ข้ออักเสบ Arthritis

  • Tab 1
  • Tab 2
  • Tab 3
  • Tab 4
  • Tab 5

ข้ออักเสบ

แม้ว่าอาการของโรคข้ออักเสบจะมีอยู่หลายรูปแบบ แต่ก็จัดจำแนกได้ออกเป็นสองประเภทเด่นๆ ตามสาเหตุได้ดังนี้คือ

1. ข้ออักเสบหยิน--เกิดจากการบริโภคอาหารหยินชนิดต่างๆ มากเกินไป เป็นต้นว่า ผลไม้ น้ำผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ชนิดเมืองร้อนและกึ่งเมืองร้อน เครื่องเทศ สารกระตุ้นและสมุนไพรกับเครื่องดื่มที่แต่งกลินหอม น้ำหวาน น้ำตาล น้ำผึ้ง ช้อกโกแลตและน้ำส้มสายชู รวมทั้งการบริโภคมะเชือเทศ มะเขือยาวและผักอื่นๆ ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน มากจนเกินไป

2. ข้ออักเสบหยาง--มีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารประเภทหยางมากเกินไป อันได้แก่เนื้อ ไข่ และอาหารที่ได้จากสัตว์ชนิดอื่นๆ ตลอดจนเกลือและแร่ธาตุอื่นๆ ในปริมาณมากๆ รวมทั้งการบริโภคแคลเซียมที่สัมพันธ์กับการบริโภคอาหารนมเป็นประจำมากเกินไป ก็ก่อให้เกิดอาการข้ออักเสบชนิดหยางขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันอยู่ แต่การบริโภคน้ำมันและไขมันส่วนเกิน ไม่ว่าจะเป็นไขมันที่ได้มาจาก แหล่งพืชหรือสัตว์ ก็จะทำให้เกิด อาการข้ออักเสบทั้งสองชนิดรุนแรงขึ้นได้ทั้งคู่ นอกจากนี้ ข้ออักเสบทั้งสองประเภทยังอาจเกิดขึ้นมาได้เร็ว ด้วยการบริโภคของเหลวหรือเครื่องดื่มชนิดเย็นจัด อย่างเช่น น้ำอัดลม เบียร์และเครื่องดื่มเย็นๆ อื่นๆ แน่นอนว่าไอสครีมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดอาการของโรคข้ออักเสบ

ข้อพิจารณาในด้านอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารสุดโต่งทั้งหยินและหยาง และให้ปฏิบัติตามหลักการรับประทานอาหารแบบแม็คโครไบโอติค มาตรฐาน อาหารทุกอย่างควรจะปรุงให้สุก ยกเว้นผัก ที่อาจจะปรุงเร็วๆ หรือให้สุกเพียงเล็กน้อยได้สัก 1 ใน 3 ของปริมาณผักทั้งหมด ที่รับประทาน การลดการบริโภคอาหารที่ได้จากสัตว์และผลไม้ ลงให้เหลือน้อยที่สุด การใช้เกลือ มิโสะ ทามาริ และเครื่องปรุงรสชนิด ที่ออกเค็มอย่างอื่นๆ ควรจะใช้แต่น้อย

1. เวลาเลือกผัก แนะนำให้เลี่ยงมันฝรั่ง มะเขือเทศ มะเขือยาว หน่อไม้ฝรั่ง (แอสพารากัส) ปวยเล้ง อาโวคาโด้ บี้ท ซุกคินี และเห็ดชนิดต่างๆ อาหารหลักที่ทานเป็นประจำวัน ควรจะเป็นธัญพืชชนิดครบรูป ส่วนอาหารประกอบหรือกับข้าว ควรจะประกอบด้วยผัก ถั่ว สาหร่ายทะเลที่ปรุงสุกแล้ว และหากว่าต้องการมาก ก็ทานเนื้อสัตว์อย่างเช่นปลาและอาหารทะเลได้บ้างเล็กน้อย หรือทานผลไม้แห้งหรือที่ปรุงให้สุกในปริมาณเล็กน้อยได้เป็นครั้งคราว สัดส่วนของอาหารหลักกับอาหารประกอบ ด้วยจะอยู่ในระดับ 2 ต่อ 1

2. อาหารที่จะใช้เป็นยาขนานพิเศษคือต้มหัวไชโป๊ ซึ่งใส่มิโสะหรือทามาริเพื่อแต่งรส นำมิโสะกับหอมแดง มาต้มรวมกันกับน้ำมันงา สักสี่ห้าหยดก็เป็นประโยชน์เช่นกัน เมื่อนำมาใช้เป็นเครื่องปรุงรสบ่อยๆ

การใช้พืชป่าอย่างเช่นแดนดีเลียนและวอเตอร์เครส ก็มีประโยชน์เช่นกัน วิธีปรุงก็โดยนำมาผัดเสียก่อน กับน้ำมันงาประมาณเล็กน้อย จากนั้นก็เติมน้ำลงไปนิดหน่อย ต้มไฟอ่อนๆ

3. ข้ออักเสบมักจะควบคู่มากับความผิดปกติอย่างเรื้องรังที่ลำไส้ ดังนั้น การเคี้ยวอาหารอย่างละเอียดจึงมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ จะให้ดีควรเคี้ยวคำละ 80-100 ครั้งหรือมากกว่านั้น จนอาหารแหลกเหลวดี

4. อาการของข้ออักเสบ สามารถบรรเทาได้ด้วยการประคบขิงร้อนวันละครั้งตรงข้อต่อหรือส่วนที่แข็งของร่างกาย เพื่อเร่งการหมุนเวียนของโลหิต และของเหลวในร่างกาย และเพื่อละลายสิ่งที่คั่งหมักหมมอยู่ การแช่นิ้ว มือ หรือเท้าที่บวมในน้ำขิงที่ร้อนจัดๆ สัก 10 นาที ก็ช่วยได้เช่นเดียวกัน

5. ยาภายนอกที่มีประโยชน์สำหรับคนเป็นโรคข้ออักเสบอีกขนานหนึ่งก็คือการใช้ขิงประคบลงที่บริเวณท้องเป็นประจำทุกวันหรือบ่อยๆ คำแนะนำอีกอย่างหนึ่งคือให้ใช้ผ้าชุบน้ำขิงร้อนๆ ถูตรงแนวกระดูกสันหลัง โดยไล่จากข้างบนลงมาข้างล่าง เอาผ้าขนหนูจุ่มลงในน้ำขิง บิดแล้วเช็ดถูที่บริเวณดังกล่าวจนกระทั่งแดง ที่มีประโยชน์มากเช่นกันก็คือการผสมบ๊วยอูเมโบชิซึ่งอบและบดจนเป็นผงสีดำๆ แล้วหนึ่งช้อนชา ลงในน้ำชาก้านใบชาบันชาหนึ่งถ้วยเล็กๆ ดื่มน้ำนี้เป็นประจำทุกวันหรือทุกๆ 2 หรือ 3 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ

เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทานธัญพืชเป็นอาหารหลัก โดยใช้อาหารอื่นๆ ที่เหลือเป็นรอง ธัญพืชที่ว่านี้ได้แก่ข้าวเจ้า ข้าวฟ่าว ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวไรย์ ข้าวสาลีและข้าวโอ๊ต ธัญพืชเหล่านี้ควรจะทานชนิดที่อยู่ในรูปแบบที่ครบ มิใช่ทานในรูปของแป้ง

คัดจากหนังสือ แม็คโครไบโอติคส์ : รักษาโรคด้วยธรรมชาติ หน้า 289-291 สำนักพิมพ์สาระ

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

"โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์" เป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีการอักเสบของทุกระบบในร่างกาย แต่จะมีการอักเสบเด่นชัดที่ เยื่อบุข้อ และ เยื่อบุเส้นเอ็น ลักษณะสำคัญของโรคนี้ได้แก่ มีการอักเสบของข้อ หลาย ๆ ข้อ พร้อม ๆ กัน เป็นเรื้อรังติดต่อกันนานเป็นเดือน ๆ หรือ ปี ๆ
โรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5 เท่า อาการอาจเริ่มปรากฏในช่วงอายุเท่าใดก็ได้ แต่จะพบมากในช่วงอายุ 30-50 ปี ถ้าหากเริ่มเป็นตั้งแต่เด็กก็มักจะมีอาการรุนแรง ในเด็กจะมีอาการและอาการแสดงต่างจากผู้ใหญ่ รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้ …
1.มีการอักเสบเรื้อรังของข้อหลาย ๆ ข้อ ทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 อาทิตย์
2.ข้ออักเสบ พบบ่อยที่บริเวณ ข้อมือ ข้อโคนนิ้วมือ ข้อกลางนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อเท้า ซึ่งจะมีอาการปวด บวม และกดเจ็บตามข้อต่าง ๆ
ถ้าเป็นมานานจะมีข้อผิดรูปได้ ซึ่งเกิดจาก การอักเสบของเยื่อบุข้อ การคั่งของเลือดในบริเวณข้อ ขาดการออกกำลังกายและการทำกายภาพบำบัด กินอาหารไม่เพียงพอ หรือ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ
3.มีอาการข้อฝืด ข้อแข็ง เคลื่อนไหวลำบาก ในช่วงตื่นนอนตอนเช้า มักต้องใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมงจึงจะเริ่มขยับข้อได้ ดีขึ้น ในช่วงบ่าย ๆ มักจะขยับข้อได้เป็นปกติ
4.พบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยหมดทั้งตัว น้ำหนักลด มีไข้ต่ำ ๆ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ ปุ่มรูมาตอยด์ใต้ผิวหนัง และภาวะเลือดจาง
5.ตรวจเลือดพบมีรูมาตอยด์แฟคเตอร์ แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้จะตรวจเลือดพบเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ดังนั้นถ้าตรวจไม่พบรูมาตอยด์ ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นโรครูมาตอยด์แต่ผู้ที่มีปริมาณรูมาตอยด์แฟคเตอร์สูงจะมีอาการรุนแรงกว่า
6.เจาะน้ำในข้อไปตรวจ
7.เอ๊กซเรย์ ไม่จำเป็น ยกเว้นในกรณีที่ใช้ประเมินว่าข้อถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด เพราะอาจจะต้องผ่าตัด

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ สามารถใช้ข้อต่าง ๆ ได้เกือบเท่ากับคนปกติ จะมีผู้ป่วยส่วนน้อยประมาณร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีอาการรุนแรง ทำให้เกิดความพิการ มีข้อบิดเบี้ยวผิดรูปร่างจนใช้งานไม่ได้ และมีผู้ป่วยจำนวนน้อยมาก ที่จะมีอาการอักเสบของอวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตา หัวใจ หลอดเลือด ปอด ม้าม เป็นต้น

โรคนี้เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็เป็นโรคที่สามารถควบคุมอาการได้ แต่ต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องมีความอดทนในการรักษาไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือเปลี่ยนยาเองเพราะจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างมากต่อตัวผู้ป่วยเองโดยเฉพาะเมื่อเกิดความพิการขึ้นแล้วก็ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเหมือนเดิมได้

สำหรับข้อที่มีการอับเสบอยู่แล้ว การรักษาจะเป็นการควบคุมโรคไม่ให้เป็นมากขึ้น ดังนั้นข้อก็อาจจะบวม ผิดรูปอยู่เหมือนเดิม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการรักษาไม่ได้ผล โรครูมาตอยด์มีความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้นแพทย์ก็จะให้การรักษาแตกต่างกันไป โดยเฉพาะในระยะแรกแพทย์อาจต้องปรับเปลี่ยนยาไปมา เพื่อหาว่ายาตัวใดเหมาะสมกับผู้ป่วยคนนั้นมากที่สุด ส่วนผลการรักษาจะดีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับ ระยะเวลาที่เป็นโรค ความรุนแรงของโรค การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโดยเฉพาะการทำกายภาพบำบัดของข้อ และ การใช้ข้ออย่างถูกวิธี

แนวทางการรักษา
1.การทำกายภาพบำบัดของข้อ เช่น
-ประคบด้วยความร้อน หรือแช่ในน้ำอุ่น
-ใส่เฝือกชั่วคราวในช่วงที่อักเสบมากหรือตอนกลางคืน เพื่อลดอาการปวดและป้องกันข้อติดผิดรูป
-ขยับข้อให้เคลื่อนไหวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันข้อติดแข็ง โดยเฉพาะนิ้วมือและข้อมือ
-ออกกำลังให้กล้ามเนื้อแข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อนิ้วมือ มือ และแขน ซึ่งอาจจะใช้วิธีบีบฟองน้ำ ลูกบอลยาง ลูกเทนนิสหรือเครื่องออกกำลังที่ใช้มือบีบอื่น ๆ รวมถึงการยกน้ำหนัก 1 - 3 กิโลกรัมร่วมด้วยก็ได้
-ใช้ข้ออย่างถูกวิธี พยายามกระจายแรงไปหลายๆข้อ เช่น ใช้มือสองข้างช่วยกันจับสิ่งของแทนการใช้มือข้างเดียว ใช้ข้อใหญ่ออกแรงแทนข้อเล็ก เช่น ใช้แขนเปิดประตูแทนใช้ข้อมือ หรือ ใช้อุ้งมือเปิดฝาขวดแทนใช้นิ้วมือ
-ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม เช่น ก๊อกน้ำควรเป็นแบบคันโยก ไม่ควรใช้แบบบิด-หมุน ประตูควรเป็นแบบเลื่อนเปิด-ปิดไม่ควรใช้ลูกบิด

2. ยากลุ่มระงับการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง จะช่วยลดอาการปวดและบวมตามข้อได้ค่อนข้างดี และเมื่อเลือกใช้ยาตัวใดก็ควรรับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 2 อาทิตย์ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่น
ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาทุกตัวในกลุ่มนี้คือ ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ แสบท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร อาจจะมีบวมบริเวณหน้า แขน ขา ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง และ ต้องระวังการใช้ยาในผู้สูงอายุ
ยากลุ่มนี้จะมียาใหม่ที่มีผลข้างเคียงเกี่ยวกับการเกิดแผลในทางเดินอาหารน้อย แต่จะมีราคาค่อนข้างแพง จึงควรเลือกใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในทางเดินอาหารเช่น ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่เคยมีแผลในทางเดินอาหาร

3. ยากลุ่มสเตียรอยด์
ยากลุ่มนี้มีทั้งชนิดกินและฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าข้อ จะใช้เมื่อการอักเสบรุนแรง แต่ไม่ควรใช้ในขนาดสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะผลข้างเคียงมาก เช่น กระดูกพรุน ไตวายเฉียบพลัน ติดเชื้อง่าย และเมื่อหยุดยาก็จะกลับมีอาการขึ้นอีก ในช่วงที่มีการอักเสบมาก อาจใช้ในขนาดสูง เมื่ออาการดีขึ้นก็ควรลดยาลง

4. ยากลุ่มยับยั้งข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่ออกฤทธิ์ช้า
เป็นยาที่ค่อนข้างอันตราย มีผลข้างเคียงมาก แพทย์จึงจะใช้ในกรณีที่ใช้ยากลุ่มอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือในผู้ที่มีอาการอักเสบรุนแรง มีรูมาตอยด์แฟคเตอร์ในเลือดสูง
ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช้า กว่าจะเห็นผลต้องให้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป ยาที่ใช้บ่อย และค่อนข้างปลอดภัยคือ ยาคลอโรควิน ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย และสามารถลดการอักเสบในโรครูมาตอยด์ได้ด้วย โดยมักจะใช้ควบคู่ไปกับยาในข้อ 2 มีผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ตาพร่า ผื่นคัน ผิวแห้ง ผิวคล้ำ ซึ่งจะลดอาการทางผิวหนังได้โดยหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง แต่ถ้าเกิดผลข้างเคียงมาก เช่น ตาพร่า ก็ต้องหยุดใช้ยา
ยาตัวอื่นในกลุ่มนี้ เช่น ยาMTX ยาเกลือทอง ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย และ ยังมียาใหม่ ๆ ที่เริ่มนำมาใช้อีกหลายชนิด ซึ่งเป็นยาที่อันตราย มีผลข้างเคียงสูง ถ้าจะใช้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด

5. การผ่าตัด
เช่น ผ่าตัดเลาะเยื่อบุข้อที่มีการอักเสบออก ผ่าตัดเย็บซ่อมหรือย้ายเส้นเอ็น ผ่าตัดเชื่อมข้อติดกัน ผ่าตัดกระดูกปรับแนวข้อให้ตรงขึ้น ผ่าตัดใส่ข้อเทียม การผ่าตัดถือว่าเป็นการรักษาปลายเหตุเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น

10 วิธีลดปวดข้อ+ข้ออักเสบ

ข้ออักเสบ (arthritis) เป็นกลุ่มโรคเกือบ 200 ชนิด คนสหราชอาณาจักร (UK – ประชากรใกล้เคียงกับไทย ทำให้พอประมาณการณ์ได้ว่า คนไทยน่าจะเป็นโรคในขนาดใกล้เคียงกัน) เป็นโรคนี้ประมาณ 7 ล้านคน

อาการข้ออักเสบที่พบบ่อยได้แก่ ปวด บวม แดง หรือร้อน (เป็นอาการของธาตุไฟกำเริบ – inflammation; inflam- = ไฟ), การเคลื่อนไหวลำบาก หรือข้อติด

การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า อาหารที่ดีกับโรคหัวใจได้แก่ ผักสด ผลไม้ทั้งผล (หรือน้ำผลไม้ปั่นรวมกาก – ไม่ใช่กรองกาก) อย่างน้อยวันละ 5 ส่วน (= 5 ฝ่ามือ ไม่รวมนิ้วมือ ความหนาประมาณข้อปลายนิ้วก้อยข้อปลายของคนที่กิน) ดีกับสุขภาพข้อ

กลไกที่เป็นไปได้คือ สารต้านอนุมูลอิสระในผักผลไม้ช่วยชะลอข้อเสื่อม ลดการอักเสบ และบรรเทาอาการข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกาต์ และข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (psoriatic arthritis)

อะโวคาโดและแอปเปิ้ลมีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ เคล็ดไม่ลับคือ อย่าปอกเปลือก (Don’t peel; peel = เปลือก ปอกเปลือก) เนื่องจากเปลือก (skin = เปลือก ผิวหนัง) แอปเปิ้ลมีสารต้านอนุมูลอิสระ 5 เท่าของส่วนเนื้อ (flesh)

น้ำมันปลาและปลาที่ไม่ผ่านการทอด เช่น ปลากระป๋องเกือบทุกชนิด ฯลฯ มีน้ำมันชนิดดีพิเศษ หรือโอเมกา-3 ช่วยลดการอักเสบ และลดการปวดข้อได้เช่นกัน

ขนาดที่ใช้คือ ประมาณไพ่ 1 ใบ (หนาเท่าข้อปลายนิ้วก้อยของคนที่กิน = ปลากระป๋อง 1 กระป๋องเล็ก) 2-4 ครั้ง/สัปดาห์

น้ำ 2-3 ลิตร/วันช่วยให้กระดูกอ่อนของข้อคงรูปได้ ไม่ยุบตัวหรือแฟบลง และช่วยให้น้ำไขข้อไหลเวียนดี

ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการดื่มน้ำ คือ หลังตื่นนอนใหม่ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมีโอกาสขาดน้ำมาตลอดช่วงการนอนหลับ

กระดูกอ่อนในข้อไม่มีเลือดไปเลี้ยงโดยตรง อาศัยการดูดซับออกซิเจน น้ำ และสารอาหารจากน้ำไขข้อ โดยกระบวนการ “บีบ-คลาย (squeeze off-and-on)” คล้ายๆ กับฟองน้ำล้างจานที่บีบน้ำ-ซับน้ำได้เวลามีแรงกด-ลดแรงกด

การเคลื่อนไหวข้อต่ออย่างน้อยทุกๆ 1-2 ชั่วโมงตลอดวันมีส่วนช่วยป้องกันข้อต่อขาดอาหารได้ การนั่งนานๆ หรือยืนนานๆ ทำให้ข้อเสื่อมได้

กลไกที่เป็นไปได้คือ ข้อที่อยู่นิ่งจะขาดอาหารและออกซิเจนคล้ายๆ กับฟองน้ำที่ไม่ถูกบีบหรือคลาย ทำให้มีแต่น้ำเลี้ยงเก่า ไม่มีน้ำเลี้ยงใหม่ไปทดแทน

คนที่ปวดข้อแต่ละคนมักจะมีอาหาร “แสลง” ไม่เหมือนกัน…

การสังเกตจะช่วยให้เลือกได้ว่า อาหารใดควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากอาหารบางอย่างอาจทำให้อาการปวดข้อแย่ลงไปได้นานจนถึง 36 ชั่วโมง

อาหารที่อาจทำให้อาการปวดข้อเป็นมากขึ้นได้แก่ ข้าวสาลี(พบในขนมปัง), ข้าวโพด, ข้าวราย (rye), น้ำตาลหรือของหวาน, กาเฟอีน, ยีสต์(พบในขนมปัง), มอลต์(พบในเครื่องดื่มบางชนิด เช่น โอวัลติน ไมโล ฯลฯ), ผลิตภัณฑ์นม, ส้ม, เสาวรส(เกรพฟรุต), เลมอน(มะนาวพันธุ์หนึ่ง), มะเขือเทศ

เนื้อที่อาจทำให้อาการปวดข้อเป็นมากขึ้นได้แก่ เบคอน เนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อแกะ

อาหารต่อไปนี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และอาจทำให้อาการปวดข้อ-ข้ออักเสบดีขึ้นได้แก่

แอปเปิ้ลสีแดง > เปลือก (skin) มีสารต้านอนุมูลอิสระ 5 เท่าของเนื้อ (flesh)
ผักใบเขียวเข้ม เช่น บรอคโคลี, ผักโขม (ปวยเล้ง), กะหล่ำปลี ฯลฯ
ปลาทะเลที่ไม่ผ่านการทอด น้ำมันปลา
พริก > พริกมีสารแคพไซซิน (capsaicin) และไดไฮโดรแคพไซซิน (dihydrocapsaicin) ซึ่งช่วยยับยั้งการส่งสัญญาณความเจ็บปวด และกระตุ้นการหลั่งเอนดอร์ฟินส์ (endorphins) ซึ่งมีฤทธิ์ลดปวด และเพิ่มความสุข อะโวคาโด แมคาดาเมีย วอลนัท

ข้อควรระวังในการกินพริกคือ บางคนแพ้พริก ทำให้อาการปวดข้อกำเริบได้ จึงควรใช้วิธีทดลอง สังเกต และบันทึก, ทดลองซ้ำ 3 ครั้งก็จะรู้ว่า พริกเหมาะกับเรา หรือแสลงโรค

สรุปคือ วิธีลดข้ออักเสบ-ปวดข้อที่สำคัญได้แก่

(1). ลดน้ำหนัก… ถ้าน้ำหนักเกิน
(2). กินผักผลไม้ทั้งผล หรือน้ำผลไม้ปั่นรวมกาก (ไม่ใช่น้ำผลไม้กรองกาก) รวมกันให้ได้วันละ 5 ส่วนบริโภคขึ้นไป (1 ส่วน = ฝ่ามือคนกิน หนาประมาณข้อปลายนิ้วก้อย)
(3). เพิ่มผักใบเขียวเข้ม + แอปเปิ้ลสีแดง (กินเปลือกด้วย) เข้าไปหน่อย
(4). กินปลาทะเลที่ไม่ผ่านการทอด หรือน้ำมันปลา 2-4 ครั้ง/สัปดาห์
(5). กินน้ำให้พอ โดยเฉพาะช่วงตื่นนอนเช้า ให้รีบบ้วนปาก แล้วดื่มน้ำตามทันทีหลังตื่นนอน
(6). อย่านั่งหรือยืนนิ่งๆ นานเกิน 1-2 ชั่วโมง/ครั้ง ให้เดินไปมาเป็นพักๆ
(7). ลดการใช้น้ำมันพืช เช่น ทานตะวัน ข้าวโพด ฯลฯ
(8). จดรายการอาหารว่า กินอะไรบ้าง 2 สัปดาห์… เมื่อได้รายการที่สงสัยว่า จะเป็นอาหารแสลงโรค ให้ลองกินข้าวกับผัก แล้วเพิ่มรายการอาหาร “ต้องสงสัย” ไปทีละอย่าง ถ้าทดลอง 3 รอบแล้วใช่แน่ ควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น (แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน)
(9). ประคบกระเป๋าน้ำร้อน 10-15 นาที วันละ 2 ครั้ง
(10). ออกกำลังแผนตะวันออก เช่น ไทเกก-ไทชิ โยคะ รำกระบองชีวจิต ฯลฯ

อ้างอิง http://gotoknow.org/blog/health2you/270753

ข้ออักเสบ

“ข้ออักเสบ” เป็นคำทั่ว ๆ ไปที่บอกถึงกลุ่มของโรค ซึ่งมีมากกว่า 100 โรค ที่ทำให้เกิดอาการ ปวด บวม และ ข้อแข็ง ซึ่งโรคเหล่านนี้อาจเป็นที่กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือ กระดูกข้อ ก็ได้ กลุ่มโรคข้ออักเสบนี้อาจมีอาการหรืออาการแสดงในระบบอื่น ๆ ของร่างกายได้ด้วย เช่น ผิวหนัง ตา ปาก ไต ปอด และระบบเลือด เป็นต้น
โรคที่พบได้บ่อย เช่น เก๊าท์ รูมาตอยด์ เอสแอลอี (โรคพุ่มพวง) เป็นต้น
โรคข้ออักเสบส่วนใหญ่จะเป็นโรคเรื้อรัง ข้ออักเสบบางชนิดอาจเป็นไปตลอดชีวิตของผู้ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยบางรายข้ออักเสบอาจมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ และข้ออักเสบบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ ในขณะที่บางโรครักษาไม่หายเพียงแต่ควบคุมอาการของโรคไม่ให้กำเริบรุนแรงเท่านั้น เมื่อมีอาการหรืออาการแสดงต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์
1. มีข้อบวม เป็น ๆ หาย ๆ
2. มีอาการฝืดขัดเป็นเวลานานในตอนเช้า
3. มีอาการปวดเป็น ๆ หาย ๆ ในข้อหนึ่งข้อใด
4. ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อได้เป็นปกติ
5. มีอาการแดงหรือร้อนบริเวณข้อ
6. มีไข้ น้ำหนักลด หรืออ่อนแรง
7. อาการข้อ 1-6 เป็นมานานกว่า 2 สัปดาห์

การรักษาข้ออักเสบ
จุดมุ่งหมายในการรักษา คือ ลดอาการปวด เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และ ทำให้ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น ซึ่งแนวทางการรักษาโดยทั่วไป ประกอบด้วย
1. ยาแก้ปวดลดการอักเสบ หรือ ยาสเตียรอยด์ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด แพทย์จะเลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยพิจารณาจาก ชนิดของข้ออักเสบ ความรุนแรง และ ลักษณะทั่วไปของผู้ป่วย
2. การปกป้องข้อ โดยการใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ไม้เท้า หรือ เฝือกชั่วคราว หรือ การใช้ข้อให้ถูกวิธีในชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อต้องทำงานมากเกินไป และ ช่วยลดแรงที่กระทำต่อข้อ ทำให้ข้ออักเสบน้อยลง
3. การบริหาร และ การทำกายภาพบำบัด เช่นการประคบด้วยความร้อน
4. การผ่าตัด ซึ่งจะใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น การผ่าตัดแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหรือกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากหรือการรักษาทางยาไม่ได้ผล เช่น การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแนวของข้อ ผ่าตัดใส่ข้อเทียม เป็นต้น

การพักผ่อนมีความจำเป็นในโรคข้ออักเสบหรือไม่ ?
ในการออกกำลังกายหรือใช้ข้อที่มีการอักเสบทำงานมากเกินไปจะทำให้มีการเพิ่มการอักเสบของข้อและปวดข้อมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามการพักผ่อนมากเกินไปโดยข้อไม่มีการเคลื่อนไหว ก็จะทำให้เกิดข้อติดแข็งเพิ่มขึ้น ดังนั้น การพักผ่อนและการออกกำลังกายควรทำไปพร้อมกันอย่างสมดุล

ท่านจะปรับตัวให้เข้ากับโรคข้ออักเสบได้อย่างไร ?
แม้ว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นผู้ช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบก็ตาม แต่ผู้ที่สำคัญที่สุดในการรักษาคือตัวผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายและการพักผ่อนอย่างพอเพียง และรู้จักใช้อุปกรณ์เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อต้องทำงานมากเกินไป ผู้ป่วยควรเข้าใจโรคของตนและควรปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัญหา

ทำไมจึงต้องบริหารร่างกาย ?
ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ การบริหารร่างกายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการรักษา เนื่องจากเมื่อมีข้ออักเสบผู้ป่วยจะไม่ค่อยเคลื่อนไหวข้อที่ปวด ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนกำลังและลีบลง การบริหารร่างกายจะช่วยป้องกันกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ และทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น กายบริหารจะได้ผลมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความพยายามของผู้ป่วยเอง

ข้อแนะนำเบื้องต้น
1. โรคข้ออักเสบส่วนใหญ่จะมีอาการกำเริบและสงบเป็นระยะ ๆ เมื่อโรคมีอาการกำเริบและปวดข้อมาก อาจลดปริมาณการทำบริหารลงเล็กน้อย และเพิ่มขึ้นเป็นปกติเมื่ออาการดีขึ้น
2. ควรหลีกเลี่ยงกายบริหารใด ๆ ที่เพิ่มแรงกระทำต่อข้ออย่างมาก
3. ไม่ควรบริหารมากเกินไป ถ้ามีอาการต่อไปนี้แสดงว่า บริหารมากเกินไป เช่น มีอาการปวดนานมากกว่า 1 ชั่วโมงหลังจากการออกกำลังกาย รู้สึกอ่อนเพลียมาก ข้อ เคลื่อนไหวได้น้อยลง ข้อบวมมากขึ้น
4. ควรทำอย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อให้ข้อเคลื่อนไหวได้เต็มที่ แต่ละครั้งควรทำนานประมาณ 5-10 นาที หรือทำซ้ำ ๆ กันประมาณ 10-15 ครั้ง ออกกายบริหารอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ

ท่าบริหารทั่วไป
ควรทำบ่อย ๆ ทุกวัน ท่าละ 10 ครั้ง (อย่างน้อย วันละ 5-10 รอบ)
1. นอนหงาย เข่าเหยียดตรง กางขาออกด้านข้างให้มากที่สุด ค้างไว้นับ 1-10 แล้วหุบขาเข้า ทำสลับกับอีกข้างหนึ่ง
2. นอนหงาย เข่างอตั้งฉากทั้งสองข้าง แบะเข่าออกทางด้านข้าง ๆ ให้มากที่สุด ค้างไว้นับ 1-10 แล้วหุบเข้า
3. นอนหงาย งอข้อสะโพกให้เข่าเข้ามาชิดหน้าอก เกร็งไว้ นับ 1-10แล้วจากนั้นเหยียดขาให้ตรง ทำสลับกับอีกข้างหนึ่ง
4. นอนหงาย เข่างอตั้งฉากทั้งสองข้าง ยกสะโพกขึ้น (ให้ก้นลอยขึ้น ไม่แตะพื้น ) เกร็งค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อยลง
5. นั่งตามสบาย เหยียดขาขึ้นให้เข่าตรง กระดกข้อเท้าขึ้นเต็มที่ เกร็งไว้นับ 1-10 แล้วงอเข่าลง ทำสลับกับอีกข้างหนึ่ง
6. แขนแนบข้างลำตัว กางไหล่ออกทางด้านข้างแล้วยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ แล้วหุบไหล่ลง ทำสลับกันสองข้าง
7. แขนแนบข้างลำตัว แล้วหมุนไหล่ไปด้านหน้า ผ่านไปเหนือศีรษะ แล้วหมุนไปด้านหลัง เป็นวงกลม ทำสลับกันสองข้าง
8. งอข้อศอก – เหยียดข้อศอก ให้มากที่สุด ทำสลับกันสองข้าง
9. ฝ่ามือประกบกัน ให้ข้อมือกระดกขึ้น (ท่าพนมมือ) ใช้แรงพอควรดันเข้าหากัน เกร็งไว้ นับ 1-10
10.หลังมือชนกัน ให้ข้อมืองอลง ใช้แรงพอสมควรดันเข้าหากัน เกร็งไว้ นับ 1-10
11.ข้อนิ้วมือ กำมือให้แน่นมากที่สุด เกร็งไว้ นับ 1-10 แล้วทำสลับกับ เหยียดนิ้วมือออก เกร็งไว้ นับ 1-10
12.กางนิ้วออก ให้มากที่สุด เกร็งไว้ นับ 1-10 แล้วทำสลับกับ หุบนิ้วเข้าหากัน เกร็งไว้ นับ 1-10
13.แหงนคอ – ก้มคอ – เอียงไปข้างซ้าย – เอียงคอไปด้านขวา – หมุนคอไปทางซ้าย – หมุนคอไปทางขวา
ข้อมูลจาก www.geocities.com/phanomgon

Content for id "textContent" Goes Here