การแพทย์ทางเลือก Complementary Care

  • Tab 1
  • Tab 2
  • Tab 3
  • Tab 4
  • Tab 5

Complementary Care หรือ การรักษาแบบเสริม เป็นกระแสความนิยมที่กำลังมาแรงโดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตก ทั้งยุโรป และอเมริกา กว่า 20 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา มีการเปิดบริการในสถานพยาบาลและสถานบริการสุขภาพอย่าง ถูกต้องตามกฎหมายรัฐบาลให้ทุนสนับสนุน การวิจัยเพื่อยืนยันผลการรักษาแบบเสริมนี้ ซึ่งมีอยู่หลากหลายวิธีการประชาชน สามารถเลือกใช้บริการได้โดยสมัครใจ ทั้งนี้หลักการสำคัญคือ ไม่ละทิ้งการแพทย์แผนปัจจุบันหากเป็นการรักษาการเจ็บป่วย นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้นำ Complementary Care มาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังไม่มีการนำรูปแบบและวิธีการของ Complementary Care มาใช้อย่างชัดเจนนัก แม้ว่าจะมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอย่างชัดเจน แต่จะเป็นการนำเสนอ รูปแบบการรักษาให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจเลือก เพื่อทดแทนการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบัน ซึ่งบุคลากรทางการพยาบาลควรศึกษาทำความเข้าใจ และนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเป็นองค์รวม ที่สามารถผสมผสานศาสตร์ต่างๆ ได้อย่างกลมกลืน สอดคล้องกับค่านิยม ศรัทธา ความเชื่อ และวัฒนธรรมไทย

กระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา วัฒนธรรม และสภาวะแวดล้อม ล้วนส่งผลกระทบ โดยตรง ต่อภาวะสุขภาพของประชาชน ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ดังจะเห็นได้จากแบบแผนการ เจ็บป่วยที่เปลี่ยนแปลงจากโรคติดเชื้อ ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และอาหาร ไปเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากปัจจัย แวดล้อม และพฤติกรรมสุขภาพ ที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ การบริโภคมากเกินไป ความเครียด การใช้สารเสพติด

การสำส่อนทางเพศ ส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง ภูมิแพ้ โรคเครียด ฯลฯ รวมถึง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น

อีกด้านหนึ่ง กระแสโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน ส่งผลให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ต่างๆ อย่างรวดเร็ว จากหลากหลาย ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ วิทยุ โทรทัศน์ และ Internet จนกระทั่งดูเหมือนว่า ความรู้ด้านสุขภาพ เป็นที่แพร่หลาย โดยทั่วไป แต่ทว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังคงขาดความเข้าใจในความหมายของคำว่า สุขภาพ อย่างแท้จริง และขาดความตระหนัก ในการ ดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีอย่างสม่ำเสมอ แต่จะให้ความสนใจดูแลรักษา เยียวยาเมื่อเกิด ความเจ็บป่วยแล้วเท่านั้น นอกจากนี้ สภาวะความกดดัน บีบคั้น ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ คนส่วนใหญ่ หันเหความสนใจ ไปในการ ดำรงชีวิต การศึกษา การประกอบอาชีพ การหาเลี้ยงครอบครัว มากกว่าที่จะใส่ใจต่อ การส่งเสริมสุขภาพ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ให้เอื้ออำนวยต่อการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ด้านการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นการแพทย์กระแสหลักของสังคมโลก ก็ยังคงมีข้อจำกัดบางประการ เกี่ยวกับการให้การรักษาพยาบาลความเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรคเรื้อรังและโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และ หลอดเลือด รวมทั้งโรคเอดส์ เนื่องจากกระบวนการรักษาพยาบาล นำมาซึ่งความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน เพื่อกำจัดตัวการที่เป็น ปัญหาของโรค เช่น การใช้ยาเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษาใน ผู้ป่วยมะเร็ง เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะ การแพทย์แผนปัจจุบัน มุ่งเน้นที่ การรักษาโรค มิใช่การรักษาคน มองการแก้ปัญหา การเจ็บป่วยแบบแยกส่วน และใช้ยาซึ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ที่สังเคราะห์ มาจาก สารเคมีเข้าไปแทรกแซง การทำงานของร่างกาย พร้อมทั้งมีการนำ เครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาช่วยใน กระบวนการ ตรวจ วินิจฉัย และรักษาพยาบาล ซึ่ง ปรากฏการณ์เหล่านี้ ไม่อาจตอบสนอง การแก้ไขปัญหา การเจ็บป่วยแบบองค์รวม ให้แก่ประชาชนได้ ผู้ป่วยต้องประสบกับความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานด้านร่างกายจาก การรักษาพยาบาล ต้องวิตกกังวลกับ ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว ดังนั้น ประชาชนผู้เจ็บป่วย ในหลายๆ ประเทศ จึงพากันแสวงหา ทางเลือกใหม่ๆ เพื่อการดูแล สุขภาพ แก้ไขปัญหาสุขภาพ พร้อมทั้งสามารถเยียวยา ทางด้าน จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ไปพร้อมกัน

กระแสความตื่นตัวเรื่อง Complementary Care หรือ Complementary Therapy หรือ การแสวงหาทางเลือกใหม่ ๆ สำหรับ วิถีการดำเนินชีวิต ในแนวทางที่สอดคล้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นในราว ปี คศ. 1980(2) โดยเรียกว่า non-conventional therapies เป็นปรากฎการณ์ที่กลุ่มคน หันเหความสนใจ และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติต่างๆ เข้ามาเสริมระบบ การรักษาพยาบาลแผน ปัจจุบัน และยิ่งเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และกลุ่มประเทศใน ทวีปยุโรป ซึ่งจากการสำรวจ ความคิดเห็นสาธารณะ และการสำรวจของสมาคมผู้บริโภค พบว่า ประมาณร้อยละ 25 – 75 ของประชากร ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศล เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ หันมานิยมใช้บริการในระบบ non-conventional therapies โดยที่ในประเทศอังกฤษ และ เยอรมัน ประชาชนสามารถเบิกคืนค่าบริการโฮมิโอพาที (Homeopathy) ได้จากระบบประกันสุขภาพ จาก National Health Service และจากบริษัทเอกชนได้ ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้นมีการเปิดบริการด้าน Complementary Care อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในสถานบริการ สุขภาพของรัฐต่างๆ มากกว่า 20 มลรัฐ พร้อมทั้งมีการเปิดหลักสูตร การอบรมบุคลากร ทางการแพทย์ ให้มีความรู้ และสามารถให้บริการ แบบComplementary Care เสริมไปกับการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบัน ทั้งนี้ เป็นไปตามความสมัครใจของประชาชนที่จะเลือกใช้บริการ

ในประเทศไทย กระแสความตื่นตัวเรื่อง สุขภาพทางเลือกเริ่มก่อตัวเด่นชัดในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าในอดีตจะมี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพและความเจ็บป่วย ที่ฝังตัวหยั่งรากลึกอยู่ใน วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของไทย ศาสตร์สุขภาพ ทางเลือกใหม่ๆ ได้เผยแพร่เข้าสู่สังคมไทยอย่างหลากหลาย และหลายศาสตร์ได้รับ การตอบรับอย่างกระตือรือล้น จากประชาชน ในปัจจุบันจึงไม่ใช่มีเพียงผลิตภัณฑ์ ที่ทำมาจากสมุนไพรไทยเท่านั้น แต่จะพบว่ามี ผลิตภัณฑ์หรือ บริการสุขภาพที่แปลกใหม่ แนวคิด และแบบแผนการปฏิบัติที่เกี่ยวกับสุขภาพและความ เจ็บป่วยที่แตกต่างออกไป จากการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นกระแสหลัก ของสังคมไทย ส่งผลให้มีการตอบสนองจากภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งหน่วยงานระดับกรม ขึ้นมารับผิดชอบด้านนี้โดยตรง ได้แก่ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีภารกิจเกี่ยวกับ การพัฒนาวิชาการด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทาง เลือกอื่น เพื่อคุ้มครอง อนุรักษ์และส่งเสริม ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตลอดจน จัดระบบความรู้ สร้างมาตรฐานด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ ทางเลือกอื่น ให้ทัดเทียมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน

ศาสตร์ในระบบ การแพทย์ทางเลือก ที่พบในสังคมไทย

จากการศึกษาเบื้องต้นของ สำนักนโยบายและแผนสาธารณสุขเมื่อ พ.ศ. 2540–2541 ซึ่งสำรวจ ศาสตร์สุขภาพทางเลือก ที่ไม่นับรวมถึง การแพทย์ แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน หรือการแพทย์ของชน กลุ่มน้อยในประเทศไทยแล้ว พบว่า ศาสตร์สุขภาพทางเลือก ที่เป็นองค์ความรู้จาก สังคมและวัฒนธรรม อื่นที่เข้ามาสู่สังคมไทยนั้นมีไม่ต่ำกว่า 38 ศาสตร์/เทคนิค นอกจากนั้นอีก 35 ศาสตร์/เทคนิคที่ถูกจัดอยู่ใน ระบบของศาสตร์สุขภาพทางเลือก มีการดำเนินงานอยู่แล้วใน ระบบบริการ ปกติทาง การแพทย์ แผนปัจจุบัน โดยพอจะจำแนกประเภทได้ดังต่อไปนี้

1. ศาสตร์ในกลุ่ม Traditional Medicine นอกจากการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยที่เป็นที่นิยมมากขึ้นแล้ว การแพทย์อันเป็น แบบแผนประเพณีดั้งเดิมของสังคมอื่น ๆ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย ที่มีการสำรวจพบ ได้แก่

1.1 การแพทย์แผนจีน ซึ่งรวมถึงเทคนิคการตรวจวินิจฉัยแบบการจัดชีพจร(แมะ), การดูสมดุลของหยิน-หยาง และธาตุ การรักษาโรค ด้วยการฝังเข็ม (Acupuncture), การกดจุด(Acupressure), การกดจุดสะท้อนประสาท(Reflexology), การใช้อาหาร และยาสมุนไพร (Herbalism), การออกกำลังกายแบบต่าง ๆ เช่น ไทเก๊ก (T’ai chi) ชี่กง (Chi Kong) เป็นต้น

1.2 การแพทย์แบบอินเดีย ได้แก่ การแพทย์อายุรเวท เทคนิคที่ได้รับความนิยมมาก คือ การปฏิบัติโยคะอาสนะ (Yoga), การฝึกลมหายใจ ที่สัมพันธ์กับจักระ (Chakra Breathing/Chakra healing), การอดอาหารล้างพิษ (Fasting) นอกจากนี้ยังมีวิถีการดำเนินชีวิต แบบราชาโยคะที่เน้นความ สมดุลและสอดคล้องกับธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังพบเทคนิคในศาสตร์การแพทย์แบบตะวันออกอื่น ๆ ได้แก่ เทคนิค Life Energy Test, So-Tai จากญี่ปุ่น

2. ศาสตร์ในกลุ่ม Bioelectromagnetic ซึ่งใช้หลักการการสร้างสมดุลของกระแสแม่เหล็ก ไฟฟ้าชีวภาพในร่างกายมนุษย์ เพื่อการรักษาโรคต่างๆ ที่พบในสังคมไทย ได้แก่ การใช้เครื่องมือ Biospectrum, Electromagnetic Field, Electrosimulator, Electro Neuro-magnetic Stimulator รวมถึง พลังจักรวาล (Universal Life Force Energy), โยเร (Yore)

3. ศาสตร์ในกลุ่ม Structural and Energetic Therapy ได้แก่ เทคนิคที่ใช้ในการบำบัดโครงสร้าง (กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น) และพลังชีวิตให้คืนสู่สมดุล ที่พบในสังคมไทย นอกจากเทคนิคการออกกำลังกายแบบจีนและอินเดียที่กล่าวแล้วในข้อ 1 ยังได้แก่ เทคนิคธรรมชาติบำบัดตามแบบแผนตะวันตก คือ ศาสตร์ Chiropractic ที่ว่าด้วยการคัดกระดูกสันหลัง, (Cranio-sacral Therapy) การปรับสมดุลเนื้อเยื่อที่เชื่อมอยู่ระหว่างกระดูก Cranium และ Sacrum, การออกกำลังกายในน้ำ (Aquatic exercise), การบำบัดด้วยความร้อน-เย็น (Hot-cold Therapy),การนวดด้วยน้ำ (Hydromassage),วารีบำบัด (Hydrotherapy), เทคนิคที่พัฒนามาจากการฝังเข็ม (Kinesiology) เพื่อตรวจรักษาความอ่อนแอของกล้ามเนื้อ, Massage การนวดในวัฒนธรรมอื่น (ไม่ระบุ และอาจผสมผสานกับการนวดไทย), Therapeutic Massage, Myofacial Release, เทคนิคการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ, Solar Bath การอาบพลังแสงอาทิตย์, Natural therapy ธรรมชาติบำบัดอื่น ๆ

4. ศาสตร์ในกลุ่ม Diet/Nutrition/Lifestyleที่เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การเสริมคุณค่าอาหารและโภชนาการ ที่พบในสังคมไทย พอจะจำแนกได้เป็น

4.1 การส่งเสริมสุขภาพ และรักษาโรคด้วยอาหาร ได้แก่ Diet/Nutrition, Diet/Nutrition Therapy, Nutrition Supplyment ซึ่งอาจมีทั้งองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วในระบบบริการทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือเป็นองค์ความรู้ที่เป็นทางเลือกใหม่ ๆ

4.2 การปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคแนวใหม่ ได้แก่ สูตรอาหาร Macrobiotic, Vegetarianism อาหารมังสวิรัติ, Natural Foods อาหารธรรมชาติต่าง ๆ

4.3 การบำบัดรักษาโรคด้วยวิธีเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ การสวนล้างลำไส้ (Colon Therapy), การล้างพิษ (Detoxification), การอดอาหารเพื่อสุขภาพ (Fasting), การบำบัดด้วยวิตามิน วิตามินปริมาณสูง และสารอาหารระดับโมเลกุล (Vitamin Therapy or Megavitamin Therapy or Orthomolecular), การบำบัดด้วยน้ำผัก–ผลไม้ (Juice Therapy)

5. ศาสตร์ในกลุ่ม Body/Mind Control ที่ให้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่าง กายกับจิต ใน การส่งเสริมสุขภาพกายและจิต การบำบัดรักษาทางจิต และโรคทางกายที่สัมพันธ์กับทางจิต ที่พบในสังคมไทย พอจะจำแนกกลุ่มได้ ดังนี้

5.1 เทคนิคที่มีการดำเนินงานอยู่แล้วใน ระบบบริการปกติทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ การให้คำปรึกษาแนะแนว (Counselling), เทคนิคการผ่อนคลายความเครียด (Relaxation), การบำบัด ทางจิตเวช (Psychotherapy)

5.2 เทคนิคองค์ความรู้ทางเลือกใหม่ ได้แก่ การรักษาโรคด้วยสมาธิ (Meditation), การบำบัดด้วยกลิ่น (Aroma Therapy), ศิลปะบำบัด (Art Therapy), ดนตรีบำบัด,เทคนิค (Music Therapy), เทคนิคการฝึกลมหายใจแบบต่างๆ (Breathing Patterns), การบำบัดด้วยการเต้นรำ (Dance Therapy), การสะกดจิต (Hypnosis), การบำบัดด้วยการหัวเราะ (Humor Therapy), การสร้างจินตภาพใหม่ (Guided Imaginery)

6. ศาสตร์ในกลุ่ม Bio-Treatment ที่ใช้สารชีวภาพธรรมชาติต่าง ๆ ในการบำบัดรักษา และส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ Herbalism ทั้งยาสมุนไพรไทย จีน อินเดีย, Anti-oxidising agent เช่น Ozone, Bio-oxidative medicine, Homeopathy, Urine Therapy ปัสสาวะบำบัด

ศาสตร์ในระบบการแพทย์ทางเลือกที่พบในสังคมไทยดังกล่าว ยังคงกระจัดกระจายอยู่ตาม กลุ่ม ชมรม มูลนิธิ สมาคม องค์กรเอกชน สาธารณะประโยชน์ กลุ่มธุรกิจเอกชน คลินิก สถานพยาบาล และสถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ศูนย์พลังกายทิพย์ เพื่อสุขภาพ มูลนิธิเพื่อฝึกพลังจักรวาล มูลนิธิสุขภาพไทย สถานพยาบาลหัวเฉียวแผนโบราณ ศูนย์ส่งเสริม สุขภาพมิชชั่น ศูนย์ธรรมชาติบำบัดบัลวี ชีวาศรม มูลนิธิดุลยภาพบำบัด ชมรมชีวจิต คลินิก ไคโรแพรคติค โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โรงพยาบาล วิภาวดี โรงพยาบาลในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็นระบบบริการในลักษณะที่แยกออกมาอย่างชัดเจน ตามระบบของ การแพทย์ทางเลือก ซึ่งจะต่างไปจาก ระบบบริการสุขภาพแบบ Complementary Care ดังเช่นในสหรัฐอเมริกา และยุโรป

ความหมายที่แท้จริงของ Complementary Care หมายถึง การรักษาแบบเสริม เป็นระบบบริการรักษาพยาบาล ที่สามารถจัดให้เป็น บริการเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับ การรักษาพยาบาลแผนปัจจุบัน หลักการที่มุ่งเน้นมากที่สุด คือ มิใช่การละทิ้ง หรือเปลี่ยนรูป แบบการรักษา หากเป็นการรักษาเสริมเพิ่มเติมควบคู่กันไป เพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งระบบการรักษาพยาบาลแบบเสริมนี้ จะช่วยผู้ป่วยผ่อนคลายลดความเครียด ลดความวิตกกังวล เสริมสร้างกำลังใจ สอดคล้องกับค่านิยมความเชื่อ และศรัทธาของผู้ป่วยและครอบครัว จึงช่วยเสริมประสิทธิผล ของการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบัน และลดความทุกข์ทรมานจากภาวะแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงของ วิธีการรักษาพยาบาล แผนปัจจุบัน ทั้งจากยา เครื่องมือพิเศษ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นหลักการของ Complementary Care ที่มุ่งเน้น การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Care) จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ใน การสร้างเสริมสุขภาพ ให้แก่ประชาชนทั่วไป ให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

Complementary Care แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1. การรักษาสุขภาพตนเอง ได้แก่ โยคะ (Yoga) สมาธิ (Meditation) ชีวจิต เป็นต้น

2. Re-educational therapy ได้แก่ Alexander technique

3. Relative non-invasive therapies ได้แก่ การบำบัดด้วยกลิ่น (Aromatherapy) ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด

4. Interventive therapies ได้แก่ การฝังเข็ม (Acupuncture) Osteopathy and Chiropractic

จะเห็นได้ว่า ศาสตร์ในระบบการแพทย์ทางเลือก และ Complementary Care มีหลักการและ เทคนิควิธีการที่เหมือนกัน อยู่เกือบทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่า จะสามารถส่งเสริมให้เกิดทางเลือกที่มีประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนได้อย่างไร

Content for id "textContent" Goes Here
Content for id "textContent" Goes Here
Content for id "textContent" Goes Here