อาคารชุด การเลือกซื้ออาคารชุด

คำแนะนำผู้บริโภคจาก สคบ.

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ให้ข้อควรปฏิบัติที่ใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา ผู้บริโภคควรทราบก่อนที่ท่านจะตัดสินใจ เลือกซื้ออาคารชุด เพื่อช่วยป้องกันความเสียหายหรือถูกเอาเปรียบที่อาจเกิดขึ้นได้

ศึกษาสภาพแวดล้อมและผลงานของผู้ประกอบธุรกิจ
1. ตรวจสอบว่า ทางราชการมีโครงการที่จะดำเนินการใดในบริเวณที่ดินนั้นหรือไม่ เช่น มีข้อห้ามมิให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสูงๆ หรือบริเวณดังกล่าวรัฐกำลังจะดำเนินการเวนคืนในอนาคต เป็นต้น โดยตรวจสอบได้ที่เทศบาล หรือสำนักงานโยธาจังหวัดที่โครงการจัดสรรตั้งอยู่

2. สถานที่ตั้งโครงการ สะดวกต่อการเดินทางไปทำงาน ไม่มีมลภาวะ เช่น ฝุ่นละอองหรือเสียงรบกวนต่างๆ หรือมีน้ำท่วมขัง ซึ่งอาจทำให้ท่านเดือดร้อนได้ในภายหลัง

3. ตรวจสอบผลงาน หากผู้ประกอบธุรกิจได้เคยดำเนินการมาแล้วก็ต้องพิจารณาดูว่า โครงการที่ดำเนินการมาแล้วนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร ทำตามโครงการหรือสัญญาครบถ้วนหรือไม่ มีการส่งมอบงานหรือโอนบ้านตามกำหนดหรือไม่ ทั้งนี้ อาจสอบถามได้จากผู้ซื้อรายก่อน

การตรวจสอบก่อนซื้อห้องชุดในอาคารชุด

ผู้บริโภคที่ประสงค์จะซื้อห้องชุดต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบเช่นเดียวกัน อย่ารีบร้อนหรือด่วนตัดสินใจซื้อ ห้องชุดที่โฆษณาขายกันอยู่ในบ้านเรา แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะดังนี้ 1. กรณีที่ยังไม่ได้มีการก่อสร้างอาคาร ผู้บริโภคควรตรวจสอบดังนี้

1.1 ตรวจสอบใบอนุญาตก่อสร้างอาคารว่าได้รับอนุญาตหรือยังไม่ได้รับอนุญาต ขอตรวจสอบได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด

1.2 ตรวจสอบชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แผนผังแสดงเขตที่ดินที่จะก่อสร้างอาคารชุด เลขที่ของโฉนดที่ดินตรวจสอบได้จากกรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดแล้วแต่กรณี

1.3 ตรวจสอบชื่อ ที่อยู่ และสถานภาพของผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด ว่าเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลและเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะก่อสร้างอาคารชุดหรือไม่ ถ้ากรณีเป็นนิติบุคคล ได้จดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนกับทางราชการถูกต้องแล้วหรือไม่ มีทุนจดทะเบียน ทุนที่ชำระแล้วเท่าไร ใครเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ตรวจสอบได้จากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด แล้วแต่กรณี

1.4 ตรวจสอบว่าที่ดินที่จะก่อสร้างอาคารชุดมีภาระผูกพันกับนิติบุคคล หรือสถาบันการเงินหรือไม่ อย่างไร คือนำไปจำนองไว้กับธนาคารหรือบริษัทเงินทุกหลักทรัพย์หรือไม่นั่นเอง ท่านตรวจสอบได้จากกรมที่ดิน หรือสำนักที่ดินจังหวัดแล้วแต่กรณี

1.5 ต้องสอบถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากค่าซื้ออาคารชุดซึ่งผู้เป็นเจ้าของห้องชุดจะต้องร่วมกันออกตามส่วน เช่น ค่าบริการที่เป็นส่วนร่วม ค่าดูแลรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางค่าภาษีอากร เป็นต้น สอบถามได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดแล้วแต่กรณี

1.6 ต้องสอบถามหรือขอคำรับรองจากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุดด้วยว่าจะเริ่มก่อสร้าง และแล้วเสร็จเมื่อใด

2. กรณีที่ก่อสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้บริโภคควรต้องตรวจสอบ ดังนี้

2.1 ตรวจสอบว่า ได้มีการจดทะเบียนอาคารชุดแล้วหรือไม่ มีเลขที่ของทะเบียนอาคารชุดแล้วหรือไม่ เลขที่ของทะเบียนอาคารชุดเท่าไร ใครเป็นผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุด ขอตรวจสอบได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด แต่ถ้าหากไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จากกรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัด แล้วแต่กรณี

2.2 ตรวจสอบ เลขที่ของโฉนดที่ดิน จำนวนเนื้อที่ที่ดินของโครงการ แผนผังแสดงเขตที่ดิน และที่ตั้งอาคารชุดว่าตรงกันกับที่ได้จดทะเบียนอาคารชุดแล้วหรือไม่ ตรวจสอบได้จากกรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดแล้วแต่กรณี

2.3 ตรวจสอบชื่อ ที่อยู่ และสถานภาพของผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุดว่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ถ้ากรณีเป็นนิติบุคคลใครเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ตรวจสอบได้จาก กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด แล้วแต่กรณี

2.4 ตรวจสอบว่าที่ดินจะก่อสร้างอาคารชุดมีภาระผูกพันกับนิติบุคคล หรือสถาบันการเงิน หรือไม่อย่างไร คือนำไปจำนองไว้กับธนาคารหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรือไม่นั่นเอง ท่านตรวจสอบได้จากกรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด แล้วแต่กรณี

2.5 ตรวจสอบรายการและขนาดของทรัพย์สินที่ใช้เป็นทรัพย์ส่วนบุคคล และทรัพย์ส่วนกลางว่าตรงกันกับที่ได้มีการโฆษณาไว้หรือไม่ ตรวจสอบได้จากที่ตั้งโครงการและผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด

2.6 สอบถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากค่าซื้ออาคารชุด ซึ่งผู้เป็นเจ้าของห้องชุดจะต้องร่วมกันออกตามส่วน เช่น ค่าบริการที่ส่วนรวม ค่าดูแลรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับกับทรัพย์สินส่วนกลาง ค่าภาษีอากร เป็นต้น ขอทราบได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัด อำเภอ หรือสำนักงานที่ดินเขตที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี

สำหรับรายละเอียดดังกล่าวข้างต้น ทางราชการได้ออกกฎกระทรวงตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 บังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องบอกกล่าวหรือระบุในคำโฆษณาแล้ว แต่ยังไม่ควรมั่นใจว่าจะถูกต้องหรือเป็นจริงและเพียงพอที่จะตัดสินใจซื้อ หรือเข้าทำสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจ ควรที่จะได้ตรวจสอบกับทางราชการที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความรอบคอบและจะได้ไม่ถูกหลอกลวงหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ

การตรวจสอบหนังสือสัญญา

เมื่อผู้บริโภคตกลงใจหรือตัดสินใจที่จะซื้อบ้าน ที่ดินจัดสรรหรืออาคารชุดแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไป คือทำสัญญากับผู้ขาย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด เพราะผู้ซื้อจะต้องลงชื่อผูกพันในหนังสือสัญญากับผู้ขาย การเอารัดเอาเปรียบของผู้ขาย หรือความเสียเปรียบของผู้ซื้ออาจเกิดขึ้นได้หรือไม่อย่าง จะอยู่ที่หนังสือสัญญาฉบับนี้ ดังนั้น ก่อนที่ผู้บริโภคจะลงชื่อในหนังสือสัญญาจะต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ โดยไม่ต้องเกรงใจผู้ขายต้องตรวจสอบข้อความในหนังสือสัญญาให้ละเอียด และทำความเข้าใจให้แจ้งชัดก่อนที่จะลงลายมือชื่อของตนในหนังสือสัญญาฉบับนั้น ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจก็ต้องหาผู้รู้มาให้คำแนะนำ หรือถ้าสงสัยในเรื่องใดก็ต้องสอบถามผู้ขายให้เป็นที่ตกลงกันโดยแน่นอนเสียก่อน มิฉะนั้นอาจตกเป็นผู้เสียเปรียบในการทำสัญญาได้ เช่น

1. ห้องที่ทำสัญญาถูกต้องตรงตามตัวอย่างที่โฆษณาหรือไม่ จะต้องตรวจในรายละเอียดด้วย เพราะมีผู้ดำเนินการบางรายอาจทำแบบบ้านอย่างหนึ่ง แต่เวลาทำสัญญาได้มีการเปลี่ยนแปลงรายการในรายละเอียดบางประการซ่อนไว้ หากไม่ตรวจสอบจะไม่ทราบ

2. ขนาดของห้องที่ตกลงทำสัญญาซื้อนั้นถูกตรงตามที่ผู้ซื้อจองตามผังจัดสรรหรือไม่

3. ระยะเวลาการเริ่มต้นก่อสร้าง และระยะเวลาการสร้างห้องแล้วเสร็จส่งมอบให้ผู้ซื้อได้เมื่อใด ควรต้องมีกำหนดไว้ในสัญญาด้วย

4. หากในสัญญามีกำหนดเบี้ยปรับไว้กรณีผู้ซื้อผิดนัดเช่นนี้ ก็ควรกำหนดเบี้ยปรับไว้ในสัญญาด้วยกรณีผู้ขายผิดนัด

5. นอกจากนั้นควรมีกำหนดเวลาประกัน กรณีห้องชำรุดบดพร่องไว้ด้วยว่าจะให้ผู้ขายปฏิบัติอย่างไร

ตรวจสอบโครงการก่อนซื้อคอนโด

ถ้าคิดใคร่ครวญดีแล้วตัดสินใจว่าจะซื้อห้องชุดในอาคารชุดแน่ ควรพิจารณาและตรวจสอบห้องชุดที่จะซื้อโดยใช้เหลักเกณฑ์ดังนี้ประกอบ

1. คอนโดที่ยังไม่สร้าง
- ตรวจสอบใบอนุญาตก่อสร้างอาคารว่าได้รับอนุญาตหรือยัง ขอตรวจสอบได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุดและควรตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งจากสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล หรือกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้วแต่กรณี
- ตรวจสอบรายชื่อผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แผนผังแสดงเขตที่ดินที่จะก่อสร้างอาคารชุด เลขที่ของโฉนดที่ดิน ตรวจสอบได้จากรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด
- ตรวจสอบ ชื่อที่อยู่ และสถานภาพของผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุดว่า เป็นบุคคลธรรมดา หรือเป็นนิติบุคคล เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะก่อสร้างอาคารชุดหรือไม่ ถ้าเป็นนิติบุคคลได้จะจดทะเบียนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนถูกต้องแล้วหรือไม่ มีทุนจดทะเบียนและทุนที่ชำระแล้วเท่าใด ใครเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนตรวจสอบได้จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด
- ตรวจสอบว่าที่ดินที่จะก่อสร้างอาคารชุดมีภาระผูกพันกับนิติบุคคลหรือสถาบันการเงินใดหรือไม่ คือมีการนำที่ดินไปจำนองไว้กับสถาบันการเงินใดหรือไม่ ตรวจสอบได้จากกรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดินจังหวัด
- สอบถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากการซื้อห้องชุด ซึ่งจะต้องร่วมกันออกตามส่วน เช่น ค่าบริการทรัพย์สินส่วนรวม ค่าดูแลรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนกลาง ค่าภาษีอากร โดยสอบถามได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด กรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด
- สอบถามหรือขอคำรับรองจากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุดว่า จะเริ่มก่อสร้างและแล้วเสร็จเมื่อไหร่

2. คอนโดพร้อมอยู่
- ตรวจสอบว่ามีการจดทะเบียนอาคารชุดแล้วหรือไม่ ใครเป็นผู้ขอจดทะเบียน ตรวจสอบได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุดและจากกรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด
- ตรวจสอบเลขที่ของโฉนดที่ดิน จำนวนเนื้อที่โครงการ แผนผังแสดงเขตที่ดิน และที่ตั้งอาคารชุดว่าตรงกับที่จดทะเบียนไว้หรือไม่ ตรวจสอบได้จากกรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด
- ตรวจสอบ ชื่อที่อยู่ และสถานภาพของผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุดว่า เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ถ้าเป็นนิติบุคคลใครเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ผูกพันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน หัวข้อนี้ตรวจสอบได้จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด
- ตรวจสอบว่าที่ดินที่จะก่อสร้างอาคารชุดมีภาวะผูกพันกับนิติบุคคลหรือสถาบันการเงินใดหรือไม่ ตรวจสอบได้จากกรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดินจังหวัด
- สอบถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอื่นนอกเหนือจากค่าซื้อห้องชุด ซึ่งจะต้องร่วมกันออกตามส่วน เช่น ค่าบริการทรัพย์สินส่วนรวม ค่าดูแลรักษา และดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนกลาง ค่าภาษีอากรสอบถามได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุดกรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด

3. ข้อควรระวัง
- ก่อนซื้อควรตรวจประวัติของเจ้าของโครงการให้ดี เพราะว่ามีหลายโครงการที่เจ้าของโครงการที่เจ้าของโครงการไม่ปฏิบัติตามสัญญา แล้วผู้บริโภคยื่นฟ้องคดีต่อศาลและศาลพิพากษาให้เจ้าของโครงการชดใช้ค่าเสียหายให้แกผู้บริโภค ปรากฏว่าเจ้าของโครงการซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่มีทรัพย์สินพอในการชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคตามคำพิพากษาของศาล
- สัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายห้องชุดระหว่างเรากับเจ้าของโครงการ จะต้องทำตามแบบที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ถ้าข้อสัญญาใดไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด ให้ถือว่าไม่มีข้อสัญญานั้นอยู่ (ใช้บังคับไม่ได้)
- เก็บใบปลิว แผ่นพับ ใบโฆษณาต่าง ๆ ของคอนโดนั้นเป็นหลักฐานในการฟ้องร้อง เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขาย ที่โครงการจะต้องทำตามที่ได้โฆษณาเผยแพร่เอาไว้
- ประการสำคัญ ก่อนรับมอบห้องชุดควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าพื้นที่ อุปกรณ์ต่าง ๆ หรือวัตถุที่นำมาสร้างห้องชุด ถูกต้องตรงตามสัญญาหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องก็อย่าเพิ่งรับมอบ อย่าคิดว่ารับมอบไปก่อน เดี๋ยวทางโครงการก็จะแก้ไขให้ถูกต้องทีหลัง ซึ่งเป็นไปได้ยาก ส่วนใหญ่เจ้าของโครงการจะผัดผ่อนอ้างเหตุผลสารพัดจนเราหมดหมดแรงต้องเลิกไปเอง เรื่องนี้เป็นปัญญามากในปัจจุบัน

4. ใครว่าใบอนุญาตก่อสร้างไม่สำคัญ
คอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นมากมายในกรุงเทพฯ ต่างแข่งขันแย่งลูกค้ากันอย่างเข้มข้น ด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ นานา แต่บางโครงการเปิดตัวใหญ่โต แล้วไปไม่รอด บางโครงการดำเนินการไปด้วยดีทั้งในเรื่องเงินทุนกู้ยืมจากธนาคาร และยอดขาย แต่ไม่ได้รับใยอนุญาตก่อสร้างเพราะติดขัดเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทำให้ขึ้นงานก่อสร้างไม่ได้หรือขึ้นงานก่อสร้างไปก่อนก็ถือว่าเป็นอาคารผิดกฎหมาย ต้องหยุดก่อสร้างต่อทันที

สำหรับอาคารชุด 80 ห้องขึ้นไป พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม กำหนดให้ต้องทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อพื้นที่ใกล้เคียงแล้วจึงขอใบอนุญาตก่อสร้างได้ และหากมีพื้นที่โครงการรวมกัน 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป พ.ร.บ. ควบคุมอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่ต้องเว้นระยะถ่อยร่น 6 เมตร และต้องทำระบบป้องกันอัคคีภัยตามกฎหมายควบคุมอาคาร นอกจากนี้ถ้าอาคารสูงเกิน 23 เมตร (ประมาณ 8 ชั้น) และพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป เข้าข่ายเป็นอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร

ฉะนั้นผู้บริโภคควรตรวจสอบด้วยว่าโครงที่เราสนใจปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ เราจะทำไม่รู้ไม่ชี้ปล่อยให้เป็นเรื่องของโครงการจัดการเองไม่ได้ เพราะการโอนห้องชุดต้องมีเอกสารใบอนุญาตก่อสร้างประกอบด้วย ถ้าไม่มีก็จะโอนให้เราไม่ได้

การขอใบอนุญาตต้องใช้เวลา และก่อนจะได้ใบอนุญาตก็ต้องทำการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกซึ่งกินเวลาหลายเดือน รวมกันก็เป็นปี ที่ผ่านมาหลายโครงการเลี่ยงกฎหมายด้วยการทำ 79 ยูนิต เพื่อลดขั้นตอนด้านสิ่งแวดล้อม และใช้ใบอนุญาต “39 ทวิ” ซึ่งเป็นใบอนุญาตก่อสร้างเร่งด่วน โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐจนกระทั่งงานก่อสร้างนั้นเสร็จแล้ว

บางโครงการยังใช้วิธีแบ่งพื้นที่โครงการ ให้โครงการแต่ล่ะหลังมีพื้นที่ 9,999 ตารางเมตร แล้วสร้างอาคารใกล้กันแค่ 3 เมตร และไม่จำเป็นต้องทำระบบป้องกันอัคคีภัยอีกด้วย (ทำให้อาคารไม่ปลอดภัย) จึงต้องมีการกำหนดว่าต้องรวมพื้นที่ทุกอาคารใน 1 แปลง ถ้าเกิน 10,000 ตารางเมตร จัดว่าเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องทำตามข้อบังคับของอาคารขนาดใหญ่พิเศษ

หากพบในระหว่างการก่อสร้าง ก็จะเจอคำสั่งให้หยุดงานก่อสร้างและแก้ไขโครงสร้าง ก็จะเจอคำสั่งก่อสร้างและแก้ไขโครงสร้างล่าช้าไปมาก มีตัวอย่างให้เห็นแล้วขายโครงการได้หมด แต่ขออนุญาตไม่ผ่าน สร้างไม่ได้ ต้องคืนเงินให้ลูกค้าหมดทุกคน

แต่ถ้าพบเมื่อก่อสร้างเสร็จ ถือเป็นอาคารที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นอาคารพักอาศัย ทางโครงการจะไม่สามารถโอนให้ลูกค้า ต้องมีการแก้ไขก่อน เช่น โครงการที่สูงเกิน 23 เมตร ต้องทุบอาคารส่วนบนออกไปจึงจะโอนให้ลูกค้าได้

บางโครงการผ่านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างแล้ว ยอดขายก็เกินสัดส่วนที่ธนาคารกำหนด ปล่อยกู้สินเชื่อโครงการแล้ว สามารถลงมือก่อสร้างได้ แต่ไม่นานก็เจอปัญหาวัสดุก่อสร้างขึ้น ผู้รับเหมาทิ้งงาน การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดมากเกินไป ฉะนั้นนอกจากตรวจสอบใบอนุญาตแล้ว เราควรติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างให้เป็นไปตามกำหนดด้วย
- See more at: http://www.readersdigestthailand.co.th/know-before-buying-condo#sthash.ZAU6nU62.dpuf