พัฒนาการของมนุษย์

ความหมายของพัฒนาการ (Development )

ความหมายของพัฒนาการมีนักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า พัฒนาการพอสรุปได้ดังนี้

พัฒนาการ หมายถึง การศึกษาเรื่องลักษณะการเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างต่างๆ ของร่างกาย ที่เด็กแต่ละคน จะพัฒนาไปถึงรวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของขนาดทางร่างกาย

พัฒนาการ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ในทางที่พึงปรารถนา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อารมณ์ ทางสังคม และทางสติปัญญา ซึ่งจะเกิดติดต่อกันไปเรื่อย ๆ จากระยะหนึ่งไปสู่อีกระยะหนึ่ง

พัฒนาการ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านโครงสร้าง (Structure) และแบบแผน (Pattern) ของอินทรีย์ทุกส่วน การเปลี่ยนแปลงนี้จะก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เป็นขั้น ๆ จากระยะหนึ่งไปสู่อีกระยะหนึ่ง เพื่อที่จะไปสู่วุฒิภาวะทำให้อินทรีย์มีลักษณะและความสามารถใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ร่างกายเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เป็นลำดับ อย่างไรก็ดี คำทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกล่าวคือ จะมีพัฒนาการเกิดขึ้นได้นั้นย่อมต้องอาศัยความเจริญเติบโตของร่างกายเป็นพื้นฐาน มนุษย์ทุกผู้ทุกนามถ้าไม่มีการเจริญเติบโตแล้วย่อมจะไม่มีความสามารถใดๆหรือลักษณะใหม่ใด ๆ เกิดขึ้นเลย

คำว่า “ความเจริญเติบโต และพัฒนาการ” มีความหมายที่คล้ายกัน คือ ความเจริญเติบโต ( Growth ) หมายถึง ความเปลี่ยนแปลงในด้านขนาด รูปร่าง สัดส่วน ตลอดจนกระดูกและกล้ามเนื้อ เมื่อเราพูดถึงความเจริญเติบโตของมนุษย์ เรามักหมายถึง การที่บุคคลมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น มีส่วนสูงเพิ่มขึ้น แต่ถ้าพูดถึงพัฒนาการ ( Development ) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านโครงสร้าง ( Structure )และแบบแผน ( Pattern ) ของอินทรีย์ทุกส่วน การเปลี่ยนแปลงนี้จะก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เป็นขั้น ๆ จากระยะหนึ่งไปสู่อีกระยะหนึ่ง เพื่อที่จะไปสู่วุฒิภาวะ ทำให้อินทรีย์มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปและมีความสามารถใหม่ ๆ ขึ้นมา

จากความหมายดังกล่าวข้างต้นอาจสรุปคำว่า พัฒนาการมนุษย์ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับตัวมนุษย์ทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญาและสังคมอย่างเป็นลำดับขั้น โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมจะมีลำดับขั้นตอนของแต่ละคนแตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงอายุ และเมื่อร่างกายมีการเจริญเติบโตตามสัดส่วนที่ควรจะเป็นในช่วงอายุนั้นๆกระบวนการต่างๆ ที่ถึงพร้อมทั้งช่วงเวลาและ โครงสร้างทางร่างกายก็จะทำให้มนุษย์มีความสามารถที่จะกระทำได้และสามารถแสดงออกได้โดยระบบต่างๆ ของร่างกายโดยมีวุฒิภาวะเป็นตัวควบคุม โดยไม่ต้องเร่ง เมื่อร่างกายพัฒนาการถึงความสามารถทางด้านต่างๆ ก็จะเป็นได้เอง

องค์ประกอบที่มีผลต่อพัฒนาการของมนุษย์ คือ

1. พันธุกรรม (Heredity)
2. วุฒิภาวะ (Maturation)
3. การเรียนรู้ (Learning)
4. สิ่งแวดล้อม (Environment)

1. พันธุกรรม คือ ลักษณะต่าง ๆ ทั้งทางกายและทางพฤติกรรมที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน การถ่ายทอดนี้ผ่านทางเซลล์สืบพันธุ์ของพ่อและแม่ ลักษณะต่าง ๆ จากพ่อและแม่จะถ่ายทอดไปสู่ลูกโดยทางเซลล์สืบพันธุ์นี้ ซึ่งเรียกว่า โครโมโซม (Chromosome) สำหรับมนุษย์จะมีโครโมโซม 23 คู่ หรือ 46 ตัวมีอยู่คู่หนึ่งที่ทำหน้าที่กำหนดเพศหญิงหรือเพศชาย
อิทธิพลของพันธุกรรมที่มีต่อมนุษย์คือ เป็นตัวกำหนดเพศ รูปร่าง ชนิดของโลหิต สีผม ผิว ตา และระดับสติปัญญาเป็นต้น นักจิตวิทยาหลายคน เช่น แอนนาตาซี (Anastasi) ได้กล่าวว่าพันธุกรรมมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการของมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยีน (Gene) ที่แตกต่างจะเป็นตัวกำหนดให้แต่ละบุคคลมีพัฒนาการที่แตกต่างกันส่วนใหญ่แล้วพันธุกรรมจะมีผลต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายมากที่สุด
2. วุฒิภาวะ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีกำหนดเวลาเป็นของตนเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ มี่ขั้นลำดับอัตรา แบบแผนเป็นการพร้อมที่จะทำได้เองตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีการสอบ และเราสามารถพยากรณ์ได้ถูกต้อง วุฒิภาวะของมนุษย์แต่ละบุคคลจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นขั้น ๆ ตามลำดับวัยธรรมชาติเริ่มตั้งแต่เด็กจะมีลักษณะอย่างหนึ่ง ๆ ออกมาให้เห็น เมื่อเด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่น ในเด็กชายเราจะเห็นว่า เสียงแตก เริ่มมีขน มีหนวด มีเครา ตามหน้าหรือแขนขา ฯลฯ ขึ้นมาอย่างฉับพลันแต่ที่จริงแล้วเด็กต้องผ่านกระบวนการเจริญเติบโตไม่รู้กี่ระยะ ทัศนคดีที่มีต่อเพศตรงกันข้ามก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลง ซึ่งแต่เดิมเมื่ออายุประมาณ 6 – 7 ขวบ เด็กชายและเด็กหญิงเข้ากันไม่ค่อยได้ พอย่างเข้าสู่วัยรุ่นก็จะเริ่มมีความสนใจต่อกัน หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ เด็กเมื่อถึงระยะหนึ่งก็จะคลานได้ และเมื่อกล้ามเนื้อหรือโครงกระดูกเจริญแข็งแรงพอ ก็พร้อมจะอ่านหนังสือได้ดังนั้นเราอาจสรุปได้ว่า วุฒิภาวะ หมายถึงการบรรลุถึงขั้นของความเจริญเติบโตเต็มที่ในระยะใดระยะหนึ่ง และพร้อมที่จะประกอบกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้พอเหมาะสมกับวัย เช่น การที่เด็กสามารถเดินได้ในเวลาที่ควรจะเดินได้ เราเรียกว่าเด็กมีวุฒิภาวะพร้อมที่จะเดิน เป็นต้น วุฒิภาวะเป็นกระบวนการที่ทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์มีการพัฒนาเต็มที่ ในกระบวนการนี้เกิดขึ้นหลายๆอย่างพร้อมๆกันจะอาจจะมีการพัฒนาในอัตราที่แตกต่างกัน วุฒิภาวะบางอย่างอาจจะพัฒนาการได้เต็มที่ก่อนพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่น วุฒิภาวะของระบบประสาท ต่อมเพศ การเดิน เราอาจสรุปได้ว่าวุมิภาวะเป็นกระบวนการที่อวัยวะหรือความสามารถของพฤติกรรมได้พัมนาเต็มที่หรือพัมนาขั้นขีดสุดนั่นเอง
3. การเรียนรู้ เป็นพัฒนาการที่เกิดจากประสบการณ์และการฝึกหัด หรือความสามารถทางทักษะอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องอาศัยประสบการณ์และการฝึกหัดเป็นพื้นฐานสำคัญ ดังนั้นนักจิตวิทยาที่สนใจเรื่องการเรียนรู้ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องความพร้อม (Readiness) ว่าเป็นสิ่งสนับสนุนในเรื่องการเรียนรู้เป็นอย่างมาก จากการศึกษาเรื่องความพร้อมนักจิตวิทยาได้บ่งแนวความคิดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

3.1 ความพร้อมเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Natural Readiness Approach) กลุ่มนี้มีความเห็นว่า ความพร้อมของบุคคลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติเมื่อถึงวัยหรือเมื่อถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ดังนั้นในกลุ่มนี้จึงเห็นว่าการทำอะไรก็ตามไม่ควรจะเป็น "การเร่ง" เพราะการเร่งจะไม่ทำให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น ตรงกันข้ามอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมาคือ ความท้อถอย และความเบื่อหน่าย เป็นต้น

3.2 ความพร้อมเกิดจากการกระตุ้น (Guided Experience Approach) กลุ่มนี้มีความเห็นตรงข้ามกับกลุ่มแรก คือ เห็นว่า ความพร้อมนั้น สามารถเร่งให้เกิดขึ้นได้ โดยการกระตุ้น การแนะนำ การจัดประสบการณ์อันจะก่อให้เกิดเป็นความพร้อม ได้โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยเด็ก ซึ่งจะเป็นวัยที่มีช่วงวิกฤติ (Critical Period) ของการเรียนรู้และการปรับตัว เป็นอย่างมาก

4. สิ่งแวดล้อม ได้แก่ สิ่งที่อยู่รอบตัวบุคคลนั้น ๆ ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต นอกจากนั้นสิ่งแวดล้อมยังหมายรวมถึงระบบและโครงสร้างต่าง ๆ ที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น เช่น ระบบครอบครัว ระบบสังคม ระบบวัฒนธรรม เป็นต้น

หลักการพัฒนาการของมนุษย์

หลักการพัฒนาการของมนุษย์เพื่อเป็นการช่วยตัดสินใจว่าความเจริญเติบโตอย่างใดเรียกว่า “พัฒนาการ” ขอให้พิจารณาว่าความเจริญเติบโตนั้น เป็นไปตามหลักของพัฒนาการต่อไปนี้หรือไม่

1. พัฒนาการของคนเราดำเนินไปอย่างมีแบบแผนที่ละขั้น เช่น พัฒนาการของทารก จะเริ่มคว่ำก่อนคืบ คืบก่อนคลาน คลานก่อนนั่งหรือยืน ได้เอง ฯลฯ เป็นต้น

2. พัฒนาการของคนเราดำเนินไปพร้อมกันทั้ง 4 ด้าน และทุกด้านสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา เช่นเมื่อเด็กโตขึ้น พัฒนาการทางด้านร่างกายอันได้แก่ ส่วนสูงและน้ำหนักเพิ่มขึ้น จะมีพัฒนาการทางอารมณ์คือสามารถควบคุมพฤติกรรม ขณะเกิดอารมณ์ได้ดีขึ้น มีพัฒนาการทางสังคมคือปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้มากขึ้น และมีพัฒนาการทางสติปัญญาคือ มีความคิดอ่านเป็นของตัวเองมากขึ้น ฯลฯ เป็นต้น

3. พัฒนาการเริ่มจากส่วนหยาบไปหาส่วนย่อย เช่นเด็กจะสามารจับของใหญ่ ๆ ด้วยนิ้ว ทุกนิ้วได้ก่อนจับของเล็ก ๆ เพียง 2 – 3 นิ้ว หรือเด็กจะมองเห็นตัวหนังสือหรือรูปภาพโต ๆ ได้ก่อนและดีกว่าตัวหนังสือหรือรูปภาพเล็ก ๆ ฯลฯ เป็นต้น

4. เด็กปกติจะผ่านพัฒนาการตามลำดับขั้นแต่ด้วยอัตราที่ไม่เท่ากัน เช่นเด็กทุกคนจะต้องคว่ำก่อนคืบ หรือพูดอ้อแอ้ก่อนพูดเป็นคำ แต่เด็กแต่ละคนอาจทำแต่ละอย่างได้ในอายุที่ต่างกันบางคนอาจคว่ำได้เมื่ออายุ 4 เดือน บางคนอาจคว่ำเมื่ออายุ 5 เดือน บางคนอาจเริ่มอ้อแอ้เมื่ออายุ 8 เดือน บางคนอาจเริ่มเมื่ออายุได้ 6 หรือ 10 เดือน ฯลฯ เป็นต้น

5. พัฒนาการทั้งหลายทำนายได้เพราะพัฒนาการเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีแบบแผน เช่นเมื่อเด็กอ้อแอ้เราก็บอกได้ว่าหลังจากนี้อีก 1 หรือ 2 หรือ 3 เดือน เขาจะพูดเป็นคำได้ หรือเมื่อเด็กเริ่มตั้งไข่เราก็จะบอกได้ว่า ขั้นต่อไปของเขาคือจะยืนได้เองนาน ๆ และจะเดินเองได้ในที่สุด

ลักษณะของพัฒนาการ (Characteristics of Development)

ลักษณะของพัฒนาการ มนุษย์ที่สามารถสังเกตหรือผู้สนใจควรทราบ ได้แก่

1. พัฒนาการเป็นไปตามแบบฉบับของมันเอง ไม่ว่ามนุษย์ หรือสัตว์จะมีแบบฉบับของการพัฒนาที่เป็นของมันเองโดยเฉพาะมนุษย์ หรือสัตว์ที่จัดอยู่ในพวกเดียวกัน จะมีแบบแผนของการพัฒนาการคล้าย ๆ กัน ตัวอย่างเช่น เด็กทุกคนสามารถยืนก่อนที่จะเดิน หรือสามารถคว่ำได้ก่อนที่จะคลาน การใช้กล้ามเนื้อก็เช่นเดียวกัน เด็กสามารถที่จะใช้กล้ามเนื้อใหญ่ได้ก่อนที่จะใช้กล้ามเนื้อเล็ก ตัวอย่างเช่น เด็กสามารถเขียนรูปวงกลมได้ก่อนเขียนรูปสี่เหลี่ยม เป็นต้น

2. พัฒนาการไม่ว่าด้านใดก็ตามจะเริ่มจากส่วนใหญ่ไปสู่ส่วนน้อย เด็กทารกจะเคลื่อนไหวทั้งตัวได้ก่อนส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เด็กสามารถใช้แขนเคลื่อนไหวไปมาได้ก่อนเคลื่อนไหวนิ้วมือ สำหรับทางสายตาเด็กเกิดใหม่จะมองเห็นวัตถุใหญ่ ๆ ได้ก่อนวัตถุเล็ก ๆ เพราะว่าการเคลื่อนไหวสายตาของเด็กยังไม่ดีพอ

เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน เด็กจะต้องใช้มือสองข้างหรือใช้ตัวเอื้อมช่วยหยิบสิ่งของ แต่เมื่ออายุประมาณ 1 ขวบ เด็กจึงจะสามารถหยิบสิ่งของต่าง ๆ ด้วยมือเพียงข้างเดียวได้ในการพูดก็เช่นเดียวกันเด็กจะพูดออกเสียง อือ ๆ ออ ๆ ก่อนที่จะพูดเป็นคำ ๆ

สำหรับพฤติกรรมทางด้านอารมณ์ เด็กจะแสดงอาการกลัวในเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่พอเด็กค่อย ๆ โต ได้รับการเรียนรู้มากขึ้น เด็กจะเริ่มรู้ว่าสถานการณ์เช่นใดที่เด็กควรกลัวและไม่ควรกลัว เป็นต้น

3. พัฒนาการทั้งหลายเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกันไป พัฒนาการทุกขั้นได้ดำเนินมาก่อนแล้วก่อนที่จะมาถึงปัจจุบัน และยังจะดำเนินต่อไปอีกฉะนั้นการที่จะเข้าใจ การกระทำของเด็กจำเป็นที่จะต้องย้อนไปดูถึง การกระทำในอดีตของเด็กด้วย นั่นคือพัฒนาการไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทันทีทันใดแต่มันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนเด็กเกิด ตัวอย่างเช่นฟันของเด็กที่เราเห็นว่ามันงอกออกมาเมื่ออายุประมาณ 6 เดือนนั้น ที่จริงแล้วมันได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์ การพูดของเด็กก็เช่นเดียวกันไม่ใช่จะเกิดขึ้นทันที่ทันใด ได้มีการพัฒนามาที่ละเล็กละน้อยจากการร้องหรือการที่เด็กทำเสียงอือ ๆ ออ ๆ นั่นเอง

เนื่องจากพัฒนาการของเด็กเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกันอยู่เสมอนี่เอง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะหนึ่งจะมีอิทธิพลต่อพัฒนาการในระยะต่อๆ ไปด้วย เช่น การที่เด็กได้รับอาหารไม่เพียงพอในวัยเด็กจะทำให้ ร่างกายและจิตใจของเด็กไม่เจริญเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าจะทดแทนในภายหลังก็ไม่ได้ผลเต็มที่ทางด้านอารมณ์ของเด็กก็เช่นเดียวกัน ถ้าเด็กได้รับความตึงเครียดจากสิงแวดล้อมทางบ้านอยู่เสมอ ก็จะทำให้บุคลิกลักษณะเปลี่ยนแปลงไป

ฉะนั้น ผู้เป็นบิดามารดาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กควรตระหนังว่า พัฒนาการระยะหนึ่ง ๆ จะเป็นรากฐานของพัฒนาการในระยะต่อไป การอบรมเลี้ยงดูจึงควรส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสได้พัฒนาการในแต่ละระยะอย่างเต็มที่

4. อัตราพัฒนาการของเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกัน เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ธรรมชาติได้สร้างเด็กแต่ละคนให้มีลักษณะต่าง ๆ กัน เด็กบางคนเจริญเติบโตเร็ว เด็กบางคนก็เจริญเติบโตช้า เด็กที่มีการเจริญเติบโตเร็วมาแต่เล็ก ๆ จะยังคงเจริญเติบโตเร็วอยู่ตลอดไปในทุก ๆ ด้าน ส่วนเด็กที่มีการเจริญเติบโตช้าก็จะยังคงช้าอยู่ตลอดไปเช่นเดียวกัน

เราจะพบว่า บิดามารดามักวิตกเป็นทุกข์ในเรื่องการเจริญเติบโตของบุตรตนมาก เช่นวิตกว่าทำไม่บุตรของตนจึงพูดช้ากว่าบุตรคนอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่มีอายุขนาดเดียวกัน ทำไมบุตรของตนจึงเดินช้า ฟันขึ้นช้า ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้นลักษณะของพัฒนาการในเรื่องนี้จะทำให้บิดามารดาสบายขึ้นถ้าได้ทราบว่า เด็กแต่ละคนต่างกัน เด็กแต่ละคนมีการเจริญเติบโตของตนโดยเฉพาะการที่จะให้พูดได้ เดินได้เร็วเหมือน ๆ กันจึงเป็นไปไม่ได้ เด็กแต่ละคนจะเรียนอ่าน พูด เขียน หรือเจริญเติบโตทางร่างกาย สมอง อารมณ์ และสังคม ไปเป็นขั้น ๆ ตามสภาพความพร้อมภายในตัวเด็กแต่ละคน

5. อัตราพัฒนาการส่วนต่างๆ ของร่างกายแตกต่างกัน ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ได้เจริญในอัตราเดียวกันหมด ส่วนต่าง ๆ ที่ทางด้านสมองและร่างกายจะมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว บางส่วนจะเจริญช้า ตัวอย่างเช่น ขนาดสมองจะเจริญเติบโตถึงขีดสุด เมื่อเด็กอายุและระบบการย่อยอาหารจะเจริญอย่างรวดเร็ว ในระหว่างวัยรุ่น

สำหรับทางด้านความคิดคำนึงหรือความคิดสร้างสรรค์ จะพัฒนาอย่างรวดเร็วในระหว่างวัยเด็ก และจะเจริญถึงขีดสุดเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นหนุ่มสาวในด้านการใช้เหตุผลจะพัฒนาค่อนข้างช้า ส่วนด้านความจำ บุคคลทั่ว ๆ ไปจะจำสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้เร็วกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม และโดยทั่ว ๆ ไป สติปัญญาของคนโดยเฉลี่ยแล้วจะเจริญถึงขีดสูงสุดเมื่ออายุประมาณ 14 – 15 ปี

6. พัฒนาการของคุณลักษณะต่างๆ มักจะสัมพันธ์กัน พัฒนาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านไหนมักจะมีความสัมพันธ์กัน เช่น เด็กคนไหนที่มีสติปัญญาเฉลี่ยฉลาดก็มักมีร่างกายสมบูรณ์ตลอดจนสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้อย่างดีด้วย ส่วนเด็กที่มีสติปัญญาต่ำ เช่น เด็กที่มีสุขภาพไม่ดี ไม่สามารถเล่นกีฬาได้เหมือนเพื่อน ๆ ก็หันมาเอาใจใส่ในด้านการเรียนจนเรียนหนังสือได้เก่งเหมือนกัน แต่มักจะมีอยู่น้อยราย

7. พัฒนาการของเด็กอาจทำนายได้ เนื่องจากอัตราพัฒนาการของเด็กคงที่พอสมควรเราจึงสามารถทำนายพฤติกรรมของเด็กได้ว่า จะมีพฤติกรรมชนิดใดเกิดขึ้นเมื่อใด

8. พัฒนาการบางชนิดที่ผู้ใหญ่ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหา แต่ที่จริงแล้วจัดเป็นพฤติกรรมที่ปกติของเด็กซึ่งเป็นไปตามลักษณะของพัฒนาการนั่นเอง ในระดับอายุหนึ่ง ๆ

เด็กอาจมีพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ไม่พอใจเกิดขึ้น ซึ่งที่แท้แล้วเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามปกติของเด็กนั่นเอง เช่น เด็กอายุประมาณ 3 ขวบครึ่ง จะมีพฤติกรรมที่ไม่สมดุลต่าง ๆ เช่น ความกลัวตกง่าย และรุนแรง เมื่อเด็กอายุมากขึ้น พฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเข้าสู่สมดุล ฉะนั้นบิดามารดาจึงไม่ควรวิตกกังวลแต่อย่างไร เพราะว่าพฤติกรรมเหล่านี้นั้นจะเกิดขึ้นเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น และก็จะหายไปเมื่อเด็กผ่านพ้นวัยนั้น ๆ

การแบ่งพัฒนาการของมนุษย์

พัฒนาการของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 4 ด้านใหญ่ ๆ คือ
1. พัฒนาการทางกาย เป็นการแบ่งพัฒนาการของมนุษย์ตามขั้นตอนในแต่ละวัย
2. พัฒนาการทางด้านความคิดหรือสติปัญญา (Cognitive Development) ของเพียเจท์
3. พัฒนาการทางด้านจิตใจ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น
3.1 พัฒนาการทางด้านจิตใจ - เพศ (Psychosexual Development) ของฟรอยด์ (Freud)
3.2 พัฒนาการทางด้านจิตใจ - สังคม (Psychosocial Development) ของอีริคสัน (Erikson)

4. พัฒนาการทางด้านจริยธรรม (Moral Devlopment) ของโคลเบิร์ก (Kohlberg)

พัฒนาการด้านต่างๆ ในแต่ละช่วงวัย

พัฒนาการด้านต่างๆ ในแต่ละช่วงวัยของมนุษย์นั้นโดยทั่วไปมี 5 ช่วงคือ วัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยชรา
  1. พัฒนาการภายในครรภ์
  2. วัยทารก วัยเด็ก
  3. วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่
  4. วัยชรา