ความเครียด (Stress)

ความเครียด (Stress)

ความเครียด (Stress) เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้น เมื่อร่างกายถูกกระตุ้น และมีปฏิกิริยา ตอบโต้เป็น ปฏิกิริยา ทางสรีรวิทยา และจิตวิทยา โดยระบบต่อมไร้ท่อที่หลั่งฮอร์โมน และ ระบบประสาทอัตโนมัติ ทําให้เกิด การเปลี่ยนแปลง ไปทั่วร่างกาย เมื่อเกิด ความเครียดภายในจิตใจ มักส่งผลทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้อย่างชัดเจน เช่น

  • ทางกาย : ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หายใจไม่อิ่มหัวใจ เต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น มือเย็นเท้าเย็น เหงื่อออก ตามมือตามเท้า หายใจตื้นและเร็วขึ้น ใจสั่น ถอนหายใจบ่อยๆ กัดขากรรไกร ขมวดคิ้ว ตึงที่คอ ประสาทรับ ความรู้สึกหูไวตาไวขึ้น การใช้พลังงานของร่างกายเพิ่มขึ้น รู้สึกเพลีย ปวดศีรษะ ไมเกรน ท้องเสียหรือ ท้องผูก นอนไม่หลับ หรือง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหารหรือกินมากกว่าปกติ ท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ประจําเดือนมาไม่ปกติ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ผิวหนังเป็นผื่นคัน เป็นหวัดบ่อยๆ แพ้อากาศง่าย
  • ทางจิตใจ : หงุดหงิด สับสน คิดอะไรไม่ออก เบื่อหน่าย โมโหง่าย ซึมเศร้าสมองทํางานมากขึ้น ความคิดอ่านระยะสั้นดีขึ้น การตัดสินใจเร็ว ขึ้น ความจําดีขึ้น สมาธิดีขึ้น วิตกกังวล คิดมาก คิดฟุ้งซ่าน หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด โกรธง่าย ใจ น้อย เบื่อหน่าย ซึมเศร้า เหงา ว้าเหว่ สิ้นหวัง หมดความรู้สึกสนุกสนาน
  • ทางสังคม : บางครั้งทะเลาะวิวาทกับคนใกล้ชิด หรือไม่พูดจากับใคร จู้จี้ขี้บ่น ชวนทะเลาะ มีเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่นบ่อยๆ

ชนิดของความเครียด

1.Acute stress คือความเครียดที่เกิดขึ้นทันทีและร่างกายก็ตอบสนองต่อความเครียดนั้นทันทีเหมือนกันโดยมีการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เมื่อความเครียดหายไปร่างกายก็จะกลับสู่ปกติเหมือนเดิมฮอร์โมนก็จะกลับสู่ปกติ ตัวอย่างความเครียด

  • เสียง
  • อากาศเย็นหรือร้อน
  • ชุมชนที่คนมากๆ
  • ความกลัว
  • ตกใจ
  • หิวข้าว
  • อันตราย

2.Chronic stress หรือความเครียดเรื้อรังเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นทุกวันและร่างกายไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงออกต่อความเครียดนั้น ซึ่งเมื่อนานวันเข้าความเครียดนั้นก็จะสะสมเป็นความเครียดเรื้อรัง ตัวอย่างความเครียดเรื้อรัง

  • ความเครียดที่ทำงาน
  • ความเครียดที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
  • ความเครียดของแม่บ้าน
  • ความเหงา

ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด

เมื่อมีภาวะกดดันหรือความเครียดร่างกายจะฮอร์โมนที่เรียกว่า cortisol และ adrenaline ฮอร์โมนดังกล่าวจะทำให้ความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็ว เพื่อเตรียมพร้อมให้ร่างกายแข็งแรง และมีพลังงานพร้อมที่จะกระทำเช่นการวิ่งหนีอันตราย การยกของหนีไฟถ้าหากได้กระทำฮอร์โมนนั้นจะถูกใช้ไป ความกดดันหรือความเครียดจะหายไป แต่ความเครียดหรือความกดดันมักจะเกิดขณะที่นั่งทำงาน ขับรถ กลุ่มใจไม่มีเงินค่าเทอมลูก ความเครียดหรือความกดดันไม่สามารถกระทำออกมาได้เกิดโดยที่ไม่รู้ตัว ทำให้ฮอร์โมนเหล่านั้นสะสมในร่างกายจนกระทั่งเกิดอาการทางกายและทางใจ

 

คงมีหลายคน ที่อยากจะถามว่า เราจะต้องคลายเครียดกันทำไม ความเครียด คืออะไรกันแน่ เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีผลอย่างไรบ้าง ต่อบุคคล

ถ้าเราสำรวจตัวเราเองดูว่า เวลาที่เราเครียดเกิดจากอะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อมี ความเครียดแล้ว เกิดอะไรขึ้นบ้าง อาจได้คำตอบที่ค่อนข้างตรงกันว่า ความเครียด เป็นสภาวะ ที่เกิดขึ้น เมื่อเราประสบเหตุการณ์ที่เรารับรู้ว่า เป็นอันตราย และคุกคามต่อ ความเป็นอยู่ อันดีของเรา ไม่ว่าจะทางร่างกาย หรือจิตใจ และไม่แน่ใจว่าจะมีความสามารถเพียงพอ ที่จะเผชิญเหตุการณ์นั้น ๆ ได้ หรือไม่ ถ้าบุคคลประเมินเหตุการณ์ที่ตนประสบว่า เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเกินกำลังความสามารถ ที่จะแก้ไขได้หรือ หาทางออก ไม่ได้ และรู้สึกว่า ตนสูญเสีย หรือคาดว่า จะสูญเสียจะรู้สึกว่า ตนถูกคุกคาม จะเกิดความเครียดอย่างมาก อารมณ์ ที่เกิดขึ้นควบคู่กับความรู้สึก ถูกคุกคามมักเป็นอารมณ์ทางลบ เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว ความโกรธ ความเศร้า ความทุกข์ใจ ไม่สบายใจต่าง ๆ หากความเครียด นั้นมีมาก และสะสมอยู่ เป็นเวลานาน โดยไม่ได้ผ่อนคลาย จะส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรง เช่น เกิดความเจ็บป่วยทางจิต เกิดเป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคมะเร็ง เป็นต้น

แต่ถ้าบุคคลประเมินว่า เหตุการณ์ที่ตนประสบนั้น ยุ่งยากเป็นปัญหา เกี่ยวข้องกับ ความเป็นอยู่ อันดีของตน น่าจะจัดการได้ เป็น การประเมินว่า เหตุการณ์นั้น ท้าทายความสามารถ ความเครียด ที่เกิดขึ้นจะไม่มากนัก อารมณ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กับความรู้สึกท้าทาย มักเป็นอารมณ์ทางบวก เช่น มีความรู้สึกกระตือรือร้น มีพลัง มีความหวัง มีกำลังใจ ความเครียดที่มีไม่มากนัก ช่วยให้บุคคล มีพลังที่จะต่อสู้อุปสรรค เรามักจะหนีความเครียดไม่พ้น ดังนั้น คุณภาพของชีวิต จึงขึ้นอยู่กับ ความสามารถในการจัดการ กับความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ เผชิญความเครียด ผ่อนคลายความเครียดได้ผล ทำอย่างไรให้คลายเครียด รู้เท่าทัน เหตุการณ์ ที่ประสบ เพื่อจะได้ เตรียมที่จะ เผชิญ อย่างมีประสิทธิภาพ เหตุการณ์ที่อาจ ก่อให้เกิดความเครียด ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต การสูญเสีย หรือไปไม่ถึงเป้าหมาย ที่วางไว้ หรือไม่แน่ใจว่า ตนจะไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่ ทำให้เกิดความคับข้องใจ การไม่สามารถตัดสินใจได้ มีความขัดแย้งในใจ การอยู่ในสภาวะที่กดดัน การเจ็บป่วยทางกาย เป็นต้น

รู้เท่าทันว่าตนกำลังเครียดอยู่ในขณะนี้ เพื่อจะได้จัดการผ่อนคลายความเครียดลง ความเครียด ภายในจิตใจ จะส่งผลทำให้เกิดอาการทางกาย สังเกตตนเองว่า มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น เบื่ออาหารหรือกินมากกว่าปกติ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หลับไม่สนิท หลับยาก ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ท้องเสียบ่อย ๆ ปวดศรีษะ ปวดต้นคอ และไหล่ ใจสั่น ตื่นเต้นตกใจง่าย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดกับคนรอบข้าง เป็นต้น เมื่อเกิดความเจ็บป่วยทางกาย และมี อาการทางกาย เหล่านี้ นอกจากจะไปพบแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาแล้ว ควรหา ทางแก้ไขผ่อนคลาย ความเครียดของตนเองอีกด้วย

จัดการกับปัญหา หรือความเครียด ดังนี้

  • พิจารณาเหตุการณ์ที่ประสบว่าจะจัดการอย่างไรให้ดีที่สุด ควรชะลอไว้ก่อนแล้วค่อย ๆ หาทางแก้ไข เมื่อโอกาสเหมาะ หรือเป็นปัญหาที่จัดการได้ทันที
  • มุ่งจัดการกับปัญหา ไม่เลิกความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาทุกปัญหามีทางออกเสมอ
  • พิจารณาขั้นตอนต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา ลงมือจัดการแก้ไขที่สาเหตุของปัญหา
  • นำวิธีใหม่เพิ่มเติมจากเดิมมาใช้แก้ปัญหา และลงมือทำไปทีละขั้น
  • ขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีความรู้หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ หรือผู้ที่เคย อยู่ในสถานการณ์ เดียวกันมาก่อน
  • ปรึกษาหารือ ขอคำแนะนำ ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ เพื่อน หรือผู้ที่ เกี่ยวข้องที่จะจัดการกับเรื่องนั้น ๆ ได้
  • พยายามทำกิจการที่ต้องทำให้ทันตามกำหนด ให้สำเร็จอย่างดี
  • มุ่งที่จะแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ ไม่ให้ความคิดและกิจกรรมอื่นมารบกวน
  • พิจารณาตนเองว่ากำลังทำอะไร เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่ทำอะไร ที่เสียหายเพราะ การกระทำที่เร็ว เกินไป
  • ค้นหาสิ่งที่ดี จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำวิกฤติให้เป็นโอกาส
  • เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ประสบ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาตนเอง
  • เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้น ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น
  • มองโลกในแง่ดี มองชีวิตให้สดใสเบิกบาน ทุกปัญหามีทางออก
  • คิดถึงคนที่ประสบปัญหามากกว่าเรา ไม่ใช่มีเราคนเดียวเท่านั้นที่ประสบปัญหา
  • หาทางผ่อนคลายความเครียด โดยทำกิจกรรมที่ชอบ (เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ เล่นดนตรี ดูโทรทัศน์ ฯลฯ) ฝึกสมาธิหรือทำงานอดิเรก
  • ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ
  • แสวงหากำลังใจจากเพื่อน ๆ และบุคคลรอบข้าง
  • เล่าปัญหา ระบายความในใจให้เพื่อนหรือใครบางคนฟังไม่เก็บความรู้สึกต่าง ๆ ไว้คนเดียว
  • พบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ พยายามผูกมิตรกับผู้อื่น
  • ไม่นำกิจกรรมอื่นมาทำเพื่อจะหลีกหนีปัญหา
  • ไม่เพียงแต่คิดว่าจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น ปัญหาจะคลี่คลายไปได้เอง ต้องแสวงหาทางออกที่จะคลี่คลายปัญหา
  • ไม่ตำหนิตนเอง ความรู้สึกผิด จะทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนไร้ค่า ท้อแท้ สิ้นหวังได้
  • เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไม่มัวแต่เสียใจทุกข์ร้อนกับเรื่องที่ผ่านมา คนเราปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและตั้งต้นใหม่ได้เสมอ
  • ไม่หงุดหงิดและระบายอารมณ์ใส่ใคร แต่หาทางระบายความในใจกับเพื่อนหรือผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยเหลือได้
  • ไม่มัวแต่เป็นกังวล ไม่ร้องไห้ โวยวาย หรือใช้สุราหรือยา เพื่อดับความทุกข์ เพราะนอกจากจะ
  • แก้ไขปัญหาไม่ได้แล้ว ยังสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น
  • ใช้หลักธรรมะฝึกจิตใจให้สงบ มีสมาธิ เพื่อให้คิดได้อย่างกระจ่าง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามความเป็นจริง
  • คนทุกคนมีคุณค่าและความสามารถ มองหาส่วนดีที่ตนมี พัฒนาตนเองให้มีความสามารถ สร้างพลังและกำลังใจในการเผชิญปัญหา
  • มีอารมณ์ขัน ไม่เอาเป็น เอาตาย เอาจริง เอาจังกับชีวิตจนเกินไป

สรุปได้ว่า ความเครียดไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป ความเครียดที่ไม่มาก นักช่วย ให้บุคคลมี ความกระตือรือร้น มีพลังในการดำเนินชีวิต แต่การเกิด ความเครียดอย่างมาก และสะสมอยู่เป็น เวลานาน มีผลทำให้เกิดความเจ็บป่วย ทั้งทางกายและทางจิต ดังนั้นเราจึงควร มาหาทางผ่อนคลาย ความเครียดกัน ดีกว่า

ความเครียด โดยรศ.พญ.สุดสบาย จุลกทัพพะ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ 

ความเครียด คือการหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกาย ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องมีอยู่เสมอในการดำรงชีวิต เช่น การทรงตัว เคลื่อนไหวทั่วๆไป ทุกครั้งที่เราคิดหรือมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นจะต้องมีการหดตัว เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแห่งใดแห่งหนึ่งในร่างกายเกิดขึ้นควบคู่เสมอ ความเครียดเกิดจาก สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการปรับตัว และถ้าไม่สามารถปรับตัวได้จะทำให้เกิดความเครียด

สาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด

1. ทางด้านร่างกาย เกี่ยวกับสุขภาพและการเจ็บป่วย ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรงทำให้เกิดความเครียดได้ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ฯลฯ
2. ทางด้านจิตใจ เช่น ผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง เวลาที่มีเรื่องต่าง ๆ เข้ามากระตุ้นก็จะทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย หรือเป็นผู้ที่วิตกกังวลง่าย ขาดทักษะในการปรับตัว
3. ทางด้านสังคม มีสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความบกพร่องในเรื่องของการปรับตัว ขาดผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ถ้ามีผู้ที่ให้ความช่วยเหลือก็จะทำให้ความเครียดลดน้อยลงไป มีสิ่งมากระตุ้นมากเกินความสามารถของตนเอง ความขัดแย้งในครอบครัว ฯลฯ

เมื่อไหร่ที่ควรมาพบแพทย์

ความเครียดเกิดขึ้นเองและสามารถหายเองได้เป็นปกติทุกวัน แต่ถ้าความเครียดส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เช่น นอนไม่หลับ รับประทานอาหารไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ปวดศีรษะ ร่างกายอ่อนเพลียฯลฯ ควรมาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำต่อไป

จะทราบได้อย่างไรว่ามีความเครียดเกิดขึ้น 

โดยปกติแล้วผู้ที่มีความเครียดเกิดขึ้นมักจะรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย อ่อนเพลียเป็นเวลานาน ขาดสมาธิในการทำงาน หรือมีอาการทางด้านร่างกายร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะเป็นประจำ
วิธีการขจัดความเครียดที่เหมาะสม การขจัดความเครียดให้ได้ผล 100% นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ในกรณีที่มาพบแพทย์ แพทย์จะแนะนำวิธีการผ่อนคลาย การหายใจเข้า-ออกลึก ๆ จะช่วยลดความเครียดลงได้

วิธีการขจัดความเครียดที่เกิดขึ้นพิจารณาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่
1.ทางด้านร่างกาย คือ การกำจัดสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาสุขภาพร่างกาย
2.ทางด้านจิตใจ คือ การปรับสภาพจิตใจของตัวเราเอง รู้จักปรับเข้ากับปัญหา ยอมรับในสิ่งที่ยังแก้ไขไม่ได้
3.ทางด้านสิ่งแวดล้อม คือ ถ้ามีภาระงานมากจนรับไม่ไหว ควรทำงานให้น้อยลง รู้จักแบ่งเวลาในการทำงานและแบ่งเวลาให้กับตัวเอง

ขั้นตอนของการรักษา

ขั้นแรกเหมือนกับการตรวจร่างกายโดยทั่ว ๆ ไป มีการซักถามประวัติ การดำเนินโรค และการเริ่มต้นของการเจ็บป่วย จากนั้นจิตแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน การรักษาและวิเคราะห์หาสาเหตุของความเครียด ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ถ้าเกิดจากสิ่งแวดล้อม แพทย์จะแนะนำวิธีการปรับตัว ยกเว้นในกรณีที่ความเครียด เกิดจากโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเพศบางอย่างต้องรับการรักษาโดยการใช้ยา

ยาที่ใช้ในการรักษา

ยาคลายเครียดเป็นยาที่ออกฤทธ์ต่อสมอง ช่วยให้การทำงานของสมองในส่วนที่ควบคุมความเครียดทำงานได้ดีขึ้น และช่วยให้เกิดการนอนหลับ ช่วยลดความวิตกกังวล สำหรับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง สามารถใช้ยาคลายเครียด ช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดได้ ดังนั้นยาคลายเครียด จึงมีผลต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับท่านที่ไปพบจิตแพทย์ แพทย์จะให้ยาวันละครั้ง หรือวันละหลายครั้งแตกต่างกันออกไป ซึ่งการรับประทาน ยาคลายเครียด ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบเรื้อรัง โดยส่วนใหญ่ถ้าเป็น ความเครียดทั่ว ๆ ไปแพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ยา โดยจะใช้ยาเมื่อจำเป็น หรือเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 2-3 เดือน หรือเฉพาะในเวลาที่มีอาการ วิตกกังวล ส่วนใหญ่แพทย์จะให้คำแนะนำในเรื่องของเทคนิคการคลายเครียด สอนวิธีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกในเรื่องของการปรับตัว และการแก้ปัญหา เฉพาะหน้าต่าง ๆ มากกว่าการให้ยารับประทาน

ผลของการใช้ยาคลายเครียด

เนื่องจากยาคลายเครียดเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้ารับประทานเป็นระยะเวลานานติดต่อกันจะก่อให้เกิดผลต่อร่างกาย เช่น ฤทธิ์ของยาทำให้เกิด

การเสพติด ทำให้ต้องกินยาในปริมาณที่เพิ่มขึ้น หรือจะเกิดความผิดปกติในเวลาที่ไม่ได้กินยา

วิธีการผ่อนคลายความเครียด

ควรออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ หางานอดิเรกทำ สำหรับผู้ที่มีภาระงานประจำมาก ควรให้เวลากับตัวเองบ้าง จัดเวลาให้เหมาะสม หาที่ปรึกษาหรือเพื่อนเพื่อรับฟังหรือช่วยตัดสินใจในบางเรื่อง รวมทั้งยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นต้น

วิธีการคลายเครียด
ทางด้านจิตวิทยาถือว่าความเครียดก็เป็นสิ่งที่ดี ช่วยให้เรามีการตื่นตัวอยู่เสมอ มีการป้องกันตัวเอง และปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีความเครียดเลยก็จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แต่ถ้าจะไม่ให้เกิดความเครียดคงจะเป็นไปไม่ได้ จึงควรแบ่งเวลา หาเวลาให้กับตัวเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรืออาจใช้วิธีการทางศาสนาช่วยโดยการนั่งสมาธิ

ความวิตกกังวลในการพบจิตแพทย์
สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตเวชควรคิดว่า การที่เรามาพบแพทย์นั้นเหมือนกับการหาที่ปรึกษา โดยมีผู้รับฟังและช่วยแก้ปัญหาที่ดี เนื่องจากการมาพบจิตแพทย์ไม่จำเป็นต้องป่วยหรือเป็นโรค เพราะฉะนั้นไม่ควรวิตกกังวล ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่เคยมาปรึกษาแพทย์ จะได้รับคำแนะนำในปฏิบัติตนได้อย่างถูกวิธี จึงช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้นได้
คนเราทุกคนมีความเครียดและต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความเครียดอยู่เป็นระยะ ๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหาวิธีจัดการกับความเครียดที่เหมาะสม การไม่สามารถจัดการควบคุมสถานการณ์ที่มีความเครียดได้ จะนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพตามมาได้

Resource : www.si.mahidol.ac.th