ไข้หวัด - Common Cold /Upper respiratory tract infection (URI)

  • Tab 1

ไข้หวัด เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง(โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และเด็กที่เพิ่งเข้า โรงเรียนในปีแรก ๆ อาจเป็นเฉลี่ยประมาณเดือนละครั้ง)ทำให้ต้องสูญเสียแรงงาน เวลาเรียนและสิ้นเปลืองเงินทองไปปีละมาก ๆ ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด (เชื้อหวัด) มีอยู่มากกว่า 200 ชนิด ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ทำให้เกิดการ อักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและคอ) ครั้งละชนิด  เมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายจะมีภูมิต้านทาน ต่อเชื้อหวัด ชนิดต่าง ๆ มากขึ้น ก็จะป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้น และมีอาการรุนแรงน้อยลงไปโรคนี้ สามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยการอยู่ใกล้ชิดกัน จึงพบเป็นกันมากตามโรงเรียน โรงงานและที่ ๆ มีคนอยู่รวมกลุ่มกันมาก ๆ เป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี มักจะพบมากในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ส่วนในฤดูร้อนจะพบน้อยลง 

สาเหตุ 

เกิดจากเชื้อหวัด ซึ่งเป็นไวรัส (virus) มีอยู่มากกว่า 200 ชนิดจากกลุ่มไวรัส 8 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มไวรัส  ที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด, นอกนั้นก็มีกลุ่มโคโรนาไวรัส  (Coronavirus), กลุ่มอะดิโนไวรัส (Adenovirus), กลุ่มอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus/RSV), กลุ่มไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza virus), กลุ่มเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus), กลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus), กลุ่มเชื้อเริม (Herpes simplex virus) เป็นต้น การเกิดโรคขึ้นในแต่ละครั้ง จะเกิดจากเชื้อหวัดเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วคนเราก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดชนิดนั้น ในการเจ็บป่วยครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆเชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ ของผู้ป่วยติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน นอกจากนี้ เชื้อหวัดยังอาจติดต่อโดยการสัมผัส กล่าวคือ เชื้อหวัดอาจ ติดที่มือของผู้ป่วย หรือสิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ของเล่น หนังสือ ฯลฯ) ที่ผู้ป่วยสัมผัส เมื่อคนปกติสัมผัสถูกมือของผู้ป่วย หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่แปดเปื้อนเชื้อหวัด เชื้อหวัดก็จะติดมือของ  คน ๆ นั้น และเมื่อใช้นิ้วมือขยี้ตา หรือแคะจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของคน ๆ นั้น จนกลายเป็นไข้หวัดได้  ระยะฟักตัว (ระยะตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไป จนกระทั่งมีอาการเกิดขึ้น) 1-3 วัน 

อาการ 

มีไข้ตัวร้อนเป็นพัก ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดหนักศีรษะเล็กน้อย เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้ง ๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อย ลักษณะสีขาว บางครั้งอาจทำให้รู้สึกเจ็บแถวลิ้นปี่เวลาไอในผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกใส ในเด็กมักจับไข้ขี้นมาทันทีทันใด บางครั้งอาจมีไข้สูงและชัก ท้องเดิน หรือถ่ายเป็นมูกร่วมด้วยถ้าเป็นอยู่เกิน 4 วัน อาจมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอมีเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว จากการอักเสบซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย และอาจมีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อนตามมา ซึ่งจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย 

สิ่งตรวจพบ 

ไข้ น้ำมูก เยื่อจมูกบวม และแดง คอแดงเล็กน้อย ในเด็กอาจพบต่อมทอนซิลโต แต่ไม่แดงมาก และไม่มีหนอง 

อาการแทรกซ้อน 

ที่พบบ่อยเกิดจากการอักเสบแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีน้ำมูกหรือเสลดเป็นสีเหลือง หรือเขียว ถ้าลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้เป็นต่อมทอนซิลอักเสบ , ไซนัสอักเสบ , หูชั้นกลางอักเสบ , หลอดลมอักเสบ , ปอดอักเสบ ในเด็กเล็ก อาจทำให้มีอาการชักจากไข้สูง , ท้องเดิน บางคนอาจมีเสียงแหบ เนื่องจากกล่องเสียงอักเสบบางคนอาจมีอาการวิงเวียน เนื่องจากอวัยวะการทรงตัวภายในหูชั้นในอักเสบ , ดังที่เรียกว่า หวัดลงหู ซึ่งจะหายได้เองภายใน 3-5 วันโรคแทรกที่รุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยที่ไม่ได้พักผ่อน ตรากตรำงานหนัก ร่างกายอ่อนแอ (เช่น ขาดอาหาร) ในทารกหรือคนสูงอายุ 

การรักษา 

เนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ เพียงแต่ให้การรักษาไปตามอาการเท่านั้น ได้แก่ 

1. แนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ดังนี้ 
1.1 พักผ่อนมาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนัก หรือออกกำลังกายมากเกินไป 
1.2 สวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าถูกฝน หรือถูกอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น 
1.3 ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไป เนื่องจากไข้สูง 
1.4 ควรกินอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ 
1.5 ใช้ผ้าชุบน้ำ (ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง 
ข้อแนะนำเหล่านี้ สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีไข้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน 
2. ให้ยารักษาตามอาการ ดังนี้ 
2.1 สำหรับผู้ใหญ่ และเด็กโต (อายุมากกว่า 5 ปี) 
- ถ้ามีไข้ ให้ลดยา เช่น แอสไพริน (ย1.1), พาราเซตามอล  
- ถ้ามีอาการคัดจมูกมากหรือน้ำมูกไหลมาก ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ใน 2-3 วันแรก เมื่อทุเลาแล้ว ควรหยุดยา หรือกรณีที่มีอาการไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องให้ยานี้ 
- ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นมาก ๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (น้ำผึ้ง 4 ส่วน มะนาว 1 ส่วน), ถ้าไอมาก  
ลักษณะไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ ให้ยาระงับการไอ  
2.2 สำหรับเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) 
- ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม  
- ถ้ามีน้ำมูกมาก ให้ใช้ลูกยางเบอร์ 2 ดูดเอาน้ำมูกออกบ่อย ๆ หรือใช้กระดาษทิชชูพันเป็นแท่ง สอดเข้าไปเช็ดน้ำมูก (ควรชุบน้ำสุก หรือน้ำเกลือพอชุ่มก่อน ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว) 
- ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นมาก ๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว 
3. ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องให้ เพราะไม่ได้ผลต่อการฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นไวรัส (อาการที่สังเกตได้คือ   มีน้ำมูกใส ๆ) ยกเว้นในรายที่สงสัยว่าจะมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เช่น มีน้ำมูกหรือเสลด  ข้นเหลืองหรือเขียวเกิน 24 ชั่วโมง หรือปวดหู หูอื้อ หรือมีไข้เกิน 4 วัน  ยาปฏิชีวนะ ให้เลือกใช้เพนวี , อะม็อกซีซิลลิน ในรายที่แพ้เพนิซิลลิน ให้ใช้อีรีโทรไมซิน แทน 
ควรให้นาน 7-10 วัน ส่วนขนาดที่ใช้ให้ดูในภาค 3 
4. ถ้าไอมีเสลดเหนียว ให้งดยาแก้แพ้ และยาระงับการไอ และให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ วันละ 10-15 แก้ว   (ห้ามดื่มน้ำเย็น), อาจให้ยาขับเสมหะ ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ 
5. ถ้ามีอาการหอบ หรือนับการหายใจเร็วกว่าปกติ (เด็ก อายุ 0-2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาที, อายุ 2 เดือนถึง 1 ปี หายใจมากกว่า 50 ครั้งต่อนาที, อายุ 1-5 ปี หายใจมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที) หรือมีไข้นานเกิน 7 วัน ควรส่งโรงพยาบาล โดยเร็วอาจเป็นปอดอักเสบ หรือ ภาวะรุนแรงอื่นๆได้อาจต้องเอกซเรย์ หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ 
6. ถ้ามีอาการชักร่วมด้วย ดูเรื่อง "ชักจากไข้สูง" 

ข้อแนะนำ 

1. ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษา และป้องกันไข้หวัดอย่างได้ผล การรักษาอยู่ที่การพักผ่อนและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ยาที่ใช้ก็เป็นเพียงยาที่รักษาตามอาการเท่านั้น โดยทั่วไปอาการตัวร้อนมักจะหายภายใน 4 วัน ผู้ป่วยบางคนถึงแม้จะหายตัวร้อนแล้ว แต่ก็อาจมีน้ำมูกและไอต่อไปได้ บางคนอาจไอโครก ๆ นาน 2-3 สัปดาห์ (นานสุด 4-6 สัปดาห์) ซึ่งมักจะเป็นลักษณะแห้ง ๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาว ถ้าพบว่าผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยก็ไม่ต้องให้ยาอะไรทั้งสิ้น ให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ห้ามดื่มน้ำเย็น อาการไอจะค่อย ๆ หายไปเอง 
2. ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ (ย4) แก่ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดทุกราย ยกเว้นในรายที่สงสัยจะมีอาการแทรกซ้อนเท่านั้น 
3. ผู้ที่เป็นไข้หวัด (มีอาการตัวร้อนร่วมด้วย) เรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ ประจำอาจมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจรั่วมาแต่กำเนิด, ทาลัสซีเมีย, โรคโลหิตจางอะพลาสติก , โรคขาดอาหาร เป็นต้น จึงควรตรวจดูว่ามีสาเหตุเหล่านี้ร่วมด้วยหรือไม่ หากสงสัยควรแนะนำไปโรงพยาบาล 
4. เด็กเล็กที่เพิ่งฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ เข้าโรงเรียนในช่วง 3-4 เดือนแรก อาจเป็นไข้หวัดได้บ่อย เพราะติดเชื้อจากเด็กคนอื่น ๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเรื่อย ๆ ควรตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วน ถ้าไม่พบมีความผิดปกติ และเด็กมีพัฒนาการดี ก็ควรอธิบายให้พ่อแม่เด็กเข้าใจ ควรมียาลดไข้-พาราเซตามอลไว้ประจำบ้าน ให้เด็กกินเวลาตัวร้อน ส่วนยาอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องให้ อย่ากินปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น (ควรสงวนไว้ใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้) ควรดูแลเรื่องอาหารการกิน หมั่นชั่งน้ำหนักตัว พอพ้น 3-4 เดือน อาการก็จะเป็นห่างไปเอง5. ผู้ที่เป็นหวัดและจามบ่อย ๆ โดยไม่มีไข้ มักเกิดจากการแพ้อากาศ แพ้ฝุ่น หรือละอองเกสร เป็นต้น มากกว่าจากการติดเชื้อไวรัส 
6. ผู้ที่มีอาการไข้และมีน้ำมูก แต่ตัวร้อนจัดตลอดเวลากินยาลดไข้ก็ไม่ค่อยทุเลา มักจะไม่ใช่เป็นไข้หวัดธรรมดา แต่อาจมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น หัด , ปอดอักเสบ หรือ ต่อมทอนซิลอักเสบ ควรตรวจดูอาการของโรคเหล่านี้อย่างละเอียดนอกจากนี้ยังมีโรคติดเชื้ออื่น ๆ อีกหลายชนิด ที่ในระยะแรกอาจแสดงอาการคล้ายไข้หวัดได้ เช่น  
ไข้เลือดออก , ไอกรน , คอตีบ , โปลิโอ , ตับอักเสบจากไวรัส , ไข้รากสาดน้อย , สมองอักเสบ , ไขสันหลังอักเสบ เป็นต้น จึงควรติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ถ้าพบว่ามีไข้นานเกิน 7 วัน หรือมีอาการผิดไปจากไข้หวัดธรรมดา ควรแนะนำให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาล 
7. อย่าซื้อหรือจ่ายยาชุดแก้หวัดที่มีคลอแรมเฟนิคอล เตตราไซคลีน หรือ เพร็ดนิโซโลน ผสมอยู่ด้วยนอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังอาจมีอันตรายได้  
8. สำหรับเด็กเล็ก อย่าซื้อยาแก้หวัดแก้ไอสูตรผสมต่าง ๆ กินเอง เพราะอาจมีตัวยาเกินความจำเป็น จนอาจเกิดพิษได้ ในการรักษากันเองเบื้องต้น ควรใช้ยาลดไข้-พาราเซตามอล เพียงชนิดเดียว จะปลอดภัยกว่า 

การป้องกัน 
1. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก อย่านอนปะปนกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าปิดปากหรือจมูก ไม่หายใจรดผู้อื่น 
2. อย่าเข้าใกล้ หรือนอนรวมกับผู้ป่วย 
3. ระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง 
4. อย่าตรากตรำงานหนักเกินไป แต่ควรออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ 
5. ไม่ควรเข้าใปในที่ที่มีคนแออัด เช่น ตามโรงมหรสพ โดยเฉพาะ ในขณะที่มีการระบาดของไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ 
6. ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินใป โดยเฉพาะในเวลาที่มีอากาศเย็น 
7. ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ (ทั้งผู้ป่วย และคนที่อยู่ใกล้เคียง) และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูก 
8. อย่าใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ เครื่องใช้ ของเล่น ร่วมกับผู้ที่เป็นไข้หวัด 

รายละเอียด 
การล้างมือบ่อย ๆ อาจมีส่วนป้องกันการติดเชื้อหวัด

Resource : http://school.obec.go.th