โยงใยแห่งชีวิต

ฟริตจ๊อฟ คาปรา (Fritjof Capra)

[ ฟริตจ๊อฟ คาปรา (Fritjof Capra) จบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ นอกจากเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้ว เขายังเป็นนักทฤษฎีระบบ และมีความสนใจปรัชญา และ ศาสนาตะวันออก เป็นอย่างยิ่ง หนังสือของ คาปรา ทั้งสามเล่ม เป็นหนังสือเชิงวิชาการ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ได้แก่ The Tao of Physics (แปลเป็นไทยชื่อ เต๋าแห่งฟิสิกส์) The Turning Point (แปลเป็นไทยชื่อ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ) และ Uncommon Wisdom (แปลเป็นไทยชื่อ บ่อเกิดเต๋าแห่งฟิสิกส์) หนังสือเล่มหลังสุดของเขาคือ The Web of Life ตีพิมพ์เมื่อปี 2539 ปัจจุบัน เขาสอนอยู่ที่ มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ และเป็นผู้ก่อตั้งอำนวยการ สถาบันเพื่อความรอบรู้ทางนิเวศวิทยา

ปาฐกถาบทนี้ ฟริตจ๊อฟ คาปรา (Fritjof Capra) แสดงเมื่อปี ค.ศ. 1997 ในงานปาฐกถาที่ ทรีนิตี้ คอลเลจ (Trinity College) กรุงดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 1995 โดยใช้ชื่อว่า "ปาฐกถา ชเรอดิงเจอร์ (The Schrodinger Lectures)" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ เออร์วิน ชเรอดิงเจอร์ (Erwin Schrodinger)]

………………………………………………………….

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1943 เออร์วิน ชเรอดิงเจอร์ (Erwin Schrodinger) นักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย หนึ่งในผู้วางรากฐานให้แก่ ทฤษฎีควอนตัม ได้แสดงคำ บรรยายชุดหนึ่งที่ ทรีนิตี้ คอลเลจ กรุงดับลิน ในหัวข้อว่า "ชีวิตคืออะไร" การบรรยายครั้งนั้นนับเป็น การพลิกผันทิศทางของวิทยาศาสตร์ว่าด้วย ชีวิตเลยทีเดียว ในคำบรรยายดังกล่าว และในหนังสือชื่อเดียวกันที่ตีพิมพ์ในเวลาต่อมา ชเรอดิงเจอร์ได้นำเสนอสมมุติฐานที่ชัดเจน และแม่นยำเกี่ยวกับ โครงสร้างระดับอณูของยีนพันธุกรรม ซึ่งกระตุ้นให้นักชีววิทยา เริ่มใช้ความคิดแนวใหม่เกี่ยวกับพันธุศาสตร์ อันเป็นการเปิดพรมแดนใหม่ของ วิทยาศาสตร์ ในสาขาที่เรียกว่า "อณูชีววิทยา (Molecular Biology)"

ในช่วงหลายทศวรรษจากนั้นมา สาขาวิชาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการค้นพบที่ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง และบรรลุจุดสูงสุด เมื่อสามารถ ถอดรหัสใน ยีนพันธุกรรมได้ อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าที่น่าตื่นตาตื่นใจ เหล่านี้ก็มิได้ทำให้นักชีววิทยา สามารถตอบ คำถามที่ ชเรอดิงเจอร์ได้ตั้งไว้ว่า "ชีวิตคืออะไร" แม้แต่น้อย ทั้งยังไม่สามารถตอบคำถามสืบเนื่อง ที่เคยสร้าง ความฉงนฉงาย ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญา มาเป็นเวลา หลายร้อยปีได้ เช่นคำถามที่ว่า โครงสร้างอันซับซ้อนวิวัฒนาการ ขึ้นมาจาก การรวมตัวอย่างไร้กฎเกณฑ์ของอณูต่างๆ ได้อย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับสมอง เป็นอย่างไร วิญญาณ (Consciousness) คืออะไร

นักอณูชีววิทยาสามารถค้นพบอิฐบล็อก ที่เป็นองค์ประกอบ พื้นฐานของชีวิตได้ แต่นั่นไม่สามารถทำให้พวกเขาเข้าใจได้ว่า องคาพยพ (Organism) ที่มีชีวิตอยู่ทั้งหลายนั้นกระทำการอย่างสอดคล้องร่วมกัน เพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ดังที่ ซิดนีย์ เบรนเนอร์ (Sidney Brenner) นักอณูชีววิทยาชั้นนำ ท่านหนึ่ง ได้ให้ทัศนะไว้เมื่อ 25 ปีก่อนว่า

"ในแง่หนึ่ง คุณอาจกล่าวได้ว่า งานด้านพันธุศาสตร์ และอณูชีววิทยาในรอบหกสิบปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงพักที่ยาวนานระหว่างการแสดง…. ครั้นเมื่อเราทำงานเสร็จตามแผน เราก็วนครบรอบวง กลับมาที่ปัญหาที่เราทิ้งไว้ไม่ยอมแก้ตั้งแต่ต้น เช่น ปัญหาที่ว่า องคาพยพที่เกิดบาดแผล สามารถฟื้นฟูโครงสร้างกลับมาให้เหมือนที่มันเคยมีอย่างไม่ผิดเพี้ยนได้อย่างไร ไข่สร้างองคาพยพขึ้นมาได้อย่างไร…. ผมคิดว่าในอีก 25 ปีข้างหน้า เราจะต้องสอนภาษาอีกภาษาหนึ่งให้กับนักชีววิทยา…. ผมยังไม่รู้ว่าจะเรียกมันว่าอย่างไรดี ยังไม่มีใครรู้ ….. มันอาจจะเป็นเรื่องผิดพลาดก็ได้ ที่เราเชื่อว่าระบบกฎเกณฑ์ทั้งหลายมีปรากฏในระดับอณู เราอาจจะต้องเลิกมองสิ่งต่างๆ ในลักษณะการทำงานแบบจักรกลของนาฬิกา"

นับตั้งแต่ช่วงเวลาที่เบรนเนอร์ได้แสดงทัศนะไว้ ภาษาใหม่ที่ช่วยสร้างความเข้าใจซึ่งความซับซ้อนของระบบชีวิตทั้งหลาย - ได้แก่ ระบบองคาพยพ ระบบสังคม และระบบนิเวศน์ – ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างจริงจัง คุณอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง เกี่ยวกับแนวคิดหลักๆ ของกระแสใหม่ที่ใช้ในการทำ ความเข้าใจระบบซับซ้อนทั้งหลาย เช่น ความไร้ระเบียบ (Chaos) วิถีโน้มถ่วง (Attractors) แฟร็คทัล (Fractals) โครงสร้างกระจัดกระจาย (Dissipative Structures) การจัดองค์กรด้วยตนเอง (Self-Organization) และอื่นๆ

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 ผมได้คิดบัญญัติบทสังเคราะห์การค้นพบใหม่ๆ เหล่านี้ ประมวลขึ้นเป็นกรอบแนวคิดให้แก่ความเข้าใจชีวิตใน มิติทางวิทยาศาสตร์ ผมใช้เวลาพัฒนา และลงรายละเอียดบทสังเคราะห์ของผมนับสิบปี สนทนาถกเถียงกับนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก และนำมาตีพิมพ์ในหนังสือ "โยงใยแห่งชีวิต (The Web of Life)" ของผม

จารีตภูมิปัญญาในแนวการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) และแบบจำลองระบบชีวิตที่พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษต้นๆ ของศตวรรษที่ยี่สิบ เป็นรากฐาน ด้านแนวคิด และด้านประวัติศาสตร์ของกรอบความคิดทางวิทยาศาสตร์อย่างใหม่ที่ผมจะบรรยายในคืนนี้ อันที่จริง บทสังเคราะห์ทฤษฎี และแบบจำลอง ร่วมสมัยต่างๆที่ผมนำเสนอ อาจถือได้ว่าเป็นเค้าโครงของทฤษฎีใหม่ว่าด้วยระบบชีวิต และสิ่งที่กำลังอุบัติขึ้นในแนวหน้าของวิทยาศาสตร์ ก็คือ ทฤษฎีวิทยาศาสตร์อันสอดคล้องลงตัว ที่สามารถให้ภาพรวมเป็นหนึ่งเดียวของจิต วัตถุ และชีวิตได้เป็นครั้งแรก

ด้วยเหตุที่ สังคมอุตสาหกรรมถูกครอบงำโดยการแบ่งแยกจิตออกจากวัตถุตามแนวทางของเดคาร์ตส์ (Cartesian Split) และโดยกระบวนทัศน์แบบกลไก ที่สืบเนื่องมาตลอดสามร้อยปีที่ผ่านมา วิสัยทัศน์อย่างใหม่ที่ก้าวพ้นการแบ่งแยกดังกล่าวนี้ได้ในที่สุด ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อวงการวิทยาศาสตร์ และปรัชญาเท่านั้น แต่ยังมีนัยในทางปฏิบัติมหาศาล วิสัยทัศน์ดังกล่าวนี้จะเปลี่ยนวิถีที่เราสัมพันธ์กัน และกัน และวิถีที่เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม วิถีในการดำเนินสุขภาพของเรา ตลอดจนมุมมององค์กรธุรกิจ ระบบการศึกษา และสถาบันทางสังคม และการเมืองอื่นๆ มากมาย

ที่สำคัญ วิสัยทัศน์ใหม่ว่าด้วยชีวิตนี้จะช่วยเราสร้าง และหล่อเลี้ยงชุมชนที่ยั่งยืน อันนับเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยของเรา เพราะจะช่วยให้ เราเข้าใจได้ว่า ชุมชนในธรรมชาติของพืช สัตว์ และองคาพยพระดับจุลภาค ซึ่งประกอบขึ้นเป็นระบบนิเวศน์นั้น จัดองค์กรของตนเองอย่างไร ในอันที่จะธำรงความยั่งยืนทางนิเวศน์ของตนไว้ได้ เรามีเรื่องที่เรียนรู้ได้มากจากปรีชาญาณแห่งธรรมชาติที่ว่านี้ และที่จะทำเช่นนี้ได้ เราจะต้องมี ความรอบรู้ทางนิเวศน์ (Ecoliteracy) เราจะต้องเข้าใจหลักพื้นฐานของนิเวศวิทยา เข้าใจภาษาของธรรมชาติ กรอบความคิด ที่ผมนำเสนอใน หนังสือของผมได้ชี้ให้เห็นว่า หลักแห่งนิเวศวิทยาดังกล่าวนี้เป็นหลักพื้นฐานของการจัดรูปองค์กรของระบบชีวิต ทั้งหลายด้วยเช่นกัน ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า โยงใยแห่งชีวิต สามารถวางพื้นฐานที่มั่นคงให้แก่ความคิด และปฏิบัติการทางนิเวศวิทยาได้

การอุบัติของการคิดเชิงระบบ

ผมขอเริ่มแสดงเค้าโครงเกี่ยวกับความเข้าใจอย่างใหม่ในเรื่องของชีวิต ด้วยมุมมองประวัติศาสตร์ของกระแสการคิดเชิงระบบโดยสังเขป การคิดเชิงระบบอุบัติขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1920 พร้อมๆ กันในวิชาการสามสาขา กล่าวคือ ชีววิทยาองคาพยพ (Organismic Biology) จิตวิทยาอินทรียรูป (Gestalt Psychology) และนิเวศวิทยา (Ecology) ในบรรดาวิชาการเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์ต่างศึกษาสำรวจระบบชีวิตต่างๆ ซึ่งหมายถึง องค์รวมที่เป็นบูรณาการ (Integrated Wholes) ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะ อันไม่อาจถูกลดทอนให้เท่ากับคุณสมบัติของส่วนประกอบย่อยทั้งหลายได้ ระบบชีวิตย่อมรวมถึงองคาพยพแต่ละหน่วย ส่วนย่อยขององคาพยพ และชุมชนแห่งองคาพยพ เช่น ระบบสังคม และระบบนิเวศ นอกจากนี้ ระบบชีวิตต่างๆยังครอบคลุมขอบข่ายการศึกษาที่กว้างมาก ดังนั้น การคิดเชิงระบบจึงมีลักษณะเป็นสหวิทยาการโดยพื้นฐาน หรือจะให้ดีกว่านั้น จะกล่าวว่าเป็นแนวการศึกษาแบบ "ข้ามแขนงวิทยาการ (Transdisciplinary)" ก็ได้

จากจุดเริ่มต้นของชีววิทยา นักปรัชญา และนักวิทยาศาสตร์เกิดความตระหนักว่า รูปแบบขององคาพยพที่มีชีวิตนั้น เป็นมากกว่าเพียงแค่รูปทรงหรือ การจัดรูปตายตัวขององค์ประกอบย่อยขึ้นเป็นองค์รวม นักคิดเชิงระบบคนแรกแสดงความตระหนักรู้นี้ด้วยคำกล่าวอันมีชื่อที่ว่า "องค์รวมเป็นมากกว่าผลรวม ขององค์ประกอบของมัน"

นับเป็นเวลาหลายทศวรรษ ที่นักชีววิทยา และนักจิตวิทยาต้องต่อกรกับคำถามที่ว่า ในลักษณะใดกันแน่ที่องค์รวมเป็นมากกว่าผลรวมขององค์ประกอบ ของมัน ในช่วงนั้น ก็เกิดการถกเถียงวิวาทะอย่างเข้มข้นระหว่างสำนักคิดสองกระแส ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของสำนักกลไก (Mechanism) และสำนักชีวภาพ (Vitalism) นักกลไกกล่าวว่า "องค์รวมไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากผลรวมขององค์ประกอบของมัน ปรากฏการณ์ทางชีววิทยา ทั้งหมดล้วน อธิบายได้โดยอาศัยกฎของฟิสิกส์ และเคมี" นักชีวภาพเห็นแย้ง และยืนยันว่า จะต้องเพิ่มสภาวะที่ไม่ใช่กายภาพ เพิ่มแนวคิดว่าด้วยพลังหรือสนามชีวภาพ เข้าไปในกฎของฟิสิกส์ และเคมี จึงจะอธิบายปรากฏการณ์ทางชีววิทยาได้

สำนักชีววิทยาองคาพยพอุบัติขึ้นเป็นทางที่สามจากการถกเพียงวิวาทะดังกล่าว นักชีววิทยาองคาพยพเห็นตรงข้ามกับทั้งนักกลไก และนักชีวภาพ พวกเขาเห็นด้วยว่า จะเข้าใจชีวิตได้ก็ต้องเพิ่มบางสิ่งบางอย่างเข้าไปในกฎของฟิสิกส์ และเคมี แต่บางสิ่งบางอย่างที่ว่านั้น ไม่ใช่สภาวะใหม่ หากเป็นความรู้ว่าด้วยการจัดองค์กรของระบบชีวิต หรือดังที่พวกเขาเรียกว่า "ความสัมพันธ์ในการจัดองค์กร (Organizing Relations)" ของระบบชีวิต

นักชีววิทยาองคาพยพนับเป็นกลุ่มแรกที่วางแนวทางในการมองชีวิตด้วยทัศนะเชิงระบบ ทัศนะดังกล่าวนี้ถือหลักว่า คุณสมบัติโดยแก่นสารของ ระบบชีวิต หนึ่งๆ เป็นคุณสมบัติเฉพาะขององค์รวม ซึ่งไม่มีในองค์ประกอบใดของมัน คุณสมบัติเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากปฏิกิริยา และความสัมพันธ์ระหว่าง องค์ประกอบ ต่างๆ คุณสมบัติดังกล่าวย่อมถูกทำลายลงเมื่อระบบนั้นๆถูกแบ่งซอยย่อยเป็นส่วนๆ โดดๆ ไม่ว่าจะในทางรูปธรรมหรือในทางทฤษฎีก็ตาม และถึงแม้ว่า เราจะวิเคราะห์กำหนดหมายองค์ประกอบแต่ละส่วนของระบบใดระบบหนึ่งได้ แต่องค์ประกอบเหล่านี้ไม่ได้อยู่โดยลำพัง และธรรมชาติขององค์รวมย่อม แตกต่างจากเพียงผลรวมขององค์ประกอบของมันเสมอ การวางแนวทัศนะข้างต้นนี้ใช้เวลาหลายปีทีเดียว และแนวคิดหลักหลายประการของการคิดเชิงระบบ ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงนั้น

วิทยาศาสตร์แขนงใหม่ว่าด้วยนิเวศวิทยา ซึ่งเริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ 1920 ก็เพิ่มความอุดมให้แก่แนวการคิดเชิงระบบที่กำลังอุบัติขึ้น ด้วยการนำเสนอ แนวคิด ประการหนึ่งที่สำคัญยิ่ง คือแนวคิดว่าด้วยเครือข่าย (Network) นับแต่จุดเริ่มต้นของนิเวศวิทยา ก็มีการมองชุมชนทางนิเวศวิทยา ในฐานะสิ่งที่ ประกอบด้วย องคาพยพ ซึ่งเชื่อมโยงถึงกันในลักษณะเครือข่าย ด้วยความสัมพันธ์ที่เกิดจากการแสวงหาอาหาร แรกทีเดียวนักนิเวศวิทยา บัญญัติแนวคิด เกี่ยวกับสายโซ่อาหาร (Food Chains) และวงจรอาหาร (Food Cycles) ต่อมาก็ขยับขยายสู่แนวคิดว่าด้วยเครือข่ายอาหาร (Food Web) ในปัจจุบัน

แน่นอนว่า "โยงใยแห่งชีวิต" นั้น เป็นความคิดที่มีมาแต่โบราณ ทั้งกวี นักปรัชญา และนักรหัสยนัย ได้ใช้ความคิดแนวนี้มาตลอดทุกยุคทุกสมัย เพื่อสื่อ ความเข้าใจของพวกเขาในเรื่องการสานทอ และการอิงอาศัยซึ่งกัน และกันของปรากฏการณ์ทั้งหลาย ในขณะที่แนวคิดเรื่อง เครือข่ายเริ่มโดดเด่น ชัดเจน ในวงการนิเวศวิทยานั้น นักคิดเชิงระบบก็เริ่มนำแบบจำลองเรื่องเครือข่ายมาใช้กับระบบต่างๆในทุกระดับ โดยมององคาพยพในฐานะ ที่เป็นเครือข่ายของ อวัยวะ และเซลล์ เหมือนกับที่นักนิเวศวิทยามองระบบนิเวศน์ว่าเป็นเครือข่ายขององคาพยพต่างๆ ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความเข้าใจที่ว่า เครือข่ายคือแบบแผน ที่ปรากฏอยู่ในชีวิตทั้งหลายเหมือนๆ กัน เราเห็นชีวิตในที่ใดเราย่อมเห็นเครือข่ายในที่นั้น

ลักษณะของการคิดเชิงระบบ

ตรงนี้ ผมของสรุปลักษณะสำคัญๆ ของการคิดเชิงระบบ ดังนี้ ระบบชีวิตทั้งหลายล้วนเป็นองค์รวมที่เป็นบูรณาการ ดังนั้น การคิดเชิงระบบจึงหมายถึง การเปลี่ยนย้ายมุมมองจากองค์ประกอบสู่องค์รวม องค์รวมย่อมเป็นมากกว่าผลรวมขององค์ประกอบของมัน และสิ่งที่มากกว่าก็คือ สัมพันธภาพ ดังนั้น การคิดเชิงระบบจึงเป็นการคิดในมุมมองของสัมพันธภาพ นอกจากนั้น การเปลี่ยนย้ายมุมมองจากองค์ประกอบสู่องค์รวมยังอาศัยการย้ายจุดโฟกัส จากตัววัตถุมาอยู่ที่สัมพันธภาพ

การที่เราจะเข้าใจสัมพันธภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นแนวทางสวนกระแสวิทยาศาสตร์ดังที่สั่งสมกันมาในวัฒนธรรมตะวันตก วิทยาศาสตร์บอกเราว่า จะต้องชั่ง ตวง วัดสรรพสิ่ง แต่สัมพันธภาพเป็นสิ่งที่ชั่งตวงวัดไม่ได้ สัมพันธภาพเป็นสิ่งที่จะต้องอาศัยการทำแผนที่ และนี่ก็เป็นการเปลี่ยนย้าย อีกประการหนึ่ง จากการวัด เปลี่ยนย้ายไปเป็นการทำแผนที่ (Mapping)

เมื่อคุณทำแผนที่สัมพันธภาพ คุณจะพบการก่อรูปก่อร่างที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า แบบแผน (Pattern) แบบแผนคือการก่อรูปก่อร่าง ของสัมพันธภาพต่างๆ ซึ่งปรากฎขึ้นแล้วปรากฎขึ้นอีก ดังนั้นการศึกษาสัมพันธภาพจึงนำไปสู่การศึกษาแบบแผน การคิดเชิงระบบเกี่ยวข้องกับ การเปลี่ยนย้ายมุมมองจากการมองมวลเนื้อหา (Contents) สู่การมองแบบแผน

ยิ่งไปกว่านั้น การทำแผนที่สัมพันธภาพ และการศึกษาแบบแผนยังไม่ใช่การวินิจฉัยเชิงปริมาณ แต่เป็นการวินิจฉัยเชิงคุณภาพ และอันที่จริง เวลานี้คณิตศาสตร์แนวใหม่ที่คิดคำนวณความสลับซับซ้อน (Complexity) ก็ใช้คำว่า "การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ" เป็นศัพท์ทางเทคนิค ดังนั้น การคิดเชิงระบบจึงมีนัยหมายถึง การเปลี่ยนย้ายจากปริมาณสู่คุณภาพ

ท้ายที่สุด การศึกษาสัมพันธภาพเป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องไม่เพียงแต่กับสัมพันธภาพระหว่างส่วนประกอบต่างๆของระบบใดระบบหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพระหว่างระบบนั้นๆ โดยองค์รวมกับระบบที่ใหญ่กว่าที่แวดล้อมอยู่ สัมพันธภาพดังกล่าวระหว่างตัวระบบกับสิ่งแวดล้อมของมัน คือ สิ่งที่เราหมายถึงในคำว่า บริบท คำว่า "บริบท (Context)" มาจากภาษาละติน - Contexere - แปลว่า "ทอสานเข้าด้วยกัน" จึงมีนัยหมายถึงความคิดเรื่องเครือข่าย และน่าจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุดในการอธิบายลักษณะโดยรวมของการคิดเชิงระบบ การคิดเชิงระบบจึงเป็น "การคิดเชิงบริบท" (Contextual Thinking)"

นอกจากนี้ยังมีแนวที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการคิดเชิงระบบ ซึ่งผมจะกล่าวถึงในภายหลัง ได้แก่ การคิดในมุมมองของกระบวนการ ซึ่งโดยลำดับ ความเป็นมาแล้วนับว่าเกิดขึ้นภายหลัง ดังนั้น การคิดเชิงระบบจึงหมายรวมทั้งการคิดเชิงบริบท และการคิดเชิงกระบวนการ (Process Thinking)

ทฤษฎีระบบช่วงคลาสสิก

แนวคิดหลักๆ ของการคิดเชิงระบบได้รับการพัฒนาขึ้นมาระหว่างทศวรรษ 1920 กับ 1930 ครั้นถึงทศวรรษ 1940 ก็มีการสร้างทฤษฎีระบบอย่าง เป็นจริงเป็นจังขึ้น ซึ่งหมายความว่าแนวคิดต่างๆว่าด้วยระบบถูกประมวลเข้าในกรอบทฤษฎีที่เป็นเหตุเป็นผลรัดกุม ใช้ในการอธิบายหลักการจัดองค์กร ของระบบชีวิตต่างๆ ทฤษฎีเหล่านี้ ซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่า "ทฤษฎีระบบช่วงคลาสสิก" รวมถึง ทฤษฎีทั่วไปว่าด้วยระบบ (General Systems Theory) และ ไซเบอร์เนติกส์ (Cybernetics)

ลุดวิก วอน แบร์ทาลันฟี (Ludwig von Bertalanffy) นักชีววิทยาชาวออสเตรีย ผู้ริเริ่มนำเอาวิสัยทัศน์แบบองค์รวมมาแทน พื้นฐานแบบกลไก ของ วิทยาศาสตร์ ได้สร้างทฤษฎีทั่วไปว่าด้วยระบบขึ้นในช่วงทศวรรษ 1940 แบร์ทาลันฟี เชื่อเหมือนกับนักชีววิทยาองคาพยพคนอื่นๆว่า ปรากฏการณ์ ทางชีววิทยา จำต้องอาศัยการคิดแนวใหม่ เป้าหมายของเขานั้นอยู่ที่การสร้าง "วิทยาศาสตร์ทั่วไปว่าด้วยองค์รวม (General Science of Wholeness)" ขึ้นในฐานะแขนงวิชาหนึ่งทางคณิตศาสตร์ที่มีระเบียบวิธีชัดเจน

ในความเห็นของผม คุณูปการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแบร์ทาลันฟี อยู่ที่แนวคิดในเรื่อง "ระบบเปิด (Open System)" ซึ่งเป็นการแยกความแตกต่าง ระหว่าง ปรากฏการณ์ทางชีวภาพกับปรากฏการณ์ทางกายภาพ เขามองเห็นว่าระบบชีวิตเป็นระบบเปิด ซึ่งหมายความว่าระบบชีวิตต่างๆ ต้องอาศัยการเลื่อนไหล ต่อเนื่องของสสาร และพลังงานจากสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตอยู่ ระบบเปิดเหล่านี้ธำรงตนเองอยู่ในภาวะสมดุลย์ที่ห่างไกลจากจุดดุลยภาพคงที่ แต่ปรับตัวไปในลักษณะเลื่อนไหล และแปรเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง แบร์ทาลันฟีบัญญัติศัพท์ว่า "ภาวะสมดุลย์เลื่อนไหล (Flowing Balance)" เพื่ออธิบายภาวะสมดุลย์ที่ปรับเปลี่ยนโดยตลอดดังกล่าวนี้ เขายังมองว่า ระบบเปิดเช่นนี้ไม่อาจใช้ความเข้าใจด้านเทอร์โมไดนามิกส์ (Thermodynamics) แบบเดิม ซึ่งเป็นทฤษฎีว่าด้วยระบบอันซับซ้อนที่มีอยู่ในสมัยของเขามาอธิบายได้ เขาจึงเสนอว่า จำต้องมีเทอร์โมไดนามิกส์แนวใหม่ที่ว่าด้วยระบบเปิด เพื่อนำมาใช้อธิบายระบบชีวิต แนวคิดของลุดวิกวอน แบร์ทาลันฟี ในเรื่องระบบเปิด และในเรื่องทฤษฎีทั่วไปว่าด้วยระบบ ทำให้การคิดเชิงระบบก่อตัว เป็นความเคลื่อนไหวทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญ นอกจากนี้ จุดเน้นของเขาในเรื่องการเลื่อนไหล และภาวะสมดุลย์เลื่อนไหล ก็ได้นำเสนอ การคิดเชิงกระบวนการ ในฐานะแง่มุมที่ใหม่ และมีความสำคัญต่อความคิดว่าด้วยระบบ แต่แบร์ทาลันฟีไม่อาจสรุปวางหลักวิชา ด้านเทอร์โมไดนามิกส์ อย่างใหม่ได้อย่างที่เขาประสงค์ ทั้งนี้เพราะเขายังขาดหลักคณิตศาสตร์ที่เหมาะสมต่อภารกิจนั้น อีกสามสิบปีต่อมา อิลยา พริกอชีน (Ilya Prigogine) จึงประสบผลสำเร็จดังกล่าว โดยใช้หลักคณิตศาสตร์แห่งความสลับซับซ้อน ที่ได้มีการคิดค้นขึ้นในช่วงเวลาระหว่างนั้น

ไซเบอร์เนติกส์ เป็นทฤษฎีระบบช่วงคลาสสิกอีกทฤษฎีหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการงานของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์หลายแขนงวิชาการ รวมทั้งนักคณิตศาสตร์อย่าง นอร์เบิร์ต ไวเนอร์ (Norbert Wiener) และ จอห์น วอน นิวมาน (John von Newmann) นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทสมองอย่าง วอร์เร็น แม็คคัลล็อค (Warren McCulloch) และนักสังคมศาสตร์อย่าง เกรกอรี เบทสัน (Gregory Bateson) และ มาร์กาเร็ต มีด (Margaret Mead)

ในเวลาไม่นานนัก ไซเบอร์เนติกส์ก็กลายเป็นความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาที่ทรงพลัง โดยพัฒนาอย่างเป็นเอกเทศจากชีววิทยาองคาพยพ และทฤษฎีทั่วไปว่าด้วยระบบ จุดเน้นหลักของไซเบอร์เนติกส์อยู่ที่แบบแผนของการจัดองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบแผนของการสื่อสารในวงจรปิด และเครือข่ายหมุนเวียน การศึกษาค้นคว้าทางด้านนี้นำไปสู่แนวคิดในเรื่องการป้อนกลับ (Feedback) และการกำกับควบคุมตนเอง (Self-Regulation) และต่อมาก็ก่อให้เกิดแนวคิดในเรื่องการจัดองค์กรด้วยตนเอง (Self-Organization)

แนวคิดในเรื่องการป้อนกลับ ซึ่งเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของไซเบอร์เนติกส์นั้น เกี่ยวพันใกล้ชิดกับแบบแผนของเครือข่าย กล่าวคือ ในเครือข่ายหนึ่งๆ คุณจะพบระบบหมุนเวียน และวงจรปิด และวงจรเหล่านี้สามารถเป็นวงจรป้อนกลับได้ วงจรป้อนกลับ (Feedback Loop) คือ การจัดระเบียบแบบหมุนเวียนเป็นวัฏฏะขององค์ประกอบที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นปัจจัยการ จากจุดเริ่มต้นที่ส่งผลไปตลอดทั่ววงจร ในลักษณะที่ทำให้แต่ละองค์ประกอบส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบที่อยู่ถัดไป จนกระทั่งองค์ประกอบตัวสุดท้าย "ป้อน" ผลกระทบ "กลับ" สู่องค์ประกอบตัวแรกของวงจร

ปรากฏการณ์ป้อนกลับนี้สำคัญอย่างยิ่งต่อระบบชีวิต เนื่องเพราะมีการป้อนกลับ เครือข่ายชีวิตจึงกำกับควบคุมตนเอง และจัดองค์กรตนเองได้ ตัวอย่างเช่น ชุมชนหนึ่งๆ ย่อมกำกับควบคุมตัวมันเองได้ เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของมันเองได้ เพราะความผิดพลาดจะเดินทาง และกลับมาโดยผ่านวงจรป้อนกลับนี้ ดังนั้นชุมชนจึงสามารถจัดองค์กรตัวเอง และเรียนรู้ได้ กระบวนการป้อนกลับทำให้ชุมชนมีสมรรถนะทางปัญญาของตนเอง มีความสามารถในตัวเอง ที่จะเรียนรู้

ดังนั้น เครือข่ายก็ดี การป้อนกลับก็ดี การจัดองค์กรด้วยตนเองก็ดี ล้วนเป็นแนวคิดที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ระบบชีวิตทั้งหลายจึงเป็นเครือข่ายที่สามารถจัดองค์กรด้วยตนเอง

คณิตศาสตร์ใหม่ว่าด้วยความสลับซับซ้อน

ถึงตรงนี้ ผมมาถึงจุดที่สำคัญที่สุดในการสรุปนำเสนอความเป็นมา กล่าวคือ ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการคิดเชิงระบบระหว่างช่วงคลาสสิกในทศวรรษที่ 1940 กับทฤษฎีระบบชีวิตที่พัฒนาขึ้นในช่วง 25 ปีที่ผ่านมานี้ ข้อแตกต่างที่เด่นชัดของทฤษฎีใหม่ๆเหล่านี้อยู่ที่ภาษาทางคณิตศาสตร์อย่างใหม่ ซึ่งเปิดทางให้นักวิทยาศาสตร์สามารถจัดการในทางคณิตศาสตร์กับความสลับซับซ้อนมหาศาลของระบบชีวิตต่างๆ ได้เป็นครั้งแรก

เราต้องตระหนักว่าแม้แต่ระบบชีวิตที่สามัญที่สุด อย่างเซลล์แบคทีเรีย ก็เป็นเครือข่ายที่สลับซับซ้อนยิ่ง เกี่ยวเนื่องกับปฏิกิริยาทางเคมีที่อิงอาศัยกัน และกันนับพันๆ ประการ เวลานี้ได้มีการพัฒนาชุดแนวคิด และเทคนิคชุดใหม่สำหรับจัดการกับความสลับซับซ้อนดังกล่าวแล้ว และเริ่มก่อรูปเป็นกรอบคณิตศาสตร์ที่รัดกุม ทฤษฎีความไร้ระเบียบ (Chaos Theory) และเรขาคณิตแฟร็คทัล (Fractal Geometry) เป็นแขนงวิชาที่สำคัญของคณิตศาสตร์อย่างใหม่ว่าด้วยความสลับซับซ้อนนี้

ลักษณะสำคัญของคณิตศาสตร์แนวใหม่นี้ก็คือ เป็นคณิตศาสตร์ที่ไม่เป็นเชิงเส้น (Nonlinear) ในวงการวิทยาศาสตร์เราถูกสอนกันมาโดยตลอดจนเมื่อไม่นานมานี้ ให้หลีกเลี่ยงสมการที่ไม่เป็นเชิงเส้น เพราะเป็นสมการที่แก้ยาก ยกตัวอย่างเช่น การไหลอย่างราบรื่นของน้ำในแม่น้ำที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง เราเขียนเป็นสมการเชิงเส้นได้ แต่ถ้ามีหินก้อนหนึ่งในแม่น้ำ ทำให้น้ำเริ่มหมุนวนปั่นป่วน เกิดเกลียวคลื่น เกิดวังวนต่างๆ เราต้องเขียนเป็นสมการที่ไม่ใช่เชิงเส้น การเคลื่อนไหวของน้ำเริ่มซับซ้อนจนดูเหมือนไร้ระเบียบ

ในช่วงทศวรรษ 1970 นักวิทยาศาสตร์เริ่มมีคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง ที่ช่วยให้พวกเขาคิดคำนวณ และแก้สมการที่ไม่เป็นเชิงเส้นได้ และในการกระทำดังกล่าวพวกเขาก็ได้คิดค้นเทคนิคขึ้นหลายประการ เป็นภาษาทางคณิตศาสตร์แบบใหม่ ที่เผยให้เห็นถึงแบบแผนอันน่าประหลาดใจยิ่งภายใต้พฤติกรรมอันดูคล้ายว่าไร้ระเบียบของระบบที่ไม่เป็นเชิงเส้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง แบบแผนที่ว่านี้ก็คือระเบียบที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ภาวะที่ดูเหมือนไร้ระเบียบนั่นเอง แท้ที่จริงแล้ว ทฤษฎีว่าด้วยความไร้ระเบียบก็คือ ทฤษฎีว่าด้วยระเบียบ แต่เป็นระเบียบอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่สามารถค้นพบได้ด้วยคณิตศาสตร์แนวใหม่นี้

เวลาคุณแก้สมการที่ไม่เป็นเชิงเส้นด้วยเทคนิคใหม่ๆ ดังกล่าวนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ใช่สูตร แต่เป็นรูปทรงที่แลเห็นได้ เป็นแบบแผนที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้น ดังนั้น คณิตศาสตร์อย่างใหม่จึงเป็นคณิตศาสตร์ของแบบแผนหรือสัมพันธภาพ สิ่งที่เรียกกันว่า "วิถีโน้มถ่วง (Attractor)" เป็นตัวอย่างของแบบแผนทางคณิตศาสตร์ที่ว่านี้ ซึ่งสร้างภาพความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของระบบใดระบบหนึ่งขึ้นเป็นรูปทรงที่แลเห็นได้

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ความสนใจที่มีต่อสมการที่ไม่เป็นเชิงเส้นได้ก่อให้เกิดทฤษฎีใหม่ๆ ที่ทรงพลังชุดหนึ่ง ที่ใช้ในการอธิบายแง่มุมต่างๆ ของระบบชีวิต ทฤษฎีเหล่านี้ข้าพเจ้าได้อภิปรายโดยละเอียดไว้ในหนังสือ และเป็นส่วนประกอบที่ข้าพเจ้าใช้ในการสังเคราะห์สร้างแนวคิดใหม่เกี่ยวกับชีวิต

บทสังเคราะห์ใหม่

ข้าพเจ้าเชื่อว่ากุญแจที่จะไขสู่ทฤษฎีที่ครอบคลุมเกี่ยวกับระบบชีวิตนั้น อยู่ที่การสังเคราะห์แนวการศึกษาทำความเข้าใจธรรมชาติสองแนวเข้าด้วยกัน ซึ่งทั้งสองแนวก็เป็นคู่แข่งขันกันมาตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ ได้แก่ การศึกษาแบบแผน (หรือสัมพันธภาพ ระเบียบ คุณภาพ) กับการศึกษาโครงสร้าง (หรือองค์ประกอบ สสาร ปริมาณ)

กำเนิด และพัฒนาการของแนวคิดเรื่อง "แบบแผนของการจัดองค์กร (Pattern of Organization)" เป็นกระแสหลักของการคิดเชิงระบบมาโดยตลอด นักคิดเชิงระบบในช่วงแรกๆ นิยามแบบแผนว่าเป็นการจัดรูปของสัมพันธภาพต่างๆ นักนิเวศวิทยามองว่าเครือข่ายเป็นแบบแผนทั่วไปของชีวิต นักไซเบอร์เนติกส์ชี้ให้เห็นว่า การป้อนกลับเป็นแบบแผนหมุนเวียนของการส่งผลกระทบต่อเนื่องกันไป และคณิตศาสตร์แนวใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ ความสลับซับซ้อนก็เป็นคณิตศาสตร์ที่ว่าด้วยแบบแผนที่แลเห็นได้

ดังนั้น การทำความเข้าใจแบบแผนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต แต่เท่านี้คงไม่พอ เรายังต้องทำ ความเข้าใจโครงสร้างของระบบ ถึงตรงนี้ เพื่อแสดงให้คุณเห็นว่าแนวการศึกษาแบบแผน กับแนวการศึกษาโครงสร้าง สามารถบูรณาการกันได้อย่างไร ผมขอให้คำจำกัดความที่รัดกุมยิ่งขึ้นแก่แนวทางทั้งสอง

แบบแผนการจัดองค์กรของระบบใดก็ตาม ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต คือ การจัดรูปของสัมพันธภาพระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของระบบนั้นๆ อันเป็นตัว กำหนดลักษณะโดยแก่นสารของระบบนั้นเอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง สัมพันธภาพบางประการจะต้องมีอยู่ ถ้าจะให้มีการรู้ได้ว่าสิ่งนั้นๆ คือ เก้าอี้ จักรยาน หรือต้นไม้ เป็นต้น การจัดรูปของสัมพันธภาพซึ่งก่อให้เกิดลักษณะโดยแก่นสารของระบบ คือสิ่งที่ข้าพเจ้าหมายถึง เมื่อพูดถึงแบบแผนการจัดองค์กรของมัน

ผมจะขอยกตัวอย่างเรื่องนี้ด้วยจักรยาน เพราะระบบที่ไม่มีชีวิตเป็นเรื่องง่ายกว่า ถ้าผมถอดเอาส่วนต่างๆ ของจักรยานออกมา ทั้งอาน คันบังคับ ตัวโครง ล้อ และส่วนอื่นๆ เอามากองไว้ข้างหน้าคุณ คุณก็ย่อมจะบอกว่า นี่ไม่ใช่จักรยาน ของพวกนี้เป็นส่วนต่างๆ ของจักรยาน แล้วผมจะทำให้มันเป็น จักรยานขึ้นมา ได้อย่างไร ผมก็ต้องเอามันมาประกอบขึ้นเป็นระเบียบแบบหนึ่ง! ระเบียบดังกล่าว หรือการจัดรูปสัมพันธภาพระหว่างส่วนต่างๆ คือ สิ่งที่ผมเรียกว่า แบบแผนการจัดองค์กร

ในการอธิบายแบบแผนการจัดองค์กรของจักรยาน ผมสามารถใช้ภาษาที่เป็นนามธรรมอธิบายสัมพันธภาพต่างๆ ได้ ผมไม่จำเป็นต้องบอกคุณว่า ตัวโครง จักรยาน ทำด้วยเหล็กกล้าหรืออะลูมิเนียม ยางรถทำมาจากยางประเภทไหน และอื่นๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ตัวเนื้อวัสดุทางกายภาพ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการ อธิบาย แบบแผนการจัดองค์กร แต่เป็นส่วนหนึ่งของการอธิบายโครงสร้าง ซึ่งผมให้คำจำกัดความว่าเป็นองค์ประกอบโครงสร้างทางวัตถุ (Material Embodiment) ของแบบแผนการจัดองค์กรของระบบ
ในขณะที่การอธิบายแบบแผนการจัดองค์กรเกี่ยวข้อง กับการทำแผนที่เชิงนามธรรมให้กับสัมพันธภาพ การอธิบายโครงสร้างจะเกี่ยวข้อง กับองค์ประกอบ ที่แท้จริง ทางกายภาพของระบบ ได้แก่ รูปทรงของมัน องค์ประกอบทางเคมีของมัน และอื่นๆ

ตัวอย่างเรื่องจักรยานเป็นเรื่องง่าย คุณสร้างภาพแบบแผนการจัดองค์กรของมันขึ้นในใจได้ คุณร่างภาพนั้นขึ้นมาได้ คุณหาวัสดุต่างๆ มาประกอบเป็น จักรยาน ขึ้นตามภาพร่างของคุณได้ หลังจากนั้นจักรยานก็จะตั้งอยู่ตรงนั้น และทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้

แต่กับระบบชีวิต สถานการณ์จะต่างกันมากทีเดียว ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วว่า ระบบชีวิตทุกระบบเกี่ยวพันกับกระบวนการทางเคมีที่อิงอาศัยกันนับพันๆ ประการ ในระบบชีวิตหนึ่งๆ ยังมีการเลื่อนไหลของสสารอย่างไม่หยุดนิ่ง มีการเติบโต มีพัฒนาการ มีวิวัฒนาการ นับแต่จุดแรกเริ่มของชีววิทยา การทำความเข้าใจโครงสร้างที่มีชีวิตไม่เคยแยกขาดจากการทำความเข้ากระบวนการแปรรูป และกระบวนการพัฒนา

คุณสมบัติที่เด่นชัดประการนี้ของระบบชีวิต ทำให้กระบวนการ เป็นหลักเกณฑ์ประการที่สามสำหรับการอธิบายซึ่งธรรมชาติของชีวิตให้ได้ครอบคลุมทั่วถึง กระบวนการของชีวิต ก็คือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องอยู่ในองค์ประกอบโครงสร้างที่ต่อเนื่องของแบบแผนการจัดองค์กรของระบบ ดังนั้นหลักเกณฑ์ในเรื่อง กระบวนการจึงเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างแบบแผนกับโครงสร้าง

หลักเกณฑ์ในเรื่องกระบวนการ ช่วยขยายกรอบแนวคิดในการสังเคราะห์ของผมให้ครอบคลุมทั่วถึง หลักเกณฑ์ทั้งสามประการนี้ยังอิงอาศัยกัน อย่างแยก ไม่ออก แบบแผนการจัดองค์กรจะปรากฏได้ก็ต่อเมื่อมันอยู่เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างทางกายภาพ และในระบบชีวิตนั้น การอยู่เป็น ส่วนประกอบ ดังกล่าว ก็เป็นกระบวนการต่อเนื่อง เราอาจกล่าวได้ว่าหลักเกณฑ์ทั้งสาม – แบบแผน โครงสร้าง และกระบวนการ – เป็นมุมมองปรากฏการณ์ชีวิต ที่แตกต่างกันแต่แยกขาดจากกันไม่ได้ ทั้งหมดรวมกันเป็นมิติแนวคิดสามประการในบทสังเคราะห์ของผม

นี้ย่อมหมายความว่า ในอันที่จะนิยามระบบชีวิต – กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในอันที่จะตอบคำถามของ ชเรอดิงเจอร์ที่ว่า "ชีวิตคืออะไร" – เราจะต้องตอบคำถาม ทั้งสามประการให้ได้ คือคำถามที่ว่า โครงสร้างของระบบชีวิตคืออะไร แบบแผนการจัดองค์กรคืออะไร กระบวนการของชีวิตคืออะไร ผมจะตอบคำถาม ทั้งสาม เรียงตามลำดับ

โครงสร้างกระจัดกระจาย

โครงสร้างของระบบชีวิตได้รับการอธิบายอย่างละเอียดโดย อิลยา พริกอชีน ในทฤษฎีของเขาว่าด้วย โครงสร้างกระจัดกระจาย (Dissipative Structures) พริกอชีนมองในแบบเดียวกับ ลุดวิก วอน แบร์ทาลันฟี ว่าระบบชีวิตเป็นระบบเปิด ที่สามารถธำรงกระบวนการของชีวิตของตัวเอง ได้ภายใต้สภาวะที่ไม่ใช่จุด ดุลยภาพ องคาพยพที่มีชีวิตมีลักษณะเฉพาะตัวอยู่ที่การเลื่อนไหล และเปลี่ยนแปลง อย่างต่อเนื่องในเมตาบอลิสม์ (Metabolism) ของมัน โดยเกี่ยวพันกับปฏิกิริยาทางเคมีนับพันๆ ประการ จุดดุลยภาพทางเคมี และในทางความร้อนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกระบวนการเหล่านี้มาถึงจุดหยุดนิ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่ง องคาพยพที่อยู่ในจุดดุลยภาพก็คือองคาพยพที่ตายแล้ว ส่วนองคาพยพที่มีชีวิตจะดำรงตนเองอย่างต่อเนื่องในภาวะที่อยู่ไกลจากจุดดุลยภาพ ซึ่งเป็นภาวะแห่งชีวิต และแม้ว่าภาวะนี้จะแตกต่างจากจุดดุลยภาพ มันก็ยังเป็นภาวะที่มีเสถียรภาพ โครงสร้างโดยรวมจะยังคงอยู่ในสภาพเดิม ถึงแม้ว่า องค์ประกอบของมันจะมีการเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม

พริกอชีน เรียกระบบเปิดตามที่อธิบายไว้ในทฤษฎีของเขาว่า "โครงสร้างกระจัดกระจาย" เพื่อเน้นถึงปฏิกิริยาที่มีต่อกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างโครงสร้างใน ด้านหนึ่ง กับการเลื่อนไหล และแปรเปลี่ยน (หรือการกระจัดกระจาย) ในอีกด้านหนึ่ง

ตามทฤษฎีของพริกอชีน โครงสร้างกระจัดกระจายไม่เพียงแต่ธำรงตัวเองในภาวะสมดุลย์ที่ห่างไกลจากจุดดุลยภาพเท่านั้น แต่มันยังวิวัฒนาการตนเอง ได้อีกด้วย เมื่อการเลื่อนไหลของพลังงาน และสสารที่ผ่านมันเพิ่มสูงขึ้น มันอาจไปถึงจุดไร้เสถียรภาพ และแปรรูปตัวเองไปเป็นโครงสร้างใหม่ ที่ซับซ้อน ยิ่งขึ้น ปรากฏการณ์ที่ระเบียบอุบัติขึ้นได้เองนี้ เรียกอีกอย่างว่า การจัดองค์กรด้วยตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของพัฒนาการ การเรียนรู้ และวิวัฒนาการ

อัตโนปสิทธิ์

ถึงตรงนี้ ผมจะพูดถึงมุมมองที่สองในการทำความเข้าใจธรรมชาติของชีวิต ได้แก่ มุมมองในเรื่องแบบแผน แบบแผนการจัดองค์กรของระบบชีวิตคือ เครือข่ายของสัมพันธภาพ ซึ่งก่อให้เกิดการทำงานในลักษณะที่องค์ประกอบแต่ละตัวจะสามารถแปรรูป และเข้าแทนที่องค์ประกอบอื่นๆ ของเครือข่ายได้ แบบแผนดังกล่าวนี้ ฮุมแบร์โต มาตุรานา (Humberto Maturana) และ ฟรานซิสโก วาเรลา (Francisco Varela) เรียกว่า "อัตโนปสิทธิ์" (Autopoiesis) "Auto" แปลว่า "ตนเอง" และ "Poiesis" – มาจากรากศัพท์กรีกซึ่งเป็นที่มาของ "Poetry" – แปลว่า "การทำขึ้น (Making)" ดังนั้น Autopoiesis จึงแปลว่า "การสร้างตนเอง (Self-Making)" กล่าวคือ เครือข่าย "สร้างตนเอง" ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวมันเองถูกสร้างขึ้นโดยองค์ประกอบของมัน และในทางกลับกันมันก็สร้างองค์ประกอบเหล่านั้นขึ้น
("อัตโน" ใช้แปลคำว่า "Auto" ส่วนคำว่า "ปสิทธิ" หมายถึง "ความสำเร็จ ความปรากฏ" ใกล้เคียงกับความหมายของแนวคิด และใกล้เคียงกับการออกเสียงคำว่า Poiesis - ผู้แปล)

พุทธิภาวะ

มิติแนวคิดส่วนที่สามของบทสังเคราะห์ของผมคือ แง่มุมด้านกระบวนการ ความเข้าใจในเรื่องกระบวนชีวิตอาจถือเป็นแง่มุมที่มีพลังปฏิวัติเปลี่ยนแปลง มากที่สุดของทฤษฎีระบบชีวิต เพราะมันหมายถึง แนวคิดใหม่ว่าด้วยจิต หรือพุทธิภาวะ (Cognition) แนวคิดใหม่นี้เกรกอรี เบทสัน เป็นผู้นำเสนอ จากนั้นจึงมีการลงรายละเอียดในงานของมาตุรานา และวาเรลา โดยเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า "ทฤษฎีซานติอาโกว่าด้วยพุทธิภาวะ (The Santiago Theory of Cognition)"

แนวความรู้ความเข้าใจที่สำคัญของทฤษฎีซานติอาโก อยู่ที่การนิยามให้พุทธิภาวะหรือกระบวนการของการรู้ เป็นสิ่งเดียวกับกระบวนการของชีวิต มาตุรานาอธิบายว่า พุทธิภาวะ คือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างตนเอง และการธำรงสภาวะตนเองของเครือข่ายที่มีชีวิต กล่าวอีกนัยหนึ่ง พุทธิภาวะก็คือตัวกระบวนการของชีวิตนั่นเอง ดังที่มาตุรานากล่าวว่า "ระบบชีวิตคือ ระบบพุทธิภาวะ และการมีชีวิตในฐานะที่เป็นกระบวนการอย่างหนึ่ง ก็คือ กระบวนการของพุทธิภาวะ"

เราจะเห็นได้ชัดว่า เรื่องที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้เป็นการขยายแนวคิดในเรื่องพุทธิภาวะอย่างถึงรากถึงแก่นทีเดียว ซึ่งก็หมายถึงการขยายแนวคิดในเรื่องจิต ด้วยเช่นกัน ตามทัศนะอย่างใหม่นี้ พุทธิภาวะเกี่ยวพันกับกระบวนการทั้งหมดของชีวิต รวมทั้งการรับรู้ (Perception) อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) และพฤติกรรม (Behavior) และไม่จำเป็นต้องอาศัยเพียงสมอง และระบบประสาทเท่านั้น กล่าวในส่วนของความเป็นมนุษย์ พุทธิภาวะยังรวมถึง ภาษา จิตสังขาร (Conceptual Thought) สติสัมปชัญญะ (Self-Awareness) และคุณลักษณ์อื่นๆ ทั้งหมดของวิญญาณมนุษย์ (Human Consciousness)

ผมเชื่อว่า ทฤษฎีซานติอาโกว่าด้วยพุทธิภาวะนี้ เป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ทฤษฎีแรก ที่สามารถก้าวพ้นการแยกจิตกับวัตถุออกจากกัน แบบเดส์การ์ต ได้สำเร็จ และมีนัยสำคัญส่งผลกว้างไกลถึงที่สุด จิตกับวัตถุจะไม่เป็นเรื่องที่อยู่ในการจัดแยกประเภทออกเป็นสองอีกต่อไป แต่สามารถแลเห็นได้ว่า ทั้งสองต่างเป็นบัญญัติที่ใช้แทนแง่มุมสองด้านของปรากฏการณ์ชีวิตที่เป็นส่วนประกอบเชื่อมโยงกัน ซึ่งก็คือ แง่มุมของกระบวนการ และแง่มุมของ โครงสร้าง จิตกับวัตถุก็ดี กระบวนการกับโครงสร้างก็ดี ล้วนเชื่อมต่อกันอย่างแยกไม่ออก ในทุกระดับของชีวิตนับแต่ระดับของเซลล์ที่สามัญที่สุด จิตนั้นปรากฏให้เห็นในวัตถุที่มีชีวิตในฐานะที่เป็นกระบวนการจัดองค์กรตนเอง นับเป็นครั้งแรกที่เรามีทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงจิต วัตถุ และชีวิต เข้าเป็นหนึ่งเดียว