ตราสารหนี้

ตราสารหนี้ คือ เอกสิทธิ์ทางการเงินที่แสดงถึงการโอนอำนาจ การซื้อในปัจจุบันให้แก่ผู้กู้ โดยผู้ให้กู้จะได้รับผลตอบแทน หรืออัตราดอกเบี้ยตลอดจนเงินต้น ตามอัตราและเวลาที่ตกลงกัน และในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ ผู้ที่ถือตราสารหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องเงินคืนเหนือผู้ถือหุ้นสามัญ ทั้งนี้ ตราสารหนี้ยังมีคุณสมบัติที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้จนกว่าจะหมดอายุของ ตราสารนั้นอีกด้วย

ทั้งนี้ จะเห็นว่าการทำงานของตราสารหนี้นั้น ก็คือ การให้สินเชื่อชนิดหนึ่งนั่นเอง แต่โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงสินเชื่อเรามักจะนึกถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม เรื่องของตราสารหนี้มีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมจึงแยกออกมาศึกษาต่างหาก โดยพื้นฐานที่ควรศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของตราสารหนี้ ประกอบด้วย 3 ประเด็น ได้แก่
(1) องค์ประกอบของตราสารหนี้
(2) ผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการถือตราสารหนี้ และ
(3) ประเภทของตราสารหนี้

1. องค์ประกอบของตราสารหนี้ ที่สำคัญมีดังนี้

1.1 มูลค่าที่ตราไว้ (Par Value, Face Value) คือ มูลค่าเงินต้นที่ผู้ถือตราสารหนี้จะได้รับคืนเมื่อตราสารหนี้ครบกำหนด แต่มูลค่าที่ตราไว้นี้อาจลดลงเมื่อมีการจ่ายคืนเงินต้นในกรณีที่เป็นตราสารหนี้ชนิดทยอยจ่ายคืน ทั้งนี้ สิ่งที่มักสับสน คือ มูลค่าที่ตราไว้นี้ไม่ใช่ราคาของตราสารหนี้ เมื่อมีการซื้อขายในตลาดรองซึ่งราคาจะมีความผันผวน และขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งจะกล่าวต่อไป อย่างไรก็ตาม หากราคาซื้อขายสูงกว่าราคาที่ตราไว้ จะเรียกว่าเป็นราคาส่วนเพิ่ม (Premium) ในทางกลับกันหากซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ตราไว้ จะเรียกว่าราคาส่วนลด (Discount)

1.2 อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกมีภาระที่จะต้องจ่ายให้กับผู้ถือตราสารหนี้นั้น ๆ ตามวัน เดือน ปี ที่กำหนดตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น ทั้งนี้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยอาจเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) หรือเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) ก็ได้ โดยปกติแล้วการจ่ายดอกเบี้ยมักจ่ายทุก 6 เดือน แต่ก็อาจเป็นแบบจ่ายทุกเดือน ทุกไตรมาส หรือรายปี ก็ได้

1.3 วันหมดอายุ (Maturity Date) เป็นการกำหนดวันหมดอายุของตราสารหนี้นั้น ซึ่งผู้ออกจะต้องทำการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้าย (ถ้ามี) ให้กับผู้ถือตราสาร โดยทั่วไประยะเวลาตั้งแต่วันออกจนถึงวันหมดอายุมักอยู่ระหว่าง 1 วันไปจนถึง 30 ปี

1.4 ผู้ออก (Issuer) จะต้องระบุว่าผู้ออกตราสารหรือผู้กู้เป็นใคร ซึ่งจะเป็นผู้ชำระคืนเงินกู้

1.5 เงื่อนไขที่แฝงอยู่ เช่น Put หรือ Call Option หมายถึง สิทธิที่จะขายหรือซื้อคืนตราสารก่อนครบกำหนดไถ่ถอน ตามลำดับ เป็นต้น

นอกจากนี้ ตราสารหนี้อาจมีข้อสัญญา (Covenants) เป็นเงื่อนไขและข้อตกลงที่ระบุให้ผู้ออกตราสารต้องสัญญาว่าจะทำหรือไม่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อประโยชน์ของผู้ให้กู้ เช่น ในกรณีของหุ้นกู้ภาคเอกชนมักเกี่ยวกับการตกลงในระดับทุนหมุนเวียน อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นหรือภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระ การห้ามจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นสามัญเกินอัตราที่กำหนด การต้องดำรงสัดส่วนของหนี้สินต่อทุนไม่เกินอัตราที่กำหนด ข้อสัญญาอาจรวมถึงการจำกัดด้านการบริหารของผู้ออก เช่น การห้ามรวมกิจการ เป็นต้น

2. ผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการถือตราสารหนี้

ตราสารหนี้ก็เป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้ในการกู้ยืมเงินระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยผู้ให้กู้จะได้รับผลตอบแทนจากการให้กู้ยืมเงินนั้น ในขณะเดียวกันก็จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการให้กู้ยืมด้วย หากผู้กู้เป็นรัฐบาล เช่น การออกพันธบัตรออมทรัพย์ ความเสี่ยงที่รัฐบาลจะผิดนัดชำระหนี้ย่อมต่ำมาก หรือแทบจะไม่มีความเสี่ยง ดังนั้น ถ้าปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาพคล่อง คงที่แล้ว ตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐบาล หากให้อัตราผลตอบแทนที่เท่ากัน ย่อมไม่เป็นที่น่าสนใจเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่า ดังนั้น อัตราผลตอบแทนจึงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยง หากความเสี่ยงสูงขึ้นก็จะต้องมีอัตราผลตอบแทนที่เป็นส่วนเพิ่มในการชดเชยความเสี่ยง (Risk Premium) ควบคู่กันไปด้วย

2.1 อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

2.1.1 ดอกเบี้ย ซึ่งผู้กู้จะเป็นผู้จ่ายให้กับผู้ให้กู้ตามอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon Rate) แต่หากเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย (Zero Coupon Bond) ซึ่งไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย แต่สามารถซื้อตราสารดังกล่าวได้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและมูลค่าที่ตราไว้ก็เปรียบเสมือนดอกเบี้ยที่ได้รับในวันครบกำหนดไถ่ถอนนั่นเอง

2.2.2 กำไร / ขาดทุนจากการขาย (Capital Gain/Loss) คือ ผลตอบแทนที่ผู้ถือตราสารได้จากการขายตราสารดังกล่าวออกไปก่อนที่จะถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน แต่ราคาการซื้อขายพันธบัตรนั้นสามารถขึ้นลงได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยและความเสี่ยงต่าง ๆ ดังจะได้กล่าวต่อไป ทำให้มีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคาขายเป็นผลตอบแทนอีกชนิดหนึ่งให้กับผู้ถือตราสารหนี้ ซึ่งอาจจะเป็นผลบวกหรือผลลบก็ได้

2.2.3 ในกรณีของหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) หากถือจนกระทั่งมีการแปลงสภาพจากหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญ ผลตอบแทนที่จะได้รับต่อไปก็จะกลายเป็นผลตอบแทนที่เกิดจากหุ้นสามัญ เช่น เงินปันผลหรือกำไร/ขาดทุนจากการขายหุ้นสามัญ

2.2 ความเสี่ยงของการถือตราสารหนี้ ได้แก่

2.2.1 ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk, Credit Risk) คือ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของตราสารหนี้ เป็นการพิจารณาว่าผู้กู้สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขหรือไม่ ความสามารถในการบริหารสภาพคล่อง และการทำกำไรของกิจการย่อมเป็นปัจจัยกำหนดความเสี่ยงประเภทนี้ ซึ่งรวมไปถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันในอุตสาหกรรมด้วย

2.2.2 ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk, Market Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีผลทำให้ราคาของตราสารหนี้หากมีการขายคืน หรือขายในตลาดรองเปลี่ยนไปในทิศทางผกผันกับอัตราดอกเบี้ยของตลาด แต่หากผู้ถือตราสารหนี้ถือจนกระทั่งครบกำหนดไถ่ถอนก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากผลตอบแทนและการไถ่ถอนเป็นไปตามที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ตราสารจ่ายดอกเบี้ยแบบอัตราลอยตัวแปรผันตามอัตราดอกเบี้ยตลาด ราคาของตราสารชนิดนี้ในตลาดรองก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยมากนัก ทำให้ความเสี่ยงในส่วนนี้ต่ำลง

2.2.3 ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องในการซื้อขาย (Liquidity Risk) เกิดจากความนิยมหรือปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดเปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้ไม่สามารถซื้อขายตราสารในจังหวะเวลาและราคาที่เหมาะสมได้ หรือหากต้องการจะซื้อขายจริงต้องมีการเพิ่มหรือลดราคา เพื่อดึงดูดให้มีการตกลงซื้อขายเกิดขึ้น ความเสี่ยงชนิดนี้จะมีมากในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจ อุปสงค์ (Demand) ต่อตราสารหนี้ และระดับการเปิดเผยข้อมูล เป็นต้น เพื่อชดเชยความเสี่ยงประเภทนี้นักลงทุน จึงต้องการอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น

2.2.4 ความเสี่ยงจากสิทธิแฝงในตราสารหนี้ (Option - Embedded Risk) เช่น สิทธิในการเรียกไถ่ถอนตราสารหนี้คืนก่อนกำหนด (Call Risk) ของผู้กู้ ซึ่งโดยปกติการเรียกคืน มักจะทำในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้ที่ถือตราสารไม่สามารถคาดการณ์อัตราผลตอบแทนจากการถือตราสารได้ นอกจากนี้ ความเสี่ยงในความผันผวนของออฟชั่น (Option) ที่แฝงอยู่มีความเปลี่ยนแปลง (Volatility Risk) เช่น กรณีของหุ้นกู้แปลงสภาพ ซึ่งในอนาคตผู้ถือตราสารหนี้ชนิดนี้สามารถนำไปแปลงเป็นหุ้นสามัญเปลี่ยนฐานะจากเจ้าหนี้เป็นเจ้าของได้ ดังนั้น หากมีความผันผวนในราคาของหุ้นสามัญ ราคาของหุ้นกู้แปลงสภาพซึ่งอิงอยู่กับหุ้นสามัญนั้น ย่อมผันผวนตามไปด้วย

2.2.5 ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Risk) เกิดขึ้นเมื่อดอกเบี้ยที่ได้รับจากตราสารหนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามอัตราเงินเฟ้อ เช่น พันธบัตรรัฐบาลซึ่งจ่ายอัตราดอกเบี้ยคงที่ ส่งผลกระทบต่ออำนาจการซื้อ (Purchasing Power) เนื่องจากดอกเบี้ยที่ได้รับคงที่เป็นประจำทุกงวด แต่เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากที่คาดไว้ ก็จะทำให้อำนาจซื้อของเงินจำนวนเท่าเดิมลดลงไปมากกว่าที่คาดไว้เช่นกัน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้ออาจมีความผันผวนและคาดการณ์ได้ยาก ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในอำนาจซื้อในอนาคต

2.2.6 ความเสี่ยงจากอัตราผลตอบแทนที่เกิดจากการนำดอกเบี้ยไปลงทุนต่อ (Reinvestment Risk) เกิดขึ้นเพราะหากนำดอกเบี้ยที่ได้รับในระหว่างงวดจากตราสารหนี้ไปลงทุนต่อ ก็จะได้รับผลตอบแทนตามอัตราดอกเบี้ยตลาดในขณะนั้น ซึ่งเป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยในข้อ 2.2.1

2.2.7 ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ (Legal Risk) เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านตลาดทุนเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น การลดภาษีซึ่งมีผลต่อการบิดเบือนโครงสร้างอัตราผลตอบแทนไปจากเดิม เป็นต้น
3. ประเภทของตราสารหนี้

ตราสารหนี้สามารถแบ่งประเภทได้เป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามลักษณะของผู้ออก สิทธิแฝง สิทธิในการเรียกร้อง รูปแบบการจ่ายดอกเบี้ย และสินทรัพย์ค้ำประกัน ตามที่แสดงในตาราง ดังนี้

ผู้ออก สิทธิในการเรียกร้อง สินทรัพย์ค้ำประกัน รูปแบบการจ่ายดอกเบี้ย สิทธิแฝง
 1. รัฐบาล  1. หุ้นกู้ด้อยสิทธิ  1. มีหลักประกัน  1. อัตราดอกเบี้ยคงที่  1.สิทธิที่ผู้ออกจะเรียกคืนก่อนกำหนด
 2. องค์กรภาครัฐ  2.หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ  2. ไม่มีหลักประกัน  2. อัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น อาจผูกกับอัตราดอกเบี้ย ตลาด, อัตราเงินเฟ้อ หรือ ผลประกอบการ เป็นต้น  2. สิทธิที่ผู้ถือจะไถ่ถอนก่อนกำหนด
 3. ภาคเอกชน - -  3. จ่ายแบบส่วนกลับ  3. สิทธิในการแปลงสภาพ
 4. ต่างประเทศ - -  4. ตราสารคิดลด -

 

ตารางแสดงการแบ่งประเภทของตราสารหนี้ตามลักษณะต่าง ๆ

3.1 การแบ่งประเภทตามผู้ออก

3.1.1 รัฐบาลเป็นผู้ออก หากเป็นตราสารระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปีจะเรียกว่าตั๋วเงินคลัง ซึ่งมักมีลักษณะเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย (Zero Coupon Bond) ส่วนตราสารที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไปอาจอยู่ในรูปของพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์ เป็นต้น ตราสารชนิดนี้ถือว่าไม่มีหรือแทบจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้น (Default Free) เนื่องจากมีรัฐบาลเป็นลูกหนี้ แต่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลง ของอัตราดอกเบี้ยในตลาดและความเสี่ยงอื่น ๆ ยังคงมีอยู่ ปัจจุบันตลาดในประเทศไทย พันธบัตรรัฐบาลมีสัดส่วนมาก เป็นอันดับหนึ่งในตลาดตราสารหนี้ ทั้งในด้านมูลค่าคงค้างและปริมาณการซื้อขาย

3.1.2 องค์กรภาครัฐเป็นผู้ออก เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐซึ่งมีชื่อเรียกตามองค์กรที่ออกตราสาร เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และพันธบัตรในชื่อของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เป็นต้น ความสามารถในการชำระหนี้และฐานะทางการเงินขององค์กรจึงเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องพิจารณา อย่างไรก็ตาม พันธบัตรเหล่านี้หากได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลก็จะเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือและสามารถระดมทุนได้ในต้นทุนที่ถูกลง

3.1.3 ภาคเอกชนเป็นผู้ออก เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคธุรกิจเอกชนเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไปเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของตน

3.1.4 ภาคต่างประเทศเป็นผู้ออก (International Bond) ในที่นี้จะกล่าวถึงตัวอย่างตราสารในตลาดต่างประเทศ ได้แก่

1) Foreign bond เป็นตราสารหนี้ที่ออกเป็นเงินสกุลเดียวกันกับสกุลของประเทศที่ออกขาย แต่ออกโดยผู้ออกต่างประเทศ เช่น Yankee Bond ออกเป็นสกุลดอลล่าห์ขายในสหรัฐฯ แต่ออกโดยรัฐบาลไทย หรือ Samurai Bond ระดมเงินเป็นเยนและออกขายในญี่ปุ่น แต่ออกโดยหน่วยงานที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น และในกรณีของไทยเมื่อหน่วยงานต่างชาติเข้ามาออกตราสารหนี้เป็นสกุลเงินบาทก็จะเรียกว่า Baht Bond เป็นต้น

2) Eurobond เป็นตราสารหนี้ที่ออกเป็นสกุลเงินที่ไม่ใช่สกุลเงินของประเทศที่ออกขาย เช่น ตราสารที่ออกเป็นเงินเยนแต่ออกขายในสหรัฐฯ อาจเรียกว่า Euroyen Bond หรือบริษัทของออสเตรเลียออกขายตราสารหนี้ในสกุลดอลล่าห์ในประเทศต่าง ๆ แต่ไม่ใช่ในสหรัฐฯ กรณีนี้อาจเรียกว่า Eurodollar Bond เป็นต้น

3) Global Bond มีลักษณะคล้าย Eurobond แต่สามารถขายในสกุลเงินของประเทศที่ออกขายได้ด้วย เช่น ตราสารที่ออกเป็นเยนอาจออกขายในญี่ปุ่นหรือประเทศอื่น ๆ ก็ได้

3.2 การแบ่งประเภทตามสิทธิในการเรียกร้อง

ในกรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลาย คือ มีการเฉลี่ยทรัพย์หรือการชำระบัญชีบริษัท เนื่องจากบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ถูกพิพากษาให้ล้มละลาย หรือมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ ผู้ที่เป็นเจ้าหนี้ (ผู้ถือตราสารหนี้) จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสารก่อนผู้ที่เป็นเจ้าของ (ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญ) โดยผู้ที่ถือตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Unsubordinated Bond) จะมีสิทธิทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ ในการเรียกร้องสินทรัพย์ทดแทนและมีสิทธิก่อนผู้ถือตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond)

3.3 การแบ่งประเภทตามสินทรัพย์ค้ำประกัน

3.3.1 หุ้นกู้ที่มีหลักประกัน หมายถึง การที่ผู้ออกนำสินทรัพย์มาค้ำประกันการออกหุ้นกู้นั้น และผู้ถือจะมีบุริมสิทธิเต็มที่เหนือสินทรัพย์นั้น หรือเป็นการค้ำประกันจากสถาบันอื่นก็ได้

3.3.2 หุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน หมายถึง หุ้นกู้นั้นไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ ค้ำประกัน โดยหุ้นกู้ชนิดนี้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ทั่วไปของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งหากผู้ออกไม่สามารถชำระหนี้หรืออยู่ในสถานะล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้โดยการเฉลี่ยสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ตามสิทธิและสัดส่วน

3.4 การแบ่งประเภทตามลักษณะการจ่ายดอกเบี้ย

3.4.1 ตราสารที่จ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ (Straight Bond, Plain Vanilla Bond, Fixed-rate Bond) เป็นหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตามที่กำหนดและตามระยะเวลาของอายุตราสารหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วทั้งพันธบัตรภาครัฐและหุ้นกู้ของเอกชนในตลาดจะมีลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่

3.4.2 ตราสารที่จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate Bond, Floater, Index - linked Bond) หมายถึง ตราสารที่กำหนดการจ่ายดอกเบี้ยแปรผันตามอัตราอ้างอิงหรือดัชนีที่กำหนดไว้ เช่น อัตราดอกเบี้ยตลาด ดัชนีเงินเฟ้อ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และผลประกอบการของบริษัท เป็นต้น ดังนั้น การจ่ายดอกเบี้ยจึงเป็นแบบลอยตัว หากอัตราอ้างอิงหรือดัชนีที่กำหนดสูงขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายก็จะเพิ่มขึ้น แต่หากเป็นไปในทางตรงข้าม ดอกเบี้ยจ่ายก็จะลดลง

3.4.3 ตราสารที่จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัวแบบส่วนกลับ (Inverse Floater) มีลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัวเหมือนในข้อ (2) แต่ตรงข้ามกันคือ จะจ่ายดอกเบี้ยแบบผกผันกับอัตราอ้างอิงหรือดัชนีที่กำหนดไว้ เช่น กำหนดว่าจะจ่ายอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ 5% ลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายก็จะลดลง ในทางกลับกันหากอัตราเงินเฟ้อต่ำลง ดอกเบี้ยจ่ายก็จะสูงขึ้น เป็นต้น

3.4.4 ตราสารหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย (Zero Coupon Bond) เป็นตราสารที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย แต่จะอาจออกขายในราคาส่วนลด (Discount) คือต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ (ราคา Par) จนกระทั่งเมื่อถือครบกำหนดจะสามารถไถ่ถอนเงินคืนได้เต็มจำนวนตามมูลค่าที่ตราไว้ หรืออาจออกขายที่ราคาที่ตราไว้ (Par) แล้วสามารถไถ่ถอนได้ที่ราคาส่วนเพิ่ม (Premium) ก็ได้ ตัวอย่างของตราสารประเภทนี้ ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง

นอกจากการแบ่งประเภทตามลักษณะความแตกต่างในการจ่ายดอกเบี้ยแล้ว การจ่ายคืนเงินต้นก็มีลักษณะที่แตกต่างกันได้เช่นกัน นั่นคือ ตราสารทั่วไปมักจ่ายคืนเงินต้นทั้งจำนวนเมื่อครบกำหนดอายุไถ่ถอน แต่ก็มีตราสารประเภทที่ทยอยจ่ายคืนเงินต้น (Amortizing Bond) คืนแก่ผู้ถือในแต่ละงวดพร้อมกันดอกเบี้ย เป็นต้น

3.5 การแบ่งประเภทตามสิทธิแฝง

3.5.1 ตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกคืนก่อนกำหนด (Callable Bond, Redeemable Bond) หมายถึง ตราสารที่ให้สิทธิ (เป็นเพียงสิทธิ อาจไม่ใช้ก็ได้) แก่ผู้ออกในการเรียกคืนหรือไถ่ถอนหุ้นกู้นั้นก่อนกำหนด โดยปกติผู้ออกจะเรียกคืนหุ้นกู้ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงจนทำให้ต้นทุนของหุ้นกู้ที่มีอยู่นั้นสูงมากเกินควร หรือการที่อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถออกตราสารระดมทุนใหม่ในอัตราต้นทุนที่ต่ำกว่า (Refinance)

อย่างไรก็ตาม ตราสารประเภทนี้อาจแบ่งย่อยได้เป็น 2 ประเภท คือ American Callable Bond และ European Callable Bond ประเภทแรกผู้ออกสามารถสามารถเรียกคืนหลังเมื่อใดก็ได้ในช่วงเวลาที่กำหนด แต่ประเภทหลังผู้ออกสามารถใช้สิทธิเรียกคืนได้เฉพาะในวันที่ระบุไว้ล่วงหน้าเท่านั้น

3.5.2 ตราสารที่ผู้ถือมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable Bond) หมายถึง ตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด โดยรายละเอียดของเงื่อนไขและวิธีการจะกำหนดล่วงหน้าตั้งแต่วันออกตราสารนั้น ซึ่งผู้ออกสามารถเลือกที่จะไถ่ถอนหรือไม่ก็ได้ เช่น หากผู้ถือหุ้นกู้เห็นว่าอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกลดลง ผู้ถืออาจเลือกที่จะไถ่ถอนหุ้นกู้ชนิดนี้ แล้วไปลงทุนในหลักทรัพย์ใหม่ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า

3.5.3 หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) หมายถึง หุ้นกู้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการแปลงสภาพจากการถือหุ้นกู้ไปเป็นการถือหุ้นสามัญตามอัตรา ราคา และเวลาที่กำหนด

ในทางปฏิบัติ ตราสารหนี้จะมีลักษณะผสมผสานที่หลากหลายระหว่างกลุ่มที่ได้กล่าวมา เช่น บริษัทเอกชนไทยอาจเป็นผู้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิในอเมริกา ในรูปของแยงกี้บอนด์โดยจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราลอยตัว LIBOR + 1.5 และมีสิทธิที่จะซื้อคืนหุ้นกู้ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด เป็นต้น ทำให้ตราสารหนี้สามารถมีลักษณะที่แตกต่างกันได้มากมายหลากหลายชนิด ดังนั้น ผู้ที่จะซื้อตราสารหนี้รวมทั้งผู้ออกตราสารก็สามารถที่จะเลือกถือหรือออกตราสารที่มีลักษณะตามต้องการหรือเหมาะสมกันตนเองได้