ความหมายของการแลกเปลี่ยน

ความหมายของการแลกเปลี่ยน

การแลกเปลี่ยน (Exchange) คือ การเปลี่ยนกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของสินค้าสิ่งของและบริการโดยอาจจะนำมา แลกเปลี่ยนกันโดยตรง หรือโดยอ้อมหรือวิธีการใด ๆ ก็ได้

ความสำคัญของระบบการแลกเปลี่ยน

เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนมีความชำนาญเฉพาะอย่าง ที่ไม่เหมือนกัน และทรัพยากรในแต่ละถิ่นฐานต่างกัน เช่น บางคนมีความชำนาญ ในด้านการเพราะปลูก และถิ่นที่อยู่อาศัยอุดมสมบูรณ์ทำให้สามารถผลิตพืชผลได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่บางคนมีความชำนาญในด้านการจับสัตว์น้ำและถิ่นที่อยู่อาศัยใกล้ทะเล ทำให้สามารถจับสัตว์น้ำได้เป็นจำนวนมาก แต่ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด คนที่ผลิตพืชผลได้ก็มีความต้องการสิ่งอื่นนอกจากพืชที่ตัวเองผลิตได้ ส่วนคนที่จับสัตว์น้ำได้ก็มีความต้องการสิ่งอื่นนอกจากสัตว์น้ำที่ตนเองจับได้ จึงก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันขึ้นเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจ ที่มีการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการสนองต่อความต้องการของมนุษย์มากที่สุด

วิวัฒนาการของระบบการแลกเปลี่ยน

วิวัฒนาการของการแลกเปลี่ยนแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ

1. การแลกเปลี่ยนโดยใช้ของแลกของ

ในสมัยโบราณการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในยุคแรก ๆ อาศัยการล่าสัตว์ เก็บผลไม้และอาศัยอยู่ตามถ้ำแต่ละคนแต่ละครอบครัวทำทุกอย่างด้วยตนเอง ต่อมาสังคมมนุษย์ขยายใหญ่ขึ้นมนุษย์เริ่มรู้จักทำการเพาะปลูก จับสัตว์มาเลี้ยง และสร้างที่อยู่อาศัย จึงเริ่มมีการแบ่งหน้าที่ทำตามความถนัดของแต่ละคน และนำของที่แต่ละคนแต่ละครอบครัวผลิตได้มาแลกกันเพื่อสนองความต้องการเช่น นายดำปลูกข้าวแต่มีความต้องการเนื้อไก่ นายแดงเลี้ยงไก่ แต่มีความต้องการข้าว ดังนั้นจึงเกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างนายดำกับนายแดงที่มีความต้องการตรงกัน แต่ระบบการแลกเปลี่ยนของแลกของ ในการปฎิบัติมี ความยุ่งยากเกิดขึ้นหลายประการซึ่งจำแนกออกได้ดังนี้

1.1 ความต้องการของแต่ละคนไม่ตรงกัน ในการแลกเปลี่ยนโดยใช้ของแลกของนั้นความต้องการของทั้งสองฝ่ายจะต้องตรงกัน จึงจะสามารถแลกเปลี่ยน กันได้ เช่น นายขาวปลูกส้ม มีความต้องการเครื่องนุ่งห่ม นายเขียวทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่มมีความต้องการข้าว ดังนั้น นายขาวต้องการเครื่องนุ่งห่มจากนายเขียว แต่นายเขียวไม่มีความต้องการส้มของนายขาว การแลกเปลี่ยนจึงเกิดขึ้นไม่ได้จนกว่าทั้งนายขาวและนายเขียวจะพบคนที่มีความต้องการและมีสิ่งของตรงตามที่ต้องการจึงแลกเปลี่ยนกันได้
1.2 เสียเวลาและมไม่สะดวกในการขนส่ง เนื่องจากการแลกเปลี่ยนโดยใช้ของแลกของ จำเป็นต้องขนของที่ตนเองมีอยู่เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับบุคคลอื่น ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องเดินทางไกล จนกว่าจะพบผู้ที่ต้องการตรงกัน ทำให้เสียเวลาในการขนส่งและถ้าของที่จะนำไปแลกเปลี่ยนนั้นเป็นของใหญ่ มีน้ำหนักมากจะทำให้เกิดความไม่สะดวกในการขนส่งอีกด้วย
1.3 ของบางอย่างไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ของแต่ละอย่างมีอายุไม่เท่ากันของบางอย่างอายุยาวสามารถเก็บได้นาน เช่น เครื่องนุ่งห่ม เสื้อ เครื่องมือเครื่องใช้แต่ของบางอย่างอายุสั้นไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน เช่น อาหาร ผัก ผลไม้ จึงไม่เหมาะสมสำหรับเก็บไว้เพื่อแลกเปลี่ยนในอนาคต เพราะของจะแปลสภาพ ทำให้มูลค่าของสิ่งของนั้นหมดไป
1.4 ของบางอย่างไม่สามารถแบ่งย่อยได้ การแลกเปลี่ยนโดยใช้ของแลกของไม่สะดวกในการแลกเปลี่ยนที่ไม่พอดีกันในปริมาณ เช่น นายแดงปลูกข้าวมีความต้องการเนื้อวัว 1 ขา นายขาวเลี้ยงวัวมีความต้องการข้าว 20 ถัง แลกกับวัว 1 ตัว แต่นายแดงต้องการวัวเพียง 1 ขา จึงต้องการแลกกับข้าว 5 ถังซึ่งนายขาวไม่สามารถแลกเปลี่ยนให้ได้ เพราะถ้าให้วัวนายแดง 1 ขา วัวส่วนที่เหลือจะเสียไป นายขาวจึงต้องหาคนที่มีความต้องการวัว และมีข้าวอีก 15 ถังมาแลกเปลี่ยน ดังนั้น การแลกเปลี่ยนระหว่างนายแดงและนายขาวจึงไม่เกิดขึ้น

2. การแลกเปลี่ยนโดยใช้เงินเป็นสื่อกลาง

เนื่องจากการแลกเปลี่ยน โดยใช้ของแลกของประสบปัญหาดังกล่าวข้างต้นมนุษย์จึงหาวิธีการแลกเปลี่ยนที่สะดวก และมีประสิทธิภาพมากขึ้นมาใช้ โดยการกำหนดสิ่งของบางอย่างขึ้นมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดยเรียกสิ่งนั้นว่า "เงิน"

เงิน คือ สิ่งใดก็ตามที่สังคมนั้นยอมรับให้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในขณะใดขณะหนึ่งและสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ซึ่งในแต่ละสังคม อาจจะใช้สิ่งใดแทนเป็นเงินก็ได้ โดยแต่ละสังคมอาจไม่เหมือนกัน สิ่งที่ใช้เป็นเงินตั้งแต่อดีต เช่น หนังสัตว์ เปลือกหอย อัญมณี ใบชา สัตว์ เกลือ เป็นต้น

เงินแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

2.1 เงินตราที่มีค่าสมบูรณ์ตามที่ตราไว้ คือ เงินตราที่มีค่าเท่ากับราคาของสิ่งที่นำมาทำเป็นเงินนั้น เช่นประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้ค่าของเงิน 1 ดอลลาร์เทากับทองคำบริสุทธิ์หนัก 23.22 เกรนและทองคำที่นำมาทำเหรียญดอลลาร์ ของสหรัฐอเมริกาในยุคแรกๆ ก็ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก 23.22 เกรน ดังนั้นไม่ว่าจะนำเงินตรา 1 ดอลลาร์ไปซื้อสินค้าหรือนำเหรียญมาหลอมนำออกขายก็จะได้มูลค่าเท่ากัน
2.2 เงินตราที่ใช้แทนเงินตราที่มีค่าสมบูรณ์เต็มตามที่กำหนดไว้ คือ เงินตราที่เป็นบัตรแทนเงินโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ จะเป็นผู้ออกบัตร โดยผู้เป็น เจ้าของบัตรสามารถสลักหลังโอนบัตรให้แก่ผู้อื่นได้ จึงสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่เดิมผู้ซื้อจะต้องนำเงินตรา มีค่าสมบูรณ์เต็มตามที่ตราไว้ นำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งไม่สะดวกในการขนย้ายและไม่ปลอดภัย
2.3 เงินเครดิต คือเงินตราชนิดใดก็ตามที่มีมูลค่าของเงินจะสูงกว่าค่าของวัสดุที่นำมาทำเงินนั้น โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ควบคุมกำหนดปริมารเงินเครดิต ให้มีอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งเงินประเภทนี้ไม่รวมถึงเงินตราที่ใช้แทนเงินตราที่มีค่าสมบูรณ์เต็มตามที่กำหนดไว้ เงินเครดิตแบ่งออกได้ ดังนี้

1. เหรียญกษาปณ์ คือ เงินตราที่ใช้โลหะในการผลิตโดยรัฐบาลเป็นผู้ออกกฏกำหนดราคาที่ตราไว้สูงกว่ามูลค่าของโลหะที่นำมาผลิตเหรียญ เช่น เหรียญ 5 บาท เมื่อนำไปใช้ในระบบเศรษฐกิจจะมีค่าเท่ากับ 5 บาท แต่เมื่อนำเหรียญมาหลอมนำออกขายจะได้ราคาต่ำกว่า 5 บาทปัจจุบัน
2. ธนบัตร คือ เงินตราที่ใช้กระดาษในการผลิต โดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศเป็นผู้ออกธนบัตร เพื่อนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ สามารถนำไปชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ปัจจุบันมีการนำวัสดุสังเคราะห์ประเภทพอลิเมอร์มาผลิตเพิ่มขึ้นด้วย
3. เงินฝากเผื่อเรียก คือเงินฝากที่ประชาชนฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ประเภทเงินฝากกระแสรายวัน สามารถใช้เช็คเป็นเครื่องมือในการถอนเงิน หรือโอนเงินเปลี่ยนมือให้บุคคลอื่น ทำให้ผู้ฝากได้รับความสะดวก ความปลอดภัย และสามารถให้ผู้รับเงินตามเช็คสลักชื่อไว้หลังเช็คเพื่อเป็นหลักฐานในการรับเงินไว้ด้วย

หน้าที่ของเงิน สรุปได้ดังนี้

1. เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เนื่องจากสังคมใหญ่ขึ้น มนุษย์มีการแบ่งงานกันทำตามความถนัดเมื่อผลิตสิ่งของได้ก็นำไปแลกกับเงิน และสามารถนำเงิน ที่ได้รับไปซื้อสิ่งของอื่นที่มีความต้องการแต่ผลิตเองไม่ได้ ทำให้การผลิตมีปริมาณมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์
2. เป็นมาตรฐานในการกำหนดมูลค่า การกำหนดมูลค่าของสินค้าหรือบริการเป็นหน่วยของเงินเรียกว่าราคา การใช้เงินเป็นสื่อกลาง ในการแลกเปลี่ยน จะทำให้สินค้นหรือบริการตีมูลค่าออกมาเป็นราคา เช่นข้าวเปล่า 1 จาน มีราคา 5 บาท ไข่ไก่ 1 ฟอง มีราคา 2.50 บาท หมู่ 1 ตัวราคา 5,000 บาท ทำให้การวัดค่าสิ่งต่างๆเป็นมาตรฐานเดียวกัน
3. เป็นมาตรฐานการจ่ายคืนในอนาคต การซื้อขายสินค้นหรือบริการในปัจจุบันมี 2 กรณีคือขายเป็นเงินสด คือ ชำระมูลค่า ณ วันที่ตกลงซื้อขาย และขาย เป็นเชื่อ คือ ตกลงชำระมูลค่าในภายหน้าการที่ใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ทำให้การชำระหนี้ในอนาคตมีความมั่งคงและแน่นอนในมูลค่าเช่นณ วันนี้ นายดำรงตกลงซื้อเสื้อ 1 ตัว ราคา 200 บาท โดยจะจ่ายชำระเงินให้นายสุชาติ อีก 1 เดือน นับจากวันนี้เมื่อครบกำหนด ระยะเวลา 1 เดือนนายดำรงก็จ่ายชำระเงินให้นายสุชาติ 200 บาทตามข้อตกลง
4. เป็นการสะสมมูลค่า เมื่อมนุษย์มีการติดต่อซื้อขายกัน จะได้เงินเนื่องจากการแลกเปลี่ยนหรือคนงานทำงานให้นายจ้างได้ผลตอบแทนเป็นเงิน มนุษย์จะมีการสะสมเงินไว้เพื่อใช้จ่ายในอนาคต คนที่มีการสะสมเงินไว้มากก็จะแสดงถึงความมั่นคงทางฐานะทางเศรษฐกิจ

3. การแลกเปลี่ยนโดยใช้เครดิต

เครดิต คือ ความเชื่อที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลหนึ่งกับอีกบุคคลหนึ่ง ในระยะเวลาหนึ่ง ในระยะแรก ๆ เครคิตเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ขายมีความเชื่อถือ ให้ผู้ซื้อ นำสินค้าไปก่อน และจ่ายเงินในภายหลังต่อมาเครดิตก็มีการพัฒนาขึ้นโดยการซื้อขายเป็นเงินเชื่อ จนมีการใช้เอกสารเครดิต เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นหลักฐาน ประกอบด้วย เช่น บัตรเครดิต ตั๋วสัญญาใช้เงิน พันธบัตรหุ้นกู้ และมีการพัฒนาเครดิตจากการขายเชื่อเป็นการให้กู้ยืมเงินระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว

3.1 ประเภทของบัตรเครดิต
1. แบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้เครดิต
1.1 เครดิตเพื่อการลงทุน ผู้ใช้เครดิตประเภทนี้ คือ ผู้ที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอายุการใช้งานเกินกว่า 1 ปี และเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสูง ต้องการใช้เงิน เป็นจำนวนมาก เช่นซื้อที่ดิน สร้างอาคาร ซื้อเครื่องจักร
1.2 เครดิตเพื่อการพาณิชย์ ผู้ใช้เครดิตประเภทนี้ คือผู้ที่ต้องการซื้อเชื่อสินค้าหรือบริการ โดยกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ ภายในระยะเวลาสั้นๆเช่น จ่ายชำระหนี้ภายใน30 วัน 60 วัน เป็นต้น
1.3 เครดิตเพื่อการบริโภค ผู้ใช้เครดิตประเภทนี้คือผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อ หรือการผ่อนชำระซึ่งแต่เดิมใช้วิธีการเปิดบัญชีเงินเชื่อ และกำหนด ระยะเวลา ในการชำระเงิน โดยไม่คิดดอกเบี้ย เช่น กำหนดให้ชำระเงินภายใน 30 วัน 45 วัน ถ้าชำระเร็วผู้ขายก็อาจจะมีการกำหนดให้ส่วนลดปัจจุบันเครดิตเพื่อการบริโภคได้พัฒนาเป็นบัตรเครดิต โดยธนาคารหรือสถาบันการเงิน จะออกบัตรเครดิต ให้แก่ลูกค้าเป็นที่น่าเชื่อถือ และธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้น จะทำข้อตกลงกับธุรกิจผู้ขายสินค้น หรือบริการให้ลูกค้าที่ถือบัตรเครดิตได้้ซื้อสินค้า หรือบริการเป็นเงินเชื่อ โดยผู้ขายสินค้าหรือบริการจะส่งในเสร็จไปเรียกเก็บเงินค่าสินค้าหรือบริการจากสถาบันการเงินหรือธนาคารผู้ออกบัตรเครดิต หลังจากธนาคารหรือสถาบันทางการเงินได้จ่ายเงินแทนลูกค้าไปแล้ว ก็จะเรียกเก็บเงินหรือหักยอดบัญชีของลูกค้า โดยปกติระยะเวลา การเรียกเก็บเงินจะเป็น วันสิ้นเดือนของแต่ละเดือน

2. แบ่งตามลักษณะของผู้ใช้เครดิต
2.1 รัฐบาลเป็นลูกหนี้ ในขณะที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐมีความต้องการกู้เงินเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาบริหารประเทศ แต่รัฐบาลมีค่าใช้จ่าย มากกกว่า ภาษีที่จัดเก็บได้้จากประชาชน รัฐบาลก็สามารถจัดหาเงินได้จากการกู้ยืมจากธนาคารกลาง กู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ หรือออกจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาล โดยให้ผลตอบแทนแก่ผู้ซื้อเป็นดอกเบี้ย
2.2 เอกชนเป็นลูกหนี้ เอกชนได้แก่องค์การธุรกิจหรือบุคคลธรรมดาโดยทั่วไปที่มีความจำเป็นต้องการใช้เงินซึ่งในขณะนั้นมีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้เครดิตที่ได้รับจะเป็นเครดิต ที่มีสถาบันการเงินออกให้แก่องค์การธุรกิจหรือบุคคลธรรมดาที่มีหลักประกันที่มั่นคง หรือเป็นลูกค้าที่ดีของธนาคาร

3. แบ่งตามระยะเวลาของการไถ่ถอน (ชำระคืน)
3.1 เครดิตชนิดเรียกเงินคืนได้ทันที่ต้องการ การให้เครดิตประเภทนี้ จะไม่มีกำหนดระยะเวลาในการไถ่ถอน คือเจ้าหนี้ต้องแจ้งการชำระหนี้ให้ลูกหนี้ทราบก่อน สามารถชำระหนี้ได้ทันทีที่ต้องการ
3.2 เครดิตระยะสั้น การใช้เครดิตประเภทนี้ มีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนภายใน 1 ปี คือลูกหนี้จะต้องนะเงินมาชำระให้เจ้าหนี้ภายใน 1 ปี
3.3 เครดิตระยะปานกลาง การให้เครดิตประเภทนี้ มีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนเกิน 1 ปีแต่ไม่เกิน 5 ปี คือลูกหนี้จะต้องนำเงินมาชำระให้ เจ้าหนี้เมื่อระยะเวลา กู้เกิน 1 ปี และต้องชำระให้หมดไม่เกิน 5 ปี
3.4 เครดิตระยะยาว การให้เครดิตประเภทนี้ มีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนเกิน 5 ปี ขึ้นไป สถาบันการเงินออกเครดิตประเภทนี้ ให้กับลูกค้าที่มีหลักประกัน เป็นที่น่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันการเกิดหนี้สูญ เพราะเครดิตประเภทนี้ จำนวนที่กู้ยืมจะสูงหรือใช้ระยะเวลาในการไถ่ถอนนาน ผู้ให้เครดิตจึงมีความเสี่ยงสูงถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

3.2 เอกสารเครดิต คือเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐาน แสดงการเป็นหนี้ และระยะเวลาที่ต้องชำระหนี้ได้แก่
1. ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 982 บัญญัติไว้ว่า “ อันตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น คือ ตราสาร ซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้ออกตั๋วสัญญาว่าจะใช้เงินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับเงิน ” ตั๋วสัญญาใช้เงินประกอบด้วยบุคคล 2 ฝ่ายได้แก่ ผู้ออกตั๋ว มีสถาพเป็นลูกหนี้ และ ผู้รับเงิน มีสภาพเป็นเจ้าหนี้ ข้อความที่ปรากฎในตั๋วสัญญาใช้เงินประกอบด้วย
1.1 คำว่า “ ตั๋วสัญญาใช้เงิน
1.2 มีข้อความเป็นคำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน โดยปราศจากเงื่อนไข
1.3 วันและสถานที่ออกตั๋ว
1.4 กำหนดระยะเวลา หรือวันที่กำหนดใช้เงิน
1.5 สถานที่ใช้เงิน
1.6 ชื่อยี่ห้อของผู้รับเงิน
1.7 ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว
2. ตั๋วแลกเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 908 บัญญัติไว้ว่า “ อันว่าตั๋วแลกเงินนั้น คือ หนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้สั่งจ่าย สั่งบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จ่าย ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินประกอบด้วยบุคคล 3 ฝ่ายได้แก่
1. ผู้สั่งจ่าย มีสภาพเป็นเจ้าหนี้
2. ผู้จ่าย มีสภาพเป็นลูกหนี้
3. ผู้รับเงิน อาจจะเป็นเจ้าหนี้หรือบุคคลอื่นที่เจ้าหนี้ระบุให้เป็นผู้รับเงิน
ข้อความที่ปรากฎในตั๋วแลกเงินประกอบด้วย
- คำว่า “ ตั๋วแลกเงิน ”
- มีข้อความเป็นคำสั่งให้จ่ายเงินจำนวนที่แน่นอนโดยปราศจากเงื่อนไข
- วันและสถานที่ออกตั๋ว
3. พันธบัตร คือ ตราสาร ที่ผู้ออกตราสารสัญญาว่า จะคืนเงินต้นจำนวนแน่นอนและมีกำหนดเวลาชำระคืนเงินต้นที่แน่นอนให้แก่ผู้ซื้อตราสาร โดยผู้ออกตราสารจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ซื้อตราสารในรูปของดอกเบี้ยตามอัตราที่ระบุไว้หน้าตั๋ว
4. หุ้นสามัญ คือ ตราสารที่ผู้ออกเป็นเป็นนิติบุคคลในรูปบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่ออกมาจำหน่ายเมื่อต้องการเงินไปเป็นทุนของบริษัท โดยตราสารนี้จะแสดงถึงความเป็นเจ้าของกิจการผู้ซื้อตราสารนี้ เรียกว่า ผู้ถือหุ้นโดยได้รับผลตอยแทน จากบริษัทผู้ออกตราสารคือ เงินปันผล จำนวนของเงินปันผลที่ได้รับขึ้นอยู่กับผลกำไรของบริษัทในกรณีที่บริษัทมีผลขาดทุนจะไม่มีการจ่ายเงินปันผล ผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับเงินคืนทุนเมื่อบริษัทเลิกกิจการ โดยได้คืนทุนเป็นกลุ่มสุดท้าย
5. หุ้นบุริมสิทธิ คือ ตราสารที่ผู้ออกเป็นนิติบุคคลในรูปแบบบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่ออกจำหน่ายเมื่อต้องการเงินเพื่อเป็นทุนของบริษัท เช่นเดียวกับหุ้นสามัญผลตอบแทนที่ได้รับ คือเงินปันผล จะได้รับในอัตราที่แน่นอนถ้าบริษัทมีผลกำไร และได้รับก่อนหุ้นสามัญ และการได้รับคืนทุนจะได้รับก่อนหุ้นสามัญเมื่อบริษัเลิกกิจการ
6. หุ้นกู้ คือ ตราสารที่องค์การธุรกิจเอกชนออกจำหน่าย เมื่อมีความประสงค์จะกู้เงินจากบุคคลภายนอกโดยกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ และจำนวนเงินต้นที่จ่ายคืนแน่นอนโดยผู้ซื้อตราสารจะได้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยในอัตราที่แน่นอน

3.3 สถาบันที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยน

1. ธนาคาร คือ สถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ โดนทำหน้าที่ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเช่น บริการโอนเงิน บริการให้กู้ยืม บริการรับฝากเงิน บริการเกี่ยวกับการค้ำประกันบริการเกี่ยวกับการออกเอกสารเครดิตต่าง ๆ เป็นต้น
2. สถาบันการเงินอื่น ๆ คือ สถาบันการเงินที่นอกเหนือจากธนาคาร เช่น บริษัท เงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธุรกิจเหล่านี้ให้บริการส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์
3. ผู้ค้าคนกลาง คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ได้แก่ ผู้ค้าปลีกและผู้ค้าส่ง จำทำหน้าที่นำสินค้าจากผู้ผลิตจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตไม่ต้องนำสินค้าหรือบริการมาจำหน่ายเองโดยตรงกับผู้บริโภค เพราะผู้ค้าปลีกและผู้ค้าส่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตครั้งละเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคก็เกิดความสะดวกในการซื้อ ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต และไม่ต้องซื้อสินค้าหรือบริการครั้งละเป็นจำนวนมาก
4. ตลาด คือ สถานที่ที่ทำการติดต่อซื้อขายกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งอาจจะติดต่อกันโดยตรง หรือติดต่อผ่านระบบการสื่อสารก็ได้


แหล่งอ้างอิง
- อรทัย วานิชดี. ธุรกิจทั่วไป. กรุงเทพฯ : ประสานมิตร, 2545.
- สุดาทิพย์ ตันตินิกุลชัย และศักดา หงส์ทอง. ธุรกิจทั่วไป. กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด, 2547.

http://lpn.nfe.go.th/e_learning/LESSON4/unit4.htm