จิตรานุภาพของการตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน

จิตรานุภาพของการตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน

บทความที่นำเสนอสรุปจากหนังสือชื่อ The Power of Now แต่งโดย Eckhart Tolle ว่าด้วยเรื่องของพลังแห่งการจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้เราให้เราประสบความสำเร็จ มีความสุข และมีความสงบในจิตใจ ผู้แต่งได้อธิบายถึง กลไกของความคิดที่ก่อให้เกิดความทุกข์และ วิธีการสร้างความสุขให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ

ซึ่งมีใจความสำคัญดังต่อไปนี้ระบบความคิดซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ มีลักษณะตามสภาวะธรรมชาติ ดังนี้

ทำงานด้วยตัวของมันเอง เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา และไม่สามารถบังคับได้

ข้อมูลจากการวิจัยทั่วโลกพบว่า มนุษย์มีความคิดที่ผุดขึ้นเองตามธรรมชาติมากกว่าห้าหมื่นเรื่องต่อวัน ความคิดเหล่านี้เป็นสาเหตุให้มนุษย์เกิดความทุกข์ เพราะส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองเช่น ความอยากมี อยากเป็น อยากได้ ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากได้ หรือความโกรธเกลียดอาฆาตแค้น เป็นต้น โดยมนุษย์ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าความคิดดังกล่าวเป็นตัวเรา เป็นของเรา และถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติไม่จำเป็นต้องแก้ไขใด ๆ ฉะนั้น เมื่อมีความทุกข์หรือมีความอึดอัดใจ พวกเขาเหล่านั้นจึงรู้เพียงแต่ว่า พวกเขาไม่มีความสุข แต่ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรหรืออาจจะหาทางออกโดยการเสาะแสวงหาความสุขด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อเป็นการชดเชย โดยมองข้ามต้นตอของความทุกข์ไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งวิธีนี้เป็นหนทางออกจากความทุกข์เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อกลับมาคิดอีกก็ทุกข์อีก วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ไม่มีที่สิ้นสุด

วิธีการแก้ไขคือ ให้ตระหนักอยู่เสมอว่า ความคิดไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เราจึงควบคุมไม่ได้ และถึงแม้ว่าเราจะบังคับความคิดไม่ได้ แต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกคิดเฉพาะเรื่องที่ดี มีประโยชน์ และสร้างสรรค์ได้ เราไม่จำเป็นจะต้องจมอยู่กับกองทุกข์เสมอไป เราสามารถเลือกที่จะมีความสุขได้ด้วยตัวของเราเอง

2.ไม่อยู่กับปัจจุบัน

ความคิดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมักเป็นเรื่องในอดีตทั้งในแง่บวกและแง่ลบ หรือไม่ก็เป็นเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ความคิดเหล่านี้ก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งสิ้น เพราะเรื่องในอดีต หากเป็นเรื่องในแง่ลบย่อมทำให้เราจิตใจเศร้าหมอง แต่ถ้าเป็นเรื่องในแง่บวกก็อาจทำให้เราประมาทและเผลอเรอได้ ส่วนเรื่องในอนาคต มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความกังวลหรือคิดเกินปรุงแต่งไปเอง

3.ก่อให้เกิดอารมณ์

ความคิดที่เกิดขึ้นในขณะที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวนั้น จะเป็นความคิดที่เต็ม ไปด้วยตัวกูของกู จึงก่อให้เกิดอารมณ์ได้ทั้งในแง่ลบและแง่บวกเช่น เมื่อถูกตำหนิหรือด่าทอ จิตใจเราจะปรุงแต่งทันที เกิดเป็นความคิดต่อต้าน จนเกิดเป็นอารมณ์โกรธ เพราะคิดว่า ตัวเราเป็นเจ้าของความคิดเหล่านั้น หรือเมื่อเห็นของที่โปรดปรานจิตใจจะปรุงเป็นความคิด จนเกิดเป็นอารมณ์รักหรือพอใจ เมื่อนั้นจะเกิดเป็นตัณหา ความอยากที่จะครอบครอง เมื่อไม่ได้ดังใจก็จะเกิดความทุกข์ตามมา

4.เป็นเสียง

เมื่อจิตใจเกิดการปรุงแต่ง จะแสดงออกมาในรูปแบบของเสียงที่ดัง อยู่ในใจ หากเราเชื่อว่าเสียงดังกล่าวเป็นตัวเรา เราก็จะมีพฤติกรรมและคำพูดเป็นไปตามความคิดที่ผุดขึ้นมา ซึ่งตามที่ทราบกันดีแล้วว่า ความคิดที่เกิดขึ้นเองเมื่อเราไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัวนั้น จะเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งส่งผลให้การกระทำและคำพูดของเราปราศจากความรู้สึก เต็มไปด้วยความเป็นตัวกูของกู และวินาทีที่เราไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว ความคิดในแง่ลบที่ผุดขึ้นจะมีผลต่อจิตใจของเราทันที ก่อให้เกิดความทุกข์สุมอยู่ในจิตใจ

วิธีการสร้างความสุขและเปิดจิตเข้าสู่ความสงบโดยไม่ต้องนั่งกรรมฐาน

1) ฝึกรู้ทันความคิดและอารมณ์ที่ปรุงแต่งขึ้นมาทุกวินาที

หลักในการมองความคิดหรือมองอารมณ์คือ เราจะต้องสวมบทบาทเป็น "ผู้มอง" อย่างเดียวโดยไม่ต้องเติมสีปรุงแต่ง แม้ว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นสุขหรือทุกข์ก็ตามที อย่างไรก็ตาม การฝึกมองอารมณ์นั้นจะปลอดภัยกว่าการมองความคิดเพราะการมองความคิด อาจจะหยุดไม่ได้และอาจทำให้เสียสติ ดังนั้น จึงแนะนำว่า เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นให้ เพียงทำใจ"รู้"ว่ามีความคิดเกิดขึ้น หากเป็นความคิดที่ไม่ดี ไม่สร้างสรรค์ ให้ตัดทิ้งทันทีไม่ต้องเสียดาย ให้เลือกคิดแต่ในสิ่งที่ดี หมั่นสร้างความคิดที่ดีให้เกิดขึ้นในจิตใจเพื่อเป็นการทดแทนความคิดที่ไม่ดี และพยายามประคองไม่ให้ความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้นได้อีกเลย เมื่อนั้นจิตใจจะเกิดความสงบและสบาย จิตจะเข้าใกล้ความเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานมากขึ้นในทุกขณะจิต

2) ฝึกความรู้สึกทั่วทั้งสรรพางค์กายและฝึกหายใจลึก ๆ ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

การฝึกความรู้ตัวทั่วพร้อมจะช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เพราะจิตไม่เกาะอยู่กับความคิด จึงไม่เกิดความทุกข์ ความเครียด หรือความกังวล เมื่อจิตใจดีร่างกายก็จะดีตามไปด้วย นอกจากนั้น การฝึกความรู้สึกทางร่างกายจะช่วยให้มองเห็นอารมณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเช่น หากเรานั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ร่างกายจะปวดเมื่อย ส่งผลให้เกิดเป็นอารมณ์ที่อึดอัดซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

3) ฝึกมองดูผัสสะที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

เมื่อมีการกระทบเกิดขึ้นทางอายาตนะทั้งห้า ให้ตั้งเรารับรู้ถึงการกระทบดังกล่าวอย่างแท้จริง เพื่อฝึกการจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน

4) ฝึกความคิดที่ถูกต้อง

หัดยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต่อหน้า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่ก็ตาม และให้ตระหนักอยู่เสมอว่าความคิดนั้นไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา และเราไม่สามารถบังคับมันได้ จะทำให้จิตใจถอดถอนออกจากความเป็นตัวกูของกู สามารถมองความจริงตรงตามความเป็นจริง จิตใจจะสงบ เมื่อนั้นจึงจะเกิดปัญญาช่วยให้เราสามารถหนีออกจากกองทุกข์ได้

5) คบหาสมาคมกับคนที่มีสติและสมาธิ

เพื่อเป็นการวัดระดับความมีสติและสมาธิของตนเอง เพราะถ้าตัวเราเองยังไม่รู้ว่าสภาวะของคนที่มีสติและสมาธิเป็นอย่างไรแล้ว ตัวเราจะพัฒนา แก้ไข และปรับปรุงพลังสติและสมาธิของตนเองได้อย่างไร ฉะนั้น เราจึงควรศึกษาพฤติกรรม คำพูด และการกระทำของคนเหล่านั้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้และพัฒนากำลังสติและสมาธิของเราต่อไป เมื่อเรามีสติและสมาธิเพียงพอ ความคิดในทางอกุศลย่อมกระทบเราไม่ได้ เมื่อนั้นเราจึงมีความสุข เป็นอิสระจากความทุกข์ และสามารถลืมตาอ้าปากสามารถสร้างชีวิตที่ดีและมีคุณภาพได้ด้วยสองมือของเราอย่างแท้จริง

พลังของการจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน พลังนี้จะช่วยให้เราสามารถดึงเอาศักยภาพที่ตัวเรามาใช้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ส่งผลให้เราประสบความสำเร็จ มีความสุข และมีควาบสงบในจิตใจ ผู้แต่งได้อธิบายวิธีการสร้างพลังดังกล่าวไว้ มีใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้

คนส่วนใหญ่นั้นมักไม่ได้อยู่กับ "ปัจจุบัน" แต่จะจมปลักอยู่กับความคิดในแง่ลบหรือเรื่องในอดีตอันขมขื่น เสียเป็นส่วนใหญ่ หรือในทางกลับกัน เรามักจะเหม่อลอย เพ้อฝัน หรือวิตกกังวลไปกับเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ซึ่งการวกวนอยู่กับความคิดทั้งสองประเภทนี้ ก่อให้เกิดโทษต่าง ๆ มากมาย คือ

  1. สุขภาพเสื่อมโทรม เพราะการย้ำคิดย้ำทำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตซึ่งมักเป็นเรื่องที่ไม่ดี จะสร้างความขมขื่นและคับแค้นใจตลอดเวลา ร่างกายจึงตอบสนองต่อพฤติกรรมดังกล่าวโดยการหลั่งสารที่เป็นพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน และโรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

  2. เกิดเคราะห์กรรมที่รุนแรงทั้งกับตนเองและผู้อื่น เพราะการตอกย้ำความคิดในอดีตเช่น ความโกรธแค้น ความอิจฉาริษยา หรือความน้อยเนื้อต่ำใจ จะยิ่งเป็นการสุมเพลิงในจิตใจ ทำให้มองความจริงไม่ตรงตามความเป็นจริง ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่รุนแรง อาจถึงขั้นอยากทำลายผู้อื่นหรือแม้แต่ทำร้ายตัวเอง เป็นต้น

  3. หน้าที่การงานไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผลงานต่าง ๆไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เนื่องจากพลังสมองส่วนใหญ่สูญเสียไปกับการครุ่นคิดถึงเรื่องอื่น ๆ

  4. มีความเครียดสะสม เพราะเมื่อจิตใจไม่จดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้า ผลงานที่ออกมาย่อมไม่ดี ยิ่งสร้างความเคร่งเครียดให้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

  5. เกิดความวิตกกังวลและไม่แน่ใจอยู่ตลอดเวลา เพราะจิตใจที่ล่องลอยคอยแต่ฝันกลางวัน เมื่อหันกลับมาสู่ความเป็นจริง จึงพบแต่ความว่างเปล่า เมื่อนั้นความหวาดกลัวและวิตกกังวลจะเข้าครอบงำจิตใจ ไม่สามารถจดจ่อกับปัจจุบันได้ มีแต่ความกังวลหวาดกลัวว่าจะไม่ได้ดังหวัง วนเวียนวกวนเช่นนี้เรื่อยไปไม่มีวันสิ้นสุด

วิธีสร้างพลังในการจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน

การจดจ่ออยู่กับปัจจุบันสามารถทำได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ "การตั้งใจทำ ตั้งใจพูด และตั้งใจคิด" หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การเอาใจจดจ่อกับเรื่องที่อยู่ตรงหน้าอย่างเต็มที่โดยไม่คิดเรื่องอื่น การจดจ่ออยู่กับปัจจุบันทำให้จิตใจมีความสงบ เบาสบาย เต็มไปด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และที่สำคัญที่สุดคือ ความคิดที่เกิดขึ้นจากจิตใจที่สบาย ๆ แต่เต็มไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัวนั้น จะคม มีพลัง ถูกต้อง ตรงประเด็น มีคุณธรรม มีความรู้สึก มีประสิทธิภาพสามารถมองความจริงได้ตรงตามความเป็นจริง และสามารถดึงเอาขุมความรู้จากจิตใต้สำนึกมาใช้ได้อย่างเต็มที่

นอกจากนั้น ผู้แต่งได้ให้แง่คิดเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลาวิกฤตเช่น ตอนที่เรารู้ตัวว่ารถกำลังจะชน หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ในขณะนั้น จิตใจของเราจะสงบนิ่ง ไม่มีความกังวล สติจะเกิดขึ้นทันทีพร้อมกับปัญญาที่จะบอกเราว่า เราควรทำอะไร อย่างไร จิตใจจะจดจ่ออยู่กับปัจจุบันตามสภาวะธรรมชาติ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่จิตใจของเราจดจ่ออยู่กับปัจจุบันนั้น ความกังวล ความเคร่งเครียด ความหวาดกลัว และความฟุ้งซ่าน จะหายไปโดยฉับพลัน ดังนั้น เพียงแต่เราจดจ่อกับปัจจุบันเราก็สามารถสร้างพลังเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้ช่วงเวลาวิกฤตเกิดขึ้น วิธีการนั้นก็คือ การตั้งใจทำ ตั้งใจพูด ตั้งใจคิด และจดจ่อกับทุก ๆ อิริยาบถของร่างกาย กอปรกับการมองดูสภาวะอารมณ์ของตนเองตลอดเวลาว่า ขณะนี้เราอยู่ในอารมณ์สุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ วินาทีที่เราตามรู้ทันความรู้สึกเหล่านั้น จิตใจจะปรับและกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลเองตามธรรมชาติ

นอกจากการตั้งใจจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และการดูอารมณ์แล้วนั้น ผู้แต่งยังแนะนำวิธีการชักจูงจิตใจให้อยู่กับปัจจุบันคือ การเฝ้ามองความคิดต่างที่ผุดขึ้นมาในจิตใจ เมื่อเรากระทบต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส

สุดท้าย เมื่อมองเห็นแล้วว่า สิ่งใดเป็นเหตุให้จิตใจกระเพื่อมและหวั่นไหว เกิดความลิงโลดใจจนเกินควร หรือเกิดความเศร้าหมองใจจนเกินประมาณ เมื่อรู้แล้วก็ให้พยายามลดเหตุและปัจจัยเหล่านั้น และตั้งใจจดจ่อในทุก ๆ อิริยาบถ ในทุกขณะจิต เมื่อทำไปเรื่อย ๆ จิตจะมีตัวรู้คือ สัปปุริสธรรม ๗ ได้แก่ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้เวลา รู้สถานที่ และรู้บุคคล ตามสภาวะธรรมชาติ