สินเชื่อ

ความหมายและลักษณะของสินเชื่อ

ในทางเศรษฐศาสตร์มองว่าหน่วยเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจนั้น อาจมีลักษณะการใช้ทรัพยากรที่ไม่สมดุลกันกล่าวคือ บางหน่วยเศรษฐกิจอาจมีความ ต้องการ ใช้สินค้าและบริการที่มากกว่าทรัพยากรที่ตนมีอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่บางหน่วยเศรษฐกิจอาจมีทรัพยากรเหลือใช้เกินความต้องการ ดังนั้นหาก มีการโอนทรัพยากรส่วนที่เหลือใช้นำไปให้ผู้ที่มีความต้องการใช้ทรัพยากร และก่อให้เกิดประโยชน์ได้ โดยตกลงว่าจะมีการชำระคืนแก่เจ้าของเดิมในอนาคต การจัดสรรการใช้ทรัพยากรในระบบเศรษฐกิ จก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในทางกฎหมายอาจเรียกหน่วยเศรษฐกิจ ที่เป็นผู้รับทรัพยากรนั้นว่า ลูกหนี้ ซึ่งมีภาระหนี้สินเกิดขึ้น และเรียกหน่วยเศรษฐกิจที่เป็นผู้ให้ยืมทรัพยากรนั้นว่า เป็นเจ้าหนี้ หรือเป็นผู้ให้สินเชื่อนั่นเอง ดังนั้น สินเชื่อ จึงหมายถึง อำนาจในการเข้าถึงการใช้สินค้าและบริการ โดยสัญญาว่าจะชดใช้คืนในอนาคต โดยสินเชื่ออาจอยู่ในรูปของสินค้าและบริการ หรืออยู่ในรูปของเงินก็ได้ เช่น การขอยืมข้าวสารจากเพื่อนบ้านมาบริโภคและหามาคืนในภายหลัง หรือการได้รับสินเชื่อเป็นเงินสด หรือบัญชีกระแสรายวัน จากธนาคารพาณิชย์ โดยมีข้อตกลงที่จะชำระคืนในอนาคตตามที่ตกลงกัน เป็นต้น

ภาพรวมของการเกิดขึ้นของสินเชื่อและความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจโดยภาคการเงิน เป็นส่วนส่งเสริม ให้เกิดการใช้ทรัพยากรในภาคเศรษฐกิจจริง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มจากการที่หน่วยเศรษฐกิจที่มีรายได้มากกว่า ความต้องการใช้จ่าย ทำให้เกิดส่วนรั่วไหลจาก ระบบเศรษฐกิจกลายเป็น การออมเงินในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ออมผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ หรือการออมผ่านตราสารทางการเงินอันได้แก่ตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ จากนั้น หน่วยเศรษฐกิจ ที่มีความต้องการใช้จ่ายมากกว่าทรัพยากรที่ตนมีอยู่ ก็จะขอกู้ หรือขอสินเชื่อจากหน่วยเศรษฐกิจที่ออมเงิน โดยมีอัตราดอกเบี้ย เป็นราคาของทุน ในการที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้การจัดสรรทรัพยากร จากผู้ออมไปสู่ผู้กู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้กู้นั้นไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล (เช่น การขาดดุลงบประมาณ) หรือเอกชนก็แล้วแต่ จะนำสินเชื่อเหล่านี้ ไปใช้จ่ายซึ่งเป็นการอัดฉีดเงินที่รั่วไหลกลับเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริงอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เรามักพบว่าโดยปกติสินเชื่อส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรูปของการได้รับสินเชื่อจาก ระบบสถาบันการเงินเพื่อการลงทุนในกิจการเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ ในที่นี้จึงจะได้กล่าวถึงลักษณะของอุปสงค์และอุปทานของสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ดังนี้

1. อุปสงค์ต่อสินเชื่อ สินเชื่อจากสถาบันการเงินอาจอยู่ในรูปของสินเชื่อเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น เพื่อการบริโภคและเพื่อการลงทุน เป็นต้น และอาจเป็นอุปสงค์ที่มาจากภาครัฐ หรือภาคเอกชนก็ได้ โดยสินเชื่อแต่ละประเภทย่อมมีลักษณะ หรือปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์แตกต่างกันไป เช่น หากเป็นอุปสงค์ต่อสินเชื่อจากภาครัฐอาจไม่ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย หรือกลไกตลาด แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ เป็นต้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วสินเชื่อจากสถาบันการเงินมักเป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุนจากภาคเอกชนซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด ดังนั้นการศึกษาอุปสงค์ต่อสินเชื่อจึงมักคำนึงถึงอุปสงค์ต่อการลงทุนของภาคเอกชนเป็นอันดับแรก โดยอุปสงค์ต่อการลงทุนนั้นหมายถึง ความเต็มใจ หรือความต้องการที่จะลงทุนของผู้ลงทุน ซึ่งในที่นี้จะขออธิบายถึงหลักการเบื้องต้นของอุปสงค์ต่อลงทุน ดังนี้

โดยปกติแล้วการลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทน จะเห็นได้ว่าหากนักลงทุนมีโครงการลงทุนที่เป็นไปได้อยู่ 4 โครงการ และเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่ระดับ i1 นักลงทุนย่อมเลือกกู้เงินเพื่อลงทุนเฉพาะโครงการที่ 1 เท่านั้น เพราะหากลงทุนในโครงการที่อัตราผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยก็จะขาดทุน แต่หากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สถาบันการเงินเสนอให้อยู่ที่ระดับ i2 เท่ากันสำหรับทุกโครงการ ผู้ลงทุนก็อาจกู้เงินเพื่อลงทุนได้ถึง 3 โครงการ หมายความว่าถ้าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ความต้องการในการขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนก็จะน้อย แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยตลาดต่ำลงก็จะมีความต้องการ หรืออุปสงค์ต่อการกู้เงิน หรือขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนมาก ดังนั้น หากกำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ราคาปัจจัยการผลิตมีค่าคงที่แล้ว เส้นอัตราผลตอบแทนดังกล่าวก็คืออุปสงค์ต่อการลงทุนของนักลงทุนนั่นเอง ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เรียกเส้นอุปสงค์ต่อการลงทุนนี้ว่า Marginal Efficiency of Capital (MEC) ;

อย่างไรก็ตาม ควรตระหนักว่าการจัดหาเงินทุนเพื่อลงทุนของภาคเอกชนนั้น มิได้มาจากการขอสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากแหล่งอื่น ๆ เช่น การออกหุ้นสามัญ การออกหุ้นกู้เองโดยตรง การใช้กำไรที่ยังไม่ได้จ่ายเป็นเงินปันผลและค่าเสื่อมราคา ก็ได้ ซึ่งการระดมเงินทุนจากแหล่งอื่น ๆ เหล่านี้สามารถทดแทนการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ อาจมีผลให้อุปสงค์ต่อสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อการลงทุนลดลง

2. อุปทานของสินเชื่อหมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเงินที่จะให้กู้และอัตราผลตอบแทน หรืออัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินจะได้รับ ทั้งนี้ สถาบันการเงินต้องคำนึงถึงต้นทุนของตนตั้งแต่ต้นทุนในการระดมทุนเช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ตลอดจนต้นทุนในการดำเนินการต่าง ๆ โดยทั่วไปมักนึกถึงปริมาณเงินที่สถาบันการเงินสามารถระดมทุนเข้ามาได้ เช่น ปริมาณเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนที่จะนำไปให้ลูกค้าของสถาบันการเงิน เช่น นักลงทุน มาขอกู้ และตามทฤษฎีแล้วประชาชนก็อาจมีความต้องการฝากเงินมากขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้น และฝากเงินน้อนลงหากอัตราดอกเบี้ยลดลง เส้นอุปทานจึงเป็นเส้นที่มีความชันเป็นบวก

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงสินเชื่อเพื่อการลงทุนซึ่งกู้ยืมจากสถาบันการเงินเนื่องจากเป็นธุรกรรมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น แต่ก็เป็นที่ทราบว่าการให้สินเชื่อมิได้มีเฉพาะเพื่อการลงทุนของภาคเอกชนเท่านั้น หากแต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอุปสงค์และอุปทานของสินเชื่อสำหรับสถาบันการเงินในภาพกว้างออกไป เช่น

ในด้านอุปสงค์ต่อสินเชื่อ สำหรับภาคครัวเรือน อาจมีความต้องการสินเชื่อเพื่อการบริโภคโดยกู้ยืมจากสถาบันการเงินในรูปของสินเชื่อบุคคล หรือสินเชื่อบัตรเครดิต สำหรับภาครัฐบาลอาจกู้เงินจากภาคเอกชนในยามขาดดุลการคลังโดยการที่สถาบันการเงินต่าง ๆ ให้รัฐบาลกู้เงินผ่านการประมูลพันธบัตรรัฐบาล เว้นแต่หากรัฐบาลมีทรัพยากรเหลือสะสมอยู่จากการเกินดุลการคลังในอดีตก็สามารถนำมาใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องเข้าไปเพิ่มอุปสงค์ต่อสินเชื่อ เพื่อแย่งชิงทรัพยากรกับภาคเอกชน

ในด้านอุปทานของสินเชื่อ อาจพิจารณาจากอุปสงค์ต่อเงิน ซึ่งกระทบกับอุปทานของสินเชื่อในทางผกผัน กล่าวคือหากอุปสงค์ต่อเงินเพิ่มขึ้นอุปทานของสินเชื่อซึ่งอาจเป็นเงินออมที่ฝากธนาคาร หรือการซื้อตราสารหนี้ย่อมลดลง นอกจากนี้ การใช้นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเพื่ม หรือลดปริมาณเงินในระบบผ่านการซื้อขายพันธบัตร หรือที่เรียกว่า Open Market Operation ก็มีผลกระทบต่ออุปทานของสินเชื่อเช่นกัน สำหรับภาคต่างประเทศ หากชาวต่างชาตินำเงินเข้ามาปล่อยกู้ในประเทศ หรือมาลงทุนในตราสารหนี้ก็ย่อมเป็นการเพิ่มอุปทานของสินเชื่ออีกทางหนึ่ง

โดยสรุปคือ การให้สินเชื่อจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้กู้มีความต้องการในการกู้และผู้ให้กู้ซึ่งมีเงินมากพอต่อความต้องการของผู้กู้พิจารณาอย่างมีเหตุมีผลแล้วว่าสมควรให้กู้ ธุรกรรมจึงเกิดขึ้น