กระบวนการกลุ่ม

ความหมายของกลุ่ม

วินิจ เกตุขำ และคมเพชร ฉัตรศุภกุล ได้สรุปความหมายของคำว่ากลุ่มในทางจิตวิทยาไว้ว่า กลุ่ม หมายถึง การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปมารวมกัน โดยมีการติดต่อสัมพันธ์กัน หรือปฏิสัมพันธ์กัน และมีจุดมุ่งหมายที่จะกระทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน และความสัมพันธ์นี้ จะช่วยให้สมาชิกกลุ่มอยู่ร่วมกันได้ในระดับที่พอดี
Martin E. Shaw ก็ได้ให้ความหมายของกลุ่มไว้ในทำนองเดียวกันว่า กลุ่ม คือ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งบุคคลแต่ละคนจะมีอิทธิพลต่อเพื่อนในกลุ่ม และจะได้รับอิทธิพลจากเพื่อนในกลุ่มด้วยเช่นกัน
ส่วน Dorwin Cartwright and Alvin Zander ได้สรุปคุณลักษณะของกลุ่มไว้ว่า เมื่อคนมารวมกันเป็นกลุ่ม จะต้องมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งหรือหลายลักษณะต่อไปนี้เกิดขึ้น คือ

(ก) จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันเสมอ
(ข) แต่ละคนจะถือว่าคนเองเป็นสมาชิกกลุ่ม
(ค) แต่ละคนในกลุ่มจะยอมรับกันเป็นสมาชิกกลุ่ม
(ง) มีปทัสถานร่วมกัน
(จ) แต่ละคนจะมีบทบาทที่ชัดเจน
(ฉ) มีการเลียนแบบลักษณะบางอย่างที่ตนเองคิดว่าเหมาะสมจากสมาชิกในกลุ่ม
(ช) สมาชิกมีความคิดว่ากลุ่มจะต้องให้ผลประโยชน์ต่อสมาชิก
(ซ) สมาชิกจะแสวงหาเป้าหมายร่วมกัน
(ฌ) มีการรับรู้ความเป็นเอกภาพของกลุ่มร่วมกัน และ
(ญ) สมาชิกกลุ่มจะปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของกลุ่ม
นอกจากนี้ Richard M. Hodgetts ได้ให้ความหมายของกลุ่มไว้อีกแนวคิดหนึ่งว่า กลุ่ม คือ หน่วยทางสังคมที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีอิสระเป็นตัวของตัวเอง ตั้งแต่สองคนขึ้นไปมารวมกันมี ปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทั่งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน

สรุปได้ว่า กลุ่ม หมายถึง บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปมารวมกัน มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน เพื่อให้กิจกรรมนั้น บรรลุจุดหมายปลายทาง ที่กลุ่มกำหนดไว้ โดยที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขด้วย

สาเหตุที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม

๑. เกิดจากความชอบพอกันเป็นส่วนตัวระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง เช่น เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน ถูกคอกัน นิสัยใจคอคล้าย ๆ กัน
๒. เกิดจากการถูกชักชวนหรือชักจูงไป เช่น ชาวบ้านในชนบทถูกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชวนไปรวมเป็นกลุ่มเกษตร ตั้งกลุ่มเลี้ยงไหม กลุ่มชาวนา เป็นต้น
๓. เกิดจากความพอใจในเป้าหมายกิจกรรมของกลุ่ม หรือกลุ่มมีจุดมุ่งหมายตรงกับอุดมการณ์ของบุคคลที่จะเข้าไปเป็นสมาชิก เช่น กิจกรรมนันทนาการ กิจกรรมทางวิชาการ ชุมนุม ชมรม หรือสมาคมต่าง ๆ สมาคมนักพูด เกิดจากการชอบพูดหรือชอบฟัง กลุ่มต่อต้านฉ้อราษฎร์บังหลวง เกิดจากคนที่รักความซื่อสัตย์สุจริตและยุติธรรมในสังคม และพรรคการเมือง เป็นต้น
๔. เกิดจากการได้รับคัดเลือกหรือแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจ เพื่อให้ปฏิบัติงานร่วมกันโดยเฉพาะ เช่น กลุ่มแพทย์ศัลยกรรม ชุดปฏิบัติการพิเศษกู้ภัย
๕. เกิดจากความต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เป็นการสนองตอบความต้องการทางจิตใจหรือทางจิตวิทยา เช่น เกิดจากการเหงา เบื่อหน่าย หรือต้องการมีเพื่อน ต้องการใกล้ชิดเจ้านาย ก็ไปเล่นกีฬา ตีกอล์ฟ เล่นเทนนิส
๖. เกิดจากการต้องการพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเอง เป็นการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมงานบางอย่างด้วยกัน ปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและของกลุ่ม เช่น สหภาพแรงงาน สภาหอการค้า กลุ่มตลาดร่วมยุโรป กลุ่มผู้ค้าน้ำมันโอเปค เป็นต้น

ความสำคัญของกลุ่ม

๑. ด้านการพัฒนาบุคคล กลุ่มสามารถพัฒนาบุคคลที่เป็นสมาชิกได้เป็นอย่างดี การดำเนินงานในกลุ่มหลายอย่างจะสนองความพึงพอใจของบุคคลแตกต่างกันไป เป็นต้นว่า สนองความต้องการด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความรู้สึกปลอดภัย ความต้องการการยอมรับของกลุ่ม รวมทั้งการพัฒนาทางด้านอารมณ์ สังคม สติปัญญา ความสนใจ และความสามารถอีกด้วย
๒. ด้านการวินิจฉัย ผู้นำกลุ่มจะสามารถสังเกตพฤติกรรมของสมาชิกในกลุ่มได้ ทำให้เข้าใจแล้วมองเห็นลักษณะแบบต่าง ๆ ของสมาชิก บางคนไม่สามารถติดต่อกับคนอื่นได้ บางคนก้าวร้าว บางคนยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ลักษณะดังกล่าวถ้าบุคคลไม่เข้ากลุ่มจะไม่มีโอกาสสังเกตเห็นได้เลย ดังนั้น ผู้นำกลุ่ม และสมาชิกสามารถวินิจฉัยหรือประเมินลักษณะและพฤติกรรมเหล่านั้นได้ และจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจบุคคลในกลุ่มได้ดีขึ้น
๓. ด้านการปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานเป็นกลุ่ม สมาชิกกลุ่มจะมีโอกาสคิดร่วมกัน วางแผนร่วม กันประสานงานกัน และทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ผลผลิตทั้งหลายทั้งปวงในโลกปัจจุบันนี้เป็นผลงานของกลุ่มคนแทบทั้งสิ้น กลุ่มจึงมีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานอย่างมาก

ประเภทของกลุ่ม

๑. กลุ่มปฐมภูมิและกลุ่มทุติยภูมิ (Primary and Secondary Group) การแบ่งกลุ่มแบบนี้ยึดถือความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกลุ่มเป็นหลัก นั่นคือ พิจารณาความเกี่ยวข้องมาก-น้อย ชิด-ห่าง ของสมาชิกเป็นสำคัญ กลุ่มปฐมภูมิ (Primary Group) เป็นกลุ่มที่สมาชิกมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก
มีการพบปะสังสรรค์ หรือพบหน้าค่าตากันอยู่เสมอ มีการร่วมมือกันทำงานโดยไม่หวังประโยชน์ตอบแทน ส่วนกลุ่มทุติยภูมิ (Secondary Group) เป็นกลุ่มที่สมาชิกมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการหรือโดยหน้าที่ ไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัว
๒. กลุ่มทางด้านสังคมและกลุ่มทางจิตวิทยา (Socio-group and Psycho-group)
การแบ่งกลุ่มแบบนี้มีรากฐานมาจากจุดมุ่งหมายของการจัดกลุ่มที่แตกต่างกันคือ กลุ่มทางด้านสังคม (Socio-group) กลุ่มประเภทนี้มีจุดมุ่งหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับสมาชิกเป็นรายบุคคล แต่จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนกลุ่มทางจิตวิทยา (Psycho-group) เป็นกลุ่มที่สมาชิกมารวมกันตามความพอใจของสมาชิกเอง หรือมีจุดมุ่งหมายเพื่อพบปะกันระหว่างเพื่อนสนิท
๓. กลุ่มที่สมาชิกรู้สึกว่าตนเองอยู่ในกลุ่มกับกลุ่มที่สมาชิกรู้สึกว่าตนเองอยู่นอกกลุ่ม (In-Group and Out-Group) กลุ่มประเภทนี้แบ่งตามความรู้สึกและเจตคติของสมาชิกกลุ่มเป็นสำคัญ
กลุ่มที่สมาชิกรู้สึกว่าตนเองอยู่ในกลุ่ม (In-Group) กลุ่มประเภทนี้สมาชิกมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม มีความรู้สึกเป็นเจ้าของกลุ่ม และมีความสุขที่จะได้ทำงานกับบุคคลในกลุ่ม เมื่อมีการทำงานทุกคนจะมีเจตคติแบบเห็นอกเห็นใจ มีมิตรภาพต่อเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการดำเนินงานกลุ่ม ส่วนกลุ่มที่สมาชิกรู้สึกว่าตนเองอยู่นอกกลุ่ม (Out-Group) กลุ่มประเภทนี้สมาชิกไม่มีความภาคภูมิใจในกลุ่ม ไม่อยากเป็นสมาชิก ไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ เมื่อมีการทำงานร่วมกัน สมาชิกจะไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ ไม่ชอบกลุ่ม รู้สึกสงสัยอยู่ตลอดเวลา การทำงานกลุ่มจะไม่ได้ผลดี
๔. กลุ่มเป็นทางการและกลุ่มไม่เป็นทางการ (Formal and Informal Groups) กลุ่มประเภทนี้
แบ่งตามโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของ สมาชิกเป็นหลัก กลุ่มเป็นทางการ (Formal Group) คือ กลุ่มที่ตั้งขึ้นมาโดยกฎหมายมีสายการบังคับบัญชาที่แน่นอน เป้าหมายชัดเจน มีระเบียบวินัยของสมาชิก สมาชิกมีความสัมพันธ์กันตามบทบาทหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ ส่วนกลุ่มไม่เป็นทางการ (Informal Group) เป็นกลุ่มที่
ตั้งขึ้นมาโดยสมาชิกจำนวนไม่มากนัก ไม่มีระเบียบหรือกฎเกณฑ์ หรือกฎหมายรองรับที่ชัดเจน ไม่มีการระบุเป้าหมายที่เด่นชัด เกิดขึ้นง่าย สลายตัวง่าย และอาจจะเกิดขึ้นอีกก็ได้ข้อเปรียบเทียบการตัดสินใจโดยกลุ่มกับการตัดสินใจโดยเอกบุคคล
๑. ปัญหาในการเห็นพ้องต้องกัน ยิ่งมีคนมาก โอกาสที่จะขัดแย้งก็ยิ่งมากขึ้น ในขณะเดียวกันกลุ่มก็มีแหล่งที่จะเสริมสร้างความคิดใหม่ ๆ มากกว่า และมีทรรศนะที่จะนำมาวิเคราะห์ข้อคิดเห็นเหล่านั้นมากกว่าด้วย
๒. อัตราเสี่ยงในการตัดสินใจ กลุ่มมักจะตัดสินใจอย่างเสี่ยงมากกว่าที่คนคนเดียวจะกล้าทำ เช่น ถ้าให้คนเดียวกับกลุ่มวางเดิมพันในการแข่งม้า โอกาสที่กลุ่มจะวางเดิมพันมีมากกว่าที่คนคนเดียวจะทำ ถึง ๑๐๐ ต่อ ๑ ถึงแม้กฎข้อนี้จะมีการยกเว้น แต่ก็พิสูจน์ได้เสมอว่าคนเรามักจะตัดสินใจเสี่ยงเวลาอยู่ในกลุ่ม
มากกว่าเวลาอยู่คนเดียว ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มจึงเป็นเครื่องกระตุ้นให้สมาชิกกล้าเสี่ยงยิ่งขึ้น และยึดแบบแผนเดิมน้อยลงกว่าที่จะทำในฐานะบุคคล
๓. ความรวดเร็วในการตัดสินใจ กลุ่มจะตัดสินใจได้ช้ากว่าบุคคลมาก ยิ่งจำนวนคนในกลุ่มมากก็ยิ่งต้องใช้เวลาในการตัดสินใจมาก ดังนั้น ถ้าต้องการผลของการตัดสินใจทีมีความรวดเร็ว แล้วไม่ควรใช้ระบบกลุ่มในการตัดสินใจ แต่หากคำนึงถึงคุณภาพของการตัดสินใจแล้ว โดยทั่วไปการตัดสินใจโดยกลุ่มจะมีคุณภาพดีกว่าการตัดสินใจของบุคคลโดยลำพัง

ขั้นตอนการพัฒนาของกลุ่ม

การพัฒนาของกลุ่มตามแนวคิดเรื่อง Cog’s Ladder ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนากลุ่มที่จำแนกเป็น ๕ ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ ๑ ทำความรู้จักกันด้วยความสุภาพ (Polite)
ขั้นที่ ๒ หาความหมายให้กับกลุ่มว่าทำไมต้องมาอยู่ร่วมกัน (Why we’re here)
ขั้นที่ ๓ เสนอความคิดและหาแนวร่วม (Bid for power)
ขั้นที่ ๔ ร่วมเป็นโครงสร้างของทีม (Constructive)
ขั้นที่ ๕ มีความรักในหมู่คณะ (Esprit)

 

ขั้นที่ ๑ ทำความรู้จักกันด้วยความสุภาพ (Polite)

กลุ่มที่ถูกจัดให้รวมตัวกันในระยะแรกทีเดียว จะต้องทำความรู้จักกันก่อนอย่างสุภาพ เปิดเผยตนเองเฉพาะส่วนที่ต้องการเปิดเพราะเห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อตนเองก่อน แต่ละคนจะจำแนกสมาชิกคนอื่นๆ ตามภาพในใจของตน (Stereotype) แล้ว รวมกลุ่มตามความพอใจ ความสนใจ เกิดกลุ่มเล็กๆ ขึ้นในกลุ่มใหญ่ สมาชิกกระตือรือร้นที่จะให้ความร่วมมือ และเปลี่ยนข้อมูล แลกเปลี่ยนทัศนคติ เพื่อหาค่านิยมร่วมกัน หลีกเลี่ยงประเด็นปัญหา การโต้แย้ง และการให้ข้อมูลย้อนกลับ เนื่องจากทุกคนต้องการ การยอมรับ หรืออย่างน้อยไม่ให้ถูกกลุ่มปฏิเสธ ในระยะนี้ผู้บริหาร หรือผู้นำกลุ่มควรจะอำนวย ความสะดวกในการแนะนำสมาชิกให้ได้รู้จักกัน โดยการจัดสรรเวลาให้ และกระตุ้นให้สมาชิกกลุ่มทั้งหมดได้มีส่วนร่วม ในการปฏิสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้จักคุ้นเคยกัน

ขั้นที่ ๒ หาความหมายให้กับกลุ่มว่าทำไมต้องมาอยู่ร่วมกัน (Why we’re here)

หลังจากรู้จักกันพอสมควร สมาชิกกลุ่มจะต้องการรู้ว่า เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการรวมกลุ่มแท้จริงแล้วคืออะไร บางคนอาจจะต้องการวัตถุประสงค์ที่เป็นลายอักษร โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกำหนดโดยงาน จะใช้เวลาในขั้นนี้มากกว่ากลุ่มที่สมาชิกมารวมตัวกันเอง ในขั้นนี้กลุ่มพยายามอภิปรายกันถึงการตั้งวัตถุประสงค์ของการทำงาน กลุ่มจะไม่ยอมรับแนวคิดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะหาความหมายร่วมกัน และยอมรับเป้าหมายที่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้กลุ่มประสบความสำเร็จ ถ้าวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายนั้นมาจากนอกกลุ่ม ในขั้นนี้สมาชิกจะถกเถียงกัน เพื่อให้เข้าใจและสร้างข้อตกลงร่วมกัน
ในระยะนี้กลุ่มจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง มีการรวมกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ ก่อน แต่ละคนเริ่มมองหาเป้าหมายเบื้องต้น มีการเปิดเผยความต้องการมากขึ้น สมาชิกมักจะกระตือรือร้นในการร่วมกิจกรรม อาจจะมีความขัดแย้งบ้างแต่จะไม่มากมายนัก ภาพลักษณ์ของกลุ่มยังไม่ชัดเจน ระยะเวลาของขั้นตอนนี้ไม่แน่นอน การสร้างกลุ่มโดยการกำหนดวัตถุประสงค์หรือหาความหมายของกลุ่มร่วมกันนี้ อาจจะเร็วขึ้นได้อีกถ้ากำหนดวัตถุประสงค์ได้ชัดเจนแล้ว การส่งเสริมกลุ่มในระยะนี้ ผู้นำกลุ่มจะต้องจัดโครงสร้างทีมให้สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และต้องกำหนดวาระการประชุมหรือหัวข้อการพูดคุยให้ชัดเจน
นอกจากนั้นควรจัดแบ่งมอบหน้าที่เฉพาะให้สมาชิก และจูงใจให้ทุกคนมีส่วนร่วมในงานกลุ่ม

ขั้นที่ ๓ เสนอความคิดและหาแนวร่วม (Bid for power)

ขั้นตอนแยกจากขั้นที่ ๒ ได้โดยสังเกตจากการแข่งขันของสมาชิกกลุ่ม โดยแต่ละคนจะหาเหตุผลให้กับงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย พยายามเสนอความคิดเห็นให้กลุ่มทำตามสิ่งที่เขาเห็นว่าเหมาะสม และมีการกล่าวหาสมาชิกที่ไม่แสดงความคิดเห็นว่าไม่ฟังเพื่อน ดังนั้นความขัดแย้งในกลุ่มจะสูงกว่าระยะอื่น ๆ ความพยายามที่จะใช้บทบาทความเป็นผู้นำเกิดขึ้นในลักษณะการเข้าไปมีส่วนร่วมในกลุ่มย่อย เพื่อแก้ปัญหาอาจจะใช้ การโหวต การประนีประนอม และการหาแนวร่วมจากนอกกลุ่ม
สมาชิกยังไม่รู้สึกในความเป็นกลุ่มมากนัก สมาชิกบางคนอาจจะอึดอัด คนที่ยังไม่ผ่าน ๒ ขั้นตอนแรกอาจจะนั่งเงียบ ขณะที่บางคนอาจจะแสดงอิทธิพลคุมกลุ่มได้ ขั้นตอนนี้หากสมาชิกเปิดเผยความในใจ อาจได้รับการยอมรับหรือปฏิเสธก็ได้ แต่หากปกปิดไว้จะรู้สึกว่าถูกสมาชิกอื่นระแวง ช่วงนี้กลุ่มจะยังไม่มีเอกลักษณ์ จะเป็นช่วงของการเปลี่ยนตำแหน่งในกลุ่ม เช่น อาจจะมีการคัดเลือกประธานกันใหม่ คนที่ไม่ประสบความสำเร็จในขั้นนี้อาจจะออกจากกลุ่มไปก็ได้
ในขั้นตอนนี้ การพยายามดำรงรักษา บทบาทหน้าที่ตามโครงสร้างของกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญมาก จะพบว่ากลุ่มมีสมาชิกที่ประนีประนอม (Compromise) ให้กลุ่มเข้ากันได้ (Harmonize) และผู้อนุรักษ์กฎของกลุ่มพยายามคงสภาพสมดุลที่ยอมรับได้ในกลุ่ม โดยคนเหล่านี้จะทำหน้าที่ลดความขัดแย้ง สมาชิกบางคนจะไม่ผ่านขั้นตอนนี้ คือไม่สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของกลุ่มอย่างเหนียวแน่น แต่เขาสามารถทำงานหรือร่วมกลุ่มต่อไปได้ ส่วนผลงานจะไม่ดีที่สุด เพราะการยอมตามสมาชิกคนอื่นๆ เป็นการประนีประนอมไม่ใช่การยอมรับอย่างแท้จริง

ขั้น ๔ ร่วมเป็นโครงสร้างของทีม (Constructive)

ระยะนี้สังเกตได้จากทัศนคติของสมาชิกกลุ่มที่เปลี่ยนไปจากการพยายามควบคุมให้กลุ่มเป็นไปตามที่เขาคิด กลายเป็นยอมรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มมากขึ้น มีการสร้างจิตสำนึกของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในกลุ่ม (Team Spirit) ขึ้นมา ความรู้สึกแยกกลุ่มย่อยจะจางไป การพัฒนาเป้าหมายของกลุ่มจะเป็นรูปร่างขึ้น มีชื่อและเอกลักษณ์ต่างๆ ของกลุ่มชัดเจน สำหรับการมีส่วนร่วมของสมาชิกกลุ่มจะไม่แตกต่างกันมาก คือทำก็ทำด้วยกัน ไม่ทำก็ไม่ทำด้วยกันทั้งกลุ่ม การตัดสินใจจะช่วยกันแก้ปัญหาของกลุ่มมากกว่า การเอาชนะกันเอง
ผลิตภาพของกลุ่ม (Productivity) ที่มาจากความคิดสร้างสรรค์จะสูงในขั้นนี้ เพราะเป็นช่วงที่กลุ่มรับฟังความเห็นของคนในกลุ่มมากขึ้น สมาชิกได้ใช้พลังและความสามารถของตนในการร่วมกิจกรรมกลุ่มอย่างได้ผลดีกว่าขั้นอื่น ๆ เพราะกลุ่มจะรับฟังความคิดที่สร้างสรรค์น่าสนใจ แล้วช่วยกันทำให้สำเร็จจนได้ กิจกรรมเสริมสร้างกลุ่มหรือทีมงานในขั้นนี้ ควรเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และการยอมรับฟัง แต่กิจกรรมที่มีการแข่งขันกันเองในกลุ่ม อาจจะทำลายพัฒนาการกลุ่มให้กลับไปอยู่ในขั้นตอนที่ ๓ อีกได้
ถ้ามีสมาชิกใหม่เข้ามาในกลุ่มช่วงนี้ก็จะเข้ากับกลุ่มได้ลำบาก และทำให้การพัฒนาของกลุ่มชะงักไป ผู้นำกลุ่มควรกำหนดการทำงานกลุ่มให้ชัดเจน สรุปแนวคิดให้เข้าใจตรงกัน สร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่ม เพื่อที่สมาชิกจะได้ร่วมมือกันพัฒนากลุ่มให้มี ศักยภาพสูงสุด

ขั้นที่ ๕ มีความรักในหมู่คณะ (Esprit)

ในขั้นนี้กลุ่มจะมีขวัญ มีความจงรักภักดี และมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความคิดเห็นเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีความรู้สึกว่าต้องการแยกกลุ่ม สมาชิกแต่ละคนเข้าใจชัดเจนในบทบาทตามตำแหน่งหน้าที่ของตนว่าแยกจากคนอื่นอย่างไร และยอมรับคนอื่น ๆ เหมือนกับที่ยอมรับตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก การยอมรับในเรื่องใดๆ มาจากความพอใจของสมาชิกทุกคน สมาชิกจะรู้สึกอิสระมากขึ้น การแบ่งก๊ก แบ่งเหล่าเป็นกลุ่มย่อยจะหายไป กลุ่มจะพัฒนาเอกลักษณ์ของกลุ่มขึ้นมาและปิดรับสมาชิกใหม่ หากมีสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามา เอกลักษณ์ของกลุ่มจะเสียไป พัฒนาการของกลุ่มจะย้อนกลับไปขั้นแรก ๆ อีก จนสมาชิกรู้สึกได้ ผลิตผลของกลุ่มในขั้นนี้มาจากความคิดสร้างสรรค์ของคนในกลุ่ม
ถึงแม้จะมีสิ่งที่แอบแฝงอยู่ในใจ (Hidden Agenda) กลุ่มเห็นว่าเป็นเรื่องสิทธิที่ทุกคนจะคิดและกลุ่มยอมรับได้ เพราะมีความไว้วางใจกันสูง และสมาชิกแต่ละคนมีความจงรักภักดีต่อกลุ่ม ในขั้นนี้ผู้นำกลุ่มใช้วิธีส่งเสริมกลุ่มเช่นเดียวกับขั้นตอนที่ ๔ และเพิ่มการกระตุ้น จูงใจ ให้สมาชิกมุ่งมั่นในงาน
และร่วมมือกันยิ่งขึ้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างขั้นตอนการพัฒนาของกลุ่ม

 

การพัฒนาของกลุ่ม จากขั้นแรกที่ทำความรู้จักกันด้วยความสุภาพ ไปสู่ขั้นของการหาความหมายว่า “ทำไมเราอยู่ที่นี่” จะเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกกลุ่มคนใดคนหนึ่ง เริ่มต้องการหาความหมาย เช่นถามขึ้นว่ามีอะไรที่เราจะต้องเกี่ยวข้อง ความสามารถในการรับฟังของบุคคลเป็นลักษณะสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มพัฒนา จากขั้นที่ ๒ เข้าสู่ขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔ ในบางกลุ่มขณะที่สมาชิกหลายคนเข้าสู่ขั้นที่ ๔ คือ รู้จักคุ้นเคยเข้ากันได้ดีกับสมาชิกคนอื่นๆ เข้าใจวัตถุประสงค์ของกลุ่ม และชัดเจนในบทบาทหน้าที่จนทำตัวเป็นหน่วยหนึ่งในโครงสร้างของกลุ่มได้แล้ว อาจจะมีสมาชิกบางคนยังไม่ผ่านขั้นตอนต้นๆ เช่น ไม่สนใจวัตถุประสงค์ของกลุ่ม ไม่พยายามพูดหรือรับฟังทำความเข้าใจกับสมาชิกคนอื่นๆ ได้ การพัฒนาของกลุ่มเข้าสู่ขั้นที่ ๔ ก็ จะไม่สมบูรณ์หรือเป็นไปไม่ได้ บางครั้งสมาชิกคนนั้นอาจต้องออกจากกลุ่มไป ส่วนการพัฒนาจากขั้นที่ ๔ ไปสู่ขั้นที่ ๕ ต้องการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการตกลงใจระหว่างสมาชิกของกลุ่ม
ความเป็นหมู่คณะของกลุ่มชนิดที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นกับว่าสมาชิกกลุ่มจะสามารถปรับตัวเข้าสู่ขั้นตอนแต่ละขั้นในระยะเวลาเดียวกันหรือไม่ กลุ่มจะดำเนินไปตามขั้นตอนทั้ง ๕ ขั้นนี้ตามแต่ความต้องการของสมาชิกในกลุ่ม การที่สมาชิกแต่ละคนเข้าใจขั้นตอนก็จะช่วยให้กลุ่มพัฒนาได้เร็วขี้นและ
เป็นไปในทางที่ต้องการ เช่น จากขั้น ๑ จะพัฒนาไปขั้น ๒ สมาชิกอาจจะต้องเสียสละความสบายใจส่วนตัวบ้าง และก็ต้องรู้ตัวว่าเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อความขัดแย้ง จากขั้น ๒ ไปขั้น ๓ สมาชิกก็ควรจะยึดหลักการหรือยืนอยู่บนเหตุผลที่เป็นเป้าหมายรวมของกลุ่มเข้าไว้ และก็ยอมรับว่าข้อคิดเห็นต่าง ๆ อาจจะไม่ได้รับการยอมรับ
อย่างเต็มที่นัก กับจะต้องตระหนักว่า ระยะนี้เสี่ยงต่อการกระทบกระทั่งระหว่างบุคคล ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติของขั้นตอนที่ ๓
จากขั้น ๓ ไปขั้น ๔ เป็นขั้นที่บุคคลหรือกลุ่มย่อยเริ่มก่อตัวรวมเป็นโครงสร้างของกลุ่มใหญ่
แต่ขั้นที่ ๓ จะถูกขัดขวางไม่ให้พัฒนาการไปถึงขั้นที่ ๔ จากการที่สมาชิกพยายามแข่งขันกันเอง ยึดมั่นความคิดของตนมากเกินไป ถ้าสมาชิกเรียนรู้การยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน กลุ่มจะพัฒนาเป็นขั้นที่ ๔ และจะพัฒนาไปสู่ขั้นที่ ๕ ได้นั้น ต้องอาศัยความเข้าใจกันระหว่างสมาชิกทุกคนอย่างแท้จริง
กระบวนการกลุ่ม ๕ ขั้นตอนแบบ Cog’s Ladder นี้ ทั้งผู้นำกลุ่มและสมาชิกทุกคนมีความสำคัญในการใช้ความสามารถวิเคราะห์สภาพกลุ่ม และมีเจตนา ที่จะสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ร่วมมือกันสนับสนุนกลุ่มให้ประสบความสำเร็จ มีทัศนคติที่ดีต่อกลุ่มและงานของกลุ่ม จนทำให้เกิดแรงจูงใจมุ่งมั่นในงาน และ สร้างผลงานที่มีคุณภาพ

 

  • จิตวิทยาสำหรับผู้บังคับบัญชา