กฏ 21 ข้อของผู้ประกอบการ

สรุปกฏ 21 ข้อจากหนังสือ The Entrepreneur ซึ่งเขียนโดย William E. Heinecke

ได้ความดังต่อไปนี้ค่ะ

กฎข้อที่ 1 : ฝึกฝนตนเองให้มองเห็นโอกาส

ในการทำธุรกิจต้องฝึกฝนตนเองเพื่อมองให้เห็นโอกาสหรือช่องทาง(ส่วนแบ่ง)ในตลาด และรีบดำเนินการเพื่อเติมเต็มช่องว่างนั้น ให้เร็วที่สุดก่อนคนอื่น

กฎข้อที่ 2 : ทำการบ้าน

ความคิดหลายอย่างอาจเกิดขึ้นด้วยการสังเกตอย่างไม่เป็นทางการ แล้วนำไปสู่การศึกษาอย่างจริงจังในเวลาต่อมา โดยเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ เช่น การทำเอง หรือการเป็นแฟรนไชส์ การแยกแยะปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในเชิงการตลาด ทำการวิจัยทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก คิดถึงสิ่งที่อาจเกิด ตามมาด้วย เช่น ถ้ามีโครงการนี้แล้วควรมีอะไรเพิ่มเติมได้อีกบ้าง คำนึงถึงขีดความสามารถและทรัพยากรที่ต้องการใช้ ศึกษามิติทางการเงินของโครงการด้วย ถ้าคิดอย่างถี่ถ้วนรอบคอบและมีข้อมูลครบถ้วนธุรกิจก็สามารถที่จะรุดต่อไปข้างหน้าได้

เตรียมตัวให้พร้อมเสมอเมื่อโอกาสมาถึง ต้องทำการบ้านก่อน เพราะถ้ามีข้อมูลอยู่แล้ว ก็พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า เคล็ดลับการเตรียมพร้อม มีดังนี้

  • เริ่มจากเล็ก และเรียบง่าย จากหนึ่งความคิดดีๆที่เลือกแล้ว และมุ่งทำตามความคิดนั้น
  • หาแฟรนไชส์ เพื่อช่วยให้เข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูล แทนการลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจของคุณเอง
  • ตระหนักถึงปัญหาล่วงหน้า
  • วิจัย เพื่อดูกลุ่มเป้าหมาย
  • การต่อยอดจากความคิดแรก ความคิดรวบยอด เช่น ทำอย่างหนึ่งพ่วงอีกอย่างหนึ่ง
  • ประเมินศักยภาพและทรัพยากรให้เหมาะสม
  • ประมาณการงบการเงิน คำนึงเสมอว่าจะต้องอยู่รอดให้ได้

กฎข้อที่ 3 : ให้หยุดอย่าถลำลึกถ้าไม่สนุกกับงาน

ถ้าไม่สนุกกับงาน ก็อย่าถลำลึกด้วยการทุ่มเทเวลาและพลังงานลงไป อีกทั้งอย่าทำงานเพื่อหวังเงินและอำนาจ ไม่มีใครประสบความสำเร็จ ถ้าคิดว่าต้องทำงานที่น่าเบื่อ

กฎข้อที่ 4 : ทำงานหนักและสนุกไปพร้อมกัน

ผู้ประกอบการควรมีความสมดุลด้านการงาน ชีวิตส่วนตัวและครอบครัวโดยการวางแผนในเรื่องเวลาของการทำงานหนักและสนุกไปพร้อมกัน ผสมผสานธุรกิจกับความพอใจเข้าด้วยกัน ดังนั้น ยิ่งทำงานหนักก็จะยิ่งรู้คุณค่าของการพักผ่อน ซึ่งความสมดุลจะทำให้พบกับ ความโชคดีมากขึ้น

กฎข้อที่ 5 : ทำงานด้วยสมองของคนอื่น

ในการทำธุรกิจจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงเทคนิคหรือ know how แต่ถ้าผู้ประกอบการมีโอกาสแต่ยังขาดความรู้ด้านเทคนิคหรือ know how ก็สามารถจ้างคนที่มีความรู้ความสามารถสูงมาทำงานให้ได้ โดยเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีทำงาน แต่ผู้ประกอบการก็ต้อง พัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับผู้ที่เราจ้างมาได้

กฎข้อที่ 6 : ตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์

เป้าหมายจะเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจก้าวรุดไปได้ ควรทำธุรกิจโดยการวางเป้าหมายเริ่มเรื่องเล็ก ๆ ก่อนเพื่อให้ธุรกิจอยู่บนฐานที่มั่นคง ถ้าสำเร็จก็ค่อยๆขยายเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ทีละ step ซึ่งการตั้งเป้าหมายควรจะเป็นเป้าหมายที่เป็นฐานรองรับกับวิสัยทัศน์ เพระถ้ามีวิสัยทัศน์โดยปราศจากเป้าหมายรองรับก็จะเป็นวิสัยทัศน์ที่ว่างเปล่า

กฎข้อที่ 7 : เชื่อในสัญชาตญาณ

สัญชาตญาณเป็นความเข้าใจโดยการใช้ความรู้สึกในทันทีทันใดโดยปราศจากเหตุผลหรือเป็นความเข้าใจในภาพแรกที่เห็น ในบางครั้ง ผู้ประกอบการอาจตัดสินใจบนพื้นฐานของการเชื่อในความรู้สึกนั้นแล้ว ประสบความสำเร็จกว่าการตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล หรือวิชาการ เพราะฉะนั้น จงเชื่อในสัญชาตญาณของตนเอง

กฎข้อที่ 8 : ไปให้ถึงท้องฟ้า

ผู้ประกอบการต้องคิดการใหญ่แล้วพยายามทำให้สำเร็จด้วยความตั้งใจจริงโดยไม่ต้องกลัวยักษ์ใหญ่ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะต้องก้าวอย่างอาจหาญ เพื่อให้ไปถึงท้องฟ้าและคว้าดาวให้ได้แม้เพียงครั้งเดียวก็ยังดี

กฎข้อที่ 9 : เรียนรู้การขาย

ก่อนที่จะเป็นเจ้าของกิจการที่ดีผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ที่จะเป็นนักขายที่ดีก่อน เพราะการเป็นนักขายที่ดี สามารถที่จะโน้มน้าวผู้อื่น ให้คล้อยตามได้ดี นักขายที่ดีจะต้องมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวสินค้า ที่จะขายต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี รวมทั้งต้องมีความขยันขันแข็ง ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่เกิดจากการขายสินค้าอย่างเดียวแต่ได้มาจากการขายความคิดด้วย

กฎข้อที่ 10 : การเป็นผู้นำ

ผู้ประกอบการคือผู้นำที่ต้องตัดสินใจ การเป็นผู้นำประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น การเป็นผู้ฟังที่ดี การสร้างแรงจูงใจ เชื่อมั่นในทีมงาน มีมารยาท เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นต้น ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จบางครั้งก็ต้องใช้ความเป็นเผด็จการบ้าง และต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้ตัดสินใจไปแม้ว่าบางครั้งจะผิดพลาดก็ตาม

กฎข้อที่ 11 : จดจำความล้มเหลวแล้วดำเนินการต่อไป

ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจะต้องถือว่า ความล้มเหลวคือจุดเริ่มต้นหรือเป็นสิ่งกระตุ้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ เมื่อเกิดความผิดพลาด ต้องถือเป็น ประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้แล้วดำเนินการต่อไป อย่ากลัวความผิดพลาด เพราะนั่นจะเป็นเส้นทางใน การเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ

กฎข้อที่ 12 : ทำเพื่อให้ได้โชคดีมากที่สุด

โชคคือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงจังหวะและเวลาที่เหมาะสม ผู้ที่โชคดีอยู่เสมอคือผู้ที่สร้างโอกาสที่ดีที่อยู่ตรงหน้า โชคอาจเกิดได้จากโอกาสทางธุรกิจ ความสัมพันธ์ส่วนตัว การจ้างคนเข้ามาร่วมงาน เป็นต้น โชคจึงเป็นสิ่งที่ไม่ต้องรอ แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถเตรียมพร้อม ที่จะไขว่คว้า และยึดมาให้ได้

กฎข้อที่ 13 : ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นวิถีของการดำเนินชีวิต

ผู้ประกอบการต้องมีความยืดหยุ่น เปิดรับความคิดใหม่ ๆ และเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ต้องมองหาวิธีการใหม่ ๆ ในการผลิตสินค้าตลอดเวลา และต้องมีความเชื่อว่า เมื่อได้ใช้วิธีการใหม่ใด ๆ แล้ว ในไม่ช้ามันก็จะล้าสมัย การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ต้องทำงานบน ความเปลี่ยนแปลงให้ได้

กฎข้อที่ 14 : สร้างสัมพันธภาพ

ไม่มีใครประสบความสำเร็จได้ในสุญญากาศ ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จต้องมีสัมพันธภาพกับสังคม ต้องสร้างเครือข่ายกับ หน่วยงานต่าง ๆ ในสังคม เช่น นายธนาคาร นักกฎหมาย นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ และลูกค้าที่สำคัญ ๆ ต้องนึกเสมอว่า สันถวไมตรีเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่สามารถซื้อ แต่ต้องหาให้ได้โดยการหว่านและเก็บเกี่ยว

กฎข้อที่ 15 : ใช้เวลาอย่างฉลาด

เวลาเป็นสิ่งที่มีจำกัด และเวลาของผู้ประกอบการ หมายถึงเงิน จึงต้องรู้จักจัดการเรื่องเวลาอย่างเหมาะสม อาจลองวิเคราะห์ดูว่า เวลาที่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ไปอยู่ที่ส่วนใดบ้าง และแก้ปัญหาในส่วนนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ

กฎข้อที่ 16 : วัดผลเพื่อประเมินผล

การใช้ Benchmarking ในการวัดผลหรือประเมินผลการทำงานเพื่อการเปรียบเทียบผลระหว่างบุคคลหรือระหว่างหน่วยงาน เป็นสิ่งจำเป็น ในการดำเนินธุรกิจ เพราะ Benchmarking เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการพัฒนาบุคลากรในทุกระดับ

กฎข้อที่ 17 : อย่าสร้างธุรกิจด้วยคนธรรมดาๆ

ในบางครั้งผู้ประกอบการต้องยอมเจ็บปวดในการที่จะต้องไล่คนที่ไม่มีผลงานออกไป ถึงแม้ว่าจะไม่อยากทำก็ตาม แต่เพื่อความแข็งแรงของธุรกิจ จำเป็นต้องทำ แต่ต้องรักษาคนที่เก่งมีความสามารถมีผลงานดีให้อยู่สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ ดีกว่าที่จะคิดที่จะพยายามรักษาพนักงานทุกคนไว้ เพราะฉะนั้นจะยิ่งทำให้ธุรกิจอ่อนแอลงไปอีก

กฎข้อที่ 18 : เน้นคุณภาพไม่ใช่เงิน

ผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จไม่ควรมุ่งแต่หาเงิน แต่ควรมุ่งเน้นไปในการพัฒนาคุณภาพเพื่อเข้าสู่ภาวการณ์แข็งขัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมากกว่า ในช่วงเหตุการณ์วิกฤตผู้ประกอบการไม่ควรลดคุณภาพสินค้าเพื่อรักษาเงินให้ได้เท่าเดิม แต่ควรควบคุมค่าใช้จ่ายแต่คงคุณภาพสินค้าไว้ ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นวิธีการที่จะได้เปรียบคู่แข่งในการแข่งขัน

กฎข้อที่ 19 : รีบลงมือทันทีในช่วงวิกฤต

ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ควรจะพลิกวิกฤตที่เผชิญอยู่ให้เป็นโอกาสในด้านต่าง ๆ โดยเมื่อประสบปัญหาต้องตั้งสติค่อย ๆ พิจารณาสถานการณ์อย่างรอบคอบแล้ววางแผนการทำงานและลงมือทำด้วยความมั่นใจแน่วแน่ไม่ย่อท้อ ซึ่งต้องอาศัย ความเชื่อมั่นในตนเองและเชื่อมั่นในลูกทีมตลอดเวลา จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งอันดับแรกก็คือ การอยู่รอด มีความมั่นคงและเติบโตต่อไปของธุรกิจ

กฎข้อที่ 20 : เมื่อตกม้าต้องรีบกระโดดขึ้นใหม่ทันที

ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านใดก็แล้วแต่ต้องพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ทันทีโดยใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีและใช้กฎทุกข้อที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการเชื่อมั่นในสัญชาตญาณ กำหนดกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและเพื่อพิสูจน์ความสามารถในการดำเนินธุรกิจต่อไป

กฎข้อที่ 21 : จงพอใจ

การดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการจะต้องทุ่มเททุกอย่างทั้งแรงกายแรงใจ แต่ความสำเร็จทางธุรกิจ จะต้องสมดุลกับ คุณภาพด้านอื่น ๆ แต่ถ้าชีวิตไม่มีความสมดุลก็จะเป็นอันตรายต่อชีวิตตัวเองและครอบครัว เพราะฉะนั้นจะพึงพอใจกับทุกสิ่งที่มีในชีวิต เพราะความสุขที่แท้จริงไม่ได้มาจากการได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ แ ต่มาจากความพึงพอใจในสิ่งที่มีอยู่

บทสรุปสุดท้าย

วิลเลียม ไฮเนคกี้ กล่าวว่าสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนคือการเปลี่ยนแปลง กฎทั้ง 21 ข้อที่กล่าวมาไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับนักธุรกิจ ที่ต้องการประสบความสำเร็จ กฎทั้งหมดนี้ไม่ใช่กฎที่ต้องปฏิบัติตาม เป็นเพียงกฎที่ใช้เป็นแนวทางซึ่งจะปฏิบัติตามเท่านั้น

สุจินต์ พราวพันธุ์