เครื่องปั๊มน้ำ

เครื่องปั๊มน้ำ (Pump)

เครื่องปั๊มน้ำ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยส่งผ่านพลังงานจากแหล่งต้นกำเนิดไปยังของเหลว เพื่อทำให้ของเหลวเคลื่อนที่จาก ตำแหน่งหนึ่งไป ยังอีก ตำแหน่งหนึ่งที่อยู่สูงกว่า หรือในระยะทางที่ไกลออกไป โดยจุดเริ่มต้นของเครื่องปั๊มน้ำนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 2,000 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งในช่วงเริ่มแรกมีการใช้พลังงาน ที่ได้จากมนุษย์ สัตว์ ต่อมาจึงได้ใช้พลังงานจากธรรมชาติ เช่น พลังงานจากลม และน้ำเป็นแหล่งต้นกำเนิด ซึ่งในช่วงแรกเพียง เพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรเท่านั้น

ในปัจจุบันเครื่องปั๊มน้ำจัดเป็นอุปกรณ์เครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างมาก เป็นอุปกรณ์ ที่ช่วยจัดส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร คมนาคม อุตสาหกรรม ตลอดจนการบำบัดน้ำเสีย เพื่อรักษา สภาวะแวดล้อม ที่ดีให้กับมนุษย์ ซึ่งวิวัฒนาการของเครื่องปั๊มน้ำในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากเดิม ที่ใช้พลังงานจาก แหล่งธรรมชาติมาเป็น การใช้พลังงานจากไอน้ำ จากเครื่องยนต์ และที่นิยมกันมากคือ การใช้พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากความสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน

ประเภทของปั๊มน้ำ (Type of Pump)

ปัจจุบันมีการจัดแบ่งประเภทของปั๊มน้ำหลายรูปแบบ และมีการเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปมากมาย ดังนั้นจึงมี การจัดหมวดหมู่ออกได้เป็น 2 แบบคือ

  1. แยกตามลักษณะการเพิ่มพลังงานให้แก่ของเหลว หรือการไหลของของเหลวในปั๊ม ได้แก่
    ก. ประเภทปั๊มแรงเหวี่ยง หรือปั๊มหอยโข่ง(Centrifugal) เพิ่มพลังงานให้แก่ของเหลวโดยอาศัยแรงเหวี่ยงหนีจุดศูนย์กลาง ปั๊มแบบนี้บางครั้งเรียกว่าแบบ Rota – dynamic
    ข. ประเภทโรตารี่ (Rotary) เพิ่มพลังงานโดยอาศัยการหมุนของฟันเฟืองรอบแกนกลาง
    ค. ประเภทลูกสูบชัก (Reciprocating)เพิ่มพลังงานโดยอาศัยการอัดโดยตรงในกระบอกสูบ
    ง. ประเภทพิเศษ (Special) เป็นปั๊มที่มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถจัดอยู่ในทั้งสามประเภทที่กล่าวมา
  2. แยกตามลักษณะการขับดันของเหลวในปั๊ม แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
    ก. ประเภททำงานโดยไม่อาศัยหลักการแทนที่ของเหลว (Dynamic) เป็นปั๊มประเภทอาศัยแรงเหวี่ยงหนีจุดศูนย์กลางและแบบพิเศษ
    ข. ประเภททำงานโดยอาศัยหลักการแทนที่ของเหลว (Positive Displacement) คือการเคลื่อนที่ โดยอาศัยชิ้นส่วนของ เครื่องสูบ ปั๊มประเภทนี้จะรวมเอาแบบโรตารี่และแบบลูกสูบชักเข้าอยู่ในกลุ่มด้วย

นอกจากการแบ่งเป็นสองแบบตามที่กล่าวมาแล้ว ยังอาจแบ่งปั๊มตามวัตถุประสงค์การใช้งานของแต่ละชนิดด้วยเช่น ปั๊มดับเพลิง ปั๊มลม ปั๊มสูญญากาศ ปั๊มบาดาล เป็นต้น

คุณสมบัติของปั๊มแต่ละชนิด

  1. ลักษณะการทำงานของปั๊มแบบแรงเหวี่ยง
    ปั๊มแบบแรงเหวี่ยงเป็นปั๊มที่ได้รับความนิยมสูงสุดเมื่อเทียบกับปั๊มแบบอื่น ๆ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง เหมาะสมกับการใช้งานหลายประเภทประกอบกับการดูแลรักษาง่าย ส่วนประกอบของเครื่อง มีใบพัดอยู่ในเสื้อ เครื่องรูปหอยโข่ง (Volute Casing) ให้พลังงานแก่ของเหลวโดยการหมุนของใบพัด ทำให้สามารถยกน้ำจาก ระดับต่ำขึ้นไปสู่ระดับสูงได้
    หลักการทำงานของเครื่อง พลังงานจะเข้าสู่ปั๊มโดยผ่านเพลาซึ่งมีใบพัดติดอยู่ เมื่อใบพัดหมุนของเหลวภายในปั๊ม จะไหลจาก ส่วนกลางของใบพัดไปสู่ส่วนปลายของใบพัด (Vane) จากการกระทำของแรงเหวี่ยง จากแผ่นใบพัดนี้ จะทำให้ เฮดความดัน (Pressure Head) ของเหลวเพิ่มขึ้น เมื่อของเหลวได้รับความเร่ง จากแผ่นใบพัด ก็จะทำให้มีเฮดความเร็วสูงขึ้น ส่งผลให้ของเหลวไหลจากปลายของใบพัดเข้าสู่เสื้อปั๊มรูปหอยโข่ง แล้วออกไปสู่ทางออกของปั๊ม ในขณะเดียวกัน ก็เปลี่ยนเฮดความเร็วเป็นเฮดความดัน ดังนั้นเฮดที่ให้แก่ของเหลวต่อหนึ่งหน่วยความหนักเรียกว่า เฮดรวมของปั๊ม
  2. ลักษณะการทำงานของปั๊มแบบลูกสูบชัก
    ปั๊มประเภทลูกสูบชัก (Reciprocating pump) เป็นประเภทที่เพิ่มพลังงาน ให้แก่ของเหลว โดยการเคลื่อนที่ของลูกสูบ เข้าไปอัดของเหลวให้ไหล ไปสู่ทางด้านจ่าย ปริมาตรของของเหลวที่สูบได้ ในแต่ละครั้งจะเท่ากับ ผลคูณของพื้นที่หน้าตัด ของกระบอกสูบกับช่วงชักของกระบอกสูบนั้น

การเลือกเครื่องปั๊มน้ำ

การเลือกเครื่องปั๊มน้ำสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ อาคารขนาดใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรม และบ้านพักอาศัย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  1. การเลือกเครื่องปั๊มน้ำสำหรับอาคารขนาดใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรม
    เครื่องปั๊มน้ำสำหรับอาคารขนาดใหญ่ หรือโรงงานอุตสาหกรรมนั้น จำเป็นต้องพิจารณาให้ละเอียด เนื่องจากมีขนาดใหญ่และมีเรื่องราคา และค่าบำรุงรักษา เข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อมูลที่จำเป็นต้องทราบก่อนที่จะทำการเลือกเครื่องปั๊มน้ำมีดังนี้
    • ชนิดของของเหลวที่ต้องการสูบ อุณหภูมิ ความหนืด ความหนาแน่น
    • อัตราการสูบ (Flow rate)ที่ต้องการ
    • ความดัน หรือความสูงที่ต้องยกของเหลวนั้น ๆ ขึ้นไป หรือที่เรียกว่า เฮด (Head)
    • ความเร็วรอบของปั๊มที่เป็นไปได้
    • ลักษณะของระบบท่อที่มีอยู่
    • ข้อมูลต่าง ๆ จากผู้แทนจำหน่ายเกี่ยวกับเครื่องปั๊ม
  2. การเลือกเครื่องปั๊มน้ำสำหรับบ้านพักอาศัย
    เครื่องปั๊มน้ำสำหรับบ้านพักอาศัยส่วนใหญ่ จะเป็นชนิดสำเร็จรูป ประกอบด้วยตัวปั๊มและถังความดัน ซึ่งจะมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น แบบที่เป็นตัวปั๊มเกาะอยู่บนถังความดัน และมีฝาครอบที่เรียกว่า "ปั๊มกระป๋อง" ตัวปั๊มจะควบคุมการทำงาน ด้วย สวิทซ์ความดัน (Pressure Switch) ซึ่งจะมีการทำงานอัตโนมัติเมื่อมีการเปิดใช้น้ำในบ้าน ความดันในท่อ จะลดลงจนถึง ค่าที่ตั้งไว้ ปั๊มก็จะทำงานจ่ายน้ำ เข้าเส้นท่อ เมื่อหยุดหรือปิดอุปกรณ์ ความดันจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงค่าที่ตั้งไว้ ปั๊มก็จะหยุด ทำงาน เครื่องปั๊มน้ำแบบนี้ มักมีขนาดให้เลือกไม่มากนัก เพราะผลิตมาเพื่อใช้ในครัวเรือนขนาดเล็ก ๆ จนถึงขนาดกลาง ถ้าเป็นบ้านหรืออาคารขนาดใหญ่ ต้องใช้ชุดเครื่องปั๊มน้ำแบบที่จ่ายน้ำได้มาก และสามารถเลือก ความดันได้หลายระดับ ในการเลือกปั๊มน้ำใช้ในบ้านพักอาศัย ควรพิจารณาดังนี้
    • ควรเลือกปั๊มที่มีถังความดันประกอบสำเร็จเป็นชุด เพราะถังความดันจะเก็บน้ำช่วยรักษาความดันภายในท่อส่งน้ำ และมีผลให้ในขณะใช้งานปั๊มน้ำไม่ต้องทำงานตลอดเวลา จึงช่วยประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า และปั๊มน้ำจะมีอายุการใช้งานนานขึ้นด้วย
    • อุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องประกอบกันมาอย่างดี มีความคงทน ไม่เป็นสนิมง่าย และมีตัวป้องกันมอเตอร์ไหม้
    • เลือกกำลังมอเตอร์ของปั๊มให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ไม่เลือกขนาดกำลังมอเตอร์ที่เล็กเกินไป เพราะจะทำให้ปั๊มทำงานบ่อย สิ้นเปลืองไฟฟ้า
      การเลือกกำลังมอเตอร์ของปั๊ม หรือการเลือกขนาดของปั๊มนั้น จะเลือกซื้อตามลักษณะการออกแบบของผู้ผลิต ซึ่งจะออกแบบตามหลักเกณฑ์ดังนี้
      ก. ออกแบบตามระยะความสูงของท่อที่จะต่อจากระดับพื้นดินถึงจุดจ่ายน้ำสูงที่สุดของตัวบ้านหรืออาคาร‏ ข. ออกแบบตามจำนวนก๊อกน้ำที่อาจมีการเปิดใช้น้ำพร้อมกัน เช่น ซักผ้า อาบน้ำ รดต้นไม้ ล้างรถยนต์ ประกอบอาหาร ล้างจาน ฯลฯ

ตัวอย่างการพิจารณาเลือกซื้อปั๊มน้ำ

บ้าน 2 ชั้น ระยะความสูงของท่อส่งน้ำที่จะใช้ส่งน้ำขึ้นชั้นที่ 2 ประมาณ 6-7 เมตรมีห้องน้ำ 2 ห้อง ซึ่งประกอบด้วยชักโครก 2 ชุด สายชำระ 2 ชุด ฝักบัว 2 หัว อ่างล้างหน้า 1 ชุด มีก๊อกน้ำสำหรับซักล้างและห้องครัวอีก 2 ตัว จะเลือกซื้อปั๊มน้ำอย่างไร ?

กรณีที่ 1 พิจารณาจากความสูงของท่อน้ำ

ถ้าพิจารณาจากความสูงของท่อของตัวบ้าน จะต้องต่อท่อส่งน้ำให้สูงจากระดับพื้นดินถึงชั้นบนประมาณ 6-7 เมตร เมื่อร้านค้ามี รายละเอียด ของปั๊มน้ำแต่ละขนาดให้เลือก ดังแสดงในตารางข้างบน
ดังนั้นจึงควรเลือกรุ่นที่กำหนดความสูงของท่อส่งน้ำเท่ากับหรือสูงกว่าท่อส่งน้ำของบ้าน คือเลือกที่ความสูงของท่อส่งน้ำสูง 8 เมตร จะได้ขนาดของปั๊มที่มีกำลังมอเตอร์รุ่น B คือขนาด 100 วัตต์ (0.134 แรงม้า) ซึ่งมีปริมาณน้ำส่ง 16 ลิตร / นาที หรือจะเลือกรุ่น C คือขนาด 150 วัตต์ (0.201 แรงม้า) ได้ปริมาณน้ำส่ง 21 ลิตร /นาที

กรณีที่ 2 พิจารณาจากจำนวนก๊อกน้ำที่เปิดพร้อมกันและความสูงของบ้าน
ควรพิจารณาเลือกกำลังของมอเตอร์เป็นหลัก รายละเอียดต่าง ๆ ที่ควรพิจารณาขอดูจากผู้ขาย ดังตารางข้างล่าง

 ตารางกำลังปั๊มน้ำ

จากตาราง ถ้าคาดว่าจำนวนก๊อกน้ำที่จะเปิดใช้พร้อมกันมีไม่เกิน 3 จุด ก็ควรเลือกปั๊มน้ำรุ่นที่ 1 ซึ่งมีกำลังมอเตอร์ 125 วัตต์ (0.262 แรงม้า) มีปริมาณน้ำส่ง 18 ลิตร/ นาที ระยะส่งของท่อน้ำสูงถึง 9 เมตร และใช้ได้ดีกับอาคารสูง 2 ชั้น

 การติดตั้งปั๊มน้ำและถังเก็บน้ำ

การติดตั้งปั๊มน้ำและถังเก็บน้ำที่ใช้อยู่ตามบ้านและอาคารมีอยู่ 2 แบบ

ก. ติดตั้งให้ถังเก็บน้ำอยู่บนดิน
‏ข. ติดตั้งให้ถังเก็บน้ำอยู่ใต้ดิน

ทั้ง 2 แบบควรกระทำดังนี้

  1. ควรตั้งระยะดูดไม่ให้เกิน 9 เมตร เพื่อให้การสูบน้ำเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ ระยะท่อดูดน้ำจากปั๊มน้ำถึง ถังเก็บน้ำที่ อยู่บนพื้นดิน ไม่ควรเกิน 9 เมตร หรือสำหรับถังเก็บน้ำที่อยู่ใต้ดิน ควรให้ปลายท่อดูดน้ำจากก้นถังถึง ระดับกึ่งกลาง ของปั๊มน้ำไม่เกิน 9 เมตรเช่นกัน
  2. ควรติดตั้งปั๊มน้ำใกล้บ่อน้ำ ควรให้ระยะความลึกของท่อน้ำจากกึ่งกลางปั๊มน้ำถึงระดับใต้ผิวน้ำในบ่อไม่เกิน 9 เมตรเช่นกัน เพื่อความสะดวกต่อการซ่อมแซมและการระบายน้ำ
  3. ควรยึดเครื่องกับแท่นหรือพื้นที่แข็งแรง เช่น คอนกรีต หรือทำกรอบไม้เพื่อยึดขาปั๊มเพื่อเข้ากับพื้นให้มั่นคงและได้ระดับ ไม่เช่นนั้นจะมีเสียงดังขณะปั๊มทำงาน
  4. การต่อท่อ การต่อท่อที่ดีจะต้องมีข้อต่อให้น้อยที่สุด เพื่อลดการสูญเสียอัตราการไหลของน้ำ เนื่องจากความเสียดทาน ภายในท่อ ท่อทางด้านสูบควรมีความลาดเอียงไม่เกิน 2 เซนติเมตรทุกความยาวท่อ 1 เมตร เพื่อให้การสูบน้ำของปั๊มน้ำ มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องระวังอย่าให้เกิดรอยรั่วตามข้อต่อไม่ว่าจะเป็นท่อทางด้านสูบหรือด้านส่ง เพราะจะมีผลต่อ ประสิทธิภาพการทำงานของปั๊มน้ำ คือถ้าท่อทางด้านสูบก่อนเข้าปั๊มน้ำมีการรั่ว จะทำให้มีอากาศเกิดขึ้นในท่อ และทำให้ ไม่สามารถ สูบน้ำให้ไหลต่อเนื่องและเต็มท่อได้ ส่งผลให้น้ำทางด้านส่งหรือด้านที่ต่อออกจากปั๊มน้ำ ไปถึงก๊อกน้ำ มีอัตราการไหลน้อยกว่าปรกติ และหากยังคงมีอากาศเข้าในระบบมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ปั๊มน้ำไหม้ได้ กรณีที่มีการรั่วท่อ ด้านส่ง หรือท่อที่ต่อไปก๊อกน้ำ จะมีผลให้ปั๊มน้ำทำงานบ่อยครั้ง การรั่วเพียงเล็กน้อย เป็นเพียงหยดน้ำเล็ก ๆ ก็มีผลทำให้ ความดันในเส้นท่อลดลง และเมื่อลดลงถึงระดับที่ตั้งไว้ สวิตซ์ความดันจะสั่งงาน ให้ปั๊มน้ำทำงาน 
    ดังนั้นเมื่อต่อท่อของ ระบบเสร็จแล้ว ควรมีการทดสอบการรั่วของท่อ โดยอัดน้ำเข้าในเส้นท่อจากนั้น ปล่อยทิ้งไว้ช่วง ระยะเวลา หนึ่ง หากความดันในปั๊มน้ำไม่มีการลดลงก็แสดงว่าระบบท่อไม่มีการรั่ว
    สำหรับการสูบน้ำจากบ่อ การต่อท่อด้านสูบของปั๊มน้ำที่จะต้องจุ่มปลายท่อลงในบ่อน้ำควรใส่ฟุตวาล์ว (Foot Valve) และตัวกรองน้ำ ไว้ที่ปลายท่อสูบด้วย เพื่อกรองเศษใบไม้ เศษหิน เศษดิน ไม่ให้เข้าไปอุดตันในปั๊มน้ำ และฟุตวาล์ว ยังป้องกันน้ำ ในระบบท่อไหลย้อนกลับไปในบ่อน้ำ ขณะที่ปั๊มหยุดทำงาน และฟุตวาล์วควรสูงจากพื้นก้นบ่อ อย่างน้อย 30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ผงหรือตะกอนถูกสูบขึ้นมา
  5.  การติดตั้งถังเก็บน้ำ สำหรับบ้านพักอาศัยทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีความสูงไม่เกิน 3 ชั้น ควรติดตั้งถังเก็บน้ำไม่ว่าจะเป็นถังเก็บน้ำ บนดินหรือใต้ดิน ให้ต่อจากมิเตอร์วัดน้ำของการประปา เพื่อสำรองน้ำจาก ท่อประปาไว้ใน ถังเก็บน้ำ ให้มากพอ แล้วจึงต่อ ท่อน้ำส่งเข้าตัวปั๊มน้ำ เมื่อเราใช้น้ำตามจุดต่าง ๆ พร้อมกันหลายจุด แรงดันในท่อน้ำจะลดลง ปั๊มน้ำก็จะเริ่มทำงานเกิด แรงดัน ให้น้ำไหลได้มากขึ้น แต่ถ้าเป็นอาคารสูงหลาย ๆ ชั้น การติดตั้งจะเหมือนแบบตาม บ้านอาศัย แต่จะเพิ่มถังเก็บน้ำอยู่บน ชั้นสูงสุด ของอาคาร แล้วปั๊มน้ำจากระดับพื้นดินสู่ถังเก็บน้ำชั้นบน เพื่อสำรองไว้ใช้ตามจุดใช้น้ำตามแต่ละชั้นของอาคาร

การใช้งานปั๊มน้ำ

เมื่อติดตั้งปั๊มน้ำและระบบท่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนใช้ปั๊มน้ำควรปฏิบัติดังนี้

  1. ปิดวาล์วของท่อด้านส่งน้ำ ปิดอุปกรณ์ใช้น้ำและปิดก๊อกน้ำให้สนิท
  2. ถอดจุกเติมน้ำของตัวปั๊มน้ำ
  3. เติมน้ำให้เต็มจนมีน้ำล้น
  4. ปิดจุกให้แน่น
  5. ต่อระบบไฟฟ้า ให้ปั๊มทำงาน
  6. เมื่อปั๊มน้ำทำงานแล้ว ให้เปิดวาล์วของท่อด้านส่งน้ำ หรืออุปกรณ์ใช้น้ำทีละน้อย แต่ถ้าปั๊มน้ำทำงานแล้ว มีน้ำออกน้อยหรือ น้ำไม่ไหล อาจเป็นเพราะว่าครั้งแรกเติมน้ำน้อยเกินไป ให้เติมน้ำใหม่อีกครั้ง

การบำรุงรักษาปั๊มน้ำ

ตารางที่ 3 การบำรุงรักษาปั๊มน้ำ

สูบน้ำขึ้น แต่มีอาการดังนี้

สาเหตุ อาจมาจาก

วิธีแก้ไข

มอเตอร์ทำงานไม่หยุด

สวิตซ์ความดันเสีย

ซ่อม หรือเปลี่ยนใหม่

ก๊อกน้ำปิด แต่ปั๊มทำงาน

1.ท่อดูดหรือท่อส่งรั่ว

1.ซ่อมแซม

 

2.น้ำรั่วจากชิ้นส่วนกันการรั่วซึม

2.เปลี่ยนใหม่

 

3.การปิดตัวของเช็ควาล์วไม่สนิท

3.ทำความสะอาดเช็ควาล์ว

ปั๊มทำงานบ่อยเกินไป

1. สวิตซ์ความดันเสีย

1.เช็คสวิตซ์ความดันหรือเปลี่ยนใหม่

 

2.อากาศในถังมีไม่เพียงพอ

2.ถ่ายน้ำออกจากถังให้หมดและทำความสะอาด หน้าสัมผัสสวิตซ์ความดัน

 

3.ปริมาณการใช้น้ำมากและบ่อย

3.ปิดก๊อกน้ำให้สนิท

น้ำไหลช้า

1.ท่อด้านส่งมีการอุดตัน

1.แก้ไขซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่

 

2.น้ำทางด้านสูบมีน้อยหรือไม่มี

2.ปิดปั๊มน้ำ

สูบน้ำไม่ขึ้น แต่มีอาการดังนี้

 

 

มอเตอร์ไม่ทำงาน

1.ปลั๊กไฟหลวม

1.เสียบปลั๊กให้แน่น

 

2.สวิตซ์หลักปิดหรือฟิวส์ขาด

2.ตรวจสอบสวิตซ์และเปลี่ยนฟิวส์

 

3.ขดลวดในมอเตอร์หรือสวิตซ์ความดันเสีย

3.ซ่อมมอเตอร์หรือสวิตซ์ความดันหรือเปลี่ยนใหม่

 

4.ปลั๊กไฟหรือสายไฟขาด

4.ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนปลั๊กไฟและสายไฟ

มอเตอร์ทำงานผิดปรกติ

1.อากาศเข้าไปในท่อดูด

1.เช็ครอยต่อของท่อและซ่อม

 

2.ตัวอัดอากาศอัตโนมัติเสีย

2.เปลี่ยนตัวใหม่

 

3.น้ำที่ใช้ล่อไม่เพียงพอ

3.ปิดเครื่องแล้วเติมน้ำล่อใหม่

 

4.ท่อทางดูดตัน

4.เช็คและทำความสะอาดท่อ

 

5.ระดับน้ำในแหล่งน้ำต่ำกว่าปลายท่อดูด

5.ติดตั้งปลายท่อดูดให้ลึกลงไปในน้ำ

มอเตอร์ทำงานมีเสียงดังผิดปรกติ มี 2 กรณี

 

 

- มอเตอร์ร้อนจัด

1.ใบพัดล็อกเกิดจากสนิมหรือทราย

1.เปิดฝาหัวปั๊มและทำความสะอาดใบพัด

 

2.ลูกปืนเสีย

2.เปลี่ยนใหม่

- ความเร็วรอบของมอเตอร์ลดลง

1.ตัวเก็บประจุรั่วหรือละลาย

1.เปลี่ยนใหม่

 

2.แรงดันไฟฟ้าต่ำกว่าพิกัดใช้งาน

2.ปรึกษาการไฟฟ้าในเขตนั้นๆ