วัดเชียงมั่น

วัดเชียงมั่นที่ปรากฎในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และพงศาวดารโยนก มีดังนี้คือ หลังจากที่พญางำเมือง พญาร่วง และพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ สำเร็จในปี พ.ศ.๑๘๓๙ แล้ว ทั้งสามพระองค์ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้น ตรงที่หอนอนบ้านเชียงมั่น ซึ่งพญามังรายทรงสร้างเป็นที่ประทับชั่วคราว ในระหว่างที่ควบคุม การสร้างเมืองใหม่โดยให้ชื่อ ที่ประทับแห่งนั้นว่า "เวียงเล็ก" หรือ "เวียงเหล็ก" หมายถึง"ความมั่นคงแข็งแรง" ต่อมาเมื่อพญามังรายเสด็จแปรพระราชทานไปยังพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานแห่งใหม่ซึ่งเรียกว่า "เวียงแก้ว" (ปัจจุบันคือเรือนจำกลางเชียงใหม่) แล้ว ทรงอุทิศตำหนักคุ้มหลวงเวียงเหล็ก ถวายแด่พระศาสนา โดยตั้งเป็นพระอารามหลวงแห่งแรก และพระราชทานนามอัน เป็นมงคลว่า"วัด เชียงมั่น" อันหมายถึง บ้านเมืองที่มีความมั่นคงทั้งนี้ ศิลาจารึกวัดเชียงมั่นพุทธศักราช ๑๘๓๙ ได้จารึกไว้ว่า "ศักราช ๖๕๘ ปีรวายสัน เดือนวิสาขาออก ๘ ค่ำ ขึ้น ๕ ไทยเมืองเปล้า ยามแตรรุ่งแล้ว สองลูก นาฑี ปลายสองบาทน้ำ ลัคคนาเสวยนวางค์ประหัส ในมีนยะราศี พญามังรายเจ้า พญางำเมือง พญาร่วง ทังสามคน ตั้งหอ นอนในที่ไชยภูมิ ราชมณเฑียร ขุดคือก่อตรีบูรทั้งสี่ด้านและก่อเจติยะทัดที่นอนบ้านเชียงมั่น ในขณะยาม เดียวนั้น ที่นั้นลวดสร้างเป็นวัด หื้อทานแก่แก้วทังสามใส่ชื่อว่าวัดเชียงหมั้น ต่อบัดนี้ ..." จึงนับได้ว่า วัดเชียงมั่นเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ คือสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙ จาก นั้นคาดว่าเจดีย์นี้ได้พังลงมา ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ราชวงค์มังรายลำดับที่ ๑๐ (ครอง ราชย์ พ.ศ.๑๙๘๕ - ๒๐๓๑) พระองค์จึงโปรดให้สร้างขึ้นใหม่ด้วยศิลาแลงในปี พ.ศ.๒๐๑๔
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๙๔ เชียงใหม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วัดเชียงมั่นจึงถูกทอดทิ้งให้ เป็นวัดร้าง ครั้นถึง พ.ศ.๒๑๐๑ เจ้าฟ้ามังทรา (สมเด็จพระมหาธัมมิกะ ราชาธิราช)แห่งพม่า ทรงมีพระราชศรัทธาในพุทธศาสนา โปรดให้พระยาแสนหลวงสร้างเจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอไตร ธัมมเสนาสนะกำแพง และประตูโขงขึ้นที่วัดเชียงมั่น โดยมีพระมหาหินทาทิจจวังสะ เป็นเจ้าอาวาสเมื่อถึงสมัยพระยากาวิละครองเมืองเชียงใหม่(พ.ศ.๒๓๒๔ - ๒๓๕๘) ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเชียงมั่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่วัดนี้ได้ตกอยู่ใน สภาพวัดร้าง เมื่อครั้งที่ทำสงครามกอบกู้เอกราช คืนมาจากพม่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๑๙

พระพุทธรูป พระเสตังคมณี หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า พระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปที่แกะจากผลึกหินใสสีขาว ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร สูงประมาณ 15 เซนติเมตร ปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ สังฆาฏิเฉียงยาวจรดพระนาภี เป็นพระพุทธรูปโบราณเก่าแก่ มีอายุตามตำนานเกินกว่าพันปี พระเศียรหุ้มด้วยทองคำ เป็นพระศก และพระเกตุมาลา ประดิษฐานบนฐานไม้จันทร์บุหุ้มด้วยแผ่นทองคำ ใต้ฐานมีแผ่นทองคำจารึกปิดไว้ คำจารึกความว่า ฐานนี้พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่กับเจ้าทิพยเกสรพระชายา พร้อมด้วยพระโอรส พระธิดา เจ้าราชภาคิไนย เจ้าอุบลวัณณา และพระราชวงศ์สร้างอุทิศถวายเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2416

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว 700 ปี ในวันเพ็ญเดือน 7 สุเทวฤาษี ได้นำเอาดอกจำปา 5 ดอกขึ้นไปบูชาพระจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบปะสนทนาด้วยพระอินทร์ ซึ่งพระอินทร์ได้บอกแก่ สุเทวฤาษีว่า ปีนี้ในเดือนวิสาขะเพ็ญ ที่ลวะรัฎฐจะสร้างพระพุทธปฏิมากรด้วยแก้วขาว ครั้นสุเทวฤาษีกลับจาก ดาวดึงส์เทวโลกแล้ว จึงไปสู่เมืองละโว้ ขณะนั้นพระยารามราชเจ้าเมืองละโว้กับพระกัสสปเถรเจ้าปรารภการ ที่จะสร้างพระแก้ว ซึ่งพระอรหันต์ ไปได้แก้วขาวบริสุทธิ์บุษยรัตน์มาจาก จันทเทวบุตรแล้ว ขอพระวิศณุกรรมมาเนรมิต สำเร็จรูปเป็นองค์พระพุทธปฏิมากร สุเทวฤาษี และฤาษีอื่นๆก็ได้ไปประชุมช่วยในการสร้างพระด้วย เมื่อสำเร็จแล้วจึงได้บรรจุพระบรมธาตุ 4 องค์ไว้ในพระโมลี (กระหม่อม) 1 องค์ พระนลาต (หน้าผาก) 1 องค์ พระอุระ (หน้าอก) 1 องค์ พระโอษฐ์ (ปาก) 1 องค์ รวม 4 แห่ง

เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระแก้วขาวจึงได้ประดิษฐานที่เมืองละโว้มาเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งสุเทวฤาษีสร้างนครหริภุญชัยขึ้นแล้ว จึงได้เชิญเสด็จพระแม่เจ้าจามเทวี พระราชธิดาพระเจ้ากรุงละโว้มาครองนครหริภุญชัย พระแม่เจ้าจามเทวีจึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ พระแก้วขาวจึงประดิษฐาน ณ นครหริภุญชัยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

วัดเชียงมั่น

พญามังราย ได้ยึดครองนครหริภุญชัยได้ใน พ.ศ.1824 และได้เผาเมือง ต่อมาพญามังรายได้เสด็จตรวจความเสียหาย พบว่าหอพระในพระราชวังไม่ได้ถูกเพลิงไหม้ เมื่อทอดพระเนตรดูพบว่าพระแก้วขาวประดิษฐานอยู่ ณ ที่หอพระ จึงเกิดพระราชศรัทธาและอัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานยังที่ประทับของพระองค์ และบูชาเป็นพระพุทธรูปพระจำพระองค์

เมื่อพญามังรายสร้างนครเชียงใหม่เป็นราชธานีในปี พ.ศ.1839 จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานในพระราชวัง คือบริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน จนกระทั่งในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้โปรดฯ ให้สร้างหอพระแก้วมรกต (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร) และพระแก้วขาวตามอย่างโลหะปราสาทของกรุงลังกาไว้ในพระอารามราชกุฎาคารเจดีย์ หรือวัดเจดีย์หลวง

ประมาณ พ.ศ.2035 ในรัชสมัยพระยอดเชียงรายครองนครเชียงใหม่ มีคนร้ายขโมยพระแก้วขาวไปถวายกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระยอดเชียงรายจึงยกทัพ ติดตามไปอัญเชิญพระแก้วขาวกลับมาประดิษฐานที่นครเชียงใหม่ตามเดิม

พ.ศ.2089 พระแก้วขาวตกไปอยู่กับอาณาจักรล้านช้างเป็นเวลากว่า 225 ปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยกทัพไปปราบล้านช้างสำเร็จ จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น อันเป็นที่ซึ่งพญามังรายทรงมีพระราชศรัทธาอัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานเป็นครั้งแรก

พระแก้วขาวหรือพระเสตังคมณีประดิษฐานเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครเชียงใหม่จึงได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ซ่อมแซมอยู่เสมอ ในปี พ.ศ.2416 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้เป็นประธานในการสร้างแท่นแกะสลักด้วยไม้แก่นจันทน์หุ้มด้วยทองคำหนัก 300 บาท 3 ซีก เจ้าราชภาคินัยและเจ้าอุบลวัณณา สร้างฉัตรทองคำถวายหนัก 100 บาท พร้อมกับจารึกบนแผ่นทองคำใต้แท่นพระเป็นภาษาล้านนาไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาฉัตรทองคำได้หายไปคงเหลือแต่ที่ปักแกนก้านฉัตรเท่านั้น

ปี พ.ศ.2539 นครเชียงใหม่มีอายุครบ 700 ปี จึงได้มีการบูรณะฐานพระแก้วขาว เนื่องจากได้มีการอัญเชิญพระแก้วขาวออกมาให้ประชาชนสรงน้ำพระ เป็นประจำทุกปี ทำให้เนื้อไม้แก่นจันทน์บวมขยายออก มีผลให้แผ่นทองคำที่หุ้มอยู่ปริแตก นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างฉัตรทองคำน้ำหนัก 123 บาท ประดับเพชร 9 เม็ด และพลอยอีก 37 เม็ด ถวายแด่พระแก้วขาวด้วย

วัดเชียงมั่น