมุมแน่จึงจะนั่งลงได้อย่างสบายใจ ผู้ป่วยกลัวนกรายหนึ่งพยายามเลี่ยงการเดินถนนในเมือง เพราะอาจเจอนกพิราบ และจะเลือกเดินตรงบริเวณที่ไม่ค่อยมีนก ในการที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่กลัวผู้ป่วยจะคอยมองหามันอยู่ตลอดเวลาแม้สิ่งนั้นจะอยู่ในที่ลับตาผู้ป่วยก็จะเห็นจนได้ และจะคอยสำรวจตรวจตรา ด้วยหางตาอยู่เสมอ ในระหว่างการรักษาเครื่องบ่งชี้ว่าอาการดีขึ้นอย่างหนึ่งคือการลดการรับรู้ว่ามีสิ่งที่ผู้ป่วยกลัวอยู่แถวนั้น สถานการณ์ที่กระตุ้นความประสาทกลัวมักเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป และหลีกเลี่ยงยาก ชีวิตของผู้ที่กลัวแมว กลัวการข้ามถนนหรือสะพาน กลัวการอยู่ในที่ๆ มีคนมากๆ หรือกลัวการขึ้นรถไฟหรือรถเมล์จะได้รับความเดือดร้อนมาก แม้แต่สิ่งที่เกิดไม่บ่อยในเมืองหนาวเช่นฟ้าร้องก็ยังทำให้ผู้ป่วยเป็นทุกข์หนักได้ ผู้ป่วยหญิงอายุ ๔๘ ปีรายหนึ่งเป็นประสาทกลัวสิ่งนี้มา ๒๘ ปี ฉันทำงานบ้านไม่ได้เลยในช่วงที่มีฟ้าร้อง ฉันต้องนั่ง และรอให้มันร้อง เวลาที่มันร้องฉันต้องมุดเข้าไปนั่งในตู้มืดๆ จนกว่าจะหยุด - ทั้งคืนก็ต้องยอม ฉันจะไม่พูดกับบใครทั้งสิ้น และฉุนเฉียว ฉันต้องคอยตามฟังพยากรณ์อากาศทุกครั้งซึ่งฉันเองก็รู้ว่ามันไร้สาระ ฉันพร่ำภาวนากับพระเจ้าขอให้ฉันหายจากโรคนี้เสียที ฉันก็รู้ว่าสามีกับลูกเอือมระอาที่ฉันเป็นแบบนี้ ผู้ป่วยที่เป็นประสาทกลัวฟ้าร้องบางรายเฝ้าเพียรโทรศัพท์ถามการพยากรณ์อากาศอยู่ทั้งวัน และจะไม่ยอมออกไปไหนเลยถ้ามีการพยากรณ์ว่า จะมีฟ้าร้อง มีอยู่รายหนึ่งได้ยินพยากรณ์อากาศบอกว่าจะมีฟ้าร้องกลัวมากจนต้องหนีขึ้นรถไฟ ๒๐๐ ไมล์จากลอนดอนไปแมนเชสเตอร์

ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจคนที่เป็นประสาทกลัวได้ยาก

ความประสาทกลัวถ้ายิ่งกลัวสิ่งที่ธรรมดา และพบบ่อยเท่าไรคนทั่วไปจะยิ่งไม่เข้าใจ และไม่เห็นอกเห็นใจ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าจะมีคนกลัวลูกหมาที่ขี้เล่น กลัวนกที่บินโฉบไปมา กลัวการออกจากบ้านไปได้อย่างไรคนมักเข้าใจว่าผู้ป่วยแกล้งทำหรือดัดจริต และควรพยายามควบคุมตัวเองหรือไม่ก็ต้องบังคับกัน คนทั่วไปไม่เข้าใจถึงความรุนแรงของความรู้สึก และความเดือดร้อนที่เกิดจากความประสาทกลัว ผู้ป่วยรายหนึ่งบอกว่า "ฉันพบว่าคนทั่วไปมักไม่ยอมเข้าใจความประสาทกลัว เขามักมองว่า "อย่าโง่นักเลยไม่กัดหรอกน่ะ" เขาไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างความกลัวธรรมดา-หรือความไม่ชอบอะไรบางอย่างกับการเป็นประสาทกลัวซึ่งเป็นความกลัวจับจิตจับใจต่อสิ่งนั้น" คนทั่วไปคงจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจได้ง่ายขึ้นถ้าได้รู้จักความประสาทกลัวต่อของทั่วๆ ไปมากขึ้น ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งกลัววิก และผมปลอมถึงขนาดจะเข้าร้านทำผมได้ต่อเมื่อเขาเก็บวิกไปซ่อนไว้หมดแล้วเท่านั้น เธอจะไม่ยอมเข้าใกล้คนใส่วิก และจะรีบเดินผ่านผมปลอมอย่างรวดเร็ว และไม่ยอมนั่งกินข้าวตรงข้ามกับคนใส่วิกเด็ดขาด เวลามีใครที่ไม่ทราบว่าเธอกลัววิกใส่วิกเข้ามาในห้องเธอแทบจะกระโดดทะลุหน้าต่างหนี เธอรู้สึกอับอายกับการที่ต้องมากลัวอะไรแบบนี้

คนทั่วไปไม่เข้าใจว่ามีความกลัวประเภทนี้อยู่ในโลกได้อย่างไร เราเองก็ยังไม่ทราบว่าความประสาทกลัวเริ่มเกิดขึ้นมาได้อย่างไรแต่เรารู้ว่ามันแผ่ขยายต่อไปได้ การที่เราหนีแต่ละครั้งจะทำให้เราอยากหนีอีกในครั้งต่อไป ถ้าเราไม่จัดการอะไรกับความประสาทกลัวเอาแต่คอยหนี และคอยหลีกเลี่ยงที่จะเจอกับสิ่งที่กลัวความกลัวจะแผ่ขยายออกไปอีก ยิ่งถ้าเราเก็บความกังวลนี้ไว้ไม่ยอมบอกใครทำให้ไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนที่อาจมีปัญหาคล้ายๆ กันความประสาทกลัว จะยิ่งมากขึ้น

ความอาย และการเก็บซ่อนความประสาทกลัว

การที่คนอื่นไม่เข้าใจทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากรู้สึกอับอายกลัวว่าคนอื่นจะหัวเราะเยาะที่กลัวอะไรแบบนี้ และเก็บซ่อนความกังวลไว้คนเดียว แม้กระทั่งถึงคราวที่ปิดต่อไปไม่ได้แล้วผู้ป่วยก็ยังไม่ยอมรับง่ายๆ แต่จะเลี่ยงว่าเป็น เพราะปวดหัวใจสั่นท้องเสียหรือเหนื่อยแทน ผู้ป่วยอาจกลัวว่าตนจะเป็นบ้าด้วยการที่ผู้ป่วยพยายามปิดบังนี้เองอาจทำให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยสังเกตุไม่ออก แม่บ้านที่เป็นโรคไม่กล้า ออกนอกบ้านอาจอยู่กับบ้านนานเป็นปีโดยที่คนที่ไปมาหาสู่กันหรือญาติๆ ไม่รู้เลยว่าเธอมีปัญหาตัวอย่างเช่นผู้ป่วยกลัวออก จากบ้านหลายๆ ราย ถูกเปิดเผยโดยบังเอิญในช่วงโครงการเปลี่ยนบ้าน ในนิวยอร์คครอบครัวที่ยากจน และอาศัยอยู่ในห้องๆ เดียวได้บ้านใหม่ และ มีนักสังคมสงเคราะห์มาคอยติดตามดูแลหลังจากนั้นไม่นานปรากฏว่าผู้หญิงหลายคนที่เป็นโรคกลัวออกนอกบ้านยังคงมีอาการอยู่ในบ้านใหม่ บางรายจะนอนไม่หลับถ้าไม่ได้เอาลูกมานอนใกล้ๆ บางรายพยายามจัดที่นอนให้เหมือนบ้านเก่า ผู้ป่วยเหล่านี้อาจชวนน้องสาวหรือเพื่อนมาอยู่ด้วย แม้ว่าอพาร์ตเม้นท์ใหม่จะมีห้องหลายห้องก็ตามจะมีเพียงห้องเดียวที่ใช้ได้ ไม่นานก็จะเห็นได้ชัดว่าผู้ป่วยเหล่านี้กลัวการเดินทางหรือกลัวการที่จะต้องทำอะไรคนเดียวตามลำพัง ความประสาทกลัวไม่หายง่ายๆ แต่เวลาที่อยู่ในภาวะที่ลำบากมากๆ ผู้ป่วยอาจเก็บซ่อนความกลัวไว้ได้ชั่วคราว ในค่ายกักกันแห่งหนึ่งในยุโรปส่วนที่ถูกนาซียึดไว้มีคนตายหรือถูกส่งต่อไปค่ายสังหาร ถึง ๑๒๐,๐๐๐ คน คนจะไม่บ่นถึงความประสาทกลัว และเก็บซ่อนไว้เพื่อให้ยังได้ทำงานอยู่ไม่ถูกยิงทิ้งหรืออบแก้สพิษไปเสียก่อน ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ที่ชัดเจนเลยแม้ว่าจะมีโรคทางจิตเวชอย่างอื่นเกิดขึ้นก็ตาม หลายเดือนหลังจากเป็นอิสระ และได้กลับบ้านผู้ป่วยบางรายที่ไม่แสดงอาการประสาทกลัวในค่ายกลับมามีอาการเดิมอีก

ปัญหาอื่นที่อาจสับสนกับความประสาทกลัว

อาการบางอย่างดูคล้ายความประสาทกลัวแต่ก็สามารถแยกจากกันได้ ดังตัวอย่างความกลัวโชคลาง และข้อห้าม(taboo)เป็นเป็นความเชื่อเกี่ยวกับโชคดีโชคร้ายที่คนในกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันเชื่อเหมือนๆ กันเช่น เชื่อว่าเดินลอดใต้บันไดแล้วจะโชคไม่ดี,หรือเชื่อว่าถ้วเอานิ้วกลางทับนิ้วนางแล้ววางมือไว้ตรงหัวใจหรือพูดว่า "เป็นความประสงค์ของพระเจ้า" แล้วจะโชคดี มีคนกล่าวถากถางว่า "ความเชื่อโชคลางเป็นศาสนาของคนอื่น"

ความย้ำคิด(obsession)เป็นความคิดที่ผุดเข้ามาในสมองซ้ำแล้วซ้ำอีกทั้งๆ ที่ไม่อยากคิด และพยายามฝืนเช่นคุณแม่รายหนึ่งมีความคิดผุดเข้ามา ว่าอยากจะบีบคอลูกที่หลับอยู่ คำว่าย้ำคิดมีที่มามาจากภาษาละตินว่า "obsidere" ซึ่งแปลว่า "รบกวน" ผู้ป่วยถูกความคิดที่ตนไม่ต้องการเหล่านี้รบกวนผู้ป่วยมักจะมีความย้ำทำ(compulsion)ด้วยโดยรู้สึกว่าต้องทำอะไรซ้ำๆ ทั้งที่ไม่อยากทำเช่น ต้องล้างมือวันละ ๙๐ ครั้ง เพราะมีความรู้สึกว่ามือสกปรกทั้งๆ ที่รู้ว่ามือสะอาดแล้ว

ความครุ่นคิด(preoccupation)เป็นการคิดอะไรซ้ำๆ โดยไม่มีความรู้สึกอยากต่อต้าน

ความคิดนั้นเช่นการครุ่นคิดว่าตนไม่เอาไหนในเรื่องเพศในเด็กวัยรุ่น

ความรู้สึกถูกกล่าวพาดพิง(sensitive ideas of reference)เป็นความกลัวว่าคนอื่นจะทำหรือพูดอะไรพาดพิงถึงตนทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ใช่เช่นความคิดว่าคนทั้งห้องกำลังพูดถึงตนอยู่ เมื่อตอนที่ตนเดินเข้ามา

ความหวาดระแวงหลงผิด(paranoid delusions)อาจมีความหมายรวมไปถึงความกลัวว่าจะมีใครต่อต้านตนโดยไม่รู้เหตุผลที่แน่ชัด

การท้าทายความประสาทกลัว(counterphobias) พฤติกรรมต่อต้านความประสาทกลัวเป็นความอยากเข้าไปเผชิญสถานการณ์หรือสิ่งที่ตนกลัวอยู่เรื่อยๆ อาจเกิดเมื่ออาการยังไม่มากหรือเมื่อผู้ป่วยพยายามเอาชนะความกลัว สุภาพสตรีท่านหนึ่งพยายามเอาชนะความกลัวความสูงโดยทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พฤติกรรมท้าทายความประสาทกลัวอาจช่วยผู้ป่วยได้โดยการเผชิญกับสิ่งที่กลัวทำให้ผู้ป่วยค่อยๆ คุ้นเคย และหายกลัวได้ ความพอใจที่สามารถควบคุมความกลัวได้อาจทำให้ผู้ป่วยที่กลัวทะเลกลายเป็นนักว่ายน้ำหรือนักเล่นเรือใบผู้มุ่งมั่นหรือคนเคยกลัวเวทีอาจ พยายามขึ้นพูดในที่สาธารณะทุกครั้งที่มีโอกาส พฤติกรรมท้าทายความประสาทกลัวก็เหมือนกับการที่เด็กชอบเล่นเกมส์ที่น่าตื่นตกใจ หรือในผู้ใหญ่ที่ชอบทำอะไรเสี่ยงๆ เช่นแข่งรถหรือการไต่เขา แต่ก็ไม่ใช่ว่ากิจกรรมทุกชนิดจะเป็นพฤติกรรมต่อต้าท้าทายความประสาทกลัวไปหมด คนจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรมประเภทนี้โดยไม่ได้มีความกลัวเลย มีแต่ความตื่นเต้นท้าทาย และความสนุกสนาน

ความรังเกียจ(aversion) มีคนบางคนที่ไม่ถึงกับกลัวสถานการณ์บางอย่างแต่มีความไม่ชอบอย่างมากที่จะจับ ชิม หรือได้ยินอะไรที่คนทั่วไปรู้สึกเฉยๆ หรือชอบ ความรู้สึกขยะแขยงที่เกิดขึ้นต่างจากความกลัวอยู่บ้าง ความรังเกียจทำให้รู้สึกเสียวฟัน เสียวสันหลัง เนื้อตัวเย็นหน้าซีด และหายใจเฮือก เราจะรู้สึกขนลุก ไม่เป็นสุข บางครั้งรู้สึกจะอาเจียน แต่ไม่รู้สึกตกใจ บางครั้งอาจมีความรู้สึกอยากเช็ดนิ้วหรือเอาครีมมาทาความรู้สึกรังเกียจบางอย่างจะเป็นมากขึ้นถ้าผิวหนังหยาบหรือตัดเล็บไว้ไม่เสมอกัน ทำให้มีความรู้สึกติดปลายนิ้วเวลาลูบผ่านอะไร ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งไม่ชอบของที่มีผิวเป็นขนสั้นๆ นุ่มๆ อย่างมากเช่นผิวลูกพีช ลูกเทนนิสใหม่ๆ หรือพรมบางชนิด เขาจะไม่เข้าห้องที่ปูพรมใหม่ๆ ที่มีเนื้อแบบนั้น เวลาเล่นเทนนิสเขาต้องใส่ถุงมือข้างหนึ่งไว้จับลูกบอลจนกว่าขนจะหลุดหมด คนบางคนมีปัญหากับการหยิบจับกระดุมมุก สำลี กำมะหยี่ หรืออะไรจำพวกนี้ บางคนชอบดูกำมะหยี่ที่วางโชว์อยู่แต่ไม่อยากจับ ความรู้สึกทำนองเดียวกันอาจเกิดกับเสียงชอลค์ขีดกระดานดำหรือเสียงมีดครูดกับจาน ความรังเกียจเหล่านี้แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่จริงๆ แล้วอาจรบกวนมาก สุภาพสตรีท่านหนึ่งไม่ชอบเสียงชอลค์ขีดกระดานดำจนต้องเลิกล้มความตั้งใจที่จะเป็นครู อีกท่านหนึ่งไม่ชอบกำมะหยี่จนไปงานเลี้ยงของเด็กๆ ไม่ได้ อีกคนบอกว่า "กระดุมทุกชนิดทำให้ฉันรู้สึกคลื่นไส้ ฉันไม่ชอบมันตั้งแต่เด็ก ลุงของฉันก็เป็น ฉันใส่ได้เฉพาะเสื้อผ้าที่ใช้ซิบกับตะขอเท่านั้นมีกระดุมไม่ได้เลย" ของที่คนบางคนรังเกียจมีได้มากมาย รายการวิทยุในอังกฤษรายการหนึ่งนพ.จอห์น ไพรซ์ และผู้ร่วมงานเชิญชวนให้ผู้ฟังที่คิดว่าตนมีความรังเกียจอะไรบางอย่างอยู่เขียนบรรยายเข้ามาร่วมรายการปรากฏว่ามีจดหมายพรั่งพรูเข้ามามาก มายซึ่งช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกเวลาเกิดความรังเกียจได้ดีขึ้น จดหมายส่วนใหญ่พูดถึงความรังเกียจที่จะจับสิ่งของมากกว่า ๑ อย่าง และหลายๆ คนชอบดูวัตถุที่ตนไม่กล้าแตะโดยเฉพาะผู้ที่ไม่กล้าจับกระดุมเงาๆ ความรู้สึกขยะแขยงที่พบบ่อยที่สุดคือการจับสำลีเส้นลวด ฝอยขัดหม้อ หรือกำมะหยี่ ที่พบบ่อยเช่นกันได้แก่การรังเกียจรสหรือกลิ่นบางอย่างทำให้ต้องเลี่ยงอาหารบางชนิดตัวอย่างที่พบบ่อยคือหัวหอม จดหมายหลายๆ ฉบับพูดถึงความขัดแย้งกันระหว่างเด็กที่ต้องใส่ชุดกำมะหยี่ในงานเลี้ยงกับแม่ที่ไม่เข้าใจว่าทำไม่เด็กถึงไม่ชอบใจ "ตั้งแต่จำความได้ฉันไม่ยอมจับกำมะหยี่เลย แม่บอกว่าฉันแผลงฤทธิ์เต็มที่ (ตอนนั้นอายุประมาณ๓ขวบ) เมื่อต้องใส่ชุดปาร์ตี้กำมะหยี่สีฟ้าน่ารักคอปก และข้อมือสีขาวที่แม่ทำให้ เมื่อถึงเวลางานฉันต้องใส่มันจนได้ด้วยความเหน็ดเหนื่อยของแม่ ฉันยืนกำมือแน่นกางแขนห่างจากตัวประมาณหนึ่งคืบ และได้แต่ร้อง "ไม่เอาๆ " และฉันก็ไม่เคยเปลี่ยนความคิดเลย ฉันอายุจะ๕๐แล้ว หน้าร้อนที่ผ่านมาฉันไปซื้อเสื้อผ้า และเดินไปดูตรงที่โชว์กำมะหยี่(ฉันชอบดู)ฉันบอกกับตัวเอง"น่าอายน่ะ ฉันโตแล้วนะ กล้าหน่อยสิ หยิบขึ้นมาดู "ฉันยืนคิดอยู่เกือบ ๒ นาทีพยายามบอกตัวเองว่ามันน่ารักออกจะตายไป ฉันยื่นมือไปจับขึ้นมาทั้งกำมือ-แต่ความรู้สึกยังเป็นเหมือนเดิม!เสียวฟัน!ขยะแขยงจริงๆ ! ฉันว่าไม่ใช่แค่น่าอายเฉยๆ นะ? ฉันเลิกหวังว่าฉันจะมีโอกาสออกงานหรือไปโรงละครในชุดกำมะหยี่สีพลอย เวลาฉันไปบ้านใครที่มีเบาะกำมะหยี่ฉันต้องคอยระวังไม่ให้มือหรือแขนที่อยู่นอกเสื้อไปถูกมัน!"

เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งไม่เพียงแต่ไม่ชอบกำมะหยี่เท่านั้นแต่ยังเป็นกับหนังกลับ ผ้าฝ้าย ผ้าขนสัตว์ และเน็คไทที่มีขนปุยๆ ด้วย "ทันทีที่ฉันสัมผัสเส้นใยประเภทนี้ฉันจะรูสึกซ่าตั้งแต่หัวจรดเท้าเลย ฉันอายุแค่๑๕ และตอนเด็กๆ แม่ก็ไม่รู้หรอกว่าฉันรู้สึกอย่างไรเวลาจับฉันแต่ชุดกำมะหยี่ที่น่าขยะแขยงหรือให้เนคไทขนๆ กับฉัน และสิ่งหนึ่งที่ ทำให้ฉันเลิกสูบบุหรี่คือก้นกรองก็เป็นกำมะหยี่ชนิดหนึ่งเหมือนกัน" จดหมายบางฉบับบ่งบอกว่าความรังเกียจอาจเกิดในครอบครัวได้ พ่อของฉันไม่ยอมให้แม่แต่งชุดกำมะหยี่ เพราะเขาไม่กล้าแตะต้องมัน(เวลาเต้นรำ) ซึ่งรวมไปถึงอะไรที่คล้ายๆ กำมะหยี่ด้วยเช่นผ้าที่มีขนเดี๋ยวนี้ฉันเองก็กลัวเหมือนพ่อแล้ว ลูกสาวของฉัน (อายุ๒๗) ก็เป็นแบบเดียวกันตั้งแต่ยังเล็กๆ เธอจะไม่ชอบของเล่นที่เป็นผ้ามีขน นี่เลยกลายเป็นการมีคน๓ชั่วคนกลัวของอย่างเดียวกันโดยไม่มีเหตุผล

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือความรู้สึกเสียวฟันเกิดได้โดยไม่จำเป็นต้องมีฟันจริงๆ ครอบครัวของฉันเป็นเกือบทุกคน แม่ของฉันเกลียดเสียงช้อนขูดกระทะ และบอกว่ารู้สึกเสียวฟันทั้งๆ ที่แกไม่มีฟันแล้ว และต้องใส่ฟันปลอมทั้งบน และล่าง พี่ชายคนหนึ่งเกลียดเสียงบดเกลือรวมทั้งเสียงเล็บครูดฝาผนังด้วย ฉันเองไม่ชอบการที่เด็กๆ เล่นลูกโป่งโดยเอานิ้วถูให้เกิดเสียงหรือเสียงขัดพื้น-คิดถึงขึ้นมาแล้วขนลุก ฉันไม่กล้าจับสำลี เพราะทำให้รู้สึกจั๊กจี้มือ กับพวกฝอยขัดหม้อก็เหมือนกัน ลูกสาวคนโตของฉันทนไม่ได้เวลาฉันตะไบเล็บ ส่วนคนเล็กไม่ชอบแตะกำมะหยี่

สำลีแห้ง

สุภาพสตรีอีกท่านหนึ่งรู้สึกสั่นเวลาจับสำลีจนตัดสินใจไม่เรียนพยาบาล ต่อมา "เมื่อการล้างแผลสมัยใหม่ใช้ปากคีบจับสำลีฉันจึงสมัครเป็นพยาบาล แรกๆ ฉันรู้สึกรำคาญมากแต่เมื่อชุบสำลีกับน้ำยาเย็นๆ หรือยาล้างแผลความกระอักกระอ่วนที่จะจับสำลีก็หายไป ทุกวันนี้แม้ว่าฉันจะยังไม่ชอบจับมันอยู่แต่ความรู้สึกสั่นเป็นน้อยลงมากแล้ว ดูเหมือนว่าความไม่ชอบนี้จะเป็นกับคนในครอบครัว "สามีของฉันก็ไม่ชอบอยู่ใกล้สำลี ลูกชายก็เหมือนกัน ลูกสาวก็เป็นตอนเล็กๆ ซึ่งฉันแกล้งทิ้งสำลีชิ้นเล็กๆ ไว้ทั่วบ้านซึ่งก็ทำให้หายได้แต่ต่อมาเธอบอกฉันว่ากลัวอีกแล้ว เธออายุ ๒๗ แล้วน่าแปลกไหม

หนังกลับ(suede)

ชายผู้หนึ่งเขียนมาว่า "ตลอดชีวิตผมไม่ชอบจับหนังกลับหรือของเนื้อแบบนั้น ถ้าบังเอิญไปโดนเข้าผมจะขนลุกซู่ทันที จะรู้สึกเย็นวาบไปทั้งสันหลัง และสะดุ้งกลับราวกับโดนน้ำร้อนลวก แค่คิดถึงก็ทำให้รู้สึกขนลุกขนพองแล้ว! ผมเล่นเทนนิสไม่สนุกเท่าที่ควร เพราะผิวของลูกของมัน โต๊ะเล่นไพ่ก็เหมือนกันเวลาปลายนิ้วไปโดนจะรู้สึกอย่างกับแปรง-ผมเลยไม่เล่นไพ่ เพราะเหตุนี้ การซักพรมด้วยแชมพูเป็นงานที่ทำให้ผมขยาดมาก ไม่ใช่ เพราะงานหนักแต่เป็น เพราะเกลียดความรู้สึกจากขนพรมเปียกๆ ผมลูบช้อนไม้เปียกๆ ไม่ได้-นี่เป็นเรื่องตลกสำหรับภรรยาของผมกว่า๒๐ปีที่อยู่ด้วยกันมา!"

ผ้าขนสัตว์เปียกๆ

"ฉันจับผ้าขนสัตว์หรือผ้าขนสัตว์เทียมเปียกๆ ไม่ได้ หลังจากซักผ้าประเภทนี้ฉันถึงกับหุบนิ้วไม่ลงจนกว่ามือจะแห้ง ฉันต้องกัดลิ้นไว้เพื่อลดความรู้สึกเสียวฟัน"

ผิวลูกพีช

ความรังเกียจผิวลูกพีชทำให้บางคนไม่ยอมปอกลูกพีช คนที่ชอบกินลูกพีชบอกว่าต้องให้คนอื่นปอกให้ ความรังเกียจนี้อาจรุนแรงมากๆ ได้ "ฉันรังเกียจผิวลูกพีชอย่างมากแต่กับแอปริคอทแล้วเป็นไม่ค่อยมาก เวลาเห็นใครกัดลูกพีชทั้งเปลือกฉันจะเกิดความขยะแขยงขึ้นมาทันที และจะเป็นอยู่เป็นชั่วโมง การนึกถึงมันก็ยังทำให้ฉันตัวสั่นได้"

ยาง

"ตอนเด็กๆ ฉันเคยกลัวการเล่นเกมส์ที่ต้องใช้ลูกโป่งในงานวันเกิด และฉันต้องร้องห่มร้องไห้พยายามบอกแม่บ่อยๆ ว่าจะไม่ใส่รองเท้าบูทยางเอง ฉันจะไม่ว่าอะไรถ้ามีคนใส่ให้..ฉันเกลียดมัน เพราะเวลาจับของ๒อย่างนี้ฉันจะขนลุก หลังเย็นวาบ ฟันจะเริ่มกระทบกัน และหายใจไม่ออก..ราวกับตกน้ำเย็นๆ มา"

"ฉันยอมรับว่าฉันจับของพวกนี้ได้เมื่อจำเป็นเวลาทำให้ลูกๆ และอาการของฉันไม่รุนแรงเท่าตอนเด็กๆ แล้วแต่ฉันก็ยังต้องสูดหายใจยาวๆ เพื่อลด อาการหนาวสั่น" อย่างที่นพ.ไพรซ์กล่าวไว้ ความรังเกียจเหล่านี้น่ารำคาญมากกว่าจะเป็นอุปสรรคกับชีวิตประจำวันแต่บางรายก็มีผลต่อการเลือกอาชีพเช่นพยาบาล ครู และมีผลต่องานในบ้าน คนที่ไม่ยอมล้างชาม เพราะไม่ชอบแตะต้องหม้อหรือกระทะไม่จำเป็นจะต้องเป็นการแกล้งทำเสมอไป แต่อย่างไรก็ตามคนที่เป็นมากขนาดในจดหมายฉบับสุดท้ายนี้มีน้อยมาก

เรามีลูกชายคนหนึ่งชื่อเจมส์อายุ๘ขวบ เขารังเกียจสิ่งต่างๆ หลายอย่างมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโดยการสัมผัส และโดยการกิน...เริ่มเป็นตั้งแต่๖ขวบ และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ การจดรายการของที่ไม่ทำให้เขา "หนาว" ยังจะง่ายกว่าเลย...เขารังเกียจวัตถุสังเคราะห์ทุกชนิด ผ้าขนสัตว์หลายชนิด แปรง กระดาษชำระ เสียงกระโดด เสียงขัดพื้น อ้อ!แล้วก็ทราย-หาดทราย! ฉันแปลกใจกับรายการสิ่งที่เขาเกลียด เวลาซื้อเสื้อผ้าให้ฉันก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะใส่ได้หรือเปล่า อาการเกลียดของเขาคือหน้าซีด ซี้ดปาก ตัวสั่น และถ้าเป็นมากๆ จะขนลุก...ถ้าเป็นมากกว่านี้เขาคงต้องแก้ผ้าไปโรงเรียน! เขาเป็นลูกคนโตในจำนวน ๒ คน [คนที่ ๒ เป็นผู้หญิงไม่เกลียดอะไรเลย] ตัวฉันเอง และสามีก็เหมือนคนทั่วๆ ไปคือเกลียดอะไรนิดๆ หน่อยๆ คนละอย่างสองอย่าง เขายังติดของเล่นชิ้นหนึ่งมาก เป็นตุ๊กตาสุนัขขาดๆ เหม็นๆ เขาจะมีความสุขกับการจับ และดมมันมาก

ผ้าห่มของไลนัส: ของประจำตัว(soterias)

เรื่องของตุ๊กตาสุนัขขาดๆ นำเราไปสู่เรื่องของผ้าห่มของลินนัส เด็กที่น่ารักในการ์ตูนพีนัท เขามักไปไหนต่อไหนโ ดยเอาผ้าห่มเก่าๆ ของเขาไปด้วย ผ้าห่มของลินนัสเป็นของประจำตัวชนิดหนึ่ง ของประจำตัวหมายถึงวัตถุที่คนๆ นั้นผูกพัน ซึ่งตรงข้ามกับความรังเกียจ และความประสาทกลัว มักเป็นของส่วนตัวที่ให้ความสุขแบบพิเศษสำหรับคนๆ นั้นโดยเฉพาะแม้ว่าคนทั่วไปจะเห็นว่าเป็นของธรรมดาๆ เช่นของเล่น และตุ๊กตายัดนุ่นที่เด็กเล็กๆ ชอบเอาติดตัว พวกเครื่องรางที่ผู้ใหญ่จำนวนมากพกติดตัวก็เช่นกัน เด็กหลายๆ คนเอาผ้าห่มหรือตุ๊กตายัดนุ่นตัวเก่งติดตัวไปด้วยทุกที่จนเก่าสกปรกขาดรุ่งริ่งเป็นผ้าขี้ริ้ว เด็กจะติดของมากจนแม่ไม่สบายใจ และพยายามเก็บไปทิ้งซึ่งเด็กอาจเสียใจมาก ผู้ที่เป็นประสาทกลัวก็อาจติดของประจำตัวบางอย่างซึ่งช่วยลดความกลัวได้ บางรายจะรู้สึกอุ่นใจถ้าพกยาดมติดตัวไว้ บางรายแค่มียากล่อมประสาทติดกระเป๋าอยู่แม้ไม่เคยได้ใช้เลยก็สบายใจแล้ว

ประวัติความเป็นมาของความกลัว

ความกลัวไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เกือบ ๒๐๐๐ ปีก่อนฮิปโปเครติสกล่าวถึงชายคนหนึ่งที่เป็นประสาทกลัวขลุ่ย ถ้าเขาไปงานเลี้ยง ตอนกลางคืนทันที ที่ได้ยินเสียงขลุ่ยเขาจะเกิดอาการตื่นกลัวขึ้นมาทันที แต่ถ้าเป็นกลางวันแล้วไม่เป็นไร อีกรายเป็นโรคกลัวความสูง ถึงขนาดไม่กล้ายืนริมหน้าผา บนสะพาน หรือแม้แต่ริมคูน้ำตื้นๆ มีการเขียนถึงความประสาทกลัวอยู่เรี่อยๆ ปี ๑๖๒๑ (พ.ศ.๒๑๖๔) โรเบิร์ต เบอร์ตันพิมพ์หนังสือชื่อ "กายวิภาคศาสตร์ของภาวะซึมเศร้า" ว่า "นอกจากจะทำให้หน้าแดงหน้าซีดตัวสั่นเหงื่อแตกแล้ว ภาวะที่ว่านี้มีผลร้ายอีกหลายอย่าง...เขาจะอยู่อย่างหวาดกลัวไม่มีที่สิ้นสุด... ไม่มีวิธีใดๆ ที่จะมาแก้ความกลัวนี้ได้" เบอร์ตันบรรยายความ แตกต่างระหว่างความกลัว และความซึมเศร้า และกล่าวถึงบุคคลในประวัติศาสตร์หลายๆ คน ที่เป็นประสาทกลัว เช่นทัลลี่ (Tully) และเดโมสทีนส์ (Demosthenes) ซึ่งเป็นโรคตื่นเวทีทั้งคู่ และออกุสตุส ซีซ่าร์ (Augustus Caesar) ซึ่งเป็นโรคกลัวความมืด

เบอร์ตันเขียนถึงผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่ง..ไม่กล้าเดินกลับบ้านคนเดียว เพราะกลัวเป็นลมหรือตายไปเลย นอกจากนั้นเขายังกลัวว่า ทุกคนที่เขาพบจะปล้น หาเรื่องทะเลาะ หรือไม่ก็ฆ่าเขา อีกอย่างที่ทำให้เขาไม่กล้าไปไหนคนเดียวคือกลัวเจอผี ผู้ร้าย หรือกลัว จะไม่สบาย เขายังไม่กล้าขึ้นสะพาน อยู่ใกล้บ่อน้ำ ท้องร่อง เนินเขาชันๆ อ่างน้ำมนต์ในโบสถ์ เพราะกลัวว่าจะเผลอกระโดดลงไป เวลาฟังสวดเขาก็กลัวจะเผลอตะโกนอะไรออกมา เวลาปิดประตูอยู่ในห้องคนเดียว เขาจะกลัวหายใจไม่ออก และต้องพกยาดมติดตัว เป็นประจำ ถ้าเขาอยู่ในที่ๆ คนมากๆ หรืออยู่ในโบสถ์ซึ่งออกมาลำบากเขาจะทนนั่งอยู่ได้แต่จะรู้สึกทรมานมาก

หลังจากนั้นก็มีการกล่าวถึง ความประสาทกลัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กษัตริย์เจมส์ที่๑แห่งอังกฤษ ไม่กล้ามองดาบที่ไม่ได้อยู่ในปลอก จนมีผู้กล่าวว่า "อลิซาเบธเป็นกษัตริย์ส่วนเจมส์ที่๑เป็นราชินี" กษัตริย์อีกองค์หนึ่งคือเจอร์มานิคัส (Germanicus) กลัวไก่ตัวผู้ และเสียงไก่ขัน เมื่อโรคซิฟิลิสระบาดในยุโรปโรคประสาทกลัวซิฟิลิสก็ตามมา ในปี ๑๗๒๑ (พ.ศ.๒๒๖๔) แพทย์ผู้หนึ่ง บรรยาย อาการโรคประสาทกลัวซิฟิลิสไว้ว่า แค่สิวเม็ดเดียวหรือมีอะไรเจ็บๆ ขึ้นมาหน่อยผู้ป่วยก็จะเป็นกังวลจนต้องไปหาหมอ อาการจะรุนแรงจนแพทย์เองยังรู้สึกว่า รักษายากกว่าซิฟิลิสจริงๆ เสียอีก ความประสาทกลัวอื่นๆ ของบุคคล ในประวัติศาสตร์ได้แก่ของกษัตริย์เฮนรี่ที่ ๓ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งกลัวแมว และดยุคแห่งชอนเบอร์กซึ่งเป็น นายพลชาวรัสเซียผู้โด่งดังผู้หนึ่ง ซึ่งกลัวกระจกเงาจนจักรพรรดินีแคเธอรีนต้อง ให้เข้าเฝ้าในห้องที่ไม่มีกระจกเงาเลย นักเขียนชาวอิตาเลี่ยนชื่อแมนซอนี่ (Mansoni) ไม่กล้าออกจากบ้านคนเดียว เพราะกลัวจะเป็นลมนอกบ้าน และต้องพกน้ำส้มสายชูขวดเล็กๆ ติดตัวไปด้วยทุกที่ เฟดู (Feydeau) นักเขียนบทละครชาวฝรั่งเศส แทบจะไม่ได้ออกไปไหนตอนกลางวันเลย เพราะกลัวแสงแดด แม้แต่ซิกมันด์ ฟรอยด์เองก็เคยมีอาการประสาทกลัวเช่นกัน อย่างหนึ่งก็คือ การกลัวการเดิน ซึ่งเป็นอยู่หลายปีในช่วงอายุ๓๐เศษ


หนังสือแปลจาก Living with fear ของ Isaac M. Marks โดย นพ. สเปญ อุ่นอนงค์