ความคิดสร้างสรรค์ Creative Thinking

Improving Your Creative Thinking Skills

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เกรียวกราวพอสมควรชื่อว่า Parallel thinking หรือแปลเป็นไทยว่า ความคิดคู่ขนาน ของ Dr’ Edward de Bono ออกวางตลาด ต่อจากนั้น ดูเหมือนจะได้รับข่าวคราวเสมอเกี่ยวกับ การจะพัฒนาความคิด ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร ? มีการอบรมเรื่องของ Mind Mapping เพื่อสังเคราะห์ไอเดียต่างๆ ทำให้เห็นภาพว่า สังคมไทยมีความตื่นตัวในเรื่องนี้กันพอสมควร สำหรับความเรียงชิ้นนี้ เรียบเรียงขึ้นมาจาก และความคิดของผู้เขียน และจากบทความหลายชิ้นของ Melvin D. Saunders อย่างเช่น Improving Your Creative Thinking Skills, Creativity and Creative Thinking, How creative thinking technique works, Ways to kill and ways to help an idea เป็นต้น ซึ่ง Saunders เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีผลงานทางด้านนี้ ซึ่งจะกระตุ้นให้เรากล้าคิด ในหนทางที่แตกต่าง เช่น การใช้ความคิดจากมุมองที่ต่างออกไป คิดแบบทำลายกฎเกณฑ์เก่าๆ คิดแบบเล่นๆ หรือใช้จินตนาการทุกชนิด เพื่อทำให้เกิดความเป็นไปได้ และเขายังเสนอหนทางที่จะได้มาซึ่ง ความคิด หรือไอเดียใหม่ๆ อย่างเช่น ใช้วิธีการสุ่มต่างๆ เช่น การสุ่มด้วยภาพ การสุ่มด้วยคำ หรือกระทั่งการสุ่มด้วย Website (ลองเปิด website ที่ไม่เคยคิดว่าจะเปิดดูมาก่อน) รวมไปถึงการนำเอาไอเดีย ตั้งแต่สองไอเดีย ที่ไม่เคยรวมกันมาก่อน มาสังเคราะห์เข้าด้วยกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นที่มาของการได้มาซึ่ง ความคิดสร้างสรรค์

เราจะปรับปรุงทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ ได้อย่างไร ?

…กล่าวกันว่า ความคิดสร้างสรรค์ และการค้นหาวิธีการแก้ปัญหา เป็นกิจกรรมสองอย่างที่เกี่ยวแขนไปกันไป. หลายปีมาแล้ว Dr. Edward de Bono, นักจิตวิทยา และนักค้นคว้าทางการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ส่งเสริมเรื่องของ การใช้ความคิด สร้างสรรค์ภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า Lateral thinking (ความคิดข้างเคียง).

ความคิดแนวตั้ง (Verticle Thinking) จะปฏิบัติการต่อเมื่อเราพยายามที่จะแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง โดยเริ่มต้นจาก ขั้นตอนทางตรรกะขั้นหนึ่งไปสู่ ขั้นตอนต่อไป เพื่อบรรลุผลของการแก้ปัญหา ส่วนความคิดข้างเคียง (Lateral Thinking) นั้น จะวาดภาพ แบบแผนทางความคิดซึ่งมา กับการค้นหาวิธีการแก้ปัญหาโดยการที่ไม่เป็นไปตามวิธีการเดิมๆ (Unorthodox Methods) หรือการเล่นเกมส์กับข้อมูล

…การขยายความสามารถทางสมอง หรือการใช้ความคิดด้วย ความคิดสร้างสรรค์ สามารถปรับปรุงขึ้นมาได้ด้วยการปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น เราจะใช้ไม้ขีดไฟ 6 ก้านบนโต๊ะ สร้างสามเหลี่ยมที่มีด้านสี่ด้านเท่ากันได้อย่างไร? หลังจากที่ใช้ ความพยายามอย่างหนัก และไม่ประสบผลสำเร็จในลักษณะสองมิติ ในไม่ช้าเราก็จะเรียนรู้ว่า การทำให้มันเป็น สามเหลี่ยม ด้านเท่าสี่ด้านในรูปสามมิติ เป็นหนทางเดียวที่บรรลุผลสำเร็จได้. ดังนั้น จงหัดคิดแบบเถื่อนๆ (Think Wild) เสียบ้าง ความหมายของคำว่า คิดแบบเถื่อนๆ มิได้หมายความว่า ป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม แต่มีนัยะว่า ให้เราใช้จินตนาการทุกชนิด ของความเป็นไปได้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ Imagine all kinds of possibility และหาหนทางอีกทางหนึ่ง (Alternative) มาแก้ปัญหา, รวมไปถึงสิ่งที่เราคิดว่า มันทำไม่ได้ หรือน่าหัวเราะด้วย ยกตัวอย่างเช่น พยายามคิดถึง ความตรงกันข้าม กับสิ่งที่เป็นปกติเท่าที่คิดขึ้นมาได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหา จากนั้นก็ลงมือทำมัน อย่างจริงจังและประณีต

นอกจากนี้ ในหลายๆ สถานการณ์ที่มีการเผชิญหน้า หรือในที่ประชุม…ถ้าเผื่อว่าเรามีความเห็นอย่างหนึ่ง และอีกคนมีความเห็น ตรงข้ามกันกับเรา, ให้เราพยายามจินตภาพถึง ความคิดเห็นของคนๆนั้น ดูทีในเชิงกลับกัน จดบันทึกถึงเหตุผลทั้งหมดว่า ทำไมความเห็นของเขาจึงใช้การได้; ต่อจากนั้นลองบันทึกถึงเหตุผลทั้งหมดว่า ทำไมความคิดเห็นของเขาจึงใช้การไม่ได้; และในท้ายที่สุด จดบันทึกถึงสิ่งที่ไม่เข้าประเด็น หรือสอดคล้อง. ผู้คนเป็นจำนวนมากต้องตกอยู่ในสภาพการณ์ ที่ยากลำบาก โดยการไม่ลงรอยกันในการอธิบาย, การกล่าวหากัน และการวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง, แทนที่จะ ควบคุม ความคิด ของพวกเขาต่อการกระทำ และการตัดสินใจว่า อะไรสามารถทำได้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว.

เราเคยทราบไหมว่า…มากกว่าครึ่งหนึ่งของการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของโลก ได้ถูกทำขึ้นมาโดยผ่าน การค้นพบโดยบังเอิญ (Serendipity) หรือการค้นพบบางสิ่ง ขณะที่กำลังค้นหาบางสิ่งอยู่; และให้จำไว้ว่า, สิ่งนี้ได้ทำให้คนที่มี ความคิดสร้างสรรค์ ตระหนักถึงโอกาสอันหนึ่ง เมื่อมันเสนอตัวของมันเองออกมา. ในภาวะฉุกเฉิน ผู้คนมีแนวโน้มที่จะตกอกตกใจหรือบ้าคลั่ง แทนที่จะใช้หัวสมอง เพื่อกำหนดตัดสินใจถึงทางเลือกต่างๆของพวกเขา.

สิ่งที่เป็นข้อผิดพลาดหนึ่งของคนเรา ซึ่งควรแก้ไขให้ถูกต้องก็คือ …ผู้คนส่วนใหญ่มักยึดถือความคิดเห็น หรือทัศนะต่างๆ ของตนเอาไว้ ทั้งนี้เพราะ พวกเขาได้ถูกล้อมกรอบเอาไว้ด้วยอารมณ์ความรู้สึก หรือเหตุผลในเชิงอคติต่างๆ. การที่เราจะขยับ ขยาย แนวคิดของเราออกไปให้กว้างขวาง เพื่อคลุมถึงความคิดเห็น ในทางตรงข้ามจากจุดยืนของเรา, บ่อยครั้งจะต้องปลด เปลื้องพันธนาการจากการถูกจำกัดเช่นนี้ให้ได้ และให้เร็ว (ลบอคติออก และไม่ใช้เรื่องอารมณ์ความรู้สึกมาเป็นพันธนาการ). ขณะที่สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มนำโลกไปสู่อาชญากรรม, การติดยาเสพติด และการมีหนี้สิน, ญี่ปุ่นกลับมีอาชญากรรม เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และไม่ค่อยมีผู้ติดยาเสพติด , มีความสามารถที่จะชำระหนี้ และเป็นชาติที่มีการศึกษาในโลก. เราคิดกันไหมว่า เหตุผลต่างๆ ในเชิงอคติ และอารมณ์ความรู้สึก ทำให้ทางการสหรัฐจำกัด ตนเองจากการเรียนรู้ จากตัวอย่าง ของญี่ปุ่น หรือมันมีเหตุผลอื่นๆหรือ ?

…พอพูดกันมาถึงตรงนี้ ลองทดลองกับเพื่อนของเรา ที่มีสมมุติฐานหรือความเห็นในเชิงตรงข้าม เพื่อดูว่ามันนำพาเราไป ณ ที่ใด. เปิดใจของเราให้กว้างและคิดแบบเถื่อนๆ.

การคิดแบบวิภาษวิธี และการคิดด้วยสมองซีกขวา

นอกจากการใช้ความคิดในแบบข้างต้นแล้ว ยังมีวิธีการในการปรับปรุงทักษะของการใช้ ความคิดสร้างสรรค์ อีก 2 วิธี ซึ่งอาจนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเรื่องราว เหตุการณ์ หรือสถานการณ์ต่างๆได้คือ การคิดแบบวิภาษวิธี และ การคิดด้วยสมองซีกขวา

อันแรก, เป็นการคิดในแบบวิภาษวิธี (Dialectic) ซึ่งมีโครงสร้างแบ่งออกเป็นสามส่วนได้แก่ ข้อสรุปเดิม (Thesis), การต่อต้านข้อสรุปเดิม (Anti-thesis), และการสังเคราะห์ข้อสรุปเก่ากับใหม่ (Synthesis) ในที่นี้จะลองยกตัวอย่าง ที่เป็น รูปธรรมคือ ชาวประมงคนหนึ่งใช้วิธีการจับปลาแต่เดิมๆมาตลอด แต่ตอนนี้เขามีครอบครัว และมีคนที่ต้องเลี้ยงดูเพิ่มขึ้น การจับปลาในแบบเดิมๆจึงไม่พอกิน จะทำอย่างไรถึงจะพอกิน. ออกไปหาปลาไกลขึ้นหรือ เรือก็เล็กเกินไป แทนที่จะจับปลา ก็เป็นการปล่อยปลาแทน จับแล้วนำมาปล่อยในกระชังเลี้ยงดู ดังนั้นเขาจึงได้ปลาเพิ่มขึ้น

อันที่สอง, การคิดด้วยสมองซีกขวา. เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองส่วนบนของคนเรา ซึ่งตามปกติแล้ว สมองในส่วนซีกซ้าย จะทำหน้าที่ครอบงำ สมองส่วนซีกขวาอยู่ตลอดเวลา จนกล่าวได้ว่า เรามีโอกาสใช้สมอง ซึ่งทรงประสิทธิภาพของคนเราเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะนับแต่สังคมได้มาถึงยุคแห่งการใช้เหตุผล (สมองซีกซ้าย), สมองที่เกี่ยวข้องกับจินตนาการ และอารมณ์ความรู้สึก (สมองซีกขวา) เกือบจะไม่ถูกนำมาใช้เลย เพื่อคิดแบบสร้างสรรค์ หรือคิดแก้ปัญหาต่างๆ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการทำงานของสมองส่วนบนทั้งสองซีก(ซ้ายและขวา)ว่า มันทำงานแตกต่างกันอย่างไร? เพื่อว่าเราจะได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการใช้ ความคิดสร้างสรรค์

สมองซีกซ้าย 1.เป็นเรื่องของสติปัญญาแบบเหตุผล, 2.เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเลข, 3.เป็นการคิดแบบนามธรรม, 4.คิดเป็นเส้นตรง, 5.เป็นเรื่องของการวิเคราะห, 6.ไม่เกี่ยวกับ้จินตนาการ, 7.คิดแบบต่อเนื่องตามลำดับ, 8.เป็นเรื่องของวัตถุวิสัย, 9.เกี่ยวข้องกับคำพูด

สมองซีกขวา 1. เป็นเรื่องของสหัชญาน(ไม่เกี่ยวกับเหตุผล) 2.เป็นเรื่องของการอุปมาอุปมัย, 3.เป็นการคิดแบบรูปธรรม, 4. คิดอิสระไม่เป็นเส้นตรง, เห็นภาพทั้งหมด, 5.เป็นเรื่องของการสังเคราะห์, 6.ใช้จินตนาการ, 7. คิดไม่เป็นไปตามลำดับ มีความหลากหลายดชื่อมต่อหลายมุม, 8.เป็นเรื่องของอัตวิสัย, 9.ไม่เกี่ยวกับคำพูด, เห็นเป็นภาพ

แม้ว่าจากการจำแนกจะเห็นว่า สมองส่วนบนซีกซ้ายและขวา จะมีลักษณะที่ตรงข้ามกัน แต่ความจริงแล้วมันเสริมกัน เพื่อให้ความคิดของเราสมบูรณ์มากขึ้น แทนที่จะใช้ความคิดหนักไปทางด้านใดด้านหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น การคิดด้วยสมองซีกขวา จึงเป็นการคิดในแบบที่มาเสริมหรือช่วยให้เราคิดได้มากขึ้น

อะไรคือการสร้างสรรค์ ?

การสร้างสรรค์คือ การทำให้เกิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา ซึ่งบางสิ่งนั้นไม่เคยทีอยู่มาก่อน, ทั้งผลผลิตอันหนึ่ง, หรือกระบวนการอันหนึ่ง หรือความคิด-ไอเดียอันหนึ่ง.

อะไรบ้างที่จัดอยู่ในข่ายของการสร้างสรรค์. ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่มามาก่อนให้มีขึ้นมา. การประดิษฐ์สิ่งซึ่งมีอยู่ใน ณ ที่ไหนที่ใดสักแห่งหนึ่งแต่เราไม่รู้ว่ามีมันอยู่แล้ว. การคิดค้นกระบวนการใหม่อันหนึ่งขึ้นมาเพื่อกระทำบางสิ่งบางอย่าง. การประยุกต์กระบวนการที่มีอยู่ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วเข้าสู่ความต้องการอีกครั้ง. การพัฒนาวิธีการใหม่ อันหนึ่งเกี่ยวกับ การมองไปยังบางสิ่งบางอย่าง. การนำมาซึ่งไอเดียหรือความคิดใหม่ ทำให้มันดำรงอยู่ หรือมีอยู่ขึ้นมา เปลี่ยนแปลงวิธีการมอง ของใครคนใดคนหนึ่งที่มองบางสิ่งบางอย่างไป

พวกเราทั้งหลายต่างก็สร้างสรรค์กันทุกวัน เพราะเราเปลี่ยนแปลง ไอเดียหรือ ความคิดซึ่งเรายึดถือ เกี่ยวกับโลกรอบตัวเรา ต่างๆ อยู่เสมอ. การสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ถึงขนาดการพัฒนาบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาให้กับโลก แต่มันอาจจะ เกี่ยวข้อง กับพัฒนาการ บางสิ่งบางอย่างให้ใหม่ขึ้นมาเล็กๆน้อยๆเพื่อตัวของเราเอง. เมื่อเราเปลี่ยนแปลงตัวของเราเอง, โลกก็จะเปลี่ยน แปลงไปพร้อมกันกับเรา ทั้งการที่โลกได้รับผลกระทบโดยการกระทำที่เป็นการเปลี่ยนแปลงของเรา และในวิถีแห่ง การเปลี่ยนแปลง ที่เราได้มีประสบการณ์กับโลก.

ความคิดสร้างสรรค์จึงมีความหมายที่ค่อนข้างกว้าง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับการผลิตสินค้า การสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ กระบวนการที่คิดขึ้นมา และการบริการที่ดีขึ้น. เราคาดหวังกันว่า การสร้างสรรค์นั้นจะช่วยเราในหลายๆด้าน, เช่น องค์กร ของเราดีขึ้น, ลูกค้า หรือคนที่รับบริการจากเรามีความสุขมากขึ้น โดยผ่านการปรับปรุงขึ้นมา ใหม่นี้ใน ด้านคุณภาพ และปริมาณที่ผลิตออกมา

อะไรคือความคิดสร้างสรรค์ ?

ความคิดสร้างสรรค์คือกระบวนการอันหนึ่ง ซึ่งเราใช้เมื่อเรามีไอเดียใหม่ๆ. มันเป็นการผสมผสานเของไอเดีย หรือความคิดต่างๆ ซึ่งไม่เคยผสมรวมตัวกันมาก่อน. การระดมสมอง(brainstorming) เป็นรูปแบบหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์: มันทำงานโดย การรวบรวมไอเดียต่างๆที่กู่ก้องดังออกมาโดยใครบางคน ผสมรวมกัน กับของเรา เพื่อสรรค์สร้าง ไอเดียใหม่ อันหนึ่ง. คุณได้ใช้ประโยชน์ไอเดียนั้นของคนอื่นในฐานะแรงกระตุ้น. ไอเดียใหม่ต่างๆได้รับการก่อตัวขึ้นมา โดยการผสม รวมตัวของไอเดีย ที่มีอยู่ในใจเรา กับไอเดียที่ดังขึ้นของคนอื่น

โดยไม่มีการใช้เทคนิคพิเศษใดๆ ความคิดสร้างสรรค์ก็ยังคงเกิดขึ้นมา แต่โดยปกติแล้ว มันจะเกิดขึ้นมาโดยบังเอิญ; ความบังเอิญ หรือโอกาสที่เกิดขึ้น ทำให้เราคิดถึงบางสิ่งบางอย่างในหนทางที่แตกต่าง และเราได้ค้นพบ การเปลี่ยนแปลง ที่เป็นประโยชน์. ความเปลี่ยนแปลง บางอย่างมันเกิดขึ้นมา อย่างช้าๆโดยผ่าน การใช้ความคิดสติปัญญา อันบริสุทธิ์ และความก้าวหน้าเชิงตรรก. การอาศัยความก้าวหน้าโดยความบังเอิญหรือในเชิงตรรก หลายครั้ง ต้องใช้เวลานานมากสำหรับการผลิตเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุง

ดังนั้น การใช้เทคนิควิธีพิเศษ, ความคิดสร้างสรรค์อันละเอียดอ่อนประณีตสามารถถูกนำมาใช้ได้เพื่อพัฒนาไอเดียใหม่ๆ. เทคนิคดังกล่าวจะช่วยทำให้ หรือไปบังคับให้เกิดลำดับการณ์อันกว้างขวางของการผสมผสานไอเดีย เพื่อจุดประกาย ความคิด ใหม่ๆและกระบวนการใหม่ๆ. การระดมสมองเป็นหนึ่งในเทคนิคพิเศษเหล่านี้ แต่ตามขนบประเพณี แล้ว มันจะเริ่มต้น ด้วยไอเดียที่ไม่ธรรมดา(start with un-original ideas).

ด้วยปฏิบัติการ, ความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง(การค้นหาอยู่เสมอ, การตั้งคำถาม และการวิเคราะห์ ที่พัฒนาได้โดย ผ่านการศึกษา, การฝึกฝนและการรู้ตัวของเราเอง) ได้เกิดขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา. ความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง(ongoing creative thinking)ทำให้ ทั้งความบังเอิญและความคิดสร้างสรรค์ที่ตั้งอกตั้งใจเกิดขึ้นมาได้มากที่สุด. ความคิดสร้างสรรค์ อย่างต่อเนื่องต้องใช้เวลา และปฏิบัติการอย่างใจจดใจจ่อเพื่อกลายมาเป็นทักษะที่สมบูรณ์ และในไม่ช้า ความคิดสร้างสรรค์ อย่างต่อเนื่อง ก็จะกลายมาเป็นท่าที ไม่ใช่เรื่องของเทคนิคอีกต่อไป

ทำอย่างไร เทคนิคความคิดสร้างสรรค์จึงจะทำงาน ?

ไอเดียใหม่ๆเกิดขึ้นมา เมื่อมีไอเดียตั้งแต่สองไอเดียขึ้นไปบังเอิญหรือตั้งใจให้มันมาผสมกัน อย่างที่มันไม่เคย รวมตัวกัน มาก่อน. เทคนิคการใช้ความคิดสร้างสรรค์ จะเป็นการจัดหา วิธีการเพื่อรวมไอเดีย ทั้งหลายเข้า ด้วยกัน อย่างประณีต ซึ่งตามปกติ เราไม่เคยคิดข้ามไอเดียพวกนั้นมาก่อนหรือคิดถึงมันว่าจะเป็นไปได้. แต่อย่างไรก็ตาม ความยุ่งยาก ประการแรก ที่เกิดขึ้นมาก็คือ จะหาทางให้ไอเดียนั้นๆ ผสมกันได้อย่างไร. และข้อยุ่งยากประการที่สอง คือ จะพัฒนาไอเดียใหม่นั้น ให้มันใช้การได้ได้อย่างไร

ข้อยุ่งยากประการแรกจะถูกช่วยเหลือได้ โดยการใช้เทคนิค ความคิดสร้างสรรค์ อย่างตั้งอกตั้งใจ เพื่อมุ่งทำให้ ไอเดียใหม่ เหล่านั้น มันผสมกันได้. การที่คอมพิวเตอร์ มิได้รับอิทธิพลใดๆจากมนุษย์, มันจึงเป็น เพื่อนคู่ใจ ที่สมบูรณ์สำหรับ การจัดหาไอเดียต่างๆ ซึ่งเราไม่เคยคิด ผสมกันมาก่อน มารวมมันเข้าด้วยกัน. เทคนิคความคิดสร้างสรรค์ แบบนี้ถูกนำมา ใช้ เพื่อน้อมนำไอเดียต่างๆ ซึ่งมนุษย์ไม่เคยได้คิดรวมกัน เพราะมนุษย์มีข้อจำกัด ของตนเองเกี่ยวกับ ประสบการณ์บนโลกนี้ กันทุกคน และมนุษย์มีเงื่อนไขความตีบตันด้วย

การะดมสมองในอดีตทำให้เราเชื่อมั่นว่า คนอื่นๆก็เพียงพอแล้วสำหรับการกระตุ้นสนับสนุนเราให้คิดในหนทางที่แตกต่าง. แต่อันที่จริงนั้นยังไม่พอ และสามารถทำให้เราต้องเผชิญหน้าหรือต่อสู้กับความคิดต้นตออันนั้น. หรือถ้าเผื่อว่า เราระดมสมอง กับผู้คนที่เรา ทำงานด้วยเสมอๆ เป็นไปได้ที่เราจะได้ไอเดียเก่าๆ ทั้งนี้เพราะเรารู้แล้ว เกี่ยวกับ…และทำงานร่วมกับ ไอเดียเดิมๆ มากมาย และก็มีประสบการณ์ ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันมากไป. ดังนั้น การระดมสมองแบบแผนเดิม จึงเป็นไปได้ที่เราจะไม่ได้ไอเดียอะไรใหม่ๆ กับคนเดิมๆที่ทำงานร่วมกัน และแต่ละคนก็มีแรงกระตุ้นแบบเดิมๆเป็นข้อจำกัด.

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับความก้าวหน้าในการระดมสมอง: คอมพิวเตอร์จะไม่มีแนวคิดล่วงหน้า(not have the pre-conceptions) หรือมีอคติ ซึ่งจะทำให้เรา เป็นคนที่มีความสามารถ พิเศษ ในฐานะนักจัดหาหรือเตรียมการเกี่ยวกับแรงกระตุ้นใหม่ๆ ที่แตกต่างและจะจุดประกายไอเดียใหม่ๆให้ปะทุขึ้นมา

แม้ว่าไอเดียใหม่ๆมันจะไม่มีคุณค่าขึ้นมาทันทีในเวลานี้ แต่การเกิดขึ้นมาของความคิดใหม่ เป็นสิ่งสำคัญ ในการระดมสมอง พวกนั้น ถ้าเราเก็บเอาไว้ มันก็จะเป็นประโยชน์ต่อมาได้ในภายหลัง หากว่ามันมีคุณค่าสำหรับเราจริงๆ.

อะไรคือเทคนิคความคิดสร้างสรรค์ ที่จะนำมาใช้ได้บ้าง ?

เทคนิคการได้มาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ข้างล่างนี้ เราจะต้องฝึกเอาไว้เสมอ ทั้งหมดนี้ จะนำเสนอแรงกระตุ้นใหม่ๆ สดๆ ให้กับ ความคิดใหม่ๆของเราได้. เราสามารถที่จะนำมันมาใช้ในการระดมสมองเพื่อให้กำเนิดไอเดียที่แปลแตกต่างอย่างง่ายๆ

Random Word (การสุ่มคำ)

Random Picture (การสุ่มด้วยภาพ)

False Rules (กฎเกณฑ์ที่ผิดพลาด)

Random Website (การสุ่มเวบไซท์)

Scamper (กระโดดโลดเต้น หรือการเล่น)

Search & Reapply (ค้นหาและลองประยุกต์ใหม่)

Challenge Facts (ท้าทายข้อเท็จจริง)

Escape (หลบหนี หลบเลี่ยง)

Analogy (การอุปมาอุปมัย)

Wishful Thinking (ความคิดให้สมปรารถนา)

Thesaurus (ใช้พจนานุกรมศัพท์คำพ้อง)

วิธีการฆ่าความคิดและวิธีการส่งเสริมความคิด

เป็นเรื่องง่ายมากที่จะฆ่าความคิดยิ่งกว่าการสนับสนุนความคิด และเปลี่ยนมันให้เป็นทางออก หรือวิธีการแก้ปัญหา อันเป็น ประโยชน์. ให้เราระมัดระวัง อย่าไปทำลายไอเดีย ของผู้คน หรือทำให้พวกเขาหยุด ที่จะบอกอะไรกับเรา และพูดคุยกับ คนอื่นๆเป็น เรื่องยากมากจริงๆ ที่จะรับฟัง เรื่องเกี่ยวกับ ไอเดียความคิดเห็นต่างๆ เมื่อใครบางคน บอกกับเรา เกี่ยวกับ ความคิดอันหนึ่ง ที่เขามี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่า ไอเดียอันนั้น ดูเหมือนว่า จะฟังดูโง่ๆ และไม่ทำงาน (ไม่ได้เรื่อง). แต่จำไว้เสมอว่า โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนไม่ปรารถนา ที่จะนำเสนอไอเดียที่เลวๆ ในภาวะปกติ และเราควรจะพยายาม ทำความเข้าใจ เป็นอันดับแรกเลยว่า ทำไมพวกเขาจึงบอกกับเรา เกี่ยวกับความคิดอันนั้น. เป็นไปได้ที่บางสิ่ง บางอย่าง ในไอเดียนั้น จะเป็นประโยชน์กับเรา. และในอีกทางหนึ่ง เราจะมีโอกาสที่จะช่วยเหลือเขาให้เข้าใจว่า ทำไมความคิด อันนั้น มันจึงไม่ทำงาน.

วิธีการหาไอเดีย ด้วยคำพูดของเราเองบางอย่าง

1. ที่เสนอมานั้นมันเป็นความคิดที่ดี, แต่…, (หรือ) ในทางทฤษฎีนั้นมันฟังดูดี, แต่…
2. ในทางปฏิบัติ, ความคิดนั้นมันดูเป็นเรื่องของอนาคตมากเกินไป
3. โอ้...ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการ(ชอบ)มันหรอก
4. ที่เสนอมานั้น ต้นทุนสูงเกินไป (หรือ) ไม่มีงบประมาณแล้ว,บางทีอาจรอไปปีหน้า
5. ไม่ต้องเริ่มต้นอะไรใหม่อีกแล้ว (หรือ) เราโต้เถียงกันมากไปแล้ว
6. ที่พูดมามันต้องศึกษาเพิ่มเติมมากกว่านี้ (หรือ) เรื่องนี้ขอให้เราไปสำรวจมาก่อน
7. อันนี้สวนกันกับนโยบายบริษัท(หรือ องค์กร)ของเรา
8. ที่พูดมานั้น มันไม่ได้เป็นงานในหน้าที่รับผิดชอบของคุณ
9. นั่นมันไม่เป็นปัญหาสำหรับเรา
10. เรื่องนี้ยากมากต่อการจัดการ (หรือ) เราไม่เคยทำแบบนั้นมาก่อนเลย
11. ถ้ามันดีมาก ทำไมจึงไม่มีใครเสนอมันไปแล้วล่ะ
12. ถึงต่อไปข้างหน้า ผู้คนก็จะยังไม่พร้อมสำหรับมันอยู่ดี
13. นั่งลงก่อน พักสักครู่
14. มีใครแล้วบ้างที่พยายามทำมันจนสำเร็จขึ้นมา
15. เราเคยทำมาแล้ว แต่มันไม่ทำงาน(ไม่ได้เรื่อง)

คำพูดต่างๆเหล่านี้ มักจะไปตัดทอนโอกาสในการแสดงความคิดหรือการเสนอไอเดียของคนอื่นๆ ซึ่งไม่ทำให้เกิดบรรยากาศของการสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ดังนั้น จงตรองดูว่า สิ่งที่จะพูดไปนั้น จะไปตัดทอนความคิดหรือไอเดียของคนอื่นหรือไม่ ?

หนทางที่สนับสนุนไอเดีย

1. ใช่, และ…(พูดสนับสนุน), ดูมันน่าตื่นเต้นและน่าสนใจมาก
2. ฟังและพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมมันจึงถูกนำเสนอ
3. อย่าไปขัดจังหวะ จนกว่าเขาจะเสนอจนจบ, ปล่อยให้พวกเขาก่อรูปไอเดียขึ้นมา
4. นั่นเป็นไอเดียที่ดี หรือประเด็นสำคัญ ข้อคิดเห็นที่เยี่ยม, ว่าต่อ…
5. ยอดมาก, พยายามต่อไป…
6. ต้องการทรัพยากรใดบ้าง ที่ต้องใช้ในการทำมันขึ้นมา
7. ที่เสนอมา เราสามารถทำให้มันทำงานได้อย่างไร ช่วยเล่าให้ฟังต่อหน่อยซิ
8. ให้พยายามและทดสอบมันดู
9. ที่เสนอมานั้น ทำให้มันเป็นแผนในเชิงปฏิบัติเลยได้ไหม ?
10. อะไรที่ผมสามารถช่วยได้สำหรับการทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้
11. สิ่งที่ฟังดูเป็นเพียงส่วนเล็กๆของไอเดีย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันทีในสถานการณ์ปัจจุบัน
12. ทำอย่างไร เราจึงจะชักจูงคนอื่นๆให้เชื่อมั่นได้

ข้างต้นนี้หวังว่า เราจะเห็นถึงหนทางต่างๆอันมากมายซึ่งสามารถที่จะช่วยสร้างไอเดียความคิดขึ้นมา. สิ่งเหล่านี้เป็น การส่งเสริม สนับสนุนไอเดียความคิด โดยไม่ต้องกล่าวคำว่าเห็นด้วย หรือว่าเราจะทำมัน เพียงแต่ระมัดระวัง อยู่เสมอสำหรับ ตัวของเราเอง ที่จะเสนอไอเดียอันหนึ่งลงมาเร็วเกินไป โดยไม่เข้าใจเหตุผลในเชิงบวกต่างๆสำหรับการที่มันถูกนำเสนอ

ไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับบรรยากาศในการระดมสมอง

เนื้อที่ส่วนนี้อุทิศให้กับบรรยากาศในการระดมสมองที่ช่วยให้ความคิดใหม่ๆผุดขึ้นมาได้ ทดลองเอาไปปฏิบัติ และดูว่ามัน ทำงาน ไหม หรือไม่ก็ใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการระดมสมองที่เราเคยทำๆกัน

1. ใช้วิดีโอเทปหรือเครื่องบันทึกเสียง(ไม่โจ่งแจ้งเกินไปจนทำให้รู้สึกเกร็ง)เพื่อเก็บบันทึกเรื่องราวต่างๆ เพื่อไม่ให้ไอเดียใด หลุดรอดไปได้.
2. หรี่ไฟลงเพื่อให้บรรยากาศในห้องทำให้ทุกคนรู้สึกผ่อนคลายหรือเป็นการพักผ่อน
3. มีตุ๊กตาหรือของเล่นที่น่าสนใจเพื่อกระตุ้นไอเดียและทำให้พวกเรารู้สึกผ่อนคลาย
4. ใช้ห้องที่อยู่นอกสำนักงานที่เราทำงานประจำเพื่อผลที่จะเกิดมาพิเศษใหม่ๆ
5. มีห้องเตียมไว้อีกห้องเพื่อฟื้นความสดใหม่ขึ้นมา และส่งเสริมให้ผู้คนได้พบปะและพูดคุยกันในช่วงพัก
6. ปิดสายโทรศัพท์หรือเคลื่อนย้ายมันออกไปจากห้อง จะได้ไม่มีอะไรมารบกวนหรือทำลายบรรยากาศ
7. ปิดม่านลง หากว่าข้างนอกมันมีสิ่งรบกวนทำให้เขวไปได้
8. เปิดเพลงเบาๆที่กระตุ้นอารมณ์ หรือลองสุ่มเพลงจาก CD สักสองแผ่น
9. จัดให้มีหนังสือพิมพ์เก่า เทปกาว กรรไกร เชือก เพื่อว่าใครที่มีไอเดียจะทดลองสร้างสิ่งต่างๆขึ้นมา ตามที่เขาคิด ให้เป็นรูป เป็นร่าง
10. มีดินสอสี หรือปากกาเมจิกอยู่ทั่วๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถสร้างสรรค์ได้ทันที
11. สร้างบรรยากาศที่ทำให้เกิดการหัวเราะ บรรยากาศแบบเล่นๆ มักก่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆอยู่เสมอ
12. ให้ผู้คนยืนบ้างนั่งบ้างตามความสะดวกสบาย หรือถ้าเคยนั่งประชุมก็ยืนประชุม
13. หันหน้าออกนอกกำแพงแทนที่จะหันหน้าเข้าหากำแพง

การสร้างบรรยากศใหม่ๆข้างต้น ทำให้เห็นได้ว่า สไตล์การระดมสมองและเทคนิคดังกล่าว สามารถเปลี่ยนแปลงพลิกแพลงไปได้ เพื่อทำให้มันมีชีวิตชีวา การระดมสมอง ไม่ควรเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ หรือมีรูปแบบตายตัว ลองเปลี่ยนแปลงมันไปเรื่อยๆแล้วดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง

องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ เป็นความคิดที่มีลักษณะอเนกนัย ซึ่งประกอบด้วย

1. ความคิดริเริ่ม (Originality) มีลักษณะแปลกใหม่แตกต่างจากของเดิม / คิดดัดแปลง ประยุกต์เป็นความคิดใหม่
2. ความคิดคล่องตัว (Fluency)
2.1 ด้านถ้อยคำ (Word Fluency) หลากหลาย ใช้ประโยชน์ได้และไม่ซ้ำแบบผู้อื่น
2.2 ด้านความสัมพันธ์ (Associational Fluency) จากสิ่งที่คิดริเริ่มออกมาได้อย่างเหมาะสม
2.3 ด้านการแสดงออก (Expressional Fluency) เป็นความคิดที่สามารถนำเอาความคิดริเริ่มนั้นมาแสดงออกให้เห็นเป็นรูปภาพได้อย่างรวดเร็ว
2.4 ความคิดคล่องด้านความคิด (Ideational Fluency) เป็นการสร้างความคิดให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คิดได้ทันทีที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) มีความเป็นอิสระคิดได้หลายๆอย่าง
4. ความคิดสวยงามละเอียดละออ (Elaboration) มีความรอบคอบ มีความคิดสวยงามด้านคุณภาพมีความประณีตในความคิดสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีคุณภาพในทุกๆด้าน

กระบวนการสร้างความคิดสร้างสรรค์

James Webb Young ได้เสนอแนวความคิด 5 ขั้นตอน

1. ขั้นรวบรวมวัตถุดิบ
1.1 วัตถุดิบเฉพาะ เป็นข้อมูลวัตถุดิบต่างที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่ต้องการประชาสัมพันธ์
1.2 วัตถุดิบทั่วไป เป็นข้อมูลวัตถุดิบทั่วๆไปทั้งในส่วนขององค์การ และสภาพแวดล้อมเพื่อนำมาประกอบการสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้สมบูรณ์
2. ขั้นบดย่อยวัตถุดิบ เป็นขั้นการนำข้อมูลวัตถุดิบต่างๆที่ได้เก็บรวบรวมมาได้นำมาแจกแจงพิจารณาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องกันของข้อมูล
3. ขั้นความคิดฟักตัว
4. ขั้นกำเนิดความคิด
5. ขั้นปรับแต่งและพัฒนา ก่อนไปใช้ปฏิบัติจะนำเสนอความคิดสู่การวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อการปรับแต่งและพัฒนาความคิดให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เป็นจริง

ผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์

นิวแวล ชอล์ และ ซิมสัน ได้เสนอหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
1. เป็นผลผลิตที่แปลกใหม่และมีค่าต่อผู้คิด สังคมและวัฒนธรรม
2. เป็นผลผลิตที่เป็นไปตามปรากฏการณ์นิยมในเชิงที่ว่ามีความคิดดัดแปลงหรือยกเลิก
ความคิดที่เคยยอมรับกันมาก่อน
3. เป็นผลผลิตซึ่งได้รับจากการกระตุ้นอย่างสูงและมั่นคงด้วยระยะยาว หรือความพยายามอย่างสูง
4. เป็นผลผลิตที่ได้จากการประมวลปัญหาซึ่งค่อนข้างจะคลุมเครือและไม่แจ่มชัด

ระดับความคิดสร้างสรรค์

1. ความคิดสร้างสรรค์ระดับต้น เป็นความคิดที่มีอิสระ แปลกใหม่ ยังไม่คำนึงถึงคุณภาพและการนำไปประยุกต์ใช้
2. ความคิดสร้างสรรค์ระดับกลาง คำนึงถึงผลผลิตทางคุณภาพนำไปประยุกต์ใช้งานได้
3. ความคิดสร้างสรรค์ระดับสูง สรุปสิ่งที่ค้นพบเป็นรูปธรรมนำไปใช้ในการสร้างหลักการ ทฤษฎีที่เป็นสากลยอมรับโดยทั่วไป



Resource : //www.midnightuniv.org/midnightuniv/newpage72.htm