แผนธุรกิจ กับ SMEs ตอน....แนวคิดของแผนธุรกิจที่ดี

แนวคิดของแผนธุรกิจที่ดี

หลังจากกล่าวถึงหน้าที่ของแผนธุรกิจไปในตอนที่แล้ว ในตอนนี้จะกล่าวถึงเรื่องของแนวคิดของแผนธุรกิจที่ดี (Concept of good business plan) ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการที่จะบอกได้ว่าแผนธุรกิจที่เขียนขึ้นมานั้นจัดเป็น แผนธุรกิจที่ดีหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นแผนธุรกิจ ที่เขียนขึ้นสำหรับการขอรับ การสนับสนุนทางการเงิน สำหรับการประกวดแข่งขัน หรือสำหรับการเรียน การสอนของนักศึกษาก็ตาม โดยถ้าเป็นแผนธุรกิจที่ดีก็ควรจะมีหลักแนวคิด เดียวกันทั้งสิ้น ซึ่งถ้าผู้เขียนแผนธุรกิจเข้าใจแนวคิดดังกล่าวอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถเขียน หรือจัดทำแผนธุรกิจที่ถือว่าเป็นแผนธุรกิจที่ดีได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนมีแนวคิด เกี่ยวกับการที่จะระบุว่า แผนธุรกิจนี้อยู่ในเกณฑ์ดีหรือไม่ จากเกณฑ์พิจารณา 5 ประการ ซึ่งคล้ายคลึงกับเกณฑ์ 5Cs ในการพิจารณาสินเชื่อ ของธนาคาร หรือสถาบันการเงิน อันประกอบด้วย Character (คุณลักษณะ), Credit (ความน่าเชื่อถือ), Capacity (ความสามารถในการดำเนินการ หรือความสามารถในการผ่อนชำระ), Collateral (หลักประกัน) และ Condition (เงื่อนไข) แต่ในปัจจุบันอาจต้องเพิ่ม C ที่หกเข้าไปประกอบก็คือ Capital (ทุน) คือ ผู้ประกอบการในปัจจุบันควรจะต้องมีเงินทุนของตนเอง ซึ่งทุนในความหมายนี้ควรจะ หมายถึงทุนที่เป็นเงินสด คือ Capital = Cash เพราะการให้วงเงินสินเชื่อในปัจจุบันจาก ธนาคารหรือ สถาบันการเงินนั้น จะพิจารณาในส่วนเงินทุนของผู้ประกอบการ ในการให้วงเงินสินเชื่อ ตามสัดส่วนทุนของผู้ประกอบการที่มีอยู่ โดยจุดหนึ่งในการ พิจารณาคือ ผู้ประกอบการมีเงินสดในมือเพียงพอ หรือไม่ เพราะสัดส่วนสินเชื่อ ที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินจะอนุมัติให้ อาจจะอยู่ระหว่าง 60%-80% ของมูลค่าการลงทุน ซึ่งส่วนที่เหลือ 20%-40% นั้น ผู้ประกอบการต้องเป็นผู้ออกทุนด้วยตนเอง โดยทุนในส่วนที่ไม่ใช่เงินสด เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร อุปกรณ์ ก็จะถูกใช้เป็นหลักประกัน (Collateral) ไปแล้วนั่นเอง สำหรับเกณฑ์ 7Cs ที่ผู้เขียนจะใช้พิจารณาว่า แผนธุรกิจที่ดีควรจะมี หรือเป็นแนวคิดเบื้องต้น สำหรับแผนธุรกิจที่ดี จะประกอบด้วย

C – Communicate
C – Commercial
C – Competitive
C – Correct
C – Clear
C – Complete
C – Convince

ซึ่งถ้าแผนธุรกิจใดก็ตามที่มี 7Cs นี้ครบถ้วน ก็จะจัดได้ว่าเป็นแผนธุรกิจที่ดี และสามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการจัดทำแผนธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ

Communicate

ความสามารถในการสื่อสารหรือการสร้างความเข้าใจ (Communication) สามารถถือได้ว่าเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของแผนธุรกิจ จากที่ได้เคย กล่าว มาแล้วเกี่ยวกับหน้าที่ของแผนธุรกิจ ที่ต้องสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับ กระบวนการในการวางแผน ดำเนินงานของธุรกิจ และผลที่เกิดขึ้น จาก การวางแผนนั้น หรือการแปลงความคิดในสมองของผู้ประกอบการ ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการแปลงจากนามธรรมมาสู่รูปธรรม ซึ่งถ้าผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผนไม่สามารถถ่ายทอด หรือให้รายละเอียดของ ความคิดของตนออกมาได้ ก็เป็นการยากที่จะทำให้ผู้อื่น เชื่อได้ว่า ธุรกิจนี้มีการวางแผนที่ดี เพราะแม้แต่เจ้าของความคิดยังไม่สามารถระบุ หรือไม่เข้าใจแม้แต่สิ่งที่ตนเองวางแผนไว้ได้ แล้วจะให้ผู้อื่น เข้าใจได้อย่างไร แต่ถ้าผู้ประกอบการสามารถถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ก็แสดงว่าอย่างน้อย ก็มีความเข้าใจและ อาจสามารถสื่อสารได้เป็นเบื้องต้น ดังนั้นแผนธุรกิจที่ดีเมื่ออ่านแล้วผู้อ่านจะเข้าใจในตัวธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะไม่เข้าใจทั้งหมด อย่างถ่องแท้ อันอาจจะเนื่องมาจากจำนวนหน้าหรือรายละเอียดของแผนธุรกิจที่จำกัด แต่อย่างน้อยผู้อ่านก็พอจะเข้าใจได้ว่า ธุรกิจนี้คือ ธุรกิจอะไร สภาพตลาดและอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคตเป็นอย่างไร และส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร ธุรกิจมีการวางแผนการบริหารจัดการ แผนการตลาด แผนการผลิต และแผนการเงินอย่างไร รวมถึงมีความน่าสนใจหรือให้การสนับสนุนหรือไม่ โดยไม่ว่าผู้อ่าน จะตัดสินใจว่า ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ดีควรได้รับการสนับสนุน หรือเป็นธุรกิจที่ไม่ดีไม่สมควรที่จะเสี่ยงที่จะสนับสนุนหรือควรลงทุนก็ตาม อย่างน้อยผู้อ่านต้อง เข้าใจ ในรายละเอียดของแผนธุรกิจก่อนเป็นอันดับแรก เพราะจุดบกพร่องสำคัญที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับแผนธุรกิจที่พบอยู่เสมอ คืออ่านแล้วไม่เข้าใจ ในข้อมูลสำคัญต่างๆ ตามที่ผู้อ่านคาดหวังหรือต้องการทราบเกี่ยวกับธุรกิจ ซึ่งถ้าแผนธุรกิจฉบับนั้นไม่สามารถ สามารถสื่อสาร ให้เข้าใจได้ ผู้อ่านก็มักจะตัดสินใจก่อนเลยเป็นเบื้องต้นว่าแผนธุรกิจนั้นเป็นแผนธุรกิจที่ไม่ดี หรือธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่ไม่ดี และจะไม่ให้ความสนใจ ในที่สุด แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วธุรกิจนั้นอาจเป็นธุรกิจที่ดีมีอนาคต หรือผู้ประกอบการ มีความสามารถ ในการบริหารจัดการ ให้ธุรกิจ ประสบความสำเร็จได้ถ้าได้มีโอกาสดำเนินธุรกิจก็ตาม นอกจากนี้ในเรื่องของ การสื่อสารที่ผ่านตัว เอกสารแผนธุรกิจแล้ว ยังเป็นเรื่องของ การสื่อสารผ่านตัว ผู้ประกอบการเองอีกด้วย เนื่องจากไม่เคยมีการอนุมัติหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการ โดยการพิจารณาเฉพาะ ตัวเอกสารแต่อย่างเดียว การสื่อสารผ่านตัวผู้ประกอบการหรือการสัมภาษณ์ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน หรืออาจจะถือว่า เป็นส่วนสำคัญมากกว่าเสียอีก เพราะบ่อยครั้งที่พบว่าแผนธุรกิจที่นำเสนอเป็นแผนธุรกิจที่ดี แต่เมื่อผู้อ่านซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อ หรือคณะกรรมการ สอบถามข้อมูลหรือสัมภาษณ์ผู้ประกอบการเพื่อต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กลับพบว่า ผู้ประกอบการไม่สามารถ ถ่ายทอดหรือสื่อสารให้เข้าใจได้ หรือเป็นในลักษณะ "พูดไม่รู้เรื่อง" อันอาจเนื่องมาจากผู้ประกอบการไม่ได้เป็น คนเขียนแผนธุรกิจ ด้วยตนเอง และไม่ได้ทำความเข้าใจในแผนธุรกิจอย่างละเอียด ทำให้ได้รับคำปฏิเสธในที่สุด ดังนั้นพึงระลึกว่าแผนธุรกิจ ในส่วนที่เป็นเอกสาร เป็นขั้นตอน เบื้องต้นในการสื่อสารไปยังผู้อ่าน เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจเบื้องต้นและมีความสนใจในธุรกิจ และขอให้ผู้ประกอบการ นำเสนอด้วย คำพูด และอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อการพิจารณาในการให้การสนับสนุนในภายหลัง ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ ผู้เขียนจะได้นำเสนอ โดยละเอียด ในโอกาสต่อไป ในหัวข้อเกี่ยวกับการนำเสนอแผนธุรกิจ เนื่องจากถือเป็น จุดบกพร่อง สำคัญที่พบอยู่เสมอในเรื่องของแผนธุรกิจ คือผู้เขียนมักมุ่ง เน้นในเรื่องของการเขียนให้ครบ เขียนให้ถูกต้องตามหัวข้อ โดยลืมนึกถึง การนำเสนอแผนธุรกิจซึ่งถือ เป็นหัวใจสำคัญอันหนึ่ง ที่ผู้อ่านใช้ พิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับ แผนธุรกิจ ในการเห็นชอบหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการ

Commercial

ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ (Commercial) ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ เพราะแผนธุรกิจเป็นเรื่องของธุรกิจ ซึ่งต้องเป็น เรื่องจริง มิใช่สิ่งเพ้อฝัน และหลักพื้นฐานของธุรกิจคือการประกอบกิจการเพื่อสร้างผลกำไร ดังนั้นถ้าแผนธุรกิจนั้น ไม่สามารถแสดงให้เห็น หรือแสดงได้ไม่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าวว่าธุรกิจนี้มีความเป็นไปได้จริง หรือมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำเป็นธุรกิจหรือเป็นเชิงพาณิชย์ได้ ก็ถือได้ว่าแผนธุรกิจนี้ยังไม่ดีเพียงพอ เพราะความเป็นไปได้จริงของการดำเนินธุรกิจ หรือการมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ คือสิ่งที่ผู้อ่านคาดหวัง เกี่ยวกับทุกๆธุรกิจ โดยสิ่งที่พบในเรื่องความเป็นได้ในเชิงพาณิชย์ที่ปรากฏในแผนธุรกิจ มักจะเป็นแผนธุรกิจจากผู้ประกอบการใหม่ หรือประเภทผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการใหม่ มีแนวความคิดใหม่ๆ หรือเป็นธุรกิจที่พัฒนาขึ้นจากทรัพย์สินทางปัญญา หรือจากงานวิจัยต่างๆ กล่าวคือ อาจเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้าหรือบริการที่ดี มีนวัตกรรม แต่มักจะพบว่ามีความเป็นไปได้ต่ำที่จะนำมาผลิตในเชิงพาณิชย์ อันเป็นผล จากในเรื่องของการลงทุนเริ่มต้น หรือต้นทุนการผลิตเมื่อจะนำมาผลิตในเชิงอุตสาหกรรม หรือต้องมีการให้ความรู้แก่ตลาด เนื่องจาก เป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่มีลูกค้ารู้จัก หรือจากการที่มีศักยภาพทางการตลาดต่ำ อันเนื่องจากลูกค้าเป็นลูกค้ากลุ่มเล็กหรือมีลูกค้าน้อยราย หรือเป็น สินค้าที่ขายได้ในวงแคบ ซึ่งอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนของการขายและบริหารในระดับสูง จนผู้ประกอบการรายเล็ก หรือผู้ประกอบการ ที่ขาดแคลนเงินทุน ไม่สามารถที่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบเพื่อการพาณิชย์ให้เกิดขึ้นจริงได้ รวมถึงความสามารถใน การบริหารจัดการธุรกิจ ไม่ว่าจะมาจากทีมผู้บริหารเอง หรือจากการรับรู้ของลูกค้าในตลาดก็ตาม รวมทั้งแม้ว่าธุรกิจจะมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ แต่ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่ดำเนินการจะต้องมีผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ หรืออยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยตาม มาตรฐานของผลตอบแทน ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม เดียวกัน จึงจะถือว่าถูกต้องในประเด็นดังกล่าว

Competitive

ความสามารถในการแข่งขัน (Competitive) ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สร้างความแตกต่างหรือความโดดเด่นในแผนธุรกิจที่ได้นำเสนอ โดยปกติแล้วทุกๆธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในตลาด อย่างน้อยก็ต้องมีธุรกิจที่มีสินค้าและบริการที่มีลักษณะเหมือนกัน คล้ายคลึงกัน หรือสามารถ ทดแทนกันได้ อยู่ในตลาดหรืออุตสาหกรรมอยู่ก่อนหน้าแล้ว เพราะเป็นการยากหรือแทบจะเป็นไม่ได้เลยว่า จะมีธุรกิจซึ่งไม่มีคู่แข่งขัน อยู่เลยในตลาด ยกเว้นแต่ธุรกิจประเภทผูกขาด (Monopoly) หรือธุรกิจของตนนั้นมีเพียงหนึ่งเดียวจริงๆ (Original Business) ดังนั้นแผนธุรกิจต้องแสดงให้เห็นได้ว่าธุรกิจของตนสามารถแข่งขันกับธุรกิจที่มีอยู่เดิมได้อย่างไร หรือมีประเด็นใดที่เป็น ความสามารถ ในการแข่งขันของตน (Competitive Edge) โดยประเด็นดังกล่าวนี้มิได้หมายความว่า ธุรกิจจะต้องมีลักษณะในกระบวนการ ดำเนินการ ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง จากกระบวนการดำเนินการของธุรกิจที่มีอยู่โดยทั่วไป เพราะเป็นสิ่งที่พบได้มากใน แผนธุรกิจบางแผน ที่ผู้เขียนอาจมี แนวคิดว่าต้องเขียนให้มีความแตกต่างจากธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือต้องแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากธุรกิจที่เป็นอยู่ จึงจะสามารถแข่งขันได้ หรือเป็นธุรกิจที่ดี เพราะในข้อเท็จจริงแล้วแต่ละธุรกิจก็จะมีองค์ประกอบ หรือกระบวนการอันเป็นข้อจำกัดที่เหมือนๆกันอยู่ ซึ่งไม่ว่าธุรกิจใด ก็ตาม ถ้าดำเนินการในประเภทธุรกิจเดียวกัน ก็จะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงหรือเหมือนกันแทบทั้งสิ้น รวมถึงอาจลืมคิดไปว่า สิ่งใดก็ตามที่เขียน ขึ้นนั้น มีความจำเป็นที่ต้องมีการลงทุนหรือเกิดค่าใช้จ่ายขึ้น โดยเฉพาะในด้านการตลาดแบบใหม่ๆ ที่มักจะลงทุนสูง ในส่วนของค่าโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ แต่สิ่งที่แผนธุรกิจต้องแสดงให้เห็นในส่วนของการแข่งขันนี้ คือ เรื่องของแนว ความคิดใน การดำเนินธุรกิจแบบใหม่ (New business idea) ที่แตกต่างและดีกว่าธุรกิจเดิมโดยทั่วไป แต่ถ้าไม่ใช่ธุรกิจใหม่คือ เป็นการดำเนินธุรกิจ ประเภทเดียวกัน หรือเป็นประเภท Me Too Business แผนธุรกิจก็ควรต้องบอกได้ถึงจุดแข็ง หรือข้อได้เปรียบที่จะ ทำให้ธุรกิจสามารถ แข่งขัน กับธุรกิจอื่นที่มีอยู่ในตลาดได้ เพราะถ้าธุรกิจไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ก็หมายความว่า ธุรกิจมีได้มีจุดเด่นเหนือธุรกิจอื่นที่มีอยู่ในตลาด อันจะส่งผลให้ผู้อ่านพิจารณาว่าธุรกิจนี้มีความเสี่ยงในแง่ของการดำเนินการ หรือผู้เขียนแผนยังไม่มีการวางแผนในการดำเนินธุรกิจที่ดีเพียงพอ

Correct

ความถูกต้อง (Correct) สำหรับความถูกต้องที่เกี่ยวพันแผนธุรกิจในที่นี้ มีอยู่หลายประเด็นในการพิจารณา เช่น มีโครงสร้างของแผนธุรกิจ ที่ถูกต้อง คือมีรายละเอียดของหัวข้อต่างๆตามมาตรฐานของแผนธุรกิจพึงมี เช่น บทสรุปผู้บริหาร แนวคิดของธุรกิจหรือ ประวัติความเป็นมา ของธุรกิจ การวิเคราะห์ตลาดและอุตสาหกรรม ข้อมูลพื้นฐานรายละเอียดของธุรกิจ รายละเอียดของสินค้าและบริการ แผนการบริหารจัดการ และแผนงานด้านบุคลากร แผนการตลาด แผนการผลิตหรือแผนบริการ แผนการเงิน ภาคผนวกและเอกสารแนบ ซึ่งถือเป็นโครงสร้าง พื้นฐานทั่วไปของแผนธุรกิจ หรืออาจแตกต่างออกไปถ้าเป็นแผนธุรกิจเพื่อการประกวดหรือการแข่งขัน หรือมีรายละเอียดบางส่วน ที่ต้อง เพิ่มเติม นอกเหนือ เช่น ต้องมีการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน การประเมินและการจัดการความเสี่ยง แผนฉุกเฉินของธุรกิจ แผนดำเนินการ ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแผนธุรกิจดังกล่าวเขียนขึ้นโดยใคร หรือใครเป็นผู้อ่าน หรือมีวัตถุประสงค์ใน การใช้หรือนำเสนอ แผนธุรกิจนี้ด้วย เหตุผลใด รวมถึงข้อกำหนดจากหน่วยงานหรือผู้อ่านแผน ว่าต้องการข้อมูลหรือรายละเอียดใดที่ต้องการให้ระบุไว้ในแผนธุรกิจ นอกจาก ความถูกต้องในเรื่องโครงสร้างของแผนแล้ว ยังเป็นเรื่องของความถูกต้องเกี่ยวกับความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของธุรกิจ ว่าธุรกิจที่ตน ดำเนินการนั้น มีข้อจำกัด หรือจุดเด่นจุดด้อยหรือมักเกิดปัญหาขึ้นในจุดใด เพราะถ้ารายละเอียดที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจผิดเพี้ยน หรือไม่ถูกต้อง ตามข้อเท็จจริงของสภาพธุรกิจแล้ว ก็หมายความว่าแผนการหรือวิธีการดำเนินการของธุรกิจ ก็จะไม่ใช่ข้อเท็จจริงตามลักษณะธุรกิจด้วยเช่นกัน เช่น สภาวะตลาด อัตราผลตอบแทนของธุรกิจหรืออุตสาหกรรม พฤติกรรมการตัดสินใจในการซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นต้น และการลง รายละเอียด เกี่ยวกับต้นทุนต่างๆของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนด้านการผลิต ค่าใช้จ่ายในการขายหรือบริหาร ต้องเป็นต้นทุน ที่แท้จริงหรือ ต้นทุนที่ถูกต้อง หรือสอดคล้องกับต้นทุนการดำเนินการของธุรกิจ ประเภทเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลไปยัง ความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับ ความเป็นไปได้ ในเชิงพาณิชย์ตามที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นแล้ว หรืออาจเป็นประเด็นในเรื่องของความถูกต้องตามข้อกำหนด กฏหมาย และระเบียบข้อบังคับ เพราะธุรกิจจะเกิดขึ้นได้จริงจะต้องเป็นธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะในกรณีที่ธุรกิจนี้ถ้าดูเนื้อหาตามรายละเอียดของแผนธุรกิจ ถือเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรได้ดี แต่ทว่าการที่ธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมาย ธุรกิจนี้ย่อมไม่สามารถ เกิดขึ้นหรือ ดำเนินการได้จริง หรือรวมถึงการมีลักษณะที่สามารถระบุได้ว่าขัดต่อศีลธรรม ประเพณี ก็จะมีลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ ความถูกต้อง ยังอาจรวมถึง สมมติฐานต่างๆที่ใช้ในการประมาณการ การคำนวณต่างๆโดยเฉพาะทางด้านการเงิน ที่ต้องถูกต้องในผลลัพธ์ จากการ คำนวณต่างๆ หรือการจัดทำเอกสาร เช่น ความถูกต้องในการพิมพ์อักษร และจัดทำตัวแผนธุรกิจที่ต้องถูกต้องตามมาตรฐาน โดยเฉพาะสาระสำคัญต่างๆ เช่น จำนวนเงิน เป็นต้น

Clear

ความชัดเจน (Clear) หรือความกระจ่างถือเป็นสิ่งที่แผนธุรกิจที่ดีพึงมี เพราะจากที่กล่าวมาก่อนหน้าว่า แผนธุรกิจเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เกี่ยวกับการวางแผนของธุรกิจและการแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ต่างๆที่เกิดขึ้นจากการวางแผน ดังนั้นผู้อ่านแผน นอกจากจะต้องเข้าใจ ในตัวธุรกิจ แล้ว สิ่งต่างๆที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจควรจะมีความชัดเจน แจ่มแจ้งเพียงพอต่อผู้อ่าน ในการตัดสินใจเกี่ยวกับธุรกิจ หรือสามารถสันนิษฐานได้ว่ าธุรกิจที่จะดำเนินตามแผนนั้นเป็นไปได้จริง โดยให้มีข้อสงสัยน้อยที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจ นี้มีความเป็นไปได้ ตามที่ระบุไว้ในแผน หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลในการดำเนินธุรกิจ ผลกระทบต่างๆและการตอบสนองของธุรกิจต่อสภาวะตลาดและอุตสาหกรรม ลักษณะสินค้า และบริการของธุรกิจ แผนการดำเนินงานต่างๆของธุรกิจ ที่ต้องมีความสอดคล้อง กลมกลืน และเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ว่าเป็นเพราะ เหตุใด ธุรกิจจึงเลือกที่จะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการเช่นนั้นเช่นนี้ หรือการมีข้อมูล งานวิจัย ว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นี้สามารถผลิตขึ้นมาได้จริง มิใช่เป็นเพียงความคิดหรือความเฟ้อฝัน สิ่งที่กล่าวอ้างว่ามีจำนวนลูกค้าที่สนใจ หรือมียอดขายในระดับที่น่าพอใจนั้น มีเอกสารหรือข้อมูล การตลาดใดที่สามารถยืนยัน เพื่อรองรับรายละเอียดที่ระบุดังกล่าวว่าเป็นความจริง เพราะแผนธุรกิจเป็นการกล่าวถึงเรื่องของธุรกิจ ซึ่งต้อง เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ดังนั้นผู้อ่านจึงคาดหวังในเรื่องของข้อพิสูจน์ (Proof) มากกว่าการสันนิษฐาน (Assume) แม้ว่าสำหรับธุรกิจใหม่ จะถือเป็นการยากที่จะหาข้อพิสูจน์มายืนยันได้ว่า ธุรกิจของตนสามารถดำเนินการและจะเกิดผลลัพธ์ตามที่ได้ระบุไว้ในแผนธุรกิจ เมื่อเทียบกับ ธุรกิจที่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลามาก่อนหน้า แต่อย่างน้อยก็ควรจะมีสิ่งที่ช่วยยืนยัน หรือข้อสนับสนุนเพียงพอที่จะให้ผู้อ่านมีความกระจ่าง หรือไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับธุรกิจว่าสามารถเกิดขึ้น หรือดำเนินการได้จริงตามแผนได้ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของที่มาเกี่ยวกับประมาณการต่างๆ ที่กำหนดไว้ในแผนธุรกิจ เช่น จำนวนลูกค้า ประมาณการของยอดขาย ประมาณการในการเติบโตหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น สิ่งที่คาดการณ์หรือคาดคะเนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องมีความเชื่อถือ เพียงพอหรือ สามารถแสดงให้เห็นถึง สาเหตุในการกำหนด เกี่ยวกับการคาดคะเน ตัวเลขต่างๆ อย่างมีเหตุผลและเป็นที่น่าเชื่อถือ เพียงพอที่ผู้อ่านจะไม่เกิดข้อสงสัย หรือความไม่เชื่อมั่นว่า เป็นไปได้จริง กับตัวเลขหรือประมาณการต่างๆที่กำหนดขึ้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเบื้องต้นคือกรอบแนวคิดสำหรับการจัดทำแผนธุรกิจที่ดี ไม่ว่าจะเป็นแผนธุรกิจที่เขียนขึ้นในวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ความสามารถในการสื่อสาร หรือการถ่ายทอด ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ ความสามารถในการแข่งขัน ความถูกต้องใน ประเด็นต่างๆของ ธุรกิจ และความชัดเจนในรายละเอียดของธุรกิจ เป็นสิ่งที่แผนธุรกิจควรมีอยู่ให้ครบถ้วน ถ้าจะถือว่าแผนธุรกิจดังกล่าวเป็นแผนธุรกิจที่ดี ไม่ว่าจะมีจำนวนหน้าของแผนธุรกิจเพียง 10 หน้า หรือจนกระทั่งถึง 50 หรือนับร้อยหน้าก็ตาม ถ้าปราศจากเกณฑ์ดังกล่าว ก็จะไม่สามารถ นับว่า เป็นแผนธุรกิจที่ดีได้ ดังนั้นถ้าแผนธุรกิจหรือผู้เขียนแผนธุรกิจจัดทำหรือเขียนแผนธุรกิจขึ้น โดยมีองค์ประกอบหรือมีแนวคิดทั้ง 5 ส่วน และ C แต่ละตัว ที่กล่าวถึงนี้ต่างมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยถ้าแผนธุรกิจดังกล่าวมี 5Cs ครบถ้วนแล้ว อย่างน้อยก็จะสามารถถือได้ อยู่ในเกณฑ์ที่จะเรียกได้ว่า เป็นแผนธุรกิจที่ดีได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการที่จะเป็นแผนธุรกิจที่ดีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ผู้เขียนแผนธุรกิจ มีความเข้าใจ และมีความสามารถเพียงใดในการเขียนแผนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา ความชัดเจน ความครบถ้วน ในการระบุ รายละเอียด ต่างๆของธุรกิจ การจัดรูปแบบเอกสาร ซึ่งจะช่วยเพิ่มเติมความสมบูรณ์และความครบถ้วนของแผนธุรกิจให้ดีมากยิ่งขึ้น

Complete

ความสมบูรณ์ในตัวแผนธุรกิจ (Complete) ถือเป็นประเด็นสำคัญในการจัดทำแผนธุรกิจอีกประการหนึ่ง โดยความสมบูรณ์ในที่นี้จะหมายถึง ความสมบูรณ์ของรายละเอียดต่างๆทั้งหมดในแผนธุรกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการในการวางแผนในการดำเนินธุรกิจ รวมถึง ข้อมูล ประกอบอื่นๆที่สำคัญ และจำเป็นสำหรับการพิจารณาเกี่ยวกับธุรกิจ โดยสำหรับโครงสร้างของแผนธุรกิจมาตรฐานทั่วไป จะมีรายละเอียดในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งแสดงถึงเหตุผลในการเลือกดำเนินธุรกิจ ประวัติความเป็นมาของธุรกิจ ซึ่งแสดงถึงประวัติความเป็นมา ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ อุปสรรค และความสำเร็จของกิจการ ผลการดำเนินการที่ผ่านมาในอดีต เช่น รายได้ ผลกำไร หรือขาดทุน การเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์ หรือทุนของกิจการ เป็นต้น รายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ซึ่งแสดงถึง รายละเอียด ของผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ เช่น แบบ ขนาด การใช้ประโยชน์ สี คอร์ส เป็นต้น ราคาขายของผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า ราคาค่าบริการ สถานที่จำหน่าย หรือสถานที่ให้บริการผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ รูปแบบการโฆษณา หรือการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น สภาวะตลาด หรือ อุตสาหกรรม ซึ่งแสดงถึงสภาพตลาด หรืออุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ สภาพการแข่งขัน ข้อมูลของคู่แข่ง การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน และภายนอก ของธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า SWOT analysis อันเป็นการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของกิจการ เป็นต้น ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ ซึ่งแสดงถึงข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของธุรกิจ เช่น ชื่อของกิจการ สภาพการเป็นนิติบุคคล สถานที่ตั้งของธุรกิจ ทุนจดทะเบียน หรือทุนของกิจการ เป็นต้น และแผนดำเนินงานของธุรกิจ อันประกอบด้วย แผนการบริหารจัดการซึ่งมักจะเป็นเรื่องของบุคลากร การกำหนด วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย เป็นต้น แผนการตลาด ซึ่งจะเป็นเรื่องของการกำหนดเกี่ยวกับลูกค้าเป้าหมายของกิจการ การกำหนดกลยุทธ์ ทางการตลาดที่ตอบสนองต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งจะประกอบด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด ได้แก่ กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ด้านราคา กลยุทธ์ด้านช่องทางจัดจำหน่าย กลยุทธ์ด้านส่งเสริมการตลาด แผนการผลิต หรือบริการ ซึ่งเป็นเรื่องของการแสดงรายละเอียด เกี่ยวกับ กระบวนการในการผลิต หรือให้บริการ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับสถานประกอบการในการผลิต หรือการให้บริการ ขั้นตอนการผลิต หรือให้บริการ การแสดงถึงกระบวนการในการผลิต หรือการให้บริการ เป้าหมายการผลิต หรือการให้บริการ เป็นต้น แผนการเงิน ซึ่งแสดงเกี่ยวกับรายละเอียดของที่มา หรือรายได้ของกิจการ ประมาณการต้นทุน หรือค่าใช้จ่าย งบการเงินของธุรกิจอันประกอบด้วย งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน เป็นต้น แผนการวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจ หรือแผนฉุกเฉิน ซึ่งแสดงถึงแนวทางการระบุถึงปัญหา หรือความเสี่ยงของธุรกิจ และแนวทางในการแก้ไขปัญหา แผนการปรับปรุงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งแสดงถึงวิธีการ หรือแนวทางการดำเนินงานที่จะทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้ระบบสารสนเทศ การวางระบบบัญชี หรือการบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นต้น ภาคผนวก หรือเอกสารแนบซึ่งเป็นเอกสาร หรือข้อมูลประกอบต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุน ความน่าเชื่อถือในแผนธุรกิจ ซึ่งในส่วนของแผนการวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจ หรือแผนฉุกเฉิน และแผนการปรับปรุงเ พื่อเพิ่มขีดความ สามารถ นั้นเป็นแผนดำเนินการส่วนเสริมที่ขึ้นอยู่กับผู้จัดทำแผนว่าจะมีการจัดทำ หรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดในแผนธุรกิจ ก็ควรจะมี เรื่องของ ข้อมูล เกี่ยวกับธุรกิจ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจ ประวัติความเป็นมา สภาวะตลาด หรืออุตสาหกรรม แผนการบริหารจัดการ แผนการตลาด แผนการผลิต หรือบริการ และแผนการเงิน รวมถึงภาคผนวกให้ครบถ้วน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของแผนการเงิน ที่ผู้จัดทำแผนธุรกิจซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มักจะไม่สามารถจัดทำได้อย่างถูกต้อง หรือไม่สามารถจัดทำได้เลย หรือสมมติฐานต่างๆ ขาดความน่าเชื่อถือ หรือไม่สามารถเป็นไปได้จริง ทำให้แผนธุรกิจส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการ SMEs มักขาดความสมบูรณ์ เนื่องจากแผนการเงิน หรือผลลัพธ์ทางการเงินถือเป็นตัววัดผลประกอบการของธุรกิจ รวมถึงตัวเลขต่างๆในแผนการเงินนั้นมีที่มาจากกิจกรรม หรือวิธีการดำเนินการต่างๆของธุรกิจในแผนการตลาด แผนบริหารจัดการ แผนการผลิต หรือแผนบริการ ซึ่งสิ่งต่างๆที่กำหนดขึ้นนี้ จะเป็น ต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายของกิจการ โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างรายได้ให้กับ กิจการเพื่อหวังในผลกำไร ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นถ้าแผนธุรกิจ ขาดในส่วนของแผนการเงินที่ถูกต้อง ย่อมทำให้แผนธุรกิจฉบับนั้น ไม่สมบูรณ์เพียงพอ ในการพิจารณาเกี่ยวกับ รายละเอียดต่างๆของแผนธุรกิจ ว่ามีความน่าเชื่อถือ หรือมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

Convince

การสร้างความน่าเชื่อถือ (Convince) อาจถือได้ว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดสำหรับการจัดทำแผนธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อ การจัดทำแผนธุรกิจ นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการนำเสนอต่อบุคคลภายนอก เช่น ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เนื่องจากการตัดสินใจในการให้การสนับสนุนนั้น ขึ้นอยู่กับว่า แผนธุรกิจนั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด รายละเอียดต่างๆในแผนธุรกิจมีความเป็นเหตุเป็นผล มีความสอดคล้องใน แผนงาน ต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความมีประสิทธิภาพในการวางแผนธุรกิจของผู้จัดทำ โดยสิ่งที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือนี้ก็จะมาจาก 6Cs ที่ได้กล่าวถึง มาแล้วก่อนหน้านั่นเอง คือ ผู้อ่าน หรือผู้พิจารณาแผนสามารถเข้าใจในรายละเอียดต่างๆระบุไว้ในแผนธุรกิจ ธุรกิจมีความเป็นไปได้ ในเชิงพาณิชย์ หรือสามารถดำเนินการได้จริง ธุรกิจสามารถแข่งขันกับธุรกิจอื่นที่มีอยู่ได้ รายละเอียดต่างๆในแผนธุรกิจมีความถูกต้อง มีความชัดเจน เพียงพอที่จะไม่เกิดข้อสงสัยในรายละเอียดต่างๆที่ระบุไว้ และแผนธุรกิจมีความครบถ้วนสมบูรณ์ ในรายละเอียด หรือหัวข้อ ต่างๆ ของแผนธุรกิจสำหรับผู้อ่าน หรือผู้พิจารณาแผน

สุดท้ายนี้หวังว่า เรื่องของ 7Cs ของแนวคิดเกี่ยวกับแผนธุรกิจที่ดีนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้จัดทำแผนธุรกิจ ในการประเมินถึงประสิทธิภาพ ของแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผนธุรกิจที่เขียนขึ้นสำหรับการขอรับการสนับสนุนทางการเงิน สำหรับการประกวดแข่งขัน หรือสำหรับการเรียนการสอนของนักศึกษาก็ตาม


Source : รัชกฤช คล่องพยาบาล ที่ปรึกษา ส่วนบริการปรึกษาการเงินและการร่วมลงทุน
ฝ่ายประสานและบริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)