การลงทุนในบ้านและที่ดิน

ตราสารอนุพันธ์ หมายถึง

การเลือกซื้อบ้านและที่ดิน เป็นการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่นักลงทุนต้องเลือกพิจารณาจากหลายๆปัจจัยก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะการตัดสินใจแต่ละครั้งมีผลต่อการลงทุน ดังนั้นนักลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มักจะมีเคล็ดลับ การเลือกซื้อบ้าน ที่สามารถสร้างผลกำไรอย่างคุ้มค่า ซึ่งในปัจจุบันทั้งบ้านใหม่หรือบ้านมือสอง ถือว่าเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่สามารถสร้างผลกำไรให้นักลงทุ นได้มากกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ รวมทั้งอัตราความเสี่ยงในการลงทุนก็มีน้อยกว่า แต่ทั้งนี้ในการเลือกซื้อบ้านและที่ดินเพื่อการลงทุนก็ยังมีปัจจัย ที่ต้องนำมาพิจารณาด้วยกันดังนี้

  • เงินทุน เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจ ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง นักธุรกิจส่วนใหญ่จึงต้องมีเงินและแหล่งเงินทุนไว้สำรองอยู่แล้ว เพื่อให้การลงทุนมีสภาพคล่อง นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงควรมีเงินเย็นไว้เป็นทุนสำรองบางส่วนด้วย
  • พิจารณาจากเพื่อนบ้านข้างเคียง เพราะเพื่อนบ้านมีความเกี่ยวพันถึงความสุข ความอบอุ่น และความสงบในการอยู่อาศัย นอกจากผู้ซื้อจะยึดหลักการเดียวกันในการพิจารณาเลือกซื้อบ้านและที่ดิน เพื่อนบ้านและสิ่งๆต่างยังเป็นองค์ประกอบที่ช่วยเพิ่มมูลค่าบ้านและที่ดินให้มีราคาสูงขึ้นได้
  • ตรวจสอบคุณภาพการจัดการชุมชนและบริการสาธารณะจากภาครัฐ เพราะเมื่อลงทุนในบ้านและที่ดินไปแล้ว ผู้ซื้อก็ต้องนำปัจจัยต่างๆเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาเพื่อเลือกซื้อเช่นเดียวกัน หากพบปัญหาควรหลีกเลี่ยงการลงทุนเพราะเมื่อลงทุนไปแล้วถึงแม้บ้านและที่ดินจะมีราคาสูงขึ้นเพียงใดหากขายไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์สำหรับการลงทุน
  • ทำเลเด่น บ้านที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีหรือทำเลเด่น เช่น การคมนาคมสะดวก มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายอยู่ใกล้สถานที่ราชการหรือห้างสรรพสินค้า
  • โอกาสดี หมายถึง มีโอกาสหรือจังหวะในการเลือกซื้อบ้านได้ในราคาถูก

ดังนั้น การเลือกซื้อบ้านและที่ดินเพื่อการลงทุน คือ แนวทางหรือวิธีทำการตลาดอย่างหนึ่งของนักลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จ ฉะนั้นวิธีคิดในการเลือกซื้อบ้านเพื่อการลงทุน เป้าหมายที่ต้องการก็คือผลตอบแทนซึ่งเป็นกำไร หรือรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการลงทุนในแต่ละครั้ง

 

การเลือกซื้อบ้านและที่ดิน เป็นการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ลงทุนจำเป็นต้องประเมินและวิเคราะห์ทางเลือกในการลงทุนทุกประเภทอยู่ตลอดเวลา เพราะการตัดสินใจแต่ละครั้งมีผลต่อการลงทุน รวมถึงเพื่อใช้ในการกำหนดจังหวะและโอกาสในการลงทุน จะได้จัดสรรเงินลงทุนลงไปในทางเลือกการลงทุนแต่ละประเภทให้เหมาะสมต่อไป

แนวคิดในการบริหารการลงทุนส่วนบุคคลโดยภาพรวม ปกติจะเริ่มต้นจากการตรวจสอบความพร้อมของตนเองที่จะลงทุนก่อน ว่ามีมากน้อยเพียงใด เมื่อแน่ใจว่าตัวเองมีความสามารถและความพร้อมที่จะดำเนินการได้แล้ว จึงจะค่อยเข้าสู่ขั้นตอนการวางโปรแกรมการลงทุน เพื่อแสวงหาและคัดเลือกแนวทางการลงทุนส่วนบุคคล ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ลงทุนต่อไป

กระบวนการลงทุนส่วนบุคคลโดยทั่วไปแล้ว จะประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน คือ

ก. การตรวจสอบความพร้อมในการลงทุนส่วนบุคคล ก่อนที่จะเข้าไปสู่ขั้นตอนการวางโครงการลงทุนใดๆ ก็ตาม ผู้ลงทุนควรตรวจสอบความพร้อมของตัวเองในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. ผู้ที่จะลงทุนจะต้องมีเงินออม
2. ผู้ลงทุนจะต้องมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ที่จะลงทุนโดยใช้เงินทุนปัจจุบันที่มีอยู่
3. ผู้ลงทุนจะต้องมีการออม เพื่อจะได้มีเงินเพื่อใช้ในการลงทุน

ข. การวางโปรแกรมการลงทุน การลงทุนทั้งในรูปบุคคลธรรมดา และสถาบัน มักมีหลักการและขั้นตอนการดำเนินการคล้ายกัน คือ

1. กำหนดจุดมุ่งหมายในการลงทุน ในการลงทุนส่วนบุคคลทุกครั้ง ควรจะตอบคำถามตัวเองได้ว่าเหตุผลจริงๆ ที่ลงทุนในครั้งนี้ต้องการอะไรกันแน่ ปกติแล้ววัตถุประสงค์ในการลงทุนของคนทั่วไปมีอยู่หลายเหตุผลด้วยกัน เช่นเพื่อสร้างรายได้ เพื่อทำให้ตัวเองมีกระแสรายได้ออกมาอย่างสม่ำเสมอ หรือเพื่อรักษาสภาพคล่อง และรักษาค่าของเงินจากภาวะเงินเฟ้อ เป็นต้น การที่ทราบวัตถุประสงค์ในการลงทุนของตัวเองให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น จะช่วยให้ท่านไม่หลงทางในดำเนินการลงทุนในขั้นตอนถัดๆ ไป

2. มองหาทางเลือกหรือประเภทของการลงทุนที่เป็นไปได้ในขณะนั้น ทั้งนี้ทางเลือกในการลงทุนอาจประกอบด้วยการลงทุนในหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ์ พันธบัตร หลักทรัพย์แปรสภาพ เงินตราต่างประเทศ ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ของเก่า หรืออาจเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านและที่ดินก็ได้

3. ทำการประเมินทางเลือกในการลงทุนในแต่ละทางเลือก โดยวิเคราะห์และเปรียบเทียบทั้งประเด็นผลตอบแทนและความเสี่ยง

4. เลือกการลงทุนที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงคุณภาพ เสถียรภาพ และจุดมุ่งหมายในการลงทุน

ค. การดำเนินการลงทุนส่วนบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขั้นตอนนี้อาจเรียกว่าเป็นขั้นตอนบริหารหรือจัดการการลงทุนก็ได้ ทั้งนี้ในการลงทุนส่วนบุคคลเพื่อประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ มีสิ่งที่ควรปฏิบัติอยู่ 10 ประการด้วยกัน คือ

1. ต้องรู้ว่านำเงินไปลงทุนที่ไหนบ้าง และให้ผลตอบแทนในขณะนี้อย่างไร กล่าวคือจะต้องคอยติดตามและตรวจสอบอยู่เสมอว่าได้ลงทุนไปแล้วเท่าไร ในหลักทรัพย์ประเภทใดบ้างและให้ผลตอบแทนในขณะนี้เท่าไร

2. ให้กำหนดเป้าหมายของผลตอบแทนในการลงทุนแต่ละประเภท ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้ทราบอย่างคร่าวๆ ว่าเงินลงทุน เมื่อลงทุนในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว จะให้ผลตอบแทนเป็นจำนวนเท่าไร

3. ต้องทราบถึงความเสี่ยงของการลงทุนและจำกัดความเสี่ยงไว้ในระดับหนึ่งที่เห็นสมควร ในการลงทุนใดๆ นั้นจะมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ดังนั้นควรจะต้องทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่มีอยู่เสมอก่อนการลงทุนใดๆ

4. ในการลงทุนใดๆ ควรกำหนดระยะเวลาการลงทุนในสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้อย่างแน่นอนเสมอ และเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว จะต้องคำนวณผลตอบแทนให้ทราบว่าเป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ นั่นคือเมื่อถึงเวลาที่กำหนดแล้ว จะเป็นเวลาที่ต้องตัดสินใจว่าจะลงทุนในสิ่งนั้นต่อไป หรือหันไปลงทุนในสิ่งอื่นแทน

5. ทำงบประมาณการลงทุนให้เห็นชัด โดยแยกงบประมาณการลงทุนออกจากงบประมาณดำเนินงาน พร้อมทั้งแยกรายได้จากการลงทุนในแต่ละทางเลือกออกมา

6. ศึกษาการเสียภาษีให้เข้าใจ เพราะรายได้จากการลงทุนในทางเลือกการลงทุนต่างๆ เสียภาษีไม่เหมือนกัน ซึ่งความรู้ทางด้านภาษีนี้ สามารถใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการลงทุนได้

7. กระจายการลงทุน ไม่ให้กระจุกตัวในทางเลือกลงทุนใดมากเกินไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันตนเองจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ จากความล้มเหลวในการลงทุนในทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งโดยไม่ได้ตั้งใจ

8. พัฒนายุทธ์วิธีลงทุนโดยการศึกษาหาความรู้และข้อมูลสำคัญต่างๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนให้เป็นไปอย่างถูกต้องยิ่งขึ้น

9. ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอในการที่ต้องเปลี่ยนแผนการลงทุนอยู่ตลอดเวลา โดยควรที่จะยึดถือแผนการลงทุนใดๆ ให้นานเพียงพอที่แผนการลงทุนให้จะแสดงผลที่ชัดเจนได้ และพร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนแปลงถ้าแผนการลงทุนนั้นไม่ประสบผล โอกาสในการประสบความสำเร็จจะน้อยลง ถ้าหากมุ่งที่วิธีการลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อควรจะเปลี่ยน

10. ต้องคอยค้นคว้าหาลู่ทางการลงทุนในสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ควรติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และคอยตรวจสอบหาสิ่งที่ควรลงทุนใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อเป็นการเตรียมการหาโอกาสไว้แต่เนิ่นๆ ในกรณีหากมีเงินพร้อมสำหรับลงทุนเพิ่มขึ้น