หินก่อสร้าง

หินก่อสร้าง คือ หินชนิดต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน อาคาร ถนน สะพาน โดยอาจจะนำหินก้อนใหญ่ ๆ มาเรียงสร้าง หรือหินขนาดเล็ก ที่บดย่อย นำมาใช้ผสมปูนซีเมนต์ทำ คอนกรีต คุณสมบัติของหินก่อสร้าง ที่สำคัญคือ ความคงทนต่อ การขัดสี ความแกร่งสูง ทนแรงกดอัดได้มาก ทนสารเคมีสูง ปริมาณคละภายหลังการย่อยบดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ความซึมน้ำต่ำ ไม่ทำปฏิริยากับสารเคมีง่าย ผิวมีการจับเกาะกับซีเมนต์และแอสฟัลต์ดี ปริมาณอินทรีย์สารในเนื้อหินต่ำ เป็นต้น

นอกจากมาตรฐานทางคุณสมบัติที่กำหนดแล้ว บางครั้งระยะทางที่ใช้ในการขนส่งยังเป็นตัวกำหนด ทำให้บางครั้งมีความจำเป็น ที่ต้องนำ หินสร้างที่มีมาตรฐานต่ำกว่าเกณฑ์มาใช้ หินที่นำมาใช้ในการก่อสร้างประกอบด้วยหินปูนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากผลิตง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำ โดยแหล่ง หินก่อสร้าง ในประเทศไทยกระจายตัวอยู่แทบทุกจังหวัด ยกเว้น จังหวัดในภาคอีสาน และที่ราบลุ่มภาคกลาง

แหล่งหินเพื่อการก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่

แหล่งหินปูน ในเขต อำเภอหน้าพระลาน พระพุทธบาท เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เป็นแหล่งหินปูนขนาดใหญ่ ใช้เพื่อ การก่อสร้าง ในกรุงเทพ; อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่ออำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี; แหล่งหินปูนปางอโศก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา; ภูผาม่าน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น; เขาน้อย อำเภอวังสะพุง อำเภอถ้ำเอราวัณ จังหวัดเลย; อำเภอตาคลี อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์; อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร; บ้านมุง อำเภอเนินมะปรางค์ จังหวัดพิษณุโลก; เขาถ้ำระฆัง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย; แม่ทะ จังหวัดลำปาง; อำเภอตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี; เขาถ้ำ ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา และแหล่งหินปูนบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

- แหล่งหินแกรนิต ควอตไซต์ เขาเชิงเทียน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
- แหล่งหินบะซอลต์ เขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์; เขาพนมสวาย อำเภอเมือง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์; อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

หินประดับ (dimension stone) คือหินทุกชนิดที่มนุษย์นำมาดัดแปลงขนาด หรือ รูปร่าง เพื่อนำมา ประดับรวมทั้ง การก่อสร้าง เพื่อความสวยงาม โดยทั่วไปจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้: ต้องเป็นมวลใหญ่มีเนื้อแน่น (massive) โดยปราศจากการเกิดเป็นชั้นบางๆ และมีขนาดพอที่จะสกัดและตัดเป็นก้อนขนาด 1 ลูกบาศก์เมตรหรือใหญ่กว่าได้; มีความแข็งคงที่ และมีเนื้อเดียวกัน สีเดียวกัน ตลอดมวลของหินทั้งหมด; ถ้ามีลายเนื้อ (pattern) ต่างๆ จะต้องมีการเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ และ เนื้อหินจะต้องมีความสด ปราศจากริ้วรอยของ ความผุ

หินที่นิยมนำมาทำเป็นหินประดับต่างๆ ได้แก่ หินอ่อน หินแกรนิต (ดังได้กล่าวถึงข้างต้น) หินทราย หินกาบ และหินประดับสวน

หินอ่อน

หินอ่อน (marble) (รูปที่ 12.29) เป็นหินปูนที่ถูกแปรสภาพโดยกระบวนการทางธรณีวิทยา จนทำให้ผลึกแร่แคลไซต์ในเนื้อหินตกผลึกใหม่ ประสานเป็นเนื้อเดียวกัน เปลี่ยนเนื้อให้มีเม็ดแร่หยาบขึ้น เนื้อแน่นและเนียนขึ้น หรือมีลวดลาย และถูกนำมาตัดเป็นแผ่นเพื่อปูพื้น ผนัง หรือนำมาแกะสลักหลากหลายชนิด ราคาจะขึ้นอยู่กับเนื้อหิน ลวดลาย ของหินและความนิยมของตลาด บางครั้งหินปูนที่มีลวดลายสวย ก็สามารถนำมาตัดและขัด จำหน่ายเป็นหินอ่อนได้ เช่น หินปูนที่มี ซากดึกดำบรรพ์ หรือหินปูนที่มีสีแดงเข้ม หรือดำสนิทก็เป็นหินปูนที่มีราคาสูง แหล่งที่สามารถผลิตได้ต้องมีรอยแตกน้อย สามารถตัด เป็น ก้อนขนาด 1 ลูกบาศก์เมตรหรือใหญ่กว่าได้

แหล่งในประเทศ

แหล่งที่พบและมีการผลิตได้แก่ จังหวัดสระบุรี กำแพงเพชร สุโขทัย ลำปาง นครราชสีมา และประจวบคีรีขันธ์

ผลผลิต

ในปี พ.ศ.2539 ผลิตได้ 145,166 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเงิน 271.0 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2540 ผลิตได้ 50,589 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเงิน 177.1 ล้านบาท และปี พ.ศ.2541 ผลิตได้ 44,196 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเงิน 154.7 ล้านบาท

หินแกรนิต

หินแกรนิต (granite) (รูปที่ 12.30) เป็นหินอัคนีชนิดหนึ่ง รวมถึงหินแปรชนิดหินไนส์ด้วย ซึ่งมีความแข็งและเหนียวกว่าหินอ่อนมาก ราคาจะขึ้นอยู่กับสี ลวดลาย และเนื้อหิน ซึ่งจะต้องมีรอยแตกน้อย สามารถตัดเป็นก้อนขนาด 1 ลูกบาศก์เมตรหรือใหญ่กว่าได้ ในปัจจุบันได้มีการนำไปใช้เป็นวัสดุหินมวลรวม (aggregate) ในการก่อสร้าง

แหล่งในประเทศ

แหล่งที่พบและมีการผลิต ได้แก่ จังหวัดตาก ลำปาง นครสวรรค์ อุทัยธานี เลยและเพชรบูรณ์

ผลผลิต

ในปี พ.ศ. 2539 – 2541: ผลิตได้ 49,259; 24,017 และ 17,421 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเงิน 169.3 108.1; และ 78.4 ล้านบาท ตามลำดับ

หินเพอร์ไลต์

เพอร์ไลต์ (perlite) (รูปที่ 12.31) เป็นหินภูเขาไฟเนื้อแก้ว ที่มีปริมาณซิลิกาสูงปนอยู่กับน้ำจำนวนหนึ่ง มีคุณสมบัติเมื่อนำมาเผาคือเนื้อหินจะฟู คล้ายข้าวโพดคั่ว น้ำหนักเบา ทนไฟ ทนความร้อน ในธรรมชาติพบเกิดเป็นเม็ดๆ คล้ายแก้วมีทั้งสีขาวและสีดำ

การกำเนิด

โดยทั่วไปหินเพอร์ไลต์มักเกิดร่วมกับหินภูเขาไฟ โดยอาจเกิดจากการไหลของลาวาที่เกิดร่วมกับเถ้าหินภูเขาไฟ (pyroclastic debris) และหินลาวาชนิดอื่น หรือเกิดแบบพนัง (dike) พนังแทรกชั้น (sill) และโดม (dome) แทรกอยู่ในหินภูเขาไฟชนิดอื่นๆ นอกจากนั้นในบางบริเวณยังพบเป็นส่วนหนึ่งของหินทัฟฟ์หลอม (welded tuff)

แหล่งในประเทศ

หินเพอร์ไลต์ในประเทศพบในเขตจังหวัดลพบุรี ที่อำเภอชัยบาดาล และอำเภอสระโบสถ์

ประโยชน์

โดยทั่วไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้างน้ำหนักเบา (light weight aggregate) ซึ่งมีคุณสมบัติทนไฟ ทนความร้อนได้ดี ใช้ทำฉนวน ใช้เป็นเครื่องกรองทำความสะอาด

ผลผลิต

ในปี พ.ศ. 2539 ผลิตได้ 1,200 ตัน คิดเป็นเงิน 0.8 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2540 ผลิตได้ 700 ตัน คิดเป็นเงิน 0.5 ล้านบาท สำหรับปี พ.ศ. 2541 ยังไม่มีข้อมูลการผลิต

หินกาบ

หินกาบ หรือหินชนวน (slate) (รูปที่ 12.32) เป็นหินที่แปรมาจากหินดินดานเนื่องจากถูกความกดดันและความร้อน ดังนั้นเนื้อจึงแกร่ง เหนียว แตกเป็นแผ่นได้ง่าย สีเทา เทาดำ หรือมีลายสีเหลือง เหลืองแดงสลับ นำไปใช้เป็นหินปูพื้นหรือผนัง

แหล่งในประเทศ

พบและผลิตที่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

หินประดับสวน

หินประดับสวนเป็นหินอะไรก็ได้ที่มีรูปทรงหรือขนาดเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนใหญ่จะเป็นหินปูน ที่ถูกกัดกร่อนตามธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งอาจนำมากัดกร่อนด้วยน้ำกรด และตกแต่งให้มีรูปร่างหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามต้องการ

แหล่งในประเทศ

หินกลุ่มนี้พบทั่วไป แต่ที่นิยมเสาะหากันจะเป็นแหล่งที่พบตามพื้นที่ราบที่มี หินปูนโผล่

หินทราย

หินทราย (sandstone) สามารถนำมาตัดเป็นแผ่นได้เช่นเดียวกับหินอ่อนและหินแกรนิต ส่วนใหญ่มีสีแดง น้ำตาลแดง น้ำตาลเหลือง เทาเขียว ปัจจุบันเป็นที่นิยมนำไปใช้ในการจัดและประดับสวน ปูพื้นทางเดินเท้า หรือแม้กระทั่งปูผนัง ใช้ในการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีการนำไปแกะสลักเป็นรูปทรงต่างๆ อีกด้วย

แหล่งในประเทศ

อำเภอปากช่อง และ สีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา