การปรับตัว และการปฏิบัติตนเพื่อสุขภาพจิต

ความหมายของการปรับตัว และกระบวนการปรับตัว

ความหมายของการปรับตัว

การปรับตัว หมายถึง ผลของความพยายามของบุคคลที่พยายามปรับสภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นปัญหาด้านบุคลิกภาพ ด้านความต้องการ หรือด้านอารมณ์ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม จนเป็นสภาพการณ์ที่บุคคลนั้น สามารถอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ได้ และถ้าบุคคลนั้นปรับตัวแล้ว และสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ได้อย่างมีความสุข แสดงว่าบุคคลนั้นมีสุขภาพจิตดี มีแบบแผนของการปรับตัวที่ดี เนื่องด้วยชีวิตทุกชีวิตต้องมีการปรับตัว เพื่อจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อการมีชีวิตอยู่รอด เพื่อความสำเร็จในการงาน เพื่อเอาชนะตนเอง หรืออุปสรรคต่าง ๆ ตลอดทั้ง เพื่อการอยู่รอดอย่างมีความสุขในสังคม เป็นต้น ดังนั้น แต่ละบุคคลต่างก็มีแบบแผนของการปรับตัวเป็นของตนเอง แบบแผนของการปรับตัวนี้แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

1. การปรับตัวที่ปราศจากศิลปะ เป็นการปรับตัวแบบโบราณ ( Primitive Adjustment ) สำหรับการปรับตัวแบบนี้ จะเป็นแบบสู้ หรือถอยก็ได้ คือ เมื่อบุคคลใดเกิดความคับข้องใจแล้วเขาจะสู้ แต่หากสู้ไม่ได้ เขาจะเลือก การถอยหนีน่าจะปลอดภัยกว่า

2. การปรับตัวที่มีการปรับอย่างเหมาะสม หรือสอดคล้องกับปัญหา หรือสถานการณ์ ( Modified Adjustment ) สำหรับการปรับตัวแบบนี้ บุคคลที่เผชิญปัญหา หรือสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา บุคคลจะปรับตัว หรือแก้ไขปัญหาตลอดทั้งพฤติกรรมของเขาให้เหมาะสมกับตนเอง และพยายามให้สอดคล้องกับสถานการณ์

กระบวนการปรับตัว

กระบวนการปรับตัวจะอธิบายถึงระดับของกระบวนการปรับตัว และลักษณะของกระบวนการปรับตัว และปัญหาการปรับตัว มี 2 ข้อ ดังนี้คือ

1. ระดับของกระบวนการปรับตัว สำหรับกระบวนการปรับตัวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลนั้น แบ่งได้เป็น 2 ระดับคือ

1.1 การปรับตัวระดับที่เรารู้ตัว ( Conscious Attempt of Adjustment ) การปรับตัวแบบนี้สามารถกระทำได้ 2 ทางคือ

1.1.1 โดยการเพิ่มความพยายามให้มากขึ้น เพื่อให้ชนะอุปสรรค หรือความยุ่งยากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

1.1.2 โดยการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายที่ตั้งไว้ หากว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงมากเกินไป หรือเป้าหมายที่บุคคลนั้นทราบ หรือตระหนักว่าเขาไม่สามารถจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้บุคคลก็จะเปลี่ยนเป้าหมายใหม่แทน

1.2 การปรับตัวระดับที่กระทำไปโดยไม่รู้ตัว ( Unconscious Attempt of Adjustment ) การปรับตัวแบบนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นทางออกอย่างหนึ่งของบุคคล เมื่อเกิดความคับข้องใจ ความขัดแย้ง หรือเมื่อเผชิญปัญหาแล้วแก้ปัญหานั้นไม่ได้ บุคคลก็จะหาทางออกด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งโดยใช้ กลวิธานในการป้องกันตัวในลักษณะต่างๆ เรียกว่า กลวิธานทางจิต ( Mental Mechanism ) หรือกลวิธานในการป้องกันตนเอง ( Self - Defense Mechanism ) การใช้กลไกดังกล่าวนั้น บุคคลใช้เพื่อรักษา หรือคุ้มครอง “ หน้า ” หรือ “ ศักดิ์ศรี ” ของตนเอง หรือเพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองเกิดความวิตกกังวลมากจนเกินไป หรือเพื่อความสบายใจของตนเองสำหรับสถานการณ์นั้นๆ หรือเพื่อต้องการจะหลบหลีกให้พ้นจากความวิตกกังวลเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้น

2. ลักษณะของกระบวนการปรับตัว สำหรับกระบวนการปรับตัวดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ

2.1 การปรับตัวที่สมบูรณ์ เป็นการปรับตัวที่บุคคลประสบปัญหา หรืออุปสรรค์ต่าง ๆ แล้ว สามารถแก้ปัญหาได้ และเมื่อแก้ปัญหาได้แล้วทำให้ตนเอง เกิดความสบายใจ ไม่มีข้อขุ่นข้องหมองใจเหลืออยู่เลย บุคคลก็จะมีความสุข และสามารถกระทำสิ่งต่างๆ ได้เต็มศักยภาพ

2.2 การปรับตัวที่ไม่สมบูรณ์ เป็นการปรับตัวที่บุคคลประสบปัญหา หรืออุปสรรคแล้ว ไม่สามารถแก้ปัญหานั้น ๆ ได้ แต่บุคคลก็มีวิธีการที่จะทำให้ความเครียดภายในจิตใจ หรือความกระวนกระวายใจลดลงได้บ้าง แต่ร่องรอยของความไม่สบายใจยังคงมีอยู่ การปรับตัวแบบนี้ จึงเป็นการปรับตัวที่ไม่สมบูรณ์ และการปรับตัวแบบนี้จะอาศัยกลวิธานทางจิต หรือกลไกป้องกันตนเอง

ปัญหาของการปรับตัว

ปัญหาต่าง ๆ ของการปรับตัวอาจมีสาเหตุมาจากการที่บุคคลต้องเผชิญกับสภาพการณ์ หรือสถานการณ์ที่มีความกดดัน มีความขัดแย้ง เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเผชิญปัญหาไม่ว่าทั้งปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากตัวบุคคลนั้นเอง หรือปัญหาที่เป็นผลจากสภาพแวดล้อม โดยทั่วๆ ไป บุคคลนั้นก็จะพยายามปรับตัวต่อสภาพที่เป็นปัญหาที่เขากำลังเผชิญนั้น เพื่อให้สภาวะความกดดัน หรือ ความเครียด ความวุ่นวายใจ และความกังวลใจค่อย ๆ คลี่คลายลงจนกระทั้งหมดไปในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าปรากฏว่าบุคคลบางคนนั้นไม่สามารถจะขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไปได้ เมื่อเป็นเช่นนี้สภาวะของความวุ่นวายใจ อึดอัดใจ หรือไม่เป็นสุขใจจะยังคงมีอยู่ต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถกล่าวได้ว่า สภาวะที่ทำให้บุคคลเกิดความวุ่นวายทางจิตใจนั้น อาจจะมีสาเหตุมาจากสภาพทางร่างกาย สภาพทางจิตใจ หรือสภาพทางสังคมของบุคคลนั้น และเมื่อสภาวะดังกล่าว เกิดขึ้น ก็อาจจะส่งผลกระทบให้บุคคลนั้นต้องสูญเสียความสมดุลในตนเอง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความแปรปรวนทางพฤติกรรม ตลอดทั้งความรู้สึกนึกคิด แต่ในบางโอกาส นอกเหนือจากที่ปรากฏว่า สภาวะความวุ่นวายทางจิตใจอาจจะเป็นต้นกำเนิดของความล้มเหลว หรือความทุกข์ กลับพบว่าสภาวะความวุ่นวายทางจิตใจบางประการได้ช่วยให้บุคคลตระหนัก และพยายามทำความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ หรือเหตุการณ์นั้น ๆ ได้ดีขึ้น และเป็นแรงผลักดันให้บุคคลได้พยายามปรับปรุงตนเอง ตลอดทั้งพยายามสร้างเสริมในสิ่งที่มีคุณค่าทั้งแก่ตนเอง และสังคมมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามปัญหาความเครียด ความวุ่นวายทางจิตใจ ความกดดัน หรือสิ่งที่คุกคามจิตใจบางประการอาจจะไม่มีความร้ายแรงมากนัก แต่ในบางสภาวะการณ์ หากมีเหตุการณ์บางประการที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ ความปรารถนา หรือความมุ่งหวังของบุคคลนั้นๆ เกิดขึ้น บุคคลอาจจะเกิดความรู้สึกวุ่นวายใจ โมโห โกรธ หรือไม่พอใจ แต่ภายหลังที่ทุกสิ่งทุกอย่างคลี่คลายลงแล้ว หากเขาลืมเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และไม่ติดใจ หรือฝังใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ๆ ต่อไป สภาวะการณ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า สภาวะความวุ่นวายทางจิตใจที่ไม่รุนแรงนัก เช่น การนอนตื่นสายแล้วไปสอบไม่ทันจึงทำให้ถูกเรียกไปว่ากล่าวตักเตือนเป็นต้น สภาวะความวุ่นวายทางจิตใจในสภาพดังกล่าวนี้ อาจจะก่อให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพได้ หากพฤติกรรมที่ผิดปกตินั้น คงอยู่เป็นเวลานานจนกระทั้งบุคคลนั้นต้องล้มเจ็บทางจิตใจ ตัวอย่างเช่น ความผิดหวังในชีวิตสมรส ความไม่สมหวังต่างๆ อาจคุกคามบุคคลบางคนจนไม่สามารถจะกระทำสิ่งใดๆ ได้ เป็นต้น

สภาวะ หรือสถานการณ์ที่บีบคั้น หรือคุกคามบุคคลบางคน บุคคลบางคนอาจสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ที่คุกคามได้แม้ว่าจะมีความรุนแรงแต่ก็ผ่านไปได้ไม่ยากนัก ในขณะที่บุคคลบางคนต้องล้มเจ็บทางจิตใจ ทั้งนี้เพราะว่าสภาวะความวุ่นวายทางจิตใจ หรือความเครียดของบุคคล แต่ตราบใดก็ตามที่จำนวนของสภาวะความวุ่นวายทางจิตใจ หรือความเครียดอย่างรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจนบุคคลนั้นไม่สามารถจะอดทนได้อีกต่อไปบุคคลนั้นอาจจะเกิดความผิดปกติทางจิตใจ หรือผิดปกติทางบุคลิกภาพได้

สำหรับสภาวะการณ์ หรือภยันตรายที่มีความรุนแรงมาก และเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และทำให้บุคคลต้องประสบความวิบัติ ตลอดทั้งมีผลกระทบกระเทือนต่อสภาวะอารมณ์ สภาวะทางจิตใจ ก่อให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพ และความแปรปรวนของพฤติกรรมสภาพการณ์ หรือภยันตราย ดังกล่าวนี้เรียกว่า สภาวะความวุ่นวายทางจิตใจที่มีความรุนแรง (Gross Stress Situation ) สภาวะการณ์ หรือภยันตรายใหญ่หลวงยิ่งที่มักจะก่อให้เกิดสภาวะความวุ่นวายทางจิตใจอย่างรุนแรงได้แก่ การเกิดวาตะภัย อุทกภัย อัคคีภัย หรืออุบัติเหตุต่างๆ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักอย่างไม่คาดคิด เป็นต้น

สำหรับปัญหาต่าง ๆ ของการปรับตัวนั้น สามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภทคือ ประเภทที่ 1 ความคับข้องใจ ( Frustration ) ประเภทที่ 2 ความขัดแย้ง ( Conflicts ) และประเภทที่ 3 ความกดดัน ( Pressure ) ดังจะอธิบายรายละเอียดต่อไปนี้

1. ความคับข้องใจ ( Frustration )

ความคับข้องใจ หมายถึง สภาพทางจิตใจ หรือความรู้สึกที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความปรารถนาที่เรามุ่งหวัง หรือสิ่งที่เราปรารถนานั้นถูกขัดขวาง ทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ทุกๆ ชีวิตไม่สามารถตอบสนองความปรารถนา หรือความต้องการของตนเองได้ทุกประการ ทั้งนี้เพราะว่าชีวิตแต่ละชีวิตจะต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ นานับประการ อุปสรรคต่าง ๆ นี้ บางสิ่งบางอย่างอาจจะเกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นโดยตรง แต่บางสิ่งบางอย่างอาจจะเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น สิ่งแวดล้อม ระเบียบ ประเพณี หรือแม้กระทั่งศาสนา ฯ ล ฯ และในบางโอกาส อุปสรรคบางอย่างนั้น เราสามารถผ่านพ้น หรือเอาชนะได้ง่าย ๆ แต่อุปสรรค์บางอย่างกลับมีอิทธิพล และขัดขวางความต้องการ หรือความพยายามของเรา ผลสืบเนื่องที่เราจะได้รับคือ ความหงุดหงิด กระวนกระวายใจ กลุ้มใจ ฯ ล ฯ สภาวะต่าง ๆ ดังกล่าวนี้เรียกว่า ความคับข้องใจ

นอกจากนี้ ระดับของความคับข้องใจนั้น มีทั้งระดับที่รุนแรง และไม่รุนแรงแต่ตราบใดก็ตามที่เราเกิดความคับข้องใจ ความคับข้องใจที่เกิดขึ้นนั้น โดยมากจะกลายเป็นตัวคุกคามต่ออารมณ์ จิตใจ ร่างกาย

สาเหตุของความขับข้องใจ

ความคับข้องใจเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความปรารถนา ความต้องการ แรงจูงใจ หรือสิ่งที่บุคคลมุ่งหวังถูกขัดขวาง อันเป็นผลให้บุคคลนั้นไม่สมประสงค์ ไม่บรรลุเป้าหมายที่พึงปรารถนา แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาสาเหตุของความคับข้องใจแล้ว สามารถจะแบ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดความคับข้องใจได้ 2 ประการคือ

1. สาเหตุส่วนบุคคล ได้แก่ ลักษณะของแต่ละบุคคล ซึ่งรวมถึงลักษณะทางร่างกาย และลักษณะทางจิตใจ ซึ่งจะแยกอธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้

1.1 สำหรับลักษณะทางร่างกายที่ก่อให้บุคคลบางคนเกิดความคับข้องใจนั้น ได้แก่ความบกพร่องทางร่างกาย ความพิการทางร่างกาย การเป็นโรคชนิดใดชนิดหนึ่งประจำ และยากแก่การ รักษาให้หายขาดได้ ระดับเชาว์ปัญญาต่ำ มีศักยภาพ และความสามารถไม่เพียงพอ ตลอดทั้งการขาดวินัยของตนเอง ( Self – discipline ) เป็นต้น หากบุคคลหนึ่งบุคคลใดมีลักษณะดังกล่าวนี้ ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้บุคคลนั้นต้องประสพกับความคับข้องใจได้

1.2 ส่วนลักษณะทางจิตใจที่เป็นอุปสรรคขัดขวางบุคคลไม่ให้บรรลุในสิ่งที่ปรารถนา และทำให้บุคคลไม่สามารภพัฒนาตนได้

2. สาเหตุของสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และทางสังคม สำหรับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่เป็นสาเหตุของความคับข้องใจ ได้แก่ สถานที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน ตลอดทั้ง อุทกภัย วาตะภัย อัคคีภัย หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ฯลฯ ส่วนสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ก่อให้เกิดความคับข้องใจ แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ได้แก่ ความล่าช้าของระบบงาน หรือการทำงานของหน่วยงานที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดไปติดต่อ ทำให้บุคคลที่ไปติดต่อนั้น เกิดความอึดอัดใจ ไม่ทันใจ และคับข้องใจ หรือข้อจำกัดเกี่ยวกับฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมของบุคคลบางคน อันเป็นเหตุให้เขาไม่สามารถ จะให้การสนับสนุนค้ำจุนตนเอง หรือบุคคลอื่นได้ ฯลฯ

3. ความคับข้องใจในสังคม ความคับข้องใจในสังคมปัจจุบันที่พบเสมอนั้นส่วนมากจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ แตกต่างกันไป สำหรับในสังคมของเรานั้นสภาพการณ์ต่าง ๆ ต่อไปนี้ก่อให้เกิดความคับข้องใจได้

3.1 ความเชื่องข้า ยืดยาด ล่าช้า ปัจจุบันเราจะมีความรู้สึกว่าเวลาเป็นเงินเป็นทอง แต่ในบางครั้งเราจำเป็นต้องรอ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ทันใจ ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ความขับข้องใจ ตัวอย่าง งานบางประเภท จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากบุคคลอื่น จึงจะสำเร็จได้ด้วยดี แต่บุคคลบางคนจะรอไม่ได้ ขาดความอดทนต่อสภาพการณ์ดังกล่าว หรือหากใครสักคนหนึ่งต้องการจะซื้อสิ่งของที่เขาต้องการอย่างยิ่งสังอย่างหนึ่ง แต่หากเขาจะต้องสะสมเงินให้ได้จนครบตามจำนวนของราคาสิ่งของชนิดนั้น ๆ ก็ไม่ทันใจเขา หรือหากเขาจะซื้อด้วยการผ่อนส่ง เขาก็ไม่แน่ใจว่าจะมีเงินพอเพียงที่จะผ่อนส่งได้ หรือไม่ ความต้องการอย่างยิ่งเกี่ยวกับสิ่งของนั้น ๆ สามารถจะก่อให้เกิดความคับข้องใจแก่บุคคลนั้นได้ หรือนักศึกษาชายบางคนต้องการจะแต่งงานในขณะที่เขายังไม่สำเร็จการศึกษา และเขาก็ไม่สามารถจะกระทำตามความต้องการของเขาได้ เพราะเขาจะต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านการครองชีพ และไม่ได้รับการสนับสนุนจากบิดามารดา หรือผู้ปกครอง ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดความคับข้องใจแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ หากบุคคลนั้นไม่สามารถจะรอ หรือไม่สามารถจะยืดเวลาให้แก่สิ่งที่เขาปรารถนานั้นได้ สำหรับในเรื่องนี้นั้น สุภาษิต ที่กล่าวไว้ว่า “ ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม “ นั้น อาจจะช่วยให้บุคคลนั้นได้ตระหนักในคุณค่าของกาลเวลาได้มาก ยิ่งขึ้น

3.2 ความไม่มี หรือการขาด ชีวิตทุกชีวิตหาใช่จะสมบูรณ์เพรียกพร้อมเหมือนกันทุกประการไม่ บางชีวิตอาจจะสมบูรณ์พร้อมไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง และมีแต่ความสมบูรณ์พูนสุข ในขณะที่บางชีวิตนั้นต้องเผชิญต่อความไม่มี หรือขาดการสนับสนุนเอื้อเฟื้อ ส่งเสริม ขาดทั้งในเรื่องอาหาร ที่พำนักอาศัย ยารักษาโรค ตลอดทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญแก่ชีวิต แต่บุคคลบางคนกลับขาดในด้านความสมบูรณ์ทางร่างกาย หรือต้องเผชิญต่อความพิการของตนเอง หรือความจำกัดของศักยภาพของตนเอง ฯลฯ การขาด หรือไม่มีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ รวมทั้งการขาดในเรื่องความรัก สัมพันธภาพระหว่างบุคคล ทั้งระดับครอบครัว หรือสังคม ตลอดทั้งความไม่พอใจสิ่งที่ตนมีอยู่ ล้วนแต่ทำให้เกิดความคับข้องใจได้ทั้งสิ้น

3.3 การสูญเสีย การสูญเสียต่าง ๆ ต่อไปนี้ สามารถทำให้เกิดความคับข้องใจได้ เช่น การสูญเสียความรัก บุคคลที่รัก มิตรภาพ วัตถุสิ่งของที่มีคุณค่า เงินทอง อิสรภาพ ความมีชื่อเสียง ความไว้วางใจ ฯ ล ฯ หากบุคคลใดต้องเผชิญกับการสูญเสียต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ และบุคคลนั้น ขาดสติ สัมปชัญญะ ที่จะควบคุมตนเอง หรือตระหนักในข้อควรจะเป็นได้แล้ว บุคคลนั้นก็มักจะต้องเผชิญกับความคับข้องใจในที่สุด

3.4 ความพ่ายแพ้ ปราชัย ความไม่สมหวัง การไม่ประสพความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา สามารถก่อให้เกิดความคับข้องใจแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ หากว่าเขาไม่สามารถจะพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุผลในเรื่องนั้น ๆ ได้ อีกทั้งอาจจะทำให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย เกิดความรู้สึกด้อย ท้อถอย เกิดความกลัวที่จะเผชิญ หรือ มีชีวิตอยู่ต่อไป และในที่สุดก็อาจจะเกิดความรู้สึกอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว และมีแต่ความสิ้นหวังเกิดขึ้น

3.5 การปราศจากความหมาย สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งของความคับข้องใจนั้น เป็นผลมาจากความไม่สามารถประสบผลสำเร็จในสิ่งที่แสวงหาที่จะช่วยทำให้ชีวิตมีความหมาย หรือบรรลุสิ่งที่ปรารถนา ตัวอย่าง นักเรียนบางคนต้องออกเรียนกลางคัน และไม่มีโอกาสจะกลับมาศึกษาต่อ หากเขาไม่สามารถเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดกับตัวเขา เขาอาจจะเกิดความสิ้นหวัง หมดอาลัยตายยาก สิ้นความมานะพยายาม หรืออาจจะซัดเซพเนจร ปล่อยชีวิตให้หมดไปวัน ๆ หรือผู้สูงอายุบางท่านหากไม่ได้รับการเหลียวแล เอาใจใส่จากลูกหลาน อาจจะเกิดความเศร้า ว้าเหว่ เกิดความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง จึงอยู่ไปวัน ๆ เพื่อรอความตายเท่านั้น หรือแม้แต่ชีวิตสมรสที่ปราศจากความสุข ความเห็นอกเห็นใจ และเอาใจใส่ซึ่งกัน และกัน อาจจะเป็นสาเหตุของความคับข้องใจสำหรับบุคคลหลาย ๆ คน โดยเฉพาะบุคคลที่ต้องอาศัยรายได้ที่ได้รับจำนวนจำกัด

2. ความขัดแย้ง ( Conflicts )

ความขัดแย้ง หมายถึง สภาวะการณ์ที่ทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกมีความขัดแย้งในตนเอง เมื่อต้องเผชิญต่อสภาวะการณ์นั้น ๆ โดยบุคคลนั้น จะเกิดความลำบากใจ หนักใจ หรืออึดอัดใจในการตัดสินใจ ตกลงใจที่จะเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากสภาวการณ์ทีเขาเผชิญอยู่นั้น โดยสิ่งต่าง ๆ ในสภาวการณ์นั้น ๆ เขาอาจจะชอบมากเท่า ๆ กัน หรือชอบน้อยมากทั้งหมด หรือไม่ชอบทั้งหมด

สาเหตุของความขัดแย้ง สาเหตุของความขัดแย้งอาจจะพิจารณาได้จากชนิดของความขัดแย้งซึ่งความขัดแย้งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิดคือ

1. ความขัดแย้งในใจที่สืบเนื่องจากการที่บุคคลจะต้องตกลงใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ต้องการ ชอบ หรือพอใจแต่ในเวลาเดียวกันนั้น ก็ต้องการหลีกหนีผลที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งที่เลือกนั้น ๆ ตัวอย่าง ผู้ชายคนหนึ่งประสงค์จะแต่งงาน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการจะรับผิดชอบต่อครอบครัว อีกทั้งก็กลัวสูญเสียอิสรภาพส่วนบุคคล ฯลฯ ความขัดแย้งในลักษณะดังกล่าวนั้น บุคคลมีแนวโน้มที่จะเข้าไปหา หรือเข้าไปใกล้สิ่งที่จะทำให้เขาเกิดความพอใจนั้น แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความขัดแย้งในใจที่จะเผชิญต่อผลที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งที่พยายามจะเข้าไปใกล้นั้น นั้นก็คือเขามีแนวโน้มที่จะเข้าไปใกล้ และหลีกหนีสิ่งที่เขาต้องการในเวลาเดียวกัน ความขัดแย้งในใจในลักษณะดังกล่าวนี้ มีสภาพเป็นทั้งบวก และลบ (Plus – minus conflicts) หรืออาจจะกล่าวได้ว่าความขัดแย้งลักษณะดังกล่าวนี้เป็นการผสมผสานระหว่างสิ่งที่ปราถนา และไม่ปรารถนาในเวลาเดียวกัน

2. ความขัดแย้งในใจที่สืบเนื่องมาจาก การที่จะต้องตกลงใจเลือกสิ่งที่พอใจ ชอบ หรือต้องการที่เหมือนๆ กัน หรือเท่าๆ กันในเวลาเดียวกัน (Approach – approach conflicts) ตัวอย่าง นักเรียนคนหนึ่งต้องการจะท่องหนังสือ เพื่อเตรียมตัวสอบ ขณะเดียวกันก็ต้องการจะไปดูภาพยนต์ จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นสถานการณ์ที่นักเรียนมีความต้องการเท่า ๆ กัน ซึ่งเขาจะต้องเลือกสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นเขาจะเลือกทั้งสองอย่างไม่ได้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่บุคคลพึงพอใจเหมือนๆ กัน หรือเท่าๆ กันนั้น แม้ว่าเขาจะต้องเลือกสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเท่านั้นความขัดแย้งในใจของบุคคลนั้น ๆ ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นแต่ก็จะไม่รุนแรงนัก เพราะสิ่งที่เขาเลือกนั้นเกิดความขัดแย้งต่อสิ่งที่มีคุณลักษณะมีผลในทางบวกทั้งคู่ (Plus – plus conflicts) นอกจากนี้ ในบางสถานการณ์ที่ปรากฏว่ามีสิ่งที่บุคคลต้องการ หรือพอใจ ตั้งแต่สองสิ่ง หรือมากกว่าสองสิ่งขึ้นไป และบุคคลนั้นจะต้องเลือกเฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น สถานการณ์เช่นนี้ก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในใจเช่นกัน (Double – approach conflicts) แต่ความขัดแย้งในใจที่เกิดขึ้นอาจจะไม่รุนแรงมากนัก เพราะว่าสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นให้ผลในทางบวก ทั้งคู่

3. ความขัดแย้งในใจที่สืบเนื่องมาจากการจะต้องตกลงใจเลือกสิ่งที่ไม่ต้องการ ไม่ชอบ หรือไม่พอใจ ทั้งสองอย่าง แต่จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง จะไม่เลือกไม่ได้ ( Avoidant – avoidant conflicts) หรือหากสถานการณ์นั้น ๆ มีสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาตั้งแต่สองอย่างขึ้นไป ก็จะทำให้บุคคลนั้นเกิดความขัดแย้งในใจเช่นกัน เมื่อจะต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เขาไม่ปรารถนา (Double – avoidant conflicts) ตัวอย่าง บุคคลหนึ่งต้องเลือกระหว่างการไม่มีงานทำ และงาน ที่ไม่ชอบ หรือบุคคลที่อยู่ในวัยกลางคนอาจจะเกิดความขัดแย้งในใจ หากจะเลือกระหว่าง การแต่งงาน กับบุคคลที่เขาไม่รักเลยกับชีวิตที่โดดเดี่ยวเดียวดาย ฯลฯ สถานการณ์ดังกล่าวนี้ เป็นสถานการณ์ที่บุคคลไม่ปรารถนา และมีสภาพเป็นลบทั้งคู่ ( Minus – minus Conflicts) และแม้ว่าบุคคลตกลงใจเลือกสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วก็ตาม ความขัดแย้งของบุคคลนั้นก็คงมีอยู่ และอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น แทนที่จะสุดสิ้นลงภายหลังที่ได้ตกลงใจเลือกแล้วก็ตาม

ความขัดแย้งทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวข้างต้นนี้ ในบางโอกาส สภาพความขัดแย้งในใจที่เคยมีสภาพเป็นบวกทั้งคู่ อาจจะกลายเป็นความขัดแย้งในใจที่มีลักษณะ หรือสภาพเป็นบวก – ลบ หรือมีสภาพเป็นลบทั้งคู่ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น

ความขัดแย้งที่เกิดในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากความขัดแย้งเป็นแหล่ง หรือต้นตอของความสับสน ความไม่แน่ใจ การลังเล ตลอดทั้งความเครียด ความขัดแย้งในใจที่พบในสังคมปัจจุบัน ได้แก่ความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาจากความต้องการส่วนบุคคล และความต้องการของสังคมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ โดยมากจะเป็นเพราะว่า ในบางโอกาสเราไม่สามารถจะ ปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นความต้องการของสังคมของเพื่อน หรือของบุคคลอื่น ๆ ได้ หรือสิ่งที่สังคมต้องการนั้น ขัดกับสิ่งที่เป็นความต้องการของเรา

ความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาจาก การเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันด้วยกับการที่ไม่ประสงค์จะเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพัน หรือร่วมมือด้วย ตัวอย่าง ในบางสถานการณ์เรามีความประสงค์จะให้ความช่วยเหลือเพื่อนฝูง แต่ขณะเดียวกัน เราเกิดความลังเลใจ ตกลงใจไม่ได้ว่าจะให้ความช่วยเหลือดี หรือไม่ เพราะเราเกิดไม่แน่ใจว่า หากเข้าไปเกี่ยวข้องเองพัวพันด้วยแล้ว เราอาจจะได้รับความลำบาก หรือเดือดร้อนไปด้วย สถานการณ์ดังกล่าวนี้ ก็ทำให้เราอึดอัดใจ ไม่สบายใจ เกิดความขัดแย้งว่าจะเข้าใจ หรือไม่เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันด้วย

ความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาจากการที่ต้องการจะเผชิญความจริง และการหลีกหนี หรือไม่กล้าเผชิญความจริง ตัวอย่าง บุคคลบางคนต้องการจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อต้องการทราบความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่เขาแสวงหา โดยหวังว่า เมื่อได้รับทราบความจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ แล้ว ตนเอง จะได้สบายใจขึ้น แต่ปรากฏว่า ภายหลังที่เขาทราบความจริงเขาก็เกิดความวิตกกังวล หรือในบางสถานการณ์จะพบว่า การเผชิญความจริงแม้ว่าจะทำให้บุคคลนั้น ๆ ไม่สบายใจ อึดอัดใจ แต่เขาก็จำเป็นจะต้องเผชิญความจริงนั้น ๆ ทั้ง ๆ ที่ในใจของเขานั้น เขาต้องการจะหลีกหนีไปให้พ้นจากสภาพความจริงนั้น ๆ แต่บุคคลบางคน เมื่อทราบว่าจะต้องเผชิญความจริง เขาก็จะหลีกหนีไปให้พ้นจากสภาพการณ์นั้น ๆ หรือเขาอาจจะเกิดความขัดแย้งในใจ ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเผชิญ หรือหลีกหนีความจริงนั้น ๆ

ความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาจากความซื่อสัตย์ และการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน โดยทั่ว ๆ ไป ทุก ๆ คนต่างพยายามหาวิถีทาง เพื่อสนองความต้องการของตนเอง บางคนก็แสวงหาวิถีทางเพื่อสนองความต้องการของตน ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต แต่บางคนกลับแสวงหาทางที่จะสนองความต้องการด้วยการแสวงหาเพื่อประโยชน์ขอนตนเป็นที่ตั้ง แต่ในบาง สถานการณ์ คนเรานั้น จะต้องเลือกระหว่างความซื่อสัตย์ หรือการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน หากตกลงใจไม่ได้ ความขัดแย้งในใจก็จะเกิดขึ้น โดยทั่วไป หากสถานการณ์ ไม่เอื้ออำนวยให้บุคคลสามารถแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองได้ อย่างเต็มที่ และหากว่าบุคคลนั้นไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง การโกง การหลบหลีกการหลีกเลี่ยง หรือเล่ห์กลต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้น แต่หากว่าบุคคลนั้นมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐาน เขาก็จะไม่กล้ากระทำการใด ๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตน แต่บุคคลบางคนถึงแม้ว่าจะคำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริต แต่เขาอาจจะตกลงใจไม่ได้ว่า ควรจะแสวงหาประโยชน์ เพื่อตนเอง หรือควรจะมีความซื่อสัตย์ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งสำหรับบุคคลนั้น ๆ

ความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาจากความปรารถนาทางเพศ และข้อห้ามข้อจำกัดเกี่ยวกับความปรารถนาทางเพศนั้น ๆ ตัวอย่าง บุคคลบางคน เมื่อมีความปรารถนาทางเพศเกิดขึ้น แต่เขาก็ไม่สามารถสนองความปรารถนาของเขาได้ เพราะข้อห้ามบางประการที่เกี่ยวกับทางเพศที่เขาต้องการยึดถือปฏิบัติ ซึ่งผลปรากฏว่า ทำให้เขาเกิดความขัดแย้งในตนเองที่จะต้องเลือกกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

3. ความกดดัน ( Pressure )

ความกดดัน หมายถึง สภาพการณ์บางประการที่ผลักดัน หรือเรียกร้อง หรือบังคับให้บุคคลจำต้องกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความกดดันมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม และการปรับตัวของแต่ละบุคคล ตัวอย่าง หากเราทราบว่า บิดามารดาของเราต้องอุทิศแรงกายแรงใจหาทุนทรัพย์มาส่งเสียให้เราเล่าเรียน และบิดามารดาก็คาดหวังว่า เราจะตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด ความรู้สึกนี้ อาจจะทำให้เราตั้งใจ เล่าเรียน ไม่ทำสิ่งใดให้บิดามารดาเสียใจ แม้แต่อยากจะเกเร หรือหนีเรียนก็ไม่พยายามกระทำ เพราะยังนึกถึงพระคุณของบิดามารดา ความกดดันในลักษณะดังกล่าวนี้จะทำให้เราเพิ่มความมานะพยายาม และสนใจการเรียนมากขึ้น แต่ในบางครั้งก็อาจจะก่อให้เกิดความอึดอัดใจ ไม่สบายใจแก่เราได้ หรือเราอาจจะรู้สึกว่า ตนเองตกอยู่ภายใตความกดดัน หรือถูกบีบบังคับ

สาเหตุของความกดดัน

สาเหตุของความกดดันนั้น อาจจะมีสาเหตุ หรือต้นตอจากตัวบุคคลนั้นเอง หรือสิ่งต่าง ๆ ในสังคม สำหรับสาเหตุที่มาจากตัวบุคคลนั้นเอง จะเกี่ยวข้องกับระดับความมุ่งหวัง และอุดมคติของบุคคลนั้น บุคคลบางคนอาจจะต้องเผชิญกับความกดดันอย่างต่อเนื่อง และเกิดความกดดันนั้น ก็มีความรุนแรง ทั้งนี้เพราะว่า บุคคลนั้นได้ตั้งระดับความมุ่งหวังไว้สูงส่ง โดยเขาคิดว่าเขาควรจะประสพความสำเร็จในชีวิตอย่างน้อย ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ของสังคมที่แวดล้อมตัวเขา หรือบางคนก็มีความเชื่อมั่นว่า หากเขาจะอยู่ในสังคมนั้น ๆ เขาควรจะควบคุม และบังคับตนเอง ไม่ตามใจตนเองตามที่ตนปรารถนา ทั้งนี้เพื่อจะได้สามารถเข้ากับทุกคนได้ และจะได้เป็นที่ยอมรับของเพื่อน ๆ นอกจากนี้ ในบางครั้งความมุ่งหวังส่วนบุคคล และสภาพการณ์ในสังคมที่เรียกร้อง หรือบีบบังคับให้บุคคลต้องกระทำตามนั้น ก่อให้เกิดความกดดันต่อบุคคลนั้น ๆ แต่บางคนก็พยายามทำตนให้เด่น และดีเลิศทั้งในด้านการเรียน กีฬา และกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่าง ๆ แต่เขาก็ต้องตกอยู่ภายใต้ความกดดัน เพราะเขาจะต้องทำตนให้เป็นที่ยอมรับ หรือเป็นเลิศในสังคมนั้น ๆ

ความกดดันในสังคมปัจจุบัน ความกดดันต่าง ๆ ที่แต่ละบุคคลจะต้องเผชิญในสังคมปัจจุบัน ได้แก่ ความกดดันที่สืบเนื่องมาจากการแข่งขัน เช่น การแข่งขัน เพื่อความสำเร็จ ทางการศึกษา และอาชีพ การแข่งขั้นเพื่อได้รับชัยชนะได้รับชัยชนะทางด้านกีฬา หรือการงานต่าง ๆ ฯลฯ ความรู้สึกแข่งขันไม่ว่า ทางการศึกษา หรืออาชีพของบุคคลในสังคมยากที่จะยุติลงได้ทั้งนี้เพราะว่า แต่ละบุคคลต่างมีความพยายาม และมีแนวโน้มที่จะคิดการณ์ใหญ่โต ดังนั้นความกดดันจึงเกิดขึ้นต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดตราบเท่าที่ยังมีการแข่งขันในสังคมปัจจุบัน

ความกดดันที่สืบเนื่องมาจากความซับซ้อน และอัตราการเปลี่ยนแปลงของสังคม เนื่องจากสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไม่หยุด วิวัฒนาการตลอดทั้ง วิทยาการใหม่ ๆ ที่สลับซับซ้อน หรือแม้กระทั้งโรคภัยไข้เจ็บบางชนิดที่ไม่เคยปรากฎก็อุบัติขึ้น อาหาร หรือสิ่งที่บริโภคบางชนิดที่ไม่เคยมีพิษมีภัย ก็กลับกลายมีอันตรายเพิ่มขึ้น ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหายุ่งยาก และมีอิทธิพลแก่การดำรงชีวิตของบุคคลในสังคมอย่างยิ่ง นอกจากนี้ บุคคลบางคนอาจจะมีความวิตกกังวล ตลอดทั้งระมัดระวังในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวมากเกินไป อันเป็นเหตุให้ชีวิตของบุคคลนั้นไม่มีความสุข เพราะต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งกดดันรอบข้าง

ความกดดันที่สืบเนื่องมาจากครอบครัว และสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น สำหรับความสัมพันธ์ หรือสัมพันธภาพของบุคคลในครอบครัวนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ในบางครั้ง ปรากฎว่า สัมพันธภาพในครอบครัวกลับทำให้บุคคลในครอบครัวนั้นไม่มีความสุขกายสบายใจ นอกจากนี้ ปรากฎว่า สัมพันธภาพระหว่างบุคคลภายในครอบครัวจะราบรื่น หรือไม่เพียงใด หรือก่อให้เกิดความกดดันแก่บุคคลภายในครอบครัวมากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากจะเกี่ยวข้องกับความรัก ความเข้าใจซึ่งกัน และกันแล้ว ยังไปพัวพันกับสภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมอีกด้วย ส่วนสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น ๆ ในสังคมนั้น อาจจะเป็นแหล่งของความกดดันที่จะบังเกิดแก่เราได้ หากตัวเราปราศจากน้ำใจ ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือ หรือไม่สามารถมีไมตรีสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ในสังคมได้

กลวิธานในการปรับตัว

มนุษย์เรามีความต้องการซึ่งเป็นแรงจูงใจให้มนุษย์ดิ้นรนที่จะหาสิ่งต่าง ๆ มาสนองความต้องการอยู่เสมอไม่มีจบสิ้น เช่น มนุษย์มีความหิว และมนุษย์ก็จะต้องดิ้นรนจะหาสิ่งต่าง ๆ มา

สนองความต้องการอยู่เสมอไม่มีจบสิ้น เมื่ออิ่มแล้วก็จะมีความสุขอยู่พักหนึ่งแล้วก็จะหิวอีก แม้กระทั่งเมื่ออิ่ม ความต้องการอื่นๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นซึ่งผลักดัน ให้มนุษย์ต้องดิ้นรนที่จะได้ต่อไปอีกขบวนการที่อินทรีย์พยายามตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของร่างกายอย่างไม่รู้จบสิ้นนี้เรียกว่าการปรับตัว นอกจากความต้องการทางร่างกายแล้ว มนุษย์ยังมีความต้องการบำบัดความต้องการทางจิตใจ และสังคมอีกมากมาย เช่น เราต้องการชื่อเสียง ต้องการมีความนับหน้าถือตา ต้องการคนรัก ต้องการอำนาจ เป็นต้น ความต้องการของมนุษย์มีมากมายไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อมนุษย์ต่างคนก็ต่างมีความต้องการ การแข่งขันที่จะได้ในสิ่งที่ต้องการก็เกิดขึ้น และเมื่อบุคคลเผชิญอุปสรรค กีดขวางไม่ให้เราไปตามทางที่ต้องการได้ ความคับข้องใจ (frustration) ก็เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เราต้องดิ้นรนที่จะลดสภาพความตึงเครียด อันเกิดจากความคับข้องใจนั้นต่อไปอีก รูปการจึงหมุนเวียนอยู่เช่นนี้เรื่อยไปตราบจนอินทรีย์สิ้นสูญ

กลวิธานในการปรับตัว

กลวิธานในการปรับตัวมีมากมาย เราพอจะแบ่งประเภทของการปรับตัวออกได้เป็น 5 แบบ ด้วยกันคือ

1. การปรับตัวแบบสู้ (adjustment by defense)
2. การปรับตัวแบบหลบหนี (adjustment by isolation)
3. การปรับตัวในรูปความกลัวต่าง ๆ (adjustment involving local fear)
4. การปรับตัวในรูปความป่วยไข้ต่าง ๆ (adjustment by ailments)
5. ความวิตกกังวล (anxiety)

1. การปรับตัวแบบสู้

การปรับตัวแบบสู้เป็นการปรับตัวที่มีหลายวิธีมากกว่าแบบอื่นใดทั้งสิ้น การที่เราหาทางสู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคที่เป็นสาเหตุของความคับข้องใจ หรือความขัดแย้งได้แก่

1.1 การเรียกร้องความสนใจ (attention - getting)

เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์เราจึงต้องการเป็นที่ยอมรับ เป็นที่สนใจของกลุ่มชนอยู่บางไม่มากก็น้อย จะเห็นได้ว่าความต้องการเป็นที่สนใจของผู้อื่นนี้มีปรากฎให้เห็นได้แม้กระทั่งทารก เด็กทารกเมื่อถูกทิ้งให้อยู่ลำพังผู้เดียวจะเริ่มเปล่งเสียง และในทีสุดจกร้องไห้ การร้องไห้จะเปลี่ยนเป็นหยุดยิ้มทันที่เมื่อมีผู้เข้าไปยิ้มเล่นด้วย วิธีการของเด็กแสดงถึงการปรุงปรับแบบเรียกร้องความสนใจได้เป็นอย่างดี

ผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกันการถูกเพิกเฉยละเลย การไม่ได้รับความรักความเอาใจใส่ ความสนใจเท่าที่ควรย่อมก่อให้เกิดความคับข้องใจซึ่งมักจะบำบัดโดยการแสดงพฤติกรรมที่เรียกร้องความสนใจขึ้น พฤติกรรมนั้นจะดี หรือร้ายก็ได้เพราะอย่างน้อยการที่ตนถูกกล่าวขวัญถึงจะในแง่ดี หรือร้ายก็ตามก็ยังเป็นการทำให้ตนเป็นจุดสนใจของคนทั่วๆ ไป

1.2 การอ้างเหตุผล ( rationalization )

การอ้างเหตุผล คือ การยกเหตุผลนานาประการมาประกอบการกระทำของเราเพื่อให้เห็นว่าการกระทำของเราถูกต้อง หรือ “ ก็ไม่เลวจนเกินไปนัก ”เพื่อรักษาชื่อเสียง หรือช่วยลดความคับข้องใจ หรือภาวะความขัดแย้งในใจลง ซึ่งคล้ายคลึงกับการหาเหตุผลอ้างเพื่อแก้ตัวให้ตัวเองพ้นผิดจะได้หายกังวลใจ ตัวอย่างการอ้างเหตุผล เช่น อ้างว่าชอบ หรือไม่ชอบ ตัวอย่างนาย ก. ไม่ได้รับเชิญไปในงานเลี้ยงรื่นเริงของชมรมกีฬา ความจริงนาย ก. รู้สึกหงุดหงิด และเกิดความคับข้องใจมาก แต่เพื่อรักษาหน้า นาย ก. จึงเปลี่ยนใจตนเองว่าความจริงก็ไม่ชอบงานรื่นเริ่งเท่าใดนัก และพูดกับเพื่อน ๆ ว่าไม่ชอบงานรื่นเริงเท่าใดนัก ถึงได้เชิญก็จะไม่ไป เป็นต้น

1.3 โทษผู้อื่น หรือสิ่งอื่น (projection)

โทษผู้อื่น หรือวิธีป้ายความชั่วให้ผู้อื่นเป็นวิธีการที่จะลดความตึงเครียดในจิตใจ เนื่องจากความกังวลใจจากความไม่สำเร็จ หรือความสำนึกผิดได้ดียิ่งวิธีหนึ่ง ใน Projection ที่แท้จริง ผู้นั้นมักจะมีความโน้มเอียงสูงมากที่จะ Project ความผิดให้ผู้อื่น และมักเน้นเกินจริงไปมากโดยที่ในบางครั้งตนเองก็ลืมไปว่านั่นคือสิ่งที่ตนต้องการอยากได้ อยากทำเช่นเดียวกัน

1.4 การเลียนแบบ (jdentification)

การเลียนแบบคือการเลียนคุณลักษณะ ที่ดีของผู้อื่นให้เป็นของเรา ตัวอย่างที่พบเห็นในภาพยนต์โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์มักเป็นตัวอย่างที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเลียนแบบของบุคคล

1.5 ปฏิกิริยาตรงข้าม ( reaction – formation )

บุคคลมีพฤติกรรมแบบนี้เมื่อบุคคลนั้นต้องการที่จะปิดบัง Motive ของตนโดยสำนึกผิด และเกิดความละอายใน Motive หรือพฤติกรรมของตน จึงแสดงปฏิกิริยาต่อต้านกับความรู้สึกในใจของตนเองอย่างรุนแรงในทางตรงข้าม ตัวอย่างเช่น แม่ที่ไม่รักลูก แต่ละอายเนื่องด้วยผิดหลักสังคมนิยม และเพื่อที่จะปิดบัง Motive ของตนจึงปรนเปรอลูกในทางที่ผิด

1.6 การชดเชย ( compensation )

การชดเชยคือความพยายามสู้ความล้มเหลว หรือจุดอ่อนของตนเองโดยมุ่งความสำเร็จในเรื่องอื่น ตัวอย่างเช่น คนที่มีจุดอ่อนเกี่ยวกับความอ่อนแอของร่างกาย อาจจะชดเชยโดยตั้งตนเป็นหัวโจกในหมู่เพื่อนฝูง คนที่ไม่ใคร่จะสวยอาจจะเอาดีในทางการเรียน ซึ่งถ้าสติปัญญาของเขามีส่วนส่งเสริมอยู่ด้วยแล้ว เขาก็อาจจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งก็ได้

คุณ และโทษของการปรับตัวแบบสู้

การปรุงปรับแบบสู้ ควรจะมีผลดีต่อจิตใจของบุคคลอยู่บ้าง มิฉะนั้นก็คงสูญหายไปเองแล้ว แต่เราก็จะเห็นได้ว่าคนปกติปัจจุบันนี้ก็ยังใช้ defense mechanism กันอยู่ไม่น้อย ดังนั้น defense mechanism คงจะมีประโยชน์อยู่บ้างอย่างน้อยก็เป็นประโยชน์ชั่วคราว คุณประโยชน์ของ defense mechanism เท่าที่พอจะรวบรวมได้มีดังนี้

ช่วยให้เรามีเวลา พอที่จะได้ระบายความตึงเครียดในจิตใจได้ลดต่ำลงพอที่จะคิด แก้ปัญหา แก้อุปสรรคด้วยเหตุ และผลได้ดีขึ้นบ้าง ในที่นี้ defense mechanism จึงพอเปรียบเทียบได้คล้าย กับยาแก้ไข้ หรือยาระงับไข้แต่ไม่ใช่ยาแก้โรค การระงับอาการไข้ให้ต่ำ เป็นการบำบัดชั่วคราวที่ทำให้อินทรีย์สบายขึ้นชั่วขณะ และพร้อมที่จะรักษาต่อไปได้ดีขึ้นเท่านั้น

rationalization แม้ว่าจะเริ่มด้วยการหาเหตุให้เข้าได้ถูกต้องตรงกับผลที่เกิดขึ้นแล้วก็ตาม rationalization ก็ยังเป็นวิธีการที่ช่วยให้คนเราคิดหาเหตุหาผลอยู่นั่นเอง ดังนั้นในบางกรณี rationalization ช่วยให้คนเราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุ และผลได้ง่ายขึ้น

compensation ในบางกรณีช่วยให้คนก้าวหน้ามาก เนื่องจากความต้องการ หรือแรงจูงใจอย่างรุนแรงที่จะได้วัตถุประสงค์ในด้านใดด้านหนึ่งให้ได้นั่นเอง บุคคลนั้นจึงอาจทำตนให้เป็นประโยชน์ หรือมีผลิตผลให้แก่สังคมได้ในระดับสูง

เราได้กล่าวถึงผลในทางคุณประโยชน์ของมาแล้ว และในแต่ละข้อก็มีทางที่จะแย้งในรูปของผลในทางที่เสียได้ทุกข้อ เช่น ในข้อที่หนึ่งเราอาจแย้งได้ว่า เมื่อความตึงเครียดในจิตใจคนผ่อนคลายลงแล้ว บุคคลนั้นอาจจะไม่ได้เรียนรู้การรู้จักใช้ความคิด ใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องได้เลยก็ได้ถ้าใช้กลวิธานในการป้องกันตัวบ่อยๆ

2. การปรับตัวแบบหลบหนี

มีบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยที่ใช้การหลบหนีเป็นกลวิธีในการปรับตัวของตนเพื่อหลบ ไม่ให้ต้องเผชิญกับสภาพความตึงเครียดอันเกิดจากความคับข้องใจ หรือสภาวะความขัดแย้งอีกต่อไป วิธีการนี้แบ่งออกเป็น

2.1 การถอยหนี ( withdrawal )

ในกรณีของความขัดแย้งที่เรื้อรังมานาน บุคคลอาจจะหาทางออกโดยแยกตัวเองจากสิ่งเร้า หรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งนั้น ๆ โดยสิ้นเชิง ทำคล้ายกับว่ามีกำแพงกั้นที่ตัดบุคคลนั้นไม่ให้ต้องเผชิญสถานการณ์นั้นอีกต่อไป อย่างนี้เรียกว่า การถอยหนี

2.2 การเพ้อฝัน ( fantasy )

การเพ้อฝัน หรือการฝันกลางวัน ( day – dreaming ) เป็นวิธีการสร้างมโนภาพเพื่อบำบัดความต้องการซึ่งมีไม่ได้ หรือไม่มีโอกาสที่จะมีได้ในชีวิตจริง การเพ้อฝันอย่างน้อยที่สุดก็ให้เกิดความสุขชั่วระยะหนึ่งซึ่งก็ยังดีกว่าไม่มีการบำบัดใด ๆ เลย

2.3 การปฏิเสธ ( negativism )

เนื่องจากความคับข้องใจอันเกิดจากการไม่ได้บำบัดในสิ่งที่ตนต้องการอย่างรุนแรงบุคคลนั้นนอกจากจะหนีบุคคล หรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความคับข้องใจแล้ว ยังทำให้เจตคติที่ไม่ดีที่ขมขื่นต่อบุคคล หรือสถานการณ์นั้น ๆ อีกด้วย บุคคลจึงเลือกวิธีการปฏิเสธ

2.4 การถดถอย ( regression )

เมื่อบุคคลบางคนประสบความผิดหวังในชีวิต บุคคลจะเลือกการปรับตัววิธีนี้คือการหวนกลับไปแสดงพฤติกรรมในอดีตซึ่งเคยได้รับความสำเร็จมาแล้ว ตัวอย่างเช่น เด็กที่ได้รับความคับข้องใจอย่างรุนแรง บุคคลจะหนีต่อสถานการณ์นั้นโดยการดูดอมมือ ในกรณีที่เด็กย้อนกลับไปมีพฤติกรรมในอดีตอีกนี้ นักจิตวิทยาหลายคนเชื่อกันว่าเนื่องจากเด็กต้องการความมั่นคงทางจิตใจ เพื่อต่อสู้กับความคับข้องใจที่เกิดขึ้น

2.5 schizophrenic reaction

เป็นวิธีการปรับตัวที่รุนแรงที่สุด บุคคลที่มีการปรับตัวประเภทนี้จะมีอาการรุนแรงบางครั้ง

เรียกว่าโรคจิต หรือพวกวิกลจริตนั่นเอง เมื่อมีปัญหาคับข้องใจรุนแรงบุคคลจะเลือกวิธีหนีจากสังคมโดยสิ้นเชิงขาดความสนใจในสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวโดยเด็ดขาด หมดความสามารถที่จะเข้าใจ และติดต่อกับบุคคลอื่นได้ แม้พฤติกรรมที่เป็นกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ก็กระทำด้วยความเชื่องช้า เลื่อนลอย และไม่ติดต่อกัน

3. การปรับตัวในรูปของความกลัวต่าง ๆ

ความกลัวอันเกิดจากการเรียนรู้ต่อสิ่งเร้าเฉพาะ หรือโฟเบีย ความกลัวเป็นแรงผลักดันให้บุคคลมีการกระทำที่สูงมาก เป็นความกลัวที่เกิดในจิตไร้สำนึก จากการศึกษาทดลองเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์ต่อความกลัว มีนักจิตวิทยาหลายท่านแสดงให้เห็นชัดว่า ความกลัวมีอำนาจชักนำให้อินทรีย์ขวนขวายที่จะหาทางขจัดสถานการณ์ที่เร้าให้เกิดความกลัวนั้น เช่น การทดลองของ miller กับหนู เครื่องมือที่ทำการทดลอง คือ กล่องซึ่งสร้างพิเศษโดยมีกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ บุอยู่ที่พื้นกล่อง และผู้ทดลองสามารถใช้ไฟฟ้าอ่อน ๆ นี้ ช๊อดหนูได้เมื่อต้องการ เมื่อหนูถูกไฟฟ้าดูดเพียงสองสามครั้งเท่านั้น เมื่อจับหนูใส่ลงไปในกล่องหนูจะแสดงความกลัวกล่องนี้อย่างเห็นได้ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการที่หนูเกร็งตัว งอตัว และปัสสาวะ หรืออุจจาระทันที เมื่อหนูอยู่ในกล่องแล้วไม้ช้าไม่นานนัก หนูจะเผอิญไปกดคันโยก และเมื่อดันประตูกล่องทดลองจะเปิดออกโดยอัตโนมัติ และหนูก็จะออกจากกล่องได้ และพ้นจากการถูกไฟฟ้าดูด จากการทดลองหลายๆ ครั้ง เมื่อหนูถูกจับใส่กล่องหนูจะเรียนรู้ที่จะกดคันโยกออกจากกล่องได้ทันที แสดงว่า ความกลัวอันเกิดจากการถูกไฟฟ้าดูดเป็นแรงจูงใจให้หนูต้องการที่จะเรียนรู้เพื่อหนีจากกล่องให้ได้โดยเร็วที่สุด และโดยทำนองเดียวกันนี้ มนุษย์เราก็เรียนรู้ที่จะมีความกลัวต่อสิ่งเร้า และสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัวตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น บุคคลที่เคยตกจากที่สูงอาจ จะกลัวที่สูง ไปตลอดชีวิตของเขา บุคคลที่เมื่อเด็กเคยหลงหาบิดามารดาไม่พบในกลุ่มฝูงคนในงานประจำเทศกาลต่าง ๆ หลังจากนั้นอาจกลัว หรือไม่ชอบที่จะอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก บุคคลที่เคยถูกขังอยู่ในตู้เสื้อผ้าเมื่อเด็ก ๆ อาจจะกลัวที่จะอยู่ในห้องคนเดียวมืด ๆ โดยปิดหน้าต่าง ประตูหมด จะเห็นได้ว่า แต่ละบุคคลก็มีความกลัวอันเกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์หนึ่ง ๆ ของคนซึ่งไม่เหมือนกัน

โฟเบีย จึงเป็นความกลัวแต่ความกลัวในรูปของลักษณะพิเศษ คือ ความกลัวที่เกิดในวัยเด็ก อินทรีย์เกิดความกลัวต่อสิ่งเร้าบางประการ ความกลัวนี้มีสิ่งเร้าอื่น ๆ เกี่ยวข้องกันอยู่ด้วยมากมาย เช่น ความอึดอัด ความวิตกกังกล ความกระวนกระวายใจ ความละอาย ความสำนึกผิด เป็นต้นเราอาจสรุปได้ว่า ความกลัวแบบโฟเบียเป็นความกลัวที่อินทรีย์มีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงมากต่อสิ่งเร้านั้น ๆ

เนื่องจากอินทรีย์เกิดปฏิกิริยารุนแรงกับสิ่งเร้า หรือสถานการณ์นั้นโดยเหตุที่สถานการณ์สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรง หรือเป็นตัวการสร้างความผิดหวัง อินทรีย์จึงไม่สามารถปล่อยให้ระลึกอยู่ได้ และพยายามกดดันให้เก็บฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกเสีย เมื่อกาลเวลาผ่านไปนาน ๆ เข้า สถานการณ์ หรือเหตุการณ์นั้นจึงถูกลืมไปสนิทโดยไม่มีทางที่จะระลึกกลับมาได้ใหม่อีก อย่างไรก็ดีเมื่ออินทรีย์อยู่ในสภาวะการณ์ที่เร้าเหมือนเดิม อินทรีย์จะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงไปอีก โดยที่เจ้าตัวก็หาสาเหตุไม่ได้เลยว่าเป็นเพราะอะไรจึงได้มีปฏิกิริยาเช่นนั้น

4. การปรับตัวในรูปความป่วยไข้ต่าง ๆ

เมื่อบุคคลไม่สบายใจ อินทรีย์ที่ประกอบด้วยกาย และจิตเป็นของที่แยกจากกันไม่ได้ แยกจากกันไม่ขาด ดังนั้นเมื่อใจป่วยอันเนื่องจากความคับข้องใจ ความอึดอัด ความวิตกกังวล ความกระวนกระวายใจ ร่างกายก็จะจึงป่วยไปด้วย การปรับตัวโดยสร้างความป่วยไข้ หรือการสร้าง ความพิการทางกายนี้ มีชื่อเรียกว่า ไซโคนิวโรซิส (psychoneurosis) วิธีการนี้เป็นการปรับตัวที่ผิดปกติซึ่งมีน้ำหนักไปในทางไม่ดีนัก แต่ก็ยังมีน้ำหนักน้อยกว่าเป็นโรคจิต ( psychosis )

ลักษณะอาการของผู้ป่วยประเภทนี้ ได้แก่ ฮีสทีเรีย ( hysteria ) การเป็นใบ้ การติดอ่าง การเป็นอัมพาต การชักกระตุก การเป็นลม การคลื่นไส้ วิงเวียน การรักษาเป็นเทคนิคชั้นสูงซึ่งควรจะได้รับการตรวจ และรักษาจากแพทย์ที่เรียนทางจิตเวชมาโดยเฉพาะ

5. ความวิตกกังวล

ความวิตกกังวลนี้เกิดขึ้นเนื่องจากสภาพความข้องคับใจที่ยังไม่ได้บำบัดแก้ไข หรือสภาพความขัดกันทางจิตใจที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ แก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นไป เมื่อเป็นเช่นนี้สภาพความตึงเครียดทางใจจึงยังคงอยู่

ความวิตกกังวลมีผลมาจากการกระทบกระเทือนต่อกายภาพของบุคคลมาก เพราะบุคคลนั้นจะหงุดหงิด อัตราการเผาผลาญภายในร่างกาย ( metabolism) สูง นอกจากนี้ความกระวนกระวายใจยังมีผลกระทบกระเทือนต่อประสิทธิภาพการทำงานของบุคคลเป็นอย่างมาก เพราะบุคคลนั้นจะ งุ่นง่าน หมดสมาธิ และคิดไม่ได้ถูกต้องเฉียบแหลมเท่าที่ควร การลดความวิตกกังวล ผู้นั้นควรหาที่ปรึกษาที่ตนเชื่อถือศรัทธา เพื่อที่จะได้ปรึกษาถึงวิธีแก้ปัญหา เมื่อแก้ปัญหา หรือตัดสินใจได้ความกระวนกระวายใจจะหมดสิ้นไปเอง

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่จะใช้กลไกป้องกันตัวเองเพื่อแก้ปัญหาของตนเอง หรือเพื่อลดความวิตกกังวล ความเครียด หรือความคับข้องใจ ดังนั้น กลไกป้องกันตัวเองจึงสามารถนำไปใช้ได้หลาย ๆ ทางแต่การนำไปใช้ก็จะต้องมีขอบเขตหากใช้บ่อยครั้งเกินไป และใช้โดยปราศจากเหตุผล ก็มักจะมีแนวโน้มที่จะเกิดโทษมากกว่าประโยชน์ และจะมีผลกระทบต่อการปรับตัวของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้นหากนำไปใช้โดยยึดทางสายกลางเป็นหลัก โอกาสที่จะช่วยในการปรับตนให้อยู่รอด และอยู่ได้ด้วยความสุขก็จะมีมากขึ้น

การแก้ปัญหาทางจิตวิทยา

การเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาส่วนตัว ปัญหาของสังคม ปัญหาความเครียด ความวิตกกังวล ความคับข้องใจ ความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ ความไม่สมหวังในชีวิต ตลอดทั้งภยันตรายต่าง ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานบางประการ เพื่อประเมินสภาพการณ์ที่เป็นปัญหาโดยมีลำดับขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาความเครียด หรือภยันตรายต่าง ๆ ลักษณะของบุคลิกภาพส่วนบุคคล ที่จะช่วยคลี่คลายปัญหา และเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง ในการแก้ปัญหาทางจิตวิทยา ควรพิจารณาดังนี้คือ

1. ลักษณะพื้นฐานบางประการเพื่อประเมินสภาพการณ์ที่เป็นปัญหา

สำหรับในเรื่องนี้จะพิจารณาเกี่ยวกับเกณฑ์การประเมินสภาพการณ์ที่เป็นปัญหา ซึ่งเกณฑ์ต่างๆ นั้นจะเกี่ยวข้องกับความรุนแรงของปัญหา และองค์ประกอบต่างๆ ในการพิจารณาเรื่องความรุนแรงของปัญหา สำหรับความรุนแรงของปัญหา ในที่นี้จะหมายถึง ระดับของความยุ่งยาก ความ วิตกกังวล ความสับสน ตลอดทั้งการขาดดุลยภาพ หรือความไม่สมดุลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อการปรับตัวของบุคคลนั้น

ส่วนองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อพิจารณาความรุนแรงของปัญหานั้น เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่แต่ละคนประสบจะรุนแรง หรือนำความยุ่งยากใจมาสู่บุคคลนั้น ๆ มากน้อย เพียงใดนั้น สามารถพิจารณาได้จากองค์ประกอบต่าง ๆ ต่อไปนี้คือ ลักษณะของปัญหาลักษณะส่วนบุคคล และแหล่งให้การสนับสนุน และช่วยเหลือ

1. ลักษณะของปัญหา ประกอบด้วย

1.1 ความสำคัญของปัญหา ปัญหาบางประการจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับบุคคลบางคน แต่อาจจะไม่มีความสำคัญกับอีกบุคคลหนึ่งเลย ดังนั้น การพิจารณาความสำคัญของปัญหา จึงควรจะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นกับปัญหาที่เกี่ยวข้อง หรือระหว่างปัญหานั้น ๆ กับสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น

1.2 สภาพการเกิดของปัญหา ปัญหาบางปัญหาเกิดขึ้น หรือเป็นผลสืบเนื่องมาจากความต้องการ ความปรารถนา ความคับข้องใจ ความขัดแย้ง หรือความกดดัน การรับรู้ ของแต่ละบุคคล ความรุนแรงของปัญหาที่เกิดแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น นอกเหนือจากความสำคัญของปัญหานั้น ๆ แล้วยังสัมพันธ์กับลักษณะ หรือสภาพของการเกิด หรือสาเหตุของปัญหานั้น ตลอดทั้งสภาพของบุคคล หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วย

ความซับซ้อนของปัญหา ปัญหาบางปัญหาง่ายแก่การเข้าใจแต่บางปัญหานั้น แม้ว่าจะพยายามทำความเข้าใจ ก็ยากยิ่งที่จะเข้าใจได้ ซึ่งอาจจะต้องอาศัยเวลาในการแก้ปัญหา หรืออาจจะต้องขอรับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น เพื่อให้เกิดความกระจ่างในปัญหานั้น ๆ ยิ่งขึ้น ซึ่งก็อาจจะช่วยลดความรุนแรงของปัญหานั้นได้

การอุบัติของปัญหา ปัญหาบางประการนั้นเกิดขึ้นแก่บุคคลอย่างฉับพลันบุคคลนั้น ๆ ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะต้องประสบกับปัญหานั้น ๆ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันนั้น บางปัญหาก็กลายมาเป็นตัวคุกคามทำลายขวัญทำให้บุคคลต้องได้รับความยุ่งยากใจ กระทบกระเทือนใจ หรือไม่สามารถจะเผชิญปัญหานั้น ๆ ได้ ในบางครั้งอาจทำให้เกิดความแปรปรวนทางบุคลิกภาพ และมีผลกระทบต่อการปรับตัวของบุคคลนั้น ๆ เช่น ภยันตรายที่ได้รับจากการประสบอัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย หรือการสูญเสียต่าง ๆ ในรูปแบบต่างๆระยะเวลาที่ปัญหานั้นๆ เกิดขึ้น ช่วงเวลา หรือความยาวนานของปัญหาที่เกิดขึ้น นั้นๆเป็นลักษณะหนึ่งของปัญหาซึ่งอาจจะเพิ่มความรุนแรงของปัญหาให้มากยิ่งขึ้น สำหรับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น หากปัญหาใดเกิดขึ้นแล้ว และบุคคลที่เผชิญปัญหานั้น ๆ สามารถแก้ปัญหานั้น ๆ ให้สิ้นสุดลงได้ในระยะเวลาสั้นๆ ความรุนแรงของปัญหานั้นๆ อาจจะลดลง หรือหมดสิ้นไปแต่หากว่าบุคคลใดต้องเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นช่วงระยะเวลายาวนาน หรือต้องประสบกับปัญหานานา ประการอย่างไม่จบสิ้น ความเครียด ความวุ่นวายทางจิตใจ ความแปรปรวนของบุคลิกภาพ ตลอดทั้งความไม่ปกติทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ก็อาจจะเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นๆ ได้ ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนต่อการปรับตัวของบุคคลนั้นๆ ในที่สุด

2. ลักษณะส่วนบุคคล ประกอบด้วย

2.1 ระดับความสามารถของแต่ละบุคคลในการแก้ปัญหา ปัญหาใด ๆ ก็ตามที่แต่ละบุคคลต้องเผชิญจะรุนแรงมากน้อยเพียงใดนั้น ส่วนหนึ่งจะขึ้นกับศักยภาพ และความสามารถของบุคคลนั้น ๆ สำหรับบุคคลที่มีความสามารถสูง โอกาสที่บุคคลนั้นจะพิจารณาหาทางแก้ปัญหาจะมีมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้ความรุนแรงของปัญหา หรือสภาวะความวุ่นวายใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะลดลง นอกจากนี้ประสบการณ์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ จะช่วยในการพิจารณาแนวทางที่จะเผชิญปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยทั่วๆ ไปแล้วจะปรากฏว่าระดับสติปัญญา พัฒนาการทางอารมณ์ และสังคมของแต่ละบุคคล มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับศักยภาพ และความสามารถในการปรับตัว บุคคลที่มีระดับสติปัญญาสูง มักจะมีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความพร้อม และเป็นที่ยอมรับของบุคคลในสังคม โดยมากจะปรากฏว่าศักยภาพ และความสามารถในการปรับตัวของบุคคลนั้น อาจจะมิใช่ลักษณะเพียงประการเดียวที่จะนำมาประกอบในการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ บุคคลนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าใจความสามารถที่แท้จริงของตนเองแล้ว เขาจะต้องสามารถรับรู้ และนำความสามารถของตนที่มีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ และแม้ว่าบุคคลบางคนจะมีความสามารถสูง แต่หากเขาพิจารณาตนเองว่าเขาไม่มีความสามารถ วิถีทางในการเผชิญปัญหาของบุคคลนั้นก็จะเปลี่ยนไป เขาอาจจะประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาต่างๆ ในที่สุด แต่หากเขามีความเชื่อมั่นในตนเอง เชื่อในความสามารถของตนเอง และคาดหวังว่าการแก้ไขปัญหานั้นๆ มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จ

2.2 การรับรู้เกี่ยวกับปัญหา การรับรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเราเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะช่วยพิจารณา และประเมินเกี่ยวกับปัญหานั้น ๆ ว่าสำคัญ หรือมีความรุนแรงเพียงใด หรือปัญหานั้น ๆ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น ตลอดทั้งสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใดการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาอย่างมีสติ คำนึงถึงสภาพการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำให้บุคคลเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา หรือสภาวะการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ด้วยตนเอง หรือได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดทั้งรู้จักยืดหยุ่น ผ่อนปรนเกี่ยวกับปัญหา หรือสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะสามารถช่วยในการปรับพฤติกรรม ตลอดทั้งการปรับตัวของบุคคลนั้นได้อย่างเหมาะสมยิ่ง

2.3 ความอดทนต่อสภาวะที่เป็นปัญหา จะเกี่ยวข้องกับปริมาณของสภาวะที่เป็นปัญหาที่บุคคลสามารถจะอดทน หรือยอมทน หรือใจกว้างที่จะทนต่อสภาวะ ที่เป็นปัญหานั้นๆ ได้ สำหรับปัญหา หรือสภาวะที่เป็นปัญหาบางประการนั้น บางคนก็ทนได้บางคนก็ไม่สามารถจะอดทนที่จะเผชิญปัญหานั้น ๆ ได้ อุบัติเหตุ ความผิดหวัง หรือปัญหาชีวิต ฯลฯ ล้วนแล้วแต่นำความยุ่งยาก ความลำบาก ความสับสน ความวุ่นวายใจ มาสู่บุคคลที่เผชิญกับปัญหา หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้น อีกทั้งยังมีอิทธิพลต่ออารมณ์ สภาพทางจิตใจ ตลอดทั้งกระทบ กระเทือนสภาพทางร่างกายของบุคคลนั้น ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ประสบการณ์บางประการที่เป็นรอยร้างของชีวิต และจิตใจอาจจะก่อให้เกิดความลำบาก ยุ่งยากใจ แก่บุคคลนั้น ๆ หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถจะยอมรับสภาพความเป็นจริงต่าง ๆ ที่เขาต้องเผชิญ นอกจากนี้ หากสภาวะที่บุคคลประสพ หรือต้องเผชิญมีความรุนแรง หรือวิกฤตมาก บุคคลนั้น ๆ อาจไม่สามารถจะเผชิญต่อสภาวะนั้นได้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมานั้นอาจจะทำให้บุคคลนั้นมีบุคลิกภาพแปรปรวน และอาจจะมีความผิดปกติทางจิตใจในที่สุด ตัวอย่าง ประสบการณ์ที่เป็นรอยร้าวของชีวิต ได้แก่ การที่บุคคลบางคนต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของเขา และบุคคลนั้นไม่สามารถจะทนต่อสภาวะที่ขาดบุคคลอันเป็นที่รักได้ หรือความร้าวราญที่เกิดจากสภาพบ้านแตก ขาดบิดา หรือมารดา หรือขาดผู้อุปภาระ หรือแม้กระทั่งการขาดสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัว ก็อาจจะนำความลำบาก ยุ่งยากมาให้แก่บุคคลบางคนหากว่าบุคคลนั้นไม่สามารถจะยอมรับสภาพความเป็นจริงนั้น ๆ ได้ หรือสภาพชีวิตสมรสที่ปราศจากความสุข และต้องเผชิญกับปัญหาหย่าร้างในที่สุด หากบุคคลนั้น ๆ ไม่สามารถจะเผชิญต่อสภาพนั้น ๆ ได้ และต้องประสพแต่ความผิดหวัง ความเศร้า ซึ่งเป็นผลที่ทำให้ความสุข ตลอดทั้งความสำเร็จต่าง ๆ ที่เขาควรจะได้รับในชีวิตก็จะจบสิ้นลง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม สภาวะปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จะหมดสิ้นลงได้หากบุคคลนั้นมีความอดทน สามารถใช้สติปัญญาเป็นดวงประทีปที่จะแสวงหาวิธีการที่จะเผชิญต่อสภาวะที่ไม่พึงปรารถนา เพื่อให้ตัวเขาสามารถมีชีวิตอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข

3. แหล่งให้การสนับสนุน และช่วยเหลือแหล่งให้การสนับสนุน และช่วยเหลือการเผชิญปัญหาบางประการ และการหาทางแก้ปัญหานั้นๆ ด้วยตนเองตามลำพังนั้นบางครั้งอาจจะไม่ประสพความสำเร็จ บุคคลในครอบครัว เช่น บิดา มารดา พี่ น้อง หรือแม้กระทั้งญาติ หรือบุคคลในสังคม เพื่อน ครู อาจารย์ ผู้ชำนาญพิเศษเฉพาะทาง ผู้นำทางศาสนา เป็นต้นบุคคลเหล่านี้สามารถจะช่วยบำบัดปัดเป่าปัญหาต่าง ๆ ให้ลดน้อยลงได้สำหรับปัญหาต่าง ๆ ตลอดทั้งสภาวะที่ก่อให้เกิดความคับข้องใจ ความขัดแย้ง หรือความกดดันนั้นอาจจะได้แก่ปัญหาเกี่ยวกับสัมพันธภาพภายในครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศักยภาพ เชาว์ปัญญา อารมณ์ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น หากมีแหล่ง หรือบุคคลภายนอกที่มีความสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือให้ความกระจ่าง ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา หรือเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม และถูกต้อง ปัญหาที่บุคคลนั้น ๆ ประสบก็จะค่อย ๆ คลี่คลายให้เบาบางลงได้ และในที่สุดบุคคลนั้นก็จะสามารถปรับตัว และมีจิตใจที่เป็นสุข และหากว่าเขาจะต้องเผชิญต่อสภาพปัญหา หรือสภาวะวุ่นวายทางจิตใจต่างๆ ในอนาคตบุคคลก็จะสามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี

2. ลำดับขั้นตอนในการแก้ปัญหา ความเครียด หรือภยันตรายต่าง ๆ เพื่อการปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนคือ

1. ประเมินสถานภาพของปัญหาโดยศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหา ความเครียด ภยันตราย หรือสภาวะความวุ่นวายทางจิตใจที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ทราบว่า ปัญหา ที่แท้จริงคืออะไร องค์ประกอบของปัญหาประกอบด้วยองค์ประกอบอะไรบ้าง ( เช่น องค์ประกอบที่เกี่ยวกับบุคคล หรือองค์ประกอบที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม หรือสิ่งอื่นๆ ชนิดของปัญหาเป็นปัญหาชนิดใด ( เช่น ปัญหาที่เป็นความจริง ( Fact Problem ) ปัญหาที่เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ ( Scientific Problem ) ปัญหาทางจิตใจ ( Psychological Problem ) ปัญหาทางอารมณ์ ( Emotional Problem ) หรือปัญหาเกี่ยวกับผลประโยชน์ ( Beneficial Problem ) ปัญหานั้น ๆ มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด มีสาเหตุ และความเป็นมาอย่างไร และจะต้องใช้ความพยายามเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาให้เหมาะสมได้อย่างไร

2. พิจารณาหาแนวทางเพื่อดำเนินการแก้ปัญหา โดยพิจารแนวทางต่าง ๆ หลาย ๆ แนวทางที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่การแก้ปัญหา แล้วพยายามเลือกแนวทางที่พิจารณาแล้วว่าเหมาะสมที่สุด หรือเป็นไปได้มากที่สุดที่จะนำมาดำเนินการแก้ปัญหานั้น ๆ สำหรับการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่มีคุณค่า สอดคล้อง เหมาะสมกับปัญหา และเอื้ออำนวยแก่การแก้ปัญหา เพื่อนำมาประกอบการกำหนดแนวทางการคลีคลาย หรือแก้ปัญหานั้น ๆ สำหรับข้อมูลบางประการนั้น นอกจากจะได้รับจากแหล่งเอกสาร และบุคคลแล้ว ยังอาจจะได้รับจากแหล่งบริการความช่วยเหลือต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ ในระหว่างรวบรวมข้อมูลจะต้องคำนึงถึงเวลาประกอบด้วย เพราะปัญหาบางปัญหา หากยืดเยื้อ ใช้เวลารวบรวมข้อมูลมากเกินไปก็อาจจะสายเกินกาล และนอกเหนือจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ปรากฏว่า ประสบการณ์ ตลอดทั้งเทคนิคในการรวบรวมข้อมูลมีความสำคัญย่างยิ่งอีกประการหนึ่งด้วย

3. ดำเนินการแก้ปัญหาภายหลังที่ได้พิจารณาตกลงใจแล้วว่า จะดำเนินการตามแนวทางใด หรือวิถีทางใดแล้วก็ควรจะลงมือดำเนินการแก้ปัญหานั้น ๆ ทันที ขณะดำเนินการแก้ปัญหาก็จำเป็นจะต้องดำเนินการตามเป้าหมาย ใช้ความมีเหตุผลพิจารณาประกอบ ขณะเดี่ยวกันหากจะเป็นจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะต้องดำเนินการตามความจำเป็น และเหมาะสม เพื่อให้วิถึทางการแก้ปัญหานั้น ๆ สมบูรณ์ขึ้น

4. ประเมินผลการแก้ปัญหา และรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของบุคคลอื่น เพื่อดำเนินการปรับปรุง หรือแก้ไขข้อบกพร่องให้ถูกต้อง และเหมาะสมยิ่งขึ้น

ภายหลังที่ได้ดำเนินการแก้ปัญหาตามแนวทางที่พิจารณาว่า เหมาะสมที่สุดแล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประเมินผลของการแก้ปัญหา โดยประเมินผลของการดำเนินงานการแก้ปัญหาว่าได้รับผลอย่างไร หรือสิ่งที่ได้กระทำไปแล้วเป็นอย่างไร ควรจะปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมประการใดบ้าง และนอกจากจะประเมินผลด้วยตนเองแล้ว ยังอาจจะรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น ตลอดทั้งข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง หรือพยายามดำเนินการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้การประเมินผลการดำเนินงาน และการรับฟังข้อคิดเห็น และ ข้อเสนอแนะที่ได้รับนั้นจะช่วยให้ ได้เรียนรู้วิธีการ หรือวิถีทางที่จะเผชิญปัญหาต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต

ได้เข้าใจตนเอง และบุคคลอื่น ตลอดทั้งสังคมที่แวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น สามารถกระทำ หรือดำเนินการใด ๆ ได้อย่างมีเป้าหมายที่เหมาะสม และมีคุณค่ายิ่งขึ้น และสามารถเพิ่มศักยภาพในการเผชิญปัญหาต่าง ๆ ตลอดทั้งมีความอดทน รู้จักชั่งใจรู้จักการรอ ตลอดทั้งอดทนต่อปัญหา ความเครียด หรือสภาวะต่าง ๆ ที่คุกคาม

3. ลักษณะของบุคลิกภาพส่วนบุคคลที่จะช่วยคลี่คลายการแก้ปัญหา และแนวทางในการพัฒนาตนเอง มีรายละเอียดดังนี้คือ

3.1 ลักษณะของบุคลิกภาพส่วนบุคคลที่จะช่วยคลี่คลายปัญหา และเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาประกอบด้วยบุคลิกภาพดังนี้

  • เจตคติต่อตนเอง โดยบุคคลนั้นจะต้องมีเจตคติที่ดีต่อตนเอง มีความเข้าใจตนเอง ยอมรับตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความรับผิดขอบต่อตนเอง และผู้อื่น สามารถประเมินสิ่งที่ตนมีอยู่ และสามารถใช้พลังความรู้ความสามารถที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในทางที่ดี และเหมาะสม
  • การรับรู้ความเป็นจริง โดยเข้าใจพฤติกรรมของตนเองอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง สามารถเข้าใจพฤติกรรมของเพื่อนร่วมโลก และทุกสิ่งทุกอย่างที่แวดล้อมได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตลอดทั้งสามารถแสดงบทบาทที่เหมาะสมกับความเป็นจริง
  • การประสานกลมกลืนของบุคลิกภาพ โดยมีองค์ประกอบของบุคลิกภาพทีประสานกลมกลืนกัน มีอิสระที่จะคิด สามารถเผชิญกับอุปสรรค และข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในตนเองได้ ตลอดทั้งมีความอดทนในการเผชิญต่อความเครียด และสภาวะต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาได้อย่างเหมาะสม
  • ความสามารถต่าง ๆ โดยบุคคลนั้นมีความสามารถที่จะพัฒนาความ สามารถทางร่างกาย จิตใจ เชาว์ปัญญา อารมณ์ และสังคมของตนเอง และที่แวดล้อมเพื่อที่จะสามารถเผชิญปัญหาต่าง ๆ ชองชีวิตทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตได้อย่างเหมาะสมตลอดทั้งมีความสามารถที่จะทำงาน และอยู่ร่วมกันบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุข
  • ความเป็นตัวของตัวเอง โดยมีความไว้เนื้อเชื่อใจตนเอง มีความมั่นใจ และเชื่อมั่นในตนเอง มีความไว้วางใจตนเอง มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และสังคม มีความเป็นอิสระจากอิทธิพลต่าง ๆ ในสังคม ตลอดทั้งมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน และมีขอบเขตที่แน่นอน
  • ความเจริญแห่งตน โดยมีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโต มีความเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะ โดยมีบุคลิกภาพน่าเคารพ น่าศรัทธา จะติดต่อกับใครก็มัก จะได้รับการต้อนรับอย่างดี งานต่าง ๆ ที่ทำก็จะประสพความสำเร็จมากกว่าผิดหวัง นอกจากนี้ยังมีการปฏิบัติตนในลักษณะของผู้มีความเป็นผู้ใหญ่คือ สามารถควบคุมอารมณ์ได้สูงไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใดของอารมณ์ มีความสุขุม น่านับถือ น่าศรัทธา มีความสามารถในการรับฟังที่ทำให้ผู้ฟังมีความสุข และอยากสนทนาด้วย มีความสามารถในการเข้าใจบุคคลที่สนทนา หรือมาติดต่อด้วย รู้จักการให้อภัย ไม่ถือโกรธ และพร้อมที่จะยกโทษ และมีความสามารถในการใช้อารมณ์ ไม่อ่อนไหว คือสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ นอกจากจะมีความเป็นผู้ใหญ่แล้ว ยังมีสมรรถภาพในการดำเนินงานเพื่อความสำเร็จของเป้าหมายในชีวิต มีพฤติกรรมที่แสดงถึงบทบาทในการทำงานให้สำเร็จ และเจริญก้าวหน้า ตลอดทั้งมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความสามารถในการส่งเสริม และรักษาสัมพันธภาพภายในกลุ่ม และระหว่างกลุ่มที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสมยิ่ง

3.2 แนวทางการพัฒนาตนเอง หรือพัฒนาตัวบุคคล ในการที่จะช่วยให้ตนเองมีสุขภาพจิตสมบูรณ์ สามารถผ่านพ้นปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาตนเองควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตของตนภายใต้สังคมที่แวดล้อมได้ด้วยความสุข ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสพ รัตนากร ( 2523 , หน้า 36 – 38 ) ได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาตัวบุคคลไว้ดังต่อไปนี้ โดยแต่ละบุคคลควรจะต้องรู้จักให้ โดยแต่ละบุคคลควรจะมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน ตลอดทั้งสามารถให้กำลังใจแก่กัน และกันได้

  • รู้จักให้โดยแต่ละบุคคลควรจะมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน ตลอดทั้งสามารถให้กำลังใจ แก่กัน และกันได้
  • รู้จักพอ และรู้จักประมาณตน เพื่อทำให้จิตใจของเราเองสงบ และสังคมก็จะสงบตามไปด้วย
  • รู้จักยอม ซึ่งในที่นี้จะหมายถึง รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวมากกว่าจะชิงดีชิงเด่น ประหัตประหารกัน หรือเอาชนะกันด้วยเล่ห์เหลี่ยม
  • รู้จักเชื่อฟังในเหตุผลของบุคคลอื่น ไม่กระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมด้วย
  • รู้จักเกรงใจ และเห็นอกเห็นใจบุคคลอื่น โดยคำนึงถึงใจเขาใจเราควรจะมีธรรม และศิลธรรมประจำใจ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจแก่บุคคลอื่น
  • มีความอดกลั้น ในที่นี้จะหมายถึง อดทนทั่ว ๆ ไป อดทนต่อปัญหาความเครียด ปัญหาชีวิต และปัญหาอื่น ๆ อดทนที่จะปฏิบัติหน้าที่ และมีความรับผิดชอบนอกจากนี้ ควรจะต้องอดรอคือ รอเวลา ซึ่งจะต้องอดทนรอเวลา ทั้งนี้เพราะว่า บางสิ่งบางอย่างที่เราต้องการจะพูดนั้น หากเราสามารถอดกลั้นที่จะพูดก็จะดีพูดออกไปเพราะผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการรอเวลามักจะคุ้มค่าแก่การรอ
  • รู้จักให้อภัยซึ่งดีกว่าการผูกโกรธ
  • เห็นผู้อื่นดีกว่าตน ดีกว่าเห็นตนดีกว่าผู้อื่น
  • สามารถชนะตนดีกว่าชนะผู้อื่น ตลอดทั้งสามารถชนะกิเลสต่าง ๆ ด้วย ซึ่งดีกว่าชนะสิ่งใด ๆ ทั้งหมด

ลักษณะของบุคคลที่มีการปรับตัวดี

ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตเป็นปัญหาเฉพาะบุคคล เนื่องจากว่าบุคคลนั้นมีปัญหา และจะต้องแก้ปัญหาเอง เรื่องการแก้ปัญหานี้เป็นเทคนิคเฉพาะตัว ซึ่งแต่ละคนมักจะต้องค้นหาทดลองด้วยตัวเอง คลินิก ผู้เชียวชาญ จิตแพทย์ เพื่อน ฯลฯ เป็นแต่เพียงผู้ช่วยเหลือให้เราช่วยแก้ปัญหาด้วยตนเองได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อได้กล่าวถึงคุณลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพจิตดีมาแล้ว ข้อแนะนำถึงวิธีการปรับตัวที่ถูกต้องเพื่อที่จะมีสุขภาพจิตที่ดีได้ จึงควรติดตามมา เพื่อที่จะได้ทราบถึงวิธีการโดยทั่ว ๆ ไปที่นิยมปฏิบัติกัน

1. พยายามเข้าใจตนเอง

คุณลักษณะโดยทั่วไปของผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดี และมีการปรับตัวที่ถูกต้องคือผู้ที่กล้าเผชิญความจริงเกี่ยวกับตนเอง ไม่หลอกตัวเอง เขาเป็นผู้ที่ยอมรับ และมีความอดทนต่อความวิตกกังกล ความว้าวุ่นใจ โดยเขายอมรับว่าความวิตกกังวล ความกลัว เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หากเรากล้าเผชิญความจริงข้อนี้ได้ เราก็จะมีความมั่นคงในจิตใจ และสามารถแก้ปัญหา และตัดสินใจด้วยตนเองได้ ซึ่งต้องพยายามเลี่ยงการใช้กลวิธานในการป้องกันตนเอง และพยายามเข้าใจ ความต้องการของตน ดังจะอธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้คือ

  • พยายามเลี่ยงการใช้กลวิธานในการป้องกันตนเองอย่าใช้มากจนเกินไป คนที่มีความอดทนต่อความวิตกกังวลมักไม่มีความจำเป็นต้องใช้ บุคคลที่มีการปรับตัวดีมักจะรู้สึกตัวก่อนใช้กลวิธานในการป้องกันตนเอง และมักจะรู้อยู่แก่ใจแล้วว่าตัวเองพยายามจะใช้ ตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่เริ่มต้นบ่นอาจารย์ผู้สอนในการที่ตนได้คะแนนไม่ดีนัก ในที่สุดมักจะรู้สึก ว่าตนก็กำลังใช้ เหตุผลซึ่งก็เป็นกลวิธานในการป้องกันตนอีกชนิดหนึ่ง แต่โดยสภาพความจริงถ้านักศึกษาผู้นั้นเข้าเรียนสม่ำเสมอ พยายามทำความเข้าใจในเนื้อหา ส่งรายงานอยู่เสมอก็คงไม่ถึงกับได้คะแนนไม่ดี ดังนี้เป็นต้น
  • เข้าใจความต้องการของตนเอง จุดมุ่งหมายของตนเรา เราต้องรู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไรเช่น นักศึกษาที่บ่นอาจารย์ผู้สอนในการที่ตนได้คะแนนไม่ดี หากนักศึกษาผู้นั้นหันมาถามตนเองว่า“เราต้องการอะไรแน่” เขาก็จะต้องยอมรับกับตนเองว่าคำตอบก็คือ ต้องการได้คะแนนดีโดยที่ไม่ต้องเข้าชั้นเรียนหนังสือ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเขาก็ต้องตัดสินใจว่าเขาต้องการอะไรแน่ระหว่างคะแนนดีกับการเข้าชั้นเรียนด้วยความสม่ำเสมอ และทำงานมอบหมายส่งทัน ตามกำหนด

2. เข้าใจจุดมุ่งหมาย และเข้าใจความต้องการของตัวเอง

การเข้าใจจุดมุ่งหมาย และเข้าใจความต้องการของตนเองเป็นของดีที่คนเราจะมีจุดมุ่งหมายในชีวิต เช่น ต้องการเป็นแพทย์ วิศวกร เภสัขกร นักส่งเสริมการเกษตร มีอาชีพอิสระ ทำธุรกิจ ฟาร์มโคนม เหล่านี้ล้วนเป็นจุดมุ่งหมายทั้งนั้น แต่จุดมุ่งหมายไม่ใช่ของตายตัวที่อะลุ้มอะล่วยยืดหยุ่นกัน ไม่ได้เลยการตั้งจุดมุ่งหมายที่สูงเกินระดับความสามารถของเรามากนัก มักก่อให้เกิดความคับข้องใจ ความวิตกกังวลอยู่เสมอ การปรับจุดมุ่งหมายให้พอดี กับระดับที่เราสามารถทำให้สำเร็จจะขจัดความคับข้องใจโดยไม่จำเป็นให้หมดไปได้ ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้

  1. การลดสภาพความขัดแย้งทางจิตใจ และความคับข้องใจ ระบบสังคมของเราในปัจจุบันนี้ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสลับซับซ้อนมาก และจุดมุ่งหมายของเราก็มีมากมายจนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะเกิดมาโดยไม่เคยพบสภาพความขัดแย้ง หรือความคับข้องใจได้ ดังนั้นวิธีเดี่ยวที่เราสามารถแก้ได้คือ การลดสภาพความขัดแย้ง และความคับข้องใจลงให้น้อยที่สุดด้วยการพยายามหาโอกาส ให้ความต้องการได้ บำบัดทั่วถึงกันตัวอย่างเช่นนักศึกษาที่ต้องการได้คะแนนดีแต่ในเวลาเดียวกันต้องการได้ชื่อเสียง ความมีหน้ามีตา ในการเป็นนักกีฬาด้วย การลดสภาพความขัดกันอาจทำได้โดยพยายามให้ความต้องการทั้งสองอย่างได้บำบัดโดยแบ่งเวลาคืนหนึ่งสำหรับการเรียน และคืนหนึ่งสำหรับฝึกซ้อมกีฬาด้วย
    ฝึกจิตใจให้อดทนต่อความคับข้องใจดังได้กล่าวแล้วว่า คนเราไม่สามารถได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ และในเวลาที่ต้องการเสมอไปหมดได้ การทำใจให้อดทนต่อความข้องคับใจเป็นของฝึกได้โดยฝึกหัดใจให้อดทนในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน เช่น ความข้องคับใจในการคอยรถเมล์ ความอึดอัดในการหาที่ร่มจอดรถไม่ได้ ถ้าในเรื่องเล็ก ๆ นี้ เราสามารถอดทนได้ เราก็พร้อมที่จะอดทนต่อความข้องคับใจในเรื่องใหญ่ ๆ ต่อไปได้
    การพูดถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความไม่พอใจ โดยสามารถระงับอารมณ์ได้พอสมควรคนบางคนสามารถพูดถึงสิ่งที่ก่อความระคายใจ เคืองใจได้โดย ไม่เสียเพื่อน หรือเสียความนับหน้าถือตา และคนบางคนไม่สามารถพูด หรือระบายความอึดอัดใจได้เลย เทคนิคเหล่านี้เป็นของที่ฝึกหัดได้โดย ค่อยทำค่อยไปแล้วจะค่อย ๆ ทำได้เอง ทำงานที่เป็นประโยชน์งานที่เป็นประโยชน์ช่วยไม่ให้เราคิดถึงความขัดแย้งมากนัก และเมื่อมีงานที่สนใจทำ ความสำเร็จจากการทำงาน มักช่วยให้จิตใจสบายขึ้น
  2. ฝึกทำใจให้มีสมาธิ ไม่ยึดติด ยืดหยุ่น รู้จักให้อภัย ไม่อิจฉาริษยา ไม่มุ่งร้าย ซึ่งจะทำให้จิตใจเศร้าหมอง ขาดความสุขในการดำเนินชีวิต
  3. ฝึกคิดในทางที่ดี คิดในทางบวก คิดตลกๆ เช่น คิดว่าเออดีคิดได้อย่างไร เป็นแนวคิดที่แปลกอีกแบบหนึ่ง คิดได้ไง บางที่เอาสิ่งที่เครียดๆ มาคิดสนุกๆ ความทุกข์ก็ลดลงได้
  4. ลดจุดมุ่งหมายในชีวิตลงบ้าง บางคนตั้งเป้าหมายของชีวิตไว้สูงเกิน บางทีทางที่จะไปให้ถึงดวงดาวอาจไปไม่ได้ทุกคน แต่เมื่อเราไม่สามารถไปให้ถึง ตามความต้องการที่เรามุ่งหวัง เราก็ลดเป้าหมายตัวเราเองลงได้ สำรวจตนเองว่าเราชอบอะไร เราทำอะไรได้ ชีวิตก็มีความสุขขึ้น
ลักษณะของบุคคลที่ปรับตัวดี

ลักษณะของคนที่มีสุขภาพจิตดี และสามารถปรับตนเองได้ ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

  1. ต้องมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน และประกอบกับมีจิตใจที่เป็นสาธารณะ เป็นผู้ไม่เอาเปรียบสังคม เป็นผู้รู้จักประมาณตน มีจิตใจเอื้อเผื่อแผ่ พร้อมที่จะช่วยคนอื่นแบบไร้เงื่อนไข ร่างกายที่สวยงามอยู่ในจิตใจที่งดงามเช่นกัน
  2. ต้องสามารถควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกได้ มนุษย์ทุกคนมีความรู้สึก มีเลือดเนื้อ มีชีวิต มีสิ่งเร้าใด ๆ มากระทบไม่ต้องตาต้องใจ ไม่ถูกหูถูกใจ หรือต้องตาต้องใจ เหล่านี้บุคคลต้องพิจารณา ต้องฟัง ต้องไม่เอาอารมณ์ และความรู้สึกรัก ชอบ เกลียด เข้าตัดสินสิ่งเร้านั้นๆ หรือสถานการณ์นั้นๆ โดยใช้เกณฑ์จากตนเองประเมินการกระทำเช่นนี้เรียกว่า ยังควบคุมอารมณ์ไม่ได้เพราะ อารมณ์เป็น ความตึงเครียด ซึ่งทำให้อินทรีย์พร้อมที่จะ แสดงออก เพื่อตอบสนองความต้องการที่ตนรู้สึก การเป็นคนเจ้าอารมณ์ไม่เกิดผลดีต่อบุคคลเลย บุคคลที่ต้องการมีสุขภาพจิตที่ดีต้อง พยายามควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกให้ได้

    3. ต้องเป็นผู้มีความสามารถยอมรับความจริง มองโลกตามที่เป็น มองในแง่ดี มองอะไรดี ๆ ดังนั้นเราทุกคนจึงควรอยู่อย่างรู้ตัว อยู่อย่างมีสติ และรู้ว่าที่นี่ขณะนี้ ฉันคือใคร และฉันจะทำอะไร เท่านี้ชีวิตก็สุขพอแล้ว แต่ในความเป็นจริงเราคงปฏิเสธ ไม่ได้ว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลก เรายังมีเพื่อน มีใครต่อใครที่เรารู้จัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน สมาชิกในครอบครัว ญาติพี่น้อง และคนอื่นๆ รอบๆ ตัวเราล้วนแต่มีคนอยู่ใกล้ตัวเรา ทั้งนั้นแล้วจะทำอย่างไรให้ตัวเรา สามารถ เข้ากับคนอื่นๆได้ และจะทำอย่างไรเมื่อต้องอยู่ใกล้ผู้คนหลายคนที่มีความแตกต่างกันแล้วมีความสุข สามารถยอมรับความจริงได้ตรงนี้ต้องขอยืมบทประพันธ์ หรือคำกลอนของ ท่านพระพุทธทาสภิกขุมาสอนใจแล้ว ท่านบอกว่า “มองแต่ดีเถิด” ดังคำกลอนต่อไปนี้

    “เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา

    จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่

    เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู

    ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย

    จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว

    อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย

    เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย

    ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง ฯ”

    จากบทประพันธ์ หรือคำบทกลอนของท่านพระพุทธทาสภิกขุนี้ ทำให้รู้สึกว่าความเป็นมนุษย์นั้นมีทั้งส่วนที่ดี และส่วนที่ไม่ดี แต่ในการอยู่ร่วมกัน เราก็เลือก ในส่วนที่ดีๆ ให้กัน เวลาเรามีเพื่อนดูเหมือนว่าโลกนี้ช่างมีความสุขเหลือเกิน ท่านจงรู้จักเปิดหัวใจ เปิดตัว มีความจริงใจ วันนั้นอาจเป็นวันช่างสดใสกว่า วันใดๆก็ได้ วันที่เรารู้สึกในค่าของความเป็นเพื่อน และ มีเพื่อนอยู่ใกล้ๆ ตัวเรา

    แนวปฏิบัติในการมีเพื่อนดีๆ อยู่ข้างๆ อาจใช้ แนวทาง และวิธีการยอมรับความจริง หรือการมองมุมดีๆ เพื่อประโยชน์ในการคบเพื่อน โดยผู้เขียนได้สรุปแนวปฏิบัติไว้ดังนี้คือ

    1. จงรักเพื่อนเสมือนหนึ่งรักตัวเราเอง ความรู้สึกเช่นนี้เป็นความรู้ธรรมดามากตัวเรายังรักตัวเราเองเลยไม่ต้องการให้ใครว่ากล่าว หรือตำหนิอย่างนั้น อย่างนี้ คนอื่นเขาก็เช่นเดียวกับเรา เขาก็ไม่ต้องการให้ใครมาว่ากล่าวทั้งต่อหน้า และรับหลังเช่นกัน ในข้อนี้คือการปฏิบัติกับคนอื่นเช่นเดียว กับปฏิบัติกับตัวเรา ทางพระบอกว่าปฏิบัติเสมอตน อย่ายกตนข่มท่าน คนมีต่ำกว่าคนนั้น ฉันมีค่ามากกว่าคนโน้น ปฏิบัติตนเหนือมนุษย์ปกติ ความสุขจะเกิดแก่ใจได้อย่างไร ดวงดาวบนท้องฟ้าแม้ดวงจะเล็กมองแทบจะไม่เห็น แต่ในคืนเดือนมืดดาวดวงเล็กๆที่มองดูไร้ค่า อาจส่องสว่างจนแสงเจิดจ้าให้เราท่านได้ประจักษ์สายตา เป็นแสงนำพาให้เราในยามค่ำคืน ดาวดวงเล็กก็มีค่าของเขา มีค่าโดยตัวเขาเอง แล้วท่านเคยคิดบ้างมั๊ย.....ว่าเพื่อน ท่านก็อาจมีค่าไม่แพ้ ดาวเช่นกัน

    2. จงเป็นคนมองโลกในแง่ดี หรือการมองหลายสิ่งหลายอย่างในทางบวก ไม่มองแบบเจ้าคิดเจ้าแค้น จิตใจผูกพยาบาทตลอดเวลา มุ่งเอาชนะ มุ่งให้คนอื่นคอยพะเน้าพะนอ คอยเอาใจ หรือมองคนอื่นไม่ดีแต่มองตนเองไม่เห็น หรือบางครั้งทำเป็นว่าเห็นแต่แสร้งทำว่าปรับปรุงตนแล้ว นิสัยเดิมๆก็ปรากฎ นักจิตวิทยาเคยอธิบายว่าบุคลิกภาพของบุคคลที่พัฒนาจนเข้าวัยผู้ใหญ่แล้วโอกาสเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทำได้ค่อนข้างยากแต่ถ้าบุคคลมีหัวจิตหัวใจที่ดี มีพื้นฐานจิตใจที่ดีงามมาก่อน น่าจะไม่ยากที่จะหัด หรือ ฝึกเป็นคนมองในแง่ดี คิดดีๆ เพราะกว่าเราจะผ่านช่วงวัยผู้ใหญ่มาได้ ชีวิตเราแต่ละคนคงพบ และเจอกับปัญหามากมายหลายอย่าง ประสบการณ์เหล่านั้นน่าจะมาเป็นบทเรียนชีวิตให้แก่ตัวเราได้ ผ่านทุกข์ ผ่านสุข มาหลายครั้งหลายหน คนเราน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง ฉะนั้นการหัดมองอะไรง่ายๆ มองในเชิงสร้างสรรค์ มองอะไรทางบวก การ ฝึกมองเช่นนี้บ่อยๆ เราก็จะเป็นผู้หนึ่ง ที่มองโลก ในแง่ดีได้ มองอะไรสวยๆงามๆ มองตามธรรมชาติที่มันเป็น อย่าหัดเป็นคนมองอะไรโดยผ่านวัตถุ เอาวัตถุมาเป็นเครื่องบดบัง ความดีความงาม และ เนื้อแท้ของตน ในที่สุดค่าของตนก็จะหมดไปอย่างไม่รู้ตัว ใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสต้องมาจากหัวใจที่ดีงาม รอยยิ้มจึงจะมีเสน่ห์ เป็นรอยพิมพ์ใจที่ใครปรารถนาจะเห็น จะคบค้าสมาคม ฉะนั้นดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ ความคิดข้างในดีพฤติกรรมที่แสดงภายนอกดีด้วย ไม่ต้องใช้แก้วแหวนเงินทองหรอกล่อ เราก็หารมิตรภาพจากคนอื่นได้ไม่ยากนักเพียงของให้มองอะไรดี ๆ คิดอะไรดีๆ แล้วเราก็จะมองโลกในแง่ดีเอง

    3. จงคิดเสมอว่าตนเองเป็นคนที่มีคุณค่า และคนอื่นก็มีคุณค่าเช่นกัน หลายคนมองตนเองต่ำต้อย มองตัวเองด้อยกว่าคนอื่น มักนึกน้อยใจในโชคชะตา วาสนา กลายเป็นคนไม่ชอบสังคม เก็บตัว แยกตนเองจากสังคมมีโลกส่วนตัว ท่านที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ ท่านโปรดทราบด้วยว่าท่านกำลังทำร้ายตนเอง และทำร้ายคนใกล้ตัวท่านเองแบบไม่ตั้งใจ ในความเป็นมนุษย์ทุกคนมีคุณค่าในตัวเองหมด ไม่ว่าจะเกิดมายากจน หรือเป็นคนผิวขาว ดำ สวย หรือ ขี้เหล่ หรือแม้กระทั่งทำงานที่ต่างกัน เจ้านาย ลูกน้อง ทุกคนทุกชีวิตมีคุณค่ามีค่าของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นคนเท่ากัน เพียงแต่ทำงานต่างหน้าที่กัน สวยของคนหนึ่ง อาจจะไม่สวยของอีกคนหนึ่ง ดีที่สุดสำหรับคนนี้อาจไม่ดีที่สุดสำหรับอีกคนก็ได้ แต่ทุกคนมีคุณค่า เท่ากัน เราจะต้องรู้จักรักตนเอง เคารพตนเอง และยอมรับตัวเราเองได้ รวมไปถึงการมองเห็นคุณค่าของตนเอง ไม่ใช่มัวแต่นั้งคิดน้อยใจ ในโชคชะตาวาสนา ใครที่คิดเช่นนี้เป็นคนทำร้ายตนเอง ทำร้ายจิตสำนึกที่ดีงามของตนเองด้วย จงลุกขึ้นมาให้คุณค่าแก่ตัวเราเองให้สมกับคำกล่าวที่ว่า “เพชรเม็ดงามมีแสงใสด้วยตัวมันเอง”

    4. การรู้จักก้าวไปเผชิญโลกด้วยความมั่นใจ ปัจจุบันเทคโนโลยีล้ำหน้าไปมาก เราควรจะเป็นเปิดประตูใจออกไปสู่โลกภายนอกบ้าง เพื่อให้วิสัยทัศน์กว้าง ความรู้ต่างๆส่งผ่านข้อมูลใยแก้วเป็นจำนวนมากเรา ควรทำความเข้าใจแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยศึกษา ความคับข้องใจก็จะไม่เกิด ข่าวสารต่างๆที่ได้มาต้อง นำมาพินิจพิเคราะห์แล้วเลือกใช้ ให้เหมาะสมกับตัวเรามุมมอง ต่างๆในบางเรื่องอาจชัดเจนขึ้น แง่คิดต่างๆ ความคิดใหม่อาจเกิดขึ้นโดยที่ตัวคุณเองอาจไม่รู้ตัว เป็นการฝึกรับข้อมูล ส่งผ่านข้อมูล รู้จักการเลือกสรร วิเคราะห์เรื่องต่างๆได้แม่นยำขึ้น

    5. จงเป็นผู้ที่มีหน้าต่างใจเต็มกรอบ หมายถึง การมีจิตใจที่ดีงาม ใจมีคุณภาพ ใจนิ่ง เรียบ เกิดสมาธิไม่รุ่มร้อน อย่างที่โบราณว่า ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ฝึกให้ใจทำงานด้วยสติ ฝึกคิด ไตร่ตรองก่อนลงมือทำงาน ฝึกใจให้รับเรื่องราวต่างๆแล้ว ส่งผ่านข้อมูลออกไปโดย ไม่กลับมาทำร้ายตัวเราเอง ใจที่มีคุณภาพต้องไม่จับไม่ยึดไม่ติด ถ้าทำได้ ไม่ว่าเราจะเผชิญกับสถานการณ์ใดๆ คับขันขนาดไหน เราก็ยังทนในสภาพนั้นได้ บางครั้งหลักธรรมทางพระศาสนาก็สามารถนำมาเป็นแนวปฏิบัติสำหรับดำเนินชีวิต ในการฝึกจิตฝึกใจให้เกิดพลังได้ดีที่เดียว เมื่อท่านเป็นผู้ที่มีหน้าต่างใจเต็มกรอบมุมมองในการคิดเรื่องใดๆก็จะมีศักยภาพมากขึ้น ชีวิตก็ดำเนินไปแม้ว่าจะพบปัญหาใดๆ อุปสรรคใดๆ เราก็สามารถช่วง ตอน นั้นๆได้ไม่ยากนัก แต่บุคคลที่ใจไม่เต็มกรอบ ใจไม่สมบูรณ์ ใจไม่เป็นสุขกลุ่มคนเหล่านี้ มักแก้ปัญหาโดยการเว้นวรรคชีวิต ถ้าพลาดชีวิตก็สลาย ถ้ายับยั้งทันแผลในใจก็เกิดขึ้นกว่าจะรักษาแผลใจ คงต้องมาเริ่มเปิดหน้าต่างใจกันใหม่เสียเวลาเสียความรู้สึกทั้งต่อตนเอง และคนใกล้ชิด ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เราควรมาฝึกจิตฝึกใจให้มีพลัง มีคุณภาพโดยสมบูรณ์

    6. รู้จักควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกที่เศร้าหมอง มนุษย์เรามักจะคาดหวังว่าเรื่องนั้นต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คนนั้นต้องทำกับฉันอย่างนั้น แต่พอเขาไม่ทำตามที่เราคิดความคาดหวังที่เรามีมันกลับมาทำให้ตัวเราคับข้องใจเอง ทำให้เกิดอารมณ์ ทำให้เกิดความรู้สึกเศร้าหมอง ในเรื่องนี้ถ้าจะให้ดีคือฝึกคิดฝึกมองอะไรโดยปราศจากอารมณ์ ฝึกการใช้เหตุผลมากๆ ทำสิ่งใดช้าๆแต่ให้สำเร็จทันการ แลเมื่อมีสิ่งใดมากระทบ ก็ไม่ผันแปรไปตามเรื่องนั้นๆจนขาดการยับยั้งชั่งใจ เท่านี้อารมณ์ก็สามารถถูกควบคุมได้ มีนักจิตวิทยาบางท่านแนะว่า ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้น มันไม่สามารถแก้ได้แต่ตัวเราต้องเผชิญจะทำอย่างไรดี วิธีการหนึ่งที่อาจใช้ได้ผลคือ การมองแบบผ่านไปเหมือนมองผ่าอากาศธาตุ ฝรั่งเรียกว่ามองแบบ Transparency คือมองแบบทะลุไปเลยไม่มีอะไรกันเหมือนมองกระจกใส หรือพลาสติกใสนั้นเอง

    7. จงฝึกเป็นคนมองย้อนกลับ เราท่านหลายคนมักทำอะไร คิดอะไร มักคิดไปตรงๆ คิดไปข้างหน้า คิดเข้าข้างตนเอง คิดในแง่มุมของเรา แต่ไม่เคยจะคิดในแง่มุมผู้อื่นบ้าง ตัวอย่างเช่น เรามักคิดว่าเราเป็นเจ้าของ สุนัข เราจะปฏิบัติต่อสุนัขด้วยความรัก ความเคยชิน ต้องการให้อาหารก็ให้วันนี้รีบ ไม่มีเวลาให้ฉันก็ไปทำงานสุนัขรอกินข้าวก็แล้วกัน เราท่านแต่ละคนเคยคิดบ้าง หรือไม่ว่า สุนัขอาจคิดว่า ตัวมันเองเป็นเจ้าของคนนะ คนเป็นข้ารับใช้สุนัข ดังนั้นคนต้องหาอาหาร ต้องอาบน้ำ คนไหนที่ชอบตีสุนัข รังแกสุนัข สุนัขอาจคิดว่าคนๆนี้มีการฝึกจิตในระดับต่ำก็ได้จึงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมที่มนุษย์แต่ละคนแสดงสุนัขจะจำ และแสดงพฤติกรรมของ สุนัขออกมาให้คนเข้าใจ จากตัวอย่างนี้คือการคิดในมุมกลับ อยู่กับคน อยู่กันหลายคนก็คิดหลายแบบ แบบของเราว่าดี แบบของเขาก็ว่าดีเหมือนกัน คิดคนละอย่างก็อาจอยู่ด้วยกันได้ถ้าเราจะเป็นผู้คิดแบบย้อนกลับบ้างอย่าคิดเข้าข้างตนเองจนเกินความพอดี แค่นี้เราก็สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้แล้ว

    การยอมรับกันเพื่อให้เกิดการมุมมองดีๆมีให้กัน เริ่มวันนี้เห็นวันนี้ ใครที่เริ่มมานานแล้วผลที่เกิดขึ้นหลายท่านคงประจักษ์แล้วว่าดีอย่างไร ถ้าบุคคลช่วยกันสร้างความรู้สึกที่ดีๆมีให้ต่อกัน เมื่อนั้นสิ่งดีๆก็จะเกิดกับตัวเราสุขภาพจิตของเรา การเป็นผู้มีความสามารถยอมรับความจริง มองโลกตามที่เป็น มองในแง่ดี มองอะไรดี ๆ ก็จะทำให้สุขภาพจิตดี

    8. ต้องรู้จักใช้หลักธรรมทางศาสนาช่วยพัฒนาระดับจิต บางครั้งหลายอย่างที่เราพยายามปรับ และแก้ไขที่ตัวเรา แต่สถานการณ์บางสถานการณ์อาจ ทำให้เราหมดกำลังใจ และตัวเราก็ไม่สามารถหลีกหนีสถานการณ์นั้นๆได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ปวดร้าวนั้น แนวทางที่สามารถเลือกได้ แนวทางหนึ่งคือ การใช้หลักธรรมศาสนามายึดในการประคองชีวิตในช่วงวิกฤต หรือ นำหลักธรรมมาเป็นกรอบในการดำเนินความคิดเราอาจจะดีขึ้น ดีกว่าปล่อยให้ปัญหาต่างๆรุมเร้าจนทำให้สุขภาพจิตเราเสื่อมนั่นเท่ากันท่านกำลังทำร้ายตัวเอง และสะกัดกั้นการพัฒนาบุคลิกภาพที่จะดำเนินไปอย่างไม่รู้ตัว

    9. ต้องยอมรับเรื่องมนุษย์มีความแตกต่างกัน สุขภาพจิตจะดีได้ต้องยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วยมนุษย์แม้แต่แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน พอโตขึ้นมาแม้ว่าจะเลี้ยงดูเหมือนกัน แต่ก็มีหลายอย่างที่แตกต่างกัน คนที่เขาแสดงพฤติกรรมใดๆที่ต่างจากเราต่างจากกลุ่มก็ไม่ใช่ว่าเขาแย่กว่าเรา เขาอาจมองอีกมุมหนึ่ง เราก็อาจจะมองอีกมุมหนึ่ง ความแตกต่างของมนุษย์ในส่วนนี้ถ้าเราเข้าใจยอมรับธรรมชาติของแต่ละคน สุขภาพจิตท่านก็ดีด้วย อย่าคิดไปแก้ไขคนอื่นแต่ต้องแก้ไขที่ตัวเราเอง สุขภาพจิตเราก็ดี รับผิดชอบตนเอง รับผิดชอบการกระทำ และความคิด เข้าใจเรื่องความแตกต่างกันของบุคคล ท่านก็มีสุขภาพจิตดีสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้

    สรุปเรื่องสุขภาพจิตกับการปรับตัวการปรับตัว สิ่งที่สำคัญที่ต้องคำนึง คือเรื่องต้องมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ต้องสามารถควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกได้ ต้องเป็นผู้มีความสามารถยอมรับความจริง มองโลกตามความเป็นจริง ต้องยอมรับเรื่องมนุษย์มีความแตกต่างกัน ทั้งหมดจะช่วยให้บุคคลสามารถรักษา สุขภาพจิตที่ดี และสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้