มโนภาพแห่งตน Self-Concept

ตัวตนและอัตมโนทัศน์ กับบุคลิกภาพ

1. มโนภาพแห่งตน (Self-Concept) คืออะไร ?
มโนภาพแห่งตน หมายถึง ผลรวมทั้งหมดของลักษณะประจำตัว ความสามารถ ค่านิยม เจตคติ ที่บุคคลเชื่อว่า เป็นสิ่งอธิบายตัวเขาว่าเป็นอย่างไร หรือ มโนภาพแห่งตน หมายถึง แนวคิดเกี่ยวกับตนเองว่า เป็นใคร เป็นอะไร ซึ่งเปรียบเสมือนมองเงา ในกระจกที่สะท้อนให้บุคคลได้เห็นตนเอง รู้จักตนเอง หรืออาจกล่าวได้ว่า มโนภาพแห่งตน หมายถึง เนื้อหาความรู้เกี่ยวกับตนเองที่บุคคลรับรู้
มโนภาพแห่งตน มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด กับการนับถือตนเอง แต่ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน หากบุคคลมีมโนภาพแห่งตนในทางที่ดี จะทำให้เพิ่ม การนับถือตนเอง ภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้น
การใช้ชีวิตประจำวัน มีผลต่อมโนภาพแห่งตน และในทางกลับกันการที่บุคคล มีมโนภาพ แห่งตน อย่างไรก็มีผลต่อการทำงาน มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ของบุคคลด้วยเช่นกัน

มโนภาพแห่งตนสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน ดังภาพ


มโนภาพแห่งตน

 ที่มา Joseph Massie and John Douglas, Managing : A Contemporary Introduction
(Englewood Cliffs, NJ : Prentice-Hall), P. 317.

1. Ideal Self เป็นภาพที่บุคคลอยากเห็น อยากเป็นในอนาคต สำหรับบางคนภาพจะชัดเจน เพราะเขารู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เขาต้องการในชีวิต และจะต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นได้ สำหรับบางคนอาจจะมีภาพไม่ชัดเจน และบางคนอาจจะมีภาพที่ไม่สอดคล้อง กับความจริงหรือเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่มักจะทำให้บุคคลมีปัญหาก็คือ การที่บุคคลคิดว่าได้บรรลุตนตามอุดมคติแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง จะต้องใช้เวลายาวนาน และอาศัยการตระหนักรู้ตนเอง และต้องใช้เวลาพอสมควรในการที่จะบรรลุ พ่อแม่บางคนสร้างภาพที่เด็ก ควรเป็นหรือจะได้รับการยอมรับไว้ให้เด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กไม่มีความสุข เพราะความคาดหวังเหล่านี้ อาจไม่ตรงกับ สิ่งที่เขาปรารถนา อยากเป็น ความสมบูรณ์ในอุดมคติ และภาพ 4 ส่วนของมโนภาพแห่งตนจะต้องเป็นสิ่งเดียวกันให้ได้ แต่อย่างไรก็ตามภาพ 4 ส่วนนี้ไม่สามารถ ทับกันได้ สนิทได้ตลอดไป แต่บางครั้งจะเป็นภาพที่เข้ามาใกล้ และทับกัน ก็จะทำให้บุคคล มีความสุข
โดยสรุป ตนตามอุดมคติคือ ตัวตนที่บุคคลปรารถนาจะเป็น หรือที่ควรจะเป็นซึ่งยึดมั่นในคุณงามความดี มีคุณธรรม จริยธรรม เกิดจากการอบรมสั่งสอนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี ถ้าปฏิบัติได้บุคคลก็จะรู้สึกภูมิใจ ชื่นชมในตนเอง ถ้าไม่ได้ก็จะรู้สึกหดหู่ เสียใจ อาจถึงขั้นเกลียดตัวเอง ท้อถอย หรือหมดหวัง

2. Looking - Glass Self เป็นภาพตนเองที่บุคคลคิดว่าคนอื่นมองว่า เขาเป็นคนอย่างไร เป็นภาพของตนเองที่เป็นค่านิยม ความเชื่อ ข้อกำหนดของสังคม (คนอื่นหรือสังคมต้องการให้เป็น) ตนตามความต้องการของสังคมนี้ เป็นส่วนที่ได้จากการปรุงแต่งตาม ค่านิยม หรือตาม ความต้องการของสังคม หรืออาจจะใช้คำว่า Public-self ก็จะมีความหมายใกล้เคียงกัน

3. Self – Image ตนตามการรับรู้ หมายถึง ความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองที่รับรู้เกี่ยวกับตนเอง ซึ่งการรับรู้นี้อาจจะตรงกับที่เป็นจริง ๆ หรือไม่ตรงก็ได้ ถ้าการรับรู้ตนเองเป็นด้านบวกก็จะทำให้มีเป้าหมายในชีวิตและมีความสุขได้ แต่ถ้ามีในทางกลับกันก็จะไม่มีความสุข

4. Real-Self หรือ Actual –Self ตนตามความเป็นจริงหรือตนตามอัตภาพ หมายถึง ตัวตนที่เป็นจริง ๆ ไม่เกี่ยกับการได้รับการยอมรับหรือไม่ได้รับการยอมรับของบุคคลรอบข้าง ซึ่งต้องใช้เวลาในการค้นพบตนเองว่าเป็นคนชนิดใด มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรในการดำเนินชีวิต มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร มีความสามารถด้านไหน ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ทำให้พัฒนาการของการตระหนักในตนเอง (Self-awareness) เพิ่มมากขึ้นด้วย
Carl Roger ได้เสนอว่า พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีปฏิสัมพันธ์และการตอบสนองในกระบวนการ อบรมเลี้ยงดูที่มีรูปแบบพฤติกรรม ที่ยอมรับเด็กอย่างมีเงื่อนไข และยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขจะ ค่อย ๆ พัฒนาการนับถือตนเองของบุคคล และได้อธิบายเกี่ยวกับตน ตามอัตภาพและตนตามอุดมคติได้มาก โดยเน้นเรื่องตนตามอุดมคติ ที่มาจากการอบรมเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนให้ยึดมั่นคุณงามความดี มีคุณธรรม จริยธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี จากพ่อแม่ผู้ปกครองและบุคคลรอบข้าง ซึ่งอาจแตกต่างจากตัวตนที่แท้จริงของเขา ดังนั้นปัญหาและโจทย์ชีวิตอาจจะเกิดจาก สาเหตุของการที่ตนที่เป็นจริง กับตนที่ปรารถนา จะเป็นห่างกันมากก็จะทำให้บุคคลรู้สึกหดหู่ เสียใจ หรือถึงขั้นเกลียดตัวเอง ท้อถอย หมดหวัง และสูญเสียการนับถือหรือภาคภูมิใจในตัวเองได้ แต่ถ้าหากตนที่เป็นจริงกับตน ที่ปรารถนาจะเป็นใกล้เคียงกันหรือทับกันสนิท คนจะมีความนับถือตนเองสูง บุคคลจะรู้สึกภาคภูมิใจ และชื่นชมในตัวเอง

การนับถือตนเอง (Self-esteem)

การนับถือตนเอง (Self-esteem) หมายถึง ความรู้สึก ความเชื่อที่บุคคลมีต่อตนเองว่ามีความสามารถมีคุณค่า ซึ่งจะมีระดับตั้งแต่ การนับถือตนเอง ต่ำไปจนถึง การนับถือตนเองสูง การที่บุคคลยอมรับตนเอง นับเป็นทักษะสำคัญในการที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเอง และการดำเนินชีวิต เพราะความสามารถในการรักษา สัมพันธภาพระหว่างบุคคล ได้ดี มีผลมาจาก การที่บุคคลยอมรับ หรือปฏิเสธตนเอง และจะเป็นสิ่งที่ใช้ทำนายสัมพันธภาพ ที่บุคคลอื่นมีต่อเราได้เช่นกัน ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ จะเป็นผลมาจาก การพัฒนาการนับถือตนเองของบุคคลนั่นเอง จากงานวิจัย (Harris : 1990) พบว่าคนที่มีระดับการนับถือตนเองต่ำ (Low self-esteem) จะมีปัญหาด้านอารมณ์มากกว่า คนที่มีการนับถือตนเองสูง (High self-esteem) และการนับถือตนเอง จะเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อบุคคลเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลอื่น และบางครั้งบุคคลที่นับถือตนเองต่ำ จะแสดงจุดเด่นเฉพาะบางอย่าง เช่น (การแต่งกาย, การแสดงความคิดเห็น, การเล่นกีฬา) เพื่อเป็นการชดเชย แต่บุคคลเหล่านี้ก็ไม่สามารถลดความรู้สึกพร่องใน การนับถือตนเอง หรือความภาคภูมิใจในตนเอง แม้จะพยายามสร้างจุดเด่นให้ตนเองแล้วก็ตาม แต่ในทางกลับกัน บุคคลที่มีการนับถือตนเองสูง (High self-esteem) จะสามารถมีความสุขและพึงพอใจในชีวิต เพราะเขาจะมีแรงจูงใจใน การดำเนินชีวิต ให้ประสบความสำเร็จ ที่มีผลมาจาก ความปรารถนาที่จะทำให้เป้าหมายในชีวิตหรือการทำงานบรรลุผล ไม่ใช่จากแรงจูงใจที่จะชดเชยความ รู้สึกที่ตนเอง ไม่ภาคภูมิใจในตนเอง

1 การนับถือตนเองเกิดขึ้นได้อย่างไร (Origin of Self-esteem)

ปัจจัยที่มีผลในการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลที่สำคัญ ๆ ส่วนใหญ่จะเริ่มหรือตั้งต้นจากวัยเด็กตอนต้น Carl Roger (1902-1987) นักจิตวิทยามนุษยนิยมได้อธิบายว่า การนับถือตนเองพัฒนามาจากวัยเด็ก และเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของพ่อแม่ บุคคลรอบข้างที่เด็กได้มี ปฏิสัมพันธ์ ด้วยให้การยอมรับและมีปฏิสัมพันธ์ หรือ ปฏิกิริยาตอบสนองต่อเด็กอย่างไร เด็กก็จะพัฒนาปฏิสัมพันธ์ในทิศทางที่ผู้ใหญ่มีต่อเขา พ่อแม่เป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในการพัฒนาการนับถือตนเองในวัยเด็กตอนต้น ครั้นเมื่อพัฒนามาถึงวัยเด็กตอนปลายและวัยรุ่นก็จะได้รับอิทธิพลจากครู, เพื่อนและบุคคลอื่น ๆ ที่เขามีปฏิสัมพันธ์ด้วยว่าจะมีทิศทางในการตอบสนองใน ลักษณะสร้างสรรค์หรือทำลายความรู้สึกที่เขามีต่อตัวเอง (Denis Waitley : 1993)
เมื่อพ่อแม่หรือบุคคลที่มีความสำคัญในชีวิต แสดงให้บุคคลรู้ว่าเขาได้รับการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข คือยอมรับได้ในทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นอย่างไร บุคคลก็จะพัฒนา การนับถือตนเอง มากขึ้น ยกตัวอย่างคำพูดที่ยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขได้แก่ " เอก แม่อยากให้ลูกรู้ว่าแม่รักและภูมิใจในตัวลูกมาก แต่การที่ลูกไปแกล้งเด็กผู้หญิงที่โรงเรียนนั้นมันเป็นสิ่งแม่ไม่นิยม"
ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองแสดงให้เห็นว่าสามารถยอมรับเด็กต่อเมื่อ เด็กเป็นหรือทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการ เด็กจะพัฒนาการนับถือตนเองได้ไม่ดีนัก เพราะเด็กไม่เข้าใจว่าผู้ใหญ่ต้องการให้ทำอะไรหรือต้องการอะไรจากเขา และท้ายที่สุดเขาก็จะรู้สึกว่าเป็นเด็กไม่ดี เพราะไม่สามารถทำตามที่ผู้ใหญ่อยากให้ทำได้ เด็กจะยิ่งสับสนถ้าผู้ใหญ่มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรตอกย้ำ ความรู้สึกของเด็กโดยเอาเด็กไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือความรู้สึกที่ว่าเด็กยังไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เพราะเด็กจะเปรียบเทียบ ตนเองกับเด็กคนอื่นแล้วด้อยกว่าก็จะรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองลดลง

ภาพการเกิด Self-esteem

Carl Roger เชื่อว่า Self-esteem จะพัฒนาในเด็กขึ้นอยู่กับ การยอมรับของพ่อแม่ผู้ปกครอง

พ่อแม่ ให้การยอมรับเด็ก โดยปราศจากเงื่อนไข ==>>> การนับถือตนเองสูง

พ่อแม่ ให้การยอมรับเด็ก แบบมีเงื่อนไข ==>>> การนับถือตนเองต่ำ

2. ประเภทการนับถือตนเอง (Self-esteem)

จากการศึกษาที่ผ่านมาได้อธิบายการนับถือตนเองออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 ความรู้สึกดี-ไม่ดี, บวกหรือลบเกี่ยวกับคุณค่าในตนเอง
ประเภทที่ 2 ความเชื่อในความสามารถของตนเองที่จะจัดการปัญหาได้ ซึ่งอาจเรียกอีกอย่างว่า Self-efficacy
ประเภทที่ 1 นับเป็นความรู้สึกต่อตนเองเมื่ออยู่คนเดียว ส่วนประเภทที่ 2 จะเกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับปัญหาที่ต้องแก้ไขและต้องใช้ความสามารถในการทำงานเฉพาะอย่างให้สำเร็จ ซึ่งแต่ละประเภทอาจจะสูงหรือต่ำกว่าอีกประเภทหนึ่งในบุคคลคนเดียวกันได้

3. การนับถือตนเองกับการทำงาน

ปัจจัยที่สำคัญที่บ่งบอกถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของบุคคลคือการนับถือตนเอง (Karen : 1993) ศึกษาพบว่าคนที่มีการนับถือตนเองต่ำ จะวิตกกังวลซึมเศร้า, ไม่มีเหตุผล, ก้าวร้าว และรู้สึกแปลกแยก ซึ่งจะทำให้มีปัญหาในการปฏิบัติงาน ไม่มีความสุขในการทำงาน การนับถือตนเองต่ำ มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในงานต่ำ และสัมพันธ์กับการว่างงานด้วย คนที่มีระดับการนับถือตนเองสูง (High self-esteem) จะเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ มีการปรับตัวได้ดีเมื่อต้องประสบปัญหา เพราะไม่กลัวว่าความคิดหรือความสามารถของตน จะไม่ได้รับการยอมรับ และพร้อมที่จะรับฟังข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) จากผู้อื่นและมีความพึงพอใจในงานสูงและได้งานทำมากกว่าคนที่นับถือตนเองต่ำ

การเข้าใจตนเองและผู้อื่น

อ.ปนัดดา ญวนกระโทก อ.บัณฑิตา ศักดิ์อุดม

อุปสรรคประการหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีความสุขและไม่พบความสำเร็จคือ การไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจตนเอง อาจมีบางคนแย้งว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะ ไม่รู้จักตนเอง หรือมีแต่คนเสียสติเท่านั้น ที่จะไม่รู้จักตนเอง นั่นเป็นคำโต้แย่งที่ต้องถกเถียงอีกนาน ท่านเคยเป็นหรือเคยพบคนที่มีคุณลักษณะต่อไปนี้บ้างหรือไม่ "คนที่คิดอย่างเดียวว่าตัวเองเรียนไม่เก่ง ทำให้ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าตอบคำถาม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่กล้ารายงานหน้าชั้น ทั้ง ๆ ที่เขามีความสามารถในตัวเองอีกหลายอย่าง"

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าคนเราอาจมีความเข้าใจตนเองไม่ถูกต้อง และความเข้าใจตนเองมีผลต่อพฤติกรรม โดยจะขออธิบายการเข้าใจตนเอง ตามลำดับหัวข้อดังนี้

"ตัวตน" หรือ "อัตตา" คืออะไร

ตัวตน หรืออัตตา ตรงกับคำภาษาอังกฤษ คือ คำว่า "Self" หมายความว่า ความรู้สึกนึกคิดว่าเป็นตัวเรา ของเรา ด้วยเหตุนี้คนทุกคนจึงมี "ตัวตน หรือ อัตตา" ด้วยกันทุกคน ต่างกันเพียงว่า ตัวตนของใครจะได้รับการขัดเกลาหรือยกระดับให้สูงขึ้น จนเข้าใจธรรมชาติของทุกสิ่งในโลกมากกว่ากัน หาก "ตัวตน" ไม่ได้รับการขัดเกลาหรือยกระดับให้สูงขึ้น ผู้ที่เป็นเจ้าของตัวตนนั้นก็จะเป็นคนประเภท "หลงตัวเอง" หรือ "เห็นแก่ตัว" ซึ่งคนประเภทนี้ย่อมยากที่จะ พัฒนาตนเอง ให้ไปสู่ความสุขความสำเร็จตามที่ใฝ่หา

ทฤษฎีตัวตน

คาร์ล แรนซัม โรเจอร์ส (Carl Ransom Rogerrs,1902-1987) นักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม (Humanistic Psychology) ผู้ที่ศึกษาบุคลิกภาพของมนุษย์ จากส่วนที่เป็นประสบการณ์เฉพาะตัวของบุคคล ซึ่งรวมความรู้สึก และเจตคติของบุคคล ต่อโลก ต่อชีวิต ต่อตนเอง และต่อสังคมแวดล้อมโดยมุ่งให้ ความสำคัญที่ตัวเอง และความเป็นตัวของตัวเองของบุคคลนั้น (I หรือ Me หรือ Self ) ทฤษฎีของโรเจอร์สจึงมีชื่อว่า ทฤษฎีตัวตน (Self Teory)
โรเจอร์สอธิบายว่ามนุษย์ทุกคนมีตัวตน 3 แบบ คือ

1) ตนที่ตนมองเห็น (Perceived Self หรือ Self Concept)

ตนที่ตนมองเห็น คือ ภาพของตนที่เห็นตนเองว่า ตนเป็นคนอย่างไร คือใคร มีความรู้ ความสามารถ ลักษณะเฉพาะตนอย่างไร โดยทั่วไปบุคคลรับรู้ มองเห็นตนเองหลายแง่หลายมุม อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือภาพที่คนอื่นเห็น เช่น คนที่ชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น อาจไม่นึกเลยว่า ตนเองเป็นบุคคลประเภทนั้น

2) ตนตามที่เป็นจริง (Real Self)

ตนตามที่เป็นจริง คือ ลักษณะตัวตนที่เป็นไปตามข้อเท็จจริง บ่อยครั้งที่ตนเองมองไม่เห็น ข้อเท็จจริงของตน เพราะเป็นกรณีที่ทำให้รู้สึกเสียใจ เศร้าใจ ไม่เทียมหน้าเทียมตากับบุคคลอื่นๆ รู้สึกผิดเป็นบาป เป็นต้น

3) ตนตามอุดมคติ (Ideal Self)

ตนตามอุดมคติ คือ ตัวตนที่อยากมี อยากเป็น แต่ยังไม่มี ไม่เป็นในสภาวะปัจจุบัน เช่น นาย ก. เป็นคนขับรถรับจ้าง แต่นึกฝันอยากจะเป็นเศรษฐีมีคนขับรถ ให้นั่ง นางสาว ข. เป็นคนชอบเห็นเห็นแก่ตัว แต่นึกอยากเป็นคนเก่งของสังคม เข้าคนง่าย เป็นต้น

ถ้าตนที่ตนมองเห็นกับตนตามที่เป็นจริงมีความแตกต่างกันมาก หรือมีข้อขัดแย้งกันมาก บุคคลนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นบุคคลที่ก่อปัญหาให้แก่ตัวเองและผู้อื่น

ผลดีของตนที่ตนมองเห็นตรงกับตนตามที่เป็นจริง มักมองเห็นตนตามอุดมคติที่ค่อนข้างเป็นไปได้ ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีความหวัง กระตือรือร้น และสมใจหวังอยู่เสมอ จึงมีความพอใจตนเองอยู่มาก ซึ่งมักจะนำไปสู่ความพอใจในบุคคลอื่นอีกด้วย ตรงข้ามกับบุคคลที่สร้างภาพของตนตามอุดมคติห่างไกลตนตามที่เป็นจริง มักประสบความผิดหวังในตนเองและผู้อื่น ทำให้มองตนเองและผู้อื่นในแง่ลบ มีเพื่อนน้อย คบหาสมาคมกับใคร ๆ ยาก ทำให้มีข้อสับสนและขัดแย้งในตนเองและผู้อื่น

ความเข้าใจตนเอง

ความเข้าใจตนเอง หรือ อัตมโนทัศน์ (Self Concept) หมายถึง ความรู้สึกนึกคิดที่บุคคลมีต่อตนเอง ความเข้าใจตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นตัวกำหนด พฤติกรรม หรือกล่าวได้ว่าความเข้าใจตนเองเป็นแกนกลางของบุคลิกภาพ เป็นสิ่งที่กำหนดคุณภาพของพฤติกรรมที่เราแสดงออกกับคนอื่นและกับสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้คนที่มีความเข้าใจตนเองต่างกัน ก็ย่อมจะแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกัน

ความเข้าใจตนเองของแต่ละบุคคล จะพัฒนาขึ้นมาอย่างค่อยเป็นค่อยไปและแตกต่างกันมากขึ้น เมื่อบุคคลมีวุฒิภาวะมากขึ้น และเมื่อบุคคลได้พัฒนา และเข้าใจคุณค่าของตนเองแล้ว ความเข้าใจตนเองก็จะคงที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง
จุดกำเนิดของความเข้าใจ

ความเข้าใจตนเองไม่ได้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของตัวเองเราเองเท่านั้น หากแต่ถูกกำหนดขึ้นโดยบุคคลอื่นด้วย เช่น พ่อแม่ สมาชิกในครอบครัว ครู เพื่อน และบุคคลที่อยู่แวดล้อม เป็นต้น ความเข้าใจตนเองจึงถูกกำหนดโดยผ่านคำพูดและการกระทำของคนอื่นที่เขาปฏิบัติต่อเรา ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นคนดีหรือไม่ดี น่ารักหรือไม่น่ารัก มีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่า จากปฏิกิริยาต่างๆเหล่านั้น

ดังนั้น คนที่มีความเข้าใจตนเองในทางดี จะมีความรู้สึกนึกคิดที่ดีต่อตนเอง และจะมีพฤติกรรมในทางบวก เช่น ประเมินตนเองในทางบวก เชื่อมั่นในตนเอง มองเห็นศักดิ์ศรีและคุณค่าในตนเอง นับถือตนเอง และยอมรับตนเอง ซึ่งตรงกันข้ามกับคนที่มีความเข้าใจตนเองในทางไม่ดี ก็จะมีความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดีต่อตนเอง และจะมีพฤติกรรมในทางลบ เช่น ประเมินตนเองในทางลบ มองตนเองต่ำ ไร้คุณค่า ไม่ยอมรับตนเอง คิดว่าตนไม่เป็นที่ต้องการของคนอื่น

วิธีที่จะทำให้เกิดความเข้าใจตนเอง

วิธีที่จะทำให้รู้จักและเข้าใจตนเอง มีอยู่หลายวิธี เช่น การวิเคราะห์ตนเองโดยใช้ทฤษฎีการวิเคราะห์การสื่อสารสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การตอบแบบสำรวจบุคลิกภาพ การตอบแบบสอบถาม การสังเกตตนเองและการรับฟังคำวิจารณ์ของคนอื่น เป็นต้น

บุคคลจะรู้จักและเข้าใจตนเองอย่างถูกต้องได้ ถ้าเขาพิจารณาตัวเองตามที่เป็นจริง วิเคราะห์และวิจารณ์ตนเอง ตลอดจนยอมรับคำวิจารณ์ของคนอื่น โดยไม่หลอกตัวเองและไม่เข้าข้างตนอง

คุณค่าของการเข้าใจตนเอง

การเข้าใจตนเองของบุคคลย่อมก่อให้เกิดคุณค่าต่างๆ ดังนี้

1. ทำให้สามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น
2. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดีขึ้น
3. ช่วยให้เห็นพฤติกรรมและเหตุจูงใจของพฤติกรรมของตนเองชัดเจนขึ้น
4. ช่วยให้สามารถตั้งเป้าหมายและวางแผน ตลอดจนทำงานได้อย่างดี ตามความสามารถที่มีอยู่
5. ช่วยให้รู้จักและเข้าใจคนอื่นดีขึ้น
6. ช่วยทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น

การปรับปรุงแก้ไขตนเอง

หลังจากที่บุคคลรู้จัก เข้าใจ และยอมรับตนเองตามที่เป็นจริงแล้ว ก็จะต้องตั้งเป้าหมายและวางแผนที่จะปรับปรุง แก้ไขส่วนที่บกพร่อง ที่คิดว่ามีความสำคัญ และเป็นความจำเป็นในลำดับต้น ดังนั้นถ้าจะเริ่มต้นลงมือปรับปรุงแก้ไขตนเองแล้ว การเขียนเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของเรา ที่มีต่อเป้าหมายนั้นควรเขียนให้ชัดเจน แล้วจึงเริ่มต้นลงมือดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามแผนที่วางไว้ พร้อมทั้งมีการประเมินผลการปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะ ๆ ซึ่งอาจเป็นทุก ๆ วัน หรือ ทุก 3 วัน 7 วันก็ได้ ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าจะแก้ไขได้สำเร็จตามเป้าหมาย

ภาพของตนและการเห็นคุณค่าตนเอง

การทำความรู้จักตนเอง เป็นฐานของการดำเนินการพัฒนาตน การรู้จักตนมีความสำคัญต่อการกระทำและการแสดงออกต่าง ๆ ทุกคนมักจะคิดว่า ตนรู้จักตนดีซึ่งไม่ใช่ความจริงเสมอไป เกณฑ์หนึ่งของการประเมินว่าเรารู้จักตนดีพอหรือไม่ คือ การมีพฤติกรรมที่แสดงออกในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและพอดีหรือไม่ โสคราตีส (469-399 B.C.) เป็นบุคคลแรกที่มองเห็นคุณค่าและ ความสำคัญของการรู้จักตน โดยได้กล่าวว่า จงรู้จักตน (Know yourself) และว่าชีวิตที่ไม่รู้จักตนเป็นชีวิตที่ไม่มีค่า (An unexamined life is not worth living) ชีวิตของบุคคลนั้นจะเป็นชีวิตที่มีคุณค่า หรือไม่นั้น อยู่ที่การที่บุคคลนั้นรู้จักหรือสำรวจตน หรือตระหนักรู้ว่า ชีวิตคืออะไร กำลังทำอะไรอยู่ และมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร
ดังนั้นจึงได้นำเสนอถึงแนวคิด เพื่อการรู้จักตนเอง โดยจะเริ่มจากความหมายของตน การเกิดภาพตน ประเภทของตนและ การวิเคราะห์ตน เพื่อการรู้จักตนเอง อันจะนำไปสู่ การวางแผนเพื่อพัฒนาตนให้เกิดคุณภาพตามที่ต้องการ

ความหมายของตน

ในการพัฒนาตนนี้มีคำสำคัญคือ ตน ที่ต้องทำความเข้าใจ เนื่องจากเป็นกรอบความคิดที่นักจิตวิทยาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจตนของมนุษย์ ตนหรือตัวตน เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่วิวัฒนาการตนมาหลายขั้นตอน ตามแต่พันธุกรรมและสภาพแวดล้อม เมื่อ ค.ศ. 1940 ยัง (Young) เสนอความคิดแรกเริ่มว่า ตนคือ จิตสำนึกต่อการกระทำและต่อความคิดของตนและ ที่สัมพันธ์กับบุคคลอื่น ในความหมายนี้จิตสำนึกมีความสำคัญ เพราะจิตสำนึกจะทำหน้าที่ให้มีการรู้ตัวอยู่เสมอ ในทางตรงกันข้ามถ้าจิตของมนุษย์ขาดความรู้สึกตน บุคคลก็จะไม่รับรู้ความเป็นตัวตนของตนได้ และจะอยู่ในสภาพที่ไร้ตัวตน (De-individualization) นอกจากนี้ความรู้สึกที่บุคคลมีต่อตัวตนของบุคคลยังทำให้หน้าที่ให้คุณค่าแก่ตัวตนด้วย การประจักษ์รู้ในตัวตนจึงมีหลายประกอบที่มี ความสัมพันธ์กัน และสามารถพัฒนาความเป็นตัวตนให้ปรับเปลี่ยนไปได้
ยังได้มีผู้ให้ความหมายของตน และมองตนในหลายแง่มุมด้วยกัน แต่ในที่นี้จะได้ รวบรวมมาจาก พจนานุกรมศัพท์ทางจิตวิทยา ซึ่งได้ให้ความหมายของตนไว้ 6 ความหมาย (Reber, 1985, 699-680)

1. ตน เป็นหน่วยหรือพลังภายในซึ่งทำหน้าที่ควบคุมและชี้นำแรงจูงใจ ความกลัว ความต้องการและลักษณะอื่น ๆ ของมนุษย์ ความหมายนี้พบได้ในงานของนักจิตวิเคราะห์ เช่น การสร้างสรรค์ตน ในงานของ แอดเลอร์ (Adler) ตน ของ ซัลลิแวน (Sullivan) และระบบตัวตนในงานเขียนยุคแรก ๆ ของจุง (Jung)

2. ตน หมายถึง องค์ประกอบทางจิตซึ่งทำหน้าที่ระลึกรู้เพื่อแสดงความหมายของตัวเอง ซึ่ง เจมส์ (James) ชี้ให้เห็นว่า คำที่ใช้ตามความหมายนี้ของตน คือ ฉัน ทั้งในด้านที่เป็นผู้ที่ทำความรู้จักและเป็นผู้ที่ถูกรู้จัก
3. ตน หมายถึง ผลรวมของประสบการณ์และการแสดงออกส่วนตัวของบุคคล ในฐานะที่เป็นชีวิตหนึ่ง คำที่ใช้แทนกันหรือมีความหมายคล้ายคลึงกัน ได้แก่ อีโก (Ego) บุคคล ปัจเจกบุคคล และอินทรีย์ เป็นต้น

4. ตน หมายถึง หน่วยที่ถูกจัดระบบไว้โดยรวม เป็นผลของการสังเคราะห์มวลประสบการณ์ เช่นเดียวกับความหมายที่ 3 แต่เพิ่มเติมตรงที่เน้นไปยัง การบูรณาการของประสบการณ์เหล่านั้น บุคลิกภาพเป็นคำที่มีความหมายเทียบเคียงได้ของตนโดยนัยนี้

5. ตน หมายถึง สำนึกและตระหนักในสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวของบุคคล นักจิตวิทยา บุคลิกภาพ เช่น ออลพอร์ต (Allport) ใช้ตนในความหมายนี้

6. ตน หมายถึง เป้าหมายเชิงนามธรรมหรือปลายทางแห่งมิติการพัฒนาของบุคคล ทั้งส่วน ที่รู้สำนึกและไม่รู้สำนึก การพัฒนาตนในความหมายนี้เน้นไปทางมิติของจิตวิญญาณ ซึ่งพบการใช้ตนในความหมายนี้ จากงานเขียนระยะหลังของจุง และแนวคิดเรื่อง สัจการแห่งตนของมาสโลว์ (Maslow)
ในทางพุทธศาสนา ( สo.ข. 17/95/58 ) ได้กล่าวถึงตัวตนไว้เช่นกัน โดยกล่าวว่า ตัวตนก็คือ การประกอบเข้าด้วยกันของกลุ่ม ( ขันธ์ ) 5 กลุ่ม ( กอง ) ที่เมื่อประกอบกันเข้าแล้วกลายเป็นสิ่งมีชีวิต เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา กลุ่มดังกล่าว ได้แก่ รูป ความรู้สึก ความจดจำ การปรุงแต่งความคิด และ กลุ่มความรู้ความเข้าใจและความคิด และกลุ่มเหล่านี้ไม่คงทนแต่จะ แปรเปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัยที่แวดล้อม (เริงชัย หมื่นชนะ, 2542)

เมื่อพิจารณาจากความเห็นทั้งหมดที่กล่าวมา ตน หมายถึง องค์ประกอบมากด้านที่รวมกันแล้วก่อให้เกิดชีวิตที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ทั้งโดย ที่เจ้าของชีวิตนั้น สำนึกรู้หรือไม่สำนึกรู้ก็ได้ และเอกลักษณ์นั้นสามารถแปรเปลี่ยนไปได้ตามเหตุปัจจัยที่แวดล้อม

ภาพของตน

กิจกรรมแรกของการพัฒนาตนนั้นมักเริ่มให้ผู้เรียนเขียนถึงตนเอง พรรณนาถึงตนเองในแง่มุมต่าง ๆ ที่ตนรับรู้เกี่ยวกับตนเองในปัจจุบัน ภาพที่ได้จาก การมองตนเองในลักษณะนี้ เรียกกันว่า อัตมโนทัศน์ ( Self-Concept ) ซึ่งเป็นภาพของตน หากจะตั้งคำถามว่า เหตุใดคนจึงมองภาพตนเอง ในลักษณะนั้นไม่ว่าจะในเชิงบวกหรือเชิงลบ แนวคิดต่อไปนี้จะช่วยอธิบายได้
อัตมโนทัศน์หรือภาพเกี่ยวกับตนเองนั้น มิได้มีมาแต่แรกเกิด แต่จะพัฒนามาทีละน้อยโดยผ่านการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างโดยเริ่มตั้งแต่ในวัยทารก ส่วนการที่คนเราจะมองภาพตนเองใน แบบใดนั้น มีทฤษฎีอธิบายเรื่องนี้ไว้ 2 ทฤษฎีด้วยกัน

1. ทฤษฎีการประเมินเชิงสะท้อน
ทฤษฎีนี้อธิบายว่าภาพเกี่ยวกับตนเอง เกิดจากการที่คนรอบข้างประเมินเราโดยมีฐานอยู่บนลักษณะทางกายและพฤติกรรมที่เราแสดงออก สารที่ได้รับจากประเมินจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก เป็น สารบวก ทำให้เรารู้สึกว่าได้รับการยอมรับ มีค่า น่ารัก และมีความสำคัญ เช่น คำพูดประเภทที่ว่า สวย เก่ง ดี หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกันนี้ ประเภทที่สอง เป็นสารลบ ซึ่งทำให้เรา รู้สึกด้อย รู้สึกว่าความนับถือตนเองถูกทำลาย และรู้สึกว่าเราไม่มีคุณค่า ผู้ประเมินอาจไม่ใช่บุคคลสำคัญในชีวิตและเหตุการณ์ที่เราถูกประเมินก็อาจไม่ใช่เหตุการณ์สำคัญ แต่ภาพเกี่ยวกับตนเอง จะถูกสร้างขึ้นมาจากการประเมินซ้ำ ๆ ในลักษณะที่กล่าวมา
ครอบครัวเป็นแหล่งแรกที่เราได้รับสารประเมิน ทั้งในทางบวกและในทางลบ ทำให้รู้สึกเป็น ครั้งแรกว่าถูกยอมรับ หรือถูกปฏิเสธอาจเกิดก่อนหน้าที่เรา จะพูดได้เสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก การปฏิบัติของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งโดยภาษาถ้อยคำและภาษาท่าทาง และเนื่องจากเรายังไม่มีทางอื่นที่จะสร้างภาพของตนเองขึ้นมา การประเมินในครอบครัวจึงเป็นวิธีการแรกที่เราใช้นิยามตน ซึ่งเป็นการนิยามโดยผ่านสายตา ของผู้อื่น ผู้ประเมินที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรามักเป็นพ่อแม่หรือไม่ก็เป็นผู้ที่เลี้ยงดูเรามาอย่างใกล้ชิด
ในช่วงหลังของชีวิตภาพเกี่ยวกับตนเอง จะยังคงถูกสร้างอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ด้วยวิธีการที่บุคคลอื่น ๆ ประเมินและปฏิบัติกับเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสารที่ประเมินนั้นมาจากบุคคล สำคัญในชีวิตจะยิ่งมีผลมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมิใช่สารทุกสารและคนทุกคนที่ประเมินจะมีผลต่อ การสร้างภาพเกี่ยวกับตนเอง การที่จะนำเอาสิ่งที่ประเมินมาสร้างภาพนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่อไปนี้

  • บุคคลผู้ประเมินต้องเป็นคนที่รับรู้ว่ารู้จักเราดีพอ
  • ผู้ประเมินต้องถูกรับรู้ว่าประเมินได้ตรง
  • การประเมินจะต้องสมเหตุสมผลและสอดคล้องกับการประเมินตนเองของเรา
  • การประเมินที่สอดคล้องกับข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีอยู่จะทำให้เชื่อมากกว่า การประเมินที่ตรงข้ามกัน

2. ทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม

แม้ในทฤษฎีแรกจะกล่าวว่าอัตมโนทัศน์จะสร้างขึ้นมาโดยผ่านการประเมินของคนอื่นแต่ก็มิได้เป็นอย่างนั้นโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะคนเรามีแนวโน้ม จะสร้างสิ่งแวดล้อมของตนเองขึ้นมาเท่า ๆ กับที่ตนเองตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม ในทฤษฎีที่สองนี้ เจอร์เกน (Gergen, 1972) อธิบายว่ามนุษย์เรานั้นมีความต้องการที่จะสร้างค่านิยม และแก้ไขความเชื่อของตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางครั้งก็ยากที่จะหามาตรฐานมา เพื่อการกระทำดังกล่าว ด้วยเหตุนี้คนเราจึงมองไปยังคนอื่นเพื่อเปรียบเทียบกับ ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของค่านิยม ความเชื่อหรือพฤติกรรมอื่น ๆ แม้ว่าในแง่หนึ่งทฤษฎีนี้จะบอกเราว่า เราสามารถสร้างภาพเกี่ยวกับตน จากการเปรียบเทียบกับคนอื่น แต่ในอีกแง่หนึ่งทฤษฎีนี้ก็ยังเสนอถึง วิธีที่คนเรา สามารถใช้ปรับแก้ภาพเกี่ยวกับตนเองซึ่งยังไม่เป็นที่น่าพอใจได้ด้วย
สำหรับการใช้ทฤษฎีนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพเกี่ยวกับตนเองนั้น โดยทั่วไปบุคคลจะใช้ใน 3 ประการ

ประการแรก คือ การเลือกตัวแบบที่จะเปรียบเทียบ สำหรับวัยรุ่นมักจะมองหาตัวแบบ ทางสังคมโดยอาจเป็นคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวหรืออาจเป็นคนดังในสังคม ประการที่สอง การเริ่มคิด เปลี่ยนแปลงตนให้สอดคล้องกับมาตรฐานซึ่งเห็นจากตัวแบบนั้น แม้จะไปได้ไม่ถึงก็ตาม และ ประการที่สาม การใช้ข้อมูลจากตัวแบบมาโต้เถียงหากใครก็ตามไม่เห็นด้วยกับภาพเกี่ยวกับตนเองของเรา หรือสรุปเราอาจสรุปว่า ความเห็นของผู้ที่วิจารณ์เราไม่มีคุณค่า ซึ่งก็เป็นการป้องกันตนเองอีกแบบหนึ่งของบุคคล
ไม่ว่าภาพเกี่ยวกับตนเองของบุคคลจะพัฒนาขึ้นมาตามทฤษฎีใดแต่สิ่งหนึ่งที่พบ คือ ภาพนั้นจะไม่ตายตัว ตรงกันข้ามจะเปลี่ยนไปตามวัย นอกไปจากนั้น ยังพบอีกว่า ภาพเกี่ยวกับตนเองของบุคคลนั้น จะสัมพันธ์ในทางบวกกับอายุที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อคนเราอายุมากขึ้นโอกาสที่เราจะควบคุมชีวิตของตนเองได้ด้วยตนเองมีมากขึ้น ดังนั้นคนเราจึงเลือกทำในสิ่งที่สร้างความพึงพอใจให้กับตนเองได้มากกว่า ผลที่ตามมา คือ การเกิดความรู้สึกพึงพอใจในตนเองจะมีมากขึ้นตามวัย

การเห็นคุณค่าตนเอง

อีกองค์ประกอบหนึ่งของตนและภาพของตน คือ การเห็นคุณค่าตนเอง (Self Esteem) อันเป็นระดับคุณค่าที่บุคคลให้กับตน มาสโล (Maslow,1970: 45 อ้างถึงใน ชยาพร ลี้ประเสริฐ, 2536, 24) ได้ให้ความหมายว่า การเห็นคุณค่าตนเองนั้น เป็นความต้องการอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่อยากให้ตน เข้มแข็ง ประสบความสำเร็จ มีความสามารถเพียงพอในการกระทำกิจการต่าง ๆ ช่วยเหลือตนเองได้ มีอิสระภาพ และมีความเชื่อมั่นในการเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ในโลก การเห็นคุณค่าในตนเองประกอบด้วยความมั่นใจในตนเองและการเคารพตนเอง ( Branden , 1981) และการเห็นคุณค่าในตนเองนั้นเป็นสิ่งไม่คงที่ ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ภาพที่คนเรามีเกี่ยวกับตนเองจะจำแนกออกไปได้เรื่อย ๆ ตามวันเวลาที่ผ่านไปในช่วงของพัฒนาการ เช่น เราอาจสำรวจพบว่า ความสามารถและทักษะในด้านหนึ่งของเราเพิ่มพูนขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งเราอาจไม่มีหรือมีในระดับต่ำ ดังนั้นความนับถือตนเองของบุคคลจะ แยกแยะไปตาม ภาพเกี่ยวกับตนเองด้านต่าง ๆ ที่เรามีอยู่
การพัฒนาของการเห็นคุณค่าตนเองอธิบายโดยอาศัยแนวคิด 3 แนวคิด ดังนี้ (Lenny and Gold, 1982 Balbladelis, 1984 อ้างถึงใน ชยาพร ลี้ประเสริฐ, 2536, 23-24)

แนวคิดแรก เป็นแนวคิดของการประเมินเชิงสะท้อน ซึ่งคุณค่าของตนเองจะได้มาโดยผ่านการประเมินของผู้อื่น ทั้งด้วยภาษาพูดและภาษาท่าทาง

แนวคิดที่สอง เป็นแนวคิดของการเปรียบเทียบทางสังคม ซึ่งเป็นการนำเอาตนเองไป เปรียบเทียบกับบุคคลอื่น และตามแนวคิดนี้อธิบายว่า การเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมต่ำกว่ามีผลทำให้ระดับการเห็นคุณค่าในตนเองของบุคคลเพิ่มขึ้น ในทางตรงข้ามหาก เปรียบเทียบตนเองกับบุคคลที่มีสถานภาพสูงกว่าจะนำไปสู่การลดคุณค่าของตนเองลง ดังนั้นจึงพบเสมอว่า บุคคลมีแนวโน้มจะลดคุณค่าของคนอื่น เพื่อเพิ่มระดับคุณค่าของตนเอง และการเปรียบเทียบทางสังคมนี้จะปรากฏในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

แนวคิดที่สาม เป็นแนวคิดเรื่องการจำแนกทางสังคม แนวคิดนี้อธิบายว่า การจำแนกประเภทของบุคคลในสังคมและคุณค่าที่สังคมให้กับคนแต่ละประเภทนั้น ส่งผลกระทบต่อการเห็นคุณค่าของตนในคนแต่ละประเภทด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้ชายมีการเห็นคุณค่าในตนสูงกว่าผู้หญิง ทั้งนี้เป็นเพราะตามวัฒนธรรม และประเพณีนั้น เพศชายได้รับการยอมรับและสังคมให้คุณค่ามากกว่าเพศหญิง

ส่วนองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองนั้น คูเปอร์สมิธ (Coopersmith, 1981 อ้างถึงใน ชยาพร ลี้ประเสริฐ, 2536, 24) ได้แบ่งไว้ 2 ประการ คือ องค์ประกอบเฉพาะบุคคลและ องค์ประกอบภายนอกของบุคคล

องค์ประกอบแรก เป็นองค์ประกอบเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นลักษณะของแต่ละบุคคลที่มีผลให้บุคคลเห็นคุณค่าของตนเองในด้านต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป องค์ประกอบแรกนี้ ได้แก่

  1. ลักษณะทางกายภาพ ซึ่งเป็นลักษณะที่มีผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของบุคคลโดยตรง เช่น ความสวยงามของร่างกาย หรือ ลักษณะทางกายภาพที่เอื้อต่อความสำเร็จในการทำกิจกรรมต่าง ๆ บุคคลที่มีลักษณะทางกายภาพที่น่าพึงพอใจ จะเห็นคุณค่าในตนเอง สูงกว่าบุคคลที่มีลักษณะทางกายภาพที่ ไม่น่าพึงพอใจ
  2. ศักยภาพ ความสามารถทั่วไปและสมรรถภาพ เนื่องจากองค์ประกอบประการที่สองนี้จะเป็นตัวชี้ความถี่ในการประสบความสำเร็จ ของบุคคลในการกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งเมื่ออยู่ใน โรงเรียนและในสังคม
  3. ภาวะทางอารมณ์ ซึ่งเกิดจากการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นแล้วได้มีการประเมินตนเองจากความสัมพันธ์นั้น หากประเมินได้ในทางบวก จะส่งผลให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า แต่หากประเมินได้ในทางลบจะมองว่าตนเองไร้ความสามารถและรับรู้ว่าตนเองมีคุณค่าต่ำ
  4. ปัญหาอื่น ๆ และความป่วยไข้ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตทั่ว ๆ ไป รวมทั้งการมีพฤติกรรมทำลาย ผู้ที่มีปัญหาดังกล่าว มากมักเห็นคุณค่าตนเองต่ำและแสดงออกในรูปของความวิตกกังวล
  5. ค่านิยมส่วนบุคคล โดยทั่วไปคนเราจะให้คุณค่าต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อให้คุณค่าต่อสิ่งใดแล้วก็มักจะเชื่อว่า สิ่งนั้นเป็นมาตรฐานที่สำคัญ ในการตัดสินคุณค่าของตน ยิ่งไปกว่านั้นคนเราจะมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรฐานทางสังคมตัดสินคุณค่าของตนด้วยเช่นกัน หากไม่ประสบความสำเร็จ ตามคุณค่าที่ ยึดถือจะทำให้การประเมินคุณค่าของตนเองต่ำลงไปด้วย
  6. ความปรารถนาส่วนบุคคล อีกส่วนหนึ่ง ของการตัดสินคุณค่าของตนเกิดจากการที่ตนเปรียบเทียบผลงาน และความสามารถกับมาตรฐาน ของตัวเองกับเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งเอาไว้ หากผลที่ออกมาสอดคล้องกับเกณฑ์หรือสูงกว่าจะทำให้คนผู้นั้นเห็นว่าตนเองมีคุณค่า แต่หากเป็นไปใน ทางตรงข้ามก็จะมองว่าตนเองล้มเหลวและตัดสินว่าตนเอง ไร้คุณค่า ดังนั้นการที่จะมองว่าบุคคลใดประสบความสำเร็จ จะต้องพิจารณาจาก ความปรารถนา ส่วนตัวของผู้นั้นด้วย

องค์ประกอบที่สอง เป็นองค์ประกอบภายนอกบุคคล อันหมายถึงสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการมองเห็นคุณค่าของตน องค์ประกอบที่สองนี้ ได้แก่

  1. ) ความสัมพันธ์กับครอบครัวและพ่อแม่ ประสบการณ์ที่บุคคลได้รับจากครอบครัวมี อิทธิพลสำคัญต่อการเห็นคุณค่าแห่งตนของบุคคลอย่างลึกซึ้ง การเลี้ยงดูแบบรักและสนับสนุน รวมไปถึงการให้อิสระในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามกฏเกณฑ์ของครอบครัวซึ่งระบุขอบเขตไว้ชัดเจน และการยอมรับ อย่างมีเงื่อนไข มีผลต่อความสามารถในการพัฒนาคุณค่าของตนขึ้นมาได้ในตัวเรา
  2. โรงเรียน เป็นสถาบันที่ให้เด็กพัฒนาคุณค่าของตนเองสืบต่อจากครอบครัว ดังนั้น กิจกรรมที่จัดขึ้นในโรงเรียนต้องเป็นไป เพื่อตอบสนองความ ต้องการของเด็กในการพัฒนาความคิดและการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตนเอง โดยมีครูรับบทบาทสำคัญ
  3. สถานภาพทางสังคม อาชีพ รายได้ ตำแหน่งงาน บทบาททางสังคม และสายตระกูล เหล่านี้รวมกันเป็นสถานภาพทางสังคม และพบว่าสามารถใช้เป็นตัวชี้บ่งถึงระดับของการเห็นคุณค่าในตัวเองของบุคคล
  4. สังคมและกลุ่มเพื่อน คนเราจะเห็นว่าตนเองมีคุณค่าหรือไม่เพียงไร วิธีหนึ่งที่จะทราบได้ คือ การนำเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับกลุ่มเพื่อน สิ่งที่นำมาเปรียบเทียบกันนั้น ได้แก่ ทักษะ ความสามารถ ความถนัด ผลสัมฤทธิ์ เป็นต้น หากลักษณะเหล่านี้ของเด็กสูงกว่าเพื่อน ๆ ได้รับ การยอมรับจากเพื่อนหรือเพื่อน ๆ นิยมชมชอบ จะเป็นผลให้บุคคลมองเห็นคุณค่าในตนสูงตามไปด้วย

คนเราสามารถมองเห็นคุณค่าของตนเองได้ทั้ง 2 ระดับ คือ สูงและต่ำ การที่บุคคลเห็นคุณค่าของตนเองว่าอยู่ในระดับใดนั้น อาจแสดงออกมาให้ผู้อื่นสังเกต เห็นได้อาจโดยภาษาพูดและภาษา ท่าทาง และอาจโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ซึ่งอาจใช้แนวทางที่ ชยาพร ลี้ประเสริฐ (2536: 28-29) ประมวลมา ดังนี้

ก.) ลักษณะของบุคคลที่มองเห็นคุณค่าตนเองในระดับสูง

1.) เชื่อมั่นและยอมรับตนเอง เห็นว่าตนเองมีความสำคัญ
2.) กล้าแสดงความคิดของตนแม้จะรู้ว่าผู้อื่นไม่เห็นด้วย เนื่องจากเชื่อว่าความคิดของตนเองถูกต้อง
3.) ไม่กลัวการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ซึ่งต่างไปจากเดิม
4.) มีความเชื่อมั่นในการรับรู้ ตัดสินและความเชื่อของตนในการแก้ปัญหา
5.) พูดและแสดงความคิดเห็นเมื่ออยู่ในกลุ่ม
6.) มีความเพียรพยายามที่จะเอาชนะอุปสรรคและเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อน
7.) กระตือรือร้นที่จะมุ่งไปยังจุดมุ่งหมายที่วางไว้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยอมรับ ความล้มเหลวของตนเองได้
8.) กล้าแสดงออกและยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต

ข.) ลักษณะของบุคคลที่มองเห็นคุณค่าตนเองในระดับต่ำ

1.) ไม่เห็นความสำคัญของตนเอง คิดว่าตนไม่สามารถทำให้ใครชอบพอได้
2.) ไม่คิดว่าตนเองจะทำอะไรตามที่ต้องการจริง ๆ ได้หรือสามารถทำอะไรได้ดีแม้ว่าจะพยายามแล้ว
3.) ยึดติดกับสิ่งที่คุ้นเคยและให้ความปลอดภัย เนื่องจากไม่เชื่อว่าตนเองจะควบคุม วิถีชีวิตของตัวได้
4.) ไม่กล้าแสดงตนและไม่กล้าแสดงความโกรธผู้อื่น
5.) หวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น
6.) ไม่ยอมรับความล้มเหลวของตน
7.) มีอารมณ์ตึงเครียดและวิตกกังวลสูง

ซึ่งตัวเราเองสามารถตรวจสอบระดับการเห็นคุณค่าในตัวเองจากลักษณะเหล่านี้และ ขณะเดียวกันก็สามารถใช้เป็นเป้าหมายในการเพิ่ม การเห็นคุณค่า ของตนเองโดยอาศัยกระบวนการพัฒนาตนได้