การบริหารจัดการทีมงาน

การบริหารจัดการทีมงาน จากหนังสือ Creating Teams with an Edge แปลและเรียบเรียงโดย สุรีพร พึ่งพุทธคุณ

จากคำนำ
เป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีม ซึ่งโธมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธีบดีของสหรัฐอเมริกา ต้องการสำรวจส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกา ซึ่งเขาได้มอบหมายภารกิจในครั้งนี้ ให้แก่ทีมงานทีมหนึ่ง คณะสำรวจภูมิประเทศ (Corps Of Discovery) ประกอบด้วยบุคลากร 32 คนมีเมริเวเธอ ลิวอิสเป็นหัวหน้าทีมและวิลเลียม คลากมาเป็นผู้นำในภารกิจครั้งนี้ ด้วยคัดเลือกลูกทีมเอง ซึ่งการศึกษาถึงการให้การสนับสนุนทีม การบริหารจัดการบุคลากร การจัดโครงสร้างการทำงาน และการเป็นผู้นำทีมของคณะสำรวจคณะนั้นถือเป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับทีมที่ต้องการประสบความสำเร็จ ในฐานะที่เจฟเฟอร์สันทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนทีม ด้วยการสนับสนุนทางการเงิน และทรัพยากรอื่นๆ กำหนดเป้าหมายของทีม สิ่งที่น่าศึกษาในการทำงานเป็นทีม คือการเพิ่มและลดคนในหน้าที่ต่างๆ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ วิธีการสรรหาสมาชิกใหม่ที่มีทักษะด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับทีม การตัดสินใจเฉพาะหน้าของทีมที่ตั้งอยู่บนเป้าหมายของภารกิจทีมเป็นสำคัญ การจัดการและการเป็นผู้นำในการทำงานเป็นทีม ที่ตระหนักถึง คุณลักษณะของทีมที่ประสบความสำเร็จ ภารกิจของทีมที่สอดคล้องกับภารกิจขององค์กร บทบาทของผู้นำทีม ผู้สนับสนุนให้ทีมก้าวสู่เป้าหมาย สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาในการคัดเลือกสมาชิกทีม

สรุปเนื้อหา

บทที่ 1 แนวคิดพื้นฐานในการทำงานเป็นทีม

“ ทีม” หมายถึง การมีจุดมุ่งหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การร่วมมือกัน และในบางครั้งทีมยังหมายถึง ความเท่าเทียมกันของสมาชิกในทีมด้วย ทีมงานเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งแต่ละคนมีทักษะความสามารถในการทำงานที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน และทุกคนต่างๆก็ยึดมั่นในเป้าหมายเดียวกัน พร้อมทั้งมีส่วนในความรับผิดชอบต่อเป้าหมายนั้นร่วมกัน ทีมมีปฎิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกด้วยกัน และในขณะเดียวกันก็มีปฎิสัมพันธ์กับผู้นำทีมด้วย สมาชิกของทีมคาดหวังว่าผู้นำทีมจะช่วยจัดหาทรัพยากร แนะนำแนวทางที่เหมาะสมในการทำงาน(Coaching) ในยามจำเป็น และช่วยเชื่อมต่อทีมเข้ากับส่วนงานอื่นๆขององค์กร
คุณลักษณะของทีมที่สำคัญ

4 ประการ 1) ภารกิจของทีม 2) ขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน 3) การมอบหมายอำนาจในการบริหารจัดการกระบวนการทำงานของทีมอย่างชัดเจน และ 4) การมีสมาชิกอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่เหมาะสม
“กลุ่ม” การที่คนกลุ่มหนึ่งมาทำงานอยู่ด้วยกันในสถานที่แห่งเดียวกัน เป็นการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นวิธีการทำงานที่ผู้จัดการ หรือหัวหน้าเป็นผู้กำกับควบคุมการทำงานของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม และสมาชิกในกลุ่มสามารถทำงานของตนเองให้เสร็จสมบูรณ์ได้โดยไม่ต้องประสานกับสมาชิกคนอื่นๆ สมาชิกแต่ละคนจะทำงานตามคำสั่งของผู้จัดการ และสมาชิกแต่ละคนจะทำงานร่วมกับผู้จัดการเท่านั้น หัวหน้ากลุ่มเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ของกลุ่มทุกเรื่องและเป็นผู้ประกอบงานแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน
รูปแบบการทำงานเป็นทีม ที่นิยมใช้กันสูงมากมี 2 รูปแบบ คือ
1. ทีมงานที่บริหารจัดการตนเอง ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจในการปฏิบัติงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งซึ่งดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ทีมสามารถกำหนดเป้าหมายของตนเอง และทีมจะได้รับผลตอบแทนที่ดีหากทำงานบรรลุเป้าหมาย ทีมมีสิทธิในการคัดเลือกสมาชิก ปลดสมาชิกที่อาจเป็นภัยต่อทีมหรือขัดขวางไม่ให้ทีมมีผลการดำเนินงานที่ดีออกมาได้ ทีมสามารถคัดเลือกผู้นำของตน สมาชิกมีการหมุนเวียนกันทำงาน ปรับปรุงกระบวนการทำงาน กำหนดตารางการทำงาน กำหนดวันหยุด และเมื่อไรทีมควรดำเนินการบำรุงรักษาเครื่องจักร
2. ทีมงานโครงการ(Project Teams) เป็นทีมงานโครงการที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อการทำงาน ซึ่งไม่ใช่งานที่บริษัททำอยู่เป็นประจำ เป็นการทำงานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเมื่อทำงานสำเร็จทีมงานก็จะสลายตัวแยกจากกัน มีทั้งผู้นำทีมและผู้จัดการโครงการซึ่งทำงานแบบเต็มเวลาเป็นผู้ดูแลโครงการ
ข้อสรุปที่ได้
1. บริษัทไม่จำเป็นต้องนำวิธีการทำงานเป็นทีมมาใช้สำหรับกรณีที่ภารกิจที่ทำไม่มีความซับซ้อนมากนัก และเป็นงานที่บริษัททำอยู่เป็นประจำ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องประสานการทำงานกันมากนัก และภารกิจนั้นก็ไม่ต้องอาศัยทักษะหรือประสบการณ์ที่หลากหลาย
2. การทำงานเป็นทีมอาจจะเป็นวิธีการทำงานที่ดีที่สุดในกรณีที่บริษัทไม่สามารถสรรหาบุคคลซึ่งมีส่วนผสมที่ลงตัวของความรู้ ความชำนาญ และแนวคิดมุมมองเกี่ยวกับงานที่จะทำ และบริษัทควรจะนำวิธีการทำงานเป็นทีมมาใช้ในกรณีที่เป้าหมายของภารกิจนั้นเป็นเป้าหมายซึ่งมีความท้าทายที่แตกต่างจากภารกิจอื่น
3. ผู้บริหารควรคำนึงถึงความเหมาะสมในการนำวิธีการทำงานเป็นทีมใน 3 ด้านมาใช้ คือ 1) ด้านความซับซ้อนของงาน 2) ความเกี่ยวโยงกันของเนื้องาน และ 3) วัตถุประสงค์ของภารกิจที่ทำ

บทที่ 2 ความสามารถที่สำคัญของทีม ในการทำงานให้มีประสิทธิผล

1. การมีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันและการวัดผลการดำเนินงาน วิธีการทดสอบว่าสมาชิกทุกคนในทีมมีเป้าหมายร่วมกัน “ คำตอบในลิฟต์ ” ทำการทดสอบโดยแยกสมาชิกของทีมออกมาทีละคนและใช้คำถามว่า หากคุณกำลังขึ้นลิฟต์จากชั้นหนึ่งไปชั้นสอง พร้อมกับประธานบริษัท และท่านประธานถามคุณว่า ตอนนี้ทีมของคุณกำลังทำงานอะไรอยู่ คุณจะตอบว่าอย่างไรซึ่งสมาชิกทุกคนในทีมควรจะสามารถอธิบายจุดประสงค์ได้อย่างรวบรัดและชัดเจน
2. สมาชิกมีความมุ่งมั่นในเป้าหมายนั้นด้วยความมุ่งมั่น ความเข้าใจ หมายถึงการที่สมาชิกรู้ว่าเขาควรจะเดินไปในทิศทางใด แต่ความมุ่งมั่นเป็นสิ่งที่เกิดจากภายในตัวของสมาชิกซึ่งเป็นสิ่งจูงใจให้สมาชิกทีมปฏิบัติภารกิจนั้นๆ และไม่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จ หมั่นเติมใจให้กับกันและกัน แม้ว่าจะประสบกับความยากลำบากในช่วงเวลาระหว่างการดำเนินงานก็ตาม ความมุ่งมั่นและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแสดงให้เห็นด้วยคำพูด เช่นใช้คำว่า “ เรา” และ “ของเรา” แทนคำว่า “ ฉัน คุณ และพวกเขา”
3. สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน และต่างก็ได้รับผลตอบแทนจากการทำงานในทีม นั่นคือ ผลงานของทีมเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในทีม ที่จะทำให้ทีมก้าวสู่จุดหมายได้ สมาชิกของทีมจะมีคุณค่าต่อทีมได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาลงมือทำอย่างแท้จริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ การเข้าร่วมทีมแข่งเรือ ทุกคนต้องช่วยกันพายด้วยความแรงในจังหวะที่พร้อมเพรียงกัน ทีมแข่งเรือไม่มีที่ว่างสำหรับคนที่อู้งานหรือคนที่ไม่พายเรือตามจังหวะเดียวกัน ผู้นำทีมมี 2 บทบาทคือ บางครั้งเขาก็สวมหมวกผู้นำ และบางครั้งเขาก็สวมหมวกของสมาชิกทีม(ต้องลงมือทำร่วมกับทีมด้วย)
4. สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน
4.1 การสนับสนุนจากผู้นำ เพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นเกราะป้องกันทีมในการทำงาน
4.2 โครงสร้างองค์กรที่ไม่ใช่รูปแบบลำดับขั้นแบบตายตัว แต่เป็นโครงสร้างที่ก่อให้เกิดนิสัยในการทำงานที่นำไปสู่การทำงานเป็นทีม พร้อมที่จะแบ่งปันข้อมูล การร่วมมือกันเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคอันเนื่องมาจากเหตุผลเชิงองค์กร รวมทั้งการกระจายอำนาจให้แก่พนักงาน
4.3 ระบบการให้รางวัลที่มีความเหมาะสม ด้วยการให้รางวัลแก่พนักงาน โดยใช้ตาชั่งที่แตกต่างกันสำหรับการวัดผลงานของบุคคล และผลงานของทีม สิ่งที่ไม่ถูกต้องที่ควรคำนึง คือ “ การยกย่องและให้ความดีความชอบแก่ทีม ทั้งๆที่เป็นผลงาน จากการทำงานของบุคคล หรือการทำงานแบบสั่งการไปยังสมาชิกแต่ละคน ในขณะที่งานนั้นเป็นความรับผิดชอบร่วมของทีม”
4.4 ประสบการณ์ในการทำงานเป็นทีม ประสบการณ์จะทำให้เขาทราบดีว่า สิ่งใดที่ก่อให้เกิดผลดีสำหรับทีมและสิ่งใดที่จะไม่เป็นผลดี และทราบดีว่าจะจัดรูปแบบเหตุผลที่ทำให้พนักงานต้องทำงานเป็นทีม
5. ความสอดคล้อง หมายถึง การวางแผน ความทุ่มเทในการทำงาน และการให้รางวัลที่สอดคล้องกับเป้าหมายสูงสุดขององค์กร

บทที่ 3 การจัดตั้งทีม

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับทีม ได้แก่ ผู้สนับสนุนทีม ผู้นำทีม สมาชิก
ผู้สนับสนุนทีม ควรเป็นผู้จัดการหรือผู้บริหารที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลงานของทีมอย่างแท้จริง และควรเป็นเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของทีมด้วย นอกจากนี้ผู้สนับสนุนทีมยังควรเป็นผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดขอบเขตของงาน การจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับทีม และการพิจารณาอนุมัติผลงานของทีม
ผู้นำทีม มีหน้าที่ความรับผิดชอบซึ่งคล้ายกับผู้จัดการทั่วๆไปอยู่หลายประการ แต่นอกเหนือจากหน้าที่เหล่านั้น ผู้นำทีมยังต้องสวมบทบาทของการเป็นผู้ริเริ่ม เป็นต้นแบบและเป็นผู้ให้คำแนะนำด้วย
หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกสมาชิกทีม คือ การพิจารณาจากทักษะความสามารถที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติภารกิจของทีมสำเร็จลุล่วงไปได้ ในลำดับแรกผู้สรรหาสมาชิกต้องวิเคราะห์เป้าหมาย กำหนดว่าทีมต้องการทักษะอะไรบ้างสำหรับการบรรลุเป้าหมายของทีม ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางด้านเทคนิค ด้านการแก้ไขปัญหา ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและด้านองค์กร จากนั้นจึงกำหนดทักษะที่ต้องการและรับสมัครคนที่มีทักษะเหล่านั้น
แผนแม่บทของทีม เป็นเอกสารที่กล่าวถึงลักษณะของงานและสิ่งที่ฝ่ายบริหารควดหวังจากการทำงานของทีม โดยแผนแม่บทของทีม เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงทิศทางในการทำงานซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร นอกจากนี้การจัดทำแผนแม่บท ยังทำให้ผู้บริหารระดับสุงบอกได้ชัดเจนถึงสิ่งที่ทีมควรจะทำ

บทที่ 4 การเริ่มต้นที่ถูกต้อง : ก้าวแรกที่สำคัญ

1. ทีมควรเปิดตัวทีมด้วยการจัดประชุม โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วมซึ่งรวมถึงผู้สนับสนุนทีมด้วย และในระหว่างการประชุมก็ให้กล่าวถึง แผนแม่บทของทีม พร้อมทั้งย้ำถึงความสำคัญในเป้าหมายของทีม และแสดงให้เห็นว่าเป้าหมายนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรอย่างไร
2. ทุกคนในทีมควรมีข้อตกลงกันว่า จะนำวิธีการตัดสินใจแบบใดมาใช้ในทีม โดยการเตรียมการเช่นนี้จะช่วยประหยัดเวลาในการทำงานลงได้ และหากทุกคนในทีมเห็นว่ากระบวนการในการตัดสินใจมีความเหมาะสม พวกเขาก็จะให้ความยอมรับในการตัดสินใจของทีมได้มากขึ้น
3. ในช่วงทีมทำการวางแผนและกำหนดตารางการทำงานนั้น สิ่งสำคัญประการแรกที่ทีมต้องทำก็คือ ทีมต้องมีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงและชัดเจน จากนั้นจึงแตกเป้าหมายนั้นย่อยลงเป็นงานหลักและงานย่อยในปริมาณงานที่เหมาะสม พร้อมทั้งประมาณเวลาในการปฏิบัติแต่ละงาน และมอบหมายงานให้สมาชิกแต่ละคน โดยพิจารณามอบหมายงานแต่ละชิ้นให้แก่คนที่สามารถทำงานนั้นได้ดีที่สุด
4. สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการจัดตารางการทำงานก็คือ จุดที่คาดว่าจะก่อให้เกินปัญหาคอขวด ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานล่าช้าออกไป จากนั้นจึงคิดหาวิธีการรับมือ หรือกำจัดจุดที่เป็นคอขวดเหล่านั้นไปเสีย
5. ทีมควรทราบวิธีวัดความสำเร็จในการทำงานของทีม และควรกำหนดตัววัดผลการดำเนินงานสำหรับทีมขึ้นมาโดยเฉพาะ
6. ทีมควรนำงบประมาณมาใช้ในการควบคุมการปฏิบัติงานของทีม คำนึงถึงความพอเพียงของงบประมาณ หากไม่ได้อาจต้องลดเป้าหมายของทีมให้ต่ำลง
7. การประสานความร่วมมือช่วยเปลี่ยนกลุ่มคนให้กลายเป็นทีมที่แท้จริง โดยจัดประชุมขึ้นอย่างสม่ำเสมอ การเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างสมาชิก การจัดสถานที่ทำงานของทีมงาน กิจกรรมสันทนาการ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทีม
8. ควรจัดห้องให้ทีมทำงานอยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อให้สมาชิกมีโอกาสปฎิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ประสานความร่วมมือในการทำงาน และเป็นที่จัดแสดงผลงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
9. กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติตนขึ้น เช่น ประชุมตรงเวลา การทำงานแล้วเสร็จตามกำหนดเวลา การช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีม การวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้สมาชิกเกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน

บทที่ 5 ควาท้าทายในการบริหารจัดการทีม: ความสำคัญของผู้นำทีม

ผู้นำทีม
1. ต้องทำตัวเป็นผู้ริเริ่ม ต้นแบบ นักเจรจา และผู้ให้คำแนะนำ
2. ทำให้ทุกคนในทีมเป็นส่วนหนึ่งของทีม
3. การส่งเสริมให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทีม ด้วยการมองเห็น ความสำคัญของทักษะความสามารถของสมาชิกแต่ละคน และสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อทีม
4. พยายามหลีกเลี่ยงการคิดคล้อยตามกันเป็นกลุ่ม โดย
1) มอบหมายให้กลุ่ม คนที่ได้รับความเชื่อถือจากสมาชิกได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านอย่างรุนแรง
2) แต่งตั้งให้มีผู้ทำหน้าที่แย้งสมมุติฐาน และข้อสรุปของสมาชิกส่วนใหญ่ในทีม
5. นำวิธีการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของทีม โดยนำคนที่มีความคิดนอกกรอบ และคนที่มีรูปแบบความคิดในกรอบเดิมเข้ามาทำงานร่วมกัน และผสมผสานความคิดนอกกรอบเข้าด้วยกัน

บทที่ 6 ลงมือปฏิบัติการด้วยทีม

1. การให้ความสนใจกับกระบวนการทำงานของทีม โดยพิจารณาจากความ ร่วมมือกันของสมาชิก การแลกเปลี่ยนข้อมูล และพยายามทำให้แผนกซึ่งมีข้อมูลที่สำคัญสำหรับทีมแลกเปลี่ยนข้อมูล
2. เมื่อสมาชิกคนใดคนหนึ่งสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นภายในทีม ทีมสามารถ จัดการกับปัญหาได้ 2 วิธี คือ การหารือกันอย่างเปิดเผยภายในทีม และด้วยการหารือกันเป็นการส่วนตัวกับสมาชิกคนนั้น
3. ทีมควรแบ่งภารกิจออกเป็นงานย่อย เพื่อกระตุ้นและจูงใจให้สมาชิกในการ ทำงานร่วมกัน
4. ทีมควรฉลองความสำเร็จ เมื่อทีมทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมายเป็นระยะๆ
5. ทำให้ทีมเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น โดย
1) คัดเลือกผู้ที่มีความกระตือรือร้น ต้องการเรียนรู้เข้ามาเป็นสมาชิกทีม
2) กระตุ้นให้สมาชิกให้ความสนใจกับบทเรียนที่พวกเขาจะได้รับจากการเรียนรุ้ผ่านประสบการณ์ของพวกเขาเอง
3) ให้โอกาสแก่สมาชิกในการทำการทดลองต่างๆ
6. ผู้นำต้องทำตนให้พร้อมสำหรับให้สมาชิกเข้าพบได้เสมอ และรวมถึงการยอมรับความผิดพลาดของตนเองได้
7. สิ่งที่ทีมต้องให้ความสำคัญในการประเมินผล นอกเหนือจากผลลัพธ์ของการทำงานคือ “ ปัจจัยด้านกระบวนการ(PROCESS Factors) “ โดยเฉพาะช่วงแรกของการทำงาน

บทที่ 7 ทีมเสมือนจริง( virtual Team)

ทีมเสมือนจริง หมายถึง ทีมที่สมาชิกจะติดต่อกันผ่านสื่อ โดยที่ไม่ได้พบหน้ากันโดยตรง เช่น ผ่านสื่ออีเมล์ การฝากข้อความทางเสียง การสนทนาทางโทรศัพย์ ทางอุปกรณ์ศื่อสารภายในกลุ่ม การประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ เนื่องจากสมาชิกทีมไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน ทีมเสมือนจริงช่วยให้สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยทำให้ทีมมีทักษะที่หลากหลายและมีมุมมองในการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น
การบริหารทีมงานเสมือนจริงมีความท้าทายอยู่ 2 ประการ คือ 1) การทำให้สมาชิกของทีมซึ่งทำงานในสถานที่ต่างๆ สามารถประสานความร่วมมือระหว่างกัน และทำงานให้คืบหน้าไปได้ 2) การทำให้การติดต่อสื่อสารกับเพื่อนสมาชิกในทีมเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
เว็ปไซด์เป็นทั้งสถานที่ตั้งของห้างของทีมเสมือนจริง เป็นห้องสมุดที่รวบรวมเอกสารต่างๆไว้ และเป็นสถานที่แสดงตารางการนัดหมายต่างๆ
ผู้นำทีมและสมาชิกของทีม ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมของสมาชิกในทีม
การให้คำแนะนำเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของสมาชิกทีม

บทที่ 8 การเป็นผู้ร่วมทีมที่ดี

1. เปิดรับแนวคิดใหม่ๆ และวิธีการทำงานที่แตกต่างจากตนด้วยเจตคติเชิงบวก
2. สมาชิกทีมควรแบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ และความรู้เกี่ยวกับวิธีการทำงานให้แก่เพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ
3. ทางออกของปัญหา ทีมควรผสมผสานคุณลักษณะที่ดีที่สุดของทางเลือก ต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ที่ดีกว่า
4. การทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานใหม่ ควรทำงานชิ้นที่ง่ายที่สุดก่อน ซึ่งจะ ช่วยในเรื่องเวลาและการปรับตัวเข้ากับคนอื่นๆ
5. การเจรจาต่อรองระหว่างกัน คุณไม่ควรสร้างสถานการณ์ในการต่อรองให้อยู่ในรูปที่ฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์ และอีกฝ่ายหนึ่งเสียผลประโยชน์ ต้องเป็นไปในลักษณะที่อยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลและผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
6. สมาชิกทีมต้องมองเห็นถึงความสำคัญในเป้าหมายของทีม
7. ต้องปฏิบัติตนให้เป็นที่ไว้วางใจของผู้อื่น เป็นไปตามที่พูดและสัญญาไว้
8. การวางแผนการทำงานทีมเป็นสิ่งสำคัญแต่ยังเป็นประเด็นรองจากการลงมือปฏิบัติจริง
อ้างอิง
สามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือ/เอกสาร
การบริหารจัดการทีมงาน แปลและเรียบเรียงโดย สุรีพร พึ่งพุทธคุณ จากหนังสือ Creating Teams with an Edge สำนักพิมพ์ ธรรกมลการพิมพ์ : กรุงเทพฯ โทร 0-2932-4911,0-2932-5433
ปีที่พิมพ์ ครั้งที่ 3 กันยายน 2549

 


สรุปเนื้อหา โดย นางวนิดา ม่วงศิลปชัย นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ สถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน