ทำไมคนเก่งจึงไม่ประสบความสำเร็จ

ทำไมคนเก่งจึงไม่ประสบความสำเร็จ

บทความที่นำเสนอสรุปประเด็นจากหนังสือเรื่อง Talent Is Never Enough แต่งโดย John C. Maxwell

ผู้แต่งเชื่อว่า พรสวรรค์และสติปัญญาเพียงอย่างเดียวนั้น ยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ แต่จะต้องมีปัจจัยอื่นอีก 13 ประการ

มีความเชื่อมั่นและศรัทธาในศักยภาพของตัวเอง (Belief)

คนที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีความเชื่อมั่นว่า ตนเองมีความสามารถที่จะทำสิ่งเหล่านั้นได้อย่างแน่นอน

มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า (Passion)

พลังแห่งความมุ่งมั่นในที่นี้แห่งคือ การที่เรามุ่งมั่นว่า เราจะต้องทำในสิ่งที่เราปรารถนา ให้ประสบความสำเร็จให้จงได้ และเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และแม้ว่าจะเจออุปสรรคขวางกั้นสักแค่ไหน ก็ไม่ยอมแพ้โดยเด็ดขาด ผู้แต่งเชื่อว่า คนที่มีสติปัญญาไม่สูงมากนัก แต่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ย่อมสามารถเอาชนะคนที่มีสติปัญญาสูงแต่เหงาหงอยหรือเบื่อหน่าย (A passionate person with limited talent will outperform a passive person who possesses a greatest talent.) เมื่อเรามีความมุ่งมั่นมาจากข้างใน จะทำให้กิริยาท่าทาง คำพูด และการกระทำเต็มไปด้วยพลัง คำพูดจะน่าเชื่อถือ ผู้ฟังจะเกิดกำลังใจ มีความกระตือรือร้น และเต็มใจให้ความ ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม คนที่มีความมุ่งมั่นจะต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังในสิ่งที่ตนเองจะลงมือกระทำด้วย เพื่อช่วยให้ไม่หลงทางและเสียเวลาไปโดยใช้เหตุ

มีจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Initiative)

การสร้างจินตนาการนั้นแตกต่างจากการฝันกลางวันตรงที่ว่า การจินตนาการจะต้องมีการลงมือกระทำด้วยเสมอ แต่การฝันกลางวันคือ การวาดภาพในอากาศ แต่ไม่เคยมีการลงมือกระทำ ใด ๆ เลย ผู้แต่งเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นเพียงการรอคอยปัจจัยภายนอก ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาชั่วชีวิต ก็เป็นได้ในการรอคอยให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้น ในทางกลับกัน การพยายามริเริ่มความคิดที่สร้างสรรค์จะช่วยพัฒนาสติปัญญาและช่วยให้สิ่งต่าง ๆ ที่เราวาดฝันไว้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

มีสมาธิ

สมาธิคือ การจดจ่อกับการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเสร็จแล้วจึงค่อยเปลี่ยนไปทำสิ่งอื่น โดยในระหว่างที่ลงมือกระทำจะต้องไม่คิดเรื่องอื่น ไม่คิดถึงเรื่องอดีต และต้องไม่กังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ผู้แต่งกล่าวว่า สมาธิจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเกิดความกระตือรือร้น และมุ่งมั่นใน การทำสิ่งต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จ เพราะคนที่มีสมาธิจะไม่หัวเสียไปกลับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่จิตจะพุ่งไปสู่การเป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การมีสมาธิเพียงอย่างเดียวบางครั้งอาจจะเป็นการพยายามที่ผิดทางก็เป็นได้ จึงจำเป็นจะต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา โดยการหมั่นถามตนเองว่า ขณะนี้เรากำลังทำสิ่งใด ทำไปเพื่ออะไร ตรงประเด็นหรือไม่ เราอยู่ห่างจากเป้าหมายมากน้อยเพียงใด และเราจะต้องทำสิ่งใดอีกบ้างเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าว

มีการเตรียมตัว (Preparation)

การเตรียมตัวนั้นถือว่า เป็นการให้เกียรติคนฟัง เช่น ในกรณีที่เราจะต้องนำเสนอโครงงานให้เพื่อนร่วมงานฟัง เราควรเตรียมตัวไปล่วงหน้า ถึงแม้ว่าเราจะเคยนำเสนอโครงงานนี้มาแล้วก็ตามที เพราะในการนำเสนอแต่ละครั้งสถานการณ์ย่อมเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในแง่ของกลุ่มผู้ฟัง ตัวผู้พูดเอง และสถานการณ์รอบข้างที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เราจึงไม่ควรประมาท ควรเตรียมตัวก่อนล่วงหน้าทุกครั้ง ทั้งในเรื่องการนำเสนอและการเจรจาทางธุรกิจ เป็นต้น

มีการฝึกฝน (Practice)

การฝึกฝนจะช่วยให้เรามีสติปัญญาที่ลุ่มลึกมากขึ้น และรู้จักตัวเองมากขึ้น เช่น เราถนัดทำงานในช่วงใดของวัน ในสภาพแวดล้อมแบบใด หรือเราชอบมอบหมายงานให้ลูกน้องแบบใด เป็นต้น

มีความมานะบากบั่นพากเพียร (Perseverance)

ผู้แต่งได้ยกตัวอย่างของวอลท์ ดิสนีย์ เพราะถึงแม้ว่าเขาจะต้องเพียรพยายามในการขอเงินกู้มากกว่าสามร้อยครั้งเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการสร้างดิสนีย์แลนด์แห่งแรกในลอสแองเจลลิส แต่เขาก็ไม่ย่อท้อเพราะเขาเชื่อว่า สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เขาล้มเลิกความพยายามได้ก็คือ ความสำเร็จจาก การที่เขาพยายามทำสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง

มีจิตใจเข้มแข็งและกล้าหาญ (Courage)

ความกล้าหาญในที่นี้คือ ความกล้าที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ทั้งความสมหวังและความผิดหวัง เป็นต้น

มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา (Teachability)

คนที่ประสบความสำเร็จจะมีจิตใจที่เปิดกว้างและคิดอยู่เสมอว่าตนเองนั้นมีความรู้เพียงน้อยนิด จำเป็นจะต้องค้นคว้าและเปิดใจยอมรับ ความรู้ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาเขาเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จมากมายแค่ไหนก็ตาม

มีลักษณะนิสัยที่ดี (Character)

บุคลิกลักษณะในที่นี้คือ ในสายตาของผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง เราเป็นคนอย่างไร ฉะนั้น หากอยากจะประสบความสำเร็จ เราจะต้องพยายามปรับตัวและทำตัวเป็นคนดี นิสัยเดิมของเราจะเป็นอย่างไรก็ตาม หากเป็นนิสัยที่ไม่ดี ขัดต่อศีลธรรมจรรยา เราก็ต้องพยายามแก้ไขเพราะไม่มีคนใดที่อยากจะทำงานกับคนที่มีนิสัยที่ไม่ดี เช่น นิสัยพูดจาขวานผ่าซาก พูดจาเสียดสีนินทาว่าร้ายผู้อื่น หรือทำอะไรไม่รู้จักกาลเทศะ เป็นต้น นอกจากนั้น โดยทั่วไปแล้วมนุษย์มักเลือกที่จะจดจำนิสัยที่ไม่ดีของผู้อื่นมากกว่านิสัยที่ดี ฉะนั้น ผู้แต่งจึงแนะนำว่า ภาพพจน์และชื่อเสียงนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องรักษาไว้ดั่งชีวิต เพราะพลาดครั้งเดียวเท่ากับทำลายภาพพจน์ที่ดีที่เคยสั่งสมมา ให้หายไปได้ภายในพริบตาเดียว

มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง

การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างนั้น ตัวเราเองจะต้องเป็นคนพยายามปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น มีน้ำใจ และพยายามอะลุ้มอล่วย ในสิ่งที่พอจะ ทำได้ โดยจะต้องไม่ขัดต่อหลักการความถูกต้อง นอกจากนั้น เราควรเลือกบุคคลที่จะคบหาสมาคมด้วย เพราะอารมณ์ ความคิด คำพูด และการกระทำของคนรอบข้างจะต้องกระทบเราอย่างหลีกเลี่ยงเสียไม่ได้ ฉะนั้น การเลือกคบคนไม่ควรตัดสินจากคำพูด รูปลักษณ์ภายนอก หรือการกระทำเพียงผิวเผินของฝ่ายตรงข้าม แต่วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การสังเกตดูจากคนรอบข้างของคน ๆ นั้น เพราะสิ่งที่เหมือนกันย่อมดึงดูดกัน เช่น คนที่ซื่อสัตย์ย่อมทนไม่ได้ที่จะอยู่ร่วมกับคนที่โกง หลังจากใช้เวลาในการสังเกตในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อจะต้องมีการปฏิสัมพันธ์โดยตรง กับคน ๆ นั้น ให้ใช้ความรู้สึกไปทาบว่า เรารู้สึกอย่างไรเมื่ออยู่ใกล้คน ๆ นี้ อึดอัดหรือสบายใจ และที่สำคัญคือ ความรู้สึกจะไม่มีเหตุผลจาก ปัจจัยภายนอกเข้าไปเกี่ยวข้องเช่น เพราะเขาหน้าตาดี มีฐานะดี หรือมีความสามารถเราจึงอยู่ด้วยแล้วสบายใจ เหล่านี้มิใช่ความรู้สึกแต่เป็น ความคิดที่ไม่สามารถเชื่อถือได้

มีความรับผิดชอบ (Responsibility)

เมื่อเกิดปัญหาจะต้องไม่โยนความผิดให้ผู้อื่นไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม

มีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Teamwork)

การทำงานให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยบุคคลที่มีความสามารถในหลาย ๆ ด้านเข้ามาช่วยกันระดมสมอง เพื่อขยายขอบเขตของ จินตนาการออกไปให้กว้างไกลมากขึ้น ฉะนั้น คนที่จะประสบความสำเร็จได้จะต้องสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และจะต้องเน้นเรื่องงาน เป็นหลักมากกว่าเรื่องส่วนตัว