ต้นแบบธุรกิจ

จากผู้ประกอบการหรือผู้เข้ารับการอบรมว่าแผนธุรกิจที่ดีและถูกต้อง ควรจะเป็นเช่นใด และต้องมีองค์ประกอบใดบ้าง จึงจะถือว่าครบถ้วน ซึ่งในฐานะที่ปรึกษาธุรกิจและวิทยากรอบรมด้านการจัดทำแผนธุรกิจ ผู้เขียนก็จะชี้แจง รายละเอียดต่างๆให้ผู้ถาม หรือผู้อบรมรับทราบ อยู่เสมอถึง องค์ประกอบต่างๆที่แผนธุรกิจควรมี รวมถึงได้เขียนคู่มือการเขียนแผนธุรกิจ ที่ใช้เป็นคู่มือใน การจัดทำแผนธุรกิจ ให้แก่ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไปทั้งที่เป็นหนังสือคู่มือ และการ Download File จาก Website ของสสว. แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการ บางรายสอบถามผู้เขียนว่า ถ้าตนเองเขียนหรือแสดงรายละเอียดตามหัวข้อต่างๆที่ปรากฏใน คู่มือการเขียนแผนธุรกิจของ สสว. หรือจาก โครงสร้างการเขียนแผนธุรกิจ จากหน่วยงานอื่นๆก็ตาม จะถือว่าเป็นแผนธุรกิจที่ใช้ได้หรือเป็นแผนธุรกิจที่ดีใช่หรือไม่ ซึ่งผู้เขียนก็ตอบ ประเด็นดังกล่าว ไปตามลักษณะของแผนธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายนั้น สอบถามมาเป็นกรณีไปแต่เนื่องจาก คำนิยามของแผนธุรกิจ มีค่อนข้างหลากหลาย สำหรับผู้เขียนแล้ว คำจำกัดความของแผนธุรกิจจะหมายถึง "เอกสารซึ่งแสดงถึงข้อมูลและรายละเอียดของธุรกิจ รวมถึงวิธีการและกระบวนการ ในการดำเนินการของธุรกิจ ในทุกด้าน ที่ได้ผ่านการวางแผนขึ้นตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของธุรกิจนั้น รวมถึงแสดงให้เห็นถึง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของธุรกิจจาก วิธีการและกระบวนการ ในการดำเนินการของธุรกิจที่ได้กำหนดขึ้น" ซงที่ต้องระบุว่าเป็นเอกสาร (Document) นั้น ก็เพราะว่าถ้าไม่มีการจัดทำเป็นเอกสาร หรือลายลักษณ์อักษร ก็จะเป็นเรื่องของ การวางแผนธุรกิจ (Business Planning) โดยมิได้พิจารณาถึงเรื่องของหน้าที่ของแผนธุรกิจ ที่เป็นเครื่องมือใน การสื่อสารของ การวางแผนธุรกิจต่อผู้อ่าน หรือบุคคลภายนอก หรือถ้ากล่าวโดยง่าย แผนธุรกิจ (Business Plan) ก็คือเอกสารที่แสดงถึง การวางแผนของธุรกิจนั่นเอง ดังนั้นถ้าผู้จัดทำแสดงรายละเอียดได้ครบถ้วน แต่ไม่มีการวางแผนในการทำธุรกิจที่ดี ก็จะเป็นเพียงแต่เอกสาร ที่เรียกว่า แผนธุรกิจเท่านั้น แต่ไม่ถือได้ว่าเป็น แผนธุรกิจที่ถูกต้องหรือเป็นแผนธุรกิจที่ดี

นอกจากนี้การวางแผนธุรกิจคือ การวางแผนว่าธุรกิจจะทำอะไรในวันนี้ หรือปัจจุบันรวมถึงในอนาคตของธุรกิจ และจะเกิดผลลัพธ์ อะไรขึ้น จากการกระทำนั้น ดังนั้นถ้าไม่สามารถแสดงผลลัพธ์ หรือที่มาของ การกระทำดังกล่าวได้ ซึ่งมักเป็นเรื่อง ของการประมาณการต่างๆ เช่น ที่มาของลูกค้า ยอดขาย ต้นทุน ผลกำไร ให้เป็นที่ เชื่อถือของผู้อ่านแผนธุรกิจว่า เป็นจริงหรือสามารถเกิดขึ้นได้ตาม ที่ระบุไว้ ในแผนธุรกิจ ก็ไม่ถือว่าเป็น แผนธุรกิจที่ดีเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีข้อมูลครบถ้วน ตามหัวข้อต่างๆของแผนธุรกิจที่ควรมีก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบัน ความรู้ด้าน การจัดทำแผนธุรกิจ ถูกให้ความสำคัญจาก หน่วยงานต่างๆ ที่พยายามพัฒนาและ ผลักดันให้ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีการวางแผน และสามารถจัดทำ แผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการจัดฝึกอบรม การจัดทำคู่มือเอกสาร รวมถึงตำราวิชาการต่างๆ ที่กล่าวถึง การจัดทำแผนธุรกิจ การมีวิชาการเรียน การสอนด้าน การจัดทำแผนธุรกิจ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา ในการเป็นผู้ประกอบการ ใหม่ในอนาคต ซึ่งรวมถึงการจัดประกวดแผนธุรกิจ ทั้งในระดับอาชีวะ ปริญญาตรี ปริญญาโท จากหน่วยงานหรือ องค์กรต่างๆ ที่เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งผู้เขียนในฐานะที่เป็นทั้งวิทยากรอบรม และกรรมการ พิจารณา ตัดสินแผนธุรกิจในการประกวดบางรายการที่จัดขึ้นดังกล่าว ได้เห็นถึง พัฒนาการ ของนักศึกษาที่มีความรู้ความเข้าใจใน การจัดทำแผนธุรกิจ มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้ว นักศึกษายังขาดความเข้าใจ ในประเด็นสำคัญ บางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนธุรกิจ ในการแข่งขัน หรือการประกวด (Business Plan Competition) คือเรื่องของการมี Business Model ในแผนธุรกิจที่ส่งประกวด ที่ต้องเน้นในเรื่องของ แนวความคิดใหม่ๆของธุรกิจ (New Business Idea) หรือเป็นธุรกิจที่มีความสามารถด้านการแข่งขัน (Competitive Edge) ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่า เรื่องของการพัฒนา Business Model สู่ Business Plan หรือ แผนธุรกิจนี้ น่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจในเรื่องของการจัดทำแผนธุรกิจ ไม่เฉพาะนักศึกษา หรือเฉพาะแผนธุรกิจที่ส่งเข้าประกวดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ประกอบการทั่วไปอีกด้วย เพราะ Business Model ถือเป็นแนวความคิด เริ่มต้น และเป็นแกนหลักสำคัญในการที่จะจัดทำแผนธุรกิจ เพื่อให้เป็นแผนธุรกิจที่ดีและมีความสมบูรณ์ครบถ้วน รวมถึงกระบวนการในการคิด Business model นี้ยังเป็นสิ่งที่ช่วยในการกำหนดการเริ่มต้นดำเนินการของธุรกิจ การปรับปรุงกระบวนการในการบริหารจัดการ หรือพัฒนาธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

คำว่า Business model นี้ยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจน บางครั้งก็จะใช้คำว่า ต้นแบบธุรกิจ โครงร่างธุรกิจ เป็นต้น ทั้งที่ส่วนใหญ่แล้ว คำว่า Business model ก็เป็นที่กล่าวถึงและถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่กลับพบว่าไม่มีการกล่าวถึง คำจำกัดความอย่างชัดเจน หรือระบุถึงองค์ประกอบต่างๆ ของสิ่งที่ระบุได้ว่า Business Model โดยคำจำกัดความของ Business model ตามที่ปรากฎในการอ้างอิงปัจจุบันจาก Wikipedia, The free encyclopedia ได้ระบุคำจำกัดความของ Business Model ไว้คือ

A conceptual tool that contains a set of elements and their relationships and allows expressing the business logic of a specific firm. It is a description of the value a company offers to one or several segments of customers and of the architecture of the firm and its network of partners for creating, making and delivering this value and relationship capital, to generate profitable and sustainable revenue streams.

เครื่องมือทางความคิดที่ประกอบด้วยการแสดงถึงองค์ประกอบต่างๆ และตรรกะหรือความเป็นเหตุเป็นผลในการดำเนินการขององค์กร ซึ่งจะพรรณาถึงคุณค่าของธุรกิจที่เสนอต่อลูกค้า โครงสร้างขององค์กร และการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนธุรกิจ การสร้าง และการส่งมอบคุณค่าและความสัมพันธ์ของการลงทุนในการสร้างผลกำไรและกระแสรายรับอย่างยั่งยืน

Source : Wikipedia:The free encyclopedia, Osterwalder, Pigneur and Tucci (2005)

จากคำนิยามหรือคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น อาจจะดูเป็นเรื่องของนามธรรมซึ่งยากต่อการทำความเข้าใจ ดังนั้นเพื่อให้ง่ายต่อ การทำ ความเข้าใจใน Business Model ที่จะพัฒนาไปสู่การจัดทำแผนธุรกิจ จึงขอให้ผู้อ่านจากภาพที่แสดงถึงองค์ประกอบต่างๆ 10 ประการที่ Business Model ควรมีอยู่ หรือได้รับการคิดหรือวางแผนในการกำหนดขึ้น ตามภาพที่ 1

ต้นแบบธุรกิจ

ภาพที่ 1 : องค์ประกอบ 10 ส่วนของ Business Model

Value Proposition
สินค้าหรือบริการของธุรกิจสามารถสร้างอรรถประโยชน์ (Utility) หรือสามารถตอบสนองความพึงพอใจ (Satisfaction) ให้กับลูกค้าได้อย่างไร
Market Segments
กลุ่มลูกค้าที่มีลักษณะทั่วไปหรือมีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับสินค้าหรือบริการของธุรกิจ ในการที่จะสร้างอรรถประโยชน์ (Utility) หรือสามารถตอบสนองความพึงพอใจ (Satisfaction) ของธุรกิจ สินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าได้
Distribution Channels
วิธีการในการที่ธุรกิจจะเข้าตลาด ซึ่งจะรวมความถึง การดำเนินการทางการตลาด และกลยุทธ์ในการกำหนดช่องทางจัดจำหน่าย ที่สร้างความสะดวกให้กับลูกค้าเป้าหมาย
Customer Relationship
วิธีการเชื่อมโยงในความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้าที่แตกต่างกันในตลาด กระบวนการในการจัดการความเชื่อมโยงในความสัมพันธ์นี้ จะหมายรวมถึงการบริหารจัดการความสัมพันธ์ของลูกค้า (Customer relationship management) ด้วย
Value Configurations
วิธีการในการจัดสรรทรัพยากรของธุรกิจ เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์ บุคลากร เงินทุน รวมถึงกิจกรรมในการดำเนินการต่างๆ ของธุรกิจ ที่กำหนดขึ้น ในการสร้างคุณค่าของธุรกิจ สินค้าหรือบริการของธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับต่อลูกค้า
Core Capabilities
ความสามารถและปัจจัยสำคัญในการดำเนินการของธุรกิจสำหรับ Business Model ที่ธุรกิจกำหนดขึ้น
Partner Network
เครือข่ายความร่วมมือระหว่างธุรกิจกับธุรกิจอื่นหรือบุคคลภายนอก ที่จำเป็นในการดำเนินการในการสร้างคุณค่าของธุรกิจ สินค้าหรือบริการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ผู้ออกแบบ ผู้ผลิตสินค้า ผู้พัฒนาและวิจัย ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆของสินค้าหรือบริการ เป็นต้น
Commercialize Network
เครือข่ายความร่วมมือระหว่างธุรกิจกับธุรกิจอื่นหรือบุคคลภายนอก ในการดำเนินการทางการพาณิชย์ของธุรกิจ เช่น Supplier, Dealer, Distributor, Retailer, Creditor เป็นต้น
Cost Structure
โครงสร้างของต้นทุนค่าใช้จ่ายๆต่างๆที่เกิดขึ้นในการดำเนินการของธุรกิจ
Revenue Structure
วิธีการหรือที่มาของรายได้ของธุรกิจ

อย่างไรก็ตามองค์ประกอบโครงสร้าง Business Model จากแหล่งข้อมูลอื่นๆ อาจมีความแตกต่างออกไปจากที่ระบุไว้นี้ จากที่ได้กล่าว มาแล้วว่าเรื่องของ Business Model ยังไม่มีตำราหรือเอกสารที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า ในองค์ประกอบต่างๆทั้งหมดของ Business Model ดังกล่าวข้างต้นนี้ ถ้าผู้จัดทำได้มีการวางแผนการคิด หรือการดำเนินการอย่างมี ประสิทธิภาพ ก็แทบจะเรียกได้ว่ามีองค์ประกอบหรือข้อมูลสำคัญส่วนใหญ่ของแผนธุรกิจ และองค์ประกอบเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า แผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นนี้ มีประสิทธิภาพหรือเป็นแผนธุรกิจที่ดีเพียงใด

ดังนั้นถ้าผู้เขียนแผนธุรกิจสามารถกำหนด Business Model ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพได้ โดยมีการเพิ่มเติมรายละเอียด เกี่ยวกับ ข้อมูลทางด้านเทคนิค เช่น กระบวนการหรือขั้นตอนทางการผลิต ข้อมูลด้านบุคลากร กระบวนการจัดสรรในการลงทุน หรือทรัพยากรต่างๆ และข้อมูลทางด้านผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากด้านเศรษฐกิจ เช่น สภาวะตลาด สภาวะอุตสาหกรรม แนวโน้มของตลาด สภาวะการแข่งขัน รวมถึง ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการ เช่น ผลกำไรของกิจการ มูลค่าของกิจการ เป็นต้น ซึ่งการพิจารณา หรือเชื่อมโยง ส่วนประกอบ ดังกล่าวอย่างถูกต้อง จะสามารถกำหนดหรือจัดทำเป็นแผนธุรกิจที่ดีและเหมาะสมได้ โดยความสัมพันธ์ของ Business Model ข้อมูลทางด้านเทคนิค และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากด้านเศรษฐกิจนี้ จะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งธุรกิจจะต้องมีการปรับปรุง หรือทำการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามสภาพของธุรกิจของส่วนประกอบหลักนี้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ในกระบวนการวางแผนธุรกิจ (Business Planning) และจัดทำเป็นแผนธุรกิจขององค์กรเพื่อดำเนินการต่อไปตามภาพที่ 2

กระบวนการวางแผนธุรกิจ
ภาพที่ 2 : กระบวนการพัฒนา Business Model ไปสู่การจัดทำ Business Plan

ความสัมพันธ์ของแผนธุรกิจ
ภาพที่ 3 : ความสัมพันธ์ของแผนธุรกิจที่มีแนวความคิดของ Business Model เป็นศูนย์กลาง

จากภาพที่ 3 จะเห็นได้ว่า จากการพัฒนา Business Model ซึ่งเป็นแนวความคิดในการวางแผนหลักๆของธุรกิจ ซึ่งยังอาจไม่มี รายละเอียด ต่างๆที่ชัดเจน ไปสู่แผนธุรกิจที่มีกรอบและหัวข้อของการรายละเอียดธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้น โดยองค์ประกอบหลักๆ ของโครงสร้าง แผนธุรกิจ โดยทั่วไป ประกอบด้วยเรื่องของแนวความคิดในการทำธุรกิจ การวิเคราะห์ตลาดและอุตสาหกรรม การวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆของธุรกิจ เพื่อกำหนดแผนดำเนินการของธุรกิจ อันประกอบด้วยแผนบริหารจัดการ แผนการตลาด แผนการผลิตหรือการบริการ และแผนการเงิน โดยมีภาคผนวกหรือข้อมูลประกอบ โดยทั้งหมดนี้จะมีแนวความคิดของ การวางแผนธุรกิจหรือ Business Model เป็นศูนย์กลาง ดังนั้นถ้าธุรกิจหรือผู้จัดทำแผนธุรกิจสามารถพัฒนา Business Model ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถสร้าง หรือจัดทำแผนธุรกิจ ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน

สุดท้ายนี้หวังว่า ผู้อ่านคงพอจะมีความเข้าใจในการพัฒนา Business Model ของธุรกิจตนเอง ไปสู่การจัดทำแผนธุรกิจ ที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่กำลังจะมีการจัดทำแผนธุรกิจในการเรียน เพื่อการประกวดแข่งขัน หรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการจัดทำแผนธุรกิจ และสำหรับผู้อ่านที่ต้องการ รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การจัดจำแผนธุรกิจ สามารถศึกษารายละเอียดย้อนหลัง จากบทความที่ผู้เขียนได้เคยเขียนเกี่ยวกับแผนธุรกิจไว้ในคอลัมน์นี้ คือ "10 ข้อพึงระวังสำหรับ แผนธุรกิจ" และ "เข้าใจสักนิดก่อนคิดเขียนแผนธุรกิจ" จาก Website ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), www.sme.go.th ก็จะเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำแผนธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถ Download File คู่มือการเขียนแผนธุรกิจ ที่ผู้เขียนได้เขียนไว้จาก Website ของ สสว.ได้เช่นกัน


Source : รัชกฤช คล่องพยาบาล ที่ปรึกษา ส่วนบริการปรึกษาการเงินและการร่วมลงทุน
ฝ่ายประสานและบริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)