การลงทุน

การลงทุนคืออะไร

"การลงทุน" หมายถึง การนำเงินที่เก็บสะสมไปสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการออมปัจจุบัน ให้ได้รับผลตอบแทนจากการใช้จ่ายนั้นในอนาคต ซึ่งผู้ลงทุนเชื่อว่า เงินสดหรือผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่จะได้รับคืนนั้น จะสามารถชดเชยระยะเวลา อัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างคุ้มค่า หรืออาจกล่าวได้ว่า การลงทุนเป็นการออมเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น โดยที่จะต้องยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการตัดสินใจลงทุน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้และ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จากการลงทุน


ตารางเปรียบเทียบการออมและการลงทุน

การออม การลงทุน
วัตถุประสงค์  เป็นการสะสมเงินเพื่อให้พอกพูนในระยะสั้นเผื่อ ไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน  เป็นการสะสมเงินให้งอกเงยต่อเนื่องในระยะยาว
วิธีการ  เงินฝากธนาคารและบริษัทเงินทุน การซื้อ
พันธบัตร
 ลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น กองทุนรวมกอง
ทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ความเสี่ยง  ความเสี่ยงต่ำ (เนื่องจากรัฐบาลค้ำประกัน
เงินฝากทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเต็มจำนวน)
 มีความเสี่ยงมากน้อยตามประเภทและลักษณะ
ของหลักทรัพย์ที่ลงทุน ในปัจจุบันถือว่า
มีความเสี่ยงสูงกว่าการฝากเงิน
ผลตอบแทน  ดอกเบี้ย  ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือ ผลกำไรหรือ
ขาดทุนจากการลงทุน
ข้อได้เปรียบ  มีสภาพคล่องสูง  ได้รับผลตอบแทนในระยะยาวสูงกว่า
ข้อเสียเปรียบ  ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ  มีโอกาสขาดทุนจากการลงทุนได้

ความสำคัญของการลงทุน

การลงทุนถือเป็นการเพิ่มค่าของเงิน ทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลกำไรหรือผลตอบแทนจากการลงทุน ทำให้ผู้ลงทุนเองมีรายได้ในรูปของดอกเบี้ย เงินปันผล รายได้จากค่าเช่า นอกจากนี้การลงทุนยังเป็นการรักษาอำนาจซื้อของตนจากภาวะเงินเฟ้อ คือถึงแม้จะเกิดเงินเฟ้อขึ้น แต่อำนาจเงินในมือเรา ก็ยังคงอยู่ ไม่ลดลง เนื่องจากเราได้นำต้นไปลงทุนจนเกิดผลงอกเงยเกิน ภาระเงินมาแล้ว สร้างความมั่งคั่งได้รวดเร็วขึ้น ช่วยสนับสนุนให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงิน ได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ เงินลงทุนยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย เพราะเงินทุกคนลงทุนนั้นจะหมุนเวียนไปยังผู้ขาดแคลนเงินทุน เพื่อพัฒนาหรือขยายธุรกิจทั้ง เช่น การสร้างโรงงาน การซื้อเครื่องจักร การจ้างแรงงาน การซื้อวัตถุดิบ การขยายการผลิต รวมทั้งการลงทุน ในโครงการ ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการผลิตและการลงทุนเหล่านี้ จะก่อทำให้เกิดการจ้างแรงงาน และส่งผลต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจภาคส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ภาครัฐยัง สามรถนำเงินลงทุนของผู้ลงทุนไปใช้หมุนเวียนในการพัฒนาประเทศได้ การลงทุนจึงเป็นตัวสะท้อนความมั่งคั่งของประเทศที่สำคัญ

ลงทุนอย่างไรจึงจะเหมาะสม

การกำหนดจำนวนเงินลงทุนที่เหมาะสม เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการลงทุน ต้องลงทุนให้เป็นต้องมีการเผื่อเงินเหลือใช้ไว้ด้วย การนำเงินออมหรือเงินสำหรับการใช้จ่ายมาลงทุนมากเกินไปนั้น อาจจะทำให้เราประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง ทำให้เงินเราขาดมือใช้จ่ายไม่สะดวกต้องไปกู้ยืมเงินคนอื่นมาใช้ก่อน
แต่การจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนที่น้อยเกินไป อาจทำให้เสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนตามที่ควรจะได้รับ ซึ่งการจัดสรรเงินสำหรับการลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมจะทำให้การลงทุนของเรา เป็นไปอย่างสมดุล

ดังนั้นในการจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนที่เหมาะสม เราควรใช้เงินลงทุนที่เป็นเงินส่วนที่เกินจากเงินออมและเงินสำรอง โดยควรให้มีเงินออมหรือเงินสำรอง เผื่อฉุกเฉินที่เหลือจากเป้าหมายในการออมเงินและเพียงพอสำหรับการใช้จ่าย ประมาณ 3 - 6 เดือน เราจึงจะนำเงินที่เหลือจากการออมนี้ไปใช้ลงทุนได้ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงที่เราอาจจะสูญเสียเงินลงทุนไป การนำเงินออมหรือเงินสำรองมาลงทุน จึงอาจจะทำให้เราประสบปัญหาได้ หากเราไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน แต่หากเรามีการลงทุนโดยกันเงินออมเอาไว้บ้างแล้ว หากเราขาดทุนจากการลงทุนเราก็ยังไม่ล้มทั้งหมด ยังมีเงินเหลือในการตั้งหลักต่อไป

ประเภทของนักลงทุน

บทความนี้จะขอแบ่งประเภทของนักลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ ซึ่งสามรถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.นักลงทุนประเภทรอรับผล (Passive Investor)
เป็นบุคคลที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือยอมรับความเสี่ยงได้ไม่มากนัก จึงมักจะลงทุนผ่านการจัดการลงทุนโดยมืออาชีพ เช่น การลงทุนในกองทุนรวม

2.นักลงทุนประเภทมุ่งหวังผล (Active Investor)
บุคคลประเภทนี่เห็นว่ามีโอกาสในการลงทุนเสมอ จึงชอบความเสี่ยง และมักจัดการลงทุนด้วยตนเอง เช่นการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหุ้น

 

การลงทุนมีหลากหลายวิธี ทั้งฝากธนาคารกินดอกเบี้ย การซื้อพันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน เป็นการลงทุนมีความเสี่ยงน้อย ได้ผลตอบแทนที่ต่ำ การทำประกันชีวิต ลงทุนในสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ ที่ดิน อาคาร การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เพชรนิลจินดา เครื่องประดับ การประกอบธุรกิจก็ถือเป็นการลงทุนเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ การซื้อหุ้นกู้ หุ้นสามัญ หรือหุ้นของกองทุนรวมต่างๆ ตัวอย่างการลงทุนบางวิธี

 

คำเตือนสำหรับการลงทุน

ผู้ที่จะลงทุนทั้งหลาย โปรดจำไว้ว่าการลงทุนทุกอย่างยอมมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ความเสี่ยงที่ว่านี้ก็คือเสี่ยงที่จะไม่ได้ผลกำไร เสี่ยงที่จะต้อง
สูญเสียเงินลงทุนหรือไปจนถึงขั้นขาดทุนเลยดีเดียว ยังการลงทุนให้ผลตอบแทนมากเท่าไร ความเสี่ยงก็ยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งความเสี่ยงบางอย่าง ก็เป็นเรื่องที่เราคาดไม่ถึง ดังนั้นก่อนการลงทุนทุกครั้ง ผู้ลงทุนควรศึกษาหาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนของตนเอง ให้ถ่องแท้เสียก่อน ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องของลักษณะสัญญามาตรฐาน ผลตอบแทน รวมถึงความเสี่ยง อย่าเพิ่งกระโดดเข้าไปลงทุนโดยที่ยังไม่รู้หรือ เชื่อตามคนอื่น แต่จงลงทุนด้วยความเข้าใจ และเตรียมใจกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ศึกษาพิจารณาให้เหมาะสมว่าการลงทุนใดที่เราสามารถ รับความเสี่ยงได้ แล้วจึงเลือกลงทุนเท่าที่จะรับ ความเสี่ยงนั้นได้ และหมั่นตรวจสอบติดตามสถานะการลงทุนของตนเองอยู่เสมอ