การปรับพฤติกรรม (Behavior Modification)

ความหมายของการปรับพฤติกรรม

1. ความหมายของการปรับพฤติกรรม ชัยพร วิชชาวุธ และ ธีระพร อุวรรณโณ (2525 : 30) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การปรับพฤติกรรมเป็นการประยุกต์หลักการเรียนรู้ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล ส่วน มิคูลัส (Mikulas, 1978:2) ได้ให้ความหมายของการปรับพฤติกรรมไว้ว่า การปรับพฤติกรรม คือ การประยุกต์หลักการพฤติกรรมที่ได้จากการทดลองเพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรม ซึ่งก็คล้าย ๆ กับความหมายที่ คาลิช (Kalish, 1981 อ้างใน สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต, 2526 ข : 323) ให้ไว้ว่า การปรับพฤติกรรม หมายถึง การนำเอาหลักพฤติกรรมมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ดังนั้น สรุปได้ว่า การปรับพฤติกรรม หมายถึง การประยุกต์หลักการพฤติกรรม หรือหลักการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขพฤติกรรม โดยเน้นที่พฤติกรรมที่สามารถสังเกตเห็นได้ หรือวัดได้เป็นสำคัญ


2. ความเชื่อพื้นฐานในการปรับพฤติกรรม

 

นักปรับพฤติกรรมมีความเชื่อพื้นฐาน 2 ประการ (ประเทือง ภูมิภัทราคม, 2529 : 11) คือ
2.1 พฤติกรรมปกติกับพฤติกรรมอปกติ พัฒนามาจากหลักการเดียวกัน คือจากหลักการเรียนรู้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่รวมถึงพฤติกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายและระบบประสาท
2.2 พฤติกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยหลักการเรียนรู้เช่นเดียวกัน

 

อนึ่ง คำว่า การปรับพฤติกรรม (behavior modification) และคำว่า พฤติกรรมบำบัด (behavior thrapy) เป็นคำที่ใช้ในความหมายเดียวกัน แต่ก็มีผู้พยายามที่จะจำแนกความแตกต่างระหว่างคำ ทั้ง 2 คำนี้ โดยแยกความแตกต่างว่า “การปรับพฤติกรรม” หมายถึง การประยุกต์ของกระบวนการของทฤษฎีการวางเงื่อนไขผลกรรม (operant conditioning) ในขณะ “พฤติกรรมบำบัด” หมายถึง การประยุกต์ใช้วิธีการของทฤษฎีการวางเงื่อนไขสิ่งเร้า (cassical conditioning) (O,Leary and Wilson, 1987:1) ส่วนมิคูลัส (Mikulas, 1978:2) กล่าวถึง การจำแนกคำทั้งสองนี้ไว้ว่า การปรับพฤติกรรม ถ้ากระทำในวงการของนักจิตวิทยาคลินิก (Clinical setting) จะใช้คำว่า พฤติกรรมบำบัด
อย่างไรก็ตาม การใช้คำทั้งสองคำนี้ นักจิตวิทยาจำนวนไม่น้อยหาได้ใช้แตกต่างกันอย่างคงเส้นคงวาไม่ ยังคงใช้แทนกันและใช้ในความหมายเดียวกัน และในตำราเล่มนี้ก็จะใช้คำว่า “การปรับพฤติกรรม” และ “พฤติกรรมบำบัด” ในความหมายเดียวกัน โดยจะใช้คำว่า “การปรับพฤติกรรม” โดยตลอด


3. คุณสมบัติของกระบวนการปรับพฤติกรรม

มิคูลัส (Mikulas, 1978:9-12) ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของการปรับพฤติกรรมไว้ 5 ประการ ดังนี้
3.1 การปรับพฤติกรรมไม่เน้นอดีต (Ahistorical) หมายความว่า การปรับพฤติกรรมไม่สนใจมากนักว่า บุคคลมาจากไหน และปัญหาเกิดมาอย่างไรในอดีต แต่จะให้ความสนใจพฤติกรรมของบุคคลที่นี่ และขณะนี้ (here and now) เป็นสำคัญ คือ สนใจว่าปัจจัยใดในขณะนั้นก่อให้เกิดและคงไว้ซึ่ง พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สนใจข้อมูลในอดีตอย่างสิ้นเชิงเสียเลย ข้อมูลในอดีตจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับพฤติกรรมในกรณีที่ข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักปรับพฤติกรรมทราบปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรม
3.2 การปรับพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการใช้การตีตรา หลีกเลี่ยงการจัดประเภทบุคคล และการใช้คำบางคำ เช่น “อปกติ” ทั้งนี้เพราะการตีตราและการจัดประเภทบุคคล อาจจะมีประโยชน์ในเชิงการบริหารและการสื่อสาร และอาจช่วยแนะว่าตัวแปรใดที่ควรพิจารณาในระหว่างการประเมินพฤติกรรม แต่การ ตีตราและการจัดประเภทบุคคลไม่เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์พฤติกรรมมากนัก ตรงกันข้ามการตีตราบุคคลอาจจะเป็นการทำลายบุคคล (คนที่ถูกตีตราว่าเป็นคนอย่างไร อาจจะทำให้บุคคลมีพฤติกรรมเช่นนั้นก็ได้ เช่น คนที่ถูกตีตราว่าเป็นคนเกียจคร้านแล้ว พฤติกรรมของเขาอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางเกียจคร้านมากยิ่งขึ้นก็ได้) นอกจากนี้ การตีตราหรือการจัดประเภทบุคคล อาจจะทำให้นักปรบพฤติกรรมมองข้ามพฤติกรรมที่เป็นแบบฉบับของบุคคลนั้น
คำว่า “อปกติ” “เบี่ยงเบน” และคำว่า “ความเจ็บป่วยทางจิต” คำเหล่านี้เป็นภาวะสันนิษฐาน (construct) ซึ่งบุคคลในแต่ละวัฒนธรรมให้นิยามไม่ตรงกัน พฤติกรรมอย่างหนึ่งอาจถือว่าเป็น พฤติกรรมอปกติในสังคมหนึ่ง แต่อาจเป็นพฤติกรรมปกติในอีกสังคมหนึ่งก็ได้ เช่น เด็กพูดโต้แย้งผู้ใหญ่ในสังคมตะวันตกถือว่าเป็นพฤติกรรมปกติ เป็นการกล้าแสดงออก แต่ในสังคมไทยส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับอาจถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ขาดสัมมาคารวะเป็นสิ่งที่ไม่ควรประพฤติ
3.3 การปรับพฤติกรรมเป็นเรื่องเข้าใจได้ (Sensible) หมายความว่า ในการปรับพฤติกรรมบางโปรแกรม สามารถอธิบายให้ผู้รับการปรับพฤติกรรม ครู ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเข้าใจได้ โดยที่พวกเขาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องรู้รูปแบบเชิงทฤษฎีและคำนิยามเฉพาะใด ๆ ก็ได้ (เพราะการปรับพฤติกรรม เป็นกระบวนการที่มีความชัดเจนสามารถเข้าใจได้ง่าย) การให้เหตุผลและทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องได้ จะทำให้ได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้นเป็นอย่างดีในการดำเนินการปรับพฤติกรรม
3.4 ความสัมพันธ์ระหว่างนักปรับพฤติกรรมกับผู้รับการปรับพฤติกรรม ไม่ จำเป็นต้องเป็นความสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว (One-to-One Relationship) นั่นหมายความว่า ในการปรับ พฤติกรรมนั้น ไม่ใช่เฉพาะนักปรับพฤติกรรมเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถปรับพฤติกรรมของบุคคลได้ และการปรับพฤติกรรมก็ไม่จำกัดว่าจะต้องดำเนินการปรับพฤติกรรมของผู้รับการปรับพฤติกรรมเป็นรายบุคคล ในการปรับพฤติกรรมสามารถฝึกครู ฝึกผู้ปกครองหรือผู้เกี่ยวข้องอื่นใดให้สามารถใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรมได้ และการปรับพฤติกรรมบางอย่างก็สามารถกระทำกับบุคคลเป็นกลุ่มพร้อมกันได้
3.5 ในการปรับพฤติกรรมสามารถฝึกบุคคลให้ปรับพฤติกรรมของตนเองได้ เทคนิคที่ใช้ส่วนใหญ่ ได้แก่ เทคนิคการควบคุมตนเอง (self control) ซึ่งเป็นวิธีการปรับพฤติกรรมที่ฝึกให้บุคคลปรับพฤติกรรมของตนเองด้วยตนเอง เทคนิคการควบคุมตนเองเป็นเทคนิคที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แต่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลเป็นอย่างมาก บุคคลสามารถเรียนรู้ทักษะการควบคุมตนเองจากแหล่งต่าง ๆ ได้ เช่น จากนิตยสารและจากตำรา จากคลินิก จากโทรทัศน์ หรือจากการให้คำปรึกษาและการฝึก เป็นต้น

4. ทฤษฎีการเรียนรู้ที่นำมาประยุกต์ใช้ในการปรับพฤติกรรม

หลักการปรับพฤติกรรมส่วนใหญ่พัฒนามาจากทฤษฎีการเรียนรู้ 3 ทฤษฎี ต่อไปนี้
4.1 ทฤษฎีการเรียนรู้เงื่อนไขสิ่งเร้า (Classical Conditioning)
4.2 ทฤษฎีการเรียนรู้เงื่อนไขผลกรรม (Operant Conditioning)
4.3 ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning)

 

สำหรับการปรับพฤติกรรมในสภาพการณ์การเรียนการสอน และการปรับพฤติกรรมเป็นกลุ่ม มักประยุกต์ใช้หลักการเรียนรู้ตามแนวคิด ของทฤษฎีการวางเงื่อนไขผลกรรม (Kazdin, 1984:17) ซึ่งเสนอโดย สกินเนอร์ (Skinner) นักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม (ชัยพร วิชชาวุธ, ธีระพร อุวรรณโณ และพรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์, 2527 : 25)

 

ลักษณะของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

 

ลักษณะของพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของบุคคล สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มของลักษณะ พฤติกรรมใหญ่ ๆ ได้ 6 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้

  1. พฤติกรรมที่เกี่ยวกับบุคลิกภาพ พฤติกรรมที่เป็นปัญหาในลักษณะนี้จะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกวิตกกังวล ความกลัวหรือความท้อแท้สิ้นหวัง บุคคลพวกนี้จะไม่มีความสุขไม่ค่อยแสดงออก ลักษณะของพฤติกรรมที่สามารถเห็นได้ชัด คือ บุคคลพวกนี้จะมีลักษณะของพฤติกรรมถอยหนี หลีกเลี่ยง เฉื่อยชา ขี้อาย อ่อนไหวง่าย รู้สึกมีปมด้อย ท้อแท้ ขี้กลัว ฝันกลางวัน และวิตกกังวลจนเกินไป
    ลักษณะของพฤติกรรมประเภทนี้ คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้สังเกตหรือรู้มากนัก เนื่องจากบุคคลประเภทนี้จะไม่มีความมั่นคง เช่น ในชั้นเรียน เด็กที่มีปัญหาในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพนี้มักจะแสดงอาการวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ หลีกเลี่ยงที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้น ไม่อยากพูดหรือถกเถียงในกลุ่ม ไม่ยอมเขียนกระดานดำ หรือไม่ยอมอ่านหนังสือต่อหน้าเพื่อนร่วมชั้น เป็นต้น
  2. พฤติกรรมที่เกี่ยวกับปัญหาการแสดงออก ลักษณะของพฤติกรรมประเภทนี้มักจะเกี่ยวข้องกับการแสดงออกในทางก้าวร้าว ต่อต้านสังคม อันเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งกับเพื่อน ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจอื่น ๆ แม้กระทั่งผู้ปกครองของเขาเองก็ตาม พฤติกรรมเช่นนี้อาจจะเห็นได้จากการชกต่อย การ ไม่เชื่อฟัง การรบกวนผู้อื่น การทำลายของการเรียกร้องความสนใจ ขี้อิจฉาริษยา ใช้ภาษาที่หยาบคาย ตลอดจนชอบแสดงตัวเป็นเจ้านาย เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมในลักษณะนี้ นอกจากจะแสดงพฤติกรรมรบกวนผู้อื่นแล้ว ตนเองยังไม่รู้อีกว่าพฤติกรรมที่ตนกำลังทำอยู่นั้น มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น อีกทั้งยังไม่รู้ว่าตนเองได้กระทำความผิดอีกด้วย
  3. พฤติกรรมที่เกิดจากความแปรปรวนทางอารมณ์ พฤติกรรมที่เป็นปัญหาอันเนื่องมาจากความแปรปรวนทางอารมณ์นั้น มีลักษณะการแสดงออกให้เห็นหลายลักษณะซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น มีความคิดสับสน แสดงอาการเห็นภาพหลอน แสดงพฤติกรรมแปลก ๆ ที่บุคคลปกติทั่วไปไม่กระทำ บางคนก็อาจแสดงพฤติกรรมเดินพูดคนเดียว คิดว่าตนเป็นผู้มีอำนาจ ไม่สามารถรับรู้ความจริงได้ เป็นต้น
  4. พฤติกรรมที่แสดงถึงการขาดวุฒิภาวะ คือ พฤติกรรมที่แสดงออกไม่เหมาะสมกับวัย หรือขั้นพัฒนาการของมนุษย์แต่ละวัย ลักษณะของพฤติกรรมประเภทนี้ ถ้าดูผิวเผินโดยไม่พิจารณาวัยและ ขั้นตอนของพัฒนาการแล้วอาจจะเห็นว่าเป็นพฤติกรรมปกติ แต่เมื่อพิจารณาพฤติกรรมนั้นว่าเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมกับวัยหรือไม่ อาจพบว่าพฤติกรรมนั้นเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น เด็กอายุ 6 ขวบ ไม่ยอมเข้าร่วมสังคมกับเพื่อน เด็กอายุเกิน 5 ขวบ มีช่วงความสนใจไม่เกิน 5 นาที อายุเกิน 8 ขวบ นอนปัสสาวะรดที่นอน ซึ่งเด็กปกติแล้วเมื่ออายุมากกว่า 4 ขวบปัญหาการปัสสาวะรดที่นอนจะลดน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้น เป็นต้น
    บุคคลกลุ่มนี้ ถ้าเป็นเด็กมักจะแสดงพฤติกรรมบางอย่าง ที่ทำให้ครูและผู้ปกครองเข้าใจ ไขว้เขวได้ เช่น ชอบเล่นกับเด็กที่อายุน้อยกว่า การที่เขาชอบเล่นกับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า ก็เนื่องมาจากการที่เขาไม่มีทักษะเพียงพอที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกับตน เด็กพวกนี้มักจะถูกเพื่อนวัยเดียวกันล้อเลียนหรือแหย่ จึงแยกตัวออกจากเพื่อน
  5. พฤติกรรมที่เกี่ยวกับความผิดพลาดในการรับรู้ทางสังคม ลักษณะพฤติกรรมที่เป็นปัญหาประเภทนี้ เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากความผิดพลาดในการรับรู้สิ่งเร้าในสังคม ลักษณะของพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในกรณีนี้ จะเห็นได้จากการที่บุคคลไม่สามารถรับรู้และเข้าใจคำพูดหรือการสนทนาของผู้อื่น ไม่รู้ว่าเมื่อไรควรพูด เมื่อไรควรหยุดพูด ไม่เข้าใจภาษาท่าทาง ตลอดจนไม่สามารถแสดงออกในสังคมได้อย่างเหมาะสม
  6. พฤติกรรมที่เกิดเนื่องจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ลักษณะ พฤติกรรมที่เป็นปัญหาประเภทนี้ อาจเกิดในบุคคลที่ไม่ได้มีปัญหาพฤติกรรมที่เกี่ยวกับบุคลิกภาพหรือการรับรู้ทางสังคม อีกทั้งไม่มีปัญหาทางอารมณ์อีกด้วย แต่เหตุที่บุคคลพวกนี้มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาก็เนื่องมาจากบุคคลเหล่านี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น เด็กอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกันไม่ปรองดองกัน ด่าทอกันให้เด็กเห็นและได้ยิน เด็กก็จะเลียนแบบพฤติกรรมเล่านั้นจากพ่อแม่ เด็กที่อยู่ในหมู่เพื่อนที่ชอบขโมยของเพื่อน เด็กก็จะเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้นจากเพื่อน ๆ ว่า เป็นวีรบุรุษหรือเป็นพระเอก พฤติกรรมขโมยของของเด็กนี้ได้รับการเสริมแรงจากเพื่อน ๆ จึงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกในโอกาสต่อไป เป็นต้น การที่บุคคลอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ย่อมเป็นการยากที่จะป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ดังตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะวิวาทและด่าทอกันอยู่เสมอ เด็กได้เห็นได้ยินการกระทำและ ถ้อยคำที่พ่อแม่ใช้มาตลอดตั้งแต่เขาจำความได้ เด็กจึงอาจไม่รู้สึกว่าพฤติกรรมที่พ่อแม่แสดงให้เห็นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ได้ เพราะเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นมาตลอดเวลา ตั้งแต่เล็กจนโต

สาเหตุของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา


ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่า พฤติกรรมที่เป็นปัญหาอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม ความผิดปกติทางชีวเคมี และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะสาเหตุของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา อันเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อม จะได้กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดบางประการ ดังต่อไปนี้
สาเหตุของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา แบ่งออกได้ 3 สาเหตุ ดังนี้

  1. พันธุกรรม เป็นที่ยอมรับกันว่า สิ่งที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษไปสู่ลูกหลาน โดยผ่านกระบวนการของพันธุกรรม มิใช่มีแต่ลักษณะทางกายเท่านั้น หากยังรวมถึงลักษณะทางพฤติกรรมด้วย ได้มีการพัฒนาการศึกษาการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมที่เรียกว่าพันธุศาสตร์แห่งพฤติกรรม (Behavior Genetics) ขึ้นมาเพื่อศึกษาและค้นคว้าในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ วิธีการที่ใช้มีหลายวิธี เช่น ศึกษาโดยใช้วิธีการผสมพันธุ์ มักนิยมทดลองกับสัตว์โดยผสมพันธุ์สัตว์เพื่อดูว่า ลักษณะพฤติกรรมถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่ เช่น การผสมพันธุ์ไก่ชนที่ตีเก่ง อดทน ใจสู้ ลูกหลานก็จะมีลักษณะตีเก่ง อดทน ใจสู้ ม้าวิ่งเร็ว ลูกหลานก็มักจะวิ่งเร็วด้วย เป็นต้น การวิเคราะห์เครือญาติ ได้มีการศึกษาการถ่ายทอดลักษณะพฤติกรรมทางพันธุกรรมโดยการวิเคราะห์เครือญาติ คือศึกษาว่าถ้าบรรพบุรุษเคยเป็นหรือมีอาการนั้นแล้ว บุตรหลานจะเป็นหรือมีลักษณะนั้นหรือไม่ จากการศึกษาโดยการวิเคราะห์เครือญาติพบว่าลักษณะพฤติกรรมหลายอย่างถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น อาการโคเรีย (crorea) เป็นอาการชักกระตุกของแขนขา และกล้ามเนื้อบนใบหน้ารวมทั้งการผิดปกติทางจิตใจ ที่มีอาการหงุดหงิดโมโหร้าย เจ้าอารมณ์ นอกจากนี้ก็มีการศึกษาลักษณะการถ่ายทอดพฤติกรรมทาง พันธุกรรมด้วยวิธีการวิเคราะห์ความคล้ายอีก คือวิเคราะห์ว่า ถ้าลักษณะอาการหนึ่งเป็นกับพี่แล้วน้องจะเป็นด้วยหรือไม่ ฯลฯ เช่น การศึกษาอาการจิตเภท (schizophrenia) ซึ่งเป็นอาการของโรคประเภทหนึ่ง จากการศึกษาของนักพันธุศาสตร์พฤติกรรมพบว่า ผู้ที่มีความคล้ายกันทางพันธุกรรมมากก็จะมีโอกาสที่จะมีอาการจิตเภทมาก เป็นต้น ได้วิเคราะห์ลักษณะนั้นกับฝาแฝด พบว่าถ้าคู่แฝดคนหนึ่งมีอาการจิตเภท โอกาสที่คู่แฝดอีกคนหนึ่งจะมีอาการจิตเภทก็จะสูงกว่าพี่น้องธรรมดา เป็นต้น ซึ่งแสดงว่าลักษณะทางพฤติกรรมบางอย่างสามารถถ่ายทอดพันธุกรรมได้
  2. ความผิดปกติทางชีวเคมี ความผิดปกติทางชีวเคมีในร่างกายของมนุษย์มีผลต่อลักษณะพฤติกรรมของมนุษย์ด้วย เช่น อาการพีเคยู (PKU) Phenyl Ketonuia เกิดจากความผิดปกติของขบวนการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกาย ไม่สังเคราะห์เอนไซม์สำหรับเผาผลาญ phenylanine ให้เป็นไทโรซิน phenylanine จะมีอยู่ในนม ขนมปัง ไข่ เนื้อ และปลา หากสะสมมากเป็นกรดทำลายสมองที่กำลังเจริญเติบโต ผู้ที่มีอาการพีเคยู เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เอนไซม์สำหรับเผาผลาญพีนิลลานินให้เป็นไทโรซินได้ ถ้าร่างกายสะสมฟีนีลลานินมากก็จะกลายเป็นกรดทำลายสมองที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้เด็กกลายเป็นเด็กปัญญาอ่อน และจากการศึกษาผู้ที่มีอาการจิตเภทพบว่า ในเลือดของผู้ที่มีอาการจิตเภทมีสารกลูตาฮีออน (gluatahione) น้อยกว่าในเลือดของผู้ที่มิได้มีอาการจิตเภท ดังนี้ ความผิดปกติทางชีวเคมีจึงน่าจะมีส่วนทำให้เกิดพฤติกรรมที่ผิดปกติขึ้น
  3. สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมที่เป็นปัญหาอันเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อมนั้น เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมนั้น มนุษย์จะต้องปรับตัวให้เข้ากับ สิ่งแวดล้อมได้ ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็จะเกิดปัญหาขึ้น สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ต้องมีปฏิสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลาแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
    3.1 สิ่งแวดล้อมทางบ้าน บ้านนับเป็นสิ่งแวดล้อมประเภทแรกของเด็กและจัดว่าเป็น สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อลักษณะพฤติกรรมของเด็กมากที่สุด ทั้งนี้เพราะบ้านหรือครอบครัวจะมีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมพฤติกรรมของเด็ก โดยเฉพาะลักษณะและวิธีการอบรมของบุคคลในครอบครัวจะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กเป็นอย่างมาก เป็นต้นว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีความรักและอบอุ่น พ่อแม่รักใคร่ปรองดองกัน จะเป็นเด็กที่มีอารมณ์มั่นคงสูงและปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี ในขณะเดียวกันเด็กที่มาจากครอบครัวที่แตกแยก มักจะเป็นเด็กที่ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ มักปรับตัวเข้าสังคมไม่ได้ มักมีพฤติกรรมก้าวร้าว เด็กที่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่มักดุเมื่อถูกซักถามหรือเสนอความเห็น ก็มักจะเป็นเด็กที่ไม่กล้าแสดงออก หลีกหนีจากสังคม ในทางกลับกันเด็กที่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่ให้โอกาสลูกได้แสดงอความคิดเห็นให้โอกาสลูกโต้แย้ง ด้วยเหตุผลได้ ก็จะเป็นเด็กที่กล้าแสดงออก ไม่หลีกหนีจากสังคม นอกจากนี้ลักษณะพฤติกรรมของบุคคลในครอบครัวก็มีอิทธิพลต่อลักษณะพฤติกรรมของเด็กด้วย โดยเฉพาะลักษณะพฤติกรรมของพ่อแม่จะมีอิทธิพลต่อลักษณะพฤติกรรมของลูกเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะพ่อแม่จะเป็นตัวแบบที่สำคัญให้ลูกได้เลียนแบบพฤติกรรม โดยเฉพาะในระยะแรกของชีวิต เด็กได้เรียนรู้จากแบบแผนพฤติกรรมของพ่อแม่ ดังนั้นบ้านหรือครอบครัวจึงเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ถ้าบุคคลในบ้านมีลักษณะพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เด็กก็จะเลียนแบบพฤติที่เป็นปัญหานั้นไว้ ความไม่เหมาะสมในการอบรมเลี้ยงดู ก็มีผลก่อให้เกิดพฤติกรรมเป็นปัญหาได้อีกเช่นกัน
    3.2 สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน โรงเรียนนับเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อเด็ก โรงเรียนมีหน้าที่ในการถ่ายทอดวิชาความรู้และปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีงามให้แก่เด็ก พฤติกรรมที่ดีงามหลายอย่างเกิดจากการปลูกฝังของครูที่โรงเรียน และพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหลายอย่างเช่นกันก็อาจเกิดขึ้น เนื่องจากครูในโรงเรียนเป็นต้นเหตุ โดยเฉพาะการปฏิบัติของครูที่ไม่เหมาะสมต่อเด็ก ย่อมมีผลทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้ เช่น ครูใช้วิธีการลงโทษเมื่อเด็กไม่ทำตามที่ครูสั่ง การดุ การพูดจาเยาะเย้ยประจาน ต่อหน้าเพื่อนในชั้นเรียน หรือต่อหน้าเพื่อนในที่ประชุม เป็นต้น ความเครียด ปัญหาทางอารมณ์ก้าวร้าว อาจ นำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่าง ๆ ดังนั้น โรงเรียนจึงเป็นสิ่งแวดล้อมอีกแห่งหนึ่งที่อาจเป็นสาเหตุของ พฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็กได้
    3.3 สิ่งแวดล้อมในสังคม สิ่งแวดล้อมของเด็กในสังคมมีทั้งสิ่งแวดล้อมที่เป็นบุคคล และสิ่งแวดล้อมที่มิใช่บุคคล อันได้แก่ สภาพดินฟ้าอากาศ และสภาพของชุมชน ในบรรดาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ สิ่งแวดล้อมที่เป็นบุคคลจัดว่ามีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมพฤติกรรมของเด็กเป็นอย่างยิ่ง ถ้าสังคมที่เด็กอาศัยอยู่ประกอบไปด้วยบุคคลที่มีคุณงามความดี ประพฤติตนเหมาะสม เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก เป็นสังคมที่สมาชิกในสังคมประกอบสัมมาอาชีวะ ปราศจากแหล่งอบายมุข ย่อมมั่นใจได้ว่า เด็กในสังคมนั้นจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมสืบไป ในทางกลับกันหากสังคมประกอบไปด้วยบุคคลที่ขาดคุณงามความดี ประพฤติตนเสเพล เกเร เป็นอันธพาล ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก ยิ่งไปกว่านั้นผู้ใหญ่อาจส่งเสริมหรือเสี้ยมสอนให้เด็กประพฤติหรือกระทำในสิ่งที่ไม่ควร ย่อมจะมีผลทำให้เด็กประพฤติตนไม่เหมาะสม มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และอาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีไม่ได้ เกิดปัญหาต่าง ๆ ทางสังคมต่อไป ดังนั้น สิ่งแวดล้อมในสังคมโดยเฉพาะบุคคลในสังคม หรือในชุมชนที่เด็กมีโอกาสเกี่ยวข้องด้วย ย่อมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กดังได้กล่าวมาแล้ว
    3.4 สื่อมวลชน สื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ หรือสื่ออื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กเป็นอย่างมาก ยิ่งในปัจจุบันนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีมาก การแพร่ข่าวสารข้อมูลหรือเรื่องราวต่าง ๆ โดยอาศัยสื่อดังกล่าวข้างต้น กระทำได้อย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง สื่อเหล่านี้มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็ก เพราะเป็นตัวกลางในการเสนอตัวแบบให้แก่เด็ก ถ้าสื่อเหล่านี้เสนอข่าวสารข้อเท็จจริง หรือภาพของเรื่องราวที่ขาดความรอบคอบ เสนอตัวแบบที่ไม่เหมาะสมให้แก่เด็ก เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น ย่อมเป็นสาเหตุให้เด็กมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาตามมา ซึ่งเป็นไปตามหลักการเรียนรู้ ตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม

 

ลักษณะของการปรับพฤติกรรม

  1. มุ่งที่พฤติกรรมโดยตรง โดยที่พฤติกรรมนั้นต้องสังเกตเห็นได้ และวัดได้ตรงกัน ซึ่ง พฤติกรรมในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่บุคคลกระทำ แสดงออก ตอบสนอง หรือโต้ตอบต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ ได้ยินได้ นับได้ อีกทั้งวัดได้ตาม เครื่องมือที่เป็นวัตถุวิสัย ไม่ว่าการแสดงออกหรือการตอบสนองนั้น เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม เช่นการร้องไห้ การเดิน การคิด การเต้นของ ชีพจร การอ่านหนังสือ เป็นต้น
  2. ไม่ใช้คำที่เป็นการตีตรา เช่น คำว่าก้าวร้าว ฉลาด โง่ เกเร ขี้เกียจ เก่ง เป็นต้น เพราะคำ ตีตรา เหล่านี้ มักจะเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ๆ ที่รวมพฤติกรรมหลาย ๆ ลักษณะเข้าด้วยกัน จึงทำให้ไม่ ชัดเจน ยากแก่การสังเกตให้ตรงกัน เนื่องจากต่างคนต่างรับรู้ดี ตีตรานี้ต่างกันและยากแก่การจัดโปรแกรมการปรับพฤติกรรมให้บรรลุเป้าหมายได้ นอกจากนี้บุคคลที่ถูกตีตราเด็กว่าขี้เกียจ เด็กอาจจะแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าขี้เกียจจริง การตีตราต้องทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความอับอายได้ ถ้าการตีตรานั้นเป็นการตีตราในลักษณะที่ไม่เหมาะสม เช่น ตีตรา เด็กว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ซึ่งถ้าผู้ปกครองรู้เข้าก็เกิดความอับอายได้ เป็นต้น
  3. พฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่ปกติหรืออปกติก็ตาม ย่อมเกิดจากการเรียนรู้ในอดีตทั้งสิ้น ดังนั้นพฤติกรรมเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยใช้กระบวนการเรียนรู้
  4. การปรับพฤติกรรมจะเป็นที่สภาพและเวลาในปัจจุบันเท่านั้น แม้ว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นในอดีตก็ตาม แต่เงื่อนไขสิ่งเร้าและผลกรรมในสภาพปัจจุบันเป็นตัวกำหนดว่าพฤติกรรมที่เรียนรู้ในอดีตนั้น จะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือลดลง ดังนั้นถ้าสามารถวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งเร้าและผลกรรมใดที่ทำให้พฤติกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือลดลงในสภาพปัจจุบัน ก็จะสามารถทำให้ปรับสิ่งเร้าและผลกรรมนั้นเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อที่จะทำให้พฤติกรรมดังกล่าวนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามเป้าหมายที่ต้องการ
  5. การปรับพฤติกรรมนั้น จะเป็นวิธีการทางบวกมากกว่าที่จะใช้วิธีการลงโทษในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล เนื่องจากเป้าหมายของการปรับพฤติกรรมนั้น จะเน้นการเพิ่มพฤติกรรมที่พึงประสงค์ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการทางบวก เพื่อสนับสนุนให้ให้บุคคลแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพิ่มมากขึ้น วิธีการทางบวกเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งก่อให้เกิดปัญหาทางอารมณ์น้อยกว่าการใช้วิธีการลงโทษด้วย นอกจากนี้วิธีการลงโทษเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพเลยในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลให้ไปใน ทิศทางที่พึงประสงค์ เนื่องจากการลงโทษเป็นวิธีการที่ใช้เพื่อระงับพฤติกรรมเท่านั้น หาใช่เพื่อการพัฒนา พฤติกรรมไม่แต่อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่า การลงโทษไม่ควรจะใช้เลย การลงโทษควรจะใช้อย่างยิ่งในกรณีที่บุคคลมีพฤติกรรมที่มีความรุนแรง ตลอดจนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้แก่บุคคลเลย ถ้าไม่ลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของบุคคลนั้นเสียก่อน นอกจากนั้นการลงโทษยังสามารถสนองวัตถุประสงค์ในแง่ที่ว่าของ พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ชั่วขณะหนึ่ง เพื่อที่จะได้เวลาพอที่จะเสริมสร้างพฤติกรรมใหม่ที่พึงประสงค์ได้
  6. วิธีการปรับพฤติกรรมนั้นสามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมตามลักษณะปัญหาของแต่ละบุคคล เนื่องจากมีความเชื่อว่าบุคคลแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน การลงโทษวิธีหนึ่งอาจจะใช้ได้ผลกับคน ๆ หนึ่ง แต่อาจจะใช้ไม่ได้ผลกับอีกหลาย ๆ คนได้เช่นเดียวกัน ตัวเสริมแรงตัวหนึ่ง อาจจะมีประสิทธิภาพสูงมาก เมื่อใช้กับคนบางคน แต่อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเลย ถ้าใช้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นในการดำเนินการปรับ พฤติกรรมจึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย
  7. วิธีการปรับพฤติกรรมเป็นวิธีการที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่ามีประสิทธิภาพและได้ผลโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

 

แนวคิดการปรับพฤติกรรม

แนวคิดในการปรับพฤติกรรม ได้นําทฤษฎีการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขการกระทํา (Operant Conditioning) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่พัฒนาโดย บี.เอฟ.สกินเนอร์ (Burrhus F. Skinner) นักจิตวิทยาชาว อเมริกัน ซึ่งเน้นการกระทําที่บุคคลต้องลงมือกระทําเอง(Emitted Behavior) สกินเนอร์เชื่อว่า พฤติกรรมเกิดร่วมกันระหว่างตัวผู้แสดงพฤติกรรม (Genetic Endowment) และเงื่อนไขสิ่งแวดล้อม ในรูปผลกรรม(Consequences)ทําให้เกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเอง(Emitted Response) ซึ่งผู้แสดงพฤติกรรมแสดงเอง และพฤติกรรมดังกล่าวถูกควบคุมโดยผลกรรม แนวคิดที่ อยู่บนพื้นฐานทฤษฎีการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขการกระทํามี 2 แนวคิด ดังนี้

  1. แนวคิดในการให้แรงเสริม (Reinforcement) การให้แรงเสริมเป็นวิธีการปรับพฤติกรรม โดยอาศัยหลักการเรียนรู้ของสกินเนอร์โดยเน้นให้เห็นถึงความสําคัญของการให้แรงเสริมที่ว่า “การ กระทําใด ๆ ที่ได้รับแรงเสริม การกระทํานั้น ๆมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น แต่การกระทําใด ๆ ที่ไม่ได้รับ แรงเสริม การกระทํานั้น ๆ มีแนวโน้มที่จะลดลงและหายไปในที่สุด” การให้แรงเสริมแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การให้แรงเสริมบวก และการให้แรงเสริมลบ
    1.1 การให้แรงเสริมบวก (Positive Reinforcement) หมายถึง การให้สิ่งเร้าที่ทํา ให้พฤติกรรมที่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น หรือการให้สิ่งที่บุคคลพอใจ สบายใจเมื่อบุคคลมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์สิ่งที่ทําให้พฤติกรรมเพิ่มขึ้น เรียกว่า “ตัวแรงเสริมบวก” (Positive rein forcer) ได้แก่ขนม ลูกกวาด อาหาร ของเล่น คําชมเชย กิจกรรมที่เด็กชอบ สิ่งเหล่านี้อาจจะเรียกว่า “รางวัล”
    1.2 การให้แรงเสริมลบ (Negative Reinforcement) หมายถึง การเพิ่มความถี่ ของพฤติกรรมโดยการขจัดสิ่งเร้าที่บุคคล ไม่พึงพอใจออกไปทันทีที่บุคคลแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ หรือการที่พฤติกรรมของบุคคลเพิ่มขึ้น เพราะพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกมานั้น สามารถถอดถอนสิ่งเร้าที่ไม่น่าพึงพอใจ (AversiveStimulus) แรงเสริมเชิงลบกับการลงโทษ (Punishment) นั้นคล้ายกันแต่ ไม่เหมือนกัน ถ้าพูดกันโดยทั่ว ๆ ไป แล้วการลงโทษเป็นการทําให้เด็กเจ็บปวด เช่น การเฆี่ยนตีดุ ด่า ในทางจิตวิทยานั้น การลงโทษหมายถึง การให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่เจ็บปวดหรือประสบการณ์ ที่เด็กไม่พึงปรารถนา แต่การให้แรงเสริมลบนั้น หมายถึง การที่เด็กพยายามขจัดสิ่งที่ทําให้เขา เจ็บปวดให้พ้นไป
  2. แนวคิดในการควบคุมตนเอง การควบคุมตนเองเป็นเทคนิคที่บุคคลปรับเปลี่ยน พฤติกรรมของตนเองด้วยการระงับการแสดงพฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งให้ผลน่าพึงพอใจในปัจจุบัน แล้ว แสดงพฤติกรรมบางอย่างเพื่อให้ได้รับผลที่น่าพึงพอใจในปัจจุบัน และแสดงพฤติกรรมบางอย่างเพื่อให้ ได้รับผลที่น่าพอใจในอนาคต การควบคุมตนเองบนพื้นฐานการเรียนรู้ที่เกิดจากเงื่อนไขผลกรรม ตามแนวคิดของ Skinner ซึ่งมีทัศนะว่า การควบคุมตนเองมีลักษณะเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงหน้าที่

 

การควบคุมตัวเอง

ความหมายของการควบคุมตนเอง (Self Control) คือ กระบวนการที่บุคคลใช้วิธีการใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีการรวมกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง จากพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ไปสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยที่บุคคลนั้นเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมเป้าหมาย และกระบวนการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นด้วย ตนเอง (Kazdin 1984 : 196)

การควบคุมตนเองในชีวิตประจำวัน

  1. การยับยั้งร่างกายและใช้เครื่องช่วย ได้แก่ การยับยั้งร่างกาย และเครื่องป้องกันไม่ให้บุคคลกระทำพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ปิดประตูใส่กุญแจสร้างรั้วกั้น และจับขังคุก การกระทำดังกล่าวเป็นการจำกัดขอบเขตการเคลื่อนไหวของบุคคล บุคคลเองก็ควบคุมพฤติกรรมของตนเองในทำนองเช่นนี้เช่นกัน เมื่อใช้มือปิดปากป้องกันไม่ให้หัวเราะเสียงดัง หรือปิดปากเพื่อไม่ให้เสียงดัง เป็นต้น การควบคุมตนเองในลักษณะ ข้างต้นเป็นการควบคุมโดยการยับยั้งร่างกาย และใช้เครื่องช่วยเพื่อควบคุมพฤติกรรม
  2. เปรียบสิ่งเร้า วิธีการนี้ได้แก่การเปลี่ยนแปลงสิ่งเร้าเพื่อไม่ให้กระตุ้นหรือเหนี่ยวนำให้เกิดพฤติกรรม เช่น การเก็บกล่องของหวานให้พ้นสายตาเพื่อป้องกันไม่ให้หยิบมารับประทานได้ง่าย เป็นต้น การควบคุมตนเองในลักษณะนี้เป็นการหลีกหนีจากสิ่งเร้าบางอย่าง โดยเฉพาะสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดการกระทำแล้ว นำไปสู่ผลกรรมที่ไม่พึงประสงค์
  3. การอดอาหารและการรับประทานอิ่มเกินไป การควบคุมพฤติกรรมของบุคคลอาจกระทำให้ร่างกายมีสภาพการขาดอาหาร เช่น บุคคลอดอาหารกลางวัน เพื่อจะรับประทานได้มากเมื่อไปงานเลี้ยงอาหารค่ำ หรือในทางกลับกันบุคคลอาจรับประทานอาหารกลางวันพอสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้ปวดท้อง เป็นต้น
  4. การเปลี่ยนแปลงการแสดงออกทางอารมณ์ ในบางครั้งบุคคลต้องเปลี่ยนแปลงการแสดงออกทางอามรณ์ โดยการเปลี่ยนสิ่งเร้าหรือหลีกหนีไปจากสภาพการณ์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์ที่ไม่ต้องการ เช่น บุคคลป้องกันพฤติกรรมควบคุมอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม โดยเดินหนีไปจากรั้วที่กระตุ้นหรือยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เช่นนั้นก็กระทำพฤติกรรมป้องกัน หรือตรงกันข้ามกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น บุคคลกัดริมฝีปากไม่ให้หัวเราะเมื่อเห็นผู้ใหญ่เดินสะดุดหกล้มในที่สาธารณะ เป็นต้น
  5. ใช้สิ่งเร้าที่ไม่พึงปรารถนา บุคคลใช้สิ่งเร้าที่ไม่พึงปรารถนาเพื่อควบคุมตนเอง เช่น ตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อให้เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้น จะได้ตื่นตรงเวลา ไปทำงานทัน
  6. ใช้ยาในการควบคุมพฤติกรรม ใช้ยาควบคุมพฤติกรรมของบุคคลหลายชนิด เช่น ใช้ยาแก้ปวด ดื่มกาแฟเพื่อไม่ให้ง่วงนอนในระหว่างการอ่านหนังสือ เป็นต้น
  7. การวางเงื่อนไขผลกรรม การเสริมแรงและการลงโทษตนเองเป็นวิธีการควบคุมพฤติกรรมตนเองของบุคคลอีกวิธีหนึ่ง บุคคลอาจจะตำหนิตนเองเมื่อไม่สามารถกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ และบุคคลอาจชมตนเองภายหลังที่สามารถกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์
  8. ทำสิ่งอื่น ๆ ในการควบคุมตนเอง บุคคลอาจควบคุมพฤติกรรมบางอย่างของตนโดยการทำพฤติกรรมอื่น ๆ แทน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ขณะสนทนากับกลุ่มเพื่อน บุคคลอาจเปลี่ยนเรื่องสนทนา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งขึ้น เป็นต้น

 

กระบวนการควบคุมตนเอง

กระบวนการที่ใช้ในการควบคุมตนเองนั้น รอเรเซน และมาโฮนี (Threresen and Mahoney : 17-21) ได้กล่าวไว้ว่ามีกระบวนการที่สำคัญ 2 กระบวนการ ได้แก่

  1. การควบคุมสิ่งเร้า (Stimulus control)
  2. การควบคุมผลกรรมด้วยตนเอง (Self – present consquence)

 

การควบคุมสิ่งเร้า หมายถึง กระบวนการที่บุคคลเรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรมได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์หรือสิ่งเร้าของคน โดยประเมินเงื่อนไข และสถานการณ์ที่ควบคุมพฤติกรรมอยู่ด้วยวิธีการแยกแยะสิ่งเร้า จากนั้นจึงเปลี่ยนแปลง หรือจัดระบบสถานการณ์สิ่งเร้าใหม่ เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการ (สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต และคณะ 2532 : 61, Esveldt-Dawson and Kazdin 1982 : 14 ; Martin and Pear. 1988 : 118) ซึ่งการจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นสิ่งเร้าของบุคคลใหม่นี้ก็เพื่อที่จะกระตุ้นหรือ ลดพฤติกรรม ดังนั้น เพื่อควบคุมพฤติกรรมจึงต้องควบคุม โอ้ชอบดูโทรทัศน์มาก แต่เมื่อถึงช่วงเวลาสอบโอ้จะต้องอ่านตำราเพื่อเตรียมตัวสอบ ถ้าโอ้นั่งอ่านตำราในห้องโทรทัศน์ก็อาจจะอยากดูโทรทัศน์ ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุมพฤติกรรมการอ่านตำราของโอ้ ก็จะต้องควบคุมสิ่งเร้า คือ โอ้ต้องไม่ไปอ่านตำราในห้องโทรทัศน์ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าบุคคลควบคุมสิ่งเร้าได้ ก็จะควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ การควบคุมสิ่งเร้าเป็นการควบคุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อพฤติกรรม

 

การควบคุมผลกรรม หมายถึง การให้ผลกรรมตนเองหลังจากที่ได้กระทำ พฤติกรรมเป้าหมายแล้ว (Thoresen and Mahoney 1974 : 22) ซึ่งผลกรรมนี้อาจจะเป็นได้ทั้งการเสริมแรงหรือการลงโทษ แต่ การลงโทษตนเอง เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของบุคคล ดังนั้นจึงเป็นการยากที่บุคคลจะนำไปปฏิบัติกับตนเอง นอกจากนี้ การลงโทษเป็นวิธีการที่เพียงระงับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เท่านั้น หาได้เป็นวิธีการที่กำจัด พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ให้หมดไปไม่ และยิ่งกว่านั้นการลงโทษ ยังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น เกิดความเครียด ความกังวล ความกลัว และความก้าวร้าว เป็นต้น ดังนั้น บุคคลจึงนิยมการเสริมแรงตนเองมากกว่าการลงโทษตนเอง

 

วิธีการควบคุมตนเองโดยใช้การควบคุมผลกรรมนั้น ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การกำหนดหรือมีส่วนร่วมกำหนดพฤติกรรมเป้าหมาย หรือพฤติกรรมที่จะปรับ (Self-target-behavior)
  2. การกำหนดหรือมีส่วนร่วมกำหนดเงื่อนไขการเสริมแรงหรือการลงโทษตนเอง (Self-contiquency of reinforcement or punishment)
  3. การสังเกตและมีบันทึกพฤติกรรมตนเอง (Self-observation and recording)
  4. การประเมินพฤติกรรมตนเอง (Self-evaluation)
  5. การให้การเสริมแรงหรือลงโทษพฤติกรรมตนเอง (Self-administration of reinforcement or punishment)

 

ขั้นตอนการปรับพฤติกรรมด้วยวิธีการควบคุมตนเอง

ในการควบคุมตนเองจะต้องประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 7 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

  1. การกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายด้วยตนเอง (Self-target-behavior) คือ บุคคลจะต้องกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง แก้ไขด้วยตนเองให้ชัดเจน หลักและวิธีการกำหนดพฤติกรรม เป้าหมาย ด้วยตนเองก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการดำเนินการปรับพฤติกรรมโดยบุคคลอื่น ซึ่งได้กล่าวไว้แล้ว
  2. การสังเกตและมีบันทึกพฤติกรรมตนเอง (Self-observation and recording) ในการสังเกตและบันทึกพฤติกรรมตนเองนั้นเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งบุคคลผู้รับการปรับพฤติกรรมจะต้องกระทำด้วยตนเอง โดยการสังเกตพฤติกรรม จะต้องกระทำด้วยตนเอง โดยการสังเกตพฤติกรรมเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้วในขั้นที่ 1 บันทึกไว้เป็นระยะ ๆ โดยทั่วไปแล้ว บุคคลจะต้องสังเกตและบันทึกเป้าหมายด้วยตนเอง ตั้งแต่ก่อนการใช้เทคนิคการควบคุมตนเองและระยการใช้เทคนิคการควบคุมตนเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประเมินผลว่า พฤติกรรมเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหรือไม่ หลังจากการดำเนินการใช้เทคนิคการควบคุมตนเอง
  3. การกำหนดเงื่อนไขการเสริมแรงหรือการลงโทษตนเอง (Self-contiquency of reinforcement or punishment) คือ การกำหนดกฎเกณฑ์ในการเสริมแรงและการลงโทษและภายหลังการทำพฤติกรรมเป้าหมาย
  4. การประเมินพฤติกรรมตนเอง (Self-evaluation) คือ การที่ผู้รับการปรับพฤติกรรม พิจารณาเลือกเทคนิคเพื่อนำมาใช้ในการควบคุมตนเอง การเลือกเทคนิคด้วยตนเองนี้มีข้อดีตรงที่ผู้รับการปรับพฤติกรรมความรู้ดีกว่าบุคคลอื่นว่าเทคนิคใดจะเหมาะสมกับตน แต่อย่างใดก็ตาม บุคคลอื่นอาจเข้ามามีส่วนช่วยเหลือให้คำแนะนำการเลือกเทคนิคที่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะผู้รับการปรับพฤติกรรมที่เป็นเด็กแล้ว การให้คำแนะนำช่วยเหลือจากผู้ใหญ่อาจจะมีความจำเป็น
  5. การดำเนินการใช้เทคนิคการควบคุมตนเอง (Self-administration of techniques) คือการดำเนินการใช้เทคนิคการควบคุมตนเอง ตามวิธีและขั้นตอนของเทคนิคที่พิจารณามาใช้ด้วยตนเอง
  6. การประเมินตนเอง (Self-evaluation) คือการที่ผู้รับการปรับพฤติกรรมประเมิน พฤติกรรมเป้าหมาย

 

ข้อควรพิจารณาในการใช้เทคนิคการควบคุมตนเอง

 

ในการใช้เทคนิคควบคุมตนเอง มีข้อควรพิจารณาดังต่อไปนี้

  1. การควบคุมตนเอง บุคคลมีส่วนร่วมในการกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายและวางแผนในการพัฒนาพฤติกรรมเป้าหมายของตนเอง ทำให้บุคคลได้พัฒนาพฤติกรรม นั้น ได้ดีกว่าการที่บุคคลอื่นเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมเป้าหมาย และดำเนินการวางแผนพัฒนาพฤติกรรมนั้น ให้ (สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. 2526.ก.: 146)
  2. การควบคุมตนเอง ทำให้บุคคลรักษามาตรฐานในการแสดงพฤติกรรมของตนเองคงทนขึ้น ซึ่งทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงยาวนานกว่าการปรับพฤติกรรมด้วยวิธีการควบคุมภายนอก (Wilson and O’leary.1980:217)
  3. การควบคุมตนเอง บุคคลสามารถติดตามและควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ตลอดเวลา เพราะบุคคลสามารถสังเกตพฤติกรรมเป้าหมายด้วยตนเองได้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมใดก็ตาม จึง ทำให้บุคคลสามารถเสริมแรงตนเองหรือการลงโทษตนเองได้อย่างทันท่วงที (สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. 2526.ก.: 145)
  4. การควบคุมตนเอง บุคคลมีโอกาสได้เลือกตัวเสริมแรงที่ตรงกับความต้องการของตนเองได้ จึงมีผลทำให้ได้ตัวเสริมแรงที่มีประสิทธิภาพสูง
  5. การปรับพฤติกรรมด้วยวิธีการควบคุมตนเองและวิธีการควบคุมจากภายนอก แม้ว่าจะให้ผลไม่ต่างกัน แต่วิธีการควบคุมตนเองเป็นวิธีการประหยัดค่าใช้จ่ายและกำลังตนมากกว่าวิธีการควบคุมจากภายนอก (Epstein and Gross) 1978 : 109-114)
  6. การควบคุมตนเอง อาจทำให้เกิดการลัดวงจรของการควบคุมตนเองได้ โดยที่ให้การเสริมแรงตนเองในขณะที่ได้แสดงพฤติกรรมพึงประสงค์ ทั้งนี้เพราะการเสริมแรงตนเองที่จะได้รับการแสดง พฤติกรรมที่พึงประสงค์นั้น ต้องรอเวลาอันยาวนาน จึงจะเกิดขึ้นได้ หรือไม่เช่นนั้นก็การลงโทษที่จะได้รับจากการแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น ต้องรอเวลายาวนานจึงจะเกิดขึ้น (สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. 2526.ก.: 154)
  7. การที่จะให้ผู้รบการปรับพฤติกรรมควบคุมตนเองได้นั้น จะต้องทำให้ผู้รับการปรับ พฤติกรรมตระหนักก่อนว่า พฤติกรรมเป้าหมายนั้นไม่เหมาะสม มิฉะนั้นแล้วผู้รับการปรับพฤติกรรม คงไม่เห็นความสำคัญของการควบคุมพฤติกรรมตนเองให้เป็นไปตามเป้าหมาย การควบคุมตนเองก็จะไม่เกิดขึ้น
  8. แม้จะมีผลการวิจัยยืนยันว่าผลของการใช้วิธีควบคุมตนเองและผลของการใช้เทคนิคการควบคุมจากภายนอกจะมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันก็ตาม แต่วิธีการควบคุมตนเองเป็นวิธีการที่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมากกว่า

การใช้เงื่อนไขผลกรรม

การใช้เงื่อนไขผลกรรม
ผลกรรมที่เกิดขึ้นจากการกระทำมีมากมายมีทั้งผลกรรมที่เป็นที่ต้องการ ของเจ้าตัวผู้กระทำ และผลกรรมที่ไม่เป็นที่ต้องการของเจ้าตัวผู้กระทำ ผลกรรมที่เป็นที่ต้องการของเจ้าตัวผู้กระทำเรียกว่า ผลกรรมทางบวก และการให้ผลกรรมทางบวก เรียกว่า การเสริมแรง (reinforcement) ส่วนผลกรรมที่ไม่เป็นที่ต้องการของเจ้าตัวผู้กระทำเรียกว่า ผลกรรมทางลบ การให้ผลกรรมทางลบเรียกว่า การลงโทษ (punishment)
การเสริมแรง คือการทำให้พฤติกรรมใด ๆ ของอินทรีย์เพิ่มขึ้น อันเป็นผลเนื่องมาจากการได้รับผลกรรมภายหลังแสดงพฤติกรรมเท่านั้น (ประเทือง ภูมิภัทราคม, 2529:12) การเสริมแรงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement)
  2. การเสริมแรงทางลบ (Negative Reinforcement)


การเสริมแรงทางบวก คือ การเพิ่มความถี่ของพฤติกรรมอันเป็นผลเนื่องมาจากการให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งภายหลังพฤติกรรมนั้น (สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต, 2526 ก:35) เช่น อ้อมช่วยแม่กวาดบ้านเสร็จแล้ว แม่อนุญาตให้อ้อมไปเล่นกับเพื่อนที่สนามหน้าบ้าน ผลปรากฏว่า พฤติกรรมการช่วยแม่กวาดบ้านของอ้อมเพิ่มขึ้น นั่นคือ พฤติกรรมการช่วยแม่กวาดบ้านของอ้อมได้รับการเสริมแรงทางบวก คือ การได้รับอนุญาตให้ไปเล่นกับเพื่อนที่สนามหน้าบ้าน กิจกรรมการได้ออกไปเล่นกับเพื่อนที่สนามหน้าบ้านเป็นตัวเสริมแรง (reinforcement)
การเสริมแรงทางลบ คือ การเพิ่มความถี่ของพฤติกรรมอันเนื่องมาจากการแสดงพฤติกรรมนั้น แล้วสามารถถอดถอนสิ่งเร้าที่ไม่พึงปรารถนา (aversive stimulus) ออกได้เช่น “โจ้” ข้ามถนนที่ทางม้าลายเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตำรวจปรับ พฤติกรรมการข้ามถนนที่ทางม้าลายเป็นพฤติกรรมที่สามารถทำให้พ้นจากการถูกปรับ เป็นพฤติกรรมที่ได้รับการเสริมแรงทางลบ ความสามารถในการหลีกหนีจากการถูกตำรวจปรับเป็นตัวเสริมแรงทางลบ

 

วิธีการเสริมแรง (Schedules of Reinforcement)

วิธีเสริมแรงแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี (สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต, 2531 : 357) ดังนี้

  1. การเสริมแรงทุกครั้ง ได้แก่ การให้การเสริมแรงทุกครั้งที่พฤติกรรมเกิดขึ้น อันเป็นผล ทำให้พฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นคงที่และอยู่ในระดับที่สม่ำเสมอ แต่ว่ามักจะลดลงอย่างรวดเร็วถ้ายุติการให้เสริมแรง การเสริมแรงแบบนี้ควรใช้ในการช่วยพัฒนาพฤติกรรมใหม่ ๆ แต่ถ้าพฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นในระดับสม่ำเสมอควรเปลี่ยนมาใช้วิธีการเสริมแรงวิธีการที่สอง คือ การเสริมแรงเป็นครั้งคราว หรือการเสริมแรงบางส่วน
  2. การเสริมแรงเป็นครั้งคราว ได้แก่การเสริมแรงพฤติกรรมหนึ่งเป็นครั้งคราวตามจำนวนครั้งหรือระยะเวลาที่พฤติกรรมเกิดขึ้น อันเป็นผลทำให้พฤติกรรมที่ได้รับการเสริมนั้นเกิดขึ้นคงที่สม่ำเสมอ และโอกาสที่พฤติกรรมที่ได้รับการเสริมแรงด้วยวิธีการนี้ จะลดลงภายหลังการถอดถอนการเสริมแรงออกไปมีน้อย
    วิธีการเสริมแรงเป็นครั้งคราว อาจจำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ 5 ประเภท (ชัยพร วิชชาวุธ, 2525 : 165–166) ดังนี้
    2.1 การเสริมแรงตามเวลาแน่นอน (Fixed Interval) เป็นการให้การเสริมแรงโดยกำหนดระยะเวลาที่จะให้การเสริมแรงไว้แน่นอน เช่น ถ้าเกิดพฤติกรรมหลังจากผ่านไปแล้ว 3 ชั่วโมง พฤติกรรมนั้นจึงจะได้รับการเสริมแรง หากเกิดก่อน 3 ชั่วโมงก็จะไม่ได้รับ ตัวอย่างได้แก่ การให้นมเด็กเล็ก เมื่อให้นมแล้วครั้งหนึ่งจะต้องคอยเวลา 3 ชั่วโมง จึงจะให้อีกครั้งหนึ่ง หากยังไม่ถึง 3 ชั่วโมงแม้เด็กจะแสดงอาการอยาก ดื่มนมก็จะไม่ให้ดูด แต่ถ้าถึง 3 ชั่วโมงการแสดงอาการอยากดื่มนมจะได้รับนมทันที
    2.2 การเสริมแรงตามเวลาไม่แน่นอน (Variable Interval) คล้ายกับเงื่อนไขการเสริมแรงตามเวลาแน่นอน แต่แตกต่างกันที่ช่วงเวลาไม่กำหนดแน่นอน เช่น บางทีก็ 3 ชั่วโมง บางทีก็ 2 ชั่วโมงครึ่ง บางทีก็มากกว่า 3 ชั่วโมง จึงมีการเสริมแรงครั้งหนึ่ง เป็นต้น
  3. การเสริมแรงตามอัตราส่วนแน่นอน (Fixer Ratio) เป็นการเสริมแรงตามจำนวนครั้งของพฤติกรรม เช่น ถ้าแสดงพฤติกรรม 5 ครั้ง ก็จะได้รับการเสริมแรง 1 ครั้ง ตัวอย่างในชีวิตจริงคือ การเสริมแรงแก่ผู้บริจาคโลหิต ซึ่งมีการกำหนดว่าหากบริจาคเท่านั้นเท่านี้ครั้งจะได้รับสิ่งแสดงเกียรติคุณอย่างนั้นอย่างน
  4. การเสริมแรงตามอัตราส่วนไม่แน่นอน (Variable Ratio) เป็นการเสริมแรงตามจำนวนครั้งของพฤติกรรม แต่กี่ครั้งจึงจะได้รับการเสริมแรงไม่ได้กำหนดไว้แน่นอน บางทีก็มากครั้ง บางทีก็น้อยครั้ง แต่สามารถประมาณได้คร่าว ๆ ว่ากี่ครั้ง เงื่อนไขเช่นนี้มีมากที่สุดในชีวิตประจำวัน ตัวอย่าง ในการขายประกันชีวิต ได้รับการเสริมแรงประเภทนี้ ตัวอย่างอื่น เช่น การขายพวกมาลัยของเด็กตามสี่แยก การเรียกคนให้แวะซื้อของแม่ค้า การตกปลา เป็นต้น
  5. การเสริมแรงแบบสุ่ม (Random) เป็นการเสริมแรงที่ไม่มีแบบแผนแน่นอน บางครั้งก็ได้รับการเสริมแรง บางครั้งก็ไม่ได้รับการเสริมแรง และเมื่อได้รับก็ไม่สามารถคาดคะเนได้

เงื่อนไขการเสริมแรงประเภทต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ มีความยากง่ายในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน เงื่อนไขที่มีการกำหนดเวลาหรืออัตราส่วนที่แน่นอน เรียนรู้ได้ง่ายกว่าเงื่อนไขที่กำหนดเวลาหรืออัตราที่ไม่แน่นอน และเงื่อนไขตามอัตราจำนวนครั้งพฤติกรรม เรียนรู้ได้ง่ายกว่าเงื่อนไขตามเวลา ที่เรียนรู้ได้ยากที่สุดก็ได้แก่ เงื่อนไขแบบสุ่ม เนื่องจากเงื่อนไขแบบสุ่มไม่มีกฎเกณฑ์ในการให้การเสริมแรง แต่ผู้เรียนก็พยายามจะค้นหากฎเกณฑ์บางอย่าง เช่น มี 2 - 3 ครั้ง โดยบังเอิญที่ผู้เรียนกระทำพฤติกรรมบางอย่าง เป็นต้นว่า พนมมือแล้วเอาฝ่ามือ ลูบศีรษะ แล้วปรากฏว่าได้รับการเสริมแรง ผู้เรียนเข้าใจว่าการพนมมือแล้วเอาฝ่ามือลูบศีรษะทำให้ได้รับการเสริมแรง ทั้ง ๆ ที่พฤติกรรมดังกล่าวนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสริมแรงที่เกิดขึ้นจริงเลย พฤติกรรมทำนองนี้มีจำนวนมากในสังคมไทย เช่น การแห่นางแมวขอฝน การบนพระพรหมให้ได้บุตร การขัดถูสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้เกิดตัวเลขนำไปแทงหวย ฯลฯ พฤติกรรมงมงายเกิดขึ้นในเงื่อนไขการเสริมแรงแบบสุ่ม หรือมิฉะนั้นก็เกิดขึ้นใน เงื่อนไขที่ซับซ้อนจนบางคนไม่สามารถจะค้นพบหลักเกณฑ์ได้ จึงมีลักษณะคล้ายการสุ่มสำหรับคนเหล่านี้ เช่น ทำอย่างไรจึงจะได้ตำแหน่งสูง ๆ ทำอย่างไรจึงจะชนะใจสามี ฯลฯ ในเงื่อนไขซับซ้อนเช่นนี้ เราจึงเห็นคนจำนวนไม่น้อยเชื่อในเรื่องโชคชะตาราศี และการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่าง ๆ
การเสริมแรงเป็นครั้งคราวแบบต่าง ๆ นอกจากจะมีผลต่อการเรียนและความเชื่อแล้วยังมีผลต่อพฤติกรรมภายหลังการเรียนรู้ และการเลิกพฤติกรรมภายหลังการเรียนรู้แล้ว ผู้ที่เรียนจากการเสริมแรงตามอัตราส่วนจะมีความขยันในการแสดงพฤติกรรมมากที่สุด โดยเฉพาะอัตราส่วนที่ไม่แน่นอน ตัวอย่างในชีวิตจริงที่เห็นได้ชัดเจนก็ได้แก่ การร้องเรียกลูกค้าให้แวะซื้อสินค้าของแม่ค้า การวิ่งขายพวงมาลัยของเด็กตามสี่แยก การยกมือไหว้ขอเงินขอของ ฯลฯ บุคคลเหล่านี้จะขยันร้องเรียก ขยันวิ่งขาย ขยันร้องขอ ความขยันในการแสดงพฤติกรรมจึงเกิดขึ้น ส่วนผู้ที่เรียนรู้จากการเสริมแรงตามเวลา จะมีความขยันน้อยมาก ถ้าไม่ถึงเวลาที่แน่นอนจะมีความขยันน้อยที่สุด ตัวอย่างในชีวิตจริงก็ได้แก่ การพิจารณาความดีความชอบกรณีพิเศษ (การขึ้นเงินเดือน 2 ชั้น) ของข้าราชการ พฤติกรรมในการทำงานจะขยันขันแข็งในช่วงเวลาใกล้ ๆ เดือนที่มีการเสนอพิจารณาให้ความดีความชอบประจำปี โครงการต่าง ๆ มักจะเสนอหรือทำให้ผู้บังคับบัญชาเห็นในช่วงนี้
ในแง่การเลิกพฤติกรรม พฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้โดยการเสริมแรงเป็นครั้งคราวจะเลิกได้ยากกว่าพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้โดยการเสริมแรงทุกครั้ง โดยเฉพาะการเสริมแรงเป็นครั้งคราวแบบตามอัตราส่วนไม่แน่นอน การเลิกพฤติกรรมทำได้ยากมาก เช่น พฤติกรรมการร้องให้พ่อแม่ซื้อของเล่นให้เวลาไปซื้อของบนห้างสรรพสินค้าหรือตามตลาด บางครั้งลูกร้องขอคำเดียวพ่อแม่ก็ซื้อให้ บางครั้งลูกต้องร้องขอหลายครั้งจึงซื้อให้ ต้องลงนอนกับพื้นร้องดิ้นจะได้ พฤติกรรมนี้ของเด็กจะเกิดขึ้นบ่อยและเลิกยากด้วย เด็กจะรบเร้าให้พ่อแม่ซื้อของเล่นให้บ่อยครั้งเมื่อพาไปห้างสรรพสินค้าหรือตลาด แม้พ่อแม่บอกว่าไม่ควรซื้อด้วยเหตุผลต่าง ๆ เด็กก็จะไม่ฟังยังคงร้องขอต่อไป พฤติกรรมเช่นนี้เรียกว่า “การดื้อต่อการหยุดยั้ง” (resistance to extinction)
ปรากฏการณ์ดื้อต่อการหยุดยั้งเกิดขึ้นในเงื่อนไขการเสริมแรงเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะการเสริมแรงแบบอัตราส่วนไม่แน่นอน ทั้งนี้เนื่องจากผู้เรียนรู้ที่อยู่ในเงื่อนไขการเสริมแรงแบบนี้มาก่อน ได้เรียนรู้ที่จะคาดหวังว่า ถ้าทำพฤติกรรมต่อไปอีกก็จะได้รับการเสริมแรง ดังที่เป็นมาแล้วในอดีต กว่าจะเลิกคาดหวังก็ต้องใช้เวลานาน ในทางกลับกันผู้เรียนรู้ที่อยู่ในเงื่อนไขการเสริมแบบการเสริมแรงทุกครั้งมาก่อน หากไม่ได้รับการเสริมแรงเพียงไม่กี่ครั้งก็จะเลิกทำพฤติกรรมทันที และจะไม่คาดหวังว่าการทำพฤติกรรมต่อไปอีกจะสัมฤทธิ์ผล เพราะไม่เคยได้เรียนรู้การคาดหวังเช่นนี้มาก่อน

 

การลงโทษ (Punishment)

การลงโทษ คือ การให้ผลกรรมที่อินทรีย์ไม่ต้องการหรือถอดถอนสิ่งที่อินทรีย์ต้องการออกภายหลังที่อินทรีย์แสดงพฤติกรรม แล้วมีผลทำให้พฤติกรรมนั้นยุติ หรือลดลง เช่น เด็กชายเอกมาโรงเรียนสาย ครูจึงดุเด็กชายเอก (ให้สิ่งที่ไม่ต้องการ) มีผลทำให้พฤติกรรมมาโรงเรียนสายของเด็ดชายเอกลดลง การดุของครูจึงถือได้ว่าเป็นการลงโทษ

ประเภทของการลงโทษ การลงโทษแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. การลงโทษทางบวก (Positive Punishment) ได้แก่ การให้สิ่งใด ๆ ก็ตามภายหลัง พฤติกรรมของอินทรีย์ แล้วมีผลทำให้พฤติกรรมนั้นยุติหรือลดลง เช่น ลูกขโมยเงินในกระเป๋าแม่แล้วถูกแม่ตี เดชพูดคำหยาบ แม่จึงดุ แดงไม่ทำการบ้านส่งครู ครูจึงตีแดง การตีและการดุดังกล่าวนี้ จะเป็นการลงโทษ ทางบวกหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าพฤติกรรมของเด็กเหล่านี้ยุติ หรือลดลงหรือไม่ ถ้าพฤติกรรมดังกล่าวยุติหรือลงลด การตีและการดุดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการลงโทษทางบวก
  2. การลงโทษทางลบ (Negative Punishment) ได้แก่ การถอดถอนสิ่งใด ๆ ก็ตามภายหลังพฤติกรรมของอินทรีย์ แล้วมีผลทำให้พฤติกรรมนั้นยุติหรือลดลง เช่น เด็กชาย “โอ้” และเด็กชาย “เอก” เล่นชิงช้าด้วยกันที่สนามหญ้าของโรงเรียนแล้วทะเลาะกัน ครูจึงห้ามเล่นชิงช้า(ถอดถอนการเล่นชิงช้าซึ่งเด็กทั้งสองต้องการออก) มีผลทำให้พฤติกรรมการทะเลาะกันขณะเล่นชิงช้าของเด็กชาย “โอ้” และเด็กชาย “เอก” ยุติลงในโอกาสต่อมา การห้ามเล่นชิงช้าเป็นการลงโทษทางลบ

 

อย่างไรก็ตาม การลงโทษไม่ว่าจะเป็นการลงโทษทางบวกหรือการลงโทษทางลบ สิ่งที่ให้นั้นจะให้ภายหลังจากที่พฤติกรรมที่ต้องการยุติหรือลดเกิดขึ้น และเนื่องจากการลงโทษทางบวก และการเสริมแรงทางลบ มีลักษณะร่วมกันอยู่ประการหนึ่ง คือ ต่างก็เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อินทรีย์ไม่ต้องการเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่การให้การเสริมแรงทางลบนั้นสิ่งที่อินทรีย์ไม่ต้องการเกิดขึ้นก่อน แล้วอินทรีย์หาทางถอดถอนหรือหลีกหนีให้พ้นจากสิ่งที่ไม่ต้องการนั้น ส่วนการลงโทษทางบวกนั้น พฤติกรรมเกิดขึ้นก่อนแล้วได้รับสิ่งที่ไม่ต้องการตามมา เช่น หนูกดคานแล้วถูกช็อตด้วยไฟฟ้า มีผลทำให้พฤติกรรมการกดคานของหนูยุติลง การถูกไฟฟ้าช็อตเป็นการลงโทษ แต่ถ้าจัดสถานการณ์ใหม่โดยให้หนูถูกไฟฟ้าช็อต หนูวิ่งไปกดคานแล้วมีผลทำให้กระแสไฟฟ้าดับ หนูรอดพ้นจากการถูกไฟฟ้าช็อต ทำให้พฤติกรรมการกดคานของหนูเพิ่มขึ้น การกดคานของหนูเป็นพฤติกรรมที่ได้รับการเสริมแรงทางลบ
เพื่อให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าการจัดเงื่อนไขผลกรรมอย่างไร จึงเรียกว่า การเสริมแรงทางบวก การเสริมแรงทางลบ การลงโทษทางบวกหรือการลงโทษทางลบ โปรดพิจารณาภาพ

Punishment

การให้ การถอดถอน
สิ่งที่ต้องการ การเสริมแรงทางบวก การลงโทษทางลบ
สิ่งที่ไม่ต้องการ การลงโทษทางบวก การเสริมแรงทางลบ

 

รูปที่ 11 - 1 แสดงการเสริมแรง และการลงโทษ

จะเห็นได้ว่า การให้สิ่งที่ต้องการเป็นการเสริมแรงทางบวก การให้สิ่งที่ไม่ต้องการเป็นการลงโทษทางบวก การถอดถอนสิ่งที่ต้องการเป็นการลงโทษทางลบ และการถอดถอนสิ่งที่ไม่ต้องการเป็นการเสริมแรงทางลบ

 

หลักการใช้วิธีการลงโทษให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ในการลงโทษเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการระงับหรือยุติพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์สูงสุดนั้น มีหลักในการใช้ดังนี้

  1. ระดับความรุนแรงของการลงโทษ ในการลงโทษนั้นระดับความรุนแรงของการลงโทษมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการระงับพฤติกรรม กล่าวคือ ระดับความรุนแรงของการลงโทษมากเท่าใดก็จะมีผลในการระงับพฤติกรรมได้มากเท่านั้น ดังนั้นในการลงโทษจะต้องลงโทษให้รุนแรงด้วยระดับความรุนแรงที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ในขอบเขตของคุณธรรม จริยธรรม และกฎหมายด้วย เป้าหมายของการปรับพฤติกรรมอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ให้เป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ฉะนั้น การใช้วิธีการ ลงโทษในกระบวนการปรับพฤติกรรมก็อยู่บนพื้นฐานของเป้าหมายข้อนี้
  2. ลักษณะการให้ผลกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในกระบวนการลงโทษ ในการลงโทษนั้นต้องไม่ลงโทษด้วยการเพิ่มระดับความรุนแรงของการลงโทษทีละน้อย ๆ แต่จะต้องลงโทษด้วยระดับความรุนแรงที่เหมาะสมกับบุคคลแต่ละคน ทั้งนี้เพราะการลงโทษโดยการค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงของการลงโทษทีละน้อย ๆ จะมีผลทำให้บุคคลผู้ถูกลงโทษปรับตัวหรือเคยชินกับการลงโทษ ทำให้วิธีการลงโทษนั้นใช้ไม่ได้ผล เช่น การปรับผู้ขับรถฝ่าฝืนกฎจราจร ถ้าจะให้ได้ผลจะต้องปรับตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้สูงสุด ถ้าปรับโดยเริ่มจากอัตราค่าปรับต่ำสุดแล้วค่อย ๆ เพิ่มโทษปรับในอัตราสูงขึ้นทีละน้อย ๆ ก็จะทำให้ผู้ถูกปรับรายนั้นเคยชินกับค่าปรับที่เพิ่มขึ้น ไม่รู้สึกว่าถูกลงโทษรุนแรงแต่ประการใด การลงโทษก็จะไม่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้น การลงโทษแต่ละครั้งควรจะลงโทษด้วยความรุนแรงที่เพียงพอจะระงับพฤติกรรม ซึ่งเป็นพฤติกรรมเป้าหมายได้
  3. การยืดเวลาในการลงโทษ การลงโทษก็เช่นเดียวกับการเสริมแรง คือ การลงโทษจะมีประสิทธิภาพมาก ถ้าลงโทษทันทีหลังจากพฤติกรรมเป้าหมายที่ต้องการระงับนั้นเกิดขึ้น การยืดเวลาการลงโทษออกไป กล่าวคือ เมื่อพฤติกรรมเป้าหมายเกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะให้การลงโทษทันทีก็ยืดเวลาการลงโทษออกไปโดยทิ้งช่วงเวลาระหว่างการแสดงพฤติกรรมเป้าหมายกับการลงโทษให้ห่างกัน อาจมีผลทำให้การลงโทษนั้นไม่มีประสิทธิภาพในการระงับพฤติกรรม ทั้งนี้เพราะในช่วงเวลาที่ทิ้งช่วงนั้นอาจมีพฤติกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากพฤติกรรมเป้าหมายเกิดขึ้นมาแล้วให้การลงโทษ ผู้ถูกลงโทษจะเรียนรู้การลงโทษได้ยาก โอกาสที่จะเรียนรู้ว่ากระทำพฤติกรรมเป้าหมายแล้วได้รับการลงโทษที่ให้นั้นยากมาก ผู้ถูกลงโทษอาจเข้าใจว่า กระทำพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทิ้งช่วงเวลาการลงโทษออกไปนั้นแล้วจึงถูกลงโทษ ฉะนั้นในการลงโทษ โดยเฉพาะในระยะแรก ๆ ของการเริ่มโปรแกรมการปรับพฤติกรรมด้วยการลงโทษ จะต้องให้การลงโทษทันทีภายหลังพฤติกรรมเป้าหมายเกิดขึ้น
  4. ตารางการลงโทษ ในการลงโทษด้วยวิธีการลงโทษแบบต่อเนื่อง (Continuous Punishment) จะมีประสิทธิภาพในการระงับพฤติกรรม มากกว่าการลงโทษด้วยวิธีการลงโทษเป็นครั้งคราว (Intermittent Punishment) นั่นก็คือ การลงโทษทุกครั้งที่พฤติกรรมเป้าหมายเกิดขึ้นจะมีประสิทธิภาพในการระงับพฤติกรรมมากกว่าวิธีการลงโทษเป็นครั้งคราว เช่น การลงโทษตามเวลาที่แน่นอน (Fixed Interval) การลงโทษตามเวลาไม่แน่นอน (Variable Interval) การลงโทษตามอัตราส่วนที่แน่นอน (Fixed Ratio) การลงโทษตามอัตราส่วนที่ไม่แน่นอน (Variable Ratio) และการลงโทษแบบสุ่ม (Random) อย่างไรก็ตาม การลงโทษแบบต่อเนื่องแม้จะมีประสิทธิภาพในการระงับพฤติกรรมก็ตาม แต่การลงโทษแบบต่อเนื่องก็ก่อให้เกิดการฟื้นคืนเองของพฤติกรรม (Response Recovery) ได้มากกว่าวิธีการลงโทษเป็นครั้งคราว เช่น การใช้เทคนิคเวลานอก ถ้าใช้ทุกครั้งที่พฤติกรรมเป้าหมายเกิดขึ้น จะมีประสิทธิภาพในการระงับพฤติกรรม แต่ถ้าใช้เป็นครั้งคราว จะมีประสิทธิภาพในการระงับพฤติกรรมน้อย (Hobbs and Forehand. 1977 : 365 – 370) แต่เมื่อระงับพฤติกรรมเป้าหมายได้แล้ว การใช้การลงโทษเป็นครั้งคราว จะช่วยคงไว้ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวไม่กลับคืนไปสู่สภาพเดิม (Calhound and Lima. 1977 : 189 – 194)
  5. แหล่งตัวเสริมแรง ในการลงโทษ ถ้าพฤติกรรมที่ถูกลงโทษนั้นได้รับการเสริมแรงทางบวกด้วย ประสิทธิภาพของการลงโทษก็จะน้อยกว่าการลงโทษพฤติกรรมดังกล่าวที่ไม่ได้รับการเสริมแรงจากแหล่งตัวเสริมแรงใด ๆ ทั้งนี้เพราะการเสริมแรงจะทำให้พฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นต่อไป การลงโทษจึงไม่สามารถระงับพฤติกรรมนั้นได้
  6. การลงโทษพฤติกรรมต้นเหตุ ในการลงโทษถ้าลงโทษพฤติกรรมที่เป็นต้นเหต ุจะบังเกิดผลดีกว่าการลงโทษที่พฤติกรรมปลายเหตุ หรือพฤติกรรมขั้นสุดท้าย การกระทำพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นอาจมีลำดับขั้นของพฤติกรรมหลายพฤติกรรมกว่าจะถึงพฤติกรรมขั้นสุดท้าย การลงโทษถ้าสามารถลงโทษ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในตอนต้น ก็จะไม่เปิดโอกาสให้เกิดพฤติกรรมขั้นสุดท้ายได้ เช่น การลงโทษเด็กลักขโมยของ พฤติกรรมขโมยของนั้นอาจจะประกอบด้วยลูกโซ่ของพฤติกรรมซึ่งเริ่มตั้งแต่ เดินเข้าไปในห้องเก็บของ งัดตู้เก็บของ เปิดตู้ และหยิบของออกไป การลงโทษควรจะเริ่มลงโทษตั้งแต่เด็กเข้าไปในห้องเก็บของโดยไม่ได้ขออนุญาตมากกว่าจะรอให้เด็กหยิบของออกไปแล้วหรืออีกตัวอย่างหนึ่งการลงโทษนักเรียนหนีโรงเรียนไปเล่นสเกต การลงโทษต้องลงโทษพฤติกรรมหนีโรงเรียน ไม่ใช่ลงโทษพฤติกรรมเล่นสเกต
  7. ในการใช้การลงโทษควรใช้ควบคู่กับการเสริมแรง ดังได้กล่าวมาแล้วว่าการลงโทษเป็นวิธีการระงับพฤติกรรมหรือยุติพฤติกรรม ผู้ถูกลงโทษเพียงรู้ว่าทำพฤติกรรมอะไรจึงถูกลงโทษ แต่ไม่รู้ว่าควรจะต้องทำพฤติกรรมอะไร ฉะนั้นในการใช้การลงโทษจึงควรเสริมแรงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ที่ต้องการให้เกิดไปพร้อมกันด้วย

 

ผลข้างเคียงที่เกิดจากการลงโทษ

 

การลงโทษเป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพสูงในการระงับหรือยุติพฤติกรรม แต่การใช้การ ลงโทษก็อาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ตามมาหลายประการ ดังนั้น การใช้การลงโทษจึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ควรใช้เมื่อพฤติกรรมนั้นเป็นพฤติกรรมที่รุนแรง อาจเป็นอันตรายต่อผู้กระทำพฤติกรรมหรือผู้อื่น หรือใช้เมื่อไม่มีวิธีการอื่นใดที่ดีกว่าการลงโทษแล้ว หากหลีกเลี่ยงได้แล้วไม่ควรใช้การลงโทษ ผลข้างเคียงที่ เกิดจากการลงโทษได้แก่สิ่งต่อไปนี้

  1. ปัญหาทางอารมณ์ การลงโทษก่อให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ เป็นต้นว่า เกิดความกลัว ความวิตกกังวล ความเครียด ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็กหรือบุคคล (Mikulas. 1978 : 100 ; Kazdin. 1984 : 146 ; สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. 2526 ก : 129)
  2. การหลีกหนี การลงโทษก่อให้เกิดการหลีกหนีจากจากสภาพการณ์ที่ถูกลงโทษหรือผู้ลงโทษและสิ่งเร้าอื่น ซึ่งเชื่อมโยงกับสิ่งเร้าที่เป็นการลงโทษ (Mikulas. 1978 : 100 ; สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. 2526 ก : 129)
  3. ความก้าวร้าว การลงโทษอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวและการต่อต้านต่อผู้ลงโทษหรือบุคคลอื่น (ชัยพร วิชชาวุธ. 2525 : 143 ; สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. 2526 ก : 129) การลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี การตำหนิ หรือวิธีการอื่นใดก็ตาม ย่อมก่อให้เกิดความเจ็บปวด ความไม่พอใจ ทำให้ผู้ถูกลงโทษแสดงการตอบโต้อันอาจเป็นการก้าวร้าวต่อผู้ลงโทษทั้งทางกายและทางวาจาได้
  4. การเลียนแบบวิธีการลงโทษ ผลข้างเคียงที่เกิดจากการลงโทษอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การลงโทษก่อให้เกิดการเลียนแบบวิธีการลงโทษ คือ การลงโทษโดยใช้วิธีการใดก็ตาม ผู้ถูกลงโทษย่อมสังเกตเห็นวิธีการนั้น และนำไปประพฤติหรือปฏิบัติในโอกาสต่อไป จากการศึกษาของ ทิมเบอร์เลค (Timberlake. 1981 quoted in Kazdin. 1984 : 147) พบว่า ถ้าบิดามารดาใช้วิธีการลงโทษทางกายกับเด็ก โดยเฉพาะการ ลงโทษด้วยวิธีการที่รุนแรง เด็กก็จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวเกิดขึ้นสูง ผู้ใหญ่ที่ใช้วิธีการลงโทษจึงเป็นตัวแบบในการปฏิบัติต่อผู้อื่นสำหรับเด็กที่ถูกลงโทษ กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อเด็กถูกลงโทษอย่างไร ก็จะเก็บจำเอาวิธีการนั้นไปปฏิบัติกับผู้อื่นในทำนองเดียวกัน
  5. การใช้วิธีการลงโทษทำให้ผู้ใช้ติดเป็นนิสัย ทั้งนี้เพราะการลงโทษสามารถระงับหรือยุติพฤติกรรมได้อย่างรวดเร็ว ผู้ลงโทษจึงได้รับการเสริมแรง คือ สามารถยุติพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของผู้ถูกลงโทษได้ จึงมีผลให้ผู้ลงโทษใช้วิธีการลงโทษอยู่เสมอ