การดูแลความโกรธ

บทนำ สร้างสันติด้วยมือเรา : การดูแลความโกรธ

สร้างสันติด้วยมือเรา : การดูแลความโกรธ เขียนโดย Shari Klein and Neill Gibson แปลโดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
เพราะอะไรเราจึงโกรธ 10 ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงความโกรธ ใช้หลักการสื่อสารอย่างสันติ โดย ชาริ ไคล์น และ นีล กิ๊บสัน

What's Making You Angry? 10 Steps to Transforming Anger So Everyone Wins. A presentation of Nonviolent Communication ideas and their use

by Shari Klein and Neill Gibson แปลโดยไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์

บทนำ

ขณะที่เรากำลังโกรธ มีสามสิ่งเกิดขึ้น คือ

1 เรากำลังไม่พอใจ เพราะความต้องการบางอย่างของเราไม่ได้รับการตอบสนอง

2 เรากำลังโทษใครบางคนหรืออะไรบางอย่างว่า ทำให้เราไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ

3 เรากำลังจะพูดหรือทำอะไรบางอย่าง ที่เกือบจะแน่นอนว่า ถ้าทำไปแล้ว เราจะไม่ได้สิ่งที่เราต้องการหรือไม่ก็ต้องมาเสียใจภายหลัง

เมื่อเรากำลังโกรธ เรามักพุ่งความสนใจเกือบทั้งหมดไปในที่สิ่งที่เราไม่ต้องการ เรามักคิดแต่ว่าคนอื่นทำผิดอย่างไรบ้าง เราลืมไปเสียสนิทว่า จริงๆ แล้วเราต้องการอะไร ขั้นตอน 10 ข้อต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นที่ว่า และช่วยให้คุณหันกลับมา เห็นคุณประโยชน์ของ ความโกรธ คุณจะค้นพบว่า ความโกรธนี้มาจากไหน และเรียนรู้การแสดงความโกรธออกมา ในวิถีทางที่จะ ทำให้ทั้งความต้องการของคุณ และผู้อื่น ได้รับการตอบสนอง คุณสามารถใช้ขั้นตอนเหล่านี้ในการปรับความสนใจขณะตกอยู่ในความโกรธและความขัดแย้ง พร้อมทั้งเรียนรู้ ที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจสำหรับทุกฝ่าย

ขั้นที่ 1 คิดว่าความโกรธเป็นเหมือนสัญญาณเตือน

ความโกรธก็เป็นเหมือนไฟเตือนบนหน้าปัดรถ เมื่อคุณเห็นสัญญาณเตือน คุณจะรีบใส่ใจดูว่ามีอะไรผิดปกติในรถแล้วรีบแก้ไข เมื่อแก้ไขแล้ว คุณก็จะสามารถขับรถไปสู่จุดหมายปลายทางด้วยดี อย่างไรก็ตาม การรับมือกับความโกรธนั้นไม่ใช่เป็นแค่การพยายามดับสัญญาณเตือน ความโกรธสามารถเป็นเสียงปลุกให้เราตื่นขึ้นมาใส่ใจกับความต้องการและคุณค่าต่าง ๆ ในชีวิต ความรู้สึกและสัมผัสของร่างกายคุณ เปรียบได้ดั่งสัญญาณเตือนและเข็มวัดต่าง ๆ บนหน้าปัดรถ มันจะช่วยให้คุณรู้ว่าความต้องการใดของคุณได้รับการตอบสนอง หรือความต้องการใดไม่ได้รับการตอบสนองบ้าง

ดังนั้นเมื่ออารมณ์ความรู้สึกของคุณกำลังคุกรุ่น หรือความรุนแรงภายในกำลังปรากฏตัวขึ้น สิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตคุณและผู้อื่นเป็นสุขมากขึ้นก็คือ มุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่คุณต้องการ และละวางความคิดว่าอีกฝ่าย "ผิด" หรือ คิดว่าเธอคนนั้นเป็น "ศัตรู" ของเราตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราจะดูแลความต้องการของเรา และมุ่งหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ทำให้ความต้องการของทุก ๆ ฝ่ายได้รับการตอบสนอง

ขั้นที่ 2 ดูให้ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น

คุณเคยถามใครสักคนดูไหมว่าเขาโกรธเรื่องอะไร ส่วนใหญ่แล้ว คำตอบที่เขาให้กลับมาจะเป็นการต่อว่าว่าคนนั้นคนนี้ทำอะไรผิดบ้าง เช่น มีผู้บริหารคนหนึ่งกล่าวว่า "เขาทำงานไม่รู้เรื่องเลย นำเสนองานได้แย่มาก ไม่เคารพคนในที่ประชุมเอาเสียเลย" คำพูดเช่นนี้ไม่ได้บอกเลยว่า เกิดอะไรขึ้นจริง ๆ ในขั้นนี้ คุณจะทำตัวเหมือนนักสืบ สิ่งที่คุณกำลังสืบคือ เกิดอะไรขึ้นจริง ๆ ลองดูว่าประโยคต่อไปนี้ ให้ข้อมูลต่างกับ ประโยคข้างต้นอย่างไรบ้าง "เขามาช้ากว่าเวลาประชุม 20 นาที แล้วแจกเอกสารที่มีรอยกาแฟหกใส่"

ในขั้นนี้คุณพยายามดูให้ชัดว่า สิ่งที่ทำให้คุณเกิดปฏิกิริยาต่อต้านนั้นคืออะไร เมื่อคุณอธิบายได้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น คุณจะสามารถเห็น ความต้องการของคุณชัดขึ้นด้วย อีกฝ่ายจะมีท่าทีต่อต้านน้อยลงด้วย เพราะเขาจะเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด ดังนั้นในสถานการณ์ความขัดแย้ง ขอให้คุณสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นให้ชัดและอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น

ถ้ามีคนคนหนึ่งกำลังโกรธ เขาอาจจะพูดว่า "เธอดูถูกฉัน" "เธอมันจอมบงการ" หรือ "เธอพยายามควบคุมฉันตลอดเวลา" ประโยคเช่นนี้สื่อนัยว่า อีกฝ่ายกำลังทำผิด แต่ไม่ได้สื่อให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือ ให้คิดว่าคุณเป็นกล้องวีดีโอ จับภาพสิ่งที่เกิดขึ้นเอาไว้ คุณจะสามารถอธิบายสถานการณ์ได้อย่างชัดเจนขึ้น เช่น "ฉันได้ยินคุณพูดว่า ฉันเป็นตัวขี้เกียจ" "คุณพูดว่าคุณจะไม่ออกไปงานกับฉัน ถ้าฉันไม่ใส่ชุดสีแดง" "คุณพูดว่าฉันชอบแต่งตัวเชย ๆ"

เมื่อคุณสามารถอธิบายได้อย่างตรงไปตรงมาว่าคุณมีปฏิกิริยากับอะไร โดยไม่ใส่การตีความหรือตัดสินลงไป คนอื่นที่ฟังคำพูดคุณ มักจะไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านกลับมา

ขั้นที่ 3 รับผิดชอบต่อความรู้สึกของเราเอง

ความโกรธยังเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า คุณมีความคิดในเชิงตัดสิน หรือกล่าวโทษ และยังบอกด้วยว่า ขณะนั้นความต้องการ ที่สำคัญบางอย่าง ของคุณถูกละเลยไป ใช้ความโกรธของคุณเป็นสัญญาณเตือน ให้คุณหยุดและหันกลับมาหาว่า ความต้องการใดถูกละเลยไป
เมื่อหน้าปัดบน รถคุณเตือนว่า ความร้อนในรถขึ้นสูง นั่นแสดงว่า เครื่องยนต์ของรถคุณต้องการความเย็น ถ้าไฟเตือนแบตเตอรี่รถดับลง แสดงว่าไฟในแบตเตอรี่มีเพียงพอแล้ว ความรู้สึกทางจิตใจและทางกายก็เป็นเช่นเดียวกับสัญญาณเตือนของรถยนต์ มันเป็นสัญญาณ ที่สำคัญและ เที่ยงตรง มันบอกคุณได้ว่าตอนนี้สภาวะของคุณเป็นอย่างไรบ้าง ความรู้สึกเหล่านี้มีความชัดเจนและรวดเร็ว ในแต่ละขณะมันจะบอกคุณว่าความต้องการอะไรของคุณได้รับการตอบสนอง หรือไม่ได้รับการตอบสนอง

โปรดระลึกไว้ว่า การกระทำของคนอื่นไม่สามารถทำให้คุณเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ได้ความรู้สึกเป็นสัญญาณเตือนของตัวคุณเอง มันเป็นผลมาจาก ความต้องการที่ได้รับการตอบสนองหรือไม่ได้รับการตอบสนอง ความโกรธเป็นผลมาจากการพุ่งความสนใจไปที่การกระทำของผู้อื่น การตัดสินว่า เขาควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร หรือตัดสินว่าเขาผิด เขาเป็นคนไม่ดี เมื่อคุณเปลี่ยนจุดสนใจมาที่การค้นหาว่า ความต้องการใด ของคุณ ไม่ได้รับการตอบสนองในสถานการณ์นั้น ๆ ความรู้สึกของคุณก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่น เมื่อคุณพบว่า คุณไม่ได้รับ การปฏิบัติที่ทำให้ความต้องการความเคารพของคุณได้รับการตอบสนอง คุณอาจรู้สึกเจ็บกลัวหรือผิดหวัง แต่ถ้าคุณไม่ตัดสินอีกฝ่ายว่า เขาควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร คุณจะไม่รู้สึกโกรธ

เมื่อความรู้สึกของคุณทำหน้าที่ของมันแล้ว ซึ่งนั่นก็คือเมื่อคุณสามารถกลับมาใส่ใจกับความต้องการและคุณค่าต่าง ๆ เมื่อนั้นความโกรธก็จะสลายไป การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่เหมือนการเก็บกดความโกรธ และไม่ใช่การพยายามทำความโกรธให้เย็นลง เมื่อคุณรู้ว่าคุณต้องการอะไรจริง ๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นอาจจะเด่นชัดขึ้นมาและอาจมีความเจ็บปวดมาก แต่มันจะต่างจากความโกรธ

ขั้นที่ 4 รู้เท่าทันความคิด และกระจ่างชัดกับความต้องการ

ในวัฒนธรรมของเราเรามักถูกสอนให้ละเลยความต้องการของตัวเอง และลดละความจำเป็นต่าง ๆ ในชีวิต ถ้าเราพูดแสดงความต้องการลึก ๆ ออกมาบางทีเราจะถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวแต่จริงๆ แล้วทุกคนต่างก็มีความต้องการอยู่ตลอดเวลา มนุษย์ทุกคนต้องการ ความเคารพทุกคน ต้องการการเอาใจใสความสมานฉันท์ ต้องการเป็นตัวของตัวเองและต้องการความรัก นี่เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ คนที่ไม่มีความต้องการอะไรเลยคือ คนที่ตายแล้ว

เวลาที่คุณโกรธบ่อยๆครั้งคุณมีความคิดโทษคนอื่นในความคิดโทษคนอื่น จะมีอารมณ์ความรู้สึกแฝงอยู่ ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกนี้ เกิดขึ้นจาก ความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อคุณรู้เท่าทันความคิดโทษคนอื่นคุณจะสามารถเริ่มสำรวจความรู้สึกข้างใน และดูว่าความรู้สึกเหล่านี้ เกิดขึ้นเพราะ ความต้องการใดไม่ได้รับการตอบสนองบ้าง
เช่น ถ้าความคิดโทษคนอื่นของคุณคือ "เธอชอบดูถูกฉันเหลือเกิน" ความรู้สึกทางกายและใจของคุณจะเป็นเช่นไร คุณอาจจะรู้สึกเกร็ง กลัว เสียใจ กังวล หรือสับสน การให้ชื่อความรู้สึกอาจไม่ใช่งานง่าย ๆ สังคมมักหล่อหลอมให้เรานำการตัดสินมาปะปนกับความรู้สึก ซึ่งก่อให้เกิดความคิดโทษคนอื่นตามมา การแยกแยะความรู้สึกออกจากการตัดสินผู้อื่น เป็นขั้นตอนสำคัญ ที่จะทำให้คุณเห็น ความต้องการของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น และก้าวไปสู่การทำให้ความต้องการนั้นได้รับการตอบสนอง คุณสามารถใช้รายการความรู้สึก

ขั้นที่ 5 ค้นหาความต้องการ

"เดี๋ยวก่อน นี่มันสัญญาณเตือนเรื่องความน่าเชื่อถือนี่นา" ผู้บริหารฉุกคิดขึ้นมาได้ หลังจากที่ตอนแรกเขาคิดว่า ลูกน้องเขาทำลาย การนำเสนองาน เสียย่อยยับ เขาคิดว่าความโกรธของเขาเป็นเพียงสัญญาณเตือน เมื่อเขามองลึกลงไปภายใต้ความโกรธ แปลคำตัดสินของเขา เป็นความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง เขาก็พบว่า เขาให้คุณค่ากับความน่าเชื่อถือ และความน่าไว้วางใจสูงมาก การหันกลับมาใส่ใจ ความต้องการเช่นนี้ ทำให้ความคิดของผู้บริหารเปลี่ยนไป ความโกรธคลายลง เปลี่ยนเป็นความกังวล และความผิดหวังอย่างแรง

แม้แต่คำต่อว่าแรงๆ เช่น "พวกโรคจิต" ก็เป็นเพียงฉากหน้าของความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ถ้าคน ๆ หนึ่งเรียกอีกคนว่าพวกโรคจิต ความต้องการจริง ๆ อาจจะเป็นการอยากจะคาดคะเนอะไรได้ ความวางใจ หรือ ความปลอดภัย แต่ที่แน่นอนก็คือ การเรียกใครสักคนว่า พวกโรคจิต ไม่สามารถสื่อสารความต้องการจริง ๆ ออกมาได้ และสุดท้าย ความต้องการนั้น ก็ไม่ได้รับการตอบสนองดังเดิม

ความงดงามของความเข้าใจว่า ความรู้สึกของเราเป็นสัญญาณเตือนก็คือ คุณจะพบว่าความต้องการของคุณคืออะไร คุณจะกลับมาอยู่ใน สถานะที่เปี่ยมด้วยพลัง มีโอกาสที่จะทำให้ความต้องการของคุณได้รับการตอบสนองได้

เมื่อคุณค้นหาความต้องการของคุณพบแล้ว ลองใช้เวลาสังเกตดูว่า ความต้องการนั้นสำคัญสำหรับคุณอย่างไรบ้าง คุณต้องการมัน มากน้อย อย่างไร และเมื่อความต้องการนี้ได้รับการตอบสนอง ชีวิตคุณจะรู้สึกเต็มเปี่ยมมากขึ้นหรือไม่

การฝึกการสื่อสารอย่างสันติช่วยให้เราปรับวิธีการฟังและสื่อสารกับผู้อื่น การสื่อสารเช่นนี้ เรามุ่งความสนใจไปที่ 4 ประเด็น

1 เราสังเกตเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น
2 เรารู้สึกอย่างไร
3 เรามีความต้องการอย่างไร
4 เราจะขอร้องอะไรอีกฝ่ายเพื่อทำให้ชีวิตเราเต็มเปี่ยมยิ่งขึ้น

ในที่นี้คำว่าความต้องการหมายถึง ความต้องการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่เราทุกคนมี ตอนท้ายของหนังสือจะมีรายการความต้องการต่าง ๆ ที่การสื่อสารอย่างสันตินิยามว่าเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์

เมื่อเราเริ่มใส่ใจกับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ เราจะเริ่มสัมผัสถึงสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกัน ซึ่งจะช่วยให้เราฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง ทั้งมีความเคารพและเข้าอกเข้าใจผู้อื่น สิ่งเหล่านี้จะเอื้อให้ทั้งเราและอีกฝ่ายเกื้อกูลกันและกันอย่างใจจริง และฟูมฟักความกรุณาขึ้นมาในใจ

ในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผ่านมา คุณทำความเข้าใจกับตัวเอง ในขั้นที่ 2 คุณกลับไปดูให้ชัดว่าอีกฝ่ายทำอะไร ขั้นที่ 3 คุณรับผิดชอบต่อความรู้สึกของคุณเอง ขั้นที่ 4 คุณรับผิดชอบต่อความคิดของตนเองและเริ่มมองความรู้สึกและความต้องการอย่างลึกซึ้ง คุณเลือกที่จะใช้ความคิดของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ รู้แน่ชัดว่าคุณให้คุณค่ากับสิ่งใด ในขั้นที่ 5 คุณสัมผัสกับความเต็มเปี่ยมของชีวิตมากขึ้น เพราะคุณรู้ว่าคุณมีความต้องการอะไร

ในขั้นต่อ ๆ ไป คุณจะดูว่าใครจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ความต้องการของทุกคนได้รับการตอบสนอง ในขั้นที่ 6 คุณจะเริ่มคิดถึงการกระทำที่จะทำให้บรรลุถึงความต้องการนั้น

ขั้นที่ 6 หาสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำว่า "ไม่"

เมื่อเรากำลังโกรธ เรามักคิดแต่ว่าอีกฝ่ายไม่ควรทำพฤติกรรมเช่นนั้นเช่นนี้ ลองเปรียบเทียบดูกับเวลาที่คุณอยากให้ความร้อนของรถคุณลดลง ถ้าคุณแค่อยากโดยไม่หาวิธีแก้ไข ความร้อนก็ไม่มีทางลดลงได้ คุณต้องหาจุดที่เสียแล้วรีบซ่อม

ผู้บริหารในตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว อาจจะรู้แล้วว่า เขาต้องการความไว้ใจและความน่าเชื่อถือ เวลาที่นำเสนองาน เขาต้องการให้เริ่มต้น การนำเสนองานอย่างตรงเวลาและมีเอกสารที่สามารถใช้ได้ดี ถ้าเขาพูดอย่างคนทั่ว ๆ ไป เขาก็อาจจะบอกลูกน้องคนนั้นว่า "อย่ามาสาย แล้วก็อย่าเอาเอกสารที่มีกาแฟหกใส่มาแจก" แต่ปัญหาก็คือ ลูกน้องคนนั้นอาจไม่มาเลย หรือ มาแต่ไม่เอาเอกสารมาแจกเลย

ถ้าผู้บริหารคนนี้ใช้คำขอร้องในแง่บวก ความต้องการของเขาจะมีโอกาสได้รับการตอบสนองมากกว่า คำขอในแง่บวกนี้จะบอกชัดเจนว่า การกระทำใดที่ทำให้ความต้องการของเขาได้รับการตอบสนอง เช่น "คุณจะช่วยโทรหาผม 30 นาทีก่อนการประชุมได้ไหม ผมจะได้รู้ว่าคุณจะมาทันเวลาหรือไม่ แล้วช่วยใส่เอกสารในซองกันน้ำทันทีที่ได้มาด้วยได้ไหม" มุ่งความสนใจไปในสิ่งที่คุณต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่คุณไม่ต้องการ

ขั้นที่ 7 คิดหาคำขอร้องที่ชัดเจน

คุณได้เห็นแล้วว่าเมื่อคนกำลังโกรธ เขามักคิดว่าคนอื่นทำให้เขาโกรธ ตอนนี้คุณคงเห็นได้ว่า คุณมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงความเข้าใจผิดนี้ ไม่ว่าใครก็ตามสามารถนำพลังนี้มาทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น ในขั้นนี้เราจะเรียนรู้วิธีการขอร้องสิ่งที่ทำได้จริง ในปัจจุบัน

"ผมขอให้คุณทำตัวให้น่าเชื่อถือมากขึ้น" คำขอร้องเช่นนี้ไม่ชัดเจนและไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เราจะลองมาคิดหาคำขอร้อง ที่อีกฝ่ายสามารถ ปฏิบัติได้ทันที และเป็นการกระทำที่จะตอบสนองความต้องการของคุณได้ ลองถามตัวเองดูว่า ตอนนี้อีกฝ่ายจะทำหรือพูดอะไร ที่จะเป็นการเคารพต่อความต้องการของคุณ

เช่น พนักงานคนหนึ่งไม่ได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นเวลาหลายปี เธอรู้ดีว่าความต้องการด้านการเป็นที่ยอมรับ และความเคารพของเธอ ไม่ได้รับการตอบสนอง เธอรู้ชัดว่าควรจะพูดให้เจ้านายเห็นว่า เกิดอะไรขึ้น เธอมีความรู้สึกอย่างไรและมีความต้องการอย่างไร ตอนนี้เธอกำลังคิดว่าจะขอร้องอย่างไรให้มีความชัดเจนและเป็นบวก เธอคิดว่าประโยคขอร้องต่อไปนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี "หัวหน้าจะช่วยพิจารณาสองโครงการที่ดิฉันทำสำเร็จในปีนี้ และเป็นโครงการที่หัวหน้าเห็นว่า ช่วยพัฒนาสถานะด้านการตลาด ของบริษัทได้ไหมคะ"

แต่เธอฉุกคิดได้ว่า คำขอร้องเช่นนี้เป็นการขอร้องเรื่องที่จะทำในอนาคต เพื่อเป็นการสื่อสารกับหัวหน้าในปัจจุบัน เธอต้องการเปลี่ยน คำขอร้องนี้เป็นสิ่งที่หัวหน้าทำได้ทันที เธอถามตัวเองว่าแล้วหัวหน้าจะทำอะไรได้บ้างในทันที

เธอคิดแล้วเห็นว่ามี 2 คำขอร้องที่หัวหน้าสามารถตอบได้ทันที คำขอแรกขึ้นต้นด้วย "หัวหน้าจะช่วยตกลงว่า...." คำขอนี้สร้างข้อตกลงทันทีว่าหัวหน้าจะทำอะไรบ้างในอนาคต ผู้ที่ถูกขอสามารถให้คำตอบได้ในทันที เธอยังขออีกว่า ".....ภายในอาทิตย์หน้าได้ไหมคะ" คำขอนี้สร้างความกระจ่างว่าเวลาที่ตกลงกันนั้นคือเมื่อไร ประโยครวมของคำขอนี้คือ "หัวหน้าจะช่วยตกลงได้ไหมคะว่า ภายในอาทิตย์หน้าจะพิจารณาโครงการสัก 2 โครงการที่ดิฉันทำสำเร็จในปีนี้และหัวหน้าเห็นว่าเป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาสถานะด้านการตลาดของบริษัทได้มาก"

ขั้นที่ 8 ให้ชื่อความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่าย

ทุก ๆ สถานการณ์มี 2 ด้าน เหมือนเหรียญที่มี 2 หน้า ถ้าคุณต้องการให้ความต้องการของคุณได้รับการตอบสนอง สำคัญมากที่ความต้องการของอีกฝ่ายจะได้รับการตอบสนองด้วยเช่นกัน ขั้นที่ 8 นี้เป็นการทำความเข้าใจว่า ความต้องการของคุณจะไม่ได้รับการตอบสนองอย่างแท้จริง ถ้าคนอื่นต้องเสียสละความต้องการของเขาเพื่อคุณ มันเหมือนกับการส่องสว่างความรู้เท่าทันไปที่ความรู้สึก ความต้องการและคำขอร้องของคุณ แล้วก็ส่องสว่างไปที่คนอื่น ๆ ในชีวิตคุณเช่นกัน

เราสามารถใช้ขั้นที่ 2 ถึง 7 ในใจเพื่อคาดคะเนความรู้สึก ความต้องการของอีกฝ่ายได้ด้วย ข้อสำคัญคือ เราคาดคะเนโดยไม่ต้องกังวลว่า จะถูกต้องหรือไม่ แค่เพียงพยายามอย่างดีที่สุด เพื่อจะเข้าใจความต้องการและความปรารถนาที่อยู่เบื้องหลังการกระทำของอีกฝ่าย

โปรดระลึกไว้ว่า จนถึงขั้นนี้คุณยังไม่ได้พูดอะไรออกมาเลย ทุกขั้นที่ผ่านมาเป็นการไตร่ตรองอยู่ภายใน

ลองคาดคะเนความรู้สึกของอีกฝ่าย แปลความคิด เช่น "เขาเป็นจอมบงการ" ดูสิว่าเบื้องหลังการบงการนั้นเขาต้องการอะไร เขาอาจจะต้องการ ความงดงามและระเบียบในการใช้ชีวิต (เขาจึงบอกให้คุณหยิบถุงเท้าที่ใส่แล้วบนพื้นไปเก็บที่เสีย) หรือถ้าแฟนของคุณบ่นว่า คุณใช้เวลา กับเพื่อน มากเกินไป เขาอาจต้องการการเอาใจใส่ การดูแล หรือความรัก ถึงตอนนี้แม้คุณจะยังไม่ได้พูดกับอีกฝ่าย แต่ความคิด ที่มีต่อเขา ได้เปลี่ยนไปแล้ว แทนที่จะมองเป็นเขาเป็นศัตรู คุณมองเขาอย่างอ่อนโยน ด้วยความกรุณา เห็นว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีความต้องการ และต้องการทำให้ชีวิตเป็นสุขมากขึ้นด้วย การตอบสนองความต้องการพื้นฐาน ของความเป็นมนุษย์

ขั้นที่ 9 ใครจะพูดก่อน

มองให้กว้าง และคิดว่าในที่สุดความต้องการของทุก ๆ คนจะได้รับการตอบสนอง และได้รับการเคารพ จะไม่มีใครได้เปรียบอีกฝ่าย กระบวนการนี้ จะจบลงที่ทุก ๆ คนได้รับการรับฟัง ความเข้าใจ และพอใจด้วยกันทุกฝ่าย กระบวนการจะยังไม่เสร็จสิ้น ถ้ามีคนเพียงคนเดียวที่ได้รับการรับฟังและความเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ มีเพียงคน ๆ เดียวที่จะได้รับการรับฟัง ดังนั้นลองถามตัวคุณดูหลาย ๆ คำถามว่า ใครจะเป็นคนพูดก่อนและใครจะเป็นคนฟังก่อน คุณอยากพูดแสดงความรู้สึก ความต้องการ แล้วเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายรับฟังก่อน หรือคุณอยากแสดงความเข้าใจโดยรับฟังอีกฝ่ายก่อน ลองดูว่าใครเป็นทุกข์มากกว่า ใครมีความกระจ่างชัดมากกว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนที่มีความชัดเจนมากกว่าเป็นฝ่ายตั้งใจฟังความรู้สึก ความต้องการของฝ่ายที่เป็นทุกข์มากกว่า เมื่อได้รับการรับฟังแล้ว คนที่เป็นทุกข์มักจะรู้สึกสบายใจและมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้พร้อมที่จะรับฟังความต้องการของคุณ

ไม่ว่าจะฟังก่อนหรือหลัง คุณจะเป็นฝ่ายที่ฉายความรู้เท่าทันในระหว่างการสนทนา คุณจะเป็นคนที่ใส่ใจว่าความรู้สึก ความต้องการ และคุณค่าคืออะไร และดูว่าจะระบุความต้องการของใครก่อน ถ้าคุณเป็นฝ่ายพูดก่อน คุณจะบอกให้อีกฝ่ายทราบถึงความรู้สึก ความต้องการ และคำขอร้องที่คุณไตร่ตรองมาก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าคุณเลือกที่จะรับฟังก่อน คุณจะเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายพูดถึงความรู้สึก ความต้องการ และคำขอร้อง ซึ่งคุณได้คาดคะเนไว้ล่วงหน้าในขั้นที่ผ่านมา

ขั้นที่ 10 เริ่มต้นการสนทนา

ถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้ก่อนเริ่มการสนทนากับอีกฝ่าย คุณเห็นชัดหรือยังว่าคุณมีปฏิกิริยาต่อต้านกับอะไร คุณรู้ถึงความรู้สึกและความต้องการของคุณแล้วหรือยัง คุณคาดคะเนได้หรือยังว่าอีกฝ่ายมีความรู้สึก ความต้องการ และคุณค่าอะไร คุณรู้ไหมว่าคุณต้องการให้เกิดผลอะไรในขั้นต่อไป เอาล่ะ ตอนนี้ถึงเวลาที่คุณจะเริ่มสนทนาได้แล้ว ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำบางประการว่าจะพูดอะไรและไม่พูดอะไรดี

ข้อแรกคือ ไม่พูดสิ่งที่อยู่ในข้อ 3 เพราะสิ่งที่อยู่ในข้อ 3 นั้นเป็นความคิดเชิงกล่าวโทษ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความโกรธขึ้นตั้งแต่ตอนแรก ขอให้ใช้ขั้นที่ 2 และอธิบายสิ่งที่สังเกตเห็นให้ชัด "ฉันกำลังคิดถึงเรื่องที่คุณไปค้างบ้านเพื่อนอาทิตย์ละ 3 วัน" แล้วใช้ขั้นที่ 4 เพื่อบอกว่าคุณรู้สึกอย่างไร ขอให้ความรู้สึกนั้นเป็นความรู้สึกที่ออกจากใจ หรือความรู้สึกทางกาย เช่น "ฉันรู้สึกเหงาและเสียใจ" โปรดระวังเวลาที่คุณเริ่มต้นประโยคว่า "ฉันรู้สึกว่า..." หรือ "ฉันรู้สึกว่าคุณ..." เตือนตัวเองว่าถ้าเริ่มประโยคเช่นนี้ สิ่งที่ตามมามักจะเป็นการกล่าวโทษหรือความคิด ซึ่งมักจะไม่ทำให้คุณได้รับสิ่งที่คุณต้องการ โปรดระลึกไว้ว่า เราจะพูดแสดงความรู้สึกทางกายหรือใจ ไม่ใช่คิดวิเคราะห์หรือกล่าวโทษ

เมื่อคุณให้ชื่อความรู้สึกที่มาแทนที่ความโกรธ และเป็นความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับความต้องการของคุณได้แล้ว ขอให้คุณพูดความต้องการของคุณออกมา ("ฉันรู้ว่าฉันต้องการมีคนอยู่เป็นเพื่อนมากกว่านี้") แล้วจึงขอร้องสิ่งที่จะเอื้อให้เกิดการตอบสนอง อันจะช่วยให้ชีวิตคุณเต็มเปี่ยมยิ่งขึ้น ระลึกไว้ว่าขอในสิ่งที่อีกฝ่ายจะสามารถทำได้ทันที ("คุณจะรับปากว่า จะใช้เวลาคืนวันอังคารกับวันเสาร์กับฉันได้ไหม")

อีกฝ่ายอาจจะต้องการให้เราเข้าใจความต้องการของเขาเช่นกัน แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า เขายังไม่ผ่านกระบวนการภายในมาเช่นคุณ เขาอาจก้าวข้ามไปขั้นที่ 3 ทันที เช่น อาจพูดว่า "คุณมันเห็นแก่ตัวทุกที คิดถึงแต่ตัวเอง" เขาอาจพูดแต่คำกล่าวโทษ ที่คุณพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูด ขอให้คิดว่าไม่เป็นไรคุณรับได้อยู่แล้ว ขอให้เลือกที่จะฟังทุกอย่างที่เขาพูดอย่างเข้าใจ ใส่ใจกับความรู้สึกและความต้องการของเขา คาดคะเนดูว่าเขาอยากให้คุณทำอะไร "คุณรู้สึกกังวลใจ (ความรู้สึก) อยากได้ความเห็นใจในความต้องการของคุณ (ความต้องการ) แล้วอยากรู้ว่าฉันจะตกลงทำตามความต้องการนั้น (การกระทำ) ได้รึเปล่า"

การบอกอีกฝ่ายว่าคุณรับรู้ถึงความต้องการของเขาต่างจากการตอบตกลงที่จะทำตามเขา การรับฟังความต้องการของอีกฝ่ายทำให้คุณเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของเขาจริง ๆ คุณจะแปลกใจว่า เขาจะไว้ใจคุณเร็วเพียงใด นี่เป็นเพราะเขาจะรู้สึกว่าความต้องการของเขาสำคัญสำหรับคุณ ผลก็คือเขาอาจเปิดใจมาดูความต้องการของคุณได้มากขึ้น เขายังจะสามารถเปิดรับกับวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้ความต้องการของเขาบรรลุผลได้มากขึ้น

มาทบทวนกันหน่อย

ในขั้นที่ 1-3 คุณเรียนรู้วิธีใหม่ ๆ เพื่อให้คุณเข้าใจและกลับมามองความโกรธได้

ในขั้นที่ 1 คุณเรียนรู้ว่า ความโกรธเป็นสัญญาณเตือนอันมีค่า มันช่วยสะกิดให้คุณหยุดและหันกลับมามองดูว่าความรู้สึกและความต้องการของคุณคืออะไร และยังช่วยให้คุณเริ่มที่จะมองว่าอะไรทำให้ชีวิตคุณเต็มเปี่ยมยิ่งขึ้น

ขั้นที่ 2 คุณเรียนรู้ที่จะดูให้ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ โดยปราศจากการตัดสินกล่าวโทษ

ขั้นที่ 3 คุณรู้ว่าความรู้สึกของคุณเกิดขึ้นเนื่องมาจากความต้องการของคุณได้รับหรือไม่ได้รับการตอบสนอง ความรู้สึกของคุณไม่ได้เกิดจากการกระทำของผู้อื่นแต่อย่างใด

ในขั้นที่ 4 คุณรับผิดชอบความคิดของคุณเอง และหันจุดสนใจมาที่ความรู้สึกและความต้องการของคุณ

ขั้นที่ 5 คุณรู้สึกได้ว่าชีวิตเต็มเปี่ยมมากขึ้น เพราะคุณสัมผัสกับความต้องการของตัวเอง และตระหนักว่า คุณสามารถทำอะไรในแง่บวกที่จะส่งผลให้ความต้องการของคุณได้รับการตอบสนองได้

ขั้นที่ 6 และ 7 คุณเริ่มจินตนาการถึงการกระทำในแง่บวก ซึ่งเอื้อให้ความต้องการของคุณได้รับการตอบสนองได้ทันที

ขั้นที่ 8 คุณหันมาใส่ใจกับคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คุณพยายามเข้าใจ ความรู้สึกและความต้องการของเขา และดูว่ามีการกระทำอะไรที่จะเอื้อให้ความต้องการของเขาได้รับการตอบสนองบ้าง

ขั้นที่ 9 คุณเลือกว่าใครจะเป็นผู้เริ่มพูดก่อน ระลึกไว้ว่า คุณสามารถสนทนาต่อไปได้เรื่อยๆ จนความต้องการของทุกคนได้รับการตอบสนอง ด้วยการกระทำที่ทุกคนเต็มใจที่จะทำ

ขั้นที่ 10 ขั้นสุดท้าย คุณเริ่มลงมือปฏิบัติ เริ่มสนทนาอย่างสร้างสรรค์ ผลัดกันพูดแสดงความรู้สึกและรับฟังความรู้สึกของอีกฝ่าย คุณจับความรู้สึกดูว่าคุณรู้สึกเช่นไร ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนความต้องการของทุกคนได้รับการตอบสนอง ด้วยการตกลงจะทำในสิ่งที่ทุกคนเต็มใจ

บทสรุป

ในทุกๆขณะเราทุกคนมีชีวิตอยู่โดยมีความต้องการและคุณค่าต่าง ๆ ทั้งความต้องการและคุณค่าต่างก็หาหนทางเปิดเผยตัวออกมาให้เรารู้ เราต่างก็อยากที่จะใช้ชีวิตให้เป็นไปตามคุณค่าของเรา และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้อื่นมีชีวิตตามคุณค่าของเขา สิ่งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการบังคับ ทุกชั่วขณะคุณสามารถใช้ความจริงใจและความเข้าใจ เพื่อทำให้ความต้องการของคุณบรรลุผล และให้คุณค่าต่าง ๆ ที่คุณเชื่อถือปรากฏเป็นจริงในชีวิต การฝึกปฏิบัติตามขั้นตอนทั้ง 10 นี้ จะช่วยให้คุณเปลี่ยนแปลงความโกรธ เป็นความสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความกรุณาอย่างแท้จริง

หนังสือเล่มนี้ใช้หลักการสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย ดร. มาแชล โรเซนเบิร์ก ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ ชาริ ไคล์น และ นีลล์ กิ๊บสัน โดยมี แกรี บาราบ และซิลเวีย ราสคาวิทซ์ จาก The Center for Nonviolent Communication เป็นบรรณาธิการ


สร้างสันติด้วยมือเรา : การดูแลความโกรธ เขียนโดย Shari Klein and Neill Gibson แปลโดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์