การลงทุนในกองทุนรวม

กองทุนรวม คือ เครื่องมือในการลงทุน (investment vehicle) สำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ประสงค์จะนำเงินมาลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน แต่ติดขัดด้วยอุปสรรคหลายประการ ที่ทำให้การลงทุนด้วยตนเอง ไม่สามารถได้ผลลัพธ์ ตามเป้าหมายที่ต้องการ เช่น มีทุนทรัพย์จำนวนจำกัด ไม่สามารถกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเภทได้มากพอ เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน หรือ ไม่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในการลงทุน หรือ ไม่มีเวลาจะศึกษา ค้นหา และติดตามข้อมูล เพื่อใช้ในการตัดสินใจการลงทุน

กองทุนรวม จึงเป็นเครื่องมือในการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบ โดยมีจุดมุ่งหมาย ให้การลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีสุด ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้

ประเภทกองทุนรวม

ด้วยกองทุนรวมเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือในการลงทุนของผู้ลงทุน ดังนั้น จึงต้องมีความหลากหลายเพื่อให้มีความเหมาะสมกับแต่ละลักษณะของผู้ลงทุน โดยทั่วไปกองทุนรวมสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

แบ่งตามประเภทของการขายคืนหน่วยลงทุน

  1. กองทุนปิด (Closed-End fund) กองทุนรวมที่มีหน่วยลงทุนคงที่ ไม่เพิ่มขึ้นและไม่ลดลง และเปิดให้มีการจองซื้อเพียงครั้งเดียวเมื่อจัดตั้งโครงการ มีกำหนดอายุโครงการแน่นอน และบริษัทจัดการไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดอายุโครงการ ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่สามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อน ครบกำหนดอายุโครงการได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว อายุโครงการของกองทุนรวมในประเทศไทย จะมีกำหนด 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี และเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการอาจนำหน่วยลงทุนของกองทุนปิดไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรอง(ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) หรือจัดให้มี ตัวแทนจัดการซื้อขาย (Market maker)
  2. กองทุนเปิด (Open-End fund) กองทุนรวมที่สามารถเพิ่มหรือลดหน่วยลงทุนได้ ไม่มีกำหนดอายุโครงการ และบริษัทจัดการรับซื้อคืนหน่วย ลงทุนตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกสองสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกไตรมาส หรือทุกหกเดือน กองทุนเปิดจึงเป็นที่นิยม มากกว่ากองทุนปิด เพราะมีสภาพคล่องมากกว่า
ตารางเปรียบเทียบกองทุนปิดและกองทุนเปิด
กองทุนปิด กองทุนเปิด
1. จำนวนหน่วยลงทุน กำหนดแน่นอน ไม่เพิ่ม ไม่ลด สามารถเพิ่มหรือลดลงได้
2. อายุโครงการ มีกำหนดแน่นอน ไม่มีกำหนด (evergreen)
3. การซื้อหน่วยลงทุน เปิดให้จองซื้อครั้งเดียวเมื่อเริ่มโครงการ หากประสงค์ซื้อเพิ่มในภายหลัง ต้องเข้าซื้อในตลาดรอง (กรณีบริษัทจัดการนำหน่วยลงทุนเข้าจดทะเบียนซื้อขาย) หรือแสดงความจำนงกับตัวแทนขาย (market maker) ที่บริษัทจัดการแต่งตั้ง สามารถซื้อเพิ่มจำนวนหน่วยกับบริษัทจัดการโดยตรง หรือติดต่อผ่านตัวแทนสนับสนุนการขาย ที่บริษัทจัดการแต่งตั้ง ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เช่น ธนาคาร หรือบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำหน้าที่ส่งคำสั่งซื้อมายังบริษัทจัดการ
4. การขายคืนหน่วยลงทุน บริษัทจัดการไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนจนกว่าจะครบอายุโครงการ หากผู้ลงทุนมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ต้องขายหน่วยลงทุนที่ถือไว้ ในตลาดรองในราคาตลาดให้แก่ผู้ประสงค์ซื้อ บริษัทจัดการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ ในหนังสือชี้ชวน (รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน) ในราคาเท่ากับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หักด้วยค่าธรรมเนียม(ถ้ามี)
5. การจดทะเบียนซื้อขาย นิยมจดทะเบียนซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดรอง เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่นิยมจดทะเบียนซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดรอง เพราะสามารถซื้อขายผ่านตัวแทนสนับสนุนการขายได้อยู่แล้ว

แบ่งตามนโยบายการลงทุน 10 แบบมาตรฐานของสำนักงาน ก.ล.ต.

  1. กองทุนรวมตราสารแห่งทุน (Equity fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารทุน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม บริษัทจัดการต้องรายงานค่าเฉลี่ยการถือครองตราสารทุนให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบทุกรอบระยะเวลาสามเดือน หกเดือน เก้าเดือน และสิบสองเดือนของรอบบัญชีกองทุน หากค่าเฉลี่ยการถือครองตราสารทุนไม่ถึงร้อยละ 65 ในรอบระยะเวลาใด ให้บริษัทจัดการแสดงเหตุผลโดยชัดเจน เพื่อที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะได้นำไปเปิดเผยให้แก่ผู้ลงทุนและผู้ที่สนใจลงทุนทราบต่อไป โดยทั่วไปแล้ว กองทุนรวมตราสารแห่งทุน มีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวม ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารประเภทอื่น จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูง และควรลงทุนเพื่อหวังผลที่ดีกว่าในระยะยาว
  2. กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ (General fixed income fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้เฉพาะเงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดหรือให้ความเห็นชอบให้กองทุนประเภทดังกล่าวลงทุนได้ ห้ามมิให้กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ลงทุนหรือ มีไว้ซึ่งตราสารทุนหรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (หุ้นกู้แปลงสภาพ) ยกเว้นแต่สำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาอนุญาต เมื่อมีผู้ให้คำรับรองที่น่าเชื่อถือได้ว่าจะเป็นผู้รับ ซื้อตราสารทุนหลังการแปลงสภาพนั้นออกไปจากกองทุนโดยทั่วไปแล้ว กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ มีความเสี่ยงน้อยกว่ากองทุนรวมที่มีนโยบาย ลงทุนในตราสารทุน จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อยกว่า
  3. กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะยาว (Long-term fixed income fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้เฉพาะเงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต .กำหนดหรือให้ความเห็นชอบให้กองทุนประเภทดังกล่าวลงทุนได้ โดยกองทุนมีวัตถุประสงค์ที่จะดำรง พอร์ตโฟริโอ ดูเรชัน (portfolio duration) ในขณะใดขณะหนึ่งของกองทุนรวมนั้นมากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป พอร์ตโฟริโอ ดูเรชัน (portfolio duration) หมายถึง อายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของกระแสเงินที่ได้รับจากทรัพย์สินของกองทุนรวม พอร์ตโฟริโอ ดูเรชัน มากกว่าหนึ่งปี มีความหมายโดยทั่วไปว่า ทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนและมีไว้ มีอายุเฉลี่ยมากกว่าหนึ่งปี เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงต่ำ และสามารถลงทุนระยะยาวได้
  4. กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น (Short-term fixed income fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้เฉพาะเงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดหรือให้ความเห็นชอบให้กองทุนประเภทดังกล่าวลงทุนได้ โดยกองทุนมีวัตถุประสงค์ที่จะดำรง พอร์ตโฟริโอ ดูเรชัน (portfolio duration) ในขณะใดขณะหนึ่งของกองทุนรวมนั้นไม่เกินหนึ่งปี พอร์ตโฟริโอ ดูเรชัน ต่ำกว่าหนึ่งปี มีความหมายโดยทั่วไปว่า ทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนและมีไว้ มีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าหนึ่งปี เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะสั้น และต้องการความเสี่ยงต่ำ
  5. กองทุนรวมผสม (Balanced fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนด หรือให้ความเห็นชอบให้กองทุนประเภทดังกล่าวลงทุนได้ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะดำรงอัตราส่วนการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารทุนในขณะ ใดขณะหนึ่งไม่เกินร้อยละ 65 และไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม กองทุนผสม ลงทุนในตราสารได้ทุกประเภท ผู้จัดการกองทุนสามารถแสวงหาโอกาสลงทุนที่ดีกว่าได้ทั้งในตลาดตราสารทุนและ ตลาดตราสารหนี้ แต่เป็นการจัดสรรเงินลงทุนประเภทสมดุล เพราะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับ ceiling และ floor ในการลงทุนในตราสารทุน กองทุนผสม เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง
  6. กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible portfolio fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนด หรือให้ความเห็นชอบให้กองทุนประเภทดังกล่าวลงทุนได้ ทั้งนี้ การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นดังกล่าว ขึ้นกับการตัดสินใจลงทุนของผู้จัดการกองทุนรวม ตามความเหมาะสมและสภาวการณ์ในแต่ละขณะ กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น สามารถลงทุนในตราสารทุกประเภทเช่นเดียวกับกับกองทุนรวมผสม แต่ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับ ceiling และ floor ในการลงทุนในตราสารทุนแต่อย่างใด การจัดสรรเงินลงทุนของกองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่นระหว่างตลาดตราสารทุนและตลาด ตราสารหนี้ จึงอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง
  7. กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of funds) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม เนื่องจากกองทุนรวมมีข้อดีหลายประการ ที่สำคัญคือ มีการกระจายการลงทุน ความเสี่ยงจึงลดลง ทั้งยังมีต้นทุนเฉลี่ยต่ำ กองทุนรวมหน่วยลงทุนจึงรับเอาข้อได้เปรียบดังกล่าวมา นอกจากนั้นแล้ว กองทุนรวมหน่วยลงทุนยังกระจายการลงทุนไปในหลาย กองทุนรวมภายใต้การจัดการของหลายผู้จัดการกองทุนและหลายบริษัทจัดการ จึงเป็นการกระจายความเสี่ยงที่กว้างขวางกว่า ข้อเสียของกองทุนรวมหน่วยลงทุน อยู่ที่มีค่าธรรมเนียมในการจัดการและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซ้ำซ้อน
  8. กองทุนรวมใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม การลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น มีความเสี่ยงสูง กองทุนประเภทนี้จึงมีความเสี่ยงสูงมาก
  9. กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ (Sector fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารทุนของบริษัทที่มีธุรกิจ หลักประเภทเดียวกันตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ มีการลงทุนกระจุกตัว จึงมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมตราสารแห่งทุนโดยทั่วไป
  10. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและมี กำหนดชำระเงินต้นเมื่อทวงถามหรือมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี กองทุนรวมตลาดเงิน มีนโยบายการลงทุนที่คล้ายคลึงกับ กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น มีความเสี่ยงต่ำสุด เหมาะสำหรับการลงทุน ระยะสั้นของผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง

ทำไมจึงควรลงทุนกับกองทุนรวม

1. การลงทุนในกองทุนรวมเหมาะกับผู้ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน หรือบุคคลที่ไม่มีเวลาติดตามข่าวสารทางการเงินอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องแต่
อยากลงทุนแต่ก็ยังเกรงว่าอาจผิดพลาดหรือขาดทุนจากการลงทุนได้ เพราะกองทุนรวมเป็นการระดมเงินลงทุนโดยจะมีบริษัทจัดการกองทุน มีผู้ที่มีความรู้
ความชำนาญในการลงทุน ทำหน้าที่ติดตามข่าวสาร และตัดสินใจลงทุนให้คุณ ในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ เช่น หุ้น พันธบัตร ตั๋วเงิน
อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ตามนโยบายการลงทุนที่คุณได้เลือกลงทุนในตอนแรก หรือตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนของกองทุนประเภทต่างๆ
2. การลงทุนในกองทุนรวมเหมาะกับผู้มีเงินจำนวนจำกัด ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินต่างๆ ให้มีความหลากหลายประเภท
เพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนกระจุกตัวในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง
3. การลงทุนในกองทุนช่วยลดต้นทุนค่าใช่จ่ายให้น้อยลงเมื่อเทียบกับการลงทุนด้วยตนเอง เนื่องจากการลงทุนในกองทุนรวมเป็นการระดมทุนจาก
ผู้ลงทุนรายย่อยหลายๆราย ทำให้เงินที่แต่ละคนนำมารวมกันมีจำนวนมากพอ
4. การลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้นมีความโปร่งใสและเชื่อถือได้ เนื่องจากกองทุนรวมนั้นจะมีผู้ดูแลผลประโยชน์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคุณ ที่เป็น
ผู้ถือหน่วยลงทุนในการรักษาผลประโยชน์ต่างๆ เช่น การดูแลตรวจสอบการบริหารจัดการกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุน
ที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน หรือการสอบทานความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม ฯลฯ และยังมีการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน
ให้แก่คุณ นอกจากนี้ยังมีสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้กำกับดูแลและกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับธุรกิจจัดการลงทุนอีกด้วย
5. การลงทุนโดยกองทุนรวมยังทำให้คุณได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่คุณจะได้รับนั้นก็คือการยกเว้นภาษี หรือ
การลดหย่อยภาษีแล้วแต่กรณี
จากผลดีของการลงทุนในกองทุนรวมอาจทำให้ใครหลายๆคนเริ่มสนใจที่จะลงทุนกันลบ้างแล้ว เพราะการลงทุนวิธีนี้ไม่ยากเกินไป
ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านการลงทุนมากก็สามรถลงทุนได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องศึกษาให้ดีก่อนการลงทุนเสมอ

ซื้อขายกองทุนรวมได้ที่ไหน

ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายกองทุนรวมได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือตัวแทนขายที่บลจ. แต่งตั้ง โดยต้องเป็นผู้ที่ได้รับ
ใบอนุญาตนายหน้าค้า จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือใบอนุญาตนายหน้าค้าจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน (Limited Brokerage/Dealing/Underwriting
หรือ LBDU) ส่วนใหญ่มักเป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทประกันชีวิตที่เป็นบริษัทในเครือหรือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของบลจ. และมี
พนักงานหรือ ผู้ติดต่อผู้ลงทุนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน ก.ล.ต. และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ ก.ล.ต. กำหนดด้วย

ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวม

กองทุนรวมไม่รับประกันผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ (ยกเว้นกองทุนรวมมีประกัน) ผู้ลงทุนอาจได้รับผลตอบแทน หรือไม่ก็ได้ หรืออาจขาดทุนจาก
การขายหน่วยลงทุนก็ได้ เมื่อลงทุนในกองทุนรวม ผลตอบแทนที่จะได้รับ เช่น
1. เงินปันผล ในกรณีที่กองทุนนั้นมีนโยบายการจ่ายเงินปันผล
2. กำไรส่วนเกินมูลค่าหน่วยลงทุน, เมื่อผู้ลงทุนขายคืนหน่วยลงทุนขณะที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน ่วย เพิ่มขึ้นกว่าตอนที่ซื้อ
3. เงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ ในกรณีที่กองทุนได้กำหนดไว้ในโครงการว่าจะจัดสรรเงินคืนให้ผู้ถือหน่วยโดยอัตโนมัติ
4. สิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น การนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษี ได้รับประกันพ่วงเมื่อซื้อหน่วยลงทุน

ความเสี่ยงของการลงทุนผ่านกองทุนรวม

การลงทุนทุกชนิดอาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุน นักลงทุนจึงควรศึกษาถึงปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้แก่

  1. ผลตอบแทนไม่ได้รับประกันแน่นอน

    นักลงทุนควรคำนึงว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้น ไม่ได้รับการประกันในส่วนของรายได้ ผลตอบแทน และการเพิ่มขึ้นของเงินต้น

  2. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาดทั่วไป

    ผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะ ตลาดที่อาจเกิดขึ้น การลงทุนผ่านกองทุนรวมก็มีแนวโน้มที่จะพบกับความเปลี่ยนแปลงสภาวะของตลาดอัน เกิดจาก

    • การเปลี่ยนแปลงทางระบบเศรษฐกิจและระบบทางการเงินของแต่ละประเทศ ภูมิภาค โลก
    • การเปลี่ยนทางนโยบายของรัฐบาล และการเมืองของประเทศโดยจะส่งผลถึงความมั่นใจในการลงทุน
    • การเปลี่ยนแปลงของร่างข้อบังคับ และกฎหมาย
    • การเปลี่ยนแปลงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาด
    • การเปลี่ยนแปลงสภาพอารมณ์ของนักลงทุนในตลาดต่างประเทศ
    • กรเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบอย่างแรงจากปัจจัยภายนอก เช่น ความหายนะทางธรรมชาติ หรือเกิดสงคราม

    ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ นักลงทุนควรคำนึงถึงก่อนการลงทุน

  3. ความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์/ตราสารหนี้

    ผู้ลงทุนอาจจะพบความเสี่ยงต่างๆในการถือครองหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ ซึ่งรวมถึงความไม่สามารถในการชำระหนี้คืนทั้งในส่วนของผลตอบแทนใน รูปดอกเบี้ยตามงวดเวลาที่ตกลง และเงินต้นที่จะต้องชำระคืนเมื่อครบกำหนดเวลาในการลงทุนในตราสารหนี้ นอกเหนือจากนั้นยังอาจมีความเสี่ยงจากการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของ บริษัทซึ่งอาจถูกปรับลดความน่าเชื่อถือในกรณีที่บริษัทไม่สามารถชำระหนี้ได้ ตามกำหนด

  4. ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องในการซื้อขาย

    ความเสี่ยงประเภทนี้เป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนผู้ถือหลักทรัพย์ไม่ สามารถแปรสภาพหลักทรัพย์ที่ถือครองอยู่ให้เป็นเงินสดได้ในเวลาที่ต้องการ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปริมาณซื้อขายในตลาด

  5. ความเสี่ยงจากการเกิดเงินเฟ้อ

    ความเสี่ยงประเภทนี้เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการสูญเสียอำนาจการซื้อ/ลงทุน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาด

  6. ความเสี่ยงจากเงินกู้เพื่อการลงทุน

    ถ้านักลงทุนกู้ยืมเงินมาเพื่อซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม นักลงทุนควรต้องทำความเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้

    • การกู้ยืมเงินมาเพื่อการลงทุนนี้อาจเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างผลกำไร และในทางตรงข้ามก็อาจก่อให้เกิดการเพิ่มการขาดทุนได้เช่นกัน
    • เมื่อมูลค่าการลงทุนต่ำกว่าระดับที่กำหนด นักลงทุนจะต้องถูกร้องขอจากสถาบันการเงินให้นำหลักทรัพย์มาวางค้ำประกัน เพิ่มขึ้น หรืออาจถูกปรับลดยอดเงินกู้ลง
    • ต้นทุนในการกู้ยืมเงินมาเพื่อการลงทุนอาจเปลี่ยนแปลงไปตามความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาด
    • นักลงทุนต้องศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบในเรื่องของความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมทางการเงิน
  7. ความเสี่ยงจากการไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ

    เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากผู้จัดการกองทุนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กติกา กฎข้อบังคับ นโยบายและขั้นตอนปฏิบัติงาน

  8. ความเสี่ยงจากตัวผู้จัดการกองทุน

    ผลการดำเนินงานของกองทุนที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และ

    เทคนิคการบริหารการลงทุนของผู้จัดการกองทุน ในทางตรงข้าม ถ้าผู้จัดการกองทุนขาดทักษะเหล่านี้ก็จะเกิดผลเสียต่อการดำเนินงานชองกองทุน