ยุทธวิธีการแข่งขัน

บทสรุปย่อ ยุทธวิธีการแข่งขัน (Competitive Strategy) โดย Michael E. Porter

บทที่ 1 กลยุทธ์ทางธรุกิจ

กลยุทธ์ (Strategy) ในทางเศรษฐกิจ หมายถึง วิถีทางหรือแนวทางที่ถุกกำหนดขึ้นเพื่อ การระดมและจัดสรรการใช้ทรัพยากร ของประเทศ ในอันที่จะช่วยให้บรรลุถึงซึ่งเป้าหมายทางเศรษฐกิจ

ในทางธุรกิจปัจจุบัน หมายถึง กระบวนการในการกำหนดเป้าหมายที่แน่ชัดของธุรกิจทั้งใน ระยะสั้นและระยะยาว การสร้างหรือพัฒนา วิถีทางในทางปฏิบัติ ตลอดจนการระดมแลจัดสรรทรัพยากรขององค์การธุรกิจ เพื่อให้สามารถบรรลุถึงซึ่งเป้าหมาย ที่ได้ถูกกำหนดไว้ อย่างมีประสิทธิผล

 โดยทั่วไปความหมายของกลยุทธ์ประกอบด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ เป้าหมายหรือ วัตถุประสงค์ที่ต้องการจะบรรลุถึง และการกำหนดแนวทาง หรือวิธีการในทางปฎิบัติ

 การพัฒนากลยุทธ์ในองค์กร ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนใหญ่ คือ การสร้างกลยุทธ์ (strategy formation) และการนำกลยุทธ์ไปใช้ในทางปฏิบัติ (strategy implementation)

 การสร้างกลยุทธ์ (strategy formation) เป็นกระบวนการต่อเนื่องประกอบด้วย 
(1) การประเมินจุดอ่อน-จุดแข็งขององค์กร (2) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมเพื่อกำหนดโอกาสธุรกิจ-ความเสี่ยง (3) การประเมินทัศนคติ ค่านิยมและความเชื่อมั่นของผู้นำในองค์กร และ(4) การตระหนักถึงข้อจำกัดทางสังคมและกฎหมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการประเมินวิเคราะห์ในองค์ประกอบ (1) และ (3) เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายในองค์กร ในขณะที่ (2) และ (4) เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกองค์กร

 การนำกลยุทธ์ไปใช้ในทางปฏิบัติ (strategy implementation) จะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการบริหารขององค์กร เช่น การจัดสรรและระดมทรัพยากรไปใช้ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่วางไว้ การแบ่งและจัดสรรงาน โครงสร้างองค์กรภายในการควบคุม และวัดประสิทธิผลของการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ

 การประเมินว่ากลยุทธ์ที่พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสมต่อองค์กรหรือไม่มีหลักเกณฑ์กว้างๆ 10 ประการดังนี้

    1. ความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้ง
    2. แผนปฏิบัติการครอบคลุม สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้ง และสนับสนุนซึ่งกันและกัน
    3. กลยุทธ์เหมาะสมกับโอกาส (opportunity) ที่มี
    4. กลยุทธ์เหมาะสมกับความเสี่ยง (threat) ที่มี หรือคุ้มกับโอกาสการทำกำไร
    5. เป้าหมายและแผนปฏิบัติงาน เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในขณะนั้น
    6. เป้าหมายและแผนปฏิบัติงาน เหมาะสมกับกำลังและความสามารถ
    7. เป้าหมายและแผนปฏิบัติงาน สอดคล้องกับจุดเด่นขององค์กร
    8. เป้าหมายและแผนปฏิบัติงาน สอดคล้องกับทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อของผู้นำองค์กร
    9. ผู้นำกลยุทธ์ไปปฏิบัติมีความเข้าใจเป้าหมายและแผนปฏิบัติงานอย่างถ่องแท้
    10. ความสามารถขององค์กรในการบริหารจัดการที่จะนำกลยุทธ์ไปใช้อย่าง มีประสิทธิภาพ

บทที่ 2 วิเคราะห์การแข่งขันในอุตสาหกรรมและพลังผลักดันการแข่งขัน

 การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมโดยละเอียดดังที่กล่าวเบื้องต้น เป็นเรื่องที่ทำได้โดยยาก องค์กรธุรกิจจึงหันมาวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด และมีผลกระทบต่อองค์กรมาก คือ การวิเคราะห์การแข่งขันในระดับอุตสาหกรรมที่องค์กร ทำการแข่งขันอยู่ ซึ่งจะระกอบด้วยพลังผลักดันการแข่งขัน (competitive forces) 5 ประการ ประกอบด้วย

    1. ภัยคุกคามจากผู้ลงทุน(ผู้บุกรุก)หน้าใหม่
    2. อำนาจต่อรองของผู้ซื้อ
    3. อำนาจต่อรองของผู้ขายปัจจัยการผลิต
    4. ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน
    5. ความรุนแรงของการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตที่มีอยู่ในอุตสาหกรรม

ปัจจัยทั้ง 5 จะเป็นตัวกำหนดความรุนแรงในการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ จะเป็นตัวกำหนดความสามารถ หรือศักยภาพในการทำกำไร (profit potential) ขององค์กรธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมซีเมนต์ พลังผลักดันทั้ง 5 ค่อนข้างอ่อนเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด มีค่อนข้างสูง การเข้าใจในกระแสผลักดันทั้ง 5 จะเป็นกุญแจในการพัฒนากลยุทธ์ที่มีประสิทธิผล

บทที่ 3 ภัยจากผู้บุกรุกหน้าใหม่

การบุกรุกเข้ามาในอุตสาหกรรมโดยนักลงทุนหน้าใหม่ มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะเข้ามายึดครองส่วนแบ่งตลาด ซึ่งระดับของภัยของการบุกรุก จากนักลงทุนหน้าใหม่ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการคือ

(1) entry barrier ที่มีอยู่ในอุตสาหกรรม และ (2) ปฏิกิริยาตอบโตจากผู้ประกอบการเดิมที่คาดว่าจะได้รับ (expected retaliation)

 Entry barrier ประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น 
(1) Cost barrier จากการประหยัดจากขนาด (economy of scale) ทำให้ผู้ประกอบเดิมที่มีการผลิตมากมีต้นทุนการผลิตต่ำ หรือจากการรวมตัวในแนวตั้งทำให้ผู้ผลิตเดิมควบคุมวัตถุดิบได้ดีกว่า หรือจากการประหยัดจากประสบการณ์ (learning curve effect) ทำให้ผู้ประกอบการเดิมมีการผลิต บริหารจัดการ ที่มีประสิทธิภาพกว่า 
(2) Image and loyalty barrier ทำให้ลูกค้ามีภาพพจน์ที่ดีต่อผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ในอุตสาหกรรม เช่น IBM มีชื่อเสียงด้านคุณภาพ Mercedes Benz มีภาพพจน์แสดงถึงอภิสิทธิ์ชน 
(3) Capital Barrier ทำให้ผู้ประกอบการใหม่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล เช่น ต้องทำ R&D หรือผลิตด้วยเทคโนโลยีที่แพง

 นอกจาก barrier ทั้ง 3 แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ผู้ประกอบการเดิมผูกขาดเทคโนโลยีการผลิต หรือครอบครองวัตถุดิบสำคัญเกือบทั้งหมด ครอบครองช่องทางจำหน่ายส่วนใหญ่ หรือ อยู่ในทำเลที่ดี

 การคาดคะเนปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้ประกอบการเดิมในตลาด มีส่วนสำคัญในความสำเร็จของการตั้งธุรกิจใหม่ ในบางอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการเดิม อาจจะละเลยการตอบโต้ ซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับ ศักยภาพของผู้ประกอบการเดิม และอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรม ถ้าอยู่ในจุดอิ่มอาจถูกตอบโต้อย่างรุนแรงได้

บทที่ 4 สงครามการแข่งขัน

การเข้าใจความรุนแรงของการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตที่มีอยู่ในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของพลังผลักดันการแข่งขัน จะทำให้องค์กรสามารถเตรียมหากลยุทธ์เพื่อรองรับการแข่งขันได้ ซึ่งความรุนแรงของการแข่งขัน จะประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ ดังนี้

    1. จำนวนผู้ผลิตในอุตสาหกรรม ยิ่งมากยิ่งรุนแรง
    2. ความเท่าเทียมกันด้านทรัพยากรและความสามารถเชิงแข่งขันของผู้ผลิต
    3. อัตราการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม
    4. ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ในสายตาลูกค้า (product differentiation)
    5. ความแตกต่างของผู้ผลิต
    6. Exit Barrier ขวากหนามในการถอนตัวจากอุตสาหกรรม

    แผนภาพแสดงความสามารถในการทำกำไรและความเสี่ยงจากการแข่งขัน

    Exit Barrier
    สูง ต่ำ
Entry Barrier  สูง ผลตอบแทนสูง 
ความเสี่ยงจากการแข่งขันสูง
ผลตอบแทนสูง

ความเสียงจากการแข่งขันต่ำ

ต่ำ ผลตอบแทนต่ำ

ความเสี่ยงจากการแข่งขันสูง

ผลตอบแทนต่ำ 
ความเสี่ยงจากการแข่งขันต่ำ

บทที่ 5 การวิเคราะห์คู่แข่งขัน

 หัวใจของกลยุทธ์การแข่งขัน คือการเอาชนะคู่แข่งขัน ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์คู่แข่งขันอย่างเป็นระบบโดยพิจารณาจาก (1)เป้าหมายในอนาคต ทั้งทางการเงินหรือว่าต้องการเป็นผู้นำตลาดหรือเทคโนโลยี
(2)ฐานคติ (assumptions) เกี่ยวกับบริษัทตนเองและแนวโน้มของอุตสาหกรรม ซึ่งข้อหนึ่ง และข้อสองเป็นการวิเคราะห์เพื่อให้ทราบถึง ปัจจัยใดที่เป็น แรงผลักดัน ในการดำเนินธุรกิจของคู่แข่ง
(3)กลยุทธ์ในปัจจุบัน และ
(4) ขีดความสามารถของคู่แข่งขันว่า มีจุดเด่นแลจุดอ่อนอย่างไร ซึ่งในสองข้อหลังเป็นการวิเคราะห์ขีดความสามารถ และความเคลื่อนไหวของคู่แข่ง

 เมื่อได้วิเคราะห์ เป้าหมาย ฐานคติ กลยุทธ์ในปัจจุบันและขีดความสามารถ ในการแข่งขันของคู่แข่งแล้ว องค์กรธุรกิจจะต้องคาดคะเนแนวทาง เคลื่อนไหวเชิงรุก และเชิงรับของคู่แข่ง โดยพิจารณาจาก
คู่แข่งพอใจกับฐานะของตนในปัจจุบันหรือไม่ คู่แข่งมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์เช่นใด คู่แข่งมีจุดอ่อนที่ใดบ้าง และสิ่งใดที่อาจยั่วยุคู่แข่งให้ตอบโต้อย่างรุนแรงและมีประสิทธิภาพที่สุด

บทที่ 6 สัญญาณการแข่งขันทางการตลาด 

 องค์กรธุรกิจจะต้องมีความพร้อมในการเข้าสู่สงครามการแข่งขัน ซึ่งจะอาศัยความสามารถในการสังเกตสัญญาณการแข่งขัน จากคู่แข่งซึ่ง อาจได้มาจากความบังเอิญ หรือเกิดจากความตั้งใจ ซึ่งสัญญาณการแข่งขันอาจมาในรูปแบบต่างๆ เช่น การประกาศ แนวทางการเคลื่อนไหว ทางกลยุทธ์จากคู่แข่ง การประกาศผลของการดำเนินการแข่งขันในอดีตของคู่แข่ง คำทำนายสภาวะอุตสาหกรรม โดยคู่แข่งสู่สาธารณชน คำวิจารณ์หรือคำอธิบายความเคลื่อนไหวของคู่แข่ง การตั้งราคา การตั้งงบโฆษณา การเพิ่มกำลังการผลิต การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายองค์กร การส่งผลิตภัณฑ์ประกบยี่ห้อของคู่แข่งขัน เป็นต้น


บทที่ 7 การเคลื่อนไหวเชิงยุทธ์เพื่อเผชิญการแข่งขัน

การเคลื่อนไหวเชิงรุก เป็นการใช้กำลังทรัพย์และกำลังความสามารถที่เหนือกว่า (สายป่านยาวกว่า) บังคับให้ผลการดำเนินงานของคู่แข่งขัน เบี่ยงเบนในแนวทางที่ต้องการ วิธีดังกล่าวจะก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย ดังนั้นจะต้องวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของคู่ต่อสู้ให้รอบครอบ

 การเคลื่อนไหวเชิงประนีประนอมและร่วมมือกับคู่แข่ง โดยหากลยุทธ์เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของตนโดยไม่กระเทือนต่อคู่แข่งขัน

 การเคลื่อนไหวที่แสดงออกถึงการคุกคาม ซึ่งหัวใจของความสำเร็จขึ้นอยู่กับการทำนายและการควบคุมป้องกันการตอบโต้จากคู่แข่งขันอย่าง รวดเร็วและมีประสิทธิผล

 การเคลื่อนไหวเชิงตั้งรับ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามการแข่งขันในทุกรูปแบบขึ้น เช่น ดำเนินกลยุทธ์ตอบโต้ด้วย ความเสมอต้นเสมอปลายเพื่อให้คู่แข่งขันตระหนักว่าจะถูกตอบโต้ หรือการตอบโต้เพื่อให้คู่แข่งขันวาง position ขององค์กรหรือ ผลิตภัณฑ์ได้ลำบาก จากการโจมตีทางการตลาด หรือเพิ่มค่าใช้จ่าย R&D


บทที่ 8 อำนาจแฝงแห่งผู้ซื้อและผู้ขายผลิตภัณฑ์แก่บริษัท (Output buyers และ Input Suppliers)

 อำนาจของผู้ซื้อให้แก่บริษัทสามารถสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าในอุตสาหกรรมนั้นได้ รวมทั้งอาจมีอำนาจต่อรองต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และบริการหลังการขายได้ ในขณะที่อำนาจของผู้ขายวัตถุดิบให้บริษัทจะมีผลต่อต้นทุนในการผลิต

 

ปัจจัยกำหนดอำนาจของผู้ซื้อประกอบด้วย

  1. จำนวนผู้ซื้อ 
  2. degree of product differentiation ถ้าสินค้าไม่มีความแตกต่างในสายตาผู้ซื้อ ผู้ซื้อย่อมสามารถเลือกซื้อจากผู้ผลิตใด ก็ได้ในอุตสาหกรรม 
  3. สินค้าที่ผลิตเป็นประเภทวัตถุดิบหรือกึ่งสำเร็จรูป ถ้าเป็นวัตถุดิบผู้ซื้ออาจมีอำนาจต่อรองลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนวัตถุดิบ อาจส่งผลต่อคุณภาพการผลิตได้
  4. มีความสามารถหรือมี ทรัพยากรเพียงพอที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการของผู้ผลิต
  5. ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์

 

ปัจจัยกำหนดอำนาจของผู้ขายวัตถุดิบ ประกอบด้วย

  1. จำนวนผู้ผลิต 
  2. ตลาดรองรับ วัตถุดิบมีมากกว่า 1 อุตสาหกรรม 
  3. ความสามารถในการทดแทนด้วยวัตถุดิบชนิดอื่น 
  4. วัตถุดิบเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต
  5. degree of product differentiation วัตถุดิบสามารถสร้างความแตกต่างในผลผลิต ผู้ขายวัตถุดิบจะมีอำนาจในการต่อรองสูง
  6. มีความสามารถหรือมี ทรัพยากรเพียงพอที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการของผู้ผลิต

บทที่ 9 กลยุทธ์ในการเผชิญกับ Output buyers และ Input Suppliers

การกำหนดกลุ่มผู้ซื้อหรือลูกค้าเป้าหมาย เป็นปัจจัยสำคัญในการวางกลยุทธ์ของบริษัท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งหลักเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพผู้ซื้อประกอบด้วย

  1. ความต้องการของผู้ซื้อในด้านต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าและความสามารถในการตอบสนองของบริษัท
  2. ศักยภาพในการเติบโตของผู้ซื้อ 
  3. อำนาจการต่อรองและปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าของผู้ซื้อ
  4. ค่าใช้จ่ายในการบริการผู้ซื้อ 

กลยุทธ์ในการซื้อวัตถุดิบ มีจุดมุ่งหมายที่จะหักล้างบ่อเกิดแห่งอำนาจของผู้ขายวัตถุดิบ เช่น การกระจายการซื้อวัตถุดิบไปท่ามกลายผู้ขายหลายๆ ราย สร้างแหล่งซื้อสินค้าใหม่ ส่งเสริมการสร้างมาตรฐานสินค้าวัตถุดิบเพื่อลด degree of product differentiation และการขยายขอบเขตธุรกิจ เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง เป็นต้น


บทที่ 10 การวิเคราะห์และกลยุทธ์ในการเผชิญภัยคุกครามจากสินค้าทดแทน

 

ลักษณะการเตรียมรับสถานการณ์ที่ใช้กันโดยทั่วไป ได้แก่

  1. การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ควบคู่กับการปรับปรุงด้านราคาเพื่อให้ คุณค่าของสินค้าเมื่อเปรียบเทียบกับราคา มีความได้เปรียบสินค้าทดแทน
  2. สร้างความผูกพันกับลูกค้าให้เกิด loyalty และรู้สึกว่าจะสูญเสียบางอย่างเมื่อใช้สินค้าทดแทน
  3. หันเหการแข่งขันไปในทิศทางที่หลีกเลี่ยงจุดแข็งของสินค้าทดแทน 
  4. การใช้เครื่องมือทางการตลาด อาทิ การโฆษณา การส่งเสริมการขาย 
  5. ในกรณีที่องค์กรธุรกิจตระหนักว่าสินค้าทดแทนจะมาแทนที่สินค้าเดิมในอนาคตอย่างแน่นอน องค์กรนั้นอาจหันเหทิศทางธุรกิจ เพื่อผลิตสินค้าทดแทน เช่น ค้นคว้าวิทยาการผลิตสินค้าทดแทน
  6. เข้าสู่อุตสาหกรรมทดแทนด้วยการเข้าซื้อกิจการ

 

บทที่ 11 แกนแห่งกลยุทธ์เพื่อเผชิญพลังผลักดันการแข่งขัน

 การพัฒนากลยุทธ์จะต้องอาศัยการเข้าใจพลังผลักดันการแข่งขัน 5 ประการดังที่กล่าวมาใน 10 บทข้างต้น อย่างไรก็ตาม จะมีแกนแห่งกลยุทธ์ 3 ประเภท ซึ่งนักธุรกิจสามารถนำไปใช้เป็นแกนนำในการพัฒนากลยุทธ์เพื่อเผชิญกับพลังแข่งขัน แกนแห่งกลยุทธ์ 3 ปะเภท ได้แก่

    1. กลยุทธ์การเป็นผู้นำด้านต้นทุน (cost leadership) ด้วยการใช้กลยุทธ์การตลาดเพื่อขยายยอดขายและส่วนแบ่งตลาด ลงทุนในเครื่องจักร เทคโนโลยีเพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การวางรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการผลิต การควบคุมต้นทุนอย่างเคร่งครัด และการหลีกเลี่ยงลูกค้าไม่สำคัญ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการใช้กลยุทธ์ผู้นำด้านต้นทุน อาจเกิดเนื่องมาจาก การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วทำให้เครื่องจักรที่ลงทุนไปล้าสมัย การลอกเลียนแบบการผลิตจากคู่แข่ง การละเลยการบริการลูกค้าอาจเป็นจุดอ่อนสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงภาวะทางเศรษฐกิจ
    2. การสร้าง product differentiation เช่น สร้างความโดดเด่นที่แสดงถึงฐานะของผู้ซื้อ ความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี ผู้นำด้านคุณภาพ ผู้นำการให้บริการ ผู้นำการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ และความเป็นผู้เห็นประโยชน์ของผู้บริโภคและสังคม
    3. กลยุทธ์จำกัดเขต (focus strategy) เป็นกลยุทธ์ที่นิยมในองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก โดยการจำกัดขอบเขตใน การดำเนินธุรกิจ ของตน เช่น จำกัดสายผลิตภัณฑ์ การจำกัดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การจำกัดขอบเขตตลาดในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง หรือจำกัดประเภทของช่องทางจำหน่าย การใช้กลยุทธ์จำกัดเขต บริษัทจะต้องเลือกส่วนของตลาด ที่มีศักยภาพใน การทำกำไรสูง มีความต้องการเฉพาะอย่างที่ยังไม่ได้รับ การตอบสนองจากผู้ผลิตรายอื่นๆ และสร้างความพอใจ และความผูกพันกับกลุ่มลูกค้า อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ดังกล่าว มีข้อพึงระวัง ได้แก่ ส่วนแบ่งตลาดที่แคบเกินไป อาจเป็นอันตรายในอนาคต เมื่อผู้แข่งขัน รายใหญ่ เริ่มตระหนักถึง การสูญเสียส่วนแบ่งตลาด ส่วนนี้ หรือ ความต้องการเฉพาะอย่าง ของลูกค้าได้ถูกละเลย จากคู่แข่งขันขนาดใหญ่กว่า มิฉะนั้นการใช้กลยุทธ์ดังกล่าว อาจทำให้บริษัทเสียเปรียบ เมื่อคู่แข่งขันขนาดใหญ่ เข้ามาดำเนินการ

 ข้อพึงระวังที่สำคัญคือ บริษัทควรจะเลือกใช้แกนกลยุทธ์ประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะที่เหมาะสมกับตนเองที่สุด และหลีกเลี่ยงใช้ กลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่งครึ่งๆ กลางๆ มิฉะนั้นบริษัทอาจจะไม่สามารถต่อสู้กับคู่แข่งขัน ที่มีความสามารถโดยเฉพาะได้อย่างมีประสิทธิผล


นางสาวชลลดา อิศรางกูร ณ อยุธยา เจ้าหน้าที่วิเคระห์งบประมาณ 5 สำนักนโยบายและแผนงบประมาณ สำนักงบประมาณ