พัฒนาการของมนุษย์วัยทารกและวัยเด็ก

วัยทารก วัยเด็ก

พัฒนาการด้านต่างๆ ในแต่ละช่วงวัยของมนุษย์นั้นโดยทั่วไปมี 5 ช่วงคือ วัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยชรา

วัยทารก วัยเด็ก

วัยทารก (Infancy)

วัยทารกเริ่มตั้งแต่เกิด - 2 ปี เด็กวัยนี้จะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วทางด้านร่างกาย ในปีแรกพัฒนาการทางร่างกายจะเพิ่มเป็นสองเท่าจากเมื่อแรกเกิด และในปีที่ 2 จะเพิ่มเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ในระยะนี้เด็กทุกคนจะเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ และตามแบบแผนของการพัฒนา จะแตกต่างกันก็เฉพาะอัตราความเร็วเท่านั้น

ทารกที่เกิดมาได้ 1 เดือน เราเรียกทารกระยะนี้ว่า นีโอเนท (Neonate) ในระยะนี้ทารกจะพยายามปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ของตนก่อน พฤติกรรมโดยทั่ว ๆ ไปจะมีดังนี้ - เมื่อจับนอนคว่ำ จะกระดิกแขนและขาได้

-เมื่อจับนอนหงาย จะผงกศรีษะได้เล็กน้อย แต่นาน ๆ ครั้ง

-รู้จักฟังเสียง และมีปฏิกิริยากับเสียงรอบ ๆ ตัว

-สามารถมองตามแสงทีผ่านหน้าไป

-เมื่อเอาของใส่มือสามารถกำไว้ได้

-รู้จักทำเสียงร้องเมื่อหิว รู้สึกเจ็บ ฯลฯ ต่าง ๆ กัน

เด็กในวัยทารกนี้จะพัฒนาร่างกายให้มีความสามารถเบื้องต้นในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ รู้จักสำรวจ ทำความเข้าใจ และปรับปรุงตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม อวัยวะสัมผัสต่าง ๆ จะเริ่มใช้การได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

ความเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ กระดูก ระบบประสาท จะช่วยให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวใช้ร่างกายได้ดีขึ้น วัยนี้เป็นวัยที่เริ่มมีการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม เป็นวัยที่ต้องอาศัยความดูแลจาก พ่อ แม่ คนเลี้ยง มากที่สุด

นักจิตวิยากลุ่มจิตวิเคราะห์ยืนยันว่า ช่วงอายุระหว่างแรกเกิดถึง 2½ ปี เป็นระยะวิกฤติของมนุษย์ ถ้าทารกไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีแล้ว จะเป็นผลร้ายต่อการพัฒนาทางกายและทางใจของเด็กอย่างแก้ไขได้ยาก

การเจริญเติบโตของเด็กในวัยทารกนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็วเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูว่าถูกต้องและเหมาะสมแค่ไหล นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเด็กอีกด้วย

ขั้นตอนของการพัฒนาของทารก ตั้งแต่เดือนที่ 1 –15 มีขั้นพัฒนาการดังนี้ไว้ดังนี้

ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวเฉลี่ย 3000 ถึง 3300 กรัม ตัวยาวประมาณ 50 ถึง 52 ซ.ม. เอาแต่กินและนอน สายตายังใช้ไม่ได้ แต่แยกแสงสลัวกับแสงจ้าได้ รู้จักฟังเสียง โดยมีพฤติกรรมดังนี้คือ ตารางแสดงพัฒนาการของทารกจนถึง 6 ปี

1 เดือนเมื่อนอนคว่ำยกศีรษะได้ชั่วขณะและจ้องหน้า ชันคางได้ การเคลื่อนไหวเป็น จำเสียงแม่ได้ ชัดคอได้เมื่อนอนคว่ำ ยิ้มเป็น Reflex ทั้งหมด เช่น การดูด การหันหน้าไปทางด้านที่ริมฝีปากถูกเขี่ย การกำมือ การกระพริบตา ปฏิกิริยาการรับแสงของม่านตา

2 เดือนยกอกขึ้นได้ เมื่อนอนคว่ำยกศีรษะได้ 45 องศา มองตาม ยิ้มและสนใจเสียงคนพูด ทำเสียงอ้อแอ้ในลำคอ ในเดือนนี้เด็กรู้จักมองหน้าผู้ที่อุ้ม รู้จักงอแขน และเหยียดแขนได้อย่างส่วนสัดรับกันเมื่อมี ผู้อุ้ม ชันคอได้เป็นเวลา สองสามวินาที

3 เดือนชูมือไขว่คว้าของเล่น ยกเท้าขึ้นชอบเล่นมือตนเอง ชันคอได้ จำแม่ได้

เพ่งมองดูสีที่ฉูดฉาดอยู่เป็นเวลาสองหรือสามวินาที เล่นเมื่อตัวเองหัวร่อ หันหัวไปตามเสียงได้

4 เดือนนั่งตัวตรงได้ถ้าใช้มือช่วยพยุงคว่ำได้คว้าจับของใกล้มือเอามือใส่ปาก หัวเราะดัง เมื่อนอนคว่ำมักทำกิริยาคล้ายว่ายน้ำ ผงกศีรษะได้เมื่อนอนหงาย รู้จักหัวเราะและหาว รู้จักเล่นด้วยมือของตนเอง

5 เดือน นั่งตักได้ มือจับของเล่นได้ใช้เท้ายันพื้นเมื่อจับยืนชอบเลียและอมของเล่น

ซอยเท้าและพลิกคว่ำเองได้ น้ำหนักตัวเป็นสองเท่าของเมื่อแรกเกิด เมื่อได้ยินเสียงดนตรีก็ตั้งใจฟัง

6 เดือนนั่งเก้าอี้สูง หันตามเสียง สังเกตคนแปลกหน้า เปลี่ยนมือถือของ นั่งได้เมื่อช่วยพยุง ถือของเล่นได้ด้วยมือทั้งสอง เมื่อมีคนพูด้วยจะตอบด้วยเสียงอู้อี้ฟังไม่ได้ศัพท์ ฟันเริ่มขึ้น คืบได้

7 เดือนนั่งตามลำพังได้ ถือของเล่นได้ด้วยมือทั้งสองข้าง รู้จักหยิบและวางของเล่น รู้จักใช้ช้อนตักอาหารเหลว เวลาร้อนไห้หากผู้เลี่ยง ปลอบโยนมักจะนิ่ง นั่งเองและพูดพยางค์เดียวได้

8 เดือนตั้งไข่ ชอบเล่นหยิบของและทิ้งของ คลานได้ เมื่อของเล่นตกลงบนพื้นจะมองตามไป คลานได้ ดื่มอะไรในถ้วยได้ถ้ายื่นส่งให้

9 เดือนเกาะยืนใช้มือจับโต๊ะ จับของด้วยนิ้วชี้และหัวแม่มือ ชอบแตะต้องตนเองในกระจกนั่งเองได้นานประมาณ 1 นาที หากใช้มือยันพื้นก็จะสามารถนั่งได้

10 เดือนคลานได้เร็ว เกาะเดิน รู้จักชื่อตนเอง จ๊ะ จ๋า ได้ รู้จักมองดูมือของตนเอง หมุนสิ่งของเล็ก ๆ กลับไปกลับมา เกาะเก้าอี้พยุงตัวลุกขึ้นยืนได้ และเกาะขาเก้าอี้ยืนได้ครู่หนึ่ง

11 เดือนเดินเมื่อมีคนจูง มีรอยยิ้มให้ผู้คนแปลกหน้า สามารถคุกเข่าตั้งตัวตรงได้สิบวินาที ตั้งไข่ได้ คลานได้ดี เข้าใจความหมายของคำเป็นคำ ๆ

12 เดือนลุกขึ้นยืนโดยการยึดเก้าอี้ หัดพูดตามคำสอน สามารถดื่มน้ำจากถ้วย

รู้จักเลือกอาหาร สอนเดินได้แต่ต้องพยุง หัวเราะเก่ง น้ำหนักตัวประมาณสามเท่าของเมื่อแรกเกิด

13 เดือนปีนบันไดได้ เล่นของเล่นได้หลายอย่าง ขีดเขียนในกระดาษแบบไม่มีความหมาย ชอบเล่นของเล่นอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ พูดได้ เข้าใจคำพูดมากขึ้น ชอบดูภาพในสมุดภาพ ขึ้นลงบันได้ได้โดยใช้ทั้งสองมือและเท้าช่วยกัน

14 เดือนยืนได้ลำพัง พูดได้หลายคำเป็นคำง่ายๆ สั้น เช่น พ่อ แม่ อย่า ไป กิน ทิ้งเป็นต้น

15 เดือนเดินได้ตามลำพัง สามารถดึง ลาก ชี้ ผลักได้ ชอบวาดผนัง

16 เดือนรู้จักสังเกตความ แตกต่างระหว่างบุคคลใกล้ชิดรู้จักเข็นรถสำหรับเด็กเล็ก ๆ

17 เดือนชอบเล่นของเล่นอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ พูดได้ เข้าใจคำพูดมากขึ้น ชอบดูภาพในสมุดภาพ กล้ามเนื้อทำงานประสานกันดี

18 เดือนเดินถอยหลัง เดินขึ้นบันไดโดยเกาะราวบันได รู้จักอวัยวะของร่างกาย ถอดเสื้อผ้าได้เอง

19-20 เดือนเด็กจะเริ่มรู้จักจัดสิ่งของที่เหมือนกันเข้าไว้ด้วยกัน บอกสิ่งที่ตนเองต้องการได้ รู้จักปฏิเสธด้วยการสั่นศีรษะ เรียกชื่อบุคคลในครอบครัวได้ ถอดเสื้อได้โดยลำพัง สามารถแตะลูกบอลขนานย่อม ๆ ได้

21 เดือนวิ่งเก่ง เตะลูกบอลได้ พูดคำต่างความหมายติดต่อกันอย่างน้อย 2 คำ เช่น ไปเที่ยวและช่วยทำงานบ้านง่ายๆได้

24 เดือนกระโดดอยู่กับที่ ลากเส้นในแนวดิ่งได้ พลิกหนังสือที่ละหน้า รู้จักสรรพนาม ชอบฟังนิทานดูรูปภาพ สวมเสื้อผ้าได้เอง ถ้าตื่นอยู่จะบอกเมื่อต้องการขับถ่าย

3 ปีถีบจักยานสามล้อ เดินขึ้นบันไดขาสลับข้าง ลอดแบบวงกลม ใช้กรรไกรตัดกระดาษบอกชื่อ-สกุล หรือเพศหญิง-ชาย หัดร้องเพลง และเลิกปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน

4 ปีเดินลงบันไกขาสลับข้าง กระโดดขาเดียว ลอกรูป กากบาท วาดรูปสี่เหลี่ยมสามเหลี่ยมได้รู้จักสี แต่งตัวเองไม่ต้องมีใครช่วย

5 ปียืนขาเดียว กระโดดขาเดียวสลับข้างวาดรูปเลขาคณิตได้ วาดรูปคนที่มีตา หู จมูก ปาก รู้จักหนัก เบา พูดเก่ง เล่านิทานได้กล้าแสดงออก

6 ปีขว้างบอลได้ไกล วาดรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนได้ สะกดคำง่ายๆ อธิบายรูปได้ บวกเลขได้ รู้จักเวลา รู้จักซ้ายและขวา รู้กติกาอย่างง่ายๆ

ความคิดของ Bruner แตกต่างจาก Piaget ตรงที่ทฤษฎีของ Bruner เน้นในเรื่องพัฒนาการทางสติปัญญา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุเป็นสำคัญ แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมจะชักนำไปในแนวทางใด ส่วนทฤษฎีของ Piaget กล่าวคือ พัฒนาการแต่ละขั้นอย่างละเอียดและข้อจำกัดของความสามารถของเด็กแต่ละวัย

วัยเด็ก

วัยเด็กจะต่อจากวัยทารกเรียกช่วงนี้ว่าวัยเด็กตอนต้นและจะสิ้นสุดเมื่ออายุประมาณ 6 ขวบเป็นระยะที่เด็กกำลังเจริญเติบโตอย่างเป็นอิสระพึงตนเองมากขึ้นบางทีเรียกระยะนี้ว่าระยะก่อนเข้าเรียนวัยเด็กเริ่มมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหลายอย่าง ซึ่งมักจะทำความลำบากใจให้กับพ่อแม่มือใหม่อย่างมาก ในระยะนี้พัฒนาการทางร่างกายและบุคลิกภาพจะแตกต่างออกไป บางครั้งเด็กมักทำตัวออกนอกกรอบบ่อยๆ เพื่อทดสอบพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าเด็กสอนยาก บอกไม่ค่อยฟัง ดื้อเด็กบางคนตามใจตนเอง ขัดขืน โมโหร้าย อิจฉาน้องๆ ถ้าในครอบครัวมีสมาชิกใหม่และละเมอกลางคืน จะแสดงความหวาดกลัว

พัฒนาการทางร่างกายของเด็กในวัยนี้จะพบว่าศีรษะที่ดูยาวในวัยทารกจะเริ่มกลมเล็กลงได้ขนาดกับลำตัว จมูกเล็กค่อนข้างแบน ปากยังคงเล็กไม่ได้ส่วนเพราะฟันน้ำนมยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ แก้มจะกางออกอย่างเห็นได้ชัดเพราะส่วนคางเจริญขึ้นและคอก็ยาวขึ้น ไหล่กว้างขึ้น มีผมขึ้นบ้างตั้งแต่สีน้ำตาลไปจนเข้มและค่อยๆ มีผมดกขึ้น แขนขายาว มือและเท้าเริ่มโตขึ้นตามขนาดของร่างกายโครงกระดูกแข็งแรงขึ้นกว่าวัยทารกมากรวมไปถึงกล้ามเนื้อและโครงกระดูกเจริญเติบโตขึ้นมาก ในวัยเด็กจะมีฟันน้ำนมขึ้นและก่อนสิ้นวัยเด็ก เด็กจะมีฟันน้ำนมประมาณ1-2 ซี่ การพัฒนาการทางด้านร่างกายจะเร็วหรือช้าอย่างไรทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและอาหารที่เด็กได้รับด้วย

การรับประทานอาหารของเด็กวัยนี้ เด็กวัยนี้จะไม่หิวบ่อยเหมือนเด็กทารกเพราะว่าอัตราการเจริญเติบโตเริ่มช้าลง เด็กจะเริ่มเลือกอาหารที่ตนชอบและไม่ชอบ การเลือกอาหารของเด็กในวัยนี้เป็นผลมาจากพฤติกรรมการกินของคนในครอบครัวหรือพ่อแม่นั่นเอง พ่อแม่ควรจะสอนให้เด็กกินอาหารให้ครบทุกหมู่ซึ่งจะทำให้ร่างกายของเด็กเจริญเติบโต สิ่งที่พ่อแม่พึงระมัดระวังคือในช่วงนี้การพัฒนาสมองของเด็กจะพัฒนาถึงร้อยละ80 ทีเดียวดังนั้นอาหารที่พ่อแม่ควรให้เด็กรับประทานควรจะเป็นอาหารกลุ่มโปรตีน เนื้อ นม ไข ตับ พักสีเขียว ผลไม้ต่างๆ หลากหลายกันไปมากๆ ในขณะเดียวกันกลุ่มข้าว แป้งและไขมันเกลือแร่ก็ไม่ควรขาด อาจกล่าวได้ว่าต้องได้รับสารอาหารครบทั้ง ห้าหมู่อย่างเพียงพอไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป เพราะอาหารจะช่วยพัฒนาทางด้านร่างกายด้วย

การนอนหลับของเด็กในวัยนี้มักจะนอนไม่เป็นเวลา ซึ่งพ่อแม่ควรเริ่มฝึกหัดได้ การนอนที่ไม่เป็นเวลานี้เองจะทำให้เด็กเครียดถ้าถูกบังคับให้นอน และมักจะเรียกร้องสิ่งที่ตนเองต้องการก่อนนอนเช่นให้คุณแม่เล่านิทาน เล่นของเล่นตัวโปรด ถ้าไม่ทำตามเด็กก็จะโยเยและจะงอแงเรื่องนอนไปจนอายุประมาณ 4 ขวบ วิธีการที่ดีคือคุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาให้ลูกอาจสลับกันก็ได้เข้าไปอ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน กอดเข้าไว้ ลูบเนื้อลูบตัว เด็กก็จะหลับง่าย เด็กวัยนี้จะมีพฤติกรรมติดของเล่นตัวโปรด เช่นตุ๊กตาหมี หมอนข้าง ผ้าห่ม เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้จะหมดไปเมื่อเด็กโตขึ้น การละเมอในวัยเด็กเป็นเรื่องปกติ อาจมีการละเมอบ้างแต่ไม่ใช่ปัญหามากนัก ถ้าเด็กนอนละเมอก็ปล่อยให้ละเมอไปแต่ถ้าฝันร้ายร้องไห้คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบปลอบทันที การละเมออาจมีหลายสาเหตุเช่น ตอนกลางวันอาจเล่นมาก หรือดูภาพยนต์ในทีวีที่หน้ากลัวทำให้เกิดความเครียดทางอารมณ์ การได้รับสัมผัสที่อบอุ่นจะทำให้เด็กผ่อนคลายขึ้น

การขับถ่าย เด็กในวัยนี้สามารถควบคุมระบบการขับถ่ายได้ตั้งแต่ช่วงวัย 1 ขวบและจะสามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระได้ก่อนปัสสาวะ แต่ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะตอนกลางวันได้ อย่างไรก้ดีผู้ใหญ่ไม่ควรเร่งเด็กให้ฝึกขับถ่ายถ้าเด็กไม่พร้อมซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีเพราะเด็กจะเกิดความเครียดทางอารมณ์ได้ สำหรับเรื่องการขับถ่ายเมื่อถึงวุฒิภาวะเด็กจะสามารถควบคุมได้เอง อย่างไรก็ดีพ่อแม่ควรฝึกหัดขับถ่ายให้และใช้วิธีที่ผ่อนคลายที่สุด

ความเจ็บป่วยในวัยเด็กเนื่องจากเด็กจะมีภูมิต้านทานยังไม่มากนักประกอบกับเด็กเริ่มมีสังคมเริ่มวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นหรือเริ่มเข้าเนสเซอรี ทำให้มีโอกาสติดเชื้อไข้ต่างๆได้เช่น ไข้หวัด อีสุกอีไส้ ตาแรง หัด การป้องกันโรคเหล่านี้พ่อแม่ควรพ่อเด็กพบแพทย์และฉีดวัคซีนให้ครบ แต่ถ้าเป็นไข้พ่อแม่ก็ไม่ต้องตกใจเกินเหตุเช่นเด็กตัวร้อน พ่อแม่ก็ลดความร้อนด้วยการเช็ดตัว ให้เด็กบ่อยๆ ถ้าความร้อนสูงอาจให้ยาพาราเซ็ตตามอลชนิดน้ำตามขนาดจำนวนที่ระบุในฉลากแต่ถ้าสองวันไข้ยังไม่ลดควรรีบพบแพทย์ ในวัยนี้เด็กอาจมีโรคอื่นที่ปรากฏเช่นโรคที่เกี่ยวกับทางพันธุกรรมบางชนิดเด็กควรพบแพทย์เพื่อทราบการปฏิบัติตนเองที่ถูก นอกจากนี้แล้วยังมีโรคที่เกิดมากจากความเครียดที่เด็กได้รับจากครอบครัวที่แตกแยก อาจทำให้เด็กเป็นโรคประสาทได้ ดังนั้นครอบครัวควรจะพร้อมถึงจะมีลูกเพื่อให้ลูกเกิดมาไม่มีปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่เด็ก

สำหรับเรื่องอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่มักจะเกิดกับเด็กตอนต้นมักจะพบบ่อยมากดังนั้นพ่อแม่ควรจัดบ้านให้โล่ง และฝึกให้เด็กเก็บของให้เป็นระเบียบจะได้ไม่เดินเหยียบล้ม อย่างไรก็ดี การเกิดบาดแผลต่างๆ ตั้งแต่ทะหลอก มีดบาด น้ำร้อนลวก หนามตำ กระดูกหัก ก็รักษาตามอาการที่สำคัญคือพ่อแม่อย่าแสดงอาการตกอกตกใจมากเกินเหตุจะทำให้เด็กขาดความมั่นใจ

พัฒนาการกล้ามเนื้อ เด็กวัยนี้จะมีพัฒนาการทางกล้ามเนื้อที่เร็ว เด็กจะเริ่มใช้มือโดยการใช้ช้อนป้อนอาหารใส่ปากตนเองได้ ติดกระดุมเสื้อเองได้ มัดเชือกรองเท้าเองได้ เด็กในวัยนี้เป็นวัยเข้าโรงเรียนอนุบาลเขาจะช่วยเหลือตัวเองได้มากแต่ถ้าบางช่วงพ่อแม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับการแต่งกายของเขาเด็กก็จะมีความสุข เด็กในวัยนี้สามารุจับดินสอลากตามเส้นปะได้ ตัดกระดาษได้แต่ไม่ตรงทีเดียวนักรวมไปถึงปั้นดินน้ำมันเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ที่เขาชอบ เด็กในวัยนี้ชอบวาดรูป พ่อแม่ควรเสริมด้วยการหากระดาษดินสอสีให้เขาได้วาดรูปตามจินตนาการของเขา ในเรื่องของขา เด็กวัยนี้สามารถวิ่งได้ กระโดดได้ บางครั้งก็กระโดดขาเดียวเล่นห้อยโหนตามเครื่องเล่นที่สนามเด็กเล่น พ่อแม่ควรปล่อยให้ลุกฝึกขี่จักรยาน โดดเชือก การปีนบ่าย โดยพ่อแม่ยืนดูอยู่ห่างๆ อย่าปล่อยซะทีเดียวเพราะกล้ามเนื้อเด็กยังไม่แข็งแรงมากนัก

พัฒนาการทางด้านภาษาเด็กในวัยนี้จะรู้ภาษามากมาย เด็กจะชอบซักถามเริ่มใช้คำต่างๆ มากขึ้น เด็กจะพัฒนาตั้งแต่การใช้ประโยคสั้นๆ ไปจนถึงประโยคยาวๆ ได้ ถ้าครอบครัวใช้ภาษาพูดที่สุภาพเด็กก็จะเลียนแบบภาษาของคนในครอบครัว อาจมีเด็กบางกลุ่มที่ติดอ่าง พ่อแม่ก็ไม่ต้องวิตกกังวล เวลาพ่อแม่พูดก็พูดประโยคปกติกับเด็กอย่างแกล้งพูดติดอ่างกับเด็กจะทำให้เด็กพัฒนาด้านภาษาได้ช้าและไม่ถือว่าเป็นปมด้อยเมื่อเด็กมีวุฒิภาวะถึง อาการติดอ่างก็จะค่อยๆ หมดไป เช่นเดียวกับพฤติกรรมนั่งกัดเล็บ แต่ทั้งนี้พ่อแม่ต้องแน่ใจว่าตนเองไม่ใช่เป็นตัวสร้างปัญหาให้เด็กมีพฤติกรรมเช่นนี้เอง วิธีการส่งเสริมให้เด็กใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องก็คือพ่อแม่ใช้ภาษาที่ถูกต้อง โรงเรียนสอนพื้นบานการผสมคำและอ่านเป็นปกติอยู่แล้ว กลับมาตอนเย็นเด็กก็หัดอ่านนิทานโดยการส่งเสริมการอ่านทั้งครอบครัวไม่ใช่บังคับให้เด็กอ่านหนังสือแต่พ่อแม่ดูทีวีพฤติกรรมที่สวนทางกันก็ไม่ได้ช่วยให้เด็ก พัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้นการส่งเสริมเรื่องการอ่านที่ถูกวิธีจะทำให้พัฒนาการด้านการอ่านของเด็กเป็นไปด้วยดี

พัฒนาการทางด้านอารมณ์ เด็กในวัยนี้จะเจ้าอารมณ์อาจสังเกตได้ส่าเด็กวัยนี้จะเจ้าโทสะ ขี้อิจฉา ก้าวร้าวและขี้กลัวมากๆ อารมณ์ของเด็กเกิดขึ้นจากครอบครัวที่วางแบบแผนของอารมณ์โดยไม่รู้ตัวเช่น ครอบครัวที่พ่อแม่โมโหใช้อารมณ์ปกครองลูกๆ เด็กก็เลียนแบบอารมณ์โมโหร้ายมาจากครอบครัว หรือการบังคับเด็กมากเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดการต่อต้าน หรือบางครอบครัวตามใจเด็กมากเกินไป พอไปขัดใจเด็กก็แสดงความก้าวร้าว การพัฒนาการทางด้านอารมณ์อยู่ที่ครอบครัวจะต้องฝึกให้เด็กรู้จักเหตุผลอย่างนี้ทำได้อย่างนี้ทำแล้วไม่ดี และต้องบอกด้วยว่าที่ไม่ดีนะไม่ดีอย่างไร การบอกเหตุผลจะทำให้เด็กเข้าใจและสามารถพัฒนาอารมณ์ได้ดี เช่นเด็กต้องการได้ของเล่นมากแต่มีอยู่ที่บ้านแล้วเด็กร้องไห้จะเอาพ่อแม่ก็อธิบาย ให้เขายืนดูเฉยๆ สักพักแล้วก็จุงมือเดินออกไม่ซื้อให้ต่อให้เด็กอ้อนอย่างไรก็ไม่ซื้อพร้อมทั้งบอกว่าที่บ้านก็มียังเล่นได้อยู่เราช่วยกันหากระดาษสีมาแต่งให้สวยเท่าคันนี้เลย เด็กอาจจะพอใจและได้เรียนรู้การประหยัด การใช้เหตุผลอีกด้วย

พัฒนาการทางด้านสังคม เด็กในวัยนี้เริ่มเข้ากลุ่มโรงเรียนอนุบาลมีเพื่อนมากมายทุกคนเป็นเพื่อนเล่นกัน การเข้าสังคมยังเริ่มกว้างไปอีกเช่นในวันพระพ่อแม่พาเด็กไปทำบุญตักบาตรฟังธรรมเด็กก็จะได้เรียนรู้ระบบของสังคม เรียนรู้การเข้าหาปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา เป็นต้นเด็กจะสามารถเข้ากับบุคคลต่างๆ ได้อย่างดีสามารถรู้สถานภาพของตนเองว่าตนเองอยู่ในตำแหน่งใด เรียนรู้การวางตัวให้เป็นที่รักของเหล่าเครือญาติ ในสังคมโรงเรียนก็รู้ว่าตนอยู่ห้องใดมีคุณครูประจำชั้นชื่ออะไร มีสัมพันธภาพที่ดีกับคุณครูทุกคนที่สอนและจำชื่อคุณครูได้ จำชื่อเพื่อนได้ เด็กจะได้รับการพัฒนาการอยู่ร่วมในสังคมกว้างขึ้นและสามารถเรียนรู้สังคมอย่างมีระเบียบแบบแผน

วัยเด็กตอนกลาง

วัยเด็กตอนกลางเป็นวัยที่เด็กเข้าโรงเรียน ตั้งแต่อนุบาลไปจนเข้าประถมศึกษา ดังนั้นเด็กจึงต้องปรับตัวมากในการไปอยู่ในสังคมใหม่ที่ต่างจากบ้านที่เคยคุ้นเคย แต่สิ่งที่เด็กได้รับคือการรู้จักคำมากขึ้นสามารถพูดได้ประโยคยาวๆ แต่ละประโยคมีความสอดคล้องกัน นอกจากนี้เด็กอาจได้รับคำใหม่ๆ จากเพื่อน เช่น เด็กสาระ เด็กแนว ดูว่าเป็นคำที่แปลกๆ แต่พอแปลออกมาพ่อแม่บางท่านอาจรับได้ยากเช่นเด็กสาระแปลว่าเด็กสารเลว เด็กแนวแปลว่าเด็กชายตะเข็บชายแดน ดังนั้นในวัยนี้ เด็กอาจได้ภาษาจากกลุ่มเพื่อนๆ มาก นอกจากนี้แล้วในวัยเด็กตอนกลางเด็กจะเข้าใจความแตกต่างระหว่างตนกับเพื่อนได้มากขึ้น ทำให้เด็กต้องปรับตัวตั้งแต่ทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาเพื่อให้สามารถพัฒนาตนได้สมกับวัย ฉะนั้นพ่อแม่ควรเตรียมเด็กก่อนที่จะเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาเพื่อให้เด็กชินและสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ พัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กตอนปลายจะพัฒนาการในส่วนสูงมากว่างส่วนกว้าง เด็กจะมีลำตัวแบนแขนขายาว หน้าตาเริ่มเปลี่ยนไป ระบบต่างๆทำงานพัฒนาเป็นอย่างดียกเว้นการพัฒนาการทำงานของหัวใจเป็นไปค่อนข้างช้า เด็กจะเริ่มมีฟันแท้ขึ้นพร้อมๆกับฟันน้ำนมก็ค่อยๆหักจากไป ฟันหน้าจะขึ้นก่อน กล้ามเนื้อเริ่มแข็งแรงและสามารถทำงานประสานกันได้อย่างคล่องแคล้ว

สมองของเด็กจะหนักเกือบเต็มที่ สายตายังพัฒนาไม่ดีนักช่วงนี้ยังเป็นสายตายาวซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติและยังทำงานไม่ประสานกันดีนัก เมื่อเด็กอายุ8-10 ปี สายตาก็จะปรับเข้าระดับปกติ ส่วนการพัฒนามือจะช้าและเด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการที่มือช้าเร็วแตกต่างกันพ่อแม่อาจช่วยเสริมทักษะการใช้มือเช่น ให้ปั้นดินน้ำมัน ให้หัดคัดลายมือเป็นต้น เด็กแต่ละคนจะมีอัตราการพัฒนาการแตกต่างกันไปแล้วแต่วุฒิภาวะของแต่ละคนว่า จะพัฒนาการรวดเร็วอย่างไรแต่พบว่าเด็กหญิงมีพัฒนาการค่อนข้างเร็วกว่า เด็กชาย

พัฒนาการทางร่างกายในเด็กตอนกลาง พ่อแม่ควรเอาใจใส่ให้มากๆ เพราะเด็กบางคนได้รับการตามใจมากอาจทำให้มีน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน เด็กอ้วนไม่ใช่เด็กมีสุขภาพดีหรือเด็กบางคนอาจชอบอมข้าว กินอะไรก็อมทำให้อิ่มเร็ว หรือเลือกอาหารเด็กอาจมีพัฒนาการร่างกายผิดปกติเป็นโรคขาดอาหารเป็นต้น ดังนั้นในวัยนี้พ่อแม่ควรฝึกเด็กให้เข้าใจเรื่องสุขนิสัยจะได้รู้วิธีการรักษาร่างกายของตนเองตั้งแต่เรื่องผม เรื่องการแปรงฟัน การทำความสะอาดร่างกาย เล็บไปจนถึงการฝึกระบบขับถ่าย เราอาจสรุปได้ว่าพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กอยู่ที่อาหารที่ครบห้าหมู่ไม่มากหรือน้อยเกินไป สิ่งแวดล้อมดีและเอื้อต่อการเรียนรู้ รวมถึงมีโอกาสออกกำลังกายและเล่นในกิจกรรมที่เด็กสนใจ

พัฒนาการทางด้านอารมณ์ เด็กวัยนี้เข้าโรงเรียนแล้วดังนั้นคนที่มีอิทธิพลต่อเด็กวัยนี้คือคุณครูและเพื่อนๆ เด็กวัย 6 ขวบเป็นวัยที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ อารมณ์ของเด็กในวัยนี้มักจะควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดีนักเด็กจะแสดงออกตรงไปตรงมา แต่เด็กในวัยนี้ถ้าอธิบายให้เขาเข้าใจเหตุผลเด็กก็จะสามารถใช้เหตุผลได้อย่างดี ในครอบครัวที่ตามใจเด็กมากๆ อาจทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ชอบทำตามใจตนเอง บางครอบครัวไม่เคยดุเด็กพอไปเดินที่ห้างเมื่อพบของเล่นถูกใจอยากได้ขอให้คุณแม่ซื้อคุณแม่ไม่ซื้อ เด็กเรียกร้องความสนใจโดยการเอาน้ำแข็งปาหัวคุณแม่ให้อับอายไปทั่วร้าน ถ้าคุณแม่ตีก็จะยิ่งทำให้อารมณ์เด็กร้ายลงไปอีก คุณแม่คงต้องค่อยๆ อธิบายและชี้ให้เขาเห้นว่าไม่มีใครที่มาเดินในห้างเพื่อซื้อของเขาทำแบบหนู ชี้ชวนให้เขามองรอบๆ เด็กก็จะเรียนรู้ได้จากพฤติกรรมของคนอื่นและการพัฒนาทางอารมณ์ก็จะพัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่ง เด็กวัยนี้เป็นวัยที่ทดสอบพ่อแม่ว่าในสถานการณ์อย่างนี้พ่อแม่จะทำอย่างไร ดังนั้นเพื่อไม่ให้เด็กตามใจตนเองมากนักพ่อแม่ควรชมว่าเขาเป็นเด็กเก่งยอมรับในตัวเขาและให้ความสนใจเขา ในกรณีที่คุณแม่มีน้องใหม่ การจะช่วยให้เด็กไม่เป็นเด็กขี้อิจฉาคือต้องให้เขามีส่วนร่วมในการเลี้ยงน้องและชมเขามากๆ พร้อมกับเอาใจใส่เขามากๆเพื่อให้เขามั่นใจในตนเอง อย่างไรก็ดีในช่วงวัยเด็กตอนกลางเด็กจะมีความกลัวเพิ่มมากขึ้น พ่อแม่ต้องพยายามเข้าใจเขาและไม่ควรหลอกหรือขู่ยิ่งจะทำให้เด็กขลาดกลัวเพิ่มขึ้น พ่อแม่ควรช่วยเหลือเขาและอยู่ใกล้เขา ในวัยนี้ควรอ่านนิทานให้ฟังแต่นิทานควรแทรกหลักธรรมเพื่อปูพื้นฐานการเป็นคนที่มีคุณธรรม ปูพื้นฐานจิตสำนึกที่ดี

พัฒนาการทางด้านสังคม เด็กวัยนี้จะเข้าสังคมเก่ง รู้จักผู้คนเพิ่มขึ้นเป็นต้นว่าคุณครู เพื่อนๆ ในห้องเดียวกัน เพื่อนต่างห้องกัน เพื่อนๆในชมรมเดียวกัน แม่ค้าพ่อค้าที่ขายของในโรงอาหารหรือกระทั่งพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของหน้าโรงเรียนเด็กจะรู้จักชื่อหมดพ่อค้าคนไหนใจดี คนไหนมีของเล่นถูกใจนอกจากนี้เด็กยังรู้จักคนงานภารโรงไปจนถึงคุณครูในห้องสมุด คุณครูในห้องคอมพิวเตอร์ คุณครูที่สอนพิเศษ จะเห็นว่าสังคมเด็กเริ่มกว้างขึ้น พ่อค้าแม่ค้าสมัยนี้ฉลาดจำชื่อเด็กได้เรียกชื่อเล่นทำให้เด็กติดใจตกเย็นก็จะต้องซื้อซาลาเปาร้านนี้ น้ำหวานร้านนั้นเป็นต้น อย่างไรก็ดีเด็กในวัยนี้จะเล่นรวมกันได้ไม่แกล้งกัน สามารถทำกิจกรรมต่างได้ ในวัยนี้เด็กจะเริ่มเลียนแบบผู้ใหญ่หรือดาราที่ชื่นชอบ การเรียนรู้ของเด็กวัยนี้จะสามารถทำได้ดีก็ต่อเมื่อเด็กมีประสบการณ์ทางบ้านดี มีโอกาสไปเล่นกับเพื่อนๆที่สนามเด็กเล่นและ ครูเป็นทั้งผู้สอนและเพื่อนที่เด็กสามารถพูดคุยได้

วัยเด็กตอนปลาย

เด็กในวัยนี้จะเริ่มพัฒนาความรู้ความคิดมากขึ้น รู้จักว่าเป้าหมายว่าตนต้องการอะไร ก็สามารถทำตามที่ตนตั้งใจได้เช่นตั้งใจว่าจะเก็บสตางค์ไว้ซื้อแผ่นเกมใหม่โดยไม่รบกวนเงินจากพ่อแม่ก็สามารถเก็บสตางค์ได้ พอเงินเก็บมากจริงๆ บางครั้งเด็กก็สามารถเรียนรู้ได้ว่าจะใช้เงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์ที่สุดโดยไม่ทำตามความพอใจของตนเองแต่จะดูว่าควรจะทำอะไร อยู่ในระดับมากน้อยแค่ไหน ในวัยนี้เด็กจะสามารถปรับตัวในสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ เด็กจะเริ่มฝึกกิจกรรมที่ใช้สมองเช่นเล่นหมากรุก เล่นหมากล้อมรวมไปถึงการเล่นเกมที่ตั้งค่าย หรือสร้างบ้านสร้างเมืองอย่างเกมซิม (The Sims ) เป็นต้น ดังนั้นในวัยเด็กตอนปลายพ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมใดๆที่สามารถพัฒนาสมองให้มากๆ สิ่งสำคัญคือกิจกรรมที่เด็กทำต้องสอดคล้องกับความต้องการของเด็ก โดยมีพ่อแม่สนับสนุนและเด็กเป็นผู้ได้กระทำในกิจกรรมนั้นๆ ด้วยตนเองจะทำให้เขาภูมิใจในความสามารถและเด็กยังจะได้รับประสบการณ์ตรงจากการทำกิจกรรมนั้นๆ อีกด้วย ในระยะนี้เด็กจะเรียนรู้มากขึ้น การเรียนรู้จะเรียนรู้จากสิ่งใกล้ๆ ตัวไปจนถึงสิ่งรอบๆ ตัว เด็กจะมีคำถามลับสมองลองปัญญาให้ผู้ใหญ่ได้ขบคิด นอกจากนี้เด็กยังต้องการฝึกทักษะมือให้ใช้ได้อย่างคล่องแคล่วครูอาจช่วยเสริมโดยการให้ปั้นดินน้ำมัน ฉีกรูปตัดแปะ ระบายสีรูปต่างๆ จากปูนโปสเตอร์และงานไม้ นอกจากนี้เด็กยังจะเริ่มสนใจรายการโปรด ดูการ์ตู ดูละครและนั่งดูข่าวกับคุณพ่อคุณแม่ได้ บางครั้งร่วมในการวิเคราะห์ข่าวได้บ้างซึ่งพ่อแม่ก็ควรช่วยเด็กให้วิเคราะห์ในแง่มุมที่ถูกจะช่วยพัฒนาสติปัญญาได้ทั้งนี้ควรนั่งดูโทรทัศน์กับลูกๆ เพราะสื่อต่างๆ อาจมีทั้งผลดีและผลเสีย บางสื่อแค่ให้คนดูตลกและจำสินค้าได้อย่างเดียวไม่สนใจว่าคุณธรรมจะเป็นเช่นไร การได้คำแนะนำที่ดีจะทำให้เด็กสามารถพัฒนาความคิดได้เป็นอย่างดี

การอ่านเด็กในวัยนี้สนใจซื้อหนังสือที่ตนชอบมาอ่านเช่นหนังสือวิทยาศาสตร์ 108 คำถามอะไรเอย หรือเลยไปจนถึงหนังสือการ์ตู ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชายจะชอบหนังสือมากเด็กในช่วงอายุ 9 ปีจะนั่งจับกลุ่มเล่าถึงเรื่องที่ตนอ่านให้กันฟัง ใครอ่านเรื่องอะไรก็จะเล่าให้ฟังใครที่ยังไม่เคยอ่านก็จะหาหนังสือนั้นมาอ่าน ในวัยนี้เด็กจะสนใจทำบัตรห้องสมุด ต้องการยืมหนังสือแต่มัจะลืมคืนพ่อแม่ต้องคอยเตือนๆ เรื่องนี้ อย่างไรก็ดีในวัยนี้เป็นช่วงของการเตรียมพื้นฐานการเรียนรู้ในขั้นสูงต่อๆ ไป พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ถูกวิธีจะทำให้สมองของเด็กเจริญอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เด็กวัยนี้ยังเป็นวัยที่ของสะสมเช่น สะสมบัตรโทรศัพท์ที่ใช้แล้ว สะสมภาพการ์ตูนที่แจกแถมมากับขนม สะสมของเล่น การสะสมเป็นสิ่งที่ดีจะทำให้เด็กรู้ค่าของสิ่งของรู้พัฒนาการและแนวความคิดในแต่ละช่วง แต่ทั้งนี้ความสนใจของเด็กวัยนี้เพียงแค่ชั่วครู่ชั่วยามและก็เริ่มไปสนใจของใหม่ ของเก่าบางครั้งก็ไม่สนใจและไม่เก็บอีกด้วย

ในวัยนี้สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือเด็กจะรับผิดชอบเรื่องเวลาได้เองและไม่โยเย พอเช้าเด็กก็จะตื่นอาบน้ำแต่งตัวเอง รับประทานอาหารเช้า ให้คุณแม่หอข้าวไปกินโรงเรียน ตกเย็นไปเรียนพิเศษ กลับมาว่ายน้ำ ถึงบ้าน อาบน้ำนั่งกินของว่างกับดูรายการโปรด เช่นสารคดีต่างๆ ของชีวิตสัตว์ต่างๆ พอถึงเวลาเด็กก็จะเข้านอนโดยไม่มีการต่อรอง แต่ถ้าเป็นวันศุกร์เด็กจะรู้ว่าตนสามารถนอนดึกได้ ได้เล่นเกมเด็กก็จะทำกิจกรรมต่างๆ ที่ตนชอบได้ เด็กวัยนี้สามารถรับผิดชอบตนเองได้เช่นเช้าขึ้นมาบางครั้งเขาไม่ชอบอาหารที่พ่อแม่เตรียมให้ เขาอาจจะไปทอดไข่ดาวสองฟองมาแทนข้าวราดหมูหยองก็ได้

ความสนใจของเด็กวัยนี้ เด็กวัยนี้ต้องการการยอมรับจากคนอื่นให้เชื่อว่าเขาทำได้เด็กก็จะมีความพยายามทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จได้ พ่อแม่ต้องคุยกับเขาแล้วเขาจะเล่าสิ่งต่างๆ ให้เราฟัง บางครั้งอาจเล่าเรื่องผีที่โรงเรียน เช่นไปเข้าห้องน้ำแล้วห้องน้ำห้องที่สามจะปิดอยู่เสมอๆ สังเกตหลายครั้ง เพื่อนๆก็ช่วยกันสังเกตหลายๆ ครั้งเข้าเด็กก็สรุปว่ามีผีแล้วมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่ก็อธิบายตามหลักการไปว่า ผีไม่มีหรอกลูกอาจเป็นไปได้ว่าห้องน้ำนั้นอาจชำรุดรอการซ่อมอยู่อย่างนี้เป็นต้น ในวัยนี้เด็กอยากรู้อยากเห้นอยากเข้าใจเรื่องที่ตนยังไม่เข้าใจ ถ้าพ่อแม่สามารถอธิบายให้เด็กเข้าใจก็จะเป็นการเพิ่มทักษะและการเรียนรู้มากขึ้น มีนักจิตวิทยาได้สรุปความต้องการของเด็กไว้หลายประการเช่น เด็กต้องการการเล่นและการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระ อาหารที่มีประโยชน์ การพักผ่อน ความปลอดภัย ความรักและความอบอุ่น ความสำเร็จ การทำกิจกรรมร่วมกัน ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ให้บริการรับใช้กับบุคคลใกล้ชิด คำแนะนำไปสู่ความเจริญเติบโตทางปัญญา ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การกระทำของตนเองเป็นต้น