การจัดหาเงินทุนระยะยาว
การจัดหาเงินทุนระยะยาว
เงินกู้ระยะยาวโดยความหมายแล้วคือ เงินกู้ที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป วัตถุประสงค์โดยส่วนใหญ่แล้ว เพื่อใช้ในการจัดหาสินทรัพย์ระยะยาว หรือสินทรัพย์ถาวร เช่น อาคารสำนักงาน โรงงาน เครื่องจักร เป็นต้น
การจัดหาเงินทุนระยะยาวแบ่งออกเป็น 2 แหล่ง ได้แก่
1. การจัดหาเงินทุนระยะยาว จากภายในกิจการ
2. การจัดหาเงินทุนระยะยาว จากภายนอกกิจการ
การจัดหาเงินทุนระยะยาวจากแหล่งเงินทุนภายในกิจการ ( Internal Long - Term Financing ) ได้แก่
- ค่าเสื่อมราคา ( Depreciation ) เป็นค่าใช้จ่ายที่ตัดจากบัญชีสินทรัพย์ถาวร ตามอายุการใช้งาน แต่ไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงินออกไปจริง เมื่อจัดทำงบกำไรขาดทุน ต้องนำค่าเสื่อมราคาไปหักออกจากกำไรเพราะถือเสมือนเป็นค่าใช้จ่ายภายในงวดบัญชีนั้น ทำให้กำไรทางบัญชีต่ำกว่ากำไรที่เป็นตัวเงิน หากต้องการทราบว่ากำไรที่เป็นตัวเงินจริงเป็นเท่าไร ให้นำค่าเสื่อมราคาในแต่ละงวดมาบวกกับกำไรทางบัญชี
- กำไรสะสม ( Retained Earning ) เมื่อกิจการดำเนินงานและมีกำไรสุทธิเกิดขึ้นในแต่ละงวดบัญชี ส่วนหนึ่งของกำไรสุทธินั้นต้องจัดสรรแบ่งคืนให้ผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผล ที่เหลือนอกนั้นจะอยู่ในบัญชีกำไรสะสมของกิจการเพื่อกิจการได้ใช้ในการลงทุนต่อหรือขยายงาน
การจัดหาเงินทุนระยะยาวจากแหล่งเงินทุนภายนอกกิจการ ( External Long - Term Financing ) ได้แก่
- สถาบันการเงิน
1.1 สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน
1.2 สถาบันการเงินเฉพาะประเภท เช่น บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
1.3 บริษัทประกันชีวิตและประกันภัย - ออกหุ้นหลักทรัพย์ จำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป เช่น หุ้นกู้ พันธบัตร หุ้นบุริมสิทธฺ์ หุ้นสามัญ
องค์ประกอบของเงินกู้ระยะยาว
- อัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ หรือเรียกว่า Cuopon Rate จะเป็นได้ทั้งอัตราดอกเบี้ยคงที่ ( Fixed interest rate ) โดยที่ดอกเบี้ยจะถูกกำหนดไว้ในอัตราเดียวตลอดอายุสัญญา หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัว ( Floating interest rate ) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามภาวะการณ์ของตลาดเงิน การเลือกใช้แบบใดนั้น บริษัทหรือผู้กู้สามารถเลือกได้
- อายุของการกู้ยืม ระยะเวลาของการกู้ยืมจะขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการชำระหนี้คืนซึ่งสามารถดู้ได้จากกระแสเงินสดของบริษัท เงินกู้ระยะยาวจะถูกบันทึกเป็นหนี้สินระยะยาว
- เงื่อนไขการชำระคืน ผู้ให้กู้มักจะกำหนดให้ผู้กู้ชำระดอกเบี้ย ( รวมถึงชำระเงินต้น ) เป็นงวดๆ ไป อาจจะเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายปี แล้วแต่ตกลงกัน ซึ่งเจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้จะมีการวางเงื่อนไขที่รัดกุม เนื่องจากหากเกิดกรณีหนี้สูญ เจ้าหนี้จะเสียหายมาก
- หลักประกัน ผู้ให้กู้จะเรียกร้องให้นำหลักประกันประเภทสินทรัพย์ระยะยาวมาค้ำประกันการกู้ เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร ใบหุ้น การค้ำประกันหนี้จากบุคคลที่สาม กรมธรรม์ประกันภัย และเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงเจ้าหนี้ให้น้อยลง โดยสามารถนำหลักทรัพย์ไปขายทอดตลาดได้
- ลำดับชั้นของเจ้าหนี้ ในกรณีที่บริษัทประสบภาวะล้มละลาย เจ้าหนี้ที่มีหลักประกันจะมีความได้เปรียบเหนือเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เพราะสามารถนำสินทรัพย์ขายทอดตลาดได ขณะที่เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันต้องรอเฉลี่ยหนี้จากสินทรัพย์ที่เหลืออยู่เท่านั้น
- สกุลเงินที่กู้ โดยสกุลเงินต่างประเทศจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสกุลเงินบาท จึงเป็นแรงจูงใจให้มีการกู้ยืมจากต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อาจจะทำให้ต้นทุนสูงกว่าการกู้ในประเทศก็ได้ โดยเฉพาะที่ประเทศไทยได้กำหนดค่าเงินลอยตัวนั้น ทำให้ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนมีมากขึ้น
- ข้อจำกัดผู้กู้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของเจ้าหนี้ เช่น ห้ามจ่ายเงินปันผล เพื่อป้องกันการถ่ายเทเงินสดจากบริษัท ไปยังผู้ถือหุ้น ห้ามก่อหนี้ใหม่ ห้ามนำหลักทรัพย์ที่มีอยู่ไปเป็นหลักประกันหนี้ใหม่ เป็นต้น