ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behavioral Learning Theories)

ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยมเน้นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยอาศัย ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้า (Stimulas) และ การตอบสนอง (Response) โดยอินทรีย์จะต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและ การตอบสนองอันนำไปสู่ ความสามารถในการแสดงพฤติกรรม คือการเรียนรู้นั่นเอง ผู้นำที่สำคัญของ กลุ่มนี้ คือ พาฟลอฟ (Ivan Pavlov) ธอร์นไดร์ (Edward Thorndike) และสกินเนอร์ (B.F.Skinner)

ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical Conditioning)

ผู้ที่ทำการศึกษาทดลองในเรื่องนี้ คือ พาฟลอฟ ซึ่งเป็นนักสรีระวิทยาชาวรัสเซีย เขาได้ทำการศึกษาทดลองกับสุนัขให้ ยืนนิ่งอยู่ในที่ตรึงใน ห้องทดลอง ที่ข้างแก้มของสุนัขติดเครื่องมือวัดระดับการไหลของน้ำลาย การทดลองแบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ ก่อนการวางเงื่อนไข (Before Conditioning) ระหว่างการวางเงื่อนไข (During Conditioning) และ หลังการวางเงื่อนไข (After Conditioning) อาจกล่าวได้ว่า การเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค คือ การตอบสนอง ที่เป็นโดยอัตโนมัติเมื่อนำ สิ่งเร้าใหม่มาควบคุมกับสิ่งเร้าเดิม เรียกว่า พฤติกรรมเรสปอนเด้นท์ (Respondent Behavior) พฤติกรรมการเรียนรู้นี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับมนุษย์และสัตว์ คำที่พาฟลอฟใช้อธิบายการทดลองของเขานั้น ประกอบด้วยคำสำคัญ ดังนี้

- สิ่งเร้าที่เป็นกลาง (Neutral Stimulus) คือ สิ่งเร้าที่ไม่ก่อให้เกิดการตอบสนอง
- สิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไข (Unconditioned Stimulus หรือ US ) คือ สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดการตอบสนองได้ตาม
  ธรรมชาติ  
- สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (Conditioned Stimulus หรือ CS) คือ สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดการตอบสนองได้หลังจากถูก
  วางเงื่อนไขแล้ว

การตอบสนองที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข (Unconditioned Response หรือ UCR) คือการตอบสนองที่เกิดขึ้น ตามธรรมชาติ
การตอบสนองที่ถูกวางเงื่อนไข (Conditioned Response หรือ CR) คือ การตอบสนองอันเป็นผลมาจาก
การเรียนรู้ที่ถูกวางเงื่อนไขแล้ว กระบวนการสำคัญอันเกิดจากการเรียนรู้ของพาฟลอฟ มีอยู่ 3 ประการ อันเกิดจากการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไข คือ

- การแผ่ขยาย (Generalization) คือ ความสามารถของอินทรีย์ที่จะตอบสนองในลักษณะเดิมต่อสิ่งเร้าที่มี ความหมายคล้ายคลึงกันได้
- การจำแนก (Discrimination) คือ ความสามารถของอินทรีย์ในการที่จะจำแนกความแตกต่างของสิ่งเร้าได้
- การลบพฤติกรรมชั่วคราว (Extinction) คือ การที่พฤติกรรมตอบสนองลดน้อยลงอันเป็นผลเนื่องมาจากการ ที่ไม่ได้รับสิ่งเร้า ที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข การฟื้นตัวของการตอบสนองที่วางเงื่อนไข (Spontaneous recovery) หลังจากเกิด การลบพฤติกรรม ชั่วคราวแล้ว สักระยะหนึ่งพฤติกรรมที่ถูกลบเงื่อนไขแล้วอาจฟื้นตัวเกิดขึ้นมาอีก เมื่อได้รับการกระตุ้นโดยสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข

ประโยชน์ที่ได้รับจากทฤษฎีนี้
ก. ใช้ในการคิดหาความสามารถในการสัมผัสและการรับรู้
ข. ใช้ในการแก้พฤติกรรมที่เป็นปัญหา
ค. ใช้ในการวางเงื่อนไขเกี่ยวกับอารมณ์ และเจตคติ
๒) การนำหลักการวางเงื่อนไขของพาฟลอฟไปใช้ในการเรียนการสอน
ก. ในแง่ของความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Differences) ความแตกต่างทางด้านอารมณ์ผู้เรียนตอบสนองได้ไม่เท่ากัน ในแง่นี้จำเป็นมากที่ครูต้องคำนึงถึงสภาพทางอารมณ์ของผู้เรียนว่า จะสร้างอารมณ์ให้ผู้เรียนตอบสนองด้วยการสนใจที่จะเรียนได้อย่างไร
ข. การวางเงื่อนไข (Conditioning) การวางเงื่อนไขเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางด้านอารมณ์ด้วย โดยปกติผู้สอนสามารถทำให้ผู้เรียนชอบหรือไม่ชอบเนื้อหาที่เรียน หรือสิ่งแวดล้อมในการเรียนหรือแม้แต่ตัวครูได้ ด้วยเหตุนี้ เราอาจกล่าวได้ว่าหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของครูเป็นผู้สร้างสภาวะทางอารมณ์นั่นเอง
ค. การลบพฤติกรรมที่วางเงื่อนไข (Extinction) ผู้เรียนที่ถูกวางเงื่อนไขให้กลัวครู เราอาจช่วยได้โดยป้องกันไม่ให้ครูทำโทษเขา โดยปกติก็มักจะพยายามมิให้ UCS. เกิดขึ้นหรือทำให้หายไป นอกจากนี้ก็อาจใช้วิธีลดความแรงของ UCS. ให้น้อยลงจนไม่อยู่ในระดับนี้จะทำให้เกิดพฤติกรรมทางอารมณ์นั้นขึ้นได้
ง. การสรุปความเหมือนและการแยกความแตกต่าง (Generalization และ Discrimination) การสรุปความเหมือนนั้นเป็นดาบสองคม คือ อาจเป็นในด้านที่เป็นโทษและเป็นคุณ ในด้านที่เป็นโทษก็เช่น การที่นักเรียนเกลียดครูสตรีคนใดคนหนึ่งแล้วก็จะเกลียดครูสตรีหมดทุกคน เป็นต้น ถ้าหากนักเรียนเกิดการสรุปความเหมือนในแง่ลบนี้แล้ว ครูจะหาทางลดให้ CR อันเป็นการสรุป กฎเกณฑ์ที่ผิด ๆ หายไป ส่วนในด้านที่เป็นคุณนั้น ครูควรส่งเสริมให้มาก นักเรียนมีโอกาสพบ สิ่งเร้าใหม่ ๆ เพื่อจะได้ใช้ความรู้และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ได้กว้างขวางมากขึ้น
ตัวอย่างเกี่ยวกับการสรุปความเหมือนที่ใช้ในการสอนนี้ คือ การอ่านและการสะกดคำนักเรียนที่สามารถสะกดคำว่า " round " เขาก็ควรจะเรียนคำทุกคำที่ออกเสียง O - U - N - D ไปในขณะเดียวกันได้ เช่นคำว่า around , found , bound , sound , ground , mound , pound แต่คำว่า wound (ซึ่งหมายถึงบาดแผล) นั้นไม่ควรเอาเข้ามารวมกับคำที่ออกเสียง O - U - N - D และควรฝึกให้รู้จักแยกคำนี้ออกจากกลุ่ม (Discrimination)

ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำของ สกินเนอร์

๑) หลักการและแนวคิดที่สำคัญของ สกินเนอร์
ก. เกี่ยวกับการวัดพฤติกรรมตอบสนอง สกินเนอร์ เห็นว่าการศึกษาจิตวิทยาควรจำกัดอยู่เฉพาะพฤติกรรมที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน และพฤติกรรมที่สังเกตได้นั้นสามารถวัดได้โดยพิจารณาจากความถี่ของการตอบสนองในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือพิจารณาจากอัตราการ ตอบสนอง (Response rate) นั่นเอง
ข. อัตราการตอบสนองและการเสริมแรง สกินเนอร์ เชื่อว่าโดยปกติการพิจารณาว่าใครเกิดการเรียนรู้หรือไม่เพียงใดนั้นจะสรุปเอาจากการเปลี่ยนแปลงการตอบสนอง (หรือพูดกลับกันได้ว่าการที่อัตราการตอบสนองได้เปลี่ยนไปนั้น แสดงว่าเกิดการเรียนรู้ขึ้นแล้ว) และการเปลี่ยนแปลงอัตราการตอบสนองจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเสริมแรง (Reinforcement) นั้นเอง สิ่งเร้านี้สามารถทำให้อัตราการตอบสนองเปลี่ยนแปลง เราเรียกว่าตัวเสริมแรง (Reinforcer) สิ่งเร้าใดที่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราการตอบสนองเราเรียกว่าไม่ใช่ตัวเสริมแรง (Nonreinforcer)
ค. ประเภทของตัวเสริมแรง ตัวเสริมแรงนั้นอาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะคือ อาจแบ่งเป็นตัวเสริมแรงบวกกับตัวเสริมแรงลบ หรืออาจแบ่งได้เป็นตัวเสริมแรงปฐมภูมิกับตัวเสริมแรงทุติยภูมิ
(๑) ตัวเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcer) หมายถึง สิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้รับหรือนำเข้ามาในสถานการณ์นั้นแล้วจะมีผลให้เกิดความพึงพอใจ และทำให้อัตราการตอบสนองเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะเข้มข้นขึ้น เช่น อาหาร คำชมเชย ฯลฯ
(๒) ตัวเสริมแรงลบ (Negative Reinforcer) หมายถึง สิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อตัดออกไปจากสถานการณ์นั้นแล้ว จะมีผลให้อัตราการตอบสนองเปลี่ยนไปในลักษณะเข้มข้นขึ้น เช่น เสียงดัง แสงสว่างจ้า คำตำหนิ ร้อนหรือเย็นเกินไป ฯลฯ
(๓) ตัวเสริมแรงปฐมภูมิ (Primary Reinforcer) เป็นสิ่งเร้าที่จะสนองความต้องการทางอินทรีย์โดยตรง ซึ่งเปรียบได้กับ UCS. ในทฤษฎีของพาฟลอฟ เช่น เมื่อเกิดความต้องการอาหาร อาหารก็จะเป็นตัวเสริมแรงปฐมภูมิที่จะลดความหิวลง เป็นต้น
ลำดับขั้นของการลดแรงขับของตัวเสริมแรงปฐมภูมิ ดังนี้
ก) ความไม่สมดุลย์ในอินทรีย์ ก่อให้เกิดความต้องการ
ข) ความต้องการจะทำให้เกิดพลังหรือแรงขับ (drive) ที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรม
ค) มีพฤติกรรมเพื่อจะมุ่งสู่เป้าหมาย เพื่อให้ความต้องการได้รับการตอบสนอง
ง) ถึงเป้าหมาย หรือได้รับสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่ได้รับที่เป็นตัวเสริมแรงปฐมภูมิ ตัวเสริมแรงที่จะเป็นรางวัลที่จะมีผลให้อยากทำซ้ำ และมีพฤติกรรมที่เข้มข้นในกิจกรรมซ้ำ ๆ นั้น
(๔) ตัวเสริมแรงทุติยภูมิ โดยปกติแล้วตัวเสริมแรงประเภทนี้เป็นสิ่งเร้าที่เป็นกลาง (Natural Stimulus) สิ่งเร้าที่เป็นกลางนี้ เมื่อนำเข้าคู่กับตัวเสริมแรงปฐมภูมิบ่อย ๆ เข้า สิ่งเร้าซึ่งแต่เดิมเป็นกลางก็กลายเป็นตัวเสริมแรง และจะมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับตัวเสริมแรงปฐมภูมิ เราเรียกตัวเสริมแรงชนิดนี้ว่า ตัวเสริมแรงทุติยภูมิ ตัวอย่างเช่น การทดลองของสกินเนอร์ โดยจะปรากฎว่า เมื่อหนูกดคานจะมีแสงไฟสว่างขึ้น และมีอาหารตกลงมา แสงไฟซึ่งแต่เดิมเป็นสิ่งเร้าที่เป็นกลาง ต่อมาเมื่อนำเข้าคู่กับอาหาร (ตัวเสริมแรงปฐมภูมิ) บ่อย ๆ แสงไฟก็จะกลายเป็นตัวเสริมแรงปฐมภูมิเช่นเดียวกับอาหาร แสงไฟจึงเป็นตัวเสริมแรงทุติยภูมิ
(๕) ตารางกำหนดการเสริมแรง (Schedules of Reinfarcement) สภาพการณ์ที่
สกินเนอร์พบว่าใช้ได้ผล ในการควบคุมอัตราการตอบสนองก็ถึงการกำหนดระยะเวลา (Schedules) ของการเสริมแรง การเสริมแรงแบ่งเป็น ๔ แบบด้วยกัน คือ
ก) Fixed Ratio เป็นแบบที่ผู้ทดลองจะกำหนดแน่นอนลงไปว่าจะให้การ เสริมแรง ๑ ครั้ง ต่อการตอบสนองกี่ครั้ง หรือตอบสนองกี่ครั้งจึงจะให้รางวัล เช่น อาจกำหนดว่า ถ้ากดคานทุก ๆ ๕ ครั้ง จะให้อาหารหล่นลงมา ๑ ก้อน (นั้นคืออาหารจะหล่นลงมาเมื่อหนูกดคานครั้งที่ ๕, ๑๐, ๑๕, ๒๐.....)
ข) Variable Ratio เป็นแบบที่ผู้ทดลองไม่ได้กำหนดแน่นอนลงไปว่าจะต้องตอบสนองเท่านั้นเท่านี้ครั้งจึงจะได้รับตัวเสริมแรง เช่น อาจให้ตัวเสริมแรงหลังจากที่ผู้ถูกทดลองตอบสนอง ครั้งที่ ๔, ๙, ๑๒, ๑๘, ๒๒..... เป็นต้น
ค) Fixed Interval เป็นแบบที่ผู้ทดลองกำหนดเวลาเป็นมาตรฐานว่าจะให้ตัวเสริมแรงเมื่อไร เช่น อาจกำหนดว่าจะให้ตัวเสริมแรงทุก ๆ ๕ นาที (คือให้ในนาทีที่ ๕, ๑๐, ๑๕, ๒๐.....)
ง) Variable Interval เป็นแบบที่ผู้ทดลองไม่กำหนดให้แน่นอนลงไปว่าจะให้ตัวเสริมแรงเมื่อใด แต่กำหนดไว้อย่างกว้าง ๆ ว่าจะให้การเสริมแรงกี่ครั้ง เช่น อาจให้ตัวเสริมแรงในนาทีที่ ๔, ๗, ๑๒, ๑๔..... เป็นต้น)
๒) ประโยชน์ที่ได้รับจากทฤษฎีนี้
ก. ใช้ในการปลูกฝังพฤติกรรม (Shaping Behavior) หลักสำคัญของทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำของสกินเนอร์ คือ เราสามารถควบคุมการตอบสนองได้ด้วยวิธีการเสริมแรง กล่าวคือ เราจะให้การเสริมแรงเฉพาะเมื่อมีการตอบสนองที่ต้องการ เพื่อให้กลายเป็นนิสัยติดตัวต่อไป อาจนำไปใช้ในการปลูกฝังบุคลิกภาพของบุคคลให้มีพฤติกรรมตามแบบที่ต้องการได้
ข. ใช้วางเงื่อนไขเพื่อปรับปรุงพฤติกรรม การเสริมแรงมีส่วนช่วยให้คนเรามีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้ และขณะเดียวกันการไม่ให้การเสริมแรงก็จะช่วยให้ลดพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้เช่นเดียวกัน
ค. ใช้ในการสร้างบทเรียนสำเร็จรูป (Programed Learning) หรือบทเรียนโปรแกรมและเครื่องสอน (Teaching Machine)
๓) การนำหลักการวางเงื่อนไขของสกินเนอร์ไปใช้ในการเรียนการสอน แนวคิดที่สำคัญประการหนึ่งที่ได้จากทฤษฎีของสกินเนอร์ คือ การตั้งจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม คือจะต้องตั้ง จุดมุ่งหมายในรูปของพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ถ้าต้องการฝึกให้ผู้เรียนเป็นบุคคลประเภทสร้างสรรค์ก็จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าบุคคลประเภทดังกล่าวสามารถทำอะไรได้บ้าง หรือถ้าจะสอนให้นักเรียนเป็นนักประวัติศาสตร์ก็บอกได้ว่าเขาจะทำอะไรได้เมื่อเขาเรียนผ่านพ้นไปแล้ว ถ้าครูไม่สามารถตั้งจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมได้ ครูก็ไม่อาจบอกได้ว่าผู้เรียนประสบผลสำเร็จในสิ่งที่มุ่งหวังหรือไม่ และที่สำคัญก็คือครูจะไม่อาจให้การเสริมแรงได้อย่างเหมาะสมเพราะไม่ทราบว่าจะให้การเสริมแรงหลังจากที่ผู้เรียนมีพฤติกรรมเช่นใด

ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดด์

ลักษณะสำคัญของทฤษฎีสัมพันธ์เชื่องโยงของ ธอร์นไดด์ มีดังนี้
๑) ลักษณะการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก (Trial and Eror)
๒) กฎการเรียนรู้ของ ธอร์นไดด์ 

ธอร์นไดด์ ได้เห็นกฎการเรียนรู้ที่สำคัญ ๓ กฎด้วยกันคือ กฎแห่งความพร้อม (Low of Readiness) กฎแห่งการฝึกหัด (Low of Exercise) และกฎแห่งพอใจ (Low of Effect)

ก. กฎแห่งความพร้อม กฎข้อนี้มีใจความสรุปว่า

- เมื่อบุคคลพร้อมที่จะทำแล้วได้ทำ เขาย่อมเกิดความพอใจ
- เมื่อบุคคลพร้อมที่จะทำแล้วไม่ได้ทำ เขาย่อมเกิดความไม่พอใจ
- เมื่อบุคคลไม่พร้อมที่จะทำแต่เขาต้องทำ เขาย่อมเกิดความไม่พอใจ

ข. กฎแห่งการฝึกหัด แบ่งเป็น ๒ กฎย่อย คือ
- กฎแห่งการได้ใช้ (Law of Use) มีใจความว่าพันธะหรือตัวเชื่อมระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองจะเข้มแข็งขึ้นเมื่อได้ทำบ่อย ๆ
- กฎแห่งการไม่ได้ใช้ (Law of Disuse) มีใจความว่าพันธะหรือตัวเชื่อมระหว่างสิ่งเร้า และการตอบสนองจะอ่อนกำลังลง เมื่อไม่ได้กระทำอย่างต่อเนื่องมีการขาดตอนหรือไม่ได้ทำบ่อย ๆ

ค. กฎแห่งความพอใจ
กฎข้อนี้นับว่าเป็นกฎที่สำคัญและได้รับความสนใจจาก ธอร์นไดด์ มากที่สุด กฎนี้มีใจความว่า พันธะหรือตัวเชื่อมระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองจะเข้มแข็งหรืออ่อนกำลังย่อมขึ้นอยู่กับผลต่อเนื่องหลังจากที่ได้ตอบสนองไปแล้วรางวัล จะมีผลให้พันธะสิ่งเร้าและการตอบสนองเข้มแข็งขึ้น ส่วนการทำโทษนั้นจะไม่มีผลใด ๆ ต่อความเข้มแข็งหรือการอ่อนกำลังของพันธะระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง
นอกจากกฎการเรียนรู้ที่สำคัญ ๆ ทั้ง ๓ กฎ นี้แล้วธอร์นไดด์ ยังได้ตั้งกฎการเรียนรู้ย่อย อีก ๕ กฎ คือ
๑. การตอบสนองมากรูป (Law of multiple response)
๒. การตั้งจุดมุ่งหมาย (Law of Set or Attitude)
๓. การเลือกการตอบสนอง (Law of Partial Activity)
๔. การนำความรู้เดิมไปใช้แก้ปัญหาใหม่ (Law of Assimilation or Analogy)
๕. การย้ายความสัมพันธ์ (Law of Set or Associative Shifting)

ง. การถ่ายโอนการเรียนรู้ (Transfer of Learning) จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการเรียนรู้หรือกิจกรรมในสถานการณ์หนึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้หรือกิจกรรมในอีกสถานการณ์หนึ่ง การส่งผลนั้นอาจจะอยู่ในรูปของการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้สามารถเรียนได้ดีขึ้น (การถ่ายโอนทางบวก) หรืออาจเป็นการขัดขวางทำให้เรียนรู้หรือประกอบกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งได้ยากหรือช้าลง (การถ่ายโอนทางลบ) ก็ได้ การถ่ายโอนการเรียนรู้นับว่าเป็นพื้นฐานของการเรียนการสอน


จ. ประโยชน์และการนำหลักการทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของ ธอร์นไดด์ ไปใช้ในการเรียนการสอน
ธอร์นไดด์ มักเน้นอยู่เสมอว่าการสอนในชั้นเรียนต้องกำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจน การตั้งจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนก็หมายถึงการตั้งจุดมุ่งหมายที่สังเกตการตอบสนองได้และครูจะต้อง จัดแบ่งเนื้อหาออกเป็นหน่วย ๆ ให้เขาเรียนทีละหน่วย เพื่อที่ผู้เรียนจะได้เกิดความรู้สึกพอใจในผลที่เขาเรียนในแต่ละหน่วยนั้น ธอร์นไดด์ ย้ำว่าการสอนแต่ละหน่วยก็ต้องเริ่มจากสิ่งที่ง่ายไปหาสิ่งที่ยากเสมอ
การสร้างแรงจูงใจนับว่าสำคัญมากเพราะจะทำให้ผู้เรียนเกิดความพอใจเมื่อเขาได้รับสิ่งที่ต้องการหรือรางวัล รางวัลจึงเป็นสิ่งควบคุมพฤติกรรมของผู้เรียน นั่นก็คือในขั้นแรกครูจึงต้องสร้างแรงจูงใจภายนอกให้กับผู้เรียน ครูจะต้องให้ผู้เรียนรู้ผลการกระทำหรือผลการเรียน เพราะการรู้ผลจะทำให้ผู้เรียนทราบว่าการกระทำนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ดีหรือไม่ดี พอใจหรือไม่พอใจ ถ้าการกระทำนั้นผิดหรือไม่เป็นที่พอใจเขาก็จะได้รับการ แก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้รับสิ่งที่เขาพอใจต่อไป
นอกจากนี้ในการเรียนการสอน ครูจะต้องสอนในสิ่งที่คล้ายกับโลกแห่งความจริงที่เขาจะออกไปเผชิญให้มากที่สุด เพื่อที่นักเรียนจะได้เกิดการถ่ายโอนการเรียนรู้จากการเรียนในชั้นเรียนไปสู่สังคมภายนอกได้อย่างดี

ทฤษฎีกลุ่มความรู้ความเข้าใจ (Cognitive theory or gestalt Psychologists)

กลุ่มเกสตัลท์ได้เห็นความสำคัญของกรรมพันธุ์มากกว่าสิ่งแวดล้อม กลุ่มนี้ถือว่าความสามารถของอินทรีย์เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด ตรงข้ามกับกลุ่มพฤติกรรมที่มีความเห็นว่าอินทรีย์มีแนวโน้มที่จะจัดหมวดหมู่ของสิ่งของตามประสบการณ์ของเขา ซึ่งได้เห็นอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมมากกว่ากรรมพันธุ์

การรับรู้ (Perception) ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในทฤษฎีการเรียนรู้ของกลุ่มเกสตัลท์ พื้นฐานของการนำไปใช้ เราจะจัดระเบียบหมวดหมู่ หรือรูปร่างของสิ่งที่รับรู้ก็คือการแยกสนามการเรียนรู้ออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นภาพ (Figure) ซึ่งเป็นส่วนที่เด่นเป็นจุดศูนย์รวมของสิ่งที่เราสนใจ และอีกส่วนหนึ่งคือ พื้น (Ground) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของภาพเป็นส่วนที่รองรับภาพ
นักจิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์มีความสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างภาพและพื้นและได้ตั้งกฎการจัดระเบียบ หมวดหมู่ หรือรูปร่างของสิ่งที่รับรู้ขึ้นมากมาย แต่กฎที่สำคัญซึ่งจะกล่าวถึงกันอยู่เสมอมีดังต่อไปนี้

๑) กฎความใกล้ชิด (Principle of Proximity) กฎนี้กล่าวว่าสิ่งเร้าใด ๆ ที่อยู่ใกล้กันเรามักจะรับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน
๒) กฎความคล้ายกัน (Principle of Similarity) กฎนี้มีใจความว่าสิ่งเร้าใด ๆ ก็ตามที่มีลักษณะรูปร่างขนาดหรือสีคล้ายๆ กันเรามักจะรับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน
๓) กฎความต่อเนื่อง (Principle of Continuity) ใจความสำคัญของกฎนี้คือสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะมีทิศทางไปในทางเดียวกัน หรือมีแบบแผนไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่งด้วยกัน ก็จะทำให้เรารับรู้เป็นรูปร่าง หรือเป็นหมวดหมู่นั้น
๔) กฎอินคลูซิฟ (Principle of Inclusiveness) กฎนี้กล่าวว่าถ้าหากมีภาพเล็กประกอบอยู่ในภาพใหญ่ เราก็มีแนวโน้มที่จะรับรู้ภาพใหญ่มากกว่าที่จะรับรู้ภาพเล็ก หรือภาพที่เรามองเห็นเป็น รูปร่างนั้น มักจะเป็นภาพที่ประกอบด้วยจำนวนของสิ่งเร้าที่มากที่สุดหรือใหญ่ที่สุดเสมอ
๕) กฎการเคลื่อนไหวไปในทิศทางร่วมกัน (Principle of Common Fate) ใจความของกฎนี้ มีว่า สิ่งใด ๆ ที่เคลื่อนไหวไปทิศทางร่วมกันหรือมีจุดหมายร่วมกันเราก็มีแนวโน้มที่จะรับรู้เป็นพวกเดียวกัน กฎนี้แตกต่างจากความต่อเนื่องตรงที่ว่า กฎความต่อเนื่องนั้นเป็นการรับรู้ภาพสิ่งที่ไม่ได้เคลื่อนไหวแต่เรามองคล้ายกับว่ามันเคลื่อนไหว แต่กฎข้อนี้สิ่งเร้าที่เรารับรู้นั้นมีการเคลื่อนไหวจริง
๖) กฎการเคลื่อนไหวไปในทิศทางร่วมกัน (Principle of Closure) บางครั้งเราก็เรียกกฎนี้ว่ากฎความสมบูรณ์ เพราะเรามักจะมองภาพที่ขาดความสมบูรณ์ให้เป็นภาพที่สมบูรณ์หรือมองเส้นที่ขาดตอนไปให้ติดหรือต่อกันเป็นรูปร่างขึ้นมาได้
ประโยชน์ และการนำหลักทฤษฎีกลุ่มเกสตัลท์ไปใช้ในการเรียนการสอน
ในด้านการเรียนการสอนตามหลักการมองของกลุ่มเกสตัลท์นั้น ครูและนักเรียนจะต้องมีความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ครูจะเป็นผู้ช่วยผู้เรียนให้มองเห็นความหมายและเกิดความเข้าใจในเรื่องที่สอนควรจะช่วยให้ผู้เรียนเห็นรูปร่างหรือหมวดหมู่ของสิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบที่มีความหมายผู้เรียนอาจช่วยครูในแง่ของการเสนอความคิดเห็น อภิปราย และวางแผนการเรียนร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนต้องเป็นไปในลักษณะที่ผู้เรียนต้องได้เห็นรูปร่างทั้งหมดของสิ่งที่จะเรียนเสียก่อน แล้วจึงไปเรียนส่วนย่อย ๆ การเรียนในแต่ละวิชาอาจแบ่งออกเป็นหน่วยที่มีความหมาย แต่ละหน่วยก็จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน นอกจากนี้การเรียนการสอนจะต้องเล็งให้ผู้เรียนเรียนด้วยความเข้าใจมากกว่าที่จะเน้นการเรียนแบบท่องจำ เพราะการเรียนด้วยความเข้าใจและรู้ความหมายจะมีผลให้ความรู้ยั่งยืนถาวรมากกว่าเรียนแบบท่องจำอย่างนกแก้ว