สุขภาวะทางจิตวิญญาณ

เมื่อนักวิทยาศาสตร์สนใจเรื่อง สุขภาวะทางจิตวิญญาณ : เรื่องเล่าเร้าการเรียนรู้

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 มกราคม 2554

ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่หันมาสนใจศึกษาค้นคว้าเรื่อง จิตวิญญาณ เพราะวิทยาศาสตร์ให้คำตอบได้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ วิถีการดำเนินชีวิตที่ดีงาม และจุดหมายของชีวิต นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ได้ฝึกฝน เรียนรู้การเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ จากภูมิปัญญาตะวันออก และจากศาสนาต่างๆ แล้วนำมาเผยแพร่อย่างเป็นระบบ ศาสตราจารย์ ดร. โรเจอร์ วอลช์ (Roger Walsh) ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ดร.วอลช์ เป็นชาวออสเตรเลีย เกิดและเติบโตในในชนบทที่ห่างไกล ไม่มีภาพยนตร์ ไม่มีทีวีให้ดู แต่เป็นผู้ที่ชอบอ่านหนังสือ ในช่วงที่เป็นหนุ่ม ท่านเล่าเรียน และหลงไหลในวิทยาศาสตร์มาก ถือว่าวิทยาศาสตร์คือ พระเจ้า ยอมศิโรราบให้กับนักวิทยาศาสตร์ เลื่อมใสในห้องปฏิบัติการ ทางวิทยาศาสตร์ ในช่วงนั้นท่านก็คิดเหมือน นักวิทยาศาสตร์ทั่วไปว่า อะไรที่วัดไม่ได้ด้วยเครื่องมือ และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่เลื่อนลอย ไม่มีความหมาย

ดร. วอลช์ ใช้เวลาสิบกว่าปีในมหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สะสมปริญญาบัตรในสาขาวิชาต่างๆ เช่นปริญญาตรีทางด้าน วิทยาศาสตร์การแพทย์ (สรีรวิทยา) ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางจิตวิทยา แพทยศาสตร์ และปริญญาเอกทางประสาทวิทยา ทั้งหมดจาก มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ได้รับใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ จิตวิทยา และจิตแพทย์ ต่อมาย้ายไปอยู่และทำงานในอเมริกา เป็นอาจารย์ที่ภาควิชาจิตเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

ในช่วงแรกของการเป็นนักวิชาการ มีผลงานและเขียนตำราทางวิชาการเกี่ยวกับสมอง และพฤติกรรม เมื่อมีเวลาว่างก็จะล้อเพื่อนๆ ที่สนใจศาสนาว่าล้าสมัย

ต่อมาด้วยความสนใจความลึกลับของจิต ดร. วอลช์ย้ายไปอยู่ที่อเมริกาเพื่อทำวิจัยทางสมองและจิตแพทย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ท่านได้มีโอกาสช่วยเหลือ ผู้ป่วยทางจิต ยิ่งทำให้ท่านสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับเรื่องภายในของจิตมากขึ้น ด้วยการเอาตัวเองเข้าไปรับการรักษาทางจิต (จิตบำบัด) ในฐานะคนไข้ เพื่อเรียนรู้เรื่องการหยั่งรู้ภายใน และจากการเรียนรู้ และมีประสบการณ์ทางจิตบำบัด ยิ่งทำให้ท่านสนใจเรื่องมิติภายในเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาและเรียนรู้จิตใจของตนเองอย่างใคร่ครวญมากขึ้น ก็ทำให้รู้ว่าจักรวาลภายในนั้นยิ่งใหญ่และลึกลับเช่นเดียวกับจักรวาลภายนอก ในช่วงแรกๆ ของการศึกษาเรื่องภายในนี้ ท่านเกิดภาวะช็อคที่ตื่นเต้นสุดในชีวิต เพราะโลกภายใน ไม่ว่าจะเป็นความคิด การฝันเฟื่อง จินตภาพ การหยั่งรู้ อารมณ์ และแรงจูงใจ มีความหลากหลายที่น่าทึ่ง ไม่เคยตระหนักรู้มาก่อน ทั้งๆ ที่โลกภายในเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เข้าใจจิตและตนเอง ให้แนวทางในการดำเนินชีวิตที่ประมาณค่าไม่ได้ ท่านยอมรับว่าท่านตามืดบอดเกี่ยวกับตัวเองมาตลอด และพบว่าคนอื่นๆ ก็มืดบอดเกี่ยวกับตนเองเช่นกัน

ในการเริ่มต้นศึกษาสำรวจโลกภายในนี้ ท่านเริ่มจากการการทดลองฝึกสมาธิหลากหลายรูปแบบ และพบว่าการฝึกสมาธิมีพลังมากในการฝึกจิต และพัฒนาด้านความสงบเย็น มีสมาธิ รู้สึกไว และตระหนักรู้ในตนเอง

การฝึกสมาธิช่วยทำให้ตระหนักถึงและเข้าใจความลึกซึ้งของจิต ซึ่งเดิมเคยคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่สำคัญ แต่กลายเป็นเรื่องใหญ่และ ลึกลับซับซ้อน มากกว่าที่คิด

ในช่วงของการฝึกปฏิบัติเหล่านี้ ท่านมีความรู้สึกตื่นเต้นระคนกับความเจ็บปวดลึกๆ กับความรู้สึกที่ว่า ตนเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่มานั่งสมาธิซึ่งเป็น เทคนิคทางศาสนา และโบราณ ความสับสนทางความคิด ลักษณะนี้ดำรงอยู่เป็นเวลาหลายเดือน

จนมาวันหนึ่ง ที่กำลังเตรียมตัวจะกินอาหารเย็น ท่านเดินออกจากห้องนอนเพื่อจะไปห้องน้ำ เดินไปโดยไม่คิดอะไร ขณะที่เปิดประตูห้องน้ำ ก็เกิดแสงสว่าง แห่งความเข้าใจแว้บเข้ามา และกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่สำคัญของท่าน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ท่านปิ๊งแว้บขึ้นมาว่า ใจกลางของการศึกษาจิตวิญญาณของศาสนาใหญ่ๆ ทั่วโลก จะมีแกนร่วมของแนวปฏิบัติในการฝึกและพัฒนาจิต และแนวปฏิบัติเหล่านี้ จะนำไปสู่ผลทำนองเดียวกัน คือความลุ่มลึก และความลึกซึ้งของสภาวะของจิต และคุณภาพ หรือคุณสมบัติที่สำคัญของจิต คือความรัก (Love) และปัญญา (Wisdom) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ให้กำเนิดศาสนาต่างๆ ค้นพบมาตั้งนาน

ความเข้าใจที่ลุ่มลึกใหม่นี้ทำให้ท่านเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของท่านไปโดยสิ้นเชิง ท่านเริ่มดื่มด่ำกับการศึกษาศาสนา และแนวทางการปฏิบัติ ด้านจิตวิญญาณ โดยเริ่มจากทางด้านเอเชีย เรียนรู้และฝึกสมาธิแบบพุทธ โดยฝึกฝนอย่างจริงจังเต็มเวลาเป็นเวลาหลายเดือน หลังจากนั้นก็ท่องไปใน โลกกว้าง เพื่อค้นหาผู้รู้ ศึกษากับนักเทววิทยา นักปรัชญา ท่านศึกษาอย่างกระหายหิวเกี่ยวกับ คำสอนของศาสนาพุทธ ขงจื๊อ เล่าจื๊อ และผู้รู้อื่นๆ

หลังจากนั้นสองสามปี ดร. วอลช์ก็เริ่มกลับมาสำรวจความเชื่อพี้นฐานดั้งเดิมของตนเอง คือศาสนาคริสต์ และได้ค้นพบด้วยความตื่นเต้นว่า สามารถค้นพบ ความลุ่มลึก ของปัญญาที่ปรากฏในคำสอนของศาสนาคริสต์ที่ท่านไม่เคยเข้าใจมาก่อนได้

ในอดีตศาสนาคริสต์สำหรับท่านก็เป็นเพียงแค่ประเพณีปฏิบัติ มีโรงเรียนวันอาทิตย์ และไปเข้าโบสถ์ตามปกติ แต่ในปัจจุบัน ท่านได้ค้นพบแนวปฏิบัติทาง จิตวิญญาณ และจิตตปัญญาญาณ (Contemplative Wisdom) ที่มีมากว่าสองพันปีของคริสต์ศาสนา ซึ่งมีชาวคริสต์จำนวนน้อยที่รู้ และในปัจจุบันท่าน ยังคงปฏิบัติตามแนวจิตตปัญญาของคริสต์เป็นประจำ ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังได้เข้าไปศึกษาศาสนาอื่นๆ อีกเช่น ยิว อิสลาม และลัทธิเก่าแก่ เช่น ชามันนิสม์ และได้เขียนหนังสือชื่อ The Spirit of Shamanism

จากประสบการณ์ที่ลุ่มลึกและหลากหลาย ท่านได้สรุปและเขียนไว้ในหนังสือชื่อ Essential Spirituality ว่ามีแกนปฏิบัติร่วมของทุกศาสนาอยู่ ๗ ประการ จะเริ่มจากเรื่องใดก่อนก็ได้ ทั้งหมดจะนำไปสู่การมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ในท้ายที่สุด การฝึกปฏิบัติ ๗ ประการได้แก่

  • ความกรุณา (Kindness)
  • การเรียนรู้และการให้ความรัก (Love)
  • การฝึกสมาธิและการสงบสุข (Peace)
  • การมองเห็นและการยอมรับในความศักดิ์สิทธิ์ของสรรพสิ่ง (Spiritual Vision)
  • การพัฒนาปัญญาและความเข้าใจในชีวิต (Wisdom)
  • ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (Generosity)
  • การมีปิติสุข (Joy)

ในการทำความดีและการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์

บทเรียนจากชีวิตจริงของ ดร.วอลช์ น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่เสาะแสวงหาวิถีสู่การมีสุขภาวะทางจิดวิญญาณ เพราะวิถีของโลกกระแสหลักดูเหมือน จะนำไปสู่ทุกขภาวะทางจิตวิญญาณ

ในการประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งที่ ๒๖ ณ ห้องประชุมมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ที่ผ่านมา ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเรื่องราวจากหนังสือ Essential Spirituality (John Wiley & Sons, Inc. 1999) ของ โรเจอร์ วอลช์ (Roger Walsh, M.D., Ph.D.) มาเล่าให้ฟัง

ผู้เขียน คือ ดร.วอลช์ ศาสตราจารย์ด้านจิตแพทย์ ปรัชญา และมานุษยวิทยา จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงคุณสมบัติ ๗ ประการของ Essential Spirituality หรือแก่นแท้ทางจิตวิญญาณที่ปรากฏอยู่ร่วมกันในศาสนาหลักๆของโลก ๗ ศาสนา คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม ยิว ฮินดู เต๋า และขงจื๊อ ว่าประกอบด้วย ความกรุณา ความรัก ความปิติสุข ความสงบ การมองเห็นทางจิตวิญญาณ ปัญญา และการช่วยเหลือผู้อื่น

ดร.วอลช์ สรุปแก่นแท้ทางจิตวิญญาณผ่านประสบการณ์การค้นหาและการปฏิบัติของตนเอง จากเดิมที่เขาเติบโตมาในสายของ นักวิทยาศาสตร์กระแสหลัก ที่เชื่อว่า วิทยาศาสตร์คือ พระเจ้า แล้วจึงเข้าสู่การศึกษาเรื่อง ภายในจิตใจตนเอง และได้พบสิ่งที่ไม่เคยตระหนักรู้มาก่อน ว่าโลกภายในของมนุษย์นั้น ยิ่งใหญ่ซับซ้อนไม่แพ้จักรวาลภายนอกที่มีผู้อธิบายไว้แล้วอย่างเป็นระบบ แต่คนส่วนใหญ่กลับมืดบอดต่อโลกภายใน ทั้งๆที่เรื่องราวเหล่านั้น ทำให้มนุษย์เข้าใจตนเอง และสามารถค้นพบแนวทางดำเนินชีวิตอันประมาณค่ามิได้

ดร.วอลช์ เริ่มทดลองฝึกสมาธิหลายแนวทาง โดยเฉพาะการทำสมาธิตามแบบพุทธศาสนา และพบว่า การทำสมาธิเป็นหนทางที่มีพลังมากสำหรับ การฝึกจิต และการพัฒนาคุณภาพของชีวิตด้านใน เนื่องจากทำให้สามารถตระหนักถึง ความละเอียดอ่อนของจิต และทำให้จิตว่องไวในการตระหนักรู้ตนเอง จากนั้นเขาใช้เวลาอีกสองสามปีเดินทางไปในโลกกว้าง เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนกับนักเทววิทยา และนักปรัชญาทั้งในศาสนาหลัก และศาสนาโบราณของโลก อย่างกระหายหิว ก่อนกลับไปสำรวจความเชื่อพื้นฐานของตนในศาสนาคริสต์ และสามารถเข้าถึงปัญญาอันลุ่มลึก ในคำสอนของคริสตศาสนาที่ได้รับ การค้นพบ และถ่ายทอดมาแล้วกว่าสองพันปี

ดร.วอลช์ ค้นพบวิถีปฏิบัติร่วมกันของศาสนาต่างๆ ที่เป็นแนวทางสำหรับการฝึกฝนเพื่อนำพาตนเองเข้าสู่แก่นแท้ทางจิตวิญญาณ หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นแนวทางสำหรับบ่มเพาะคุณสมบัติทางจิตวิญญาณให้งอกงามขึ้นในตัวเรา คือ ความกรุณา ความรัก ความปิติสุข ความสงบ การมองเห็นทางจิตวิญญาณ ปัญญา และการช่วยเหลือผู้อื่น วิถีปฏิบัติ ๗ ประการนี้ได้แก่
๑. เปลี่ยนแรงจูงใจ โดยการลดกิเลส และค้นพบความต้องการทางจิตวิญญาณของตนเอง
๒. บ่มเพาะปัญญาทางอารมณ์ให้งอกงาม โดยการเยียวยาจิตใจจากความกลัวและความโกรธ และเรียนรู้ที่จะรัก
๓. ปฏิบัติชอบ การทำดีจะทำให้รู้สึกดี
๔. มีจิตใจสงบ ตั้งมั่น
๕. เปิดดวงตาแห่งจิตวิญญาณ ทำให้สามารถตระหนักชัดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของสรรพสิ่ง
๖. บ่มเพาะความฉลาดทางจิตวิญญาณ เพื่อพัฒนาปัญญาและความเข้าใจชีวิต
๗. เผยจิตวิญญาณสู่การกระทำ โดยเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น และทำงานบริการสาธารณะอย่างมีความสุข

หนังสือเล่มนี้พาเราเข้าสู่วิถีปฏิบัติทั้ง ๗ ประการเรียงตามลำดับ ผ่านแบบฝึกหัดง่ายๆจำนวนมากที่สามารถฝึกทำได้จริงในชีวิตประจำวัน แบบฝึกหัด บางอย่าง มาจากคำสอนโบราณ และหลายอย่างได้จากการที่ดร.วอลช์ออกแบบและทดลองใช้ได้ผลจริงมาแล้วทั้งกับตนเอง นักศึกษา และคนไข้ ทำให้เราค่อยๆเดินทางเข้าสู่พื้นที่ด้านในของตนเอง จากส่วนที่สัมผัสได้ง่ายกว่า เช่น กิเลส หรือการจัดการกับความกลัวและความโกรธ พร้อมๆกับ ให้ได้รู้จักกับด้านบวกของสิ่งเหล่านั้น เช่น ความรัก และความต้องการทางจิตวิญญาณ จากนั้นจึงค่อยๆเข้าสู่แก่นที่ลึกขึ้น สู่ปัญญา และการเข้าใจชีวิต ทั้งมวล แล้วจึงคลี่คลายคุณภาพใหม่ที่เกิดขึ้นภายในตน ออกไปสู่ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับผู้อื่นและโลก

แบบฝึกหัดเหล่านี้แนะนำวิธีทำเป็นขั้นตอนไว้อย่างละเอียด และที่สำคัญคือมีการแนะนำวิธีฝึกสังเกตตนเอง ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ความรู้สึก ความคิด และสิ่งที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเองจากการทำแบบฝึกหัดแต่ละอย่าง โดยมีตัวช่วยคือให้บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นไว้ด้วย ตัวอย่างแบบฝึกหัดสำหรับวิถีแห่ง การปฏิบัติชอบ เช่น ให้คิดถึงการทำดีที่ผ่านมาของตนเอง พูดความจริง ๑ วัน หยุดนินทา ไม่ใช้ความรุนแรง เล่าความรู้สึกที่ทำไม่ดีให้คนที่เราไว้วางใจฟัง และแก้ไขสิ่งผิดให้ถูกต้อง

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเป็นแนวทางให้ผู้อ่านได้เริ่มปฏิบัติเพื่อไปสู่สิ่งที่ดร.วอลช์ เรียกว่า “ความเปลี่ยนแปลงอันท้าทาย” ของชีวิต เขาบอกหลักของ การทำแบบฝึกหัดแต่ละอย่างไว้ว่า ให้เริ่มต้นเลือกสิ่งที่ทำได้ง่ายๆก่อน ตัดสินใจว่าจะทำนานเท่าไหร่ และตั้งใจทำให้ได้โดยไม่มีข้อแม้ ระหว่างนั้น ให้สังเกตและเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นขณะฝึก ทั้งสิ่งที่เกิดกับตัวเราและคนรอบข้าง หากเกิดความผิดพลาดก็ให้อภัยตัวเอง และเริ่มต้นใหม่ เขาบอกด้วยว่า การไตร่ตรองและจดบันทึกประจำวันถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องราวของชีวิตด้านในจะช่วยได้มาก โดยมีเคล็ดลับในการฝึกทางจิตวิญญาณ ที่สำคัญคือ จงปฏิบัติอย่างมีความสุข แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดกว่าทุกเรื่องที่กล่าวมาก็คือ การลงมือ “ทำ” แบบฝึกหัดเหล่านี้