Hormones ฮอร์โมนทดแทน

  • Tab 1
  • Tab 2

ฮอร์โมนทดแทน..จำเป็นหรือไม่

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจในวัยทองนั้น เป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง และการลดลงของฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้น ผู้ที่มีอาการต่างๆ มากจนกระทบต่อสุขภาพโดยรวมและการดำเนินชีวิตประจำวัน การได้รับฮอร์โมนทดแทนสำหรับหญิงวัยทองและการได้รับฮอร์โมนเสริม สำหรับชายวัยทอง จะทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่ควบคุมโดยฮอร์โมนเพศทำงานได้เป็นปกติดีขึ้น เมื่อสุขภาพร่างกายดีขึ้น สภาพจิตใจก็จะดีตามไปด้วย

ฮอร์โมนทดแทนสำหรับหญิงวัยทองและฮอร์โมนเสริมสำหรับชายวัยทอง ช่วยลดอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิดง่าย อ่อนเพลีย ซึมเศร้า ช่องคลอดแห้ง ความต้องการทางเพศและสมรรถภาพทางเพศลดลง ปัสสาวะบ่อย ผิวแห้ง ผมร่วง เล็บเปราะ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว คือ โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะสมองเสื่อม

สิ่งที่จะต้องพิจารณาก่อนการใช้ฮอร์โมนทดแทนหรือฮอร์โมนเสริม คือ มีอาการวัยทองเกิดขึ้นหรือไม่ และรุนแรงเพียงใด มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนและโรคหัวใจหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และมีโรคที่เป็นข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนทดแทนหรือไม่

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาฮอร์โมนทดแทนจนมีประสิทธิภาพสูง อาการข้างเคียงต่ำ และสามารถรับฮอร์โมนทดแทนอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานานได้อย่างปลอดภัย แต่ก่อนที่จะได้รับฮอร์โมนทดแทนนั้น ควรตรวจร่างกายก่อนว่า ไม่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนทดแทน เช่น เป็นโรคมะเร็งหรือเนื้องอกที่เกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ เป็นต้น

Hormones


ควรตรวจอะไรบ้าง ก่อนได้รับฮอร์โมนทดแทน

สำหรับผู้หญิง ควรตรวจร่างกายทั่วไป

- ตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน เอฟเอสเอช แอลเอช เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ว่าเข้าสู่ภาวะการขาดฮอร์โมนจริง
- ตรวจภายใน เพื่อดูว่าไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก
- ตรวจเต้านม เพื่อดูว่าไม่เป็นมะเร็งเต้านม
- ตรวจอัลตราซาวด์ดูขนาดมดลูกและรังไข่ว่าปกติดี
- ตรวจดูการทำงานของตับว่าปกติดี
- ตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก โดยเฉพาะในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
สำหรับผู้ชาย ควรตรวจร่างกายทั่วไป
- ตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน เอฟเอสเอช แอลเอช และเทสโทสเตอโรน ว่าเข้าสู่ภาวะพร่องฮอร์โมนจริง
- ตรวจขนาดของต่อมลูกหมาก โดยการใช้นิ้วคลำผ่านทางทวารหนักหรือตรวจด้วยอัลตราซาวด์ เพื่อดูว่าต่อมลูกหมากปกติดีหรือไม่
- เจาะเลือดดูระดับ PSA (Prostate Specific Antigen) เพื่อดูว่าไม่ได้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งควรมีค่าน้อยกว่า 4 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร
- ตรวจดูการทำงานของตับว่าปกติดี
- ตรวจความหนาแน่นของกระดูก ในกรณีที่จำเป็น

สำหรับบางคนที่เข้าสู่วัยทองโดยไม่มีอาการใดๆ ประกอบกับมีวิถีชีวิตที่ได้เปรียบกว่าคนอื่น เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นพืชผัก ผลไม้ และอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นมพร่องมันเนย ปลาเล็กปลาน้อย ฯลฯ ออกกำลังกายเป็นประจำ ได้รับวิตามินดีจากแสงแดด ยามเช้าและ ยามเย็นอย่างสม่ำเสมอ และตรวจความหนาแน่นของกระดูกแล้ว ไม่พบว่ากระดูกบาง หรือไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกบาง ก็ไม่จำเป็นต้องกินฮอร์โมนทดแทนหรือฮอร์โมนเสริม

อย่างไรก็ตาม หากกระดูกเริ่มบาง และอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก แม้ว่าจะตั้งหน้าตั้งตากินอาหารที่มีแคลเซียม ก็คงจะไม่ทันการณ์ หากตรวจร่างกายแล้วไม่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน ก็คงต้องหันมาพึ่งฮอร์โมนเพื่อสร้างความหนาของกระดูก ไม่เช่นนั้น กระดูกจะหักเสียก่อน กระดูกที่มักหักง่ายในวัยสูงอายุ คือกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ ข้อเท้า และกระดูกสะโพก

การรับฮอร์โมนเพื่อสร้างกระดูก ต้องใช้ติดต่อกันนาน 5-10 ปี เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด จึงควรเลือกฮอร์โมนที่ดีและปลอดภัยต่ออวัยวะอื่น เช่น เยื่อบุโพรงมดลูก เต้านม รวมทั้งหัวใจด้วย ที่สำคัญคือต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา อย่าหามาใช้เองหรือใช้ตามเพื่อน เพราะแต่ละคน จะมีปัญหาและการตอบสนองต่อฮอร์โมนที่ต่างกันไป

บางคนที่ไม่มีอาการของวัยทองมากนักอาจเลือกรับประทานพืชผักที่มีสารอาหาร ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง มีชื่อเรียกว่า ไฟโตเอสโตรเจน เพราะถึงแม้การใช้ฮอร์โมนทดแทนจะเป็นทางเลือกในอันดับแรกของหญิงวัยทอง แต่หลายคนก็ยังกังวลถึงผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนดังกล่าว สารไฟโตเอสโตรเจน ที่พบในอาหารมี 2 ชนิด คือ ไอโซฟลาโวน และลิกแนน

ผลการศึกษาพบว่า สารไฟโตเอสโตรเจนอาจช่วยลดอาการต่างๆ ในวัยหมดประจำเดือน ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจเพิ่มหรือรักษาเนื้อกระดูก และมีผลทำให้ผนังช่องคลอดชุ่มชื้นแข็งแรงได้บ้าง

อาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจนกลุ่มไอโซฟลาโวนสูง ได้แก่ ถั่วเหลือง ผักแว่น แครอท ส้ม แตงกวา พริกหวาน บล็อคโคลี่ มะเขือม่วง แอปเปิ้ล สตรอเบอรี่ ส่วนอาหารที่ให้ลิกแนนมาก ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วแดง เมล็ดทานตะวัน จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้างฟ่าง มันเทศ กะหล่ำดอก และต้นกระเทียม

แม้ว่ายังไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจนว่าไฟโตเอสโตรเจนได้ผลมากน้อยแค่ไหน แต่นักโภชนาการก็แนะนำให้รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช และถั่วต่างๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณไฟโตเอสโตรเจนให้ร่างกาย แต่ปริมาณที่แน่นอนในการรับประทานในแต่ละวันยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้

วัยทองไม่ใช่โรค ดังนั้นหากจะถามว่าฮอร์โมนทดแทน..จำเป็นหรือไม่ คงต้องตอบว่าไม่จำเป็น หลายคนอยู่ในวัยทองได้อย่างมีความสุข เพราะรู้วิธีจัดการกับอาการผิดปกติต่างๆ โดยไม่ต้องพึ่งฮอร์โมนทดแทน

แต่สำหรับบางคนที่เลือกจะรับฮอร์โมน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับข้อมูลให้รอบด้าน ไม่เฉพาะแต่ข้อดีของฮอร์โมนทดแทนเท่านั้น แต่ต้องรู้ถึงผลข้างเคียงด้วย เช่นเดียวกับฮอร์โมนเสริมสำหรับเพศชาย

ปัจจุบัน ฮอร์โมนเพศชายเสริมมีหลายรูปแบบ เช่น

- แบบฉีด ใช้ฉีดทุก 2-3 สัปดาห์ แบบนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะต้องเจ็บตัวและทำให้ระดับฮอร์โมนในเลือดไม่สม่ำเสมอ

- แบบแผ่นปิดผิวหนัง ใช้ปิดบริเวณถุงอัณฑะหรือสะโพก หนึ่งแผ่นสามารถใช้ได้ 1-2 วัน ข้อเสียคือมักพบอาการระคายเคืองบริเวณที่ปิดยา

- แบบรับประทาน แบบนี้ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากสะดวกและสามารถปรับขนาดยาได้ตามความต้องการของร่างกาย อย่างไรก็ตาม ควรเลือกใช้ชนิดที่ไม่เป็นอันตรายต่อตับและสามารถออกฤทธิ์ได้ทันที

- แบบฝังในกล้ามเนื้อ เป็นแบบที่กำลังมีการพัฒนา เพื่อให้สามารถใช้ได้นานและสะดวกขึ้น

สำหรับฮอร์โมนทดแทนของหญิงวัยทองก็มีหลายรูปแบบเช่นกัน ชนิดรับประทานเป็นที่นิยมมากที่สุด นอกจากนั้นยังมีชนิดครีมใส่ช่องคลอด ชนิดครีมหรือเจลทาผิว และชนิดแผ่นแปะผิวหนัง

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะฮอร์โมนทดแทนชนิดรับประทาน ซึ่งจะเลือกใช้แบบใดขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ดังนี้

- สตรีที่ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้งสองข้างแล้ว นิยมให้ฮอร์โมนที่เป็นเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว

- สตรีที่ยังมีมดลูกอยู่ จะต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนรวม ซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เพื่อป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ การใช้ฮอร์โมนแบบนี้มีวิธีการใช้ได้หลายแบบ ในระยะ 6-12 เดือนแรก อาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอย อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลง เมื่อร่างกายปรับตัวได้ดีขึ้น

ฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม แต่ถ้ามีเซลล์มะเร็งอยู่แล้ว เอสโตรเจนจะเป็นตัวส่งเสริมให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต ดังนั้นก่อนใช้ฮอร์โมนทดแทน ต้องตรวจร่างกายก่อนเสมอ

ผู้ที่กำลังเป็นหรือเคยเป็นโรคต่อไปนี้ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งที่เยื่อบุโพรงมดลูก เลือดออกในสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเลือด และโรคตับ ไม่ควรใช้ฮอร์โมนทดแทน หรือหากจำเป็นต้องใช้ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

ฮอร์โมนทดแทนที่ดีควรมีคุณสมบัติเหมือนธรรมชาติมากที่สุด พบอาการข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนน้อย มีความปลอดภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การใช้ฮอร์โมนควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ที่มีความชำนาญ มีการให้คำแนะนำปรึกษาและติดตามผลเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ

ฮอร์โมนทดแทนมีทั้งผลดีและผลเสีย ควรพิจารณาข้อบ่งชี้และเลือกใช้อย่างเหมาะสมเป็นรายๆ ไป โดยอาศัยหลักฐานจากการศึกษาวิจัยที่เชื่อถือได้ และจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ผลิตยาหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ และควรติดตามการศึกษาต่างๆ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ข้อดีของฮอร์โมนทดแทนที่มีหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุนชัดเจน ได้แก่ ลดอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืน อาการที่เกิดจากการเสื่อมของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ การป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในวัยทอง ส่วนการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ยังไม่พบประโยชน์ของฮอร์โมนทดแทนอย่างชัดเจน

ชมรมวิชาการทางสตรีวัยหมดระดูแห่งประเทศไทยได้ให้ข้อเสนอแนะในการใช้ฮอร์โมนทดแทนว่า ควรมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น การรักษาอาการในวัยทอง การป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในรายที่มีความเสี่ยงสูง และต้องพิจารณาถึงข้อห้ามใช้ต่างๆ ควรใช้ในขนาดต่ำสุดที่ยังคงประสิทธิภาพและประสิทธิผล และใช้ในระยะสั้น หากจะใช้ระยะยาว ควรทบทวนถึงประโยชน์และความเสี่ยงในการใช้ โดยเฉพาะภายหลัง ใช้มา 4-5 ปี นอกจากนั้นผู้ใช้ควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงจากการใช้ และเป็นผู้ร่วมพิจารณาในการเลือกใช้ฮอร์โมนทดแทน

ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพในวัยทอง ฮอร์โมนทดแทน และผลการรักษา มักเป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งมีอุบัติการณ์และความรุนแรงของปัญหาแตกต่างกัน เช่น อาการร้อนวูบวาบจะพบในคนเอเชียน้อยกว่ายุโรป อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ในยุโรปและอเมริกาจะพบได้มากกว่าทางเอเชีย และปัญหากระดูกหักซึ่งเกิดจากโรคกระดูกพรุน ทางตะวันตกก็จะพบได้มากกว่าทางเอเชีย

นอกจากนี้ การดำเนินชีวิต ภาวะโภชนาการ น้ำหนักตัว และปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือดที่แตกต่างกัน ก็มีผลต่อการพิจารณาวิธีการรักษาและป้องกัน ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการศึกษาวิจัยที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยจริงๆ

ไม่ว่าคุณจะใช้ฮอร์โมนทดแทนหรือไม่ สิ่งสำคัญอยู่ที่การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะพืชผักผลไม้และธัญพืชที่มีกากใย ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ ลดเนื้อสัตว์ที่ย่อยยากและอาหารไขมันสูง เพิ่มอาหารที่มีแคลเซียม งดสูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุรา

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสมกับวัย เพื่อให้เลือดไหลเวียนดี และทำให้กระดูกหนาตัว โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก

พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับให้เป็นเวลา จะทำให้ระบบการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงและชายดีขึ้น โอกาสเกิดภาวะการขาดฮอร์โมนเพศลดลง

และที่สำคัญก็คือ ทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ เพียงเท่านี้คุณก็จะเป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในวัยทองได้อย่างเป็นสุขค่ะ

Source : ผู้จัดการออนไลน์ - เอมอร คชเสนี