ไอโอดีน

ไอโอดีน โดยปกติร่างกายต้องการไอโอดีนประมาณ 100-150 ไมโครกรัมต่อวัน ในช่วงตั้งครรภ์ต้องการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 200 ไมโครกรัม เนื่องจากมีการขับออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น และให้ลูกใช้ในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน การกำหนดความรุนแรงของภาวะขาดไอโอดีน จะถือว่าขาดเล็กน้อยเมื่อผู้นั้นไอโอดีนระหว่าง 50-100 ไมโครกรัมต่อวัน ถือว่าขาดปานกลางเมื่อผู้นั้นได้รับไอโอดีนระหว่าง 25-50 ไมโครกรัม และจะถือว่าขาดรุนแรงเมื่อได้รับไอโอดีนน้อยกว่า 25 ไมโครกรัมต่อวัน

ไอโอดีนเป็นธาตุที่เกิดในธรรมชาติ มีมากในสัตว์ และพืชในทะเล เป็นธาตุที่จำเป็นแก่ร่างกาย แม้ต้องการเพียงเล็กน้อยแต่ก็ขาดเสียมิได้ ความแตกต่างของปริมาณไอโอดีนในแต่ละพื้นที่ ขึ้นกับความแตกต่างของการปกคลุมด้วยน้ำแข็งในสมัยโลกยุคน้ำแข็ง ไอโอดีนสำคัญและจำเป็นต่อร่างกาย เพราะเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นในการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ซึ่งต่อมไทรอยด์จำเป็นต้องใช้ไอโอดีนเพื่อสร้างฮอร์โมน ชื่อว่า “ไทรอกซิน” ซึ่งฮอร์โมนนี้จำเป็นสำหรับควบคุมการทำหน้าที่ และเสริมความเจริญเติบโตตามปกติของสมองประสาท และเนื้อเยื่อของร่างกาย ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่อาศัยไอโอดีนในการทำงาน โดยต้องการไอโอดีนอย่างน้อย 50 ไมโครกรัมต่อวัน ในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สำคัญของร่างกาย

ปลาทะเล 100 กรัม มีสารไอโอดีนประมาณ 50 ไมโครกรัม สาหร่ายทะเล 100 กรัม มีสารไอโอดีนประมาณ 200 ไมโครกรัม เกลือทะเล 5 กรัม มีไอโอดีน 10 - 25 ไมโครกรัม ไอโอดีนเป็นธาตุสำคัญที่ร่างกายต้องการ ต่อมไทรอยด์นำไอโอดีนเป็นส่วนสำคัญในการสังเคราะห์ฮอร์โมน ฮอร์โมน T4 ประกอบด้วยไอโอดีน 66% และ T3 มี 58% ไอโอดีนมีมากในพืช และสัตว์ทะเล เพราะฉะนั้นแหล่งอาหารไอโอดีนที่สำคัญ คือ อาหารจากทะเล และพืชที่ปลูกบนดินที่มีธาตุไอโอดีน ความต้องการไอโอดีนที่แนะนำต่อวันคือ 150 ไมโครกรัมต่อวันในผู้ใหญ่ และ 200 ไมโครกรัมต่อวัน ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร ในผืนดินที่ห่างไกลจากทะเล ดินมีธาตุไอโอดีนน้อยหรือไม่มีเลย อาหารจากสัตว์ และพืชในบริเวณนั้นไม่สามารถให้ไอโอดีนเพียงพอ ร่างกายก็จะเกิดภาวะขาดไอโอดีน

ประโยชน์ของไอโอดีนต่อร่างกาย

1.ช่วยในการทำงาน และเจริญเติบโตของต่อมไทรอยด์ และเป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนไทรอกซิน ผลิตโดยต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่ควบคุมอัตราเมแทบอลิซึมของร่างกาย การทำงานของต่อมธัยรอยด์มีผลต่อสภาพจิตใจ สภาพของผม ผิวหนัง เล็บ และ ฟัน ของร่างกาย การเปลี่ยนของแคโรทีนเป็นวิตามิน เอ การสังเคราะห์ โปรตีน โดย ไรโบโซม และการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้เล็กทั้งหมดนี้จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อการผลิตไทรอกซิน เป็นไปตามปกติ การสังเคราะห์โคเลสเตอรอลถูกกระตุ้นโดยระดับของไทรอกซิน
2.ช่วยให้ร่างกายผลิตพลังงานได้ตามปกติ
3.ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต และกระตุ้นอัตราการเผาผลาญ โดยช่วยร่างกายเผาผลาญไขมันที่มาก
4.กระตุ้นให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น
5.เพิ่มการเคลื่อนย้ายแคลเซียม และฟอสฟอรัสจากกระดูก
6.ช่วยในการขับถ่ายปัสสาวะและควบคุมการกระจายของน้ำตามอวัยวะต่างๆ
7.กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำนมมากขึ้น
8.ควบคุมประสาท ให้มีกำลังคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง ตลอดถึงการพูด ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความมีประสิทธิภาพของต่อมไทรอยด์

ภาวะขาดไอโอดีน

1.ภาวะขาดไอโอดีนจึงมีผลทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ โดยขึ้นกับความรุนแรง และระยะเวลาที่เกิดภาวะขาดไอโอดีน โดยผลที่เกิดขึ้นเนื่องจากภาวะขาดไอโอดีนโดยตรง และเกิดจากภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน อาจทำให้ทารกในครรภ์แท้ง ตายคลอด ผิดปกติแต่กำเนิด ปัญญาเสื่อม หูหนวก ขาแข็งกระตุก ตาเหล่ รูปร่างแคระแกรน สติปัญญาเสื่อม ทารกแรกเกิดจะเป็นคอพอก และเกิดภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน ความเจริญทางสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตช้า ส่วนในผู้ใหญ่จะทำให้เกิดคอพอก และภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน ผลของการขาดไอโอดีนทำให้เกิดความพิการทางประสาท ผู้ป่วยโรคนี้มีความพิการแต่กำเนิดที่สำคัญ คือปัญญาอ่อน หูหนวก และเป็นใบ้ ซึ่งภาษาเหนือ เรียกว่าโรคเอ๋อ หรือเซอะมะ คนเหล่านี้ช่วยตัวเองไม่ได้ จึงเป็นภาระทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอย่างมาก
2.ภาวะขาดไอโอดีนยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก ประมาณว่าประชากรกว่าพันล้านคน โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาประสบปัญหานี้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะปัญญาอ่อน ในประเทศไทยภาวะขาดไอโอดีนพบในที่ห่างไกลทะเล ในหมู่บ้านยากจนในแถบถิ่นภูเขา บางแห่งเกิดคอพอกจากภาวะขาดไอโอดีนกันเกือบทั้งหมู่บ้าน การแก้ไขปัญหาภาวะขาดไอโอดีนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคม จากการวิเคราะห์ดินที่จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นถิ่นของโรคเมื่อเทียบกับดินที่กรุงเทพ พบว่ามีไอโอดีนน้อยกว่าถึง 7 เท่า
3.ผลของภาวะขาดไอโอดีนที่เห็นได้ชัด คือ คอพอก แต่แท้จริงแล้วโรคคอพอกเป็นส่วนหนึ่งของความผิดปกติเท่านั้น ภาวะขาดไอโอดีนเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดคอพอก เนื่องจากมีหลักฐานว่าปริมาณไอโอดีนในดิน และน้ำต่ำในบริเวณที่เกิดโรคคอพอก และการแก้ไขภาวะขาดไอโอดีนสามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคคอพอกได้ ส่วนสารที่ทำให้เกิดคอพอก เช่น มันสำปะหลัง ข้าวฟ่าง ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการจับไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ มีผลน้อยมากต่อการเกิดคอพอกในประเทศไทย
4.การกำหนดความรุนแรงของภาวะขาดไอโอดีน จะถือว่าขาดเล็กน้อยเมื่อผู้นั้นได้รับไอโอดีนระหว่าง 50-100 ไมโครกรัมต่อวัน ถือว่าขาดปานกลางเมื่อผู้นั้นได้รับไอโอดีนระหว่าง 25-50 ไมโครกรัม และจะถือว่าขาดรุนแรงเมื่อได้รับไอโอดีนน้อยกว่า 25 ไมโครกรัมต่อวัน

ภาวะผิดปกติจากการขาดสารไอโอดีน

1.ทารกในครรภ์ มีแท้ง ตายคลอด อัตราตายของแม่ในการคลอดสูง หากรอดชีวิตเมื่อโตขึ้นจะมีอาการ ทางประสาท ปัญญาเสื่อม ใบ้ งั่ง หูหนวก ขาแข็ง กระตุก ตาเหล่ ร่างกายแคระแกรน
2.ทารกแรกเกิด การทำหน้าที่ของต่อมไทรอยด์ต่ำกว่าปกติแต่กำเนิด มีอัตราป่วยและตายสูง
3.เด็กและวัยรุ่น มีความเจริญทางสมองสติปัญญาและการเจริญเติบโตทางร่างกายช้า เป็นคนปัญญาอ่อน ซึ่งศัพท์ทางภาคเหนือเรียกว่า “เอ๋อ”
4.ผู้ใหญ่ มีคอพอก และอาการแอบแฝง ทำให้การทำหน้าที่ของร่างกายด้อยลง ทั้งทาง ร่างกาย จิตใจ และสมรรถภาพในการทำงาน

สถานการณ์ของโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย

1.กรมอนามัยได้จัดตั้งระบบการเฝ้าระวังโรคขาดสารไอโอดีน ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2532 โดยใช้อัตราคอพอกในนักเรียนประถมศึกษาเป็นดัชนีชี้วัด
2.กลยุทธที่ใช้ในการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 153/2537 ให้เกลือบริโภคทุกชนิด ต้องมีธาตุไอโอดีน อย่างน้อย (30 ส่วน ใน 1 ล้านส่วน) รณรงค์ และส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคเกลือไอโอดีนทุกครัวเรือน ทุกวัน และตลอดไป เพื่อควบคุม และป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน เกลือเสริมไอโอดีน 5 กรัม (30-50 พีพีเอมไอโอดีน) มีไอโอดีน 150 - 250 ไมโครกรัม ปกติคนเราบริโภคเกลือประมาณวันละ 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชา ถ้าใช้เกลือเสริมไอโอดีนที่ได้มาตรฐานจะได้ไอโอดีนเพียงพอต่อความต้องการของ ร่างกายในแต่ละวัน
3.ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีอัตราคอพอกสูงดื่มน้ำเสริมไอโอดีน โดยเริ่มในโรงเรียนก่อน แล้วขยายไปยังครัวเรือน ดื่มน้ำเสริมไอโอดีนนี้ จะได้รับสารไอโอดีน 200 ไมโครกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ซึ่งเท่ากับความต้องการธาตุไอโอดีนแต่ละวันใน 1 คน การเสริมไอโอดีนในน้ำดื่ม เป็นมาตรการเสริมเพื่อใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหามากกว่าร้อยละ 5 โดยใช้สารละลายโปแตสเซียมไอโอเดท หยดในน้ำดื่มของโรงเรียน หรือครัวเรือน ของพื้นที่ที่มีปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน เมื่อดื่มน้ำวันละ 1 ลิตร จะได้รับสารไอโอดีนประมาณ 150 - 200 ไมโครกรัม
4.น้ำปลาเสริมไอโอดีน ใช้ในพื้นที่ที่มีการบริโภคน้ำปลามากกว่าเกลือ โดยเติมสารละลายไอโอดีนเข้มข้น 6 หยด ลงในน้ำปลา 1 ขวด ซึ่งบรรจุ 750 มิลลิลิตร หากกินน้ำปลาวันละ 25 มิลลิลิตร/คน ก็จะได้ธาตุไอโอดีน 200 ไมโครกรัม ซึ่งเพียงพอกับความต้องการ ในระดับโรงงานทำได้โดยเติมสารละลายโปแตสเซียมไอโอเดท ก่อนการบรรจุขวด ให้มีความเข้มข้น 4 พีพีเอม บริษัทผลิตซีอิ๊วขาวบางราย ได้เสริมไอโอดีนในปริมาณ 10-20 พีพีเอม ขณะนี้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อ ได้เติมสารไอโอดีนในซองเครื่องปรุงรสที่บรรจุไว้ในซองของบะหมี่ โดยเติมในปริมาณ 50 ไมโครกรัม
5.ยาเม็ดไอโอดีน เป็นมาตรการพิเศษที่ใช้ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร มีอัตราคอพอกสูง การใช้เกลือและน้ำดื่มเป็นไปไม่ได้ดีเท่าที่ควร การใช้ยาเม็ดต้องระวังเพราะมีไอโอดีนอยู่ในระดับสูงถึง 200 มิลลิกรัม/แคปซูล ใช้ 1 แคปซูล ทุกระยะ 6 เดือน กลุ่มเป้าหมายที่ให้คือ หญิงวัยเจริญพันธุ์ หญิงมีครรภ์ และเด็กวัยเรียน

การวิเคราะห์ปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะ

1.ในปัจจุบันนี้ทำได้ไม่ยุ่งยากโดยใช้วิธี Perchloric Acid Digestion ตามคำแนะนำของ WHO/UNICEFF/ICCIDD
2.หลักการคือ ไอโอดีนจะถูกย่อยออกเป็นธาตุอิสระโดยปฏิกิริยาของกรด Perchloric และความร้อนสูง เกลือ Arsenic จะเป็นตัวกลางส่งผ่านธาตุไอโอดีนให้มาทำปฎิกิริยากับ Cericammonium sulphate น้ำยาจะเปลี่ยนจากสีเหลืองส้มเป็นไม่มีสี ซึ่งจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณ สารไอโอดีนในปัสสาวะ
3.ปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะจะไม่มีความสัมพันธ์กับขนาดของคอพอกคนที่เป็น
4.คอพอก เกิดมาจากการขาดไอโอดีนในอดีต บุคคลที่มีปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะต่ำในขณะที่ทำการสำรวจ แต่ยังไม่ปรากฎอาการของคอพอก อาจจะเป็นคอพอกได้ในอนาคต ถ้ายังได้รับสารไอโอดีนในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อไปอีก
5.การตรวจปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะจึงเป็นดัชนีบ่งชี้ที่มีความเหมาะสมที่จะ ใช้ ประเมิน และติดตามภาวะการขาดสารไอโอดีน และควรจะใช้ร่วมกับดัชนีชี้วัดอื่นๆ เช่น ขนาดของต่อมไทรอยด์

from : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ