อิสรภาพทางการเงิน

เริ่มต้นสู่อิสรภาพทางการเงิน

6 ขั้นตอนสู่อิสรภาพทางการเงิน ? The 6 Steps to Financial Freedom

1) จัดทำบัญชี และงบการเงิน

การเดินทางสู่อิสรภาพทางการเงินก็เหมือนกันกับการเดินทางทั่วไป ที่ต้องมีแผนที่นำทาง ดังนั้นก่อนจะเริ่มเดินทาง คุณเองควรจะรู้ก่อนว่า ปัจจุบันคุณอยู่ ณ จุดไหนของคำว่า ? อิสรภาพทางการเงิน? ลองจัดทำงบการเงิน

2) ตั้งเป้าหมาย และวางแผน

เริ่มต้นจากอิสรภาพทางการเงินขั้นพื้นฐาน 6 ประการ คือ

- เศรษฐกิจพอเพียง

- เก็บ 10 เปอร์เซ็นต์ (ของรายรับทั้งหมด)

- สำรองเงินไว้ใช้จ่าย (อย่างน้อย 6 เดือน)

- ประกันชีวิต สุขภาพ และอุบัติเหตุ

- เรียนรู้ตลอดชีวิต

- บริจาคตามกำลัง

ลองพิจารณาดูว่าชีวิตของท่านบรรลุเป้าหมายพื้นฐานในแต่ละข้อข้างต้นหรือยัง ถ้ายังให้กำหนดหัวข้อเหล่านี้เป็นเป้าหมาย ที่สำคัญต้องกำหนดวิธีการ กรอบเวลา รวมถึงประเมินภาพในอนาคตไว้ด้วย ส่วนใครที่มีอิสรภาพการเงินขั้นพื้นฐานแล้ว ก็อาจตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นไปได้ ไม่ว่ากัน

3) ลงทุนในการเรียนรู้

?High Understanding, High Returns? ยิ่งคุณเข้าใจธุรกิจที่คุณลงทุนมากเท่าไหร่ คุณก็จะสามารถสร้างกำไรจากมันได้มากเท่านั้น จงเรียนรู้ให้หนักขึ้น เพื่อจำกัดความเสี่ยงทั้งมวลที่อาจจะเกิดขึ้น โลกไม่ได้ยากเย็นอย่างที่เราคิด แต่ที่ใครหลายคนคิดว่ามันยาก เพราะเขาเหล่านั้นไม่เคยแบ่งเวลามาสนใจใยดีกับมันต่างหาก

จงแบ่งเวลาให้กับการเรียนรู้ทุกรูปแบบ อย่าจำกัดเฉพาะแต่ในห้องเรียน จงมองโลกให้กว้างเพื่อที่ท่านจะได้เห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่อีกมากมายบนโลกใบนี้

เราลงทุนในการเรียนรู้ด้วยอะไรบ้าง ?

เวลา

นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องพิจารณา ปัจจุบันคุณให้เวลากับการเรียนรู้สักแค่ไหน ถ้าคิดว่ายังน้อยไป จัดแบ่งเวลาในการเรียนรู้ให้มากขึ้น แล้วคุณจะได้รับมากขึ้น

ความคิด

คนสองคนนั่งเรียนคอร์สเดียวกัน คนหนึ่งเอากลับมาคิดต่อยอดไปสู่การกระทำ อีกคนได้แค่นั่งดีใจว่ารู้แล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับสองคนนี้ต่างกันมหาศาล

สายสัมพันธ์

การลงทุนในสายสัมพันธ์ ก็สามารถสร้างการเรียนรู้ได้อย่างมากมาย คนหลายคนมักคบหา หรือคิดถึงคนอื่นยามที่ตัวเองเดือดร้อนเท่านั้น เรียนรู้ที่จะใช้เวลากับผู้อื่น แบ่งปันความรู้ ความคิด ความช่วยเหลือให้กับคนรอบข้างโดยเฉพาะคนที่แตกต่างจากคุณ เพราะมันจะช่วยให้โลกของคุณกว้างขึ้น ไม่เพียงแค่ความรู้ แต่มันคือโลกแห่งความรัก และความเอื้ออาทรกัน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เงินก็ซื้อหาไม่ได้

ความรู้

เข้าร่วมทำงานกับองค์กร หรือชมรมที่ท่านสนใจ เพื่อสร้างโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดบูรณาการทางความรู้และความคิดได้เป็นอย่างดี

การตั้งคำถาม

คำถามที่ดีเป็นการสร้างโจทย์ที่ยอดเยี่ยมให้แก่ชีวิต ในทางตรงกันข้าม คำถามแย่ ๆ ก็ทำให้คุณเป็นคนในด้านตรงกันข้ามได้เช่นกัน

ลองพิจารณาคำถามต่อไปนี้

ทำไม เราไม่เกิดมารวยเหมือนคนอื่นบ้าง?

ทำไม เราไม่โชคดีเหมือนคนอื่นเขาบ้าง?

เริ่มต้นใหม่ ตั้งคำถามที่ดีให้กับตัวเอง แล้วคุณจะได้คำตอบที่ดีกลับคืนมา

ฉันจะประสบความสำเร็จในชีวิตก่อนอายุ 35 ปี ได้อย่างไร?

คำถามใหม่ ๆ จะนำคุณไปสู่การลงทุนครั้งใหม่ในชีวิต จงใช้ชีวิตกับคำถามใหม่ ๆ เลิกถามคำถามเก่า ๆ

หุ้นตัวไหนน่าซื้อ?

กู้เงินแบงค์ไหน ดอกเบี้ยต่ำสุด?

มีเงินเก็บ 50,000 ทำธุรกิจอะไรดี?

สิ่งที่คุณถาม คือ สิ่งที่คุณจะได้รับ?

อื่น ๆ อีกมากมาย (ลองคิดต่อเองนะครับ)

4) แวดล้อมตัวคุณ ด้วยคนที่คิดแบบเดียวกัน

คนเราเป็นไปตามสภาวะแวดล้อมเสมอ อิสรภาพทางการเงิน เกิดได้ทันทีที่คุณเป็นผู้เลือกกระทำ ดังนั้น จงเลือกสภาวะแวดล้อมที่จะพาชีวิตคุณไปในทางที่ดี

5. ลงมือปฏิบัติ บันทึกผล

บิดาของความสำเร็จ คือ การกระทำ? คำพูดนี้ยังคงเป็นสิ่งที่เป็นจริงเสมอ

ลงมือปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนดไว้ จดรายละเอียดของทุกการกระทำสำคัญ ๆ ไว้ เพื่อเปรียบเทียบ และปรับแก้แผนงานสู่อิสรภาพทางการเงิน

6. ทบทวน

ตรวจสอบผลการปฏิบัติ กับแผนที่วางไว้ ว่าเป็นไปตามแผนแค่ไหน ต้องปรับแก้อะไร ในขั้นตอนนี้อาจปรึกษาผู้ประสบความสำเร็จเพื่อช่วยทบทวน และให้คำแนะนำในการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป หัวข้ออะไรบ้างที่ต้องทบทวน

ความคิด

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบตลอดเวลา หมั่นคอยเช็คและตรวจสอบความคิดของเราถูกต้อง หรือสอดคล้องกับแนวทางสู่อิสรภาพทางการเงิน หรือไม่

จิตใจ

ตรวจสอบจิตใจทั้งก่อนและหลังตัดสินใจใช้จ่าย หรือลงทุน จำเอาไว้ว่า การลงทุนที่ทำให้คุณรู้สึกไม่มีความสุขตั้งแต่ใส่เงินลงไป นั่นก็ถือว่า ขาดทุน เรียบร้อยแล้ว

งบการเงิน

ตรวจสอบแผนที่ทุกครั้ง โดยอาจทำเป็นประจำทุกเดือน เพื่อคอยตรวจสอบว่า เราเดินออกนอกลู่นอกทางหรือเปล่า หรือเราเข้าใกล้อิสรภาพทางการเงินเพียงใด

เริ่มต้นตรวจสอบตัวเอง จัดทำบัญชี และวางแผนสู่อิสรภาพทางการเงินตั้งแต่วันนี้ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง จงจำเอาไว้ว่า ? อิสรภาพทางการเงิน เริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ ของทุก ๆ คน?

ก้าวสู่อิสรภาพทางการเงิน By - readersdigestthailand.co.th/ก้าวสู่อิสรภาพทางการเงิน

ในการดำเนินชีวิตให้มีความสุข สิ่งหนึ่งที่พวกเราทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้คือ จะบริหารการเงินของตนเองให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไรในยุคนี้ เราต้องเป็นผู้ควบคุมดูแลการเงินของตนเองโดยรู้ว่าอะไรควรทำก่อนหน้าหลัง มีอำนาจเหนือเงิน ไม่ใช่ให้เงินมามีอิทธิพลเหนือเรา อย่าปล่อยให้เงินเป็นฝ่ายบงการว่าเราจะทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้างในชีวิต

รายงานพิเศษฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการจัดการเรื่องการเงินส่วนบุคคลอย่างรอบด้าน คุณจะได้รับคำแนะนำวิธีทำงบประมาณครัวเรือน ทำอย่างไรกับเงินออม วางแผนสำหรับเกษียณ และใช้บัตรเครดิตอย่างชาญฉลาด

ทำงบประมาณเบื้องต้น

การลงมือจัดทำงบประมาณด้วยตนเองอาจต้องใช้ความพยายามพอสมควร และถ้าคุณทำได้ถูกต้อง ก็จะได้รับประโยชน์มากมายคุ้มค่ากับเวลาที่ลงไป งบประมาณที่ดีไม่เพียงช่วยให้คุณประหยัดเงิน แต่ยังช่วยให้คุณไม่หลงทางหลุดจากเป้าหมายการออม

นฤมล บุญสนอง ผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลายคนพูดว่าอยากจะออมเงิน แต่ผู้ที่ทำได้สำเร็จคือคนที่วางแผนและรู้จักทำงบประมาณ “หัวใจสำคัญคือการที่ต้องเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ สิ่งใดก็ตามที่เราเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ สิ่งนั้นมักจะประสบความสำเร็จ”

แล้วจะเริ่มต้นได้อย่างไร มีโปรแกรมซอฟต์แวร์และตารางรูปแบบการจัดทำงบประมาณออนไลน์ให้คุณนำมาใช้ได้ แต่วิธีการแบบเก่าแค่มีกระดาษและปากกาก็ใช้ได้ดีพอกัน

ตั้งเป้ากระแสเงินสดหมุนเวียน

ก่อนอื่นดูว่ารายได้ต่อเดือนของคุณมีเท่าไร ซึ่งรวมเงินเดือน รายได้ค่าเช่าจากทรัพย์สินของคุณ และอื่นๆที่เป็นรายได้ประจำสม่ำ เสมอต่อเดือน จากนั้นให้คำนวณว่าคุณมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เก็บใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินทั้งหมดที่ได้รับและจดทุกอย่างที่จ่ายรายเดือน ไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือบัตรเครดิต ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและจดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง การทำงบประมาณที่ดีจะได้ผลก็ต่อเมื่อสิ่งที่คุณบันทึกไว้นั้นถูกต้องครบถ้วนจริงๆ

แยกค่าใช้จ่ายออกเป็นสามหมวดคือ ค่าใช้จ่ายประจำ ค่าใช้จ่ายจำเป็น และค่าใช้จ่ายตามความต้องการ

ค่าใช้จ่ายประจำ ได้แก่ ค่าผ่อนบ้าน, ค่าประกัน, ค่าผ่อนรถ, อะไรก็ตามที่จ่ายเป็นจำนวนแน่นอนเดือนต่อเดือน ภาษีก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย หารยอดรวมด้วย 12 เพื่อให้ได้ตัวเลขต่อเดือน ค่าใช้จ่ายจำเป็น ได้แก่ ค่าสาธารณูปโภค, ค่าโทรศัพท์มือถือ, ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง, ค่าขนมไปโรงเรียนของลูกๆ, เงินเลี้ยงดูพ่อแม่ และบรรดาค่าใช้จ่ายที่คุณมีพันธะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายตามความต้องการ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่อยู่นอกเหนือจากนั้น เช่น ค่าสันทนาการ, ค่าเสื้อผ้า, ค่าหนังสือ, ค่ากิจกรรมนอกหลักสูตรของเด็กๆ, ค่าสมาชิกฟิตเนส เป็นต้น

สำหรับค่าท่องเที่ยวพักผ่อนและค่าของขวัญ ให้รวมตัวเลขว่าทั้งปีใช้ไปเท่าไรหารด้วย 12 จะได้ตัวเลขคร่าวๆต่อเดือน เมื่อจดทุกอย่างไว้แล้ว คุณจะเห็นภาพตรงไปตรงมาว่าเงินของคุณใช้ไปกับอะไรบ้าง

ใช้น้อยกว่าที่หาได้

ความลับของการออมนั้นไม่มี “ไม่มีปาฏิหาริย์สำหรับการออม ขอเพียงคุณเริ่มต้นด้วยหลักการพื้นฐานที่สุดของการสร้างวินัยทาง การเงินคือ ใช้ให้น้อยกว่าที่หาได้” สาธิต บวรสันติสุทธิ์ คอลัมน์นิสต์ด้านการวางแผนการเงิน กล่าว

พิจารณาค่าใช้จ่ายให้ละเอียด ถ้าพบว่าเงินออกมากกว่าเงินเข้า ถึงเวลาแล้วที่ต้องลดการใช้เงิน เริ่มต้นจากค่าใช้จ่ายตามความต้องการก่อน ซึ่งปกติเป็นส่วนง่ายที่สุดที่จะตัด อาจกินข้าวนอกบ้านสัปดาห์ละครั้งแทนสัปดาห์ละสองครั้ง ต่อมาดูค่าใช้จ่ายจำเป็น นั่งรถโดยสารสาธารณะแทนที่จะนั่งแท็กซี่ได้ไหม ลดค่าโทรศัพท์มือถือ หรือใช้น้ำใช้ไฟที่บ้านให้ประหยัดขึ้น ทั้งหมดนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคลงได้

ถ้าค่าใช้จ่ายประจำของคุณสูงกว่ารายได้ต่อเดือน คุณอาจต้องคิดหาวิธีปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตขนานใหญ่ มิฉะนั้น คุณจะไม่มีเงินออมเหลือ อาจขายรถ ย้ายไปอยู่บ้านหรือห้องเช่าขนาดเล็กลง จำไว้ว่าเป้าหมายของการทำงบประมาณคือช่วยคุณสะสมเงินออม

แผน 50-30-20

คุณควรใช้เท่าไรและออมเท่าไร ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นโสดหรือแต่งงานแล้ว มีลูก อยู่กับพ่อแม่ หรือเลี้ยงดูพ่อแม่ และคุณอายุเท่าไร กฎทั่วไปคือ คุณควรออมอย่างน้อยร้อยละสิบถึง 15 ของรายได้หลังหักภาษี แน่นอนว่ายิ่งมากยิ่งดี แต่นี่คืออย่างน้อยที่คุณควรต้องออม ปกติค่าบ้านเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุด และคุณควรจ่ายเพียงหนึ่งในสามของรายได้ต่อเดือน

หากคุณเพิ่งเริ่มต้นทำงบประมาณ ลองวางแผน 50-30-20 ตามคำแนะนำของศาสตราจารย์เอลิซาเบท วาร์เรนแห่งมหา วิทยาลัยฮาร์วาร์ด ค่าใช้จ่ายประจำและค่า ใช้จ่ายจำเป็นรวมกันแล้วควรเท่ากับครึ่งหนึ่งของรายได้หลังหักภาษี ร้อยละ 30 เป็นค่าใช้จ่ายตามความต้องการ และสุดท้ายร้อยละ 20 เป็นเงินออม

อาจดูลำบากและหนักหนาสาหัสที่จะหาทางเก็บหอมรอมริบจากรายได้ที่ชักหน้าไม่ถึงหลังให้ได้เป็นเงินก้อนโต แต่การทำแผนการเงินนับเป็นก้าวแรก

การออมและการลงทุน

ดูเหมือนหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว คุณมีเงินเหลือเก็บเพียงเล็กน้อย แต่ถึงกระนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องเริ่มสะสมเงินออมสำหรับอนาคต การมีเงินออมสำคัญไม่เฉพาะในยามฉุกเฉินแต่ยังเป็นการวางแผนเพื่ออนาคต เมื่อต้องใช้เงินก้อนใหญ่ เช่น ซื้อบ้านหลังแรก หรือจ่ายค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัยของลูก ตลอดจนวางแผนเพื่อเกษียณ การออมควรทำให้เป็นนิสัยชั่วชีวิต แม้จะออมแค่วันละสิบบาทก็ควรเริ่มต้นปลูกฝังนิสัยนี้

“การออมโดยตัวของมันเองเป็นเพียงกระบวนการซึ่งอาจไม่มีความสำคัญอันดับต้นๆ แต่จะมีความสำคัญขึ้นมาทันทีเมื่อคุณมีเป้าหมายที่ต้องการไปถึงสำหรับการออมนั้นๆ เป้าหมายอาจเป็นอะไรก็ได้ เช่น เพื่อเกษียณตัวเองก่อนกำหนด เดินทางท่องเที่ยว หรือมีอิสรภาพทางการเงิน ตัวอย่างเช่น สามารถอยู่บ้านและดูแลลูกๆได้แบบไม่เดือดร้อนเรื่องเงินโดยไม่ต้องทำงาน” นฤมลกล่าว

จ่ายให้ตัวเองก่อน

ความลับของความสำเร็จในการออมคือจ่ายให้ตัวเองก่อน นฤมลอธิบายว่า “พวกเราหลายคนเมื่อมีรายได้มักจะใช้จ่ายก่อน และเหลือค่อยออม แต่สำหรับคนที่ประสบความสำเร็จสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินด้วยการทำในทางตรงกันข้าม คือเมื่อมีเงินได้จะออมก่อน แล้วเหลือค่อยใช้จ่าย” การเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารและสั่งโอนเงินอัตโนมัติจากบัญชีเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากทุกเดือนเมื่อเงินเดือนออก วิธีนี้คุณจะไม่เห็นเงินก้อนนั้นและไม่คิดถึงมันด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างนิสัยการออมและสร้างวินัยทาง การเงิน

เงินฉุกเฉิน

คุณควรกันเงินไว้เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดหมาย เช่น ซ่อมรถ หรือค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน เงินก้อนนี้ควรมากพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในกรณีถูกลดชั่วโมงการทำงานหรือตกงาน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อไม่นานนี้ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการมีเครื่องคุ้มกันนี้ไว้ ตั้งเป้าไว้ว่าควรมีเงินสำรองระหว่างหกถึง 12 เดือนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตปัจจุบัน วิธีดีที่สุดคือ ควรเก็บเงินฉุกเฉินไว้ในบัญชีออมทรัพย์เพื่อเบิกถอนได้สะดวกและรวดเร็ว

เงินออมระยะยาว

เมื่อออมเป็นเงินฉุกเฉินไว้แล้ว ที่เหลือควรออมเพื่อเป้าหมายระยะยาว เช่น เพื่อวัยเกษียณ แม้อาจฟังดูยังอีกนานหลายปี แต่การดำรงชีวิตด้วยเพียงเงินบำนาญหรือเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในวัยเกษียณอาจไม่เพียงพอ

การออมระยะกลาง คุณอาจพิจารณาเงินฝากประจำซึ่งจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่า แต่คุณต้องอย่าถอนเงินก้อนนั้นก่อนครบระยะด้วย แผนการฝากเงินแบบประกันชีวิตก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยทำหน้าที่เหมือนเงินออม

ทำไมต้องลงทุน

คุณควรให้เงินออมทำงานแทนคุณ หากฝากเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ นานวันเข้า เงินเฟ้อจะทำให้ค่าของเงินลดลง สาธิตอธิบายว่า “อัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.4 ดังนั้น เงินออมของเราจะด้อยค่าลงทุกวันเพราะมูลค่าเงินที่ลดลงเนื่องจากผลของเงินเฟ้อ”

การลงทุนโดยทั่วไปของคนส่วนใหญ่คือ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น และพันธบัตร การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการเริ่มต้นเพราะต้องวางเงินดาวน์ อย่าลืมด้วยว่า การขอสินเชื่อบ้านหมายความว่าคุณกำลังมีพันธะหนี้ที่ต้องจ่าย

หุ้นและตราสารหนี้ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าในระยะเริ่มต้น หุ้นและกองทุนหุ้น หรือที่เรียกกันว่ากองทุนรวมให้สิทธิความเป็นเจ้าของแก่คุณในบริษัทที่คุณซื้อหุ้นเหล่านั้น คุณได้รับผลตอบแทนจากบริษัทที่มีผลประกอบการดีเป็นเงินปันผลหรือมูลค่าต่อหุ้นที่เพิ่มขึ้น หากเป็นบริษัทที่ขาดทุน ผู้ถือหุ้นจะได้ผลตอบแทนน้อยมาก หรือไม่ได้อะไรเลย หรืออาจขาดทุนได้

การซื้อตราสารหนี้หมาย ความว่าคุณกำลังให้บริษัทกู้เงิน (หรือให้ประเทศกู้เงินในกรณีที่เป็นพันธบัตรของรัฐ) เพื่อเป็น การแลกเปลี่ยนบริษัทสัญญาจะจ่ายเงินคืนเต็มจำนวนเมื่อตราสารหนี้ครบกำหนดหรือสิ้นสุดอายุ พร้อมดอกเบี้ยทุกปี

เพิ่มความรู้ให้ตัวเอง

นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืนหากต้องใช้เวลาเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุน สาธิตกล่าวว่า “ถ้าคุณยังอายุไม่มากนักและไม่มีความรู้ คุณควรใช้เวลาศึกษาหาความรู้ให้ตนเอง” ไมตรี โสตางกูร ผู้อำนวยการ Wealth Plus บล. เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นด้วย “การลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ เสี่ยงมีระบบวิธี หลายคนซื้อหุ้นจากข่าวลือ ได้เงินเพราะโชค แต่หากลงทุนอย่างไม่มีระบบ ในระยะยาวเงินออมของคุณจะหด หาย หากมีระบบในการลงทุน โอกาสประสบความสำเร็จย่อมมากกว่า”

บัตรเครดิตและหนี้สิน

การสร้างหนี้อย่างมีความรับผิดชอบเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน หากไม่มีสินเชื่อบ้านและเงินกู้ เราคงต้องใช้เงินสดจำนวนมหาศาลในการซื้อบ้านหรือรถ บัตรเครดิตให้ความสะดวกโดยเราไม่ต้องพกเงินสดจำนวน มากไปไหนต่อไหน อีกทั้งยังเก็บหลักฐานได้ว่าใช้อะไรไปบ้าง “ในโลกทุกวันนี้ เราจะดำเนินชีวิตได้ยากมากหากปราศจากบัตร เครดิต” โสภา หลายถาวรยิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินทุน สายงานธนบดีธนกิจ ธนาคาร ยูโอบี จำกัด (มหาชน) กล่าว “ถ้าใช้บัตรเครดิตเป็น บัตรเครดิตจะเป็นประโยชน์ ต่อคุณ แต่ถ้าคุณต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับหนี้บัตรเครดิต บัตรเครดิตก็อาจเป็นฝันร้ายของคุณได้”

กลไกการทำงานของบัตรเครดิต

เพื่อให้เข้าใจหลุมพรางของบัตรเครดิต ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจว่าบริษัทบัตรเครดิตไม่อยากให้คุณชำระเต็มจำนวนทุกเดือน เพราะบริษัทจะไม่มีรายได้ถ้าคุณทำเช่นนั้น บริษัทได้เงินจากดอกเบี้ยของเงินต้นค้างจ่ายและยกยอดไปแต่ละเดือน นี่คือที่มาของระบบยอดชำระขั้นต่ำ

หลุมพรางของยอดชำระขั้นต่ำ

การจ่ายแค่ยอดชำระขั้นต่ำอาจยั่วยวนใจ แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะบ่อยครั้งที่ยอดชำระแทบไม่ครอบคลุมดอกเบี้ยที่ต้องชำระ นอกจากนี้ เมื่อคุณผ่อนจ่าย ธนาคารก็จะลดยอดชำระขั้นต่ำซึ่งอาจฟังดูดี โดยเฉพาะถ้าเงินคุณตึงตัว แต่การทำเช่นนั้นจะยืดเวลาชำระคืนออกไป และท้ายที่สุดคุณจะจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น

โสภากล่าวว่า “ถ้าคุณใช้บัตรเป็นเงิน 20,000 บาทและจ่ายแค่ยอดชำระขั้นต่ำ คุณต้องใช้เวลา 14 เดือนเพื่อชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย และยังต้องจ่ายดอกเบี้ยอีกเกือบ 3,500 บาท”

ปลดหนี้

แล้วจะทำอย่างไรถ้าคุณกำลังดิ้นรนปลดหนี้บัตรเครดิต ก่อนอื่น จ่ายคืนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เริ่มต้นจากจ่ายคืนก้อนใหญ่ให้บัตรเครดิตที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า และจ่ายก้อนเล็กให้บัตรที่คิดอัตราต่ำกว่า ทำเช่น นี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะปลดหนี้บัตรแต่ละใบได้ จากนั้นค่อยทำอันดับต่อไป ถ้าบัตรเครดิตคิดอัตราดอกเบี้ยคล้ายกัน จ่ายบัตรที่มีหนี้ก้อนใหญ่ก่อน

หนทางสุดท้าย ขอความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาหนี้บัตรเครดิต ซึ่งจะช่วยคุณเจรจาต่อรองกับธนาคารเพื่อกำหนดระยะเวลาในการชำระคืน และบางครั้งก็ลดอัตราดอกเบี้ยลงด้วย ลองติดต่อชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ http://www.consumer thai.org/debt/

ใช้บัตรเครดิตอย่างฉลาด

หัวใจของการสร้างหนี้ให้เป็นประโยชน์สำหรับคุณคือ รู้วิธีใช้เครดิตอย่างฉลาด อยู่กับความเป็นจริงว่าเงินกู้หรือสินเชื่อบ้านก้อนใหญ่ขนาดไหนที่คุณจะรับมือไหว

การจ่ายชำระหนี้บัตรเครดิตทุกเดือนเป็นวิธีมีประสิทธิภาพที่สุดในการรักษาเครดิตที่ดี และควรจำกัดจำนวนบัตรที่ถือ นฤมลกล่าวว่า “หากมองในด้านความเสี่ยงของการใช้บัตรเครดิต เราควรมีบัตรเครดิตอย่างมากสี่ใบ แค่วีซ่า, มาสเตอร์การ์ด, ไดเนอร์ส และเอเม็กซ์ คุณก็สามารถใช้บัตรเครดิตสำหรับใช้จ่ายได้ครอบคลุมทุกหนแห่งทั่วโลก”

ท้ายที่สุด วิธีดีที่สุดในการใช้บัตรเครดิตคือให้คิดว่าคุณกำลังใช้เงินสดที่มีอยู่ อย่าใช้บัตรเครดิตเป็นแหล่งรายได้หรือเพื่อแก้ปัญหาเงินขาดมือ ใช้บัตรต่อเมื่อมีเงินจ่าย

เตรียมตัวเกษียณ

ไม่มีคำว่าเร็วเกินไปสำหรับการเริ่มวางแผนเพื่อวัยเกษียณ แม้จะดูเหมือนอีกนานหลายสิบปี โดยเฉพาะถ้าคุณอยู่ในวัย 20 เศษๆ ยิ่งคุณเริ่มต้นเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเมื่อถึงชีวิตบั้นปลาย

นักวางแผนทางการเงินอาจเป็นประโยชน์ในกรณีนี้ ซึ่งจะช่วยคุณคำนวณเป้าหมายที่ต้องการในวัยเกษียณและสร้างแผนการออมเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น ลองสอบถามเพื่อนฝูงเพื่อขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาผู้มีประสบ การณ์และไว้ใจได้ ต่อไปนี้คือวิธีเริ่มต้น

วาดภาพวัยเกษียณ

คุณต้องมีเงินเท่าไรเพื่อเกษียณอย่างสบายๆ คำตอบคือขึ้นอยู่กับแต่ละคน

ในการคำนวณว่าเงินออมของคุณควรก้อนใหญ่แค่ไหนนั้น คุณต้องคิดอย่างละเอียดรอบคอบก่อนว่าคุณอยากจะทำอะไรและอยากใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อเกษียณ จะหยุดทำงานโดยสิ้นเชิง หรือทำงานบางเวลา รูปแบบการใช้ชีวิตแบบไหนที่คุณคาดหวัง คนที่เกษียณมักชอบเดินทางท่องเที่ยวและทำงานอดิเรก กิจกรรมเหล่านี้จะต้องใช้เงินเท่าไร

วัตถุประสงค์ตรงนี้คือการแปลงเป้าหมายการเกษียณของคุณออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งตัวเลขสำเร็จรูปหรือสูตรมหัศจรรย์นั้นไม่มี ประมาณการด้านรายได้สำหรับคนส่วนใหญ่ที่จะอยู่อย่างสบายๆยามเกษียณคือสองในสามของรายได้ปัจจุบัน บนพื้นฐานว่าคุณชำระหนี้สินต่างๆอย่างสินเชื่อบ้านหมดแล้วและไม่มีภาระด้านการเงินสำหรับลูกอีก เช่น ถ้าคุณต้องการ มีเงินสำหรับในเวลา 25 ปีหลังเกษียณจำนวน 1,320,000 บาทต่อปี คุณต้องมีเงินราวๆ 23.67 ล้านบาทเพื่อสร้างรายได้ขนาดนั้นที่ผลตอบ แทนร้อยละสามต่อปี

อย่าลืมคิดเผื่อค่ารักษาพยาบาลซึ่งสูงขึ้นตลอดเวลาด้วย โสภากล่าวว่า “บ่อยครั้งที่เรามักไม่คิดถึงค่ารักษาพยาบาล เมื่อคำนวณจำนวนเงินที่ต้องมียามเกษียณ ยิ่งเราแก่ตัวลงเท่าไร เราอาจต้องใช้เงินมากขึ้นสำหรับค่ารักษาพยาบาล ค่าตรวจร่างกาย และค่ายา”

ช่วงเวลาหลังเกษียณและช่วงเวลาสำหรับการออม

อันดับต่อมา ประมาณการว่าคุณต้องการมีรายได้ในช่วงชีวิตหลังเกษียณนานแค่ไหน หนึ่งในความผิดพลาดใหญ่หลวงที่คนเราทำกันคือประเมินอายุที่ตนเองจะมีชีวิตอยู่ต่ำเกินไป ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีขึ้นในปัจจุบัน คนเราอายุยืนยาวขึ้น และคุณคงไม่อยากให้เงินออมหมดก่อนคุณจะเสียชีวิต

สิ่งต่อไปที่ต้องพิจารณาคือดูว่าคุณมีเวลาเหลือเท่าไรจากตอนนี้ถึงตอนที่คุณอยากจะหยุดทำงาน ยิ่งวัยเกษียณอยู่อีกไกลเท่าไรก็ยิ่งง่ายขึ้นที่จะบรรลุเป้าหมาย ประโยชน์อย่างหนึ่งของการเริ่มออมแต่เนิ่นๆคือเงินออมของคุณจะโตเร็วขึ้น นฤมล นักวางแผนทาง การเงินที่มีประสบการณ์นับสิบปี อธิบายว่า “ปล่อยให้ดอกเบี้ยทบต้นทำงานให้คุณ น้อยคนจะตระหนักว่าเวลาคือทรัพย์สินอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อวางแผนสำหรับเกษียณ”

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องวางแผน

การออมอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้คุณสะสมเงินสำหรับใช้ในอนาคตได้ ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า คุณต้องผสมผสานการออมกับเครื่องมือการลงทุนต่างๆเพื่อสร้างรายได้ที่ต้องการ การผสมผสานระหว่างเงินฝากประจำ, หุ้น, พันธบัตร, ประกันชีวิต, หรืออสังหาริมทรัพย์เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา ขึ้นอยู่กับขอบเขตของเวลาและความสามารถในการรับความเสี่ยงของคุณ

“ประเด็นสำคัญคือต้องสะสมเงินออมเข้า ไปเป็นประจำสม่ำเสมอ มีวินัยในการออม และติดตามประเมินผลการลงทุนของคุณเป็นประจำ” ไมตรีซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาทาง การเงินผู้เชี่ยวชาญการลงทุนแนะนำ “นี่เป็นเงินที่คุณหามาได้ด้วยความยากลำบาก ดังนั้นต้องมั่นใจได้ว่าเงินของคุณจะทำงานให้คุณเช่นกัน นอกจากนี้ เมื่ออายุมากขึ้น สถานการณ์ทางการเงินของคุณย่อมเปลี่ยนไป คุณจึงต้องปรับปรุงแผนให้เหมาะสมตามไปด้วย”

ยิ่งคุณอยู่ห่างวัยเกษียณมากเท่าไร คุณอาจรับความเสี่ยงในการลงทุนได้มากกว่า ในวัย 20 และ 30 เศษ คุณอาจรับความสูญเสียในการลงทุนได้เพราะยังมีเวลาหา เงินมาชดเชย แต่ถ้าใกล้วัยเกษียณ รูปแบบการลงทุนของคุณควรเสี่ยงน้อยลง

“การวางแผนเพื่อเกษียณต้องอาศัยความอุตสาหะและมีวินัย ประเมินตามความเป็นจริงว่าเป้าหมายทำได้แค่ไหนและเริ่มแต่เนิ่นๆ” นฤมลกล่าว “ความผิดพลาดใหญ่หลวงที่หลายคนทำคือมองข้ามเรื่องนี้ มีความจริงข้อหนึ่งที่น่าสนใจในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ถ้าคุณรู้จำนวนเงินที่ต้องมียามเกษียณของตัวเอง หลายคนจะสามารถเกษียณตัวเองได้ก่อนเวลาที่ตำราบอกไว้ด้วยซ้ำ”

คราวนี้คุณก็มีแผนปฏิบัติเพื่อบริหารจัดการเงินทองให้ประสบความสำเร็จแล้ว นอกจากมีแผน คุณยังต้องมีความมุ่งมั่นและมุมมองระยะไกล ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าตอนนี้สถานะการเงินของคุณตึงตัว แต่นั่นไม่ยากอย่างที่คุณคิดหรอก

เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆก่อนด้วยการทำงบประมาณและอย่าลืมออม เมื่อบรรลุเป้าหมาย คุณจะรู้สึกมั่นใจขึ้นและมีแรงบันดาลใจที่จะไปไกลกว่าเดิม อย่ารีรอ เริ่มต้นวันนี้เพื่อก้าวสู่อิสรภาพทางการเงินอย่างที่คุณต้องการ